ชีวิตพระในกรุงเทพฯของพุทธทาส

Share

ประวัติพุทธทาส,

เมื่อถึงวัยครบบวชตามความนิยมของคนสมัยนั้น นายเงื่อม พานิช เข้ารับการอุปสมบทตามประเพณี “ตามพันธสัญญาก็จะบวชให้โยม ๑ พรรษา คือ ๓ เดือน คนหนุ่มสมัยนั้นเมื่ออายุครบบวชก็บวชกันเป็นส่วนมาก”  “ผมอุปสมบทที่โบสถ์วัดนอก (อุบล) แล้วมาประจำอยู่ที่วัดใหม่ (พุมเรียง) ท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) เป็นพระอุปัชชฌาย์ พระปลัดทุ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดนอก (อุบล) และพระครูศักดิ์ ธมฺมรกฺขิโต เจ้าอาวาสวัดหัวคู (วินัย) เป็นพระคู่สวด”  บวชแล้วได้รับฉายาทางธรรมว่า “อินทปัญโญ” หมายถึง ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

เมื่อบวชแล้วพระเงื่อมก็สนุกกับการเรียนนักธรรมและการเทศน์แสดงธรรม "ตอนแรกที่ตั้งใจจะบวช ๓ เดือน พอพ้นข้อผูกพันทางประเพณีให้แม่ ให้โยมแม่ แล้วมันยังสนุกอยู่อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ก็สนุกในเรื่องของพระนะ มีแต่คนคอยตามใจ คอยเอาอกเอาใจ ทำอะไรก็ได้ เล่นอะไรก็ได้ ยังสนุกอยู่ก็ยังไม่คิดสึกมันไม่ต้องห่วงทางบ้านด้วย เพราะราวเดือนมีนาคม (๒๔๗๐) นายธรรมทาสเขาปิดเทอม เขาก็มาอยู่บ้าน แล้วไม่ไปเรียนต่อ ก็มีคนรับผิดชอบเรื่องที่บ้าน เรื่องโยมหญิง ผมไม่สึกก็ไม่เป็นปัญหาอะไร” 


“เมื่อไม่สึก พอเข้าพรรษา ๒ (๒๔๗๐) ก็เรียนนักธรรมโทต่อ ชีวิตพระในพรรษาที่ ๒ กับพรรษาแรกก็ไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก พอสอบนักธรรมโทได้ออกพรรษาแล้วไม่นาน (ต้นปี ๒๔๗๑) ก็เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ...ก่อนไปกรุงเทพฯ เราก็เคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ ๙ คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป... แต่พอไปเจอจริงๆ มันรู้ว่ามหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรนัก มันเริ่มเบื่อ อยากสึก รู้สึกว่าเรียนที่กรุงเทพฯ มันไม่มีอะไรเป็นสาระ เรียนที่กรุงเทพฯ มันอยากจะสึกอยู่บ่อยๆ พระเณรไม่ค่อยมีวินัย มันผิดกับบ้านนอก มันก็เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เรื่องสตางค์ เรื่องผู้หญิง... ไปอยู่ได้ไม่กี่เดือน เป็นอันขอกลับมาสึก ทีนี้พอมาถึงพุมเรียงมันจวนจะเข้าพรรษาเสียแล้ว มีคนท้วงว่าไม่ดีหรอก ...จึงอยู่เข้าพรรษาที่วัดใหม่พุมเรียงอีกปีหนึ่ง... พอออกพรรษาแล้วมันก็เฉยไป” 

กลับจากกรุงเทพฯ พระเงื่อมได้อ่านหนังสือมากขึ้น สนทนาธรรมกับพระบางองค์ที่เรียนนักธรรมเอกอยู่ซึ่งพระเงื่อมไม่ได้เข้าห้องเรียนแต่ก็สามารถสอบผ่านนักธรรมเอกได้ ประจวบกับญาติท่านบริจาคเงินสร้างโรงเรียนนักธรรมวัดพระบรมธาตุไชยา เมื่อรู้ว่าพระเงื่อมสอบผ่านนักธรรมเอกจึงขอให้มาเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรีและนักธรรมชั้นโทที่โรงเรียน “สอนนักธรรมนี่ก็สนุก สอนคนเดียว ๒ ชั้น มันคุยได้ว่าสอบได้หมด แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏตกไปองค์หนึ่ง เพราะใบตอบหาย ก็กลายเป็นครูที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที (หึ ๆ ๆ) มันสนุก เพราะเป็นของใหม่... หาวิธียักย้ายสอนให้มันสนุก ไม่เหมือนกับที่เขาสอน ๆ กันอยู่ เช่นผมมีวิธีเล่า วิธีพูดให้ชวนติดตาม หรือให้ประกวดกันตอบปัญหาทำนองชิงรางวัล นักเรียนก็เรียนสนุก ก็สอบได้กัน” 

“ทีนี้พอสอนนักธรรมจนได้สอบกันเรียบร้อย อาเสี้ยงที่ชุมพรก็เร่งเร้าให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ให้ได้อย่างที่แกเคยไปเรียนมา คนอื่นๆ ก็สนับสนุนทั้งนั้น รวมทั้งท่านพระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) ซึ่งอยู่ที่นั่นแล้ว แกก็สนับสนุนเต็มที่อยากให้ไปอยู่ด้วย เพื่อสืบสายกันไว้ เมื่ออาผมยังบวชอยู่ท่านก็ไปอยู่กับอาของผม พออาสึกท่านก็เป็นผู้สืบสายต่อมา แกก็อยากให้ผมเป็นผู้ไปสืบช่วงต่อไปอีก ในที่สุดผมจึงขึ้นกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง (๒๔๗๓) แต่การขึ้นตอนนี้ความคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว เรื่องสึกหายไปหมด ถูกผิดว่ากันทีหลัง พระกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรไม่สนใจ ตั้งใจจะไปเอาความรู้ภาษาบาลีก่อน ยังไง ๆ ก็ต้องเรียนบาลีเสียทีก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง”

“วัดที่ผมอยู่สะดวกสบายพอสมควร คณะที่ผมไปอยู่นั้นมันอยู่กันคนละห้อง กุฏิเป็นเรื่องแบบโบราณ สร้างมาเป็นร้อยๆ ปี มีหอสวดมนต์อยู่ตรงกลาง มีห้องมีกุฏิล้อมรอบ กว้างขวางพอสมควร มีบันไดขึ้นลง ๒ ข้าง เป็นแบบง่ายๆ ไม่หรูหราเหมือนสมัยนี้ ใต้กุฏิที่ผมอยู่มีหมูเต็มไปหมด บางเวลาเหม็นมาก หนวกหูด้วยเวลาหมูวิ่งกัดกัน... การบิณฑบาตนั้นมันเป็นถิ่นๆ บางถิ่นไม่พอฉัน บางถิ่นเหลือฉัน อย่างตรงแถวๆ ที่ผมอยู่เหลือฉัน ไปบิณฑบาตมาองค์หนึ่งก็ฉันไม่หมด ทีนี้พระ ๔ – ๕ องค์มารวมกันฉันมันก็เหลือเฟือ เด็กวัดปทุมคงคาที่ไปอาศัยเรียนทางโลกก็มีหลายคน รอบวัดปทุมคงคามีคนหนาแน่น และเป็นคนไทยถือพุทธถือศาสนาจัดๆ ก็แยะ เป็นตระกูลใหญ่ๆ ตระกูลโบราณหลายตระกูล ตรุษจีน ปีใหม่ เณรบางองค์ไปขนมาวันละ ๔ – ๕ ครั้ง เพราะว่าออกบิณฑบาตตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ วันนั้นๆ พระไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้

“วัดนี้มีระเบียบมาแต่โบราณกาล ฉันเช้า ๗ โมงครึ่งเศษๆ พอเสร็จฉันเช้า ๘ โมงลงโบสถ์ ทำวัตรเช้า ก็คิดดูซิฉันข้าวใหม่ๆ ๘ โมง ไปทำวัตรเช้า. เราก็มีโอกาสนั่งดูว่า ใครมันสัปหงกบ้าง... ทีนี้ถ้าว่าเป็นวันอุโบสถคือวันพระ กฎของวัดมีว่าฉันเพลเวลา ๑๑ น. เศษๆ ก็เสร็จจวนๆ ๑๒ น. พอถึง ๑๒ น. นั้น ไปอยู่กันในโบสถ์หมดแล้ว พอนาฬิกาในโบสถ์ตีเป๋งนี้ เขาผลักประตูดังโครมลั่นกลอนดังโครมทั้งประตูโบสถ์และประตูวิหารคดไม่มีใครเข้ามาแล้ว แล้วก็ลงอุโบสถเวลา ๑๒ นาฬิกา เที่ยงเช่นอย่างนี้ มีหลายๆ สิบองค์ เราก็ยังได้นั่งดูว่าใครมันสัปหงกบ้าง การนั่งฟังปาฏิโมกข์นั้นชวนง่วง ชวนสัปหงกง่ายที่สุด เพราะมันไม่รู้ว่าอะไร... ถ้าไม่ใจแข็งจริงๆ แล้วก็จะต้องง่วงสัปหงก...ทีนี้ก็มองเห็นอานิสงส์อันนี้ว่า แหม ! นี้มันเป็นเครื่องทดสอบ เป็นเครื่องสอบไล่ เป็นเครื่องวัด ว่าถ้าเราเอาชนะ ถีนมิทธะอย่างนี้ได้ เรามีจิตใจเข้มแข็งพอสมควร มีความแจ่มใสพอสมควร

“ที่วัดนั้นยังเทศน์ใบลาน ผมก็ไปเทศน์กับเขาครั้งหนึ่ง จำได้ว่าเทศน์เรื่องมหาวงศ์ เป็นเรื่องพงศาวดารของลังกาประวัติศาสตร์ศาสนา เขาให้กัณฑ์เทศน์ ๒๕ บาท ชาวบ้านไปฟังกันไม่กี่คน เขาทำเพื่อรักษาประเพณี และทำตามความประสงค์ของคุณนายอุ่น โปษยะจินดา พ่อแม่เขาเคยทำมาอย่างนั้น จัดให้พระเทศน์ ๗ วันองค์หนึ่ง เขาไม่อยากให้มันสูญไป มาขอร้องเจ้าอาวาสก็จัดไปตามนั้น พระองค์ไหนพออ่านหนังสือได้ก็ถูกจัดขึ้นเทศน์  เรียกว่ากัณฑ์เวียน พระองค์หนึ่งซึ่งพอจะเทศน์ได้ เขาก็ต้องเทศน์ตามระเบียบ ๗ วัน จะมีคนเอาหนังสือมาให้ คัมภีร์ตัวขอมมาให้ เขาได้เทศน์กันมาถึงตอนนั้นแล้ว เขาบอก คุณเทศน์ต่อจากนั้นไปเรื่อยจนครบ ๗ วันแล้วก็คืน. พอครบ ๗ วันเราก็ต้องหยุด คนอื่นเทศน์ต่อได้เครื่องกัณฑ์ ครบ ๗ วันได้เครื่องกัณฑ์

“ตอนนี้ยุ่งเพราะมันเป็นตัวขอมจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่มีหนังสือจะมาเทียบ มันก็ต้องบากบั่นอ่านจนได้ ที่นั่นครูบาอาจารย์ถมเถไป อ่านขอมตัวไหนไม่ออกก็ไปถามครูบาอาจารย์ ถามเพื่อนอะไรไป แต่ก็เล่นเอาเหงื่อแตกเหมือนกัน เพราะว่ามันไม่คุ้นเคยกันเลย... นี้ผมเรียกว่าเลวที่สุด คือจะเรียกว่ามาเรียนก็ไม่ใช่ คิดเอาก็ไม่ใช่ มันอ่านหนังสือไปอย่างที่ว่าไม่มีความรู้เลย เพียงแต่อ่านหนังสือออกมาเท่านั้น ต้องเรียกว่าเป็นผู้อ่านหนังสือให้ฟัง ไม่ได้เทศน์ด้วยสุตตามยปัญญา จินตามยปัญญาอะไรเลย”

ยามว่างจากการเรียนบาลีพระเงื่อม ได้ไปเที่ยวดูสถานที่ถ่ายรูปดูอะไรแปลกๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล “ท่านพระครูท่านไปอยู่นานแล้ว ท่านรู้วัดอะไรเป็นอะไร ทิศไหน ถนนไหนท่านรู้ ก็ช่วยพาไป ฝั่งธนฯ ทั่วไปหมด วัดต่างๆ ข้างบนนี่เที่ยวขึ้นมาจนถึงวังจิตรลดา วัดเบญจฯ วัดต่างๆ ที่น่าถ่ายรูป แล้วก็เล่นพิมพ์ดีด เล่นจานเสียง เล่นวิทยุ ไอ้เล่นพิมพ์ดีด เล่นจานเสียง มีเล่นกันไม่กี่คน แต่เล่นวิทยุนั้นเล่นกันหมดเลย ผมยังเล่นกล้องอีกด้วย... ตอนนั้นผมยังเป็นแฟนมหาน้อย อยู่ในกลุ่มมหาน้อย มหาน้อยเขามักได้รับนิมนต์เทศน์ไปปทุมฯ ไปนนทบุรี เราก็มักจะติดเรือไปด้วย เป็นเรือยนต์มีหลังคา ไม่ใช่เรือหางยาว ไปทีได้ ๒๐ – ๓๐ องค์ รถรางก็เคยนั่ง เสีย ๕ สตางค์ ๑๐ สตางค์ พระโดยมากขึ้นรถเจ๊ก ถ้าไปรับสังฆทานที่บ้านไกลๆ ขากลับกลับรถเจ๊ก หรือบางองค์ไปบิณฑบาตไกลเกินไป ขากลับกลับด้วยรถเจ๊กก็มี (หึๆ) มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะต้องใช้สตางค์ ต้องจับเงินจับทองด้วย  น้อยครั้งที่เจ้าของบ้านจะให้สตางค์เจ๊กมาเสร็จ ขึ้นรถรางก็จะต้องใช้สตางค์เอง น้อยครั้งที่เจ้าของบ้านจะให้คนมาส่ง มามอบหมาย สมัยนั้นพระนั่งรถรางดูเหมือนจะไม่เคยฟรี รถรางบางทีอันตราย วันนั้นฝนตก เปียกปอน พอผมเอามือจับเข้าที่แขนจับข้างบันได ไฟซ็อตเป็นจุด ๆ ๆ ทะลุหนังมือเลย แต่ไม่มีใครรู้ ไม่ถึงกับเลือดออก แต่เป็นจุดออกดำๆ ๆ ไฟฟ้ามันรั่วมาถึงคันรถแล้ว ไอ้เรามันยังเหยียบอยู่ที่พื้นดินข้างหนึ่ง ที่จับมันเป็นไม้แต่เปียก ดีที่ไม่ถึงกับตาย... ตอนจับทีแรกเหมือนกับกำไฟ

“เราเป็นพระอุตริอยู่กันไม่กี่องค์ เช่นเครื่องพิมพ์ดีดมันมีประโยชน์ เราไปซื้อที่มันชำรุดจากเวิ้งนครเขษมมาแก้ไขกันใช้ พอซ่อมใช้ได้ ก็ขายซื้อใหม่อีกที ก็ได้เครื่องที่ดีกว่า... กล้องถ่ายรูปก็เหมือนกัน กล้องแรกที่มีใช้โกดักเวสต้า ๑๒ บาท ซื้อที่เวิ้งนครเขษม มันก็ถ่ายได้ดี แล้วก็มาหัดล้างหัดอัดเอง มันเป็นงานง่ายๆ น้ำยามันสำเร็จรูป ผสมมาเป็นขวดมาเติมน้ำ ๑๐ เท่าก็ล้างได้ กระดาษโปสการ์ดแผ่นละ ๑ สตางค์ ถ้าเป็นของญี่ปุ่น ๑๐๐ แผ่น ๗๕ สตางค์ อัดกันเป็นภูเขาเลากา เวลาเราไปถ่ายรูป เราก็ทำอย่างไม่จุ้นจ้าน อย่างที่เดี๋ยวนี้ที่เขาทำกันไม่มีเลย แล้วมันไม่ค่อยได้ถ่ายคนหรอก ถ่ายสถานที่ ถ่ายวัดอะไรเสียมากกว่า แผ่นเสียงก็เรียนภาษาบ้าง ลิงกัวโฟนอะไรพวกนั้น แผ่นเสียงเพลงไม่ได้ซื้อ แต่ก็ฟังที่เขาฝากซื้อ มีคนฝากซื้อเรื่อย มันมีเรื่องน่าหัว ตอนนั้นมันอยู่กุฏิสุดมุม ไม่ไกลจากกุฏรองเจ้าอาวาสที่ดุเป็นเสือเลย ผมลืมไปเปิดแผ่นเสียงเสียดังลั่น ท่านเดินปังๆ มาเปิดประตูชะโงกดู แล้วก็ยิ้มกลับไปเลย (หัวเราะลงคอ) ทุกคนคิดว่าคงจะเกิดเรื่องแล้ว แผ่นเสียงชุดนั้นดังมาก ตรากระต่าย คนร้องชื่อหม่อมเสนีย์ ดังเท่ากับขยายเสียง ส่วนใหญ่เราใช้แผ่นเสียงเรียนภาษาอังกฤษ มันก็ไม่ค่อยได้ผลหรอก แต่มันไม่รู้จะทำอะไรดี”

พระเงื่อมเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เป็นพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ พอเรียนประโยค ๔  “มันก็เริ่มไม่สนุก มันเรียนแบบซังกะตาย เรียนด้วยความประมาท แล้วมันเบื่อ รสนิยมมันเริ่มเปลี่ยน”  จนท้ายสุดแล้วสอบไม่ผ่านเปรียญธรรม ๔ ประโยคจึงมีความคิดที่จะกลับบ้านเกิด “มันมีสิ่งที่เป็นข้าศึกอย่างรุนแรงต่อสุขภาพด้วย คือฝุ่น กลิ่นคลอง เสียงรถ และอากาศในฤดูร้อน สมัยนั้นเสียงรถมีแล้ว โดยเฉพาะเสียงรถราง ดังกลืด ๆ ๆ โกล้งกล้างกลืดๆ ๆ นี่มันเป็นความรู้สึกตอนหลังๆ มาแล้ว ที่ผมทนกรุงเทพฯไม่ค่อยได้ ตอน (เฮ่อ ๆ) ส่งท้าย กลิ่นเหม็นทำให้เป็นริดสีดวงจมูก ...แล้วมันก็ทนหนวกหูทนไม่ค่อยได้ แล้วก็ฟันเลือดออก เข้าใจว่าเนื่องมาจากน้ำประปา พอกลับมาบ้านนอกก็หายเอง มันคงจำเจ เมื่อมันยังหนุ่มจัดๆ มันไม่ค่อยรู้สึกหรอกเรื่องอย่างนี้ พออายุมากเข้ามันก็เริ่มมี... ตอนจะอำลากรุงเทพฯ มันเริ่มรำคาญสิ่งเหล่านี้ ใต้ถุนกุฏิที่ผมอยู่ก็มีเสียงหมูดังอู้เชียว มันคงทุกคนไม่เฉพาะแต่ผม แต่เขาชินหรือเขาทน แต่เราไม่อยากทน ขยะมูลฝอยและน้ำเน่ามันมีอยู่ทั่วไปเกือบทุกคลอง คลองก็เริ่มเหม็นแล้ว คลองปทุมคงคาน้ำใช้ไม่ได้ น้ำดำแล้ว เขาเริ่มถมเป็นบางตอนแล้ว น่าขยะแขยงที่สุดเวลาน้ำขึ้น เขาก็ปล่อยให้น้ำดำๆ นั้นเข้ามาในบ่อที่ตักใช้กัน อาบน้ำก็มีกลิ่น” 

พระเงื่อมเข้าไปศึกษาภาษาบาลีที่วัดปทุมคงคาเมื่อปี ๒๔๗๓ อยู่กรุงเทพฯ จนถึงปลายปี ๒๔๗๔  เมื่ออำลากรุงเทพฯ เป็นพระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ มีความรู้ภาษาบาลีพอที่จะค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเอง จนวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ เดินทางกลับถึงบ้านเกิดที่พุมเรียง ไชยา ไม่นานหลังจากนั้นเข้าพำนักและบุกเบิกที่วัดร้างตระพังจิก ก่อตั้งเป็นสวนโมกขพลาราม ประกาศตนเป็น “พุทธทาส” ศึกษา ค้นคว้า เผยแผ่ สั่งสอน จนขยายเป็นขบวนธรรมสวนโมกข์มาจนทุกวันนี้.

บรรณานุกรม

พุทธทาสภิกขุ. (๒๕๒๕).  ห้าสิบปีสวนโมกข์ ภาคสอง เมื่อเราพูดกะเขา และ เมื่อเราพูดถึงเรา.  กรุงเทพฯ : สวนอุศมมูลนิธิ.

พุทธทาสภิกขุ. (๒๕๒๕).  อิทัปปัจจยตา.  พิมพ์ครั้งที่ ๓.  สุราษฎร์ธานี : ธรรมทานมูลนิธิ.

พระประชา ปสนฺนธมฺโม.  (๒๕๕๕).  เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.  พิมพ์ครั้งที่ ๔.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง.

เรียบเรียงโดย สมบัติ ทารัก

กลุ่มงานจดหมายเหตุ

หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ