สุนทรกถา ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย 10 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ

Share


พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยและเจอศาสนาพุทธ ดุจได้ของขวัญชีวิต ทำอย่างไรจึงจะถ่ายทอดของขวัญชีวิต จากรุ่นเรา ไปยังคนรุ่นต่อไปได้


การเกิดสวนโมกข์กรุงเทพ - วัตถุประสงค์

สวนโมกข์กรุงเทพกว่าจะเกิดขึ้นได้ เราได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมากมากจริงๆ ดำริแรกมาจากท่านอาจารย์โพธิ์ (เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล) ท่านปรารภกับศิษย์ (ซึ่งมีนพ.บัญชาอยู่ด้วย) ว่า อยากให้นำธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า, พุทธทาสภิกขุ จากไชยา ทำการเก็บรักษา เผยแพร่ด้วยการพยายามแปลให้มากภาษาที่สุด เผยแพร่ให้มากสื่อที่สุด เพื่อให้เข้าถึงคนวงกว้างขวางที่สุด

วันนี้ครบสิบปีสวนโมกข์กรุงเทพ สักครู่จะมีพิธีลงนามความร่วมมือ ๓ ภาคี คือ

๑. มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

๒.กองทุนเพื่อพัฒนาสื่อสร้างสรรค์

๓.บริษัท ไลน์(ประเทศไทย)จำกัด

ซึ่งจะร่วมกันทำสิ่งที่ได้ดำริและวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้ คือ ทำอย่างไรจะนำพุทธธรรม คำสอนของพระมหาเถระ ไปถึงหมู่ชนให้มากที่สุด ผ่านหลายๆ ภาษา ผ่านสื่อนานาชนิด เมื่อสิบปีที่แล้ว สิ่งพิมพ์เป็นหลัก, สมัยพุทธกาล ใช้วิธีเทศน์ ฟัง สวด ต่อมามีการจารึก เป็นภาษา บาลี สิงหล ... ไทย, บัดนี้เปลี่ยนเป็นสื่อออนไลน์ นี้เป็นเรื่องท้าทายชาวพุทธว่าจะใช้สื่ออย่างไร  ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อมั่นในภาคีทั้งสามว่าน่าจะทำได้และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านอีกครั้ง

จากรุ่นสู่รุ่น

ประเทศไทยโชคดีมาก มีมหาปราชญ์ทางพุทธ อาทิ ท่านอาจารย์มั่น, พุทธทาสภิกขุ, สมเด็จฯ ป.อ.ปยุตโต, ท่านอาจารย์ชา ฯลฯ ทำให้เถรวาทไม่โซซัดโซเซ ไปได้ตรง พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยและเจอศาสนาพุทธ ดุจได้ของขวัญชีวิต ทำอย่างไรจึงจะถ่ายทอดของขวัญชีวิต จากรุ่นเรา ไปยังคนรุ่นต่อไปได้

ฟื้นชุมชน

เมื่อครู่ หมอบัญชาเล่าว่าสมเด็จฯ ป.อ. ปยุตโต เป็นห่วงชุมชน , เป้าหมายของเราอันหนึ่งก็ต้องไปที่ชุมชน ในอดีตชุมชนไทยเคยเข้มแข็งมาก นักวิชาการศึกษาพบว่าเหตุแห่งความเข็มแข็งเป็นเพราะมีความแน่นแฟ้น ๒ ระดับคือ ครอบครัวและชุมชน ครอบครัว : ชุมชนไทยแต่โบราณ ‘ความเป็นพี่น้องสำคัญที่สุด’ เดี๋ยวนี้ห่าง ห่างพี่ห่างน้อง ห่างญาติมิตร เมื่อต้องดิ้นรนเอง ต้องตัดสินใจเอง อะไรผิดถูกชั่วดีจึงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนรุ่นใหม่

ชุมชน : แต่เดิมชุมชนไทยถือความสามัคคี เพื่อความอยู่รอดของทุกคน จึงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทว่าวันนี้วัตถุนิยมทำให้ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเอาตัวรอด บริบทที่ต้องช่วยกันก็จางลงไป  นี้คือสภาพความเปราะบาง  ๓๐-๔๐ปีมานี้ ชุมชนถูกกดดันจากวัตถุนิยมและอบายมุขอย่างมาก วัตถุนิยมกำลังทำให้สถาบันที่เข้มแข็งของไทย สั่นคลอน ชุมชนกำลังต้องการศาสนธรรม คุณธรรม จริยธรรมมาก 

Digital Technology เราต้องทำ ๒ อย่าง

๑. Digital Highway - Smallway (Ruralway) ต้องทำให้เข้าไปถึงเขาให้ได้ ไม่ว่าเขาจะใช้มือถือหรืออะไรก็ตาม เราต้องเข้าไปให้ถึง

๒. Digital Content ต้องเอาเนื้อหาที่คิดว่าเป็นประโยชน์แก่เขาไปให้เขาให้ได้

ถ้าเราทำโครงการนี้แล้วขอให้ไปให้ถึง ทั้งสามภาคีนี้ก็ชัดเจนแล้ว ใครรับผิดชอบเรื่อง Digital Highway-Smallway ใครรับผิดชอบ Digital Content (พุทธธรรม)

ทำไปทำไม

เราทำไปทำไมนี้ก็ต้องอ้างบาลีคือ เพื่อ ‘หิตายะ สุขายะ’

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงบวชให้ปัญจวัคคีย์ พระยสะ สหายของพระยสะ เมื่อได้สงฆ์ราว ๖๐ รูป ภาษาสมัยนี้เรียกว่าเมื่อมีโมเมนตัมพอที่จะเผยแพร่ พุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุว่าให้ไปคนละทิศ ไปเพื่อสร้างประโยชน์แก่มหาชน และสร้างความสุขแก่มหาชน - ’พหุชนะ หิตายะ พหุชนะ สุขายะ’ นี้คือคำสั่งของพระพุทธเจ้าในปีแรก สิ่งที่เราสามภาคีจะทำนี้ ต้องเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสามัคคี เพื่อประโยชน์ แต่ประโยชน์อย่างเดียวไม่พอ, ประโยชน์แล้วทะเลาะกัน ประโยชน์แล้วได้ทุกข์ นี้ไม่เอา, ประโยชน์แล้วต้องเป็นสุข สุขเอาตัวรอดไม่เอา ต้องสุขสามัคคี

สรุป

ขอฝากไว้ ๒ ข้อ

๑. วัตถุประสงค์ที่เรามาทำสวนโมกข์กรุงเทพ, reach out ไปให้ถึงด้วยภาษาต่างๆ ให้มากที่สุด, ด้วยสื่อประเภทต่างๆให้มากที่สุด, สู่กลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด

๒. คำปรารภจากท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อย่าลืมระดับชุมชน, ขอเพิ่มว่าชุมชนต้องการมากๆ ขออนุญาตฝากทั้งสามภาคี ไหนๆจะลงนามแล้ว ขอนำพุทธโอวาทเมื่อสองพันกว่าปีมาเป็นเป้าหมาย คือ “พหุชนะหิตายะ และพหุชนะสุขายะ” 

ขอบคุณมากครับ

สุนทรกถา ศ.เกียรติคุณนพ.เกษมวัฒนชัย

ประธานกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ

๓๐ มีค.๖๔ ๐๖๑๐ น.

บ้านบวรรัตน์ ท่าวัง เมืองนคร

ที่มา โพสต์