สิ่งที่เป็นกุศล 10 อย่าง และสิ่งที่ไม่เป็นกุศล 10 อย่าง

Share

สมเด็จพระญาณสังวร,

อกุศลกรรมบถ ๑๐

    ท่านก็อธิบายว่าได้แก่ ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล

    ท่านก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปอีกว่า กุศลนั้น อกุศลนั้น ได้แก่อะไร ท่านก็ยกเอา อกุศลกรรมบถ คือทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลขึ้นแสดง

  • ทางกายอันเรียกว่า กายกรรม อันเป็นอกุศล ๓ คือ การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๑ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ๑ การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑ ทั้ง ๓ นี้เป็นทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางกายทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล
  • ทางวาจาคือ วจีกรรม มี ๔ ก็ได้แก่ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ ก็รวมทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาเป็น ๔
  • ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓ ก็คือ อภิฌชา โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ๑ พยาบาท ปองร้ายเขา ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่นเห็นว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบาป จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบุญ ไม่มีผลของบาปบุญ และไม่มีมารดาบิดา ไม่มีกรรมดีกรรมชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่ว ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบทั้งหลาย ปฏิเสธว่าไม่มีทั้งหมดเหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดจากคลองธรรม ก็รวมเป็นทางกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓

    รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คืออกุศล สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง

อกุศลมูล

    อกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่ โลภ คือความโลภอยากได้ อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม โมหะความหลง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม

    สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง

กุศลกรรมบถ ๑๐

    ส่วนกุศล และกุศลมูลนั้น ก็ตรงกันข้าม กุศลก็ได้แก่กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ คือทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

  • กายกรรม ๓ ก็คือ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
  • วจีกรรม ๔ ก็คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
  • มโนกรรม ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามคลองธรรม

    ทั้ง ๑๐ นี้ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ สัมมาทิฏฐิก็คือรู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้ ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง

กุศลมูล

    ส่วนกุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้น ก็ได้แก่

  • อโลภะความไม่โลภอยากได้ โดยมีสันโดษความพอใจอยู่ในทรัพย์สมบัติเฉพาะที่เป็นของตนเท่านั้น เป็นต้น
  • อโทสะความไม่โกรธแค้นขัดเคือง ก็โดยที่มีเมตตา กรุณา เป็นต้น
  • อโมหะความไม่หลง ก็คือความที่มีปัญญารู้ตามเป็นจริง อันทำไม่ให้หลงไหล ไม่ให้ถือเอาผิด

            สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุก ๆ ข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง  

            สัมมัปปัญญา สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้เป็นทิฏฐิคือความเห็น เป็นทัศนะคือความเห็น เป็นญาณะคือความรู้ หรือเป็นปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ที่จำต้องการเป็นขั้นต้นของทุก ๆ คนในโลก

    แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้น ในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยการฟังการเรียน อันรวมในคำว่า สุตะ ด้วยการคิดพินิจพิจารณา อันรวมเรียกว่า จินตา และด้วยการปฏิบัติอบรมต่าง ๆ ในข้อที่พึงปฏิบัติอบรมนั้น ๆ  อันเรียกว่า ภาวนา และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญาอบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมัปปัญญา ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังกล่าว