ทุกวันนี้ผู้คนมีความสุขสบายมากขึ้น อะไรต่ออะไรก็สะดวกยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือว่า คนก็ยังมีความเครียดกันอยู่มาก อาจจะมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำหรือมากกว่าคนยุคก่อนๆ ทั้งๆที่สิ่งบันเทิงเริงรมย์ก็มาก
เดี๋ยวนี้จะดูหนังฟังเพลงก็สะดวกสบายมาก มีให้ฟังให้ดูตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนกับว่าหนังหรือเพลงมันลอยอยู่ในอากาศทุกหนทุกแห่ง แทบจะไปดึงมาจากอากาศได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ มีความบันเทิงชนิดที่ว่าไม่อั้นเลยก็ได้ แต่ทำไมถึงคนจึงมีความเครียดมาก
มีคนพูดว่าถ้าเครียดพอดีๆ ก็ไม่เสียหาย มีประโยชน์ แต่ถ้าเครียดหนักไปถึงจะเป็นอันตราย อันนี้ก็เป็นความเชื่อที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ว่าก็มีหลักฐานหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า อันตรายของความเครียดไม่ได้อยู่ที่ว่าเครียดมากเครียดน้อย แต่อยู่ที่ว่ามุมมองของคนเราเกี่ยวกับความเครียดมากกว่า
หมายความว่า ถ้าหากมองความเครียดเป็นลบ มันก็เกิดโทษ แต่ถ้ามองความเครียดว่าเป็นของดีมีประโยชน์ มันก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาเท่าไร
เมื่อ 10 ปีก่อน มีงานศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัย stanford เขาเอาพนักงานธนาคาร 400 คนซึ่งตอนนั้นในอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มหนึ่ง 1 ให้ดูวิดีโอเกี่ยวกับโทษของความเครียด
- กลุ่มที่ 2 ให้ดูวีดีโอว่าความเครียดเพิ่มสมรรถภาพในการทำงาน
- ส่วนกลุ่มที่ 3 ไม่ต้องดูวิดีโออะไร
ผ่านไป 1 อาทิตย์ปรากฏว่ากลุ่มที่ 2 ที่ดูวิดีโอเกี่ยวกับประโยชน์ของความเครียด ปรากฏว่าทำงานได้ดีขึ้น จดจ่อใส่ใจมีส่วนร่วมกับงานได้มากขึ้น แถมมีปัญหาสุขภาพน้อย ในขณะที่สองกลุ่มที่เหลือ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มีการค้นพบว่า คนที่มีความเครียด แต่ถ้าหากว่ามีความรู้สึกลบต่อความเครียด มีโอกาสที่จะตายเร็วก่อนวัยอันควรมาก ในขณะที่คนที่มีความเครียด แต่เขาไม่ได้เห็นว่าความเครียดเป็นสิ่งเลวร้าย กลับปรากฏว่าตายก่อนวัยอันควรน้อยกว่าคนที่มีความเครียดต่ำด้วยซ้ำ คนที่มีความเครียดต่ำแต่รู้สึกลบ รู้สึกไม่ดีต่อความเครียด กลับตายเร็วกว่าคนที่มีความเครียดสูงแต่ว่าเขาไม่ได้รู้สึกลบต่อความเครียด กลับรู้สึกว่าความเครียดเป็นธรรมดา
อันนี้ก็เลยทำให้เกิดข้อสรุปว่า ที่จริงความเครียดไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่มุมมองของเราเกี่ยวกับความเครียดมากกว่า ถ้ารู้สึกบวกหรือเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าคนที่รู้สึกลบหรือเห็นว่ามันเป็นโทษต่อสุขภาพ
อย่างที่เคยพูดไว้ว่า เจออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร เอามาใช้กับความเครียดได้ ถึงแม้แต่เจอความเครียดก็ไม่สำคัญเท่ากับว่ารับมือกับมันอย่างไร มองมันอย่างไร เจอความเครียดแต่ว่าไม่รู้สึกลบกับมันเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หรือว่าบางทีเห็นว่ามันดีมีประโยชน์ด้วยซ้ำ
เมื่อเราเจอความเครียด ถ้าเรารู้สึกลบกับมัน หรือว่าเกิดอาการผลักไสต่อต้านมัน อันนี้มันสร้างปัญหาให้กับเรามากกว่าตัวความเครียดด้วยซ้ำ มุมมองหรือว่าท่าทีปฏิกิริยาของเราต่อความเครียด ตัวนี้สร้างปัญหาให้กับเรา สร้างความทุกข์ให้กับเรายิ่งกว่าตัวความเครียดด้วยซ้ำ มีความเครียดแล้วก็เห็นว่าเป็นธรรมดา ยอมรับได้ ไม่ผลักไส ไม่โวยวายตีโพยตีพาย กลับจากดีกว่า
แต่ธรรมดาของคนส่วนใหญ่ พอเจอความเครียด ยิ่งมาในระยะหลัง ถ้ารู้สึกว่าความเครียดไม่ดี พอมีความเครียดก็เกิดความวิตกขึ้นมา ความเครียดไม่เท่าไหร่แต่ความวิตกกังวลที่มีต่อความเครียดนั่นแหละที่เป็นปัญหา ผลักไส ไม่ยอมรับ รู้สึกลบกับมัน แต่ถ้าปรับใจเป็นกลางๆยอมรับมันได้ ถือว่าเป็นธรรมดา อันนี้มันช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะเลย คือมีความเครียด แต่ไม่ซ้อนเครียด
ความเครียดซ้อนเครียด อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า เครียดอย่างเดียวไม่เท่าไร แต่พอเครียดซ้อนเครียด มันแย่เลย เครียดซ้อนเครียด หมายความว่ารู้สึกลบต่อความเครียด รู้สึกกลัว รู้สึกกังวลต่อความเครียดว่า จะทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจไหม จะทำให้มีความดันสูงไหม ความวิตกกังวลแบบนี้เรียกว่า เครียดซ้อนเครียด ตัวนี้มันน่ากลัวกว่า