สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ
รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๑๑ One (dhamma) for the Road
การเดินทางจากเพื่อนสนิทถึงแฟนเก่า
วันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕
เวลา : ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.
Moderator: นายเวลา และ นพ.บัญชา พงษ์พานิช
แขกรับเชิญ: นุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา
รับฟังทั้งหมดได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=4FZYYQpofQ8
https://soundcloud.com/suan-mokkh/one-dhamma-for-the-road
https://open.spotify.com/episode/1yJrcNVMkFrwpfaMTDwvC8
การแสดงเปลี่ยนชีวิต
- One for the Road ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่กำลังฉายอยู่ เป็นเรื่องของผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคร้าย แล้วอยากกลับไปขอโทษแฟนเก่า ตัวเองแสดงเป็นหนึ่งในแฟนเก่าของพระเอก
- (การแสดง ทำให้เข้าใจคนได้มากขึ้น) ตั้งแต่เด็กเป็นคนชอบเรียน ชอบแข่งขันกับตัวเอง ต้องสอบได้เลขตัวเดียว นับว่าเป็นเด็ก nerd สนใจแต่เรื่องเรียนอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องรอบตัว จนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มาสังเกตว่าตัวเองมีเพื่อนน้อยมาก สังคมน้อย ไม่ทำกิจกรรม ไม่ได้รู้สึกอยากจะรู้จักใคร จุดศูนย์กลางคือเรื่องเรียน และตัวเอง
- กระทั่งได้มาเริ่มการแสดง ช่วงเรียนอยู่ปี ๓ - ปี ๔ ก่อนที่จะรับบทนางเอกต้องไปเรียนการแสดงก่อน ได้รับการบ้านให้ไปทำความเข้าใจตัวนางเอก ศึกษาตัวละคร ต้องเข้าใจบริบทของตัวละครว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร การที่ตัวละครมีบทพูดหนึ่งประโยค อะไรทำให้เขาพูดอย่างนั้น แสดงออกมาอย่างนั้น ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน ได้เปิดโลกกว้าง เกิดการใส่ใจ การที่ใครจะพูดอะไรสักประโยคนั้นเหมือน ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ สิ่งที่ได้ยินคือปลายยอด แต่เบื้องล่างคือชีวิตที่ต่างไปของแต่ละคน ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจคนรอบข้างมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ตัดสินคนจากประโยคเดียวที่ได้เจอ และเป็นที่มาของการทำหลาย ๆ อย่างในชึวิต
- การดูภาพยนตร์เหมือนศิลปะ เป็นการตีความ ขึ้นอยู่กับวัยและประสบการณ์ของแต่ละคน แม้เป็นฉากเดียวกัน แต่การสะท้อนออกมาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย แม้แต่ตัวเราเองที่หากได้ดูในเวลาต่างกัน การสะท้อนก็จะต่างกันไปตามวัยและประสบการณ์ของเราเอง
- (ชอบตัวละครไหนมากที่สุด) ชอบ ‘ผีอีแพง’ จากละครเรื่อง ‘บ่วง’ เป็นตัวละครที่ให้อะไรตัวเองเยอะมาก นอกจากทักษะการแสดงแล้ว สิ่งที่ได้คือเรื่องความ ‘โกรธ’ ขณะแสดงบทโกรธ เล่นบทด่า รู้สึกได้ว่าตัวเอง ‘ร้อน’ มาก กล้ามเนื้อสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหมือนจะระเบิดออกมา แม้ผู้กำกับจะสั่งคัทแล้ว แต่การสั่นยังไม่หยุด น้ำตายังไหล ทำให้เห็นว่าเวลามีอารมณ์โกรธ ร่างกายเราน่าสงสารที่สุด เหนื่อยมาก ใช้พลังงานมาก ทำให้เห็นสภาวะบางอย่าง รู้สึกสงสารตัวเอง นอกจากนี้บทละครยังสอนเรื่องการปล่อยวาง การให้อภัย
- (ในขณะที่เรียนรู้การปฏิบัติ แต่ก็ต้องสร้างอารมณ์ตัวละคร เป็นการย้อนแย้งกับสิ่งที่ได้เรียนมาหรือไม่) ตัวเองแยกพื้นที่ได้ ซึ่งตอนแรกยังไม่สามารถ เวลาเล่นแล้วจะ ‘เอาอารมณ์เอาตัวละครกลับบ้านด้วย’ ติดนิสัยของตัวละครมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ตอนเล่นผีอีแพงเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านการอกหักอย่างหนัก ได้เข้าใจบางอย่างในชีวิตมากขึ้น กลายเป็นช่วงชีวิตที่ดี ทำให้แบ่งแยกได้ว่าสิ่งนี้คือการแสดง เมื่อ ‘คัท’ แล้วกลับบ้าน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติมาก ไม่เหนื่อยใจเลย
- ต่างกับตอนเล่นเรื่อง ‘เปนชู้กับผี’ เล่นเป็นคนท้อง ตามหาสามี มีแต่อารมณ์โกรธ กลัว เป็นช่วงที่ชีวิตสามเดือนที่พังพินาศ จัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ ด้วยชั่วโมงบินยังน้อย คิดว่าหากจะให้ผู้ชมเชื่อ เราต้องสวมวิญญาณเป็นตัวละครนั้น เหมือนสะกดจิตตัวเองอยู่สามเดือน สิ่งที่ส่งผลคือกลายเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ถ่ายละครแล้วกลับมาบ้าน อยู่ ๆ ก็นั่งร้องไห้ มีความกังวลในใจ จนกระทั่งถ่ายทำเสร็จจึงคลี่คลายไป
- การฝึกปฏิบัติธรรมทำให้การแสดงคมชัดขึ้น ด้วยเราไม่ได้เอาตัวเองไปอยู่กับสิ่งนั้น ในยามแสดงก็เต็มที่ แต่เมื่อ ‘คัท’ แล้วก็สามารถแยกตัวเองออกมาจากตัวละครนั้นได้ เป็นสิ่งที่ได้กลับมาหลังจากไปสวนโมกข์ ไชยา มาแล้ว
ดากานดารู้จักท่านพุทธทาส
- ตอนเล่น ‘เพื่อนสนิท’ ภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตในบทนางเอก ‘ดากานดา’ ช่วงแรกได้รับแต่คำชมจนตัวฟู ทำให้อยากได้รับคำชมอีก เข้าไปอ่านเวบไซต์พันทิป หวังจะได้อ่านคำชม แต่กลับไปเปิดเจอความเห็นติเตียนเรา ซึ่งบางเรื่องก็ไม่จริง ทำให้เสียใจมาก เราเพิ่งตัวลอยจากคำชม แต่กลับมีคนมาตัดเชือกให้หล่นลงมา ได้แต่อยู่ในห้อง ไม่รู้ว่าจะจัดการอารมณ์ตัวเองอย่างไร
- ด้วยไม่รู้จะทำอะไร มีหนังสือของท่านพุทธทาสอยู่เล่มหนึ่ง จึงหยิบมาอ่าน หน้าแรกที่เปิด ประโยคแรกที่สายตาเห็นคือสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวด -- ‘ตัวกู’ ถ้าไม่มี ‘ตัวกู’ เราก็จะไม่รู้สึกอะไรกับคำพูดติฉินนินทา เหมือนโดนคำว่า ‘ตัวกูของกู’ มาตีแสกหน้า ว่าที่จริงเราไม่ได้เจ็บปวดจากคำพูดของคนอื่น แต่เจ็บจากตัวเอง จากนั้นจึงเริ่มอ่านหนังสือ ‘ตัวกู ของกู’ อย่างจริงจัง
Journey to เด็กสวนโมกข์
- จากที่คิดว่าไม่เอาแล้ว จะกลับเชียงใหม่แล้ว แต่ได้มาเจอหนังสือของท่านพุทธทาส ได้เห็นบางอย่างที่เราไม่เคยสนใจจากหนังสือธรรมะ และเป็นธรรมะที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก ด้วยพื้นฐานตัวเองเป็นเด็กวิทยาศาสตร์ อ่านแล้วมีเหตุมีผล มีตรรกะ รู้สึกว่าเชื่อถือได้ เข้าใจได้ เหมือนได้ฉีดวัคซีนไปหนึ่งเข็ม พอบรรเทาจิตใจ และเมื่อไปเจอเชื้อโรคอีก ก็คอยฉีดวัคซีนเพิ่มเรื่อย ๆ
- กระทั่งวันที่ติดเชื้ออย่างรุนแรง วันที่อกหักอย่างหนัก ไปนั่งร้องไห้ที่สวนโมกข์กรุงเทพ ไปทำวัตรเย็นแล้วร้องไห้ทุกวัน จนคุณหมอบัญชามาเห็น มาทัก และเป็นช่วงเดียวกับที่รายการ ‘พื้นที่ชีวิต’ กำลังหาใครสักคนเพื่อถ่ายทำรายการ reality ปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ ไชยา ซึ่งคุณหมอบัญชาเป็นผู้แนะนำเราให้กับทางรายการ นับเป็น turning point เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในชีวิต ทั้งกับการดำเนินชีวิตและการทำงาน สามารถ ‘คัท’ ตัวเองจากตัวละครได้
- สิ่งที่ทำให้ไปสวนโมกข์กรุงเทพเมื่อตอนนั้น คือใกล้บ้าน ได้เห็นการก่อสร้างสวนโมกข์กรุงเทพตั้งแต่เริ่ม จนเป็นอาคาร loft (ปูนเปลือย) เก๋ ๆ เป็นที่สงบ รู้จักคำว่า ‘สวนโมกข์’ จากที่นี่
- กับอาการอกหัก จากตอนแรกที่รู้สึกว่าเขาทิ้งเราไป มีทั้งความโกรธ ความเสียใจ แต่เมื่อไปอยู่ที่สวนโมกข์ ไชยา เหมือนโลกพลิก ได้อยู่กับตัวเอง จากที่คิดแค่ว่าเขาทิ้งเรา ทำร้ายเรา เมื่อกลับมากลายเป็นคิดได้ว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์เป็นพิษ เขาคงไม่มีความสุขที่อยู่กับเรา ความผิดคงมาจากเราเองส่วนหนึ่ง จึงกลับมาด้วยความรู้สึกขอโทษ ไม่โกรธ ขอโทษที่ทำให้เขาเป็นทุกข์จนเลือกที่จะไม่อยู่กับเรา
- จุดเริ่มต้นของคนเราเกิดจากความปรารถนาดี อยากอยู่ด้วยกัน แต่หากมาถึงวันที่ไม่มีความสุข แสดงว่าต้องมีอะไรที่ไม่ปกติ เราลืมมองตัวเองหรือเปล่า มัวแต่ไปโทษคนอื่นหรือเปล่า
- พอกลับจากสวนโมกข์ ได้เจอกับพี่ท็อป (พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร – สามี) ชวนกันลองไปที่ที่เราไม่เคยไปใช้ชีวิต ไปนั่งดื่มที่ถนนข้าวสาร แล้วเป็นวันที่ขอโทษเขา เหมือนขอโทษเพื่อนที่ทำให้เจ็บปวด กลายเป็นประโยคที่ทำให้เรากลับมาคุยกันใหม่ คุยด้วยชุดความคิดใหม่ที่ไม่เอาตัวเองมาจุดศูนย์กลาง จนทำให้เราได้มาแต่งงานกัน จนจะเข้าปีที่ ๗ แล้ว
ได้อะไรจากสวนโมกข์
- อยู่ที่สวนโมกข์ ไชยา ๕ - ๖ วัน หลังทำวัตรเช้าเป็นช่วงทำความสะอาดวัด ได้รับหน้าที่ขัดสระน้ำ ขัดตั้งแต่วันแรกด้วยอาการเศร้า วันที่สองเปลี่ยนฐานทำงานอื่น วันที่สามกลับมาขัดที่เดิม เห็นตะไคร่น้ำขึ้นมาใหม่ ทำให้เห็นการ ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป’ จากการขัดนี้ ไม่มีอะไรที่จีรัง แม้เราขัดไปอย่างสะอาด เดี๋ยวตะไคร่ก็ขึ้นมาใหม่อีก เหมือนกับความรักของตัวเอง เห็นภาพตั้งแต่เริ่มวันที่เริ่มจีบกัน บอกรัก บอกเลิก ร้องไห้ เป็นภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวโดยไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความรู้สึกนั้น ความโกรธหายไป เกิดการคิดได้ว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่เป็นของเราไปตลอด รู้สึกสงบขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน ‘การขัด’ เป็นการเปลี่ยนเรา
- (เชิญชวนให้มาสวนโมกข์) เราต้องลองเปิดใจ ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจประทับใจที่สถาปัตยกรรม เริ่มจากการมาถ่ายรูป หรือบางคนอาจมาเพื่อพักใจ พักเหนื่อย สำหรับยุคโควิด น่าจะเป็นการพักกาย พักใจ อยากให้ลองไปสวนโมกข์ ไชยาก็ได้ ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์คือ ธรรมชาติบำบัด ที่สวนโมกข์ ธรรมะกับธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดปรุงแต่ง อยากให้ลองมาค้นหาได้ทั้งที่สวนโมกข์ ไชยา และสวนโมกข์กรุงเทพ จะเห็นว่าชีวิตเราก็เท่านี้เอง
ธรรมะในชีวิตคู่
- ก่อนหน้าที่จะแต่งงาน ภารกิจยังไม่มาก มีเวลาไปปฏิบัติธรรม ต่อมาแต่งงาน ร่วมกันเปิดบริษัทใหม่ มีงานต้องดูแลมากขึ้น ไม่มีโอกาสไปวัดปฏิบัติธรรม แต่กลายเป็นว่า ‘ชีวิตจริงคือสถานที่ฝึกที่ดีที่สุด’ เราต้องสู้กับอารมณ์หลากหลายในแต่ละวัน โดยเฉพาะกับสามี บางวันที่รู้ตัว มีสติ จะไม่ฟุ้ง แต่ก็มีวันที่น็อตหลุดบ้าง ทำให้เห็นว่าชีวิตคู่ เป็นการปฏิบัติธรรมได้ดีที่สุด
ฝากส่งท้าย
- บ.คิดคิด จำกัด เกิดขึ้นจากที่คุณท็อปสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จากความสนใจได้ต่อยอดมาเปิดร้านขายสินค้า ทำกิจกรรม ทำแคมเปญชุมชนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ภูมิใจที่เป็นกิจการเพื่อสังคม แม้เป็นธุรกิจที่ยังต้องการผลกำไรเพื่อดูแลทีมงาน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด ได้มีการนำกำไรส่วนหนึ่งไปทำสิ่งที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อ
- (ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร) คนในองค์กรสำคัญที่สุด ภาระไม่ได้อยู่กับผู้นำองค์กรเพียงคนเดียว หรือทีมใดทีมเดียว การประสบผลสำเร็จเกิดจากที่คนในองค์กรคิดไปในทิศทางเดียวกัน เปิดใจคุยกัน ตั้งใจที่จะปรับให้เข้ากัน ทำให้เกิดความยั่งยืน หากคนไม่ทำ แม้จะไปซื้อหาระบบราคาแพง แต่คนในองค์กรไม่ทำ ก็ไม่มีใครสานต่อ
- ในด้านการแสดง ช่วงนี้กำลังพิจารณาบทเรื่องหนึ่งอยู่ หากลงตัว จะได้เห็นบทบาทโลดโผนอีกครั้งบนหน้าจอ
- ขณะนี้มีโครงการ Divana Urban Forest เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุ:
- ภาพยนตร์ One for the Road
- ละคร บ่วง
- ภาพยนตร์ เปนชู้กับผี
- ภาพยนตร์ เพื่อนสนิท
- บริษัท คิดคิด จำกัด
- Divana Urban Forest