หนังสือธรรมบรรยายจัดชุดของพุทธทาสภิกขุ

Share

พุทธทาส,

ในปัจจุบันทุกสิ่งมักจะสำเร็จได้ด้วยการโฆษณา คนเชื่อโฆษณากันมาก การเผยแผ่ธรรมเฉยๆ อาจไม่สามารถกระตุ้นให้คนเกิดสนใจในธรรมะได้เท่ากับการต้อง “โฆษณาธรรม”


    เมื่อพุทธทาสภิกขุเผยแผ่ธรรมะในรูปของปาฐกถาหรือธรรมบรรยายใช้ภาษาที่สื่อความเข้าใจง่าย แตกต่างจากธรรมเนียมการแสดงพระธรรมเทศนาแบบเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา ทำให้เป็นที่สนใจของคนในสังคมบางเรื่องถึงกับสร้างกระแสเป็นที่กล่าวถึงทั้งด้านชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์

    จากเหตุดังกล่าวจึงมีผู้ขอธรรมบรรยายไปจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นที่ระลึกทั้งในงานมงคลและอวมงคล รวมถึงธรรมทานมูลนิธิเองก็จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นชุดๆ อาทิ “ชุดแรกสุด เราก็รวบรวมเรื่องที่เคยลงพิมพ์ใน พุทธสาสนา จัดเป็นเล่มๆ มีชุดจากพระโอษฐ์ ชุมนุมเรื่องยาว ชุมนุมเรื่องสั้น ชุมนุมข้อคิดอิสระ ชุมนุมอภิลักขิตกาลพจน์ ชุมนุมบทประพันธ์โคลงกลอนของสิริวยาส ชุมนุมเทศน์ครั้งสำคัญ ๆ อีก 2 เล่ม รุ่นนี้คณะธรรมทานพิมพ์เอง...

    แล้วต่อมาคุณสะอาด วัชราภัย เขาคงอยากได้บุญได้กุศลและหารายได้ไปด้วย ก็มาขอไปพิมพ์ ตั้งเป็นสำนักพิมพ์สุวิชานน์ ตอนนั้นแกมีอาชีพอะไรที่เกี่ยวข้องอยู่ทางรัฐสภา เป็นเลขาฯ หรืออะไรนี่แหละ แล้วก็พิมพ์หนังสือธรรมขาย ทางเราไม่ได้เอาค่าลิขสิทธิ์อะไร แกมีหัวทางศิลปะ ทำปกสวยงามตามสมควร... แล้วต่อมาไม่สบายก็เลยต้องเลิก คุณวิโรจน์ (ศิริอัฐ) ก็มารับช่วงต่อ เป็นสำนักพิมพ์ธรรมบูชา” [1]

    สำหรับธรรมบรรยายชุดของพุทธทาสเท่าที่สืบค้นได้พบว่า คณะเผยแพร่วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (ผชป.) จัดพิมพ์เอกสารชุด มองด้านใน เริ่มจัดพิมพ์ ภาษาคน-ภาษาธรรม เป็นลำดับแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อสวนอุศมมูลนิธิรับช่วงดำเนินการจัดพิมพ์ธรรมบรรยายของพุทธทาสภิกขุต่อจากธรรมทานมูลนิธิ โดยจัดพิมพ์เป็นชุด อาทิ ชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส


ที่มาของหนังสือชุดธรรมโฆษณ์

    “มันเกิดจากการปรารภว่า ธรรมะที่เราพูดไปมากต่อมากแล้วมันจะสูญหายเสียหมด ที่พิมพ์กันเล่มเล็กๆ หรือที่อื่นเอาไปพิมพ์ มันก็กระจัดกระจายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จึงพยายามทำขึ้นให้เป็นชุดๆ เป็นชุดสมบูรณ์ ตอนหลังๆ จึงเปลี่ยนวิธีพูด มาพูดเป็นชุดเป็นเรื่องราวต่อกันเพื่อสะดวกแก่การพิมพ์ เช่นชุดธรรมปาฏิโมกข์ที่พูดหน้าโรงหนัง ชุดวันเสาร์ ซึ่งพูด 3 เดือน ได้เล่มหนึ่ง ก่อนนี้ขึ้นไปยังมีชุดบรรยายโรงฉัน เรื่องหลักๆ หลายเรื่องเหมือนกันที่บรรยายโรงฉัน... เรื่องพวกนี้เมื่อคิดจะพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ขึ้นมาก็คิดว่าใช้ชื่อธรรมโฆษณ์ มันง่ายดี ความหมายก็ดี... เท่าที่พิมพ์ออกมาแค่นี้ก็เรียกว่าโล่งไปที เราได้ทำสิ่งที่มัน สมควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่ามันคุ้มค่า อย่างน้อยผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่าไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน” [2]

    หนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส ได้พิมพ์เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ที่ใช้ชื่อเช่นนี้ ปรารภเหตุว่าในปัจจุบันทุกสิ่งมักจะสำเร็จได้ด้วยการโฆษณา คนเชื่อโฆษณากันมาก การเผยแผ่ธรรมเฉยๆ อาจไม่สามารถกระตุ้นให้คนเกิดสนใจในธรรมะได้เท่ากับการต้อง “โฆษณาธรรม” กันเลยทีเดียว

    ลักษณะหนังสือธรรมโฆษณ์ เป็นหนังสือปกดำ ขนาด 8 หน้ายก ความหนาประมาณ 400 - 500 หน้า หนังสือทุกเล่มใช้ชื่อหลักว่า “ธรรมโฆณ์ของพุทธทาส” ส่วนชื่อหนังสือแต่ละเล่มได้มีการกำหนดไว้ในแต่ละหมวด ซึ่งมี 5 หมวด เล่มใดจะใช้ชื่อว่าอะไรนั้นจะต้องเสนอหารือกับท่านผู้บรรยายเสียก่อน หนังสือนี้ให้ใช้ชื่อท่านผู้บรรยายเพียงว่า พุทธทาสภิกขุ ไม่ต้องมีอัญประกาศ ไม่ต้องใช้ราชทินนาม และที่สันหนังสือให้ใช้กระดาษหนังเทียมสีต่างๆ ผนึกไว้ เพื่อแสดงหมวดของหนังสือ ในแต่ละหมวด แต่ละหมายเลข อาจมีได้หลายเล่ม ซึ่งได้ใช้วิธีใส่อักษร ก ข ค ต่อกันไปเรื่อยๆ เช่น เล่มที่ 18. พุทธิกจริยธรรม, 18. ก. การกลับมาแห่งศีลธรรม, 18. ข. ศีลธรรมกับมนุษยโลก, 18. ค. อริยศีลธรรม, 18. ง. เยาวชนกับศีลธรรม, 18. จ. ธรรมะกับการเมือง, 18. ฉ. เมื่อธรรมครองโลก, 18. ช. ธรรมสัจจสงเคราะห์, 18. ซ. สันติภาพของโลก เป็นต้น [3]


หนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส 5 หมวด

  • หมวดที่ 1 ชุด จากพระโอษฐ์ สันปกสีน้ำตาล เป็นเรื่องที่ค้นคว้าจากพระไตรปิฎก เฉพาะที่ตรัสเล่าไว้เองใช้หมายเลข 1 - 10 ซึ่งสันนิษฐานว่าพุทธทาสภิกขุอาจเห็นตัวอย่างจากงานของพระญาณดิลก ดังที่ท่านเล่าว่า “ผมเห็นหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง หนาเท่านิ้วก้อย ของพระญาณดิลก เป็นชาวเยอรมัน มาบวชอยู่ที่เกาะไอร์แลนด์เฮอมิเทจ ที่ศรีลังกา หนังสือชื่อ พุทธวัจนะ พอเปิดดูข้างในก็มีลักษณะอย่างนี้ คือเราไม่ต้องใช้คำของตนเอง ยกเอาคำบาลีมาต่อๆ กันไป เริ่มด้วยอริยสัจ 4 อธิบายทุกข์ อธิบายสมุทัย เรื่อยๆ ไป... โดยไม่ต้องมีคำของผู้ร้อยกรอง พอเห็นเข้าก็สะดุดใจ จับใจ พอใจ ว่าทำอย่างนี้ดีที่สุด แล้วเราก็เอาบ้าง ลองทำดูออกมาเป็น พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ พิมพ์ออกไปครั้งแรกก็ได้รับความนิยม (พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก 2479) จนถึงกับมหาทองสืบเขาให้ใช้เป็นหนังสือเรียนของสภาการศึกษามหามกุฏฯ อยู่พักหนึ่ง” [4]
  • หมวดที่ 2 ชุด ปกรณ์พิเศษ สันปกสีแดง เป็นคำอธิบายข้อธรรมะที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ ใช้หมายเลข 11 - 20
  • หมวดที่ 3 ชุด ชุมนุมธรรมเทศนา สันปกสีเขียว เป็นเทศนาตามตามเทศกาลต่างๆ ใช้หมายเลข 21 - 30
  • หมวดที่ 4 ชุด ชุมนุมธรรมบรรยาย สันปกสีน้ำเงิน เป็นการบรรยายในรูปปาฐกถาประกอบความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียด ใช้หมายเลข 31 - 40
  • หมวดที่ 5 ชุด ปกิณกะ สันปกสีเขียว เป็นการอธิบายข้อธรรมะเบ็ดเตล็ดต่างๆ ประกอบความเข้าใจ ใช้หมายเลข 41 – 50


    ปัจจุบันหนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส จัดพิมพ์ออกมาแล้ว จำนวน 82 เล่ม



    นอกจากชุดธรรมโฆษณ์ที่เป็นหนังสือรวบรวมผลงานธรรมบรรยายของพุทธทาสฉบับมาตรฐานแล้ว ยังมีหนังสือชุดเล่มเล็กที่สวนอุศมจัดพิมพ์อีกหลายชุด หนังสือธรรมบรรยายชุด “ลอยปทุม” เป็นธรรมบรรยายของพุทธทาสภิกขุในแต่ละครั้ง ที่เห็นว่าใช้เป็นคู่มือปฏิบัติได้และเป็นเรื่องเฉพาะที่น่าสนใจ จัดพิมพ์ในรูปเล่มขนาด 16 หน้ายก ความหนาประมาณ 30 - 80 หน้า มีภาพหน้าปกเป็นรูปดอกบัว ชุดนี้กำหนดให้พิมพ์จำนวน 100 เรื่อง สำหรับแจกตามห้องสมุด หรือแจกผู้ที่เห็นสมควร ปัจจุบันจัดพิมพ์ครบหมดแล้ว

    ชุด “หมุนล้อธรรมจักร” เป็นธรรมบรรยายของพุทธทาสภิกขุในแต่ละครั้ง เห็นว่าเป็นเรื่องที่เร่งเร้าในการปฏิบัติธรรมได้มากกว่าครั้งอื่นๆ จัดพิมพ์เป็นเล่มขนาด 16 หน้ายก ความหนาประมาณ 30 - 60 หน้า มีภาพหน้าปกเป็นรูปบุรุษเทินสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยภายในกรอบวงรี และมีตราของธรรมทานมูลนิธิ เป็นรูปพุทธบริษัทเข็นล้อธรรม [5] อยู่ภายนอกกรอบวงรี

    นอกจากนี้ยังมีชุดอื่นๆ เช่น ชุดไตรรัตน์ขจัดทุกข์ ชุดทูนธรรม ชุดเทิดทูนธรรม ชุดดอกบัวหลวง เป็นหนังสือขนาดเล็ก สำหรับแจกตามห้องสมุด หรือแจกผู้ที่เห็นสมควร และทางมูลนิธิพระดุลยพากย์สุวมัณฑ์-ฉลวย-ทิพวรรณ ปัทมสถาน ก็จัดพิมพ์ธรรมบรรยายของพุทธทาสภิกขุเผยแพร่เช่นกัน ใช้ชื่อหนังสือชุด “พุทธทาสบรรณาลัย ดุลยพากย์อนุสรณ์” ต่อมาเมื่อจัดตั้งมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญแล้ว มูลนิธิฯ ได้สานต่อเจตนารมณ์การจัดทำหนังสือเล่มเล็กเผยแพร่คือ หนังสือชุด ธรรมะใกล้มือ เริ่มจัดพิมพ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน.


สมบัติ ทารัก
กลุ่มงานจดหมายเหตุ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ


[1] พระประชา ปสนฺนธมฺโม, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2555), 238.
[2] พระประชา ปสนฺนธมฺโม, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2555), 239 - 240.
[3] พุทธทาส สวนโมกขพลาราม กำลังแห่งการหลุดพ้น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: ธรรมทานมูลนิธิ, 2541), หน้า 170 - 172.
[4] พระประชา ปสนฺนธมฺโม, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2555), หน้า 235.
[5] พุทธทาส สวนโมกขพลาราม กำลังแห่งการหลุดพ้น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: ธรรมทานมูลนิธิ, 2541), หน้า 183.