เข้าใจให้ถูกต้อง สาระสำคัญของการทอดกฐิน ไม่ใช่เงิน

Share

เข้าใจให้ถูก, พระไพศาล วิสาโล,

     ญาติโยมจำนวนมากก็รู้ว่าการทอดกฐินสำคัญ แต่ว่าอาจจะไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร รู้แต่ว่ามัน เป็นงานบุญที่นานๆ ทีจะมีสักครั้ง ก็คือปีละครั้ง เป็นงานยาก และก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงสำคัญ แล้วก็จะไปสงสัยว่าทำไมถึงจัดได้แค่ปีละครั้ง สำหรับวัดใดวัดหนึ่ง

     ที่ว่าจัดได้ปีละครั้ง แล้วก็เจาะจงด้วยว่าต้องเป็นช่วง 30 วันหลังจากวันออกพรรษา หลายคนอาจจะไม่ได้สงสัยว่า ทำไมถึงจัดได้เฉพาะช่วงเวลานี้ ไม่เหมือนสังฆทาน หรือการทำบุญอย่างอื่นที่ทำได้ตลอดปี ปีละหลายครั้งก็ได้

     ที่กฐินทำได้ปีละครั้ง แล้วก็เฉพาะสามสิบวันหลังจากออกพรรษา ก็เพราะเป็นงานบุญที่ผูกติดกับการเข้าพรรษาและการออกพรรษา เพราะว่าการเข้าพรรษาเป็นการทำความเพียรของพระ ซึ่งหลายวัดก็มีเป็นจำนวนมากหลายรูป เมื่อพระได้ทำความเพียรทั้งเรียนทั้ง  ศึกษาจนครบสามเดือนแล้ว อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรอนุโมทนา แล้วยิ่งพระในวัดอยู่ด้วยกันอย่างราบรื่น เรียกว่ามีความสามัคคีกันก็เป็นเรื่องที่ยิ่งน่าอนุโมทนาเข้าไปใหญ่

     การทอดกฐินมีจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ เพื่อเชิดชูสามัคคีธรรมในหมู่สงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสได้อย่างราบรื่น แล้วเพราะเหตุนี้แหล่ะจึงจัดในช่วง 30 วันหลังจากออกพรรษา

     ความสามัคคีธรรมของหมู่สงฆ์เป็นสิ่งสำคัญสำคัญ สำคัญทั้งสำหรับการประพฤติธรรมของภิกษุแต่ละรูป แล้วก็สำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของพุทธศาสนา ซึ่งรวมไปถึงการเผยแผ่ธรรมให้กับญาติโยม เรียกว่าสมณกิจหรือศาสนกิจ นี่คือสิ่งที่ชาวพุทธเราควรจะตระหนัก ควรจะเข้าใจว่าบุญกฐินสำคัญอย่างไร แล้วทำไมจึงจัดในช่วงนี้เท่านั้น

     คนไทยสมัยก่อนก็ถือว่าเป็นโอกาสของการเสริมสร้างสามัคคีธรรม ไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงสามัคคีในหมู่ญาติโยมด้วย

     การทำบุญกฐินเป็นงานใหญ่ เป็นการเสริมสร้าง กระชับความสัมพันธ์ในหมู่ญาติโยม แต่ก่อนญาติโยมที่มาร่วมบุญกฐิน หรือว่าเป็นเจ้าภาพกฐินนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นชาวบ้านรอบวัด บางทีก็อาจจะมีชาวบ้านจากที่ไกลๆ มาร่วมเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ไม่ทิ้งหัวใจของ งานบุญกฐินก็คือความสามัคคี เพราะว่าจะจัดงานนี้ได้ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน

     แล้วก็มีสิ่งที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ อาจจะมีมหรสพ อันนี้ก็เป็นตัวหล่อลื่นความสัมพันธ์ของผู้คน โดยเฉพาะจากต่างถิ่นให้มามีความสมัครสมานรักใคร่สามัคคีกัน แต่มันก็ไม่ได้มีเท่านั้น ตัวงานการเอง การจัดเตรียมงานกฐินก็เป็นสิ่งที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่น

    โดยเฉพาะกฐินที่เรียกว่าจุลกฐินนี่ต่างจากมหากฐิน มหากฐินคือกฐินที่เราทำกันทั่วไปที่บางทีเราก็เรียกกฐินสามัคคี หรือกฐินที่มีเจ้าภาพเป็นรายบุคคล หรือว่ามีเฉพาะเจ้าภาพเป็นรายเดียว

     จุลกฐินที่จริงแล้ว ทำแล้วนี่เกิดมหากุศลยิ่งกว่ามหากฐินด้วย เพราะว่าต้องอาศัยความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นเลยทีเดียว เนื่องจากจะต้องทำทุกอย่างทุกกระบวนการให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย จากด้ายก็มาทอเป็นผ้า พอทอผ้าเป็นผืนก็ต้องมาตัดเย็บ แล้วก็ย้อมให้เป็นสบงมั่งหรือว่าจีวรบ้าง หรือว่าสังฆาฏิบ้าง

     งานใหญ่นะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทีเดียวให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อถวายแก่สงฆ์ จึงเรียกว่าไม่ใช่เป็นงานเล็กงานน้อย แต่ว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยความสามัคคีกันมาก

     สาระของกฐินก็คือ ส่งเสริมและเชิดชูสามัคคีธรรม ทั้งในหมู่สงฆ์แล้วก็ในหมู่ฆราวาสญาติโยม โดยมีผ้ากฐินเป็นสื่อ เพราะสมัยก่อนคือสมัยพุทธกาล ผ้าเป็นของหายาก พระแต่ก่อนนี้ก็ต้องไปเก็บผ้ามาจากผ้าห่อศพ ก็มีชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ต้องมาเย็บให้เป็นผืนเดียวกัน แล้วก็มาย้อม บางทีต้องต้มด้วย เพื่อให้ความเหม็นมันจางคลาย

     ตอนหลังก็มีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าจากญาติโยมได้ ก็เลยมีการถวายผ้า บางทีก็ถวายในรูปสังฆทานคือผ้าป่า ผ้าป่านี่คือแต่เดิมคือผ้าที่ญาติโยมไปแขวนไว้ตามป่า เพื่อให้พระไปชักเอามาใช้ เพราะสมัยก่อนไม่มีพระพุทธานุญาตให้รับผ้าจากญาติโยมได้ ผ้าแบบนั้นก็เรียกว่าคหบดีจีวร

     แต่ตอนหลังมีพุทธานุญาตให้รับผ้าจากญาติโยมได้ ก็เลยมีการถวายผ้าเป็นรายบุคคลบ้างหรือว่าในรูปสังฆทาน สังฆทานคือถวายแก่สงฆ์แล้วสงฆ์ก็ตัดสินว่าจะมอบให้กับใคร

     ผ้ากฐินก็เหมือนกัน เป็นสังฆทานที่ญาติโยมหรือเจ้าภาพถวายแก่สงฆ์ แล้วสงฆ์ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะมอบให้กับพระรูปใด การที่จะมีมติเป็นเอกฉันท์ได้ก็ต้องอาศัยความพร้อมใจหรือพร้อมเพรียง ก็คือความสามัคคีกันนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าญาติโยมที่จะถวายกับพระรูปใดรูปหนึ่ง อย่างนั้นไม่ใช่นะ ถ้าทำเช่นนั้นมันก็ไม่ใช่ผ้ากฐิน ไม่ใช่ผ้าสังฆทาน  แต่ว่าเจ้าภาพต้องถวายกับสงฆ์ สงฆ์ก็มอบให้กับพระรูปใดรูปหนึ่ง อันนี้ก็คืออุบายที่สร้างสามัคคีในหมู่สงฆ์โดยมีผ้ากฐินเป็นสื่อ แต่เดี๋ยวนี้ ผ้าก็ลดความสำคัญลงไปแล้ว ตอนหลังนี่บริวารกฐินมีความสำคัญมาแทน และบริวารกฐินที่สำคัญก็คือเงิน

เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ

     กฐินตอนหลังนี่ เงินก็เลยเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันความสามัคคีของหมู่สงฆ์ที่เคยเป็นจุดหมายสำคัญของบุญกฐินก็ค่อยๆ เลือนหายไป เวลาทอดกฐินเจ้าภาพก็อยากจะได้เงินเยอะๆ มาถวายกับวัด    บางทีพระเองก็สนใจให้ความสำคัญกับเงิน จนลืมไปว่ากฐินนั้น สิ่งสำคัญ คุณค่าอยู่ที่สิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งสำคัญมาก ก็คือความสามัคคี ตอนหลังกฐินก็เลยความหมายแปรเปลี่ยนไป มีเรื่องเงินเข้ามาเป็นจุดหมาย แล้วบางทีก็เป็นเรื่องของหน้าตาด้วย

     วัดไหนถ้าไม่มีกฐินเข้ามาจะรู้สึกเสียหน้า บางทีพระไม่รู้สึกอะไร แต่ชาวบ้านรู้สึกว่าวัดประจำบ้านตัวเองไม่มีกฐินมาเลย ก็ต้องขวนขวายไปหากฐินมาจากที่อื่น หรือมิเช่นนั้นก็รวบรวมกันทอดกฐินเสียเอง จุดหมายสำคัญไม่ใช่เพื่อเชิดชูความสามัคคี แต่เพื่อรักษาหน้าตาของหมู่บ้าน หรือบางทีรักษาหน้าตาของวัด ของเจ้าอาวาส อันนี้ก็เป็นความคลาดเคลื่อน

     เพราะสมัยก่อนมันไม่ใช่ว่าทุกวัดจะมีกฐิน บางวัดก็ไม่มี แล้ววัดที่ไม่ได้กฐินเขาก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะว่าญาติโยมอาจจะไม่รับรู้ หรือไม่มีกำลัง

     ตอนหลังนี่กฐินก็เป็นเรื่องของหน้าตาเสียเยอะ เจ้าภาพเองถ้าหาเงินได้น้อย แทนที่จะได้แสนก็ได้แค่หมื่นก็รู้สึกเสียหน้างาน ก็ทอดกฐินด้วยความทุกข์ ด้วยความเสียใจ เพราะรู้สึกว่าหาเงินมาได้น้อยกว่าที่ตั้งใจ หรือน้อยกว่ากฐินกองอื่นของเจ้าภาพคนอื่น นี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เพราะไม่รู้ถึงจุดมุ่งหมายสำคัญของกฐิน

     เงินจะได้มากหรือน้อยไม่สำคัญ บริวารกฐินถึงจะน้อยก็ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเรามีใจที่จะมาถวายเพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมในหมู่สงฆ์ แล้วขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้เกิดความพร้อมเพรียงกันในหมู่ญาติโยมด้วย อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าพอไปเอาเงินแล้วก็หน้าตาเป็นเรื่องใหญ่แล้ว บางทีมันทำให้ความสามัคคีเสียไป

     อย่างญาติโยมที่เป็นเจ้าภาพ พอตั้งเป้าว่าเงินกฐินจะต้องให้ได้เป็นแสนเป็นล้าน จะทำยังไง คราวนี้ก็ต้องไปบีบไปเค้นอาจจะยังไม่ถึงขั้นรีดไถ แต่ว่าก็ไปบีบไปเค้นไปเรียกร้องให้คนอื่นๆ มาร่วมทำบุญกฐินด้วย

     เดี๋ยวนี้คนจำนวนไม่น้อยเลยกลัวซองกฐิน เห็นซองกฐินแล้วกลัวเพราะว่าถูกเรียกร้อง เจอซองกฐินก็เหมือนกับถูกเรียกร้องให้ต้องบริจาคเงิน ให้ต้องใส่ซอง พูดง่ายๆ ใส่น้อย ห้าสิบบาท ยี่สิบบาทคน ที่มายื่นซองให้ก็อาจจะไม่พอใจ เพราะว่า ถ้าสายของตัวเองได้น้อย เจ้าภาพรู้เจ้าภาพก็จะไม่พอใจ แล้วก็กลายเป็นการแตกสามัคคีกัน เกิดความขัดแย้ง เกิดการทะเลาะวิวาท เกิดความไม่พอใจกัน อาจจะไม่ถึงขั้นทะเลาะ แต่ว่ามีความกินแหนงแคลงใจ เพราะว่าทำไมสายนี้ได้น้อย ทำไมคนนี้ให้น้อย อันนี้เรียกว่ามันได้ผลตรงข้ามกับจุดมุ่งหมายของบุญกฐิน

     ฉะนั้นเราตั้งใจให้ดี จับหลักให้ได้ว่ากฐินนี่จุดมุ่งหมายคืออะไร เพื่อสร้างความสามัคคี ไม่ใช่เพื่อแตกความสามัคคี ไม่ใช่เพื่อกินแหนงแคลงใจ แล้วจุดหมายก็ไม่ได้อยู่ที่ยอดเงิน หรือว่าหน้าตา

     ถ้าทำความเข้าใจแบบนี้ได้ ถึงจะเป็นบุญอย่างแท้จริง ในเมื่อเราจะทอดกฐินเพื่อสืบทอดประเพณีแล้ว ก็ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายสาระสำคัญของประเพณี ไม่เช่นนั้นมันจะเหลือแต่รูปแบบ และเป็นรูปแบบที่กลวงด้วย เพราะว่าไปเน้นเรื่องเงิน เรื่องหน้าตา ซึ่งเป็นเรื่องของความฉาบฉวย แล้วก็เป็นการส่งเสริมกิเลสไปในที่สุด แทนที่จะส่งเสริมธรรมะอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้