ก้าวสู่ปีที่ 3 ของ 'ทำอะไรก็ธรรม'

Share

เสวนา, ธรรมบรรยาย, ทำบุญทำทาน,

    ผ่านไปเรียบร้อยกับกิจกรรมรวมมิตร : ทำอะไรก็ธรรม  เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ สวนโมกข์ กรุงเทพ ที่งานนี้เชิญชวนคนใจอาสาและภาคีเครือข่ายแขกรับเชิญจากรายการทำอะไรก็ธรรม มารวมตัวกัน ล้อมวง แลกเปลี่ยน แบ่งปันกำลังใจ หนึ่งในกิจกรรมที่มีคนพูดถึงกันก็คือ การร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ “อาสายังไง ให้ใจแข็งแรง” โดยมีพระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ที่ปรึกษารายการทำอะไรก็ธรรม  และเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา หนุ่มคราฟจากปัตตานี ที่ออกแบบทั้งชีวิตและชุมชน และมิสตุ๋ย อรัญญา นิติวัฒนานนท์ อดีตครูคาทิลิก ผู้ผันชีวิตตัวเองมาเปิดบ้าน new life ให้กับเด็กขาดโอกาสทุกเชื้อชาติ ในจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนบนเวที โดยมี 2 พิธีกรของรายการทำอะไรก็ธรรม คุณนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดดาเบลส) และพิชญาพร โพธิ์สง่า ร่วมเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมบนเวที ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 ท่าน ยังได้รับความสนใจจากผู้ชมทางบ้านที่รับชมการถ่ายทอดสดด้วยตลอดช่วงของการพูดคุยกันบนเวที คำที่มีการเอ่ยถึงมากที่สุดคำหนึ่ง คือ ‘ความรัก’ ซึ่งอาจจะถูกกล่าวถึงด้วยคำเรียกที่แตกต่างหลากหลาย แต่ใจความคือสิ่งเดียวกัน คล้ายดังที่พระอาจารย์ไพศาลได้กล่าวเปิดไว้ว่า “เรามีใจดวงเดียวกัน แม้ว่าเราจะห่มผ้าต่างกัน” ศาสนาพุทธ เรียกความรักแบบไม่มีเงื่อนไขให้ต้องสะท้อนรักนั้นกลับมาที่ตนว่า “เมตตา” ศาสนาคริสต์สอนว่า “จงรักกันและกัน ให้เหมือนที่พระเจ้ารักเรา” คัมภีร์ของอิสลามมีบันทึกไว้ว่า “พระเจ้ารักคนที่ทำเพื่อมนุษยชาติที่สุด” 

      ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมด้วยคำกล่าวของ พระอธิการไพศาล วิสาโล ที่ปรึกษารายการทำอะไรก็ธรรม ถึงความสัมพันธ์ของศาสนาและความรักว่า “การรักผู้อื่น คือการพิสูจน์ความถูกต้องของการมีศาสนาหรือการมีธรรมะ ศาสนาไม่ได้พิสูจน์ความรักหรือความถูกต้อง แต่การรักผู้อื่นด้วยวิถีที่ถูกต้องต่างหาก ที่พิสูจน์ความถูกต้องของการมีอยู่ของศาสนา”

     เรื่องราวการพูดคุยบนเวทีทำให้ได้ย้อนนึกถึง ปณิธาน 3 ประการที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ฝากไว้ คือ 1. การเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน 2.การทำความเข้าระหว่างศาสนา และ 3. ออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล อธิบายไว้ว่า “ความโกรธเกลียด ทำให้สามารถจะฆ่ากันได้ เป็นกันทั่วโลก ประเทศไทยก็ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้เหมือนกัน และวัฒนธรรมของความละโมบ มาในรูปของบริโภคนิยม ถ้าคนเราเข้าถึงหัวใจของศาสนาที่ตนเองนับถือ เช่น ถ้าเป็นชาวพุทธเราก็จะเห็นทุกคนเป็นเพื่อน เราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน  หรือความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือ ยึดมั่นในความเห็น ความเชื่อ ความคิด หรือในทฤษฎีของตัวของตน เราจะมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน แล้วก็หัวเราะเยาะตัวเองได้"

     “ถ้าเราเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เราจะโกรธเกลียดกันน้อยลง แล้วก็เข้าใจเพื่อนต่างศาสนามากขึ้น"กิจกรรมในช่วงเช้ายิ่งสะท้อนให้เห็นการเกื้อกูลระหว่างกันอย่างไร้กำแพง อาหาร ขนม เครื่องดื่มถูกส่งต่อจากมือของสมาชิกครอบครัวเครือข่ายทำอะไรก็ธรรม ทั้งแขกรับเชิญ ทีมงาน และผู้ที่สนใจเข้าร่วม ผ่านการตักบาตรกลุ่มพระอาสาคิลานธรรม เพื่อนำความรักและความห่วงใยเหล่านี้ส่งต่อไปถึงเด็กๆ อีกหลายสิบชีวิตในความดูแลของมิสตุ๋ย อดไม่ได้ที่อยากไปทำความรู้จักเส้นทางชีวิตของทั้งสองท่าน ผ่านการรับชมรายการย้อนหลัง ของทั้งสองท่าน  “มาจากดิน อยู่กับดินกลับสู่ดิน” ของคุณเอ็มโซเฟียน และ “ในนามแห่งความรัก” ของ มิสตุ๋ย ยิ่งทำให้แนวคิดในการขับเคลื่อนชีวิตของแขกรับเชิญทั้งสองท่านที่ได้สื่อสารบนเวที ที่สอดคล้องไปกับรูปแบบการจัดกิจกรรมและแนวคิดในการผลิตสื่อธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่ ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายในบริบทของการดำเนินชีวิตของแขกรับเชิญที่ได้ดำเนินไปในทุกๆ วัน  ที่ไม่ได้ถูกจำกัดหรือออกแบบให้ติดกรอบของศาสนาใดศาสนาหนึ่งอีกด้วย  ผ่านแขกรับเชิญในรายการทำอะไรมากกว่า 20 คน 20 เรื่องราว ใน 2 ซีซั่นที่ผ่านมา

     “บุญ ก็คือความหมายหนึ่งของความสุข” บันทึกจากคำของ แอน – ศศวรรณ จิรายุส หัวหน้าฝ่ายสื่อสารงานธรรม (ส่วนสร้างสรรค์และกิจกรรมพิเศษ) หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่ได้เล่าถึงแนวคิดตั้งต้นของการทำรายการทำก็ธรรมไว้ สำหรับคนไม่ชอบเข้าวัด ไม่อินพิธีกรรมทำบุญ แค่อยากพบความสุขในชีวิตแบบธรรมดาๆ ขอชวนให้มาทำความรู้จักกับเขาทุกคนเหล่านี้ ขณะที่ดูเขา เราอาจได้เห็นตัวเองเช่นกัน รายการนี้ไม่ได้ชวนใครไปเข้าวัด ทำบุญ แม้กระทั่งสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิ แต่ชวนไปเห็นทางเลือกหลากหลายของทางเข้าไปสัมผัสความสุขที่อยู่ใกล้แค่ในสิ่งที่ทำ และแม้จะเป็นรายการขนาดสั้น เพียง 10 กว่านาที แต่ก็คัดมาให้เห็นถึงวิถี วิธีคิด เครื่องมือในการค้นหาความหมาย และการก้าวข้ามของคนต้นเรื่องแต่ละท่าน ได้อย่างให้พร้อมเลือกหยิบ เพื่อนำมาใช้งานกันต่อ รวมถึงอาจสร้างโครงข่ายเชื่อมเชื่อมร้อยนำพาเส้นทางของเรา ให้ได้มาพบกันอย่างเช่นกิจกรรมในวันนี้ ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกหัวใจได้มาพบกัน

     วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการผลิตสื่อธรรม ทำอะไรก็ธรรม กล่าวความรู้สึกในงานไว้ว่า “สำหรับผมไม่ง่ายเลยสำหรับการสร้างสรรค์รายการดีๆ สักรายการนึง ที่ทำให้การเล่าเรื่องให้น่าสนใจและที่สำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้องในเนื้อเรื่อง ให้พันผูกกันเป็นพลังแห่งธรรม 

     ผมคิดว่าการสังเคราะห์รายการร่วมกันในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของการพัฒนารายการไปในอนาคต ว่ารายการที่ดีต้องมีการนำไปใช้และขยายผล และสามารถยกระดับคนดูและสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนในรายการเองหรือคนที่เกี่ยวข้องหรือคนรอบข้างก็ได้ทั้งหมด” และมองว่า ทำรูปแบบรายการลักษณะนี้จะเป็นบทเรียนในการพัฒนารายการและการนำเสนอใหม่ๆ ในอนาคตต่อให้กลุ่มผู้ชมไปได้อีกเรื่อยๆ ผมเชื่อแบบนั้น? และท้าตนเองเสมอๆ? ในฐานะของคนสนับสนุนและผู้อยู่เบื้องหลังนั้น ก็ขอชื่นชมคนที่เกี่ยวข้องทุกคนในวาระนี้”

     ชวน หา ธรรม ง่ายๆ ได้ที่ เพจ ทำอะไรก็ธรรม รวมถึงการเผยแพร่ผ่านภาคีเครือข่ายหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ และเตรียมพบกับซีซั่นใหม่ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของเครื่องมือชีวิตชุดใหม่ที่กำลังเตรียมออกอากาศ โดยได้รับทุนสนับสนุนการผลิตจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  บนความร่วมมือของ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่มองเห็นความสำคัญของการช่วยกันสร้างสื่อเป็นเครื่องมือเพื่อเยียวยาดูแลจิตใจ แบ่งปันเผยแพร่พร้อมให้หยิบนำไปใช้ โดยมีทีมงานภาคภูมิใจเสมอรับหน้าที่ในการดูแลการผลิตและสร้างสรรค์ผลงาน จำนวน 12 เมนู ให้เลือกสรรไปใช้กันได้ทาง เร็วๆนี้

ติดตามรับชมได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/DhamaDoing

ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า