เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๑๐ นาฬิกาทราย และคู่มือมนุษย์ของยิปโซ

Share

งานจดหมายเหตุ,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ 

นาฬิกาทราย และคู่มือมนุษย์ของยิปโซ ​​

วันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

เวลา : ๑๗.๕๐ - ๑๙.๐๐ น.​

Moderator: นายเวลา และ ศศวรรณ จิรายุส

แขกรับเชิญ: อริย์กันตา มหาพฤกษพงศ์

 

20220311 01

 

 รับฟังทั้งหมดได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=6dDcKy5GA2U

https://soundcloud.com/suan-mokkh/2lccktfhsgsr

https://open.spotify.com/episode/1e2MLiP4VArrX6nreD97SR 

สวนโมกข์กรุงเทพ ดูหนังหาแก่นธรรม

  • ช่วงนี้ได้ทำอะไรหลายอย่าง รวมถึงการทำรายการ ‘ยิปย่อย’ ร่วมกับพี่สาว (ยิปซี – คีรติ มหาพฤกษพงศ์) ออกอากาศทาง YouTube เป็นโจทย์ที่ยากกว่าการทำงานด้านอื่นพอสมควร เพราะการทำรายการ YouTube ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นทั้ง creative, director, พิธีกร, ผู้ประสานงานกับลูกค้า, ฯลฯ
  • ได้ทำรายการร่วมกับพี่สาว (ยิปซี) ที่ไม่ค่อยได้คุยกัน แต่ด้วยต่างคนต่างได้ออกไปใช้ชีวิตมาพอสมควรทำให้เริ่มมีระบบ หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็สามารถดึงตัวเองกลับมาสู่การมีจุดมุ่งหมายเดียวกันได้ ซึ่งทั้งหมดที่ผ่านมานั้นได้ใช้ ‘ธรรมะ’ มาช่วยอย่างมาก
  • เคยมาร่วมพูดคุยในกิจกรรม ‘ดูหนังหาแก่นธรรม’ ที่สวนโมกข์กรุงเทพ รู้สึกประทับใจกิจกรรมนี้มาก ด้วยเป็นคนชอบดูหนังแล้วคุยต่อ การได้มาร่วมดูหนังฯ จึงเป็นโอกาส และบรรยากาศที่ดีมาก
  • ก่อนหน้านั้นเคยไปสวนโมกข์กรุงเทพบ้าง ไปดูหนังสือของท่านพุทธทาส แต่ยังไม่เคยได้เยี่ยมชมส่วนอื่น ๆ

274948470 716071176064114 5210407527476187939 n

คู่มือมนุษย์

  • ‘คู่มือมนุษย์’เป็นหนังสือธรรมะเล่มแรกที่ได้อ่านตอนอายุ ๒๐ ปี ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะได้อ่านหรือมารู้เรื่องศาสนาได้ เจอหนังสือเล่มนี้ที่ร้านคิโนะคูนิยะ เหตุที่เลือกเพราะหน้าปกสวยมาก เล่มเล็ก ปกแข็ง แปลกใจมากว่าหนังสือที่ทำดีมากขนาดนี้ทำไมตั้งราคาเพียงหลักสิบ จึงเลือกกลับมาอ่านที่บ้าน ซึ่งดีใจมากที่เป็นหนังสือธรรมะเล่มแรกที่ได้อ่าน
  • เป็นชาวพุทธตามบัตรประชาชน แต่ไม่ถนัดเรื่องศาสนาเลย เป็นชาวพุทธที่เรียนโรงเรียนคริสต์ตั้งแต่เด็กจนโต แม้จะได้เรียนเกี่ยวกับศาสนาทั้งพุทธและคริสต์ แต่หากไปวัดจะรู้สึกเคอะเขิน กลัวทำผิด อาจจะเพราะไปผูกศาสนาไว้กับเรื่องของประเพณี จึงไม่ได้อะไรมากกับศาสนา
  • ชอบในประวัติศาสตร์ อ่านพุทธประวัติ คัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีคำสอน มีวิถีการใช้ชีวิตแทรกอยู่ในนั้น แต่เรื่องการปฏิบัติ เข้าวัดทำบุญนั้นไม่เป็นเลย
  • ความเข้าใจสมัยก่อน การปฏิบัติธรรมสำหรับตัวเองคือการนุ่งขาวห่มขาว นั่งสมาธิให้ได้นาน แต่เมื่อได้เจอ ‘คู่มือมนุษย์’ ทำให้ได้ ‘อ่านธรรมะ’ แท้ ๆ ในมุมของท่านพุทธทาสเป็นครั้งแรก เป็นการเปลี่ยนโลกของตัวเองอย่างมาก เหมือนโลกระเบิดออก จากที่เคยกังขา เริ่มได้คำตอบว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จริง แต่ใด ๆ ก็ตาม เวลาผ่านมาสิบกว่าปี จากที่เคยคิดว่าเรารู้ทุกอย่างแล้ว จบแล้ว แท้จริงแล้วคือยังไม่ได้เริ่มต้นแม้แต่น้อย เป็นเพียงแค่การเตรียมตัวเท่านั้น
  • กว่าจะรู้ตัวนั้นใช้เวลานานมาก เราไม่ได้รู้อะไรเลยจากที่อ่าน คือรู้เท่าที่สมองมี แค่อ่าน แต่ไม่ได้เข้าไปในใจเพราะไม่ได้ทำ น่าจะเป็นด้วยนิสัยเดิมของตัวเองที่เป็น nerd (คนที่ทำอะไรด้วยความชอบเป็นหลัก) จึงทำให้หยุดอยู่แค่ความเป็นหนอนหนังสือ

20191204 02

  • (หลังจากอ่านแล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง) เกิดความรู้สึกว่าได้เจอขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ที่ต้องประกาศให้คนรอบข้างรู้ เริ่มที่พ่อแม่ ไปนั่งเทศน์พ่อแม่ก่อน ด้วยคิดว่าได้ค้นพบความจริงในอีกมุมหนึ่งที่ click กับอะไรบางอย่างในตัวเรา แต่ที่จริงแล้วเรายังไม่ได้เข้าถึงจริง สิ่งที่ทำได้จึงเป็นเพียงแค่การพูดต่อ เหมือนคนที่จะรู้ แต่เป็นแค่ความจริงที่เราหยิบยืมมาจากหนังสือ นำมาพูดเหมือนเป็นความจริงที่เราค้นพบเอง ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ พูดไปพ่อแม่ไม่เข้าใจ เมื่อนึกย้อนกลับไปรู้สึกดีใจที่เป็นเช่นนั้น เพราะหากเขาเชื่อเรา อาจกลายเป็นพากันไปไหนก็ไม่รู้ คิดว่าแต่ละคนมีวาระของตัวเองในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ
  • เมื่อพ่อแม่ไม่เข้าใจ เกิดอาการ indy(independent เป็นตัวของตัวเอง) ไม่มีคนเข้าใจเรา จึงทำต่อไปคนเดียวโดยไปหาหนังสืออ่านเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือก็บอกว่าท้ายที่สุดแล้วคือต้อง ‘ปฏิบัติ’ แต่เพราะตัวเองมีนิสัยที่เป็นอุปสรรค คือเป็นคนที่ต้อง ‘เตรียม’ ให้พร้อม ต้องรู้ให้ครบก่อนจะลงมือทำอะไรสักอย่าง
  • ใช้เวลา ๘ ปี ในการ ‘เตรียม’ ตอนนั้น ‘เชื่อ’ ว่าเรารู้แล้วเพราะสามารถพูดต่อได้ พูดแล้วรู้สึกเบา และพยายามส่งต่อด้วยการแทรกเข้าไปในสิ่งต่าง ๆ ที่ทำ ซึ่งคนที่ได้รับไปก็ไม่ต่างจากเราที่ได้หนังสือเล่มนั้น (คู่มือมนุษย์) กลับบ้าน รู้สึกดีขึ้น จึงทำให้คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นคือใช่แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อผ่านเวลาไป แก้ปัญหาให้คนอื่นไปทั่ว แต่แก้ทุกข์ตัวเองไม่ได้
  • เมื่อเจอสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วภูมิทางใจเรายังต่ำอยู่ จิตใจยังอ่อนแอ เกิดอาการเจ็บเล่มใหญ่ แสดงว่าบางอย่างมีรูรั่วแล้ว จึงพยายามนำการอ่านมาเติมเข้าไป แต่แก้ได้เพียงชั่วคราว เมื่อออกไปข้างนอกอีกครั้งแล้วกลับมากลายเป็นหนักกว่าเดิมก็มี เป็นการเกาผิดที่ ใช้ยาผิดตัว แต่ก็อย่าไปบั่นทอนตัวเอง แค่หาทางต่อไป

274245064 676629707108586 7377616688323078048 n

ค้นพบธรรมะที่ใช้ได้จริง

  • คำของท่านพุทธทาสที่จำได้ชัดเจน คือ ‘ตัวกู’ ความยึดมั่น ตัวกูเป็นของหนัก เป็นสิ่งที่ทำให้เรากลับมาเตือนตัวเองได้ดี ใช้ได้ทุกวันในยามที่มีความทุกข์ในใจ หากระลึกถึงคำนี้ขึ้นมาได้ จะรู้ว่า ‘หนัก’ เพราะตัวกู ไม่ใช่เพราะสิ่งภายนอก
  • ‘หน้าที่’ เป็นอีกคำที่จำชัดและนำมาใช้บ่อย เตือนสติ เป็นแนวทางสำหรับทุกวันที่มีเรื่องมากมายที่ทำให้ไขว้เขว เป็นคำที่ใช่ ทำให้เราเดินตรง ไม่เบี้ยวตกหลุม
  • เช่นเดียวกันกับที่ได้สักคำไว้ที่ข้อมือ คำละข้าง คือ ‘วาง’ และ ‘สร้าง’ เป็นคำสั้น ๆ ที่บอกว่าหน้าที่ของเราเท่านี้ก็พอแล้ว ‘อะไรที่ไม่จำเป็นก็วางลง วันไหนมีแรงก็ลุกขึ้นมาสร้าง’ แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองคำนี้ก็ช่วยไม่ได้มากเท่ากับคำว่า ‘หน้าที่’ ของท่านพุทธทาส วันที่สักสองคำนั้นยังเป็นความเข้าใจในระดับสมอง แต่คำสอนของท่านพุทธทาสมีผลที่ยั่งยืนกว่า เพราะตรง เป็นธรรมะแท้จริงกว่า ลึกกว่า

ทำหน้าที่ด้วยความพอดี

  • ระยะหลังนี้เชื่อในคำว่า ‘หน้าที่’ อย่างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการงานอย่างเดียว ทุกคนเกิดมามีหน้าที่ของตัวเอง ตราบใดที่เราปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง หน้าที่ลูก หน้าที่นักเรียน หรือการงาน focus กับหน้าที่เราให้ดีที่สุด แต่ก็มีบางครั้งที่เราคิดว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมยังทุกข์อยู่ เช่นตัวเองเป็นคนให้ความสำคัญกับพ่อแม่มาก จริงจังกับเรื่องตอบแทนบุญคุณ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลับยังมีความทุกข์ทั้ง ๆ ที่คิดว่าทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว จึงคิดได้ว่าหน้าที่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ควรเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ เช่น เราเป็นคนคนหนึ่งที่มีลูกแล้วทำทุกอย่างเพื่อลูก หน้าที่เราคือเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดเพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีของตัวเอง แต่จะไม่มีการเรียกคืน เพราะจะกลายเป็นการ ‘แลก’
  • ความกตัญญูเป็นสิ่งดีงาม แต่บางคนอาจทุกข์ใจเพราะแบกรับหน้าที่จนเกินกำลัง ทุกสิ่งต้องมีตรงกลาง ให้ทำหน้าที่ด้วยทัศนคติที่ถูก ไม่ใช่ทำเพราะต้องทำ แต่ทำด้วยความรัก ความเมตตา
  • ‘ความพอดี’ ใช้ได้เสมอ น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี คนเราเกิดมามีการดูแล พึ่งพาอาศัยกันโดยไม่มีเงื่อนไข นี่คือความงามของความเป็นมนุษย์ที่อยากให้รักษาไว้
  • การให้ด้วยเหตุผลที่ถูก ให้แบบไม่ได้อยากเรียกคืน อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการต้องแบกทุกอย่างเอาไว้ ให้แบบไม่เบียดเบียนตัวเอง บางคนไม่ให้เลยก็จะกลายเป็นความอึดอัด ไม่สบายใจกับการเก็บไว้อย่างเดียว ส่วนคนที่ให้มากเกินไปจะเป็นการเมตตาแบบขาดปัญญา แล้วจะกัดกินตัวเองจนไม่เหลืออะไร จะทุกข์เองจนทนไม่ไหว ในทางกลับกัน หากเป็นคนมีปัญญามากแต่ขาดเมตตา ก็จะเป็นคนที่เก่งมากแต่ไม่เห็นใจใคร การให้แบบพอดีคือไม่เบียดเบียนตัวเอง การให้ถูกคนก็มีผลเช่นกัน
  • การให้ถูกคนคือ เป็นการให้ที่เกิดประโยขน์ต่อผู้รับจริง ๆ เช่น หลายคนอยากทำบุญ แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ก็ทำตามกระแสไปก่อน เช่น มีสถานที่ที่หนึ่งที่บอกกันว่าหากจะทำบุญต้องไปทำที่นี่ แต่เมื่อไปถึงแล้วกลายเป็นว่าต้องจัดคิวเพื่อรองรับคนที่จะมาทำบุญด้วยซ้ำ แต่ในขณะที่คนที่อยู่ใกล้ คนที่เรามองข้ามไปกลับกำลังต้องการอยู่มากกว่า ‘ให้กับคนที่ขาด’ เป็นสิ่งที่ดี

275042879 1367339343703439 2638455570483016156 n

เรียนรู้ และปฏิบัติ

  • ทุกวันนี้ยังค่อย ๆ คลำทางหาไป เชื่อในการ ‘ปฏิบัติธรรม’ ว่าช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง ๆ ซึ่งการปฏิบัติของตัวเอง ณ ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่การอ่านหรือการนั่งสมาธิอย่างเดียว แต่เป็นการ ‘ดู’ ดูตลอดเวลาเท่าที่ทำได้
  • ธรรมะคือธรรมชาติ คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง ปฏิบัติตามธรรมชาติ ซึ่งจะไปเข้ากับคำว่าหน้าที่ ตามครรลองและหน้าที่ตามธรรมชาติ ซึ่งทุกข์จะเป็นสัญญาณเตือนว่าเราได้ทำอะไรผิดธรรมชาติไป จึงทำให้เกิดความทุกข์
  • การปฏิบัติสำหรับตัวเองคือการดูธรรมชาติของตัวเองก่อน คือการมีสติ สังเกตตัวเองให้มากที่สุด ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นข้างใน เช่น ช่วงเวลาก่อนหน้าที่กำลังเตรียมเข้าร่วมสนทนากับ ‘เด็กสวน(โมกข์)’ รู้สึกว่าตัวเองใจเต้น อึดอัด ก็รู้ได้ว่าตัวเองกำลังตื่นเต้น ตื่นเต้นเพราะอะไร เพราะกลัวทำได้ไม่ดี เพราะตัวกู เกิดอัตตาตัวตนขึ้นมา กลัวเสียหน้า กังวลว่าคนจะคาดหวังอะไรกับตัวเรา ตรงนี้คือจุดของการดู และในระหว่างการคุยก็มีคำถามผุดขึ้นมาในใจตลอด จะคอยดูตัวเอง สังเกตตัวเองบ่อย ๆ แต่จะไม่ตัดสิน
  • ถ้าเราสังเกตตัวเองบ่อย ๆ จะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่บังคับตัวเองไม่ได้ เมื่อสังเกตไปเรื่อย ๆ จะเห็นรูปแบบบางอย่างของตัวเอง ซึ่งจะนำกลับมาสู่การให้อภัย เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง ดูอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีโจทย์ที่เกิดขึ้น คือ เราจะทำอย่างไรต่อไป เป็นจุดที่ต้องนำธรรมะเข้ามาช่วย จะกดตัวเองไว้ หรืออย่างไร

‘เหตุผลที่ควรโกรธไม่มี’

  • กับกระแสสังคม การกังวลว่าคนอื่นจะมองเราว่าอย่างไรนั้น ไม่เพียงแต่ดาราเท่านั้นที่จะพบเจอ ทุกคนสามารถเจอได้ในยุคสมัยนี้ ส่วนตัวขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องอะไร จะรู้ได้ วัดได้จากความรุนแรงของความเครียด เครียดกับคำพูดของผู้อื่น ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคำพูดของคนทั่วไป แต่อาจเป็นคำพูดของคนใกล้ตัวที่ทำให้ ‘จี๊ด’ เป็นเรื่องของการห่วงว่าคนอื่นคิดอย่างไร วิธีจัดการของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายต้องกลับมาที่ ‘การปล่อยวาง’ วางไว้ก่อน
  • ท่านพุทธทาสเคยพูดไว้ว่า ‘เหตุผลที่ควรโกรธไม่มี’ ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็แก้ไขไป ไม่ต้องโกรธ แต่อีกระดับขั้นที่เหนือกว่าการไม่โกรธคือ การขอบคุณ ขอบคุณที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงสองเรื่อง เรื่องแรกคือชี้ให้เห็นข้อเสียที่เราจะได้ปรับปรุงแก้ไข เรื่องที่สองคือชี้ให้เห็นว่าเรายังมี ego อัตตาอยู่ ใด ๆ ก็ตาม กับบางเรื่องเราก็ไม่ต้องไปเครียดขนาดนั้น บางเรื่องควรแก้ไข บางเรื่องควร ‘แล้วไงล่ะ’ เพียงแค่เข้าใจ ไม่ต้องคิดอะไรมาก
  • แต่หากมีสิ่งใดก็ตามที่ ‘จี้ใจดำ’ แสดงว่ามีจุดดำให้จี้ มีอะไรบางอย่างที่เราต้องแก้แต่ไม่แก้หรือเปล่า อย่าคิดว่าเราเป็นคนดีที่สุด ใครว่าไม่ได้ ต้องรู้จักปรามตัวเองบ้าง ซึ่งถือว่าโชคดีที่เราได้รู้ การต่อสู้กับอัตตาของตัวเองต้องใช้พลังมหาศาล แต่ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่แย่ลง เครียดมากขึ้น

20191204 06

  • เป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาเข้าใจผิด ต้องสู้กับเรื่องนี้อย่างหนัก ต้องปล่อยให้ได้ หากคนจะรักชอบเรา แม้เราทำเลวแค่ไหน เขาก็จะหาข้อดีของเราได้ แต่หากคนจะไม่ชอบเรา แม้เราจะทำดีแค่ไหน เขาก็ว่าเราอยู่ดี นี่เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างชัดเจนในระยะหลังนี้เอง เป็นความจริงของโลก ทั้งคำชมและคำต่อว่าต่างเป็นเรื่องไม่จริงทั้งคู่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจาก bias (อุปาทาน อคติ) ของเราเอง เราไม่สามารถไปควบคุมความคิดของใคร
  • ทั้งหมดนี้ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามจะกลับมาที่ ‘ความเมตตา’ หากเจอใครที่ต่อว่าเราในเรื่องที่ไม่จริง แสดงว่าคนนั้นกำลังมีทุกข์อยู่ การเมตตาอย่างแรก คือเมตตาตัวเอง ไม่ต้องหลอกตัวเองว่าไม่เจ็บ และในขณะเดียวกันก็เมตตาต่อคนที่ว่าเราด้วย สังเกตว่าตอนที่เรา top form จิตใจเราแข็งแรง มีความสุข อยากทำแต่สิ่งดี ๆ ไม่อยากต่อว่าใคร ส่วนคนที่มาว่าเรา แสดงว่าเขากำลังทุกข์อย่างหนัก ดังนั้นเราควรปล่อยผ่าน ไม่ไปถือโทษโกรธ แต่ในขณะเดียวกัน จะไม่ tolerate (อดกลั้น กล้ำกลื้น) ไว้ ไม่ใช่มีแต่ให้อภัยแล้วไม่ต้องปกป้องตัวเอง แต่เราต้องถอยห่างออกมา ไม่ต้องทนเป็นแม่พระ ต้องเมตตาตัวเองด้วย ดูใจเขาใจเราให้มาก ๆ
  • หนทางของการหายดี ไม่ทุกข์ สามารถไปได้หลายประตู มีหลายวิธี ใครไปได้ ไปก่อน ดูกันที่ผลลัพธ์ ทุกข์มากขึ้นหรือน้อยลง สำหรับประตูของตัวเองนั้นใช้ได้ดีอยู่ แต่ยังต้องไปต่ออีกสักหน่อย เติมเรื่องการเห็นใจกันและกันเข้าไปด้วย
  • คำของท่านพุทธทาส: เขาว่าเราจริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันจริง เขาว่าเราไม่จริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันไม่จริง แค่นี้ก็จบ

นาฬิกาทรายของยิปโซ

  • แม้จะเป็นคนที่ดู logic มาก (ตัดสินด้วยตรรกะ เหตุผล) แต่ที่จริงแล้วเชื่อในทุกอย่าง เพียงแต่เราไม่ได้มีความสามารถที่จะรับรู้ได้ทุกเรื่อง มีอีกหลายสิ่งที่เราไม่เห็นแต่มีอยู่จริง แต่แม้เชื่อว่าทุกสิ่งมีจริง ก็ยังมีการปฏิเสธอยู่ลึก ๆ ข้างใน
  • ที่ผ่านมา นาฬิกาทรายของตัวเองคือการ countdown ตัวเราในทุกอย่าง ความดัง ความงาม ชีวิตของเราก็ countdown อยู่ วันหนึ่งจะต้องจบ
  • นาฬิกาทรายของตัวเองเป็นเหมือนสามเหลี่ยมชนกันมาโดยตลอด จนเพิ่งมาได้ความหมายเพิ่มขึ้นตอนนี้คือ สามเหลี่ยมสองอันที่ประกบกันคือการ connect กัน เป็นการประสานกันระหว่างสิ่งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น สิ่งที่เรารู้และยังไม่รู้แต่ส่งผลต่อชีวิตเรา เป็นการเปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้น สิ่งที่เรารู้นั้นนิดเดียวจริง ๆ  เป็นความหมายเฉพาะตน

mr. hiiragis homeroom

ส่งท้าย

  • เป็นคนชอบดูหนัง ระยะหลังนี้ชอบดูซีรีส์ญี่ปุ่น ล่าสุดดูเรื่อง Mr. Hiiragi's Homeroom เป็นเรื่องที่พูดถึงหน้าที่ ความเมตตา กุศโลบาย และมีสิ่งที่มากไปกว่าที่ได้เห็นในเนื้อเรื่อง ตอนสุดท้ายจะทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราไม่รู้อะไรเลย
  • อีกเรื่องคือ Demon Strayer (ดาบพิฆาตอสูร) แนะนำสำหรับคนที่เป็นสายการ์ตูน animation ตัวละครมีความเป็นพุทธะ สูงมาก
  • (แนะนำการสื่อสาร นำเสนอธรรมะให้คนรุ่นใหม่อย่างไร) ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงได้ เห็นว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ‘เจตนา’ ไม่ว่าจะแบ่งปันเรื่องใด ขอเพียงมีเจตนาที่ดี อย่าคิดแต่จะแจกจ่ายธรรมะโดยที่เรายังไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม เพราะสุดท้ายแล้วจะไม่มีใครได้อะไรเลย
  • ใครทำอะไรได้ก็ทำ ทำตามความสามารถ ตามหน้าที่ แต่ละคนมีพรสวรรค์และความชอบที่ต่างกัน เพียงแค่นำ (ธรรมะ) ไปตีความแล้วทำในแบบของเราก็จะกลายเป็นความสุข
  • สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การส่งต่อ’ ส่งต่อโดยไม่ต้องสนใจว่าเราจะสื่อสารได้ดีหรือไม่ เราอาจพูดไม่เก่ง แต่แค่เพียงเรานำมา ‘ใช้’ จริง และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริง สุดท้ายแล้วจะมีคนเห็น และเป็นแรงบันดาลใจให้ได้ดีที่สุด ได้เห็นคนที่ embody คุณธรรม นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ฝากชมรายการยิปย่อย The gyps channel และขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างแข็งแรง เจอทางที่ดีสำหรับตัวเอง

หมายเหตุ: