สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554
หลังจากทรงเปิดหอจดหมายเหตุฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภายในอาคารหอจดหมายเหตุฯ ภาพปริศนาธรรม ภาพพุทธประวัติจำลองจากมหาสถูปสาญจี ทอดพระเนตรห้องค้นคว้า ห้องเก็บต้นฉบับ และห้องจดหมายเหตุ โอกาสนี้ ทรงวาดภาพพระพุทธรูปด้วยพู่กันจีน ณ โถงโอวาทปาฏิโมกข์ แล้วพระดำเนินไปทอดพระเนตรห้องนิพพานชิมลองหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญหรือ "สวนโมกข์กรุงเทพ" สร้างขึ้นกลางสระน้ำใหญ่ด้านทิศเหนือของสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร มีลักษณะคล้ายหอไตรขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 8,000 ตารางเมตร
แบ่งพื้นที่ภายในเพื่อใช้เป็นคลังเอกสาร และสื่อ ห้องบริการหนังสือและสื่อธรรม ห้องค้นคว้าศึกษาวิจัยและพัฒนา ลานหินโค้ง และโถงใหญ่ โรงมหรสพทางวิญญาณ เพื่อนิพพานชิมลอง ห้องประชุมสัมมนา สถานกิจกรรมและฝึกฝนปฏิบัติสมถวิปัสสนา สระมะพร้าวนาฬิเกร์ ห้องปฏิบัติการจดหมายเหตุ และห้องบริการจัดการประสานภาคีกัลยาณมิตร
ภายในรวบรวมเอกสารการศึกษา ค้นคว้า ตลอดจนสื่อการเผยแพร่ของท่านพุทธทาสที่มีมากกว่า 20,000 รายการ ทั้งที่เป็นหนังสือ บันทึก ลายมือต้นฉบับ จดหมาย กว่า 600,000 หน้า ภาพกว่า 50,000 ภาพ เสียงบันทึก กว่า 1,900 กิกะไบต์ ตลอดจนอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งสวนโมกขพลารามและคณะธรรมทาน อ.ไชยา ได้มอบให้มูลนิธิหอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ รับผิดชอบ รักษาและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ
ทั้งนี้ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยความเห็นชอบ ของสวนโมกข์พลาราม วัดธารน้ำไหล และคณะธรรมทาน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับ คณะบุคคล องค์กร ตลอดจน หน่วยงานจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ท้องถิ่น ฯลฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สร้างสวนโมกข์กรุงเทพ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยครองราชย์ครบ 60 ปีและเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา
ฟังเรื่องราวความเป็นมาของสวนโมกข์กรุงเทพจากคำบอกเล่าของ พพ. บัญชา พงษ์พานิช
ภารกิจ หน้าที่ และการสนับสนุนพระศาสนาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
บทความที่เกี่ยวข้อง
สมเด็จพระสังฆราชประทานพระคติธรรม เนื่องในวาระ 12 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ พ.ศ. 2566