ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา

Share

ปฏิบัติธรรม, เข้าใจให้ถูก, พระไพศาล วิสาโล,

ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา


     แล้วในการเจริญสติ อย่างที่บอก คือการที่เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่ามีความคิดหรืออารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น มีความโกรธก็ไม่ผลักไสความโกรธนั้น มีความฟุ้งซ่านก็ยอมรับ ไม่ผลักไสกดข่มความคิดฟุ้งซ่านนั้น

    อย่างนี้ที่ครูบาอาจารย์เรียกว่ารู้ซื่อๆ คำว่ารู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ก็เป็นอันเดียวกับการยอมรับ รู้ซื่อๆ ก็คือว่า โกรธก็รู้ ฟุ้งก็รู้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ มันเป็นการรู้โดยที่ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไหลตาม เช่นเวลามีอารมณ์อกุศลเกิดขึ้นก็รู้โดยไม่ผลักไส มีความโกรธเกิดขึ้น มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็รู้ แต่ไม่ไปผลักไสกดข่มมัน มีความสงบเกิดขึ้นก็รู้ แต่ไม่ได้ไปเคลิ้มคล้อยกับความสงบจนติดสงบ อันนี้คือหลักการการเจริญสติของที่นี่ ซึ่งที่จริงก็เป็นหลักการเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4 อยู่แล้ว ก็คือไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ก็แค่รู้เฉยๆ

    มีเวทนาเกิดขึ้นก็รู้ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เพราะถ้าไม่รู้ มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เช่น พอเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาก็ผลักไส ผลคืออะไร ก็คือไม่ใช่แค่กายทุกข์อย่างเดียว ใจก็ทุกข์ด้วย เวลามีความโกรธเกิดขึ้นผลักไสมัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ก็คือยิ่งไปจมอยู่ในความโกรธมากขึ้น

     ก็อธิบายให้เขาฟังว่างานของสติ สติถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มกันจิต สติเปรียบเหมือนกับนายทวารบาล หรือยามที่เฝ้าประตูเมือง เมืองในที่นี้ก็คือจิตตนคร สติรักษาใจไม่ให้ทุกข์ด้วยวิธีอะไร ด้วยวิธีป้องกัน ไม่ให้ ความโกรธ ความเกลียด ความทุกข์เข้ามาครอบงำจิต ทำอย่างไร? ก็แค่รู้ทัน แค่รู้ทันว่ามันมีกิเลสเกิดขึ้น มันมีความโกรธเกิดขึ้น มันมีความเศร้าเกิดขึ้น การรู้ทันมันมีอานุภาพ เพราะว่าถ้าเข้าไปกดข่มมัน ถ้าไม่รู้ ทัน แต่เข้าไปกดข่ม ไปโรมรันพันตูกับมัน ก็เท่ากับว่าตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ หรือความทุกข์เหล่านี้

    ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด เหมือนกับขาที่ติดบ่วง เวลาขาติดบ่วง ถ้าเรายิ่งพยายามดึง พยายามที่จะสลัดให้หลุด บ่วงยิ่งรัดแน่น ทำนองเดียวกัน เวลาเรารับมือกับอารมณ์ ความโกรธก็ดี ความเศร้าก็ดี ถ้าเราไปสู้กับมัน เราก็ยิ่งยึดติด ตกอยู่ในอำนาจของมัน เป็นการต่ออายุ เป็นการเติมพลังให้มัน

    ลองสังเกตดูเวลาเราโกรธ แล้วพยายามกดข่มความโกรธไว้ มันยิ่งโกรธ มันอาจจะหลบในประเดี๋ยวเดียว แล้วพอเผลอมันก็อาละวาดขึ้นมา หรือเวลามีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด ยิ่งห้ามมันยิ่งคิด มันเป็นธรรมชาติของจิตเลย ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

    เขาเคยมีการทดลองให้คนมานั่งอยู่ในห้องคนเดียว แล้วก็มีหลายคน นั่งคนละห้องๆ แล้วทุกคนก็ได้คำสั่งว่าจะคิดอะไรก็คิดได้ แต่ห้ามคิดถึงหมีขาว ถ้าใครคิดถึงหมีขาวให้กดกริ่งเลย ปรากฏว่าสั่งไม่ทันไรเลย พอปิดห้องประเดี๋ยวเดียวคนกดกริ่งกันใหญ่เลย เพราะอะไร เพราะคิดถึงหมีขาว ทำไมถึงคิด เพราะว่าถูกห้ามไม่ให้คิด พอห้ามคิดมันก็ยิ่งคิดใหญ่เลย ถ้าไม่ห้ามมันก็ไม่คิด ใครจะไปคิดถึงหมีขาว แต่พอ ห้ามคิดถึงหมีขาว มันจะคิดขึ้นมาทันทีเลย อันนี้เรียกว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

     แล้วมันไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว อารมณ์เหมือนกัน ไหลตามอารมณ์ ทำตามอารมณ์ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มพลังให้มัน แต่ถ้าเราไปกดไปข่มมัน ก็เท่ากับเราตกอยู่ในอำนาจของมันเหมือนกัน แล้วธรรมชาติของอารมณ์มันก็ชอบยั่ว ยั่วให้เราเข้าไปโรมรันพันตูกับมัน ถ้าเราหลงเชื่อมัน เราก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน เรียกว่าเข้าล็อค

     เพราะฉะนั้นหลายคนจะพบว่าเวลาเจริญสติ แล้วแค่ดูเฉยๆ รู้ซื่อๆ มันทำยาก มันอดไม่ได้ที่จะเข้าไปกดข่ม ผลักไสความคิดและอารมณ์ ยิ่งอยากหรือปรารถนาความสงบ ยิ่งทนไม่ได้กับความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกดข่มมัน พอยิ่งกดข่มก็ยิ่งฟุ้ง และยิ่งหงุดหงิดที่ทำไม่สำเร็จ หลายคนพอทำไปๆ ก็จะท้อ เพราะว่ายิ่งกดข่มมัน ยิ่งพยายามห้ามจิตไม่ให้คิด มันกลับยิ่งคิด เลยท้อ หรือถ้าไม่ท้อก็หงุดหงิดมากขึ้น

     บางคนโมโหเอาหัวโขกเสาเลย ทำไมมันคิดมากเหลือเกินๆ บางคนก็เอารองเท้าแตะฟาดหัว ทำไมคิดมากเหลือเกิน ลืมตัวเลย ทั้งที่เวลาไม่ปฏิบัติก็ไม่ลืมตัวขนาดนั้น แต่พอปฏิบัติ ทำไมลืมตัว ก็เพราะ พยายามบังคับความคิดไม่ให้มันคิด เพราะอยากให้จิตมันสงบ แต่จิตมันยิ่งไม่สงบ หลายๆ คนก็หน้ามืด ปวดหัว แน่นหน้าอก ที่ทำก็ทำด้วยความทุกข์ และหลายคนก็ทนความทุกข์ไม่ไหวก็เลิก ทำได้ 5 นาที 10 นาทีก็เลิก นี่เพราะไม่รู้จักวิธียอมรับมัน หรือว่ารู้ซื่อๆ แต่เข้าไปสู้กับมัน

    จริงๆ อารมณ์พวกนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้าย อยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มันดีนะ ถ้าหากว่ารู้ทันมัน อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ พูดถึงคำสอนของหลวงพ่อคำเขียนว่า การ ปฏิบัติหรือการเจริญสติไม่มีคำว่าล้มเหลว แม้ใจไม่สงบก็ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะว่าไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ไม่สงบก็จริง แต่ก็รู้ว่าไม่สงบ ได้ตัวรู้เพิ่มมา 1 ตัว มันมีแต่รู้ มันมีแต่รู้และรู้เพิ่มขึ้น รู้เพิ่มขึ้น แม้ว่ามันจะมีความคิดฟุ้งซ่าน แม้มันจะมีความหงุดหงิด แต่นั่นไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะว่าได้รู้เพิ่มมากขึ้น

    ฉะนั้นในการปฏิบัติ การเจริญสติ อะไรเกิดขึ้นไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร อย่าไปคิดว่าความฟุ้งซ่านไม่ดี อย่าไปคิดว่าความหงุดหงิดไม่ดี มันดีถ้าเกิดว่าเรารู้จักใช้มัน ใช้มันเป็นอุปกรณ์ในการฝึกจิต ในการสร้างตัวรู้ มีผู้รู้เขาแนะนำว่าอารมณ์พวกนี้ ให้เรามองมันเหมือนกับช่างหม้อ(ช่างทำหม้อ)มองหรือปฏิบัติกับดินเหนียว ดินเหนียวไม่เป็นปัญหา ดินเหนียวคือวัตถุดิบที่จะแต่งหม้อ ที่จะปั้นหม้อให้ เป็นอะไรก็ได้ อารมณ์ความคิดต่างๆ ก็เหมือนกัน ที่มันเกิดขึ้นในใจ ให้เรามองว่ามันคือวัตถุดิบ มันคืออุปกรณ์ที่เราสามารถจะเสกสรรค์ปั้นแต่งให้มันเกิดสิ่งดีงามขึ้นมาได้ สิ่งดีงามนี่ก็คือการมีสติ มีความรู้สึกตัว

    ฉะนั้น อะไรเกิดขึ้นกับใจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร มีความสงบเกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีสติ เราไปหลงยึดความสงบนั้น กลายเป็นคนติดสงบก็เกิดโทษ นักปฏิบัติจำนวนมากพอติดสงบแล้วกลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย หัวเสียง่าย เวลามีเสียงมากระทบ เวลามีคนพูดเสียงดัง อันนี้เพราะว่าปฏิบัติกับความสงบไม่ถูกต้อง แต่เวลาเจอความฟุ้งซ่าน ถ้าปฏิบัติถูกต้อง มันได้ตัวรู้ หลวงพ่อเทียนบอกว่าอย่าไปห้ามคิด แล้วถ้าปฏิบัติถูก ยิ่งคิดมันยิ่งรู้ คือรู้สึกตัว

     เพราะฉะนั้นอันนี้คือเหตุผลว่าทำไมการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนไม่ได้ปิดตา ไม่ได้ทำให้อยู่นิ่งๆ เพราะว่าถ้าปิดตาแล้วความสงบเกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้ติดสงบ แล้วก็อย่างที่บอกคือไม่เน้นการบังคับจิต ไม่ได้เน้นที่การกล่อมจิตให้สงบ แต่เน้นที่จะให้รู้ รู้สึกตัวแล้วก็รู้ทันความคิด รู้ทันทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกตัวหรือการรู้ทัน มันคือสิ่งที่จะช่วยทำให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์ และอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างแท้จริง