เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๙ ศาสนาคูลคูล ของคนโคตรคูล

Share

งานจดหมายเหตุ,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ

รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๙ ศาสนาคูลคูล ของคนโคตรคูล ​​

“ศาสนาของคนคูล มันโคตรคูลหรือไม่"

วันพุธที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา : ๑๘.๐๐ - ๑๙.๐๐ น.

Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และนายเวลา

272922692 511363226998114 8749892100900198284 n

 รับฟังทั้งหมดได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=PbvyE4Nck48 

https://soundcloud.com/suan-mokkh/5ypivfacx6yp

https://open.spotify.com/episode/4KGl2vUaXMfcy4s8YD2sUO 

บวชเรียนทดแทนพระคุณ

  •          บวชตอนอายุ ๒๕ ที่วัดเสาธงใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก เป็นวัดต่างจัดหวัด ได้อยู่กับตัวเอง
  •         ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยปีท้าย ๆ เริ่มทำงานในวงการบันเทิงแล้ว ที่บ้านมีลูกชาย ๔ คน พี่ชายบวชไปแล้วสองคน รู้สึกเหมือนเป็นประเพณีของบ้านที่ลูกชายทุกคนต้องบวช จึงไปบอกแม่ว่าจะบวช แม่แปลกใจ ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ ถามว่าไปทำอะไรผิดมาหรือเปล่า บอกว่าอยากบวชให้เพราะคุณแม่ยังแข็งแรง ไม่อยากให้เวลาล่วงเลยจนตัวเองอายุสามสิบกว่าแล้วมาอ้างว่าไม่มีเวลาบวช
  •         บวช ๑๕ วัน โดยที่ก่อนหน้านั้นได้เข้าไปอยู่ที่วัด ไปเป็นเด็กวัดก่อนประมาณ ๔ -๕ วัน
  •         วัดเสาธงใหม่เป็นเหมือนวัดประจำบ้าน คุณตาบวชที่วัดนี้ คุณตาเป็นลูกศิษย์ของเจ้าอาวาสที่เป็นผู้สร้างวัดนี้ และญาติฝ่ายคุณตาก็อาศัยอยู่แถบนั้น และส่วนใหญ่ก็บวชที่วัดนี้เช่นกัน เหมือนเป็นประเพณีที่บ้าน
  •         ตอนบวชได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ตอนอยู่กรุงเทพ ทุกอย่างเร็วเร่งรีบไปหมด กินเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว แต่เมื่อได้อยู่ที่วัด ทุกอย่างช้าลง ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่รู้ว่าบวชแล้วจะได้อะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ได้คือ ได้เห็นแววตาคุณแม่ที่มองเราตอนที่เราบวช ตอนที่เราก้มลงไปกราบ (ในขณะพิธีบวช) เป็นช่วงเวลาที่ หลังจากบวชเสร็จ เมื่อได้เจอใครก็แล้วแต่ จะบอกทุกคนว่า ‘ถ้ายังไม่บวช บวชเถอะ’
  •         แม้คุณแม่ไม่ได้ร้องขอ แต่เห็นได้ว่าเขาภูมิใจ และเรารู้สึกว่าได้ตอบแทน ทำให้เรามีสติมากขึ้น นิ่งมากขึ้นด้วย
  •         (ถามความรู้สึกถึงการเปลี่ยนสถานะจากเพียงแค่เปลี่ยนผ้า แล้วมีคนมากราบไหว้ รู้สึกได้ถึงศรัทธาของผู้คนในพุทธศาสนา) รู้สึกเกรงใจมากเวลามีคนมาใส่บาตรแล้วยกมือไหว้ ทั้งที่เราอายุน้อยกว่า แต่ด้วยครอบครัวเป็นชาวพุทธ จึงมีความเข้าใจในบริบทความเป็นพระของเรา

39164334 2274968199187180 2932157160613740544 n

ศาสนาของคนคูล

  • ในมุมมองของตัวเอง ไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธเท่านั้น ทุกศาสนามีความสำคัญ หากไม่มีศาสนาโลกคงวุ่นวาย ตั้งแต่สมัยหลายร้อยปีก่อน โลกยังไม่มีกฎหมายเพื่อการอยู่ร่วม ศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนได้ตระหนักถึงการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การมอบความรักให้แก่กัน ถ้าพูดตามหลักศาสนาพุทธคือ ‘การไม่เบียดเบียนผู้อื่น’ ซึ่งคิดว่าเป็นแกนสำคัญ
  • ยิ่งเมื่อได้ไปบวช ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้รู้สึกได้ว่าหลักของธรรมะนั้นง่ายมาก ‘ธรรมะคือธรรมชาติ’ เราแค่ปรับตัวให้กลมกลืนธรรมชาติมากที่สุด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่สำมะเลเทเมา ไม่ประพฤติผิดต่าง ๆ ไม่พูดปด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งถ้าหากเรารู้ถึงแก่นของพุทธศาสนาจริง ๆ เราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความดีงาม เป็นมารยาททางสังคม
  • สิ่งเหล่านี้เมื่อได้ไปบวชเรียน ทำให้ได้รู้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ด้วยการทำวัตรเช้า บิณฑบาต ศึกษาธรรม กวาดลานวัด ช่วยพระอาจารย์ต่อเติม ผสมปูน และกิจของสงฆ์อื่น ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เรามีความอิ่มอกอิ่มใจ ทำด้วยความศรัทธาจริง ๆ อีกทั้งยังได้รับการสั่งสอนจากครูอาจารย์ ทำให้เราที่ปกติเป็นคนใจร้อนกลายเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นภายหลังที่สึกออกมาแล้ว

51061432 2533787606638570 3990615506699681792 n

สัจจะสากล

  • (ขอช่วยขยายคำว่า สัจจะสากล ที่คุณโอ๊ตพูดถึงในรายการ workpointTODAY) แกนหลักของศาสนาคือ ‘สอนให้คนทำดี’ ทำความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย เพียงเรานำมาหลักนั้นมาปรับใช้ ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม หากทำได้ จะทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
  • (ขอขยายความ ธรรมะคือธรรมชาติ) ในมุมของตัวเอง เมื่อบวชแล้ว ได้เรียนธรรมะ ได้อ่านพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่องศีล ข้อห้ามต่าง ๆ อ่านและตีความ จะเห็นได้ว่าที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้แม้ผ่านมาสองพันกว่าปีแล้วแต่ก็ยังใช้ได้อยู่ จึงตีความด้วยตัวเองว่า ‘ธรรมะคือ ธรรมชาติ เราต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น’ ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเวรกรรม นรก สวรรค์นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ตกตะกอนจากการบวชเรียนคือ ‘การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ คือสิ่งที่ ‘จริง’ ที่สุด ถ้าเราทำไม่ดีกับคนหนึ่งคน คนหนึ่งคนนั้นก็จะไปพูดต่อกับอีกสิบคนร้อยคนว่าเราไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือถ้าเราทำดีกับคนหนึ่งคน คนคนนั้นอาจไปพูดกับแค่สองหรือสามคน แต่เชื่อว่าสิ่งดี ๆ เหล่านั้นจะวนกลับมาหาเราในวันหนึ่ง จะมีคนที่พร้อมโอบอุ้มเรา
  • คิดว่าพระพุทธเจ้าคงอยากสอนเราให้เข้าใจได้ง่าย ก็ไม่รู้ว่าในอดีตที่ผ่านกว่าจะมาถึงรุ่นนี้ พระไตรปิฎกถูกตีความได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราได้ปรับใช้หรือเปล่า โลกเปลี่ยนไปทุกวันตามเวลาผ่าน เพียงแต่ขอให้เรามอง ‘แกน’ ให้ดี ตนจึงได้ตีความออกมาเองว่า ‘แกนของศาสนาคือ ธรรมะคือ ธรรมชาติ อยู่โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติให้ดีที่สุด’

273942925 1626268461049766 4603987951145449244 n

สนทนาธรรม

  •         (ด้วยภาพลักษณ์เป็นคนสนุกเฮฮา โดยปกติแล้วบทสนทนากับเพื่อนเป็นอย่างไร) คุยกันทุกเรื่อง เรื่องมนุษย์ต่างดาว เรื่องธรรมชาติ ธรรมะ ศาสนา ความเชื่อ สังคม ข่าวคราวต่าง ๆ ซึ่งที่จริงแล้วแทบจะเรียกได้ว่าเป็น deep talk (พูดคุยเชิงลึก) คุยกับเพื่อน เช่น พิชญ์-กาไชย ว่าน-ธนกฤต พี่ป๊อบ-ปองกูล จะคุยกันแบบ deep talk หรือ hard talk มาก ไม่ว่าจะคุยกันเรื่องการเมือง ความเชื่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราคุยด้วยเหตุผล แลกเปลี่ยนว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นความสนุกอย่างมาก มาแบ่งปันข้อมูล ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ด้วยความเป็นเพื่อน ถ้ารักกันจริงเราต้องคุยกันได้ทุกเรื่อง ต้องไม่โกรธกัน
  •         (บทสนทนาแบบลึก ๆ เกี่ยวกับศาสนา ลึกถึงขั้นไหน) ตามความรู้ของเรา พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานก่อนที่จะมีการเขียนพระไตรปิฎก ก็จะมาคุยกันว่าทำไมพุทธศาสนาจึงมีหลายนิกาย ทำไมแต่ละนิกายคิดต่างกัน แสดงว่าทุกอย่างบนโลกนี้สามารถตีความได้ตามบริบทของสังคม ตามความเชื่อ ตามภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรืออะไรก็แล้วแต่ตามแต่สิ่งที่จะนำไปปรับใช้กับคนแต่ละยุค แต่ละประเทศ แต่ละเชื้อชาติ ซึ่งเราสนุกมากที่ได้คุยกัน คุยถึงการผสมผสานของศาสนาพุทธในบ้านเราที่ว่า อะไรเอ่ยคือพุทธแท้ หรือ อะไรคือแกนของพุทธศาสนา สิ่งที่เรากราบไหว้กันอยู่ทุกวันนี้ อย่างอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ ทำไมเราจึงรู้สึกศรัทธา แล้วบางอย่างผสมกันจนเราเองก็ไม่เคยคิดที่จะถามตัวเองว่าสิ่งนี้คือ ‘พุทธ’ หรือเปล่า แล้วที่เราไหว้สิ่งที่ไม่ใช่ ‘พุทธ’ นั้นผิดไหมที่เราจะเชื่อหลายๆ อย่างรวมกัน หรือ เรื่องร่างทรง ดูดวง ปีชง สนุกมากที่ได้คุยกันถึงสิ่งเหล่านี้ ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นในมุมของตัวเอง

270768095 404068641408089 7418973495331815575 n

‘โคตรคูล’ เป็นอย่างไร

  • ‘โคตรคูล’ คือบริษัทผลิต content (เนื้อหา) แรกเริ่มผลิตรายการช่อง YouTube ต่อมาเป็น content ต่าง ๆ ตามความต้องการของลูกค้า เช่น ซีรีส์ มิวสิควีดีโอ คลิปต่าง ๆ เกมส์ รวมแล้ว ‘โคตรคูล’ คือ บริษัท entertainment ที่คอยสร้างความสุขให้กับทุกคน เป็นบริษัทที่สร้างมาเองกับมือ เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
  • (กับภาพลักษณ์ของความเป็นคนตลก ทะลึ่ง แต่ตัวตนที่จริงแล้วเป็นอย่างไร) โดยจริงๆ แล้วตัวเองก็เป็นคนทะลึ่งตึงตังเช่นนั้น เติบโตมาในกลุ่มเพื่อนที่มีความเกเร ตัวเองก็เป็นเด็กดื้อ ซน หัวรั้น มีความกบฎในตัวเอง แต่ก็เป็นกบฎในทางที่ดี เช่น ไม่ค่อยคล้อยตามไปกับคำพูดของผู้อื่น มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ก็มีที่ผิดบ้างถูกบ้าง ถ้าถามว่าทุกวันนี้โอ๊ต-ปราโมทย์ เป็นอย่างไร ก็พูดได้ว่าเป็นโอ๊ต-ปราโมทย์ที่เติบโตขึ้น อยู่ในวัยกลางคน มีลูกน้อง มีคนติดตามมากมาย ด้วยกาลเวลาที่ผ่านมา ทำให้จากเดิมที่เคยเป็นคนทะลึ่งตึงตัง เล่นห่าม ๆ กลายมาเป็นคนที่โตขึ้น เวลาที่จะทำหรือพูดอะไร จะคิดเยอะมากขึ้น เพราะเมื่อเราเป็นผู้บริหาร เวลาจะพูด จะก้าวไปทางไหน หรือตัดสินใจทำอะไรจะมีผลกระทบไปถึงหลาย ๆ คนที่อยู่ในความดูแลของเรา รวมถึง followers (ผู้ติดตามทาง social media) ทำให้มีความระมัดวังมากขึ้น แต่ก็ยังสนุกเหมือนเดิม เป็นโอ๊ต-ปราโมทย์ที่ซน ทะลึ่งตึงตังเหมือนเดิม
  • (ในรายการที่ออกสื่อ มักมีคนขอให้ด่า ด่าแบบคูล ๆ ด่าแบบพุทธ ทำอย่างไร) ด้วยความเป็นโอ๊ต-ปราโมทย์ ที่คนเห็นว่าเป็นคนสนุก ตลก ปากจัด ทำให้คนอยากได้คลิปเราไปส่งให้เพื่อน ไป surprise ในงานแต่งงาน หรืออื่น ๆ คนจึงมักจะติดภาพนั้น แต่ระยะหลังนี้น้อยลง ปฏิเสธไปบ้าง เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสมหากนำไปเปิดในงานมงคลที่มีผู้ใหญ่ร่วมงานอยู่ด้วย
  • ด้วย attitude (ทัศนคติ) ของเรา เราไม่ได้ต้องการใช้คำหยาบเพื่อว่าร้าย แต่เป็นการแซว หยอกเอินกันมากกว่า ด้วยชุดคำพูดของเรา โชคดีที่พูดคำหยาบแล้วคนไม่ค่อยโกรธ

49851997 2504822072868457 1981996925997547520 n

สร้างความสุขให้กับผู้อื่นและตัวเอง

  •         (ความเป็นคนตลกเฮฮาตลอดเวลา ๒๔ ชม. ส่งผลให้ช่วงหนึ่งมีอาการ panicdisorder) สำหรับตัวเอง อาการ ‘PanicDisorder’ (ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล) มาจากความเหนื่อยล้าของร่างกายและจิตใจ และความความหวังของคนอื่นในตัวเรา แม้เขาไม่ได้พูด ไม่ได้ตั้งใจจะให้รู้สึกแบบนั้น แต่เราเป็นคนไปแบกรับความรู้สึกนั้นไว้เอง มีนิสัยที่คอยเอาใจคนอื่นโดยลืมมองตัวเองว่าเราชอบอะไร ต้องการอะไร กระทั่งสิ่งเหล่านี้กดทับตัวเอง ทำให้กังวลไปเอง และเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นซ้ำ ๆ จึงทำให้เป็นโรค Panic Disorder และในช่วงนั้นตนมีอาการกรดไหลย้อนมาก ร้องเพลงแล้วเสียงแหบ รวมแล้วหลายอาการจนต้องไปปรึกษาแพทย์ เป็นเช่นนี้อยู่ประมาณปีครึ่ง ในช่วงนี้ดีขึ้นแล้ว
  • (แนวคิดในการสร้างบรรยากาศความสุขให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่เพิ่ม หรือเยียวยาเรื่องนี้อย่างไร) เป็นแนวคิดที่เป็นเองจนติดเป็นนิสัยว่าทุกครั้งที่เราออก (สื่อ) ไปจะต้องคอยสร้างความสุขให้ผู้อื่น เลยเป็นการกดทับตัวเองอย่างไม่รู้ตัว
  • แต่ Panic Disorder มีข้อดีหนึ่งอย่างคือ ทำให้รักตัวเองมากขึ้น เอาใจคนอื่นน้อยลง ใส่ใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น ไม่เก็บคำพูดหรือความคิดเห็นแย่ ๆ มาทำให้ตัวเองเจ็บปวด อ่านแล้วผ่านไปได้เร็วขึ้น ‘ช่างมัน’ มากขึ้น ตระหนักรู้ตัวเองว่าเราไม่ได้คิดร้ายกับใคร เราทำเพื่อคนอื่นเสมอ
  • (ด้วยบทบาทคือเน้นให้คนมีความสุข และมนุษย์ส่วนใหญ่ชอบแสวงหาความสุข ในขณะที่พระพุทธศาสนาเน้นเรื่อง ‘ทุกข์’ มีมุมมองอย่างไร พุทธเป็น ‘สุข approach เข้าถึงด้วยความสุข’ ได้ไหม) ส่วนตัวจะไม่ค่อยแนะนำใครว่าเวลาเครียดให้เข้าวัด เพราะรู้สึกว่าเป็นปลายเหตุ ถ้าทุกข์แล้วเข้าวัด เหมือนเป็นการไปสร้างแรงกดดันให้พระ ซึ่งที่จริงแล้วศาสนาพุทธสอนให้เราดับทุกข์ด้วยตัวเองเสียมากกว่า ถ้าเราไปวัดพร้อมความรู้สึกแย่ ก็จะเป็นการคาดหวังให้ตัวเองดีขึ้น แต่ถ้าหากเราไปวัดด้วยความสุข อารมณ์ดี ก็จะเป็นความรู้สึกที่ต่างกัน สิ่งที่ได้กลับมาจะเป็นคนละแบบ
  • บางทีศาสนาก็ไม่ใช่สิ่งดับทุกข์เสมอไป พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ตัวเองตลอด ให้เราคอยมีสติ สมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน จะพูด จะทำอะไรต้องมีสองสิ่งนี้ มิเช่นนั้นสิ่งที่พูดหรือทำจะย้อนกลับมาหาเราเอง เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีสติ เรื่องทุกข์จะผ่านไปด้วยเร็ว ถ้าไปทำบุญที่วัดด้วยความเบิกบานใจ จะได้ความสุขกลับมามากกว่า

258891646 493991012108848 6918276159403127409 n

สร้าง Content สื่อสารกับคนรุ่นใหม่

  • อย่างแรกคือ เราต้องเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ ให้อิสระทางความคิด ไม่บังคับ และในขณะเดียวกันเราเองต้องเก่งด้วย คนสมัยนี้รู้ว่าใครดี ไม่ดี ใครเก่ง ไม่เก่ง ถ้าคุณเป็นคนเก่ง ให้ผู้อื่นเป็นคนตัดสิน ไม่ต้องทำตัวเก่งตลอดเวลา เด็กสมัยนี้สามารถรู้เอง โกหกกันได้ยาก พยายามให้อิสระทางความคิดกับเขา อย่าไปปิดกั้นความคิด รวมไปถึงการเป็นเจ้านายที่ดีนั้น ควรรับฟังด้วย เจ้านายบางคนอาจไม่ฟัง คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกแล้ว ดีแล้ว เด็กต้องฟัง ซึ่งตัวเองไม่เห็นด้วยอย่างมาก เคยเป็นลูกน้องมาก่อน ไม่ชอบเจ้านายแบบนี้
  • เหตุที่รับเด็กอายุไม่เกิน ๒๗ - ๒๘ ปีมาร่วมงาน เพราะหากรับคนที่อยู่ในวัยเดียวกับตัวเองเข้ามา เรื่องราวที่คุยจะเป็นเรื่องเก่า คุยเรื่องเดิมซ้ำ ๆ สิบปีแล้วยังวนอยู่เรื่องเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ หมายความว่าบริษัทเราที่ผลิต Content เพื่อคนรุ่นใหม่ แต่กลายเป็นว่า Content จะไม่ touch (โดนใจ) เขา การรับคนอายุราว ๒๔ - ๒๕ ปี หรือเด็กที่เพิ่งจบใหม่มาร่วมงาน เราก็ต้องเอาตัวเองไปอยูในตรงนั้นด้วย เพื่อไม่ให้เกิด Lost Generation (หลงยุค แปลกแยกจากกัน) ต่อมาคือต้องรู้ว่าเขาฟังอะไร พูดอะไร กินอะไร ชอบอะไร แล้วเอาสองสิ่ง คืออายุของเราและของเขามาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเจอตรงกลางพอดี ซึ่งจะทำให้ Content ของเรายั่งยืนและอยู่ได้ในทุก Generation
  • (ทำอย่างไรหากเกิดความเห็นต่าง) อย่างแรกคือ ‘ฟัง’ ก่อน เป็นผู้ฟังที่ดีโดยไม่มีอคติ ถ้าฟังแล้วพบสิ่งที่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย ก็จะถามต่อสิ่งที่นำเสนอคือเพื่ออะไร พาไปสู่สิ่งไหน แล้วถ้าไม่ดีจะปรับได้ไหม ซึ่งหากเขาตอบเราได้ทุกอย่าง หมายความว่าเขาเตรียมตัวมาดี แต่หากตอบไม่ได้ หมายความว่าสิ่งที่เตรียมมาอาจยังไม่ถึง ๑๐๐% ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยเติม ช่วยอธิบาย ไม่ใช่ปัดทิ้งไปเสียหมด แล้วเขาจะมีความสุขในการทำงาน

271963504 936314917037999 1334241854644318572 n

คำแนะนำในการสื่อสารงานธรรมไปยังคนรุ่นใหม่

  •         ต้องให้ ‘ง่าย’ ที่สุด คนสมัยนี้สมาธิสั้นลง โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน อะไรที่ยากหรือซับซ้อนจะอยู่กับคนได้ครู่เดียว ไม่ใช่แค่ศาสนาเท่านั้น ทั้งรายการต่าง ๆ หรือบทเพลง เมื่อก่อนนี้เพลงเพลงหนึ่งจะมีชื่อเสียงอยู่เป็นปี หรือ ๓ - ๖ เดือน แต่ทุกวันนี้หากเพลงไม่ดัง จะมีอายุอยู่ได้เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น จึงต้องอาศัยสิ่งที่จับต้องง่าย กินง่าย ย่อยง่าย ไม่ต้องคิดหลายชั้น จะทำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
  • วิธีการพูด การสอน เริ่มจากเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ลองฟังคนรุ่นใหม่ว่ามีมุมมองต่อศาสนาอย่างไร อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในตอนนี้ ทุกวันนี้ไม่มีเวทีให้เด็กสมัยนี้จริง ๆ มีแต่การยัดเยียด สอนและสอนเท่านั้น โดยที่คนสอนก็ไม่รู้เลยว่าเด็กที่นั่งอยู่ฟังไหม

‘แก่น’ อัลบั้มเพลง สู่นิทรรศการ

  • ที่จริงแล้วเป็นคนชอบอะไรแบบไทย ๆ เช่น ตั้งชื่อให้สุนัขว่า ทองกวาว
  • คำว่า ‘แก่น’ เป็นคำที่น่ารัก มีทั้งความจริงจังและขี้เล่นอยู่ในคำคำเดียว เป็น double meaning ‘แก่น’ คือ Core คือแกนของร่างกายของเรา ความเป็นตัวตนของเรา รวมถึงอีกคำคือ ‘แก่นเซี้ยว’ ความสนุก ความซน ขี้เล่น จึงนำคำนี้มาเป็นชื่ออัลบั้ม ซึ่งมีเพลงใหม่ทั้งหมด ๑๐ เพลง แล้วให้ทีมงาน ‘สี่คูณร้อย’ นำไปตีความออกมาเป็นงานศิลปะ จัดพิมพ์ ทำเป็นนิทรรศการจัดแสดงที่ Madi Café ถ.เจริญกรุง ๔๓ และจำหน่าย โดยรายได้เข้ามูลนิธิวายไลฟ์(WHY LIVE) ที่ทำกับเพื่อน ๆ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
  • ชื่อมูลนิธิวายไลฟ์ พ้องเสียงกับ ‘วายร้าย’ จากที่คนอื่นมักมองเราภายนอกว่าเป็น Suicide Squad (วายร้ายพลีชีพ) เหมือนตัวโกง แต่เป็นตัวโกงที่อยากทำดี ดูมีความย้อนแย้งในคำจำกัดความของพวกเรา ดูเป็นวายร้าย แต่ก็อยากทำอะไรดี ๆ บ้าง พี่ป๊อบ-ปองกูล จึงคิดชื่อนี้ขึ้นมา นำมาเป็นชื่อมูลนิธิที่เราได้จัดรายการมาแล้วประมาณ ๑๒ ครั้ง ได้ยอดบริจาคมาเป็นหลักสิบล้าน จึงคิดมาทำเป็นมูลนิธิของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ทันท่วงที จัดเป็น Event ร้องเพลงระดมทุนเข้ามูลนิธิ ใช้ชื่อเสียงของเราเป็นกระบอกเสียงให้ผู้อื่น
  • (คำว่า ‘แก่น’ ตรงกับชื่อหนังสือ แก่นพุทธศาสน์ โดยพุทธทาสภิกขุ แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อว่า Heartwood of Bo Tree) คำว่า ‘แก่น’ มีความหมายที่ดี บางครั้งคนมองเราแค่เปลือก ไม่ได้มองไปที่ ‘แก่น’ ว่าแก่นลึก ๆ ของแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร มองแต่เปลือกก็ตัดสินไปแล้ว คำว่า แก่น บอกเราว่าให้มองลึกลงไปก่อนที่จะตัดสินใครลงไป
  • อัลบั้ม ‘แก่น’ บอกเล่าถึงตัวเองในวัย ๓๗ – ๓๘ ปีว่าในความเป็นโอ๊ต-ปราโมทย์นั้นเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ เป็นเพลงฟังง่าย ย่อยง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา รักทุกเพลงในอัลบั้มนี้ เป็นอัลบั้มแรกในชีวิต มีทั้งเพลงที่ตัวเองเขียน และคนอื่นเขียนด้วย
  • (มีเพลงที่เกี่ยวกับธรรมะไหม) เป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม ชื่อเพลง ‘แค่ไหนถึงพอใจ’ เป็นเพลงที่เขียนเองจากประสบการณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัว ถูกตัดสินโดยคนอื่นที่ไม่ใช่คนใกล้ตัว ซึ่งเมื่อเราโตขึ้นก็เกิดการตกตะกอนในความคิดว่า เราต้องทำดีแค่ไหนเขาถึงจะพอใจในตัวเรา สิ่งที่เราทำหรือการเป็นตัวเรานี้ผิดหรือ หรือเพียงแค่ไม่ชอบความเป็นโอ๊ต-ปราโมทย์ ถึงได้ตัดสินเราไปแบบนั้น จึงเขียนเพลงว่า ‘แล้วแค่ไหนทุกคนถึงจะพอใจในตัวเรา’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ‘แก่น’ เพราะคนไม่ได้มองแก่นของเรา มองแต่เปลือก
  • ตอนที่เขียนเพลงนี้เป็นช่วงที่ดีขึ้นจากอาการ Panic Disorder ในวันที่เขียนเพลงนั้นรู้สึกแบบนั้น แต่ในวันนี้ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นแล้ว ตอนนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมคนไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ แต่เมื่อผ่านพ้นมาได้และเขียนเพลงนี้เสร็จ เหมือนเป็นการปลดล็อกความรู้สึก ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนบนโลกชอบเรา หรือให้มีความสุขกับสิ่งที่เราทำทุกคน ต้องมีคนที่ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ เหมือนที่บอกว่าพระพุทธเจ้ายังถูกนินทา แล้วเราเป็นคนธรรมดา ทำไมถึงจะไม่มีคนนินทาเรา จึงมาคิดได้ว่าสุดท้ายแล้วเราแค่ดำรงอยู่ในความดีงาม คิดดี พูดดี ทำดี ‘แก่น’ ของเราต้องดีจริง แล้วทุกอย่างจะดีเอง ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถอยู่ในวงการและสร้างบริษัทที่เติบโตจนเมื่อปีที่แล้วได้ติดอันดับ ๑ ใน ๕๐ ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วย

61159338 2191640414207127 709320312860180480 n

วิธีจัดการ ‘ใจ’

  • (ในโลกของคำวิจารณ์ ใข้เครื่องมืออะไรในการรับมือให้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้) เหมือนที่ได้เกริ่นไว้ตอนแรกเรื่องเวรกรรม แม้ตัวเองจะไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่ตอบเรื่องนี้ได้ดีคือ ‘การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ ทุกครั้งที่มีปัญหา ถูกคนว่าโจมตี จะมีบุคคลที่เป็นเพื่อน เป็น Fan club มาคอยโอบอุ้ม ป้องกัน ให้กำลังใจทุกวิถีทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตอบเราได้ชัดเจนว่าคงเป็นสิ่งนี้ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นอย่างไร ซึ่งบางสิ่งที่ถูกต่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกต่อว่าด้วยซ้ำ เป็นเพียงอคติของคนที่ไม่ชอบเรานำไปเป็นเครื่องมือในการโจมตี ดังนั้นจึงเชื่อว่าคงเป็นเพราะสิ่งดี ๆ ที่เราเคยทำดีกับคนอื่นไว้ด้วยความจริงใจ จึงได้รับการตอบแทนด้วยความจริงใจ ทำให้เราเติบโต แข็งแรงขึ้น
  • สิ่งที่คนพูดถึงเรานั้นมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง มองว่าการที่คนคนหนึ่งจะไม่ชอบใครสักคนนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากเราเข้าใจได้จะไม่เป็นเรื่องใหญ่ เราไม่สามารถไปห้ามความคิดของคนอื่น หรือจะให้คนอื่นคิดเหมือนกับเราไม่ได้ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ผ่านคำพูด ผ่านการกระทำ เราไม่ต้องไปตอบโต้ ยิ่งพูดไม่ดีตอบโต้กันจะกลายเป็นบานปลายไปเรื่อย ๆ ด้วยตัวเองมีคนติดตามมาก เคยเถียงกลับไปเต็มที่กับคนที่มาต่อว่า จนกระทั่งคนที่ติดตามเราพลอยไปรุมเถียงกลับด้วย สุดท้ายมารู้สึกว่าไม่น่าทำเลย ตัวเองโดนว่าคนเดียวแท้ ๆ แต่กลายเป็นนำพาสิ่งไม่ดีไปให้คนอื่นต้องเดือดร้อนตาม เมื่อคิดได้ ระยะหลังนี้จะเพียงแค่อ่านผ่านไป หรือบางครั้งจะเป็นแค่การโต้แย้งที่พอจะอธิบายได้ แต่ไม่พาคนอื่นไปเดือดร้อนด้วย ให้จบอยู่ที่เรา ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ทุกวันนี้ทุกอย่างเร็วมาก โทรศัพท์เป็นเหมือนอาวุธในมือ ต่อว่าใครที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราใช้อาวุธในมือให้ดีก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิด ก็จะไปทำร้ายผู้อื่น
  • อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ และมีสมาธิ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าคุณนับถือศาสนาใด หรือจะไม่มีศาสนา แต่ว่าคำว่า ‘สติ’ ต้องอยู่กับเราเสมอ กิน พูด คิด ทำ ฟัง ถ้ามีสติทั้งหมด โลกจะน่าอยู่ขึ้น จะไม่มีการด่ากันใน Social
  • พื้นที่ใดหรืออะไรก็ตามทำให้เราเจ็บปวด ‘ช่างแม่ง’ ครับ คำนี้ใช้ได้กับทุกบริบท เมื่อช่างแม่งแล้ว ให้รู้ ระลึกตัวเสมอว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ทำให้ใครเดือนร้อน ใครคิดยังไงกับเรา ไม่รักเรา – ช่างแม่ง
  • (คำของท่านพุทธทาสที่คล้ายกัน คือ อตัมมยตา แปลว่า สลัดคืน ไม่ยุ่งด้วยแล้ว พระราชธรรมนิเทศ-พระพยอม บอกว่าอย่างนั้นแล้วคไม่จำ ท่านพุทธทาสจึงแปลให้อีกครั้งว่า ‘กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย’)

ฟังเพลงอัลบั้ม KAEN (แก่น)