๘๐ ปี สโมสรธรรมทาน ๙๐ ปี สวนโมกขพลาราม
พุทธทาสภิกขุเรียนบาลีที่กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค แล้วเกิดเบื่อหน่ายเมืองกรุงซึ่งไม่เป็นไปดังหวัง วิถีของพระในเมืองหลวงประพฤติย่อหย่อนในวินัยยิ่งกว่าหัวเมือง จนท่านตัดสินใจลาจากเมืองกรุง
“ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับนายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุด ในตอนจะสิ้นปีนั้นเอง เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่า ข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา... เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ไชยา เราก็ตกลงกันว่าจำเป็นจะตั้งจัดสร้างที่นี่ ทั้งที่ที่ไชยา ไม่มีถ้ำ ไม่มีภูเขาที่งดงามตามธรรมชาติเลย และเพราะเรามีกำลังน้อย เราจะทำน้อยๆ เผื่อผู้มีกำลังมากเห็นตัวอย่างแล้วเกิดพอใจขึ้นมา ก็จะจัดทำกันให้แพร่หลายได้สืบไป...
ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕)
ฉันพักอยู่ใน วัดตระพังจิก พุมเรียง อันเป็นวัดที่เคยอยู่มาแต่แรกราวเดือนเศษก็หาสถานที่ได้ ชนิดที่ในถิ่นนั้นจะหาได้ดีไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว พวกเราเองที่เป็นมิตรสหาย ๔ - ๕ คน ช่วยกันไปจัดทำที่พักว่าฉันจะได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น ก็ตกเดือนพฤษภาคม ซึ่งฉันจำได้เพียงว่าดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๑๒ ต่อมาในเดือนมิถุนายนประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. ๒๔๗๕) เพราะฉะนั้นปฏิทินของสวนโมกข์จึงเป็นสิ่งที่จะจดจำได้ง่ายที่สุด โดยแฝงประโยคสั้นๆ ว่า “ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ข้อนี้ พวกเราถือว่ามันเป็นนิมิตแห่งการเปลี่ยนยุคใหม่ เพื่อการแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเท่าที่เราจะพึงทำได้”
โมกและพลาสู่กำลังแห่งการหลุดพ้น
“...ฟลุคที่ว่ามันมีต้นโมกและต้นพลาที่สวนโมกข์เก่านั่น ต้นโมกนี่ยังอยู่ที่หน้าโบสถ์หลายต้น และต้นพลาก็มีอยู่ทั่วๆ ไป...เอาโมกกับพลามาต่อกันเข้า (หัวเราะ) มันก็ได้ความเต็มว่ากำลังแห่งการหลุดพ้น พลังแห่งความหลุดพ้น ส่วนคำว่าอารามย่อมธรรมดา แปลว่าที่ร่มรื่น ที่รื่นรมย์ เมื่อมันฟลุคอย่างนี้มันก็ออกมาจริงจัง ตรงกับความหมายแท้จริงของธรรมะ วัตถุประสงค์ก็คือโมกข์ สถานที่อันเป็นพลังเพื่อโมกขะ ก็เหมาะแล้ว
งานของคณะธรรมทาน
“...ตอนแรกก็เป็นหีบอ่านหนังสือธรรมะ ให้คนมายืมหนังสือธรรมะเป็นมุมหนึ่งที่บ้าน มาตั้งเป็นทางการหน่อยเมื่อมีสวนโมกข์แล้ว (กรกฎาคม ๒๔๗๕) แล้วก็ใช้บ้านโยมนั่นแหละเป็นสโมสรจัดเทศน์ประจำทุกวันพระ ต่อมาทางการเขาย้ายที่ว่าการอำเภอมาที่ตำบลตลาดใกล้ทางรถไฟ (มิถุนายน ๒๔๗๘) เพื่อความสะดวกในการทำงานคณะธรรมทานก็ย้ายมาอยู่ที่ตลาดด้วย (พฤศจิกายน ๒๔๗๘) อยู่ริมทางรถไฟ ไปทางวัดพระบรมธาตุฯ ผมก็เลยได้เดินตากแดดตากฝนมาเทศน์ที่นี่ด้วย...”
สร้างหอสมุด (พ.ศ. ๒๔๘๒) และสโมสรธรรมทาน (พ.ศ. ๒๔๘๕)
“...ผมมาพักที่วัดชยารามบ่อยๆ เนื่องจากตอนนั้น เมื่อคณะธรรมทานย้ายจากพุมเรียงมาอยู่ที่ริมทางรถไฟ (๒๔๗๘) ก็มาเปิดห้องธรรมทาน เปิดห้องอ่านหนังสือ เปิดห้องแสดงธรรมขึ้นที่นั่น ผมก็ต้องมาเทศน์เป็นประจำ บางคืนก็พลอยไปนอนค้างที่กุฏิท่านพระครูโสภณฯ (พระครูโสภณเจตสิการาม-ขำ ปี ๒๕๒๙ เป็นเจ้าคณะอำเภอไชยา) ตอนนั้นท่านยังเป็นพระปลัดขำ วัดมันจะร้างเลยให้ท่านปลัดขำไปเฝ้าอยู่ กุฏิหลังนั้นรื้อไปแล้ว ผมไปพักมากๆ เข้า ก็ทำให้เกิดต้องสร้างที่พักที่วัดชยารามขึ้น คือหอสมุดหลังเล็กนั่นแหละ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ต้องสร้างขึ้นมาสำหรับเป็นที่พักด้วย เป็นที่เก็บหนังสือ เขียนหนังสือด้วย
พอมาพักบ่อยเข้าๆ มันก็คิดว่าควรจะมีที่สะดวกสำหรับอบรมสั่งสอนประชาชนบ้าง ที่สวนโมกข์พุมเรียงนั้นมันไม่สะดวก มันเล็กนัก ดังนั้นก็ควรสร้างสถานที่ที่ใช้ในการประชุมได้ จึงคิดสร้างหลังที่เรียกกันว่าสโมสรธรรมทาน (พ.ศ. ๒๔๘๕) ขึ้นและเพราะจะคิดสร้างอันนี้ ทำให้ได้มาพบสวนโมกข์ปัจจุบัน เนื่องจากต้องเข้ามาหาไม้ในป่า ต้องเที่ยวสำรวจตามป่า ต้องขอแรงผู้คนที่มีช้างม้าไปลากไม้ไปอะไร”
สวนโมกข์ที่ธารน้ำไหล
“ตอนไปดูแลการทำไม้ในป่า เดินผ่านที่แปลงนี้บ่อยๆ จนวันหนึ่งจึงถามกันขึ้นว่า นี่มันที่ของใคร ทางเดินยาวเฟื้อยยืดไปเลย มีต้นมะพร้าวเหลาะแหละๆ เป็นที่ของใคร ก็มีคนบอกว่า ของหลวงพรหมปัญญา เขาจะขายถูกๆ เขาเคยบอกขาย ๓๕ บาท ไม่มีคนซื้อ ทั้งหมดนี้แหละ (หัวเราะ) ผมก็เลยสนใจว่า ที่ตั้งเยอะแยะนี่ (หัวเราะ) ก็เลยติดตามๆ จนได้รู้ว่าอาจจะซื้อได้ เพื่อทำเป็นแบบสวนโมกข์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งจะดีกว่า เพราะพอเดินเข้ามาดู มันน่าดู มีภูเขาตรงกลาง มีลำธาร ตอนนั้นมีน้ำมาก ก็เลยพยายามติดต่อเพื่อพบเจ้าของก็ได้นัดพบกันที่ตลาด เจ้าของเขาไปอยู่บ้านดอนแล้ว... จนผลสุดท้าย ตกลงกันราคา ๔๕๐ บาท วัดได้ ๙๐ ไร่ ไร่ละ ๕ บาท ตอนนั้นเราก็คิดจะทำอะไรให้มันน่าดู เรายังหวังว่าจะซื้อ จะขอจากที่ที่ติดต่อกันให้ได้อย่างน้อย ๒๐๐ ไร่ ทำไปทำมามันได้ตั้ง ๓๑๐ ไร่
ตอนนั้นมหาเฉวียงอยู่วัดชยารามก็เลยขอให้มหาเฉวียงมาอยู่ที่นี่... ทีนี้ประชาชนแถวนี้เขาอยากจะมีวัด พอว่าจะมีวัดเขาจึงช่วยสิ ช่วยใส่บาตร ช่วยทุกอย่าง...มหาเฉวียงอยู่สักปีสองปี ผมจึงตามมาอยู่บ้าง เลยไปๆ มาๆ อยู่ทั้ง ๓ แห่ง (หัวเราะ) มันไม่ใช่ย้าย มันสร้างเพิ่มขึ้น อยู่ที่นี่บ้าง อยู่วัดชยารามบ้าง ไปพุมเรียงนานๆ ครั้ง ตอนนั้นมหาสำเริงอยู่พุมเรียง ต่อมามหาสำเริงมาช่วยงานทางนี้ จนพุมเรียงไม่มีใครอยู่ มันเหลือวิสัยที่จะรักษาก็ปล่อยเลิกร้างไประยะหนึ่ง ของที่ขนได้ก็ขนมาที่นี่ กุฏิก็ยกให้วัดใหม่พุมเรียงไป กุฏิหลังเล็กที่ผมเคยใช้เขียนหนังสือนานที่สุดก็ยกมาที่นี่ หามกันมา ๒ หลังเล็กๆ ...ของอย่างอื่นก็ขนลงเรือกันมา สัก ๒ เที่ยวก็หมด”
ในวาระครบรอบ ๘๐ ปี สโมสรธรรมทาน และ ๙๐ ปี สวนโมกขพลาราม งานจดหมายเหตุได้คัดเลือกเอกสารหลักฐานจากคลังจดหมายเหตุพุทธทาส ๑๐ สิ่งน่าสนใจที่สะท้อนการทำงานและการบุกเบิกขบวนธรรมของสวนโมกข์มาให้ผู้สนใจได้รับชม นิทรรศการ ๘๐ ปี สโมสรธรรมทาน และ ๙๐ ปี สวนโมกขพลาราม จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ถึง ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๙:๐๐ - ๑๗:๐๐ น. ทุกวัน เว้นวันจันทร์ – อังคาร ณ สวนโมกข์กรุงเทพ