ตามปกติเรามีความทุกข์ได้หลายทางเพราะว่าความทุกข์มันมีหลายชนิด ความทุกข์ข้างนอกจากสังคมนี้ก็มี
เมื่อสังคมเขาทำกันไม่ถูกต้อง เขาก็เบียดเบียนกันเราก็พลอยเป็นทุกข์
ทำให้เป็นทุกข์เป็นวงกว้าง เช่นว่าถ้าเกิดสงครามขึ้น
คนที่ไม่มีส่วนในสงครามมันก็พลอยเป็นทุกข์ด้วย ดังนี้
เรียกว่ามันมาจากสังคม ที่นี้มันก็มาจากธรรมชาติ ที่ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เป็นธรรมชาติ
หรือเมื่อเราอยู่ในโลก โลกนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ บางทีมีน้ำท่วม
มีแผ่นดินถล่ม มีพายุพัด ดังนี้ก็ธรรมชาติอันนี้ก็มี
บางประเทศเขาก็มีพายุพัด น้ำท่วม แผ่นดินถล่มตายเป็นร้อยเป็นพันก็มี
ดังนี้ตามธรรมชาติภายนอก ธรรมชาติภายในก็คือต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย คนโง่มันก็ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะมันไม่รู้ว่านั่นมันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ
มันเข้าใจว่ามันเป็นเฉพาะเรา มันกลัวเจ็บ กลัวไข้ กลัวตาย
มันร้องห่มร้องไห้ดิ้นรนกระวนกระวายนี้ก็ต้องเป็นทุกข์ตามธรรมชาติ
ที่นี้ละเอียดไปกว่านั้นก็คือว่าเป็นความทุกข์เกิดจากการทำผิดขึ้นข้างในจิตใจนั้นเอง ในจิตใจนั้นเอง มันมีการทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผัสสะ สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้นสำคัญมาก ได้ยินแล้วจำไว้ให้ดีว่าตรงนั้นสำคัญมาก ทำผิดตรงนั้นก็มีทุกข์ ทำไม่ผิดตรงนั้นก็ไม่มีทุกข์
ทุกข์เพราะไม่ระวังผัสสะ
ผัสสะ
ผัสสะนั้นก็คือการกระทบระหว่างอายตนะ เรามีอายตนะข้างในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนั่น และมันก็มีอายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผทัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ อย่างอีกเหมือนเป็นคู่กัน เมื่อเวลามันมาถึงกันเข้านี่ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ
ยกตัวอย่างคู่แรกคือ ตากับรูป ตาแล้วก็รูปมาเนื่องกับตา ก็เรียกว่าเกิดการเห็นทางตา ดังนี้ เป็นจักษุวิญญาณ
มีรูป มีจักษุ วิญญาณ ๓ ประการนี้ถึงกันเข้าในการทำงาน ดังนี้เรียกว่าผัสสะ
ถ้ามีผัสสะนี้แล้วก็จะต้องมีเวทนา (ความรู้สึก) คือผลที่เกิดจากผัสสะ
เวทนานี้บางที่ก็ถูกใจก็หลงรัก หลงใหลไป บางที่ก็ไม่ถูกใจก็โกรธเคืองไป
ดังนี้มันบ้าแล้ว หลงรักไปมันก็บ้า หลงโกรธหลงเกลียดมันก็บ้า
เพราะมันทำสำหรับจะเป็นทุกข์ ไอ้หลงรักมันก็ทำให้เป็นทุกข์
ไปตามแบบของความหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ
มันก็มีความทุกข์ไปตามแบบของการหลงโกรธ บางเรื่องมันก็หลงกลัว
มันก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของความกลัว
ท่านลองไปคิดดูให้ดีเถอะว่า ความทุกข์ของเรามันเกิดมาจากความโง่ ในขณะแห่งผัสสะทั้งนั้น
ตาคู่กับรูปผัสสะกัน หูคู่กับเสียงผัสสะกัน จมูกคู่กับกลิ่นผัสสะกัน
ลิ้นคู่กับรสผัสสะกัน ผิวหนังกับสิ่งมากระทบกับผิวหนังผัสสะกัน
จิตคือความคิดนึกรู้สึกกระทบกันเรียกว่าเป็นผัสสะ ๖ คู่
กระทบเป็นผัสสะกันแล้วต้องรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา
ถ้ารูปถูกใจก็หลงรัก ไม่ถูกใจก็หลงเกลียด โง่ก็หลงกลัว มันก็มีเท่านี้เอง
ช่วยไม่ได้แล้ว
ถ้าไปหลงอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแล้วจะต้องเป็นทุกข์เพราะความรัก เพราะความเกลียด เพราะความกลัว ทั้งโลกเป็นอย่างนี้...จึงมีความทุกข์
หลงรักความอร่อยจึงเป็นทุกข์
ที่มันรุนแรงมาก ร้ายกาจมากก็คือเรื่องของความหลงรัก มันเป็นเหตุอันแรกที่ทำให้เกิดโกรธ เมื่อมันรักแล้วมันไม่ได้ตามที่มันต้องการมันก็โกรธ แล้วมันก็หลงใหลไปจนกว่ามันจะถึงที่สุด
หลงรักนี้ก็เพราะสิ่งๆ เดียวคือสิ่งที่เรียกว่าความเอร็ดอร่อย ความรู้สึกเอร็ดอร่อย ถ้าไม่อร่อยก็ไม่มีใครหลงรักคิดดูเถอะ ถ้าอร่อย เอร็ดอร่อยที่พอใจก็หลงรัก
อร่อยทางตาก็หลงรักรูปนั้น
อร่อยทางหูก็หลงรักเสียงนั้น
อร่อยทางจมูกก็หลงรักกลิ่นนั้น
อร่อยทางผิวหนังก็หลงรักสัมผัสอันนั้น
อร่อยทางจิตมันก็หลงรักความคิด
ทาสความอร่อยเริ่มตั้งแต่เด็กและต่อเนื่องจนโต
ความอร่อยนั้นตั้งต้นหลงกันมาตั้งแต่ว่าคลอดมาจากท้องแม่
เมื่ออยู่ในท้องแม่มันอร่อยไม่เป็น มันรู้สึกอร่อยไม่เป็น
เพราะมันไม่กินทางลิ้น ทางปากอะไรเหมือนกับออกมาแล้ว
เมื่ออยู่ในท้องมันก็กินทางสายเลือด ทางสายสะดือ มันไม่เกี่ยวกับความอร่อย
เพราะฉะนั้นจิตมันก็ปกติตามธรรมชาติอยู่ ไม่หลงในเรื่องอร่อยหรือไม่อร่อย
อย่างมากก็หิวหรือไม่หิว ทีนี้พอเด็กเขาคลอดออกมาแล้ว
มาได้กินทางปากเช่นกินนมแม่
กระทั่งโตต่อมาก็กินนั่นกินนี้ซึ่งเป็นของทำให้รู้สึกอร่อยที่ลิ้น
ไอ้ทารกนั้นมันก็พอใจ ยึดถือในความเอร็ดอร่อยต้องการเรื่อย
ติดให้ความเอร็ดอร่อยทางปาก แล้วไม่ทันไรมันก็มีความเอร็ดอร่อยทางตา
เด็กทารกนอนอยู่ในเปลเขาก็เอาอะไรแขวนสวย ๆ งามๆ ให้มันชอบความสวยงาม
แล้วเขาก็ขับกลองด้วยเพลงด้วยดนตรีให้เด็กทารกนั้นมันอร่อยทางหู
มันทาของหอมให้เด็กอร่อยทางจมูก มันโอบ มันกอด
มันอุ้มด้วยสัมผัสก็ให้เกิดความอร่อยทางเนื้อหนัง
แล้วก็เอาอกเอาใจอย่างนั้นอย่างนี้ให้มันเกิดความเอร็ดอร่อยทางจิตใจ
เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ ของเราติดหลงใหลในความอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ครบทั้ง ๖ อย่างแล้ว
จนกระทั่งเป็นวัยรุ่นมันก็ยิ่งมากขึ้น จนกระทั่งเป็นหนุ่มสาวมันก็มากขึ้น
เลยนั้นไปมันก็ยังมากขึ้นจนจะพอใจในความเอร็ดอร่อย ๖ ทางนี้ไปเรื่อย ๆ
จนว่าจะแก่ชรา จนทำไม่ได้ ดังนี้คือปัญหา
ความอร่อยนี้ทำให้ทำผิดนับตั้งแต่ลักขโมย
เด็กๆเมื่อไม่ได้รับความอร่อยตามความปรารถนาก็ขโมยเงินของพ่อ เงินของแม่
ขโมยของไปขาย ไปซื้อหาความเอร็ดอร่อย
แล้วก็ได้ชกต่อยแย่งชิงกันด้วยเรื่องของอร่อย แล้วก็สูงขึ้นไปถึงเรื่องเพศ
ก็ได้ฆ่าฟันกันด้วยเรื่องเพศ แล้วก็ทำให้เกิดการชิงสุกก่อนหาม
สูญเสียศีลธรรมวุ่นวาย แล้วก็ยังไม่พอก็ยังคิดจะหาให้มาก คิดจะหาให้มาก
มันก็คิดดูดเถอะ ท่านทั้งหลายก็คิดดูเถอะ ทำไปเพื่ออะไร หาเงินหาทรัพย์สมบัติไปทำไม มันเพื่อความเอร็ดอร่อยทั้งนั้น นายทุนมันก็ชอบความเอร็ดอร่อย ชนกรรมาชีพมันก็ชอบความอร่อย แล้วมันก็ต้องได้รบราฆ่าฟันกัน แย่งชิงกัน
อุตส่าห์เรียนหนังสือให้ดี ได้ทำงานได้เงินเดือนมาก ๆ ก็เพื่อความเอร็ดอร่อยที่มันโง่ มันใช้เกินไปจนเงินเดือนไม่พอใช้ เอ้า, พอมันไม่พอใช้ มันก็โกง มันต้องคอรัปชั่น มันก็โกงคอรัปชั่นกันทั่วไป เจ้าหน้าที่ข้าราชการก็คอรัปชั่น พ่อค้าประชาชนก็คอรัปชั่น มันก็โกง ความโกงมันมาจากความหลงในความเอร็ดอร่อยจนรายได้มันไม่พอใช้ ความคดโกงนี้มาจากความหลงในความเอร็ดอร่อย การค้าก็โกง การปลูกฝังก็โกง อะไรมันก็โกง มันพยายามจะได้กำไรมาก เพื่อมาซื้อหาความเอร็ดอร่อยก็เลยมีมนุษย์ที่โกงขึ้นมาในโลก
ฟังดูให้ดี มันไม่ได้โกงมาแต่ในท้อง เมื่อมันอยู่ในท้องมันโกงไม่เป็น มันโกงไม่เป็น ต่อเมื่อมันเกิดคลอดมาจากท้องแล้ว มาพบความอร่อยเข้านี่ มันจึงโกงเป็น ก็เริ่มโกงเป็น หลงใหลในความเอร็ดอร่อย มันจึงโกงเป็น บางที่มันก็ขโมยของกิน ถ้าพ่อแม่เขาไม่ให้มันขโมยของกิน เพื่อนบ้านเขาไม่ให้มันก็ขโมยของกิน ดังนี้มันไม่ได้โกงมาแต่ในท้อง มันมาเป็นคนโกงเมื่อได้มารู้จักรสของความอร่อย ดังนั้นเราจึงว่าถือ ความอร่อยนั้นเป็นจุดตั้งต้นของความเลวร้ายเลวทรามทั้งหลาย คือมันเริ่มหันเหจากความถูกต้อง หรือหันเหจากความปกติ เมื่อก่อนมันอยู่ในความถูกต้อง มันอยู่ในความปกติ อยู่ในธรรมชาติ ธรรมดา พอมันไปหลงใหลความเอร็ดอร่อยมันก็หันเหไปตามความเอร็ดอร่อย
หนีตามโจร
เขามีคำเปรียบสอนไว้ในคัมภีร์ในหนังสือว่ามัน ทารกนี่มันทิ้งพ่อทิ้งแม่วิ่งตามโจรไป
ฟังดูให้ดีอาจจะ จะได้แก่คนทุกคนนั้น ระวังให้ดี ได้แก่คนทุกคน มันทิ้ง
ทิ้งพ่อทิ้งแม่หนีตามโจรไป ก่อนนี้มัน มันโกงไม่เป็น
มันยังไม่หลงในความเอร็ดอร่อย เด็กน้อยๆ มันยังไปตามธรรมชาติ
พอมันไปหลงใหลความเอร็ดอร่อยแล้วมันก็ทิ้งแหละ ไม่เอาแล้วแหละ
ไอ้ที่ว่าจะถูกต้อง อย่างนั้นอย่างนี้ ดีอย่างนี้ อย่างนี้ไม่เอา
เอาแต่ได้อร่อยก็แล้วกัน ก็แปลว่ายอมดื้อพ่อแม่
ยอมทิ้งธรรมะทิ้งความถูกต้อง
วิ่งตามโจรไปก็คือไปเอากันแต่เรื่องเอร็ดอร่อยคือกิเลส โจรคือกิเลส
ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ตามนั้นเป็นโจร เด็กที่ยังไม่เคยเกิดกิเลส
เดี๋ยวนี้มันก็เกิดกิเลส มันทิ้งภาวะเดิมที่ถูกต้องปกติไปเอาอร่อย
แล้วก็ได้เกิดความโลภเมื่อถูกใจ ได้เกิดความโกรธเมื่อไม่ถูกใจ
ได้เกิดความหลงเมื่อมันยังทำไม่สำเร็จ
อุปมานี้ดี ทิ้งพ่อทิ้งแม่หนีตามโจรไป ที่นี้โจรมันก็ทำให้นั้นแหละ มีโลภ มีโกรธ มีหลง ก็เป็นทุกข์เหมือนกับไฟเผา ตกอยู่ใต้อำนาจของโจร แล้วก็แล้วแต่โจรจะทำ แล้วแต่กิเลสจะทำ ไอ้คนนั้นมันก็ต้องรับทุกข์ทรมานเพราะกิเลส
ที่นี้ปัญหาจะมีอย่างไรถ้ามันเกิดแก่เรา ก็ไอ้เรานั้นแหละมันทิ้งพ่อทิ้งแม่หนีตามโจรไป ชอบเอร็ดอร่อยสนุกสนาน พร้อมที่จะคดโกง พร้อมที่คดขโมยเป็นต้นเสมอ ดังนี้อยู่ในอำนาจโจรแล้ว แล้วจะทำอย่างไร ถ้าจะหนีโจรมามันก็ไม่เก่งพอ เพราะว่าอำนาจของโจรมันมีมากคือความอร่อย มันก็ทิ้งโจรไม่ได้ แม้แต่ทิ้งก้นบุหรี่มันก็ยังทิ้งไม่ได้ ทิ้งขวดเหล้ามันก็ยังทิ้งไม่ได้ ดังนี้มันจะทิ้งอะไรได้ มันจะทิ้งโจรหนีโจรมาอย่างไรได้ เพราะมันรัก ไอ้เสน่ห์ที่ทำให้วิ่งตามโจรไป โจรเขาเอาของที่เป็นเสน่ห์มายั่ว คนเหล่านี้ เด็กๆเหล่านี้ มันก็ทิ้งพ่อทิ้งแม่ก็วิ่งตามโจรไป มันก็ติดแน่นอยู่กับพวกโจรกลับมาไม่ได้ เหมือนกับเราทั้งหลายที่ตกไปใต้อำนาจของกิเลสแล้ว ไม่เอาดี เอาถูกกันแล้ว เอาแต่อร่อยแล้ว ทรมานอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว แล้วจะทำอย่างไร จะทิ้งโจรมาสู่สภาพเดิม ถ้าได้ก็เก่งสิ มันก็เก่ง แต่นี้มันไม่ได้ จะหนีโจรมามันยังทำไม่ได้ จะฆ่าโจรมันก็ทำไม่ได้ ปุถุชนธรรมดามันก็ฆ่าไม่ได้ เว้นไว้แต่พระอริยะสาวกที่จะรู้ จะเก่งจนทิ้งโจร หนีโจรมาได้หรือฆ่าโจรเสียได้ จะกลับมาหาพ่อแม่อีกคือความถูกต้อง ความเป็นธรรมะความถูกต้อง
เอาชนะโจรด้วยสติและปัญญา
นี่คือปัญหาแหละ ปัญหา ที่นี้ทุกคนมันโตขึ้นมา
มันทิ้งพ่อทิ้งแม่ไปอยู่กับโจร ชอบของ เอร็ดอร่อย เกิดความโลภ ความโกรธ
ความหลง อยู่ทุกวัน ทุกวัน มันทนทรมานด้วยอำนาจของโจรเหล่านั้น
มันจะหนีพ้นจากเงื้อมมือโจรได้อย่างไร มันก็ต้องอาศัยธรรมะ
รู้เรื่องนี้ดีแล้วพยายามที่จะหนีมาจากโจร หรือฆ่าโจรเสียด้วยธรรมะ
จะต้องฝึกจิตเข้มแข็งแหละ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเข้มแข็ง กำจัดความไอ้โลภ
ความโกรธ ความหลงได้ในที่สุดนี่ จึงจะเรียกว่าหนีมาเสียจากโจร
หรือว่าฆ่าโจรเสียได้ ต่อไปนี้มันก็สบายยังไง ไม่ต้อง
ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของโจร ไม่อยู่ในอำนาจของโจรมันก็สบาย
เรื่องมันก็อยู่ที่นี่ พวกเรานี้มาบวชทำไม บวชบ้า ๆ บอ ๆ
อย่างนั้นหรือ มันควรจะบวชเพื่อฆ่าโจรหรือทิ้งโจรเสีย ทายก
ทายิกาทั้งหลายก็เหมือนกันแหละ มานับถือพุทธศาสนาทำไมกัน
ก็เพื่อหาเครื่องมือที่จะฆ่าโจรหรือจะทิ้งโจรเสีย
ก็ต้องทำตนให้มีธรรมะสำหรับหลุดออกจากอำนาจของโจร ต้องมีสติเมื่อผัสสะ
ผัสสะคู่ไหนก็ตามใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องมีสติพอ
แล้วสตินั้นก็พาปัญญามาทัน แล้วก็ไม่หลงในสุขเวทนา ไม่หลงในทุกขเวทนา
ไม่หลงในอทุกขมสุขเวทนา มันเป็นอย่างนั้น
เดี๋ยวนี้มันมีสติไม่พอนี่ สติมันไม่พอ มันไม่มีหรือมันมีน้อยเกินไป
มันไม่พอที่จะมีสติในขณะแห่งผัสสะ มันก็เลยเป็นไปตามอำนาจแห่งเวทนา
ฉะนั้นจึงมีการฝึกให้มีสติ ที่วัดชายนาก็ดีที่ไหนก็ดี ถ้ามันเป็นวิปัสสนาที่ถูกต้อง แล้วมันก็เริ่มด้วยฝึกให้มีสติ มาก เร็ว สติมากพอแล้วเร็วพอที่จะรู้สึกตัวเมื่อมีผัสสะ ฝึกสติแล้วก็ฝึกปัญญา เห็นชัดใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วมีชื่ออย่างอื่นเช่นว่า สุญญตา ตถตา อิทัปปัจจยตา เป็นต้น ดังนี้มันเป็นปัญญาต้องฝึกจนมีมากพอ มีความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตามากพอ ก็เตรียมไว้ พอมีผัสสะกระทบผัสสะเมื่อไรที่ไหน สติมันก็เอาปัญญานั้นไปทันในเวลานั้น ไปควบคุมจิตใจ ที่กระทบกันกับผัสสะ มันก็ไม่ทำผิดต่อผัสสะสิ ไม่ทำผิดในขณะผัสสะ คือไม่หลงยินดีเมื่อเป็นสุขเวทนา เมื่อไม่หลงยินร้ายเมื่อเป็นทุกขเวทนา ไม่โง่หลงสงสัยพัวพันในเมื่อมันเป็นอทุกขมสุขเวทนา เรื่องมันก็จบเท่านั้นแหละ
สติปัญญาช่วยให้เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง
ฉะนั้นเราฝึกสติให้พอ เมื่อมันมีสมาธิอยู่ในนั้นแล้วฝึกปัญญาให้พอ ให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนะ
มันเป็นอย่างไร มันก็คือเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มีคำรวบรัดสั้นๆคำเดียวว่า ตถาตา ตถตา แปลว่า เช่นนั้นเอง ตถตาแปลว่าเช่นนั้นเอง
มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมันเป็นอย่างนั้นเองตามธรรมชาติของมันเอง
มันไม่เที่ยงเช่นนั้นเอง มันเป็นทุกข์เช่นนั้นเอง
มันเป็นอนัตตาเช่นนั้นเอง เอามารวมกันเสียเป็นสิ่งเดียวเรียกว่า ตถาตา
แปลว่าเช่นนั้นเอง
เรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งหมด ทั้งสายทั้งยืดยาวนั้นแหละ
คือเรื่องความเป็นเช่นนั้นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น
มันมีความเป็นเช่นนั้นเองสำหรับเกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา
แล้วก็มีความเป็นเช่นนั้นเองสำหรับไม่เกิดความทุกข์หรือดับความทุกข์ก็มี
ถ้ามันไปถูกเช่นนั้นเองของความเกิด ทุกข์ มันก็เกิดทุกข์
ถ้ามันไปถูกความเช่นนั้นเองของไม่เกิดทุกข์ มันก็ไม่เกิดทุกข์
เรารู้เรื่องเช่นนั้นเองให้เพียงพอ
เช่นสมมุติเรายากจนไม่เงินใช้
ก็ทำเช่นนั้นเองให้ถูกต้องสำหรับจะมีเงินใช้ และก็ไม่หลงใหล
แม้มีเงินใช้ก็ไม่หลงใหลเรื่องความเอร็ดอร่อย มันก็ไม่เป็นทุกข์อย่างไง
ให้เรารู้เรื่องเช่นนั้นเองให้เพียงพอ เมื่อเวทนามากระทบเป็นสุขเวทนา
เอร็ดอร่อยเหลือประมาณก็ โอ้, มันก็เช่นนั้นเอง
ความอร่อยในสุขเวทนาก็เช่นนั้นเอง ถ้าว่าไม่อร่อยเป็นทุกขเวทนา อ้าว,
มันก็ทุกขเวทนาก็เช่นนั้นเอง หรือมันไม่แน่มันยังคลุมเครืออยู่ อ้าว ,
มันก็เช่นนั้นเอง
ยกตัวอย่างเหมือนว่าเคี้ยวอะไรกินอะไรเข้าไปในปากแล้วมันอร่อย
ผู้รู้เขาก็รู้ว่า อ้อ, มันเช่นนั้นเอง นี้เรียกว่าอร่อย
ที่นี้คนโง่มันก็อร่อย อร่อย อร่อยจนมันอยากจะได้ มันอยากจะกินอีก
มันจะกักตุน มันจะสะสม มันหลงใหลจนเป็นทุกข์
กลัวว่าจะไม่ได้อีกหรือกลัวว่าจะหมดเสีย ดังนี้
เพราะมันไม่รู้ว่าอร่อยก็เช่นนั้นเอง ตามแบบของมัน
คือความรู้สึกเกิดขึ้นแก่ระบบประสาท ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น
ตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนอะไรที่ไหน
เป็นธรรมชาติรู้สึกไปตามธรรมชาติ ตามระบบประสาทก็อร่อย
ถ้าไม่อร่อยก็มันก็คือตรงกันข้าม
มันไม่ถูกกับระบบประสาทที่จะทำให้รู้สึกอร่อยอย่างนั้น
มันก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน เช่นนั้นเอง อร่อยก็เช่นนั้นเอง
ไม่อร่อยก็เช่นนั้นเอง ยังไม่แน่ว่าอร่อยหรือไม่อร่อยมันก็เช่นนั้นเอง
ก็ไม่เกิดความโลภเพราะหลงในอร่อย ไม่เกิดความโกรธเพราะไม่ทำให้อร่อย
ไม่เกิดความหลงเพราะมันไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนี้เราจึงไม่ทำผิด
ไม่ทำผิด ไม่ทำชั่วเพราะความอร่อยหรือความไม่อร่อย
หรือว่ายังไม่แน่ว่าจะอร่อยหรือไม่อร่อย
ปัญญาเลวร้ายตั้งต้นที่ความอร่อย
ดังนั้น ความอร่อยก็มีหลายระดับอย่างที่ว่ามาแล้ว อร่อยทางปากทางลิ้น
อร่อยทางกามารมณ์ระหว่างเพศ อร่อยทางยาเสพติดสูงสุดขึ้นมันไป มันไม่รู้ว่า
โอ้ มันเท่านั้นเอง มันเช่นนั้นเองหรือมันแค่นั้นเอง
มันเห็นเป็นของประเสริฐ เป็นของประเสริฐ เป็นตัว เป็นตน เป็นของประเสริฐ
มันจะอร่อย ถึงขนาดมันทิ้งพ่อทิ้งแม่หนีตามโจรไปแหละ คือ
มันจะเอาข้างเอร็ดอร่อยโดยไม่ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไรดี อะไรชั่ว
ถ้าพ่อแม่ขัดขว้างไม่ให้ไปอร่อยอย่างนี้ มันฆ่าพ่อฆ่าแม่ของมันได้
วิ่งหนีตามโจรไป
ขอให้เรารู้ว่าไอ้ปัญหาทั้งหลาย
เลวร้ายทั้งหลายนี่มันตั้งต้นที่ความอร่อยที่คนโง่มันไม่รู้จัก
ที่คนโง่มันบูชาเป็นของสูงสุด ก็ได้เลยทำบาปทำชั่ว ขยายตัวเป็นวงกว้าง
วงกว้างออกไป จนได้รบกันทั้งโลก มันแย่งชิงปัจจัยแห่งความอร่อย แบ่งเป็น ๒
พวก รบกันเป็นสงครามโลก ถ้าใครชนะได้ครองโลก
มันก็รวบรวมเอาปัจจัยแห่งความเอร็ดอร่อยทั้งโลกเป็นของตน มันได้อร่อยหมดเลย
มันจึงจะอยากทำสงครามโลกแย่งชิงเอาโลกมาเป็นของตน
มูลเหตุนิดเดียวอยู่ที่ความอร่อยของแต่ละคน
ร่วมมือกันจะครองโลกเพื่อเอาให้หมด
ปัจจัยแห่งความอร่อยมีเท่าไรเอามาเป็นของเราให้หมด ดังนี้
มันคิดครองโลกเพราะความอร่อย
ดูเถอะจะเห็นชัดเลยว่า
ความเลวร้ายนี่ตั้งต้นมาจากความหลงในความเอร็ดอร่อยตามธรรมดา
เอร็ดอร่อยในกามคุณทางเพศ แล้วก็เอร็ดอร่อยทางเสพติดมึนเมา
ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้ว่ามันเช่นนั้นเอง มันเท่านั้นเอง
จะไปหลงใหลให้มันบ้าทำไม ความเอร็ดอร่อยเป็นเหตุให้ลงมือ
หันเหมีจิตหันเหไปทางความชั่ว เพราะหลงในความอร่อย ขโมยบ้างอะไรบ้าง
เด็กเล็ก ๆ เกิดมาขโมยไม่เป็น
พอได้ไปกินอะไรชิมอะไรอร่อยเข้าละก็เริ่มขโมยเป็น เริ่มเอารับหลัง
ที่นี้รู้ว่าเขาหวงก็เลยต้องขโมย ต้องมีเจตนาขโมยโดยตรง
ดังนี้มันก็เกิดความผิดขึ้นมาแล้ว มีมูลมาจากความอร่อยที่ตัวไม่รู้จัก
มันก็หลงใหล จะเอาแต่ให้มันได้ความอร่อย ไม่มีศีลธรรม ศีลธรรมยังไม่มี
ยังไม่รู้จักศีลธรรม
จนกว่าเมื่อไหร่จะได้ศึกษาเรื่องของศีลธรรม เห็นว่าเรื่องอร่อยนั้นเป็นเรื่องกิเลส ไม่อร่อยก็เป็นเรื่องกิเลส ก็ไม่เอา เอาที่มันถูกต้อง ที่มันไม่เป็นกิเลส
รู้สึกว่าอร่อยก็ได้เหมือนกันแหละ กินของอร่อยก็ได้เหมือนกันแหละ แต่อย่าไปหลงกับมัน อย่าไปหลงกับมัน ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้กินของอร่อยไม่ใช่ กินก็ได้แต่อย่าไปหลงความอร่อยจนเกิดกิเลส อยากจะมีมาก อยากจะสะสม อยากจะมีปัจจัยแห่งความอร่อยมาก แล้วมันก็คดโกง คนคดโกงที่โกงอะไร โกง โกง โกง กันนะ เพราะว่าจะได้ปัจจัยแห่งความอร่อยทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินเดือนไม่พอใช้มันก็โกง หรือรายได้ไม่พอใช้มันก็โกง เพราะมันต้องการความอร่อยมาก ดังนั้นอย่าบูชาความเอร็ดอร่อย ก็จะไม่เกิดปัญหาคือกิเลส พระเณรจะต้องสึกมันก็เรื่องนี้แหละ มันอยู่ไม่ได้ มันมีความเอร็ดอร่อยที่มีอำนาจมากดึงดูดเอาไป
ดังนั้นถ้าผู้ใดรู้เรื่องนี้แล้วบังคับความรู้สึกได้
มันก็เดินไปตามทางของพระธรรมได้ ไม่ทิ้งธรรมะ
แล้วหนีไปเอาโจรคือเรื่องกิเลส
อย่างคำพูดโบราณที่ว่าทิ้งพ่อทิ้งแม่หนีตามโจรไป ไปนั่งร้องไห้อยู่
เพราะโจรคือกิเลสมันเผารน บีบคั้นย่ำยีเอาคือความทุกข์ คือความทุกข์
เมื่อได้รับความทุกข์แล้วมีศรัทธาในการที่จะดับทุกข์นั้นเสีย
แล้วก็ปฏิบัติธรรมะไปตามลำดับ ตามลำดับ เพื่อจะดับความทุกข์นั้นเสีย
ทำวิปัสสนานี้เป็นคำพูดรวม ๆ คือทำให้มีสติรวดเร็ว
แล้วก็ทำให้มีปัญญามากพอ ทำสมาธิให้มีจิตเข้มแข็งบังคับกันได้
พอมีสัมผัสทางตาทางหูเป็นต้น ก็มีสติ เอาความรู้มาต่อสู้กับไอ้สัมผัสนั้น
อย่าได้ไปหลงในความอร่อยหรือความไม่อร่อย จิตก็ปกติไปตามเดิมไม่มีความทุกข์
เมื่อทำอย่างนั้นบ่อยเข้า บ่อยเข้า บ่อยเข้า
จิตมันก็จะตั้งมั่นอยู่ในความไม่เป็นทุกข์ มันจะต่อสู้อารมณ์ได้รวดเร็ว
ทันที เพราะมีสติ มีปัญญามากพอ รวดเร็ว ว่องไว ในการที่จะควบคุมผัสสะ
สรุปความแล้วก็ขอให้จำไปว่า
ความทุกข์เกิดมาจากการทำผิดในขณะแห่งผัสสะ
ทุกข์ทั้งปวงเกิดมาจากการทำผิดในขณะที่มีผัสสะ
ความไม่ทุกข์ก็คือความไม่ทำผิดในขณะแห่งผัสสะ ไม่ว่าจะเป็น ทางตา ทางหู
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผัสสะไหนก็ตาม อย่าไปทำผิดตรงนั้น
ก็ไม่เกิดความทุกข์ มีสติพอ มีปัญญาพอ ก็ไม่ทำผิด
เราก็ฝึกฝนศึกษาเล่าเรียน ทำสติ ทำสมาธิ ทำปัญญา
ตามที่สำนักวิปัสสนาทุกแห่ง เขาก็มุ่งหมายที่จะสอนอย่างนี้ทั้งนั้น
อย่างสอนให้เตลิดเปิดเปิงเป็นเรื่องอื่น เป็นเรื่องหลง
เป็นเรื่องหากินไปเสีย จะเป็นวิปัสสนาหากิน หาลาภหาอะไรไปเสีย
ถ้าเป็นสำนักวิปัสสนาที่ถูกต้อง ก็ต้องทำให้เกิดผลคือทุกคนมีสมาธิ มีสติ
มีสมาธิ
มีปัญญาเพียงพอที่จะควบคุมตัวเองต่อสู้กับกิเลสที่จะเกิดขึ้นในขณะแห่งผัสสะ
อะไร อะไรก็รวมที่ผัสสะ เป็นนรกก็ทำผิดเมื่อผัสสะ
เป็นสวรรค์ก็เพื่อทำถูกผัสสะ
ที่มา โอวาทแก่คณะภิกษุสามเณรและอุลาสก อุบาสิกาจากวัดชายนา จ.นครศรีธรรมราช โดย พุทธทาสภิกขุ