ธรรมะข้อใดใช้รับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

Share

    ระยะหลังใครที่มีโทรศัพท์มือถือ มักจะหนีไม่พ้นการรบกวนของพวกมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งระบาดกันมาได้ 2-3 ปีแล้ว แล้วแม้แต่เตือนกันหรือมีข่าวคราวทำนองนี้เสมอ ปรากฏว่าผู้ตกเป็นเหยื่อก็ไม่ได้ลดลงเลย เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พวกมิจฉาชีพก็มีวิธีการที่หลากหลายพิสดารมากขึ้นโดยเฉพาะระยะหลัง เมื่อ 2-3 วันก่อน มีสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งมาสัมภาษณ์อาตมาว่า จะมีหลักธรรมข้อใดที่จะช่วยเตือนใจหรือรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือพวกมิจฉาชีพ อาตมาตอบว่า ธรรมะที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ สติ

    สั้นๆ นะ สติ เพราะว่าที่พวกมิจฉาชีพเหล่านี้สามารถจะหลอกเอาเงินของเราไปได้ เพราะว่าเขาจะพยายามพูดหว่านล้อมให้เกิดความโลภ เช่น มีตั๋วฟรี มีของดีจะแจก มีรางวัลจะให้ หรือว่าลงทุนตรงนี้แล้วได้ผลตอบแทนสูง บางทีก็มาล่อให้เกิดราคะ หญิงสาวก็อาจจะพูดคุยชวนให้ตายใจ แล้วก็ไปแอดทางไลน์ คุยกันทางไลน์บอกว่าจะให้ดูไลฟ์สดสำหรับผู้ที่อายุเกิน 18 ให้กดลิงค์ตรงนี้ คนที่เจอแบบนี้ ถ้าเกิดว่าไม่มีสติก็เกิด ราคะ อยากดูอยากเห็น กดเข้าไปก็เป็นเรื่องเลย อาจจะเอาแอปผีมาติดตั้งโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ก็แฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไป แล้วก็ไปเบิกเงินจากธนาคารจนเกลี้ยงเลย

    ถ้าไม่ใช่ความโลภหรือราคะ ก็ความกลัว อ้างว่ามาจากกรมสรรพสามิตบ้างล่ะ หรือว่าจากตำรวจบ้างล่ะ ดีเอสไอบ้างล่ะ บอกว่าคุณมีหลักฐานเลี่ยงภาษี คนส่วนใหญ่ก็เลี่ยงภาษีกันทั้งนั้นแหละจะไม่มากหรือน้อย ไม่ก็อาจจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง พอมิจฉาชีพพูดทำนองนี้ก็กลัว หลงเชื่อเขา ยอมทำตาม เผื่อจะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็เสร็จเขา กดเบอร์นั้นกดเบอร์นี้เข้าไป ก็ตกเป็นเหยื่อเขา

    ที่เขาใช้ หลักใหญ่ๆก็ 2 ประการนี้แหละ หรือมิฉะนั้นก็ชวนให้คุ้นเคยสนิทตายใจ แล้วก็ไปแอดเป็นเพื่อน เขาจะมีอุบายร้อยแปดที่ทำให้เราต้องกดนั่นกดนี่เข้าไป ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า มีโลภะ ราคะ หรือว่า ความกลัวเกิดขึ้นง่าย จนเชื่อ พูดง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ ขาดสติ เพราะถ้ามีสติแล้วไม่เกิดโลภะ ราคะขึ้นง่ายๆ หรือว่าถ้ามีสติก็จะไม่กลัวง่ายๆ อย่างน้อยก็รู้จักยับยั้งชั่งใจไตร่ตรอง แต่คนเราพอกลัวแล้ว หรือพอเกิดโลภะแล้ว ไม่ทันได้ไตร่ตรอง รีบทำรีบกดนู้นกดนี่เลย

    อันนี้ก็อุบายเดียวกับพวกมิจฉาชีพก่อนที่จะมีโทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งพวกที่ทำแชร์ลูกโซ่ แล้วก็ได้ลูกค้ามาเยอะ บางทีก็ใช้วิธีมาหา พูดปากต่อปาก กระตุ้นให้เกิดโลภะ ว่าลงทุนแล้วได้ผลเร็ว หรือได้กำไรงาม ก็หลงเชื่อ ที่เชื่อง่ายก็เพราะขาดสติ หรือไม่ได้ไตร่ตรอง เพราะว่าโลภะมันบดบัง ถ้าเกิดว่าเราตั้งสติได้ตั้งแต่แรก ก็จะเกิดการยับยั้งชั่งใจ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ

เสียสติเมื่อใช้โทรศัพท์มือถือ


    สติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม สมัยนี้คนเรามีสติน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วตัวการที่ทำให้สติน้อย หรือหุนหันพลันแล่นได้ง่ายก็ไม่ใช่อะไรอื่น โทรศัพท์มือถือนั่นแหละ

    การที่คนเราใช้โทรศัพท์มือถือกันวันละหลายชั่วโมง ดูข้อความ อ่านข้อความ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย มันค่อยๆ สะสมนิสัยคือ หุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยยั้งคิดเท่าไหร่ ด่วนสรุป ด่วนเชื่อ เจอข่าวอะไรที่ ถูกใจก็แชร์ไปเลย เจอเรื่องราวอะไรที่สอดคล้องกับอคติ ก็แชร์ไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุน เดี๋ยวนี้เฟคนิวส์หรือข่าวปลอมๆ มันแพร่หลายเยอะมาก บางเรื่องถ้าใช้สติใช้ปัญญาไตร่ตรองหน่อยก็รู้ว่าไม่น่าเป็นไปได้ เช่น กินทุเรียนแล้วจะลดความดัน กินทุเรียนแล้วจะลดน้ำตาล คือถ้าใช้ปัญญาสักหน่อยก็รู้ว่า มันเป็นไปไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็จะไม่หลงเชื่อทีเดียว เช็คข้อมูล

    อย่างที่เดี๋ยวนี้ก็มีเสิร์ชเอนจิ้น กูเกิ้ล ให้เราเช็คข้อมูลได้ว่า ที่เราเห็นที่เราได้อ่านมาจริงมั้ย ยิ่งเรื่องการเมืองด้วยแล้ว เห็นปุ๊บแชร์ปั๊บเลย หรือไม่ก็เห็นปุ๊บแล้วคอมเม้นท์ปั๊บเลย ส่วนใหญ่ก็เป็นการต่อว่าด่าทอ อันนี้มันสร้างนิสัยให้เราเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น ยับยั้งชั่งใจได้น้อยลง พูดง่ายๆ คือว่า ขาดสตินั่นเอง พอเรามีนิสัยแบบนี้สะสมมากเข้าๆ เจอปุ๊บได้ยินอะไรปั๊บนี่เชื่อปุ๊บเลย ฉะนั้นก็เป็นอุบาย เป็นช่องว่าง หรือเป็นโอกาสให้พวกแก๊งมิจฉาชีพหรือคอลเซ็นเตอร์หลอกเราได้ง่าย เพราะเรามีต้นทุนตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่มีต้นทุนตรงนี้อยู่ คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือคือเชื่อง่าย ไม่ค่อยไตร่ตรอง ไม่ค่อยได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญ เป็นมาก่อนแล้วก่อนที่จะมาเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือแก๊งมิจฉาชีพ

    คนที่เชื่อง่าย เขาว่าเรื่องปีชงอย่างนู้นอย่างนี้ ก็เชื่อ เชื่ออย่างเดียวไม่พอ ก็แชร์อีก หรือมิฉะนั้นเจอข่าวอะไรที่สอดคล้องอคติของเรา ก็คอมเม้นท์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่กระตุ้นให้เราโกรธ กระตุ้นให้เราเกลียด จริงหรือเปล่ายังไม่ทันใคร่ครวญเลย ก็เชื่อไปแล้ว

    นิสัยเชื่อง่าย เป็นโอกาสอย่างดีที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้ผล พอมาหลอกให้กลัว ให้เกิดโลภะ ทุกคนก็เชื่อทันทีเลย แล้วก็ทำตามที่เขาบอก ทำตามที่เขาแนะนำ หรือทำตามที่เขาสั่ง

สะดวกสบายแต่มีความเสี่ยง


    แล้วที่จริงเรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราลองมองสักหน่อย การที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ในแง่หนึ่งทำให้เรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก่อนจะไปพูดคุยกับใครก็ต้องไปหา เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว ใช้โทรศัพท์ส่งข้อความ จะซื้ออะไรจะโอนเงินเท่าไหร่ ก็ไม่ต้องไปที่ร้านไม่ต้องไปที่ธนาคาร ก็โอนเงินซื้อกันทางโทรศัพท์มือถือ สะดวกสบายรวดเร็ว แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นมิจฉาชีพ เข้าถึงเราได้สะดวก และหลอกเราได้สบายมากขึ้นด้วย อันนี้คือจะเรียกว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็ได้

    สมัยก่อนมิจฉาชีพจะเข้าถึงตัวเราก็ไม่ใช่ง่าย ต้องแสดงตัวให้เห็น หรือไม่ก็ต้องปีนรั้วบ้านเข้ามา สะเดาะกลอนสะเดาะประตูเข้ามา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว ตัวเราอยู่ที่บ้าน อยู่ห้องนอน มิจฉาชีพก็เข้าถึงตัวเราได้ทุกเวลา ตราบใดที่เรายังเปิดโทรศัพท์ ถึงตัวเราในห้องนอนก็ได้ มาหลอกเอาเงินเรา หรือมิฉะนั้นก็ทำในสิ่งที่เลวร้าย เช่น มาแฮ็กข้อมูลของเรา บางทีก็มาเอาภาพส่วนตัวของเราไปเรียกค่าไถ่ เอาไปประจาน

    เรียกว่าในขณะที่เรามีความสะดวกจากโทรศัพท์มือถือ เราก็มีความเสี่ยงมากขึ้น อันนี้สอนให้เรารู้ว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ ได้ความสะดวกก็ต้องเสียอะไรไปบางอย่าง เสียความปลอดภัย เสียความเป็นส่วนตัว หรือพูดง่ายๆ คือเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น คนไม่ค่อยคิดตรงนี้ คิดว่าโทรศัพท์มือถือนี่ทำให้ฉันสะดวกสบาย ก็ใช้เข้าไปใหญ่ ใช้โดยที่ไม่รู้ว่าความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ

    ฉะนั้นถ้าเกิดว่าไม่อยากจะให้มีความเสี่ยงมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ ใช้โทรศัพท์ให้น้อยลง ยิ่งใช้มาก เปิดโทรศัพท์ทั้งวัน สบายก็จริง สะดวกก็จริง แต่ว่าความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้น เปิดช่องให้พวกมิจฉาชีพเข้าถึงตัวเรา 24 ชั่วโมง

    รู้จักปิดโทรศัพท์บ้าง หรือว่างดใช้โทรศัพท์บ้าง หรือว่าปิดสัญญาณโทรศัพท์ไปเลย ก็ช่วยทำให้ความเสี่ยงน้อยลง อาจจะสะดวกสบายน้อยลงแต่ว่าความเสี่ยงก็น้อยลงไปด้วย

    ทุกอย่างแหละ อะไรที่สบายอะไรที่สะดวก ไม่มีคำว่าได้มาเปล่าๆ ไม่ใช่แค่เสียเงินอย่างเดียว เสียอย่างอื่นด้วย เสียเวลาแล้วก็เสียความปลอดภัยด้วย อันนี้คนไม่ค่อยตระหนัก คิดแต่ว่ามันสบายมันสะดวก ใช้มันเต็มที่เลยไม่ได้มองด้านกลับ

    ถ้าพิจารณาตรงนี้ก็จะรู้ว่า เวลาอะไรที่ให้ความสะดวกกับเรา ต้องระวัง พิจารณาดูว่ามีข้อเสียอะไรบ้างที่เราต้องระมัดระวัง หรือพร้อมแลก ถ้าไม่พร้อมแลกพร้อมเสีย ก็อย่ากระโจนเข้าหาความสะดวกหมดเนื้อหมดตัว นั่นแหละคือโอกาสที่เราจะหมดเนื้อหมดตัวไปด้วย คือเงินหมดไปจากแบงค์เลย.