"เมื่อใดยึดถือ เมื่อนั้นเป็นทุกข์ เมื่อใดไม่ยึดถือ เมื่อนั้นมันไม่เป็นทุกข์"
"ไม่มีอะไรที่เป็นตัวกู หรือเป็นของกู แล้วความทุกข์จะเกิดขึ้นที่ไหนได้ ความทุกข์ มันจะต้องเกิดที่ตัวกู ของกู เสมอ"
เมื่อวันที่
8 กรกฎาคม พ.ศ.2536 พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)
หรือที่รู้จักในนามท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขาร
กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลารามสิริ จ.สุราษฎร์ธานี รวมอายุ 87
ปี นับจากวันนั้นถึงวันนี้ (8 กรกฎาคม 2566) ผ่านมาร่วม 30 ปี แม้ท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่คำสอนทางธรรมที่ถูกบันทึกไว้มากมาย อาทิ คู่มือมนุษย์, แก่นพุทธศาสน์, พระพุทธเจ้าสอนอะไร, อิทัปปัจจยตา ฯลฯ ก็ไม่หายไปไหน ยังมีคนในโลกใบนี้ใช้เป็นแนวทางปฎิบัติเพื่อดำเนินชีวิตให้พ้นทุกข์ และเมื่อปี 2548 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ความแตกฉานของท่านพุทธทาส
ท่านพุทธทาสมีความรู้แตกฉานในศาสตร์ต่าง
ๆ มากมาย สืบเนื่องจากความสนใจในการศึกษาธรรม
เคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปี ต่อจากนั้นเรียนเอง
เมื่อไปขอสมัครสอบได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว
ท่านก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ธรรมเลย ยังเรียนเองเรื่อย ๆ
และเชื่อว่ายังต้องเรียนเองอีกนาน...
เจตนามุ่งมั่นของท่านพุทธทาส
ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ ก็คือ “การลงมือปฏิบัติธรรม” ในชั้นต้น
ท่านก็ยังคิดว่า ความรู้ของท่านยังไม่เพียงพอ
ดังนั้นท่านจึงคิดค้นหาหลักเอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
“...เราเลยจำเป็นต้องค้นหาหลักเอาเอง
อันนี้มันจึงทำให้ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ
แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นนักปริยัติ
หากเพื่อจะเก็บเอาหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติ...”
ท่านจึงได้ลงมือค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง
ซึ่งต่อมาได้รวบรวมหลักการและเขียนเป็นหนังสือ “ตามรอยพระอรหันต์”
อีกทั้งยังได้คัดเลือกเอาพระไตรปิฎกส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่มาแปลลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาอีกด้วย
ส่วนการศึกษาปรัชญาต่าง
ๆ เช่น ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาตะวันตก เป็นต้น ท่านเล่าว่า
ปรัชญาอินเดียบางส่วนเป็นรากฐานของพุทธศาสนาเช่นกัน
แต่ปรัชญาทางตะวันตกจะไม่ลึกซึ้งสูงสุดไปในทางดับทุกข์ หรือเพื่อ มรรค ผล
นิพพาน แต่ประการใด
ท่านพุทธทาสยังได้ศึกษาค้นคว้าในศาสนาและลัทธิอื่นๆอีกด้วยได้แก่
ศาสนาคริสต์ ลัทธิเซน มหายาน วัชรยาน โหราศาสตร์ เป็นต้น
รวมถึงศึกษาในเรื่องวิทยาศาสตร์ และค้นพบว่า
“กฎของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล
เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
กฎอิทิปปัจจยตามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างเต็มที่
แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มสนใจเรื่องต้นเหตุของความทุกข์
ต้นเหตุของวิกฤติการณ์กันอย่างเต็มที่ พบแล้วก็จำกัดหรือควบคุมตามแต่กรณี
เรื่องร้าย ๆ ในจิตใจของมนุษย์ก็จะลดลง...”
ท่านพุทธทาสเป็นผู้ใฝ่รู้และศึกษาค้นคว้าอย่างมากมายและมิได้หยุดอยู่นิ่ง
อาทิ ทางด้านพฤกษาศาสตร์ ทางด้านโบราณคดี เป็นต้น แต่มาในภายหลัง
ท่านได้มุ่งศึกษาในทางดับทุกข์มากกว่าศาสตร์อื่น ๆ
ท่านได้กล่าวถึงหลักในการศึกษาเรียนรู้ว่า
"ถ้าคุณอยากจะเรียนรู้เรื่องอะไร
คุณจงตั้งต้นการศึกษาเหมือนอย่างว่า เราจะไปเป็นครูเขาในเรื่องนั้น
เรียนให้มากในเรื่องนั้น แล้วคุณจะรู้เรื่องนั้นดี ดีจนพอ ดีจนเกินพอ
ไม่ว่าเรื่องอะไรมันมีหลักอย่างนั้นคือ มันเรียนมาก คิดมาก มันทบทวนมาก
มันก็เลยได้ผลดีกว่า ที่จะตั้งใจสอน..."
ธรรมะปฏิบัติของท่านพุทธทาส
ธรรมะที่ท่านพุทธทาสใช้มากที่สุดในชีวิตปฏิบัติธรรมคือ “การพินิจพิจารณาสติสัมปชัญญะ ใคร่ครวญ โดยโยนิโสมนสิการ”
ท่านกล่าวว่า
“...การเพิ่มพูนความรู้หรือปัญญาอันลึกซึ้ง มันก็มาจากโยนิโสมนสิการ
ไม่ว่าเรื่องบ้าน เรื่องโลก เรื่องธรรม...การรับเข้ามาโดยวิธีใดก็ตาม เช่น
ฟังจากผู้อื่น อ่านจากหนังสือหรือจากอะไรก็ตามที่เรียกว่านอกตัวเรา
ฟังเข้ามาพอถึงแล้ว...ก็โยนิโสมนสิการ เก็บไว้เป็นความรู้ เป็นสมบัติ
พอจะทำอะไร จะลงมือทำอะไร ก็โยนิโสมนสิการ
ในสิ่งที่จะทำให้ดีที่สุด
มันก็ผิดพลาดน้อยที่สุด เรียกว่าไม่ค่อยจะผิดพลาดเลย
เท่าที่จำได้ในความรู้สึก...เพราะเราเป็นคนโยนิโสมนสิการตลอดเวลา
และรู้สึกว่าฉลาดขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ ถ้าจะเรียกว่า ฉลาดนะ”
งานเขียนหนังสือ
นามปากกาที่ท่านพุทธทาสใช้มีมากมาย ได้แก่
“พุทธทาส” จะเขียนเรื่องธรรมะโดยตรง
“อินฺทปญฺโญ” กับ “ธรรมโยธ” จะเขียนเรื่องให้คนโกรธ เพราะจะวิจารณ์กันอย่างแรง กระทบกันแรง
“สิริวยาส” เขียนโคลงกลอน
“สังฆเสนา” เขียนแบบนักรบเพื่อธรรม
“ทุรโลกา รมณจิต” เขียนเรื่องปรารถนาโลก
“ข้าพเจ้า” เขียนเรื่องแง่คิดขำ ๆ
“นายเหตุผล”
เป็นการแกล้งเขียน เป็นเจตนาที่จะให้ผู้อ่านคิดนึกในทุกแง่ทุกมุม
แกล้งเขียนค้านพุทธศาสนา ถ้าจะค้านมันจะค้านได้อย่างนี้
ให้คนอื่นได้วินิจฉัยได้ความรู้ทางพุทธศาสนามากขึ้น
ต่อมาเมื่อท่านพุทธทาส
มุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก โดยค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก
ท่านจึงได้เขียน “ตามรอยพระอรหันต์” ขึ้น โดยคัดเลือกเอาพระไตรปิฎก
ส่วนหรือสูตรที่ควรจะเผยแพร่ มาแปลลงในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา
ความเจ็บไข้ของท่านพุทธทาส
พ.ศ. 2527 ท่านมีอาการอาพาธกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
วันที่ 27 ตุลาคม 2534 มีอาการหัวใจวายและน้ำท่วมปอด
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 ท่านมีอาการอาพาธอีกครั้ง ด้วยเส้นเลือดสมองอุดตัน
วันที่ 25 พฤษภาคม 2536 ท่านอาพาธด้วยเส้นเลือดแตกในสมองอีก ซึ่งท่านถูกนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
วันที่ 27 พฤษภาคม 2536 ได้นำท่านกลับมาที่สวนโมกข์อีกครั้ง ก่อนที่จะนำท่านเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช
วันที่ 8 กรกฎาคม 2536 บรรดาศิษย์จึงนำท่านกลับมาที่สวนโมกข์ ท่านละสังขารเวลา 11.20 น.
ท่านพุทธทาสได้ทำพินัยกรรม เรื่องการจัดงานศพของท่าน ซึ่งท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยท่านระบุในพินัยกรรม
"ไม่ให้ฉีดยาศพ
ไม่ให้จัดงานพิธีใด ๆ ให้เผาศพโดยวิธีเรียบง่ายที่สุด
และนำอัฐิไปเก็บไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปในศาลาธรรมโฆษณ์
พร้อมกับให้เทปูนซีเมนต์โบกทับ ส่วนอังคารให้แบ่งเป็น 3 ส่วน
นำไปลอยที่ช่องหมู่เกาะอ่างทอง ที่เขาประสงค์ และที่ต้นน้ำตาปี เขาสก"
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1077465