ตามรอยพระศาสดา: จากวัดป่าสู่ทั่วโลกเด็กสวนโมกข์

Share

งานจดหมายเหตุ,

2022 06 02 215206

คนไทยโดยส่วนใหญ่จะรู้จักท่านอาจารย์พุทธทาสผ่านมรดกธรรมของท่าน หรือคำกล่าวขานที่ “ยูเนสโก” ประกาศยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี 2548 แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ท่านพยายามสร้างธรรมทูต เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาไปสู่ทั่วโลก มาตั้งแต่ครึ่งศตวรรษก่อน และตัวท่านคิดเสมอว่า “คณะสงฆ์ไทย เป็นผู้รับภาระที่จะช่วยแก้ไขโลกนี้ให้ดีขึ้น .. เป็นหน้าที่โดยตรง มิฉะนั้น กิจการของคณะสงฆ์นี้ก็จะแหว่งเว้าอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่ง”

ในโอกาสครบรอบ 90 ปี ของ “สวนโมกข์” ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และครบรอบวันล้ออายุท่านอาจารย์ปีที่ 116 ดังนั้น เพื่อแสดงความกตัญญูตาแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส บทความนี้จึงมุ่งนำเสนอเส้นทางตามรอยพระศาสดา:จากวัดป่าสู่ทั่วโลก โปรดติดตาม

จากพระบ้านสู่พระป่า

ก้าวแรกที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเข้าสู่เพศบรรพชิต เนื่องจากครบอายุบวช ซึ่งเป็นประเพณีของคนสมัยนั้น และเมื่อครบพรรษาท่านยังไม่สึก เพราะยังรู้สึกพอใจกับการที่มี “คนคอยเอาอกเอาใจ ทำอะไรก็ได้” และในพรรษาที่ 2 ท่านสอบนักธรรมโทได้ จึงมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ท่านเล่าความเข้าใจขณะนั้นว่า “คนที่ได้เปรียญ 9 คือคนที่เป็นพระอรหันต์ นึกว่า พระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ แต่พอไปเจอจริงๆ มันรู้ว่า มหาเปรียญ มันไม่มีความหมายอะไรนัก รู้สึกว่า เรียนที่กรุงเทพฯ มันไม่มีอะไรเป็นสาระเรียนเอาเองสนุกกว่า มีหวังมากกว่า”

หลังจากนั้น ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคุณธรรมทาส (น้องชาย) เล่าว่า “ฉันจะออกจากกรุงเทพฯ และตั้งใจจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวนทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว เพื่อค้นหาความบริสุทธิ์และความจริงต่อไป จึงตกลงกันว่า จะใช้ “วัดตระพังจิก” (สวนโมกข์เก่า) เป็นวัดร้างมานาน เป็นป่ารกครึ้มไปหมด”

จากนั้นท่านก็จำวัดอยู่ที่วัดตระพังจิกเพียงรูปเดียวตลอด 2 ปี โดยจัดสภาพความเป็นอยู่ให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด ทำให้ท่านสามารถเห็นความกลัวในจิตตัวเองที่ไม่สามารถพบได้ในสภาพความเป็นอยู่แบบปกติ และท่านได้ขัดเกลาจิตจนมั่นใจว่า “ถ้าหากเราจะมีปัญญาหรือเหตุผลพอ แก่การรักษาตัวแล้ว สิ่งที่เคยกลัว กลายเป็นของธรรมดามากเข้า จนบางครั้งกลายเป็นวัตถุแห่งความขบขัน .ฝอุปสรรคอันเกิดจากความกลัวที่คอยกีดกันความเป็นสมาธิแห่งจิตก็มีน้อยเข้า และหมดสิ้นไปในที่สุด สามารถจะนั่งอยู่คนเดียวในที่โล่งในเวลากลางคืนอันสงัด โดยปราศจากเครื่องคุ้มครองแต่อย่างใด และมีจิตแน่วไปในการฝึกฝนได้ตามปรารถนา”

2022 06 02 215311

พระป่ากับบททดสอบความมุ่งมั่นในการเผยแผ่ธรรมะ

บททดสอบในการเผยแผ่ธรรมะของท่านอาจารย์มีหลายเรื่อง แต่ที่ท่านเคยบันทึกไว้แค่บางเรื่อง เช่น “เมื่อกิจการของคณะธรรมทานได้เผยแพร่ไปโดยทางหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ มีเพื่อนร่วมชาติอีกไม่น้อยเหมือนกันที่เข้าใจผิด คิดว่าการกระทำของพวกเรา เป็นการซ่อนเร้น การหากำไรอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเอาศาสนาเป็นโล่ก็มี ที่เขียนบัตรสนเท่ห์ไปยุพระผู้ใหญ่ให้เข้าใจผิดและเกลียดชังก็มี กว่าจะเข้าใจกันได้ก็ร่วม 10 ปี”

ท่านเล่าถึงเรื่องนี้อย่างเข้าใจโลกว่า “การทำอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ไปจากที่เขากระทำกันอยู่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติแก้ไขหรือรื้อฟื้นทำให้ดีขึ้น ขออย่าได้เอาใจใส่กับการนินทาว่าร้ายของผู้เข้าใจผิด ซึ่งในโลกนี้จะต้องมีเป็นธรรมดานั้นเลย ทำไปด้วยสุจริตใจก็พอแล้ว ผลจักเกิดขึ้นเท่ากับการกระทำอันบริสุทธิ์ของตน พวกเรารู้สึกล่วงหน้าไว้เช่นนั้นแล้วเหมือนกัน จึงไม่ได้เอาใจใส่อะไร”

2022 06 02 215426

ทำไมต้องเผยแผ่ธรรมะไปทั่วโลก

ท่านอาจารย์มองปัญหาของการดำเนินชีวิตของคนในโลกนี้ไว้ว่า “ทั้งโลกกำลังดำเนินไป อย่างที่เรียกว่า มันขัด กับหลักการของฝ่ายศาสนา “หลักการทางศาสนาก็คือ ต้องการสันติภาพ ได้แก่ความสงบสุขของส่วนบุคคลและส่วนรวม ส่วนโลกกำลังเดินไปในทางที่จะเหยียบย่ำสันติภาพ” ทั้งที่ปากร้องตะโกนว่า ต้องการสันติภาพ แต่การกระทำนั้นมันตรงกันข้าม

โลกอยู่ในภาวะที่ถูกครอบงำด้วยลัทธิวัตถุนิยมอย่างแรงกล้า และวัตถุนิยมยิ่งกว่ายาเสพติด เช่น เฮโรอิน เป็นยาเสพติดทางเนื้อหนัง มันก็ได้เท่านั้นแหละ ไม่ลึกซึ้งเหมือนวัตถุนิยม ซึ่งเป็นยาเสพติดทางวิญญาณ วิญญาณมันตกเหว ยาเสพติดชนิดนี้ มันลึกซึ้งเหลือประมาณ ส่วนที่เป็นปลายเหตุคือ ปฏิกิริยาที่ออกไปจากสิ่งนี้ มันมีมากมายนับไม่ถ้วน

ความหวังที่จะแก้ไขได้ก็มีอยู่อย่างเดียวคือว่า งานธรรมทูตนี้จะต้องจริงจังและเป็นปึกแผ่น แล้วก็เข้มแข็งทันกัน จึงเห็นว่า เราจะต้องมีธรรมทูตที่แท้จริงและมากพอ ที่ว่า “มากพอ” นี้ จะเอาจำนวนมากพอเท่ากับของธรรมดาสามัญไม่ได้ ที่ว่ามากพอนี้หมายความว่า มันมากพออย่างแบบของดี ของดีแม้มีน้อยก็เอาชนะของไม่ดีแม้มีมากได้ ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิตด้วยเหมือนกัน “สัตบุรุษ แม้มีน้อยก็เอาชนะอสัตบุรุษ แม้มีจำนวนมากได้” แต่คำว่า “น้อย” ในที่นี้ ต้องหมายความว่า มีจำนวนมากพอ แล้วก็ต้องจริงจังด้วย”

 2022 06 02 215546

การเผยแผ่ธรรมะเพื่อความสุขแก่มหาชนคือพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า

ท่านอาจารย์ชี้ว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงขอให้สาวกออกไปเผยแผ่ธรรมะ และพระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่างด้วย ดังพุทธภาษิตจากพระไตรปิฎก ที่ท่านอาจารย์ยกขึ้นมาเล่าความตอนหนึ่งว่า “ลูกเอ๋ย บัดนี้พ่อพ้นแล้วจากบ่วงทั้งที่เป็นบ่วงทิพย์และบ่วงมนุษย์ แม้ลูกทั้งหลายเล่า ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งหลายที่เป็นบ่วงทิพย์ และบ่วงมนุษย์ จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชน เพื่อความสุขของมหาชน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ อย่าไปทางเดียวกันสองรูป แม้พ่อก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม” เพื่อแสดงธรรม ซึ่งเป็นงานยากที่สุดในสมัยนั้น

และ “สาวกชุดแรก 60 รูป ที่ทรงส่งไปเผยแผ่พระศาสนา ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวรรควินัยปิฎก ภิกษุเหล่านั้นไม่มีครอบครัว เป็นบรรพชิต ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรนอกจากบาตรและจีวร แล้วสาวกเหล่านั้นเชื่อฟังอย่างยิ่ง คือ ใช้ให้ไปที่ไหนก็ได้ แล้วก็ทำไปด้วยความเสียสละ อุทิศถึงที่สุด อย่างที่เรียกว่าด้วยชีวิตจิตใจ หรือจะเรียกว่าเป็นความจงรัก ความสวามิภักดิ์อย่างเต็มที่” จึงทำให้ศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าไปในหลายประเทศทั่วโลก และนำประโยชน์สู่พุทธศาสนิกชนอย่างทั่วถึง

2022 06 02 215746

อาวุธของธรรมทูต

งานของธรรมทูต เป็นงานที่ต้องออกไปโน้มน้าวความเชื่อเดิมของผู้คนต่างบ้านต่างเมืองต่างความคุ้นเคยท่านอาจารย์ซึ่งเคยมีประสบการณ์และผ่านอุปสรรคความท้าทายต่างๆ ในการเผยแผ่ธรรมะจึงชี้ให้เห็นเหตุพร้อมแนะอาวุธชุดที่ธรรมทูตควรมีติดตัวว่า “งานธรรมทูตคือ งานปราบผี ผีที่เกิดขึ้นมาจากอวิชชา หรือมิจฉาทิฐิอยู่ในหลายรูปหลายแบบ ซึ่งเป็นความมืดที่พวกธรรมทูตจะต้องไปปราบไปแก้ไขด้วยแสงสว่าง เราต้องไปต่อสู้กับพวกที่เชื่ออย่างแน่นแฟ้น เชื่ออย่างหมดชีวิตจิตใจว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วจะไป convert เขาได้อย่างไร มันเป็นงานที่แสนยาก
เมื่อผีเป็นอวิชชา มาจากอวิชชา ก็ต้องปราบด้วยวิชชา

ข้อที่ 1 วิชชาก็คือสิ่งที่เป็นเหตุให้รู้จักตัวเอง ทำให้รู้จักสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง รู้จักสิ่งซึ่งเป็นเหตุหรือเป็นแดนเกิดของสิ่งทั้งปวง

ข้อที่ 2 วิชชาคือสิ่งทำให้รู้จักต้นเหตุ ของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ต่อไปมันก็จะรู้สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ รู้จักภาวะที่อยู่เหนือทุกข์ ที่เป็นความดับทุกข์

ข้อที่ 3 วิชชาคือสิ่งที่ทำคนให้เป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์ ถึงพระรัตนตรัย 100%

พระธรรมทูตก็ถือ วิชชาเป็นอาวุธ วิชชายอดสุดมันอยู่ที่ “สุญญตา” ความไม่มีตัวตนของตนที่จะเป็นที่ยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละวิชชาสูงสุด “เธอจงมีสติเห็นโลกด้วยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด” เอาสุญญตาเข้าไป ผีก็ละลายหายสูญไปหมด ไม่มีเหลือ เพราะผีมันเป็นอัตตาโง่ อัตตาอันธพาล เป็นหมอก เป็นควันที่เกิดมาจากมิจฉาทิฐิเท่านั้น ส่วนสุญญตา เป็นแสงสว่าง สุญญตาเป็นอาวุธ เข้าไปทำลายความมืดมน หรือหมอกควันเหล่านั้น”

2021 05 02 195429

สุดท้ายนี้ ท่านอาจารย์ได้ฝากถึงธรรมทูตทุกคนว่า “ขอให้เป็นธรรมทูตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถูกต้อง ตามความหมายของธรรมทูต อย่าเป็นธรรมทูตการเมือง อย่าเป็นธรรมทูตเอาหน้า อย่าเป็นธรรมทูตสมัครเล่น อย่าเป็นธรรมทูตทัศนาจน ที่เป็นกันอยู่โดยมาก แล้วอธิษฐานจิตอย่างแน่นแฟ้น อย่างเสียสละชีวิตเพื่องานธรรมทูต เพราะว่า มันเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด ไปยกวิญญาณของสัตว์โลกให้มันสูงขึ้น “เพื่อความสุขของมหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์” ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในการขอร้องส่งภิกษุชุดแรกออกไปประกาศพระศาสนา”

และนี่คือ ท่านอาจารย์พุทธทาส ที่มุ่งผลักดันงานธรรม “จากวัดป่าสู่ทั่วโลก” ผ่านธรรมทูตหลายต่อหลายรุ่น และภารกิจนี้ได้รับการสานต่อจากทีมงานสวนโมกข์จวบจนปัจจุบันนี้ เพื่อนำหลักธรรมไปสู่ใจมหาชน อันจะทำให้โลกนี้สงบ สันติ ดังพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า

หมายเหตุ

1 พุทธทาสภิกขุ, ปรารภธรรมะชุด “นั่งกลางทรายในสวนโมกข์” แสดงอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ รุ่น 2514, หน้า 3.

2 อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” ตอน “ไม่สึกตามกำหนดและเรียนต่อ” หน้า 54.

3 เล่มเดียวกัน, หน้า 56 และ 59.,

4 เล่มเดียวกัน, หน้า 71 และ 102.

5 สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ, หน้า 13.

6 เล่มเดียวกัน, หน้า 6-7.,7 เล่มเดียวกัน, หน้า 7.

8 พุทธทาสภิกขุ, ปรารภธรรมะชุด “นั่งกลางทรายในสวนโมกข์” แสดงอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ รุ่น 2514, หน้า 9-19, 25-26.

https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=754&Z=777 

10 พุทธทาสภิกขุ, ปรารภธรรมะชุด “นั่งกลางทรายในสวนโมกข์” แสดงอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ รุ่น 2514, หน้า 93-94.

11 “แม้พ่อก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม” คือไปทำหน้าที่ยากที่สุด เพราะที่นั่นมีชฎิล 3 พี่น้อง ที่เป็นศาสดาที่มีชื่อเสียงที่สุดในเวลานั้น และมีสาวกที่บวชอยู่ถึง 1000 รูป (ชฎิลพันรูป)

12 เล่มเดียวกัน, หน้า 97.

13 เล่มเดียวกัน, หน้า 77-81, 15 เล่มเดียวกัน, หน้า 25-26