สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ
รายการ เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๘ Today Show x สวนโมกข์
กับแขกรับเชิญ คุณไตรภพ ลิมปพัทธ์
ชวนคุยกันว่าด้วยเรื่องชีวิตผมจะไม่มีมีวันนี้เลย ถ้าไม่มีท่านพุทธทาส
วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา : ๑๘.๐๐ - ๑๙.๐๐ น.
Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และนายเวลา
รับฟังทั้งหมดได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=fy3BYqqld-4
https://soundcloud.com/suan-mokkh/kyapqvrzppdi?
https://open.spotify.com/episode/0rUqK5TeEbzIOJnPsjVIsu?si=7c31f21b309546f6
เริ่มศึกษางานอาจารย์พุทธทาสตั้งแต่เด็ก
- วันหนึ่งช่วงปิดเทอมไปหยิบเจอหนังสือเรื่อง “ตามรอยพระอรหันต์” เป็นหนังสือที่ใหญ่โตมากสำหรับเด็ก ๘ - ๑๐ ขวบ พออ่านจบแล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะอายุน้อยเกินไป จึงอ่านใหม่ครั้งที่สอง โดยมีพจนานุกรมด้วย ก็เริ่มรู้เรื่องขึ้น แล้วอ่านครั้งที่สาม ได้อย่างเดียวว่า ใครกันหนอที่ชื่อท่านพุทธทาส ท่านเคารพพระพุทธเจ้าชนิดที่ผมเกิดมาในชีวิตไม่เคยได้ยินใครเคารพใครแบบนั้นมาก่อนเลย ผมอ่านแล้วผมเห็นสิ่งนั้น
- เมื่ออายุ ๑๕ - ๑๖ มีโอกาสได้ไปสวนโมกข์ ได้ไปเจอท่านอาจารย์ รู้สึกเคารพนับถือ ติดตามอ่านงานของท่านแล้วเห็นความเป็นจริง เห็นวิถีแห่งพุทธธรรม อ่านเล่มนั้นแล้วชีวิตผมเปลี่ยน ผมจะไม่มีวันนี้เลย ถ้าไม่มีท่านอาจารย์พุทธทาส และรู้สึกอย่างนั้นกับท่านมาตลอด
จุดเปลี่ยนของชีวิต
- เราใกล้อะไรก็จะเป็นอย่างนั้นมากกว่าอย่างอื่น มีสิ่งที่ท่านอาจารย์พูดว่า ไม่มีทุกข์ ไม่ต้องมาทางนี้ ถ้าไม่มีทุกข์ ไม่ต้องมาฟัง ฟังไปเรื่อยๆ เข้าใจความจริงว่า ถ้าอยากหมดทุกข์เลย มาตรงนี้ ก็เลยเข้าใจว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สำคัญแค่ไหน ค่อยๆ ไล่ไป จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนในชีวิต ผมสอบเอนทรานซ์ไม่ติด เดินไปหาแม่และบอกว่าสอบไม่ติด แม่บอกว่า “ไม่ติดก็ไม่เป็นไรลูก” เข้าใจคำว่ารักครั้งแรกจริงๆ คือตรงนี้
- ผมใส่สร้อยพระอยู่สมัยนั้น ผมถอดสร้อยพระและขว้างทิ้งเลย และพูดในใจว่า ขอแค่นี้ ขอไม่ได้ ในวินาทีนั้นมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในใจ เป็นคำพูดว่า ให้ผม แล้วคนติด ๑๐๐ คน เอาใครออกดี คนที่เขามีความสามารถ สมควรได้จริงๆ รับได้ ๑๐๐ คน ถ้าเอาผมเข้าไปอยู่ตรงนั้น แล้วคนที่ต้องไป เขาเป็นใคร มันถูกต้องแล้วหรือ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตผม
- วันหนึ่งพอมาศึกษา มาเรียนมากขึ้น ในเรื่องของอิทัปปัจจยตา เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกอณูในชีวิต ถ้าจะทำอะไรก็ตาม คิดถึงอิทัปปัจจยตาก่อนเป็นหลักของชีวิต และพยายามใช้อิทัปปัจจยตาก่อนไปถึงปฏิจจสมุปบาท
ผสมผสานการใช้ภาษากับธรรมะในการสื่อสารอย่างไร
- เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่เราศึกษาไปมากๆ จนกลายเป็นผู้รู้ จะรู้สึกว่าเรารู้ เราเก่ง ยอดเยี่ยม มหัศจรรย์ ในความรู้สึก จนกระทั่งวันหนึ่งมาถึงจุดที่มาพบว่า เราไม่รู้อะไรเลย รู้น้อยมาก หรือสิ่งที่เรารู้ไปไม่ถึงไหน มันเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งเลย ทำให้เรากลายเป็นคนนิ่ง เงียบ ไตร่ตรอง กลายเป็นคนที่คิดสองชั้น ไปเห็นว่าอะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนี้
- มาถึงจุดนี้ได้เพราะผมศึกษาปริยัติเยอะๆ ปฏิบัติพอสมควร ปฏิเวธได้บ้าง ตามส่วนของการปฏิบัติ ทำไปเรื่อยๆ มันไม่ได้เพิ่มแต่ความรู้ มันเพิ่มความมั่นใจ จนกระทั่งผมรู้ว่ามันไม่ใช่ความมั่นใจ มันเพิ่มตัวตน และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เปลี่ยนเป็นอีกคนก็คือการยอมรับ เพราะคนที่ศึกษาศาสนาพุทธทุกๆ คน สิ่งสำคัญที่สุด คือการรักตัวเองก่อน ต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองเป็นอย่างไร ถ้าอยากศึกษาศาสนาพุทธให้ถึงแก่นจริงๆ ข้อแรกตัวเองก่อน ผมมานั่งหาตัวเอง ว่าผมเป็นอย่างไร แล้วผมพบว่า ผมเป็นปุถุชนธรรมดา ซึ่งมีธุลีในดวงตา แล้วเอาสิ่งที่นึกว่ารู้ นึกว่าใช่ มาทับถมใส่เพื่อบังสิ่งเหล่านั้นไว้ พอเจอการยอมรับตัวเองว่าเป็นอะไรบ้าง แล้วแก้ตรงนั้น สำคัญมาก ตั้งแต่นั้นมาเส้นทางในการดำเนินมันง่ายขึ้นเยอะ การปฏิบัติก็ง่ายขึ้นแบบมหาศาลมากๆ การที่อยู่ในสังคม กับตัวเองก็ง่ายขึ้นมากๆ
- บอกทุกคนว่า การยอมรับตัวเองก่อนมันถึงจะอบรมตนได้ ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร จะอบรมได้อย่างไร
- ศีลห้านี้มีมาก่อนพุทธกาล แล้วศีลห้านี่ทำให้ไปถึงไหน ถ้าจะอยู่แล้วยึดศีลห้าไว้ มันไม่ใช่
- ที่ท่านบอกว่าปัญหาทุกชนิดมันมาจากความเห็นแก่ตัว จริงหรือเปล่า คำว่าเห็นแก่ตัวตรงนี้ไม่ได้หมายถึงการไปได้ทรัพย์สินของใครมา เห็นแก่ตัวของผมคือ เห็นแก่ตัวตนข้างใน เห็นแก่ความคิด ความยึดมั่นถือมั่น ต้องสละความเห็นแก่ตัวตรงนี้ไปให้ได้
มีภูเขาอยู่กี่ลูก ที่เราติดกันอยู่ และก้าวข้ามไม่ได้ในทัศนะของคุณไตรภพ
- เมื่อก่อนเป็นคนที่พูดว่า ทำอะไรก็ตามต้องไปเพื่อความสำเร็จ เมื่อผมวิ่งตลอดทางเพื่อไปถึงเส้นชัย วิ่งชนิดหัวชนฝา ผมทำแบบนั้นมาตลอด เพราะฉะนั้นจึงได้รับสิ่งที่ต้องการเพราะความพากเพียรพยายามที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายให้ได้ ตลอดทางที่วิ่งไม่เคยดูข้างทางเลย ผมเห็นแก่ตัวขนาดที่เรียกว่า ผมรู้แต่ว่าผมต้องการความสำเร็จของผม ผมไม่เห็นหน้าคนอื่น ไม่เห็นลูก ไม่เห็นเมีย ครอบครัว อะไรทั้งสิ้น ผมตั้งหน้าตั้งตาวิ่ง ผมใช้ชีวิตเพื่ออนาคต นี่ภูเขาลูกต่อไปเลยนะ สำหรับคนทุกๆ คน สำหรับผมภูเขาลูกสำคัญนี้คือการใช้ชีวิตเพื่ออนาคต ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อปัจจุบัน ผมทำอย่างนั้นมาตลอด มันใช้ชีวิตไม่ถูก วางจิตไม่ถูก
- คำว่าใช้ชีวิตในปัจจุบัน กับคำว่ามานะบากบั่นพยายาม มันเกี่ยวกันไหม เคยนั่งสมาธิแล้วถามตัวเองว่าเมื่อไหร่ถึงจะจบยอดที่ต้องเดิน หรือจะจบมันที่นี่ เดี๋ยวนี้ นี่คือคำถามของผมว่าที่ทำไปต่างๆ นาๆ เพราะความต้องจะได้ หรือความต้องการจะละ มันต่างกันตรงนี้ ความต้องการที่จะได้เป็นการดำรงชีวิตที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก
- ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สำคัญแค่ไหน คนที่ทุกวันนี้บอกให้ไปนั่งสมาธิกันเพื่อให้จิตสงบ อันนี้ไม่ใช่เส้นทางของศาสนาพุทธสำหรับผม ถ้าผมไปนั่งสมาธิเพื่อให้จิตแข็งแรงขึ้น เพื่อเอามาวิปัสสนาให้ได้ ในธรรมที่ต้องทำ อย่างที่ท่านพุทธทาสพูดไว้ดีที่สุดสำหรับผม คือ ๙ ตา ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง ถ้าไม่พิจารณาในตัวนั้น มันไม่ได้มีประโยชน์อะไร ถ้าคนที่มีปริยัติไม่แน่นพอ แล้วคุณจะไปทางไหน นั่งสมาธิมีความสุขแล้วก็นอน พรุ่งนี้ก็มีทุกข์ใหม่ อย่างนี้ไม่ใช่สำหรับผม ก็เลยปริยัติให้แน่นขึ้น มาดู ๙ ตา ว่าอนิจจตานี่จริงไหม
- ก่อนที่จะมานับถือพระพุทธเจ้าแบบหมดจิตหมดใจ พระพุทธองค์บอกว่า อะไรที่เป็นกุศลกรรม ให้ปฏิบัติ อะไรที่เป็นอกุศลกรรมก็ไม่ต้องทำ เพราะฉะนั้นถ้าอาจารย์สอนมาแล้วเป็นกุศลกรรม ก็ทำ
- มานั่งดูอนิจจตา ทุกขตา อนัตตา เป็นอย่างไร ธัมมัฎฐิตตา ผมชอบมาก มีความรู้สึกว่าไม่ใช่แค่โลกเล็กๆ ที่ผมรู้จัก มันเป็นไม่รู้กี่จักรวาลมารวมกันที่ธัมมัฎฐิตตา แล้วมาตรงธัมมนิยามตา ที่ตอกย้ำให้รู้ว่ามันขนาดนั้นเลยหรือ พอมันขนาดนั้นเสร็จ ทั้งหมดที่มันกำลังฟุ้งซ่านอยู่ มันจบด้วยอิทัปปัจจยตา แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้ อิทัปปัจจยตามันเป็นประโยชน์อย่างไร ทำอิทัปปัจจยตา ทำอะไรก็ได้ให้เป็นเหตุปัจจัยให้เข้ามาถึงสุญญตาสิ ถ้ามันมาถึงสุญญตาเสร็จเรียบร้อย ถ้าเราถึงเอง เราจะรู้ว่าตถาตาคืออะไร แล้วถ้าเรื่องนั้นๆ เรารู้แล้ว พูดว่าตถาตาได้แล้ว อตัมยตาสำหรับเราก็ง่ายแล้ว ผมไล่แบบนี้มาตลอด ใครก็ตามที่สนใจด้านนี้จริง อยากให้ไปฟังเทปเสียงท่านพุทธทาส
อตัมมยตาใช้ภาษาไทยง่ายๆ ว่าอย่างไร
- ท่านอาจารย์บอกว่า “มึงทำอะไรกูไม่ได้อยู่แล้ว” ผมชอบคำๆ หนึ่งที่ท่านพูดว่า สิ่งนี้ สิ่งนี้ ไม่สามารถสร้างปัจจัยใดๆ ให้อะไรกับผมอีกแล้ว ไม่ว่าสิ่งไหนก็ตาม ไม่ทำให้สะดุ้งสะเทือนอีกแล้ว สำหรับผมแปลอตัมมยตาว่าอย่างนี้
- ถ้าท่านนั่งสมาธิ ท่านดูจิตอย่างเดียว ไม่ต้องดูอะไร แล้วท่านจะเห็นความสะดุ้งสะเทือนของจิตด้วยวิธีง่ายมาก คือนั่งสมาธิ แล้วเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ก็ได้ สมมุติว่าทิ่ไม่เป็นอารมณ์ แล้วสังเกตเห็นจิตสะดุ้งสะเทือนแค่ไหน แล้วเอางูมาเป็นอารมณ์ แล้วเอาความฉิบหายมาเป็นอารมณ์ ความตายมาเป็นอารมณ์ ท่านจะเห็นความสะดุ้งสะเทือนของจิต เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่จิตไปเกาะมันสร้างความสะเทือนขนาดไหน นี่แหละอตัมมยตาสำหรับผม
- ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต แล้วท่านไม่สะดุ้งสะเทือน เขาถึงได้บอกว่า เมื่อท่านสามารถที่จะไปถึงนิโรธสมาบัติอะไรแล้วก็ตาม แล้วรู้ได้ด้วยตนเองว่าบรรลุแล้ว ไม่มีใครมาบอกได้เลย และใครที่มาบอกว่าตนเองบรรลุแล้ว ถ้าไม่มีอตัมมยตาจะไม่มีทางรู้ ความไม่สะดุ้งสะเทือนแห่งจิต ความนิ่งแห่งจิต อันนี้แหละสำคัญ
- ตอนที่ยังไม่รู้เรื่องนัก รู้จักกิเลส ตัณหา อยู่ ๓ ตัว คือ โลภ โกรธ หลง เวลาเดินไปไหนจะมีสติรู้ว่า มีสัตว์อยู่ ๓ ตัว อยู่ข้างๆ ตัวตลอด น่ากลัวเหมือนกับสิงห์ เสือ แต่ไม่ใช่สิงห์ธรรมดา เป็นสิงห์ที่มีปีก น่ากลัวมาก ถ้าผมพลาดไปทางโลภ มันโดดกัดทันที พลาดไปทางโกรธ พลาดไปทางหลง มันจะเข้าหาตัวทันที ผมอุปมาอุปมัยตลอดเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งมาฟังธรรมะท่านอาจารย์ ท่านพูดถึงอตัมมยตา ผมจึงเชื่อว่าธรรมะนี้เป็น universal ธรรมแท้ๆ จริงๆ รู้ได้ด้วยตนเอง
อยากให้แชร์เรื่อง อิทัปปัจจยตา
- อะไรบ้างที่เป็นอนิจจัง หาให้ได้ก่อน อนิจจังนี้เข้ากับกฎธรรมชาติ เข้ากับกฎที่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ทุกสิ่งต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอนิจจัง ถ้ามันอยู่กับที่ได้มันก็ต้องเป็นนิจจัง
- ทุกขังเป็นอย่างไร ความทนอยู่ได้ยาก ความแตกสลาย ความน่ารังเกียจ หาไปเรื่อยๆ แล้วก็เห็น
- อะไรก็ตามที่เป็นอนัตตา นั่นไม่ใช่ของเรา ก็มานั่งคิดว่า ถ้าไม่ใช่จะมานั่งสนใจทำไม พอมาถึงตรงนี้มันเกิดความมหัศจรรย์ขึ้นมาว่า ต่อให้คิดให้ตายว่าเป็นของผม มันก็ไม่ใช่ของผม ผมเดินผิดตรงที่ ผมฝืนกฎธรรมชาติ นี่มันเป็นธัมมัฎฐิตตา เป็นธัมมนิยามตา พอมาถึงสภาวธรรมตรงนี้ได้จิตจะพัฒนาง่ายมาก
- อิทัปปัจจยตา สำหรับผมมีประโยชน์มาก ทำอย่างไรให้ไม่มีผัสสะทางตา ผัสสะให้เป็นว่า มันสักว่าผัสสะ มันไม่ใช่ผัสสะของเรา เราถูกสอนผิดประเด็น ว่านั่นเป็นของเรา นี่เป็นของเรา โน่นของเรา เราก็ต้องไปทางนี้อยู่แล้ว กว่าจะมาแก้ได้มันยาก แต่มันสอนเราว่าผัสสะมันเป็นอย่างนี้เอง
- ได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจทำอย่างไร ก็ฟังให้มันถูกต้อง ถ้าฟังถูกต้องมันก็แค่เสียง ถ้าฟังให้ถูกต้องก็จะมีผู้ฟัง เป็นวิปัสสนาทั้งนั้น
- พอเวลาทุกข์ไม่คิดถึงทุกข์ คือละทุกข์ แต่เราถูกสอนมาว่าถ้ามีปัญหาต้องจมอยู่กับมัน ไม่ให้แก้ เราพายเรืออยู่ในอ่าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นนาๆ ปัญหาที่เกิดกับชีวิตเราจริงๆ แต่เราไม่รู้
ธรรมะอันไหนที่ต่อล้อต่อเถียงแล้วรู้สึกว่าสนุก
- อนัตตายากที่สุดสำหรับผม เป็นสภาวะซึ่งฟังแล้วรู้ว่าข้างหนึ่งอัตตา ข้างหนึ่งอนัตตา แต่สภาวะที่เป็นอยู่ตรงนี้คือ นาม - รูป ที่คิด ที่พูดอยู่เป็นอย่างไร อนัตตาสำหรับผมจึงยากมาก ถ้าไม่มีตา - ไม่เห็น ไม่มีหู - ไม่ได้ยิน ต้องมาแตกย่อยว่า จริงๆ เป็นเรื่องอาศัยกันเกิด อะไรก็ตามมันเกิดเองไม่ได้ อาศัยกันเกิด เมื่อมันอาศัยกันเกิด ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย มันก็ไม่มี เพราะฉะนั้นตัวผม จิตวิญญาณอันนี้มันก็ต้องอาศัยกันเกิด ไม่ได้เกิดเอง ทุกอย่างอาศัยเหตุปัจจัยหมด ผมเชื่อเช่นนั้น ผมไม่เชื่อว่ามีจิตอมตะ ผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด และเชื่อว่าเมื่อพระอรหันต์ท่านดับไป จิตท่านดับ ผมเชื่ออย่างนั้น ยากที่สุดของผม คืออนัตตา
ข้อแนะนำว่าทำอย่างไรให้คนได้สัมผัส หรือได้ใช้งานของพระพุทธเจ้า
- ในยุคสังคมปัจจุบันยากยิ่งกว่ายากแสนยาก คนเห็นทุกข์ก็บอกไม่ทุกข์ เพราะชีวิตมีทุกข์บ้างสุขบ้างเป็นธรรมดา ทุกข์ก็ทนได้ สุขก็ทนไหว ยากมากที่จะทำให้คนเข้าไปถึงจุดที่เข้าใจว่า ทุกอย่างมันเป็นทุกข์
- ไม่ใช่แค่ว่าเขาจะต้องทำอย่างไร เขาจะต้องถูกสอนอะไร และเข้าใจอะไรบ้าง พอเขาไม่เอา ยากมาก สัมมาทั้งหลายเขาไม่รู้จัก มรรคมีองค์ ๘ เขาไม่สนใจ ยากสุดๆ
- ถ้าถามว่าจะทำอย่างไร มนุษย์ถ้าอยากฉลาดจริงๆ อยากจะมีชีวิตที่ดี เอา ๙ ตา มาคุยกัน เป็นทางรอดที่ดีที่สุดของความเป็นคน เพราะจะมีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอวิชชาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ถ้าเขาไม่รู้จักพวกนี้ เขาไม่มีทางเลย หลักสำคัญจริงๆ ต้องทำให้เขาเห็นก่อน
- ไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ แตกต่างกัน ๙๘% กับ ๒% ในการที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง การที่ชีวิตจะมีพัฒนาการในชีวิตไปได้อย่างถูกต้อง ถ้าเขาไม่รู้จักหลักก่อนคิดว่ายากจริงๆ
พอจะมี Trick อะไรไหม ที่จะให้คนได้มาศึกษาบ้าง
- จิตที่ตั้งมั่น จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่มีกัมมนีโยได้ จิตที่มีสมาหิโตได้ คนที่จะไปถึง ๓ อันนี้ได้ ต้องมีจิตที่ยิ่งใหญ่ จิตมันเท่ากันทุกดวง ถ้าจิตประภัสสรมาตั้งแต่แรกจริง ทำไมไม่ทำจิตให้ยิ่งใหญ่ ทำไม่ไม่รู้จักปฏิบัติตัวเองให้ทำจิตให้ยิ่งใหญ่ การทำจิตให้ยิ่งใหญ่ วิธีแรก เชื่อมั่นในตัวเอง คนที่เชื่อมั่นในตนเองได้จะยิ่งใหญ่มาก พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าจะเชื่อหรือพึ่งอะไรสักอย่าง ให้พึ่งตน ตนต้องเป็นตนที่พึ่งได้ ถ้าท่านทำตนได้แล้วท่านก็พึ่งธรรม ท่านก็สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่จิตตนเองได้ มันสำเร็จทุกอย่าง จิตที่ยิ่งใหญ่ นำความยิ่งใหญ่มาให้ เราไม่ได้ด้อยกว่าใคร ต้องคิดอย่างนั้น
- ลองนั่งสมาธิจาก ๕ นาที เป็น ๑๐ นาที เป็นชั่วโมง เดี๋ยวเห็นตัวเองได้เอง ปวดขาจะตายอยู่แล้ว เลือดไม่เดิน เป็นอัมพาต นั่งมาพอสมควรแล้ว ถามว่าคำพูดพวกนี้เพราะจิตสงบ หรือไม่สงบ เห็นเอง สันทิฏฐิโก เห็นได้ด้วยตนเอง รู้จักตัวเองก่อน ต้องมีมานะอดทนก่อน ถึงจะเห็น แล้วตัวคุณเองจะยิ่งใหญ่ขึ้น เพราะชนะตัวเอง
การดูเรื่องอิทัปปัจจยตา เหตุปัจจัย ควรดู – จัดการอย่างไร
- ในศาสนาพุทธสิ่งสำคัญจริงๆ คือมีไว้เพื่อให้รู้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา และเราจะปฏิบัติกับมันอย่างไร อิทัปปัจจยตาเป็นตัวหนึ่งในศาสนาพุทธ เป็นสันทิฏฐิโกแน่นอน เมื่อเหตุปัจจัยอย่างนี้เกิดขึ้นมา คุณปฏิบัติอย่างไร หรือเป็นอย่างไร คุณเห็นเอง ใช้ประโยชน์ได้แน่นอนว่า เพราะอาศัยสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นของสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาอะไรมันเกิดขึ้นมาแบบนี้ จะเห็นว่าจริงๆ ต้องมีเหตุปัจจัย ที่ทำให้ตรงนี้เกิด ให้ดูว่าอะไรเป็นเหตุ ให้อะไรเกิดขึ้นมา และผลที่เกิดมาแล้ว กลายไปเป็นเหตุอีกหรือเปล่า ถ้ามันไปเป็นเหตุใหม่ มันก็จะสร้างผลใหม่ ทำให้โกรธ ให้อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราเห็นตรงนี้ ผมว่ามันมหัศจรรย์แล้ว
- จริงๆ แล้วอิทัปปัจจยตา ในทางดับก็เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะว่าสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ มันดับตรงเหตุ ผลมันก็ดับ เห็นตรงนั้น ว่ามันไปสร้างเป็นเหตุใหม่หรือเปล่า
เอาอิทัปปัจจยตามาใช้อย่างไรให้จับต้องได้
- ปัญหาในการทำงาน หรือปัญหาในครอบครัว ถ้าคุณเป็นคนที่พึ่งตนได้ ไม่มีอะไรทำคุณสั่นคลอนได้ สิ่งที่สอนลูก ผมสอนว่าชีวิตมนุษย์สำคัญอยู่ ๓ ขั้นตอน ตอนเกิดขึ้นมาเราไม่สามารถพึ่งตัวเราเองได้ เด็กที่เกิดมาอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเรา พอพ้นวัยทารกมาแล้วเราอาศัยการหาวิชาความรู้ใส่ตัวในวัยเรียน วัยนี้สำคัญมาก ถ้าไม่หาวิชาความรู้ใส่ตัว คุณกำลังทำลายชีวิตของคุณ หลังจากจบเวลาแห่งการเรียนรู้ คุณก็ต้องอาศัยการทำงาน การทำงานอาศัยความตั้งใจ ตั้งมั่น อดทน ทำอย่างเต็มที่ พอจนสุดท้าย หมดเวลาทำงาน ตอนเกษียณ แก่แล้ว คุณอาศัยอะไร คุณอาศัยอดีต ขึ้นอยู่กับว่าทั้งหมดคุณทำมาดีแค่ไหน ทั้งหมดของชีวิตมีแค่นี้ ทำได้ถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า การจะทำอย่างนี้ได้ ถ้าคุณฟังตรงนี้ แล้วคุณเด็กกว่าผมตอนนั้น คุณก็ได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะตอนที่ผมเด็ก ผมไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย
- ถ้าใครฟัง แล้วรู้ว่าจริงๆ แล้วตอนนี้เป็นวัยเรียน ต้องเรียน ถ้าไม่เรียน ไม่ต้องไปถามหาอนาคต พอตอนทำงาน ถ้าไม่ทุ่มกาย ทุ่มใจ ทุ่มเทจริงๆ อย่าฝันว่าจะได้ดี และพอเลยเวลานั้นไปแล้ว ทั้งหมดอาศัยอดีต อดีตมีค่าตอนนี้
เคยมีความคิดว่าอยากทำรายการธรรมะบ้างไหม
- คิดตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ ยากมาก เรื่องที่ผมรู้ต่างๆ บางทีก็ลึกซึ้งเกินไป ไม่ได้ประโยชน์กับคนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่รายการธรรมะตอนนี้ เป็นการให้ประโยชน์ของการดำเนินชีวิตให้พ้นทุกข์ และมีความสุข แต่ไม่ใช่หลีกทุกข์ออกไปเลย คิดว่าไม่ง่าย อย่างท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรก็ตาม ท่านอยู่ในแวดวงมานานมาก นานแสนนานจนเห็นว่าโน่นนี่ เป็นอย่างนี้ ผมนี่เวลาเห็น ดันไปเห็นตัวเอง และมีความรู้สึกว่า เป็นอย่างนี้ มิตินี้เป็นอย่างนี้ บางทีเวลาจะพูดอะไรออกไปคิดไม่รู้กี่ตลบ ก็เลยไม่ค่อยกล้า
- ยาวิเศษ ค้นหาตัวเองให้เจอ และยอมรับว่าตัวเองเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ยอมรับตัวเราเอง ไปไหนไม่ได้ ไปยากมาก
- อยากให้ทุกท่านได้ศึกษางานอาจารย์พุทธทาส ไปเปิดเทปเสียงฟัง ถ้าคุณไปฟังจะเห็นประโยชน์ยิ่งกว่านี้อีก จะกระจ่างแจ้งขึ้นมาก จะเห็นปฏิจจสมุปบาท จะเห็นว่าตัวตนเกิดหลังความอยาก ความอยากเกิดก่อน แล้วตัวตนถึงจะตามมา จะค่อยๆ เห็น แล้วคุณไปตัดตอนมันได้ตรงไหน ตรงนั้นแหละคือความสำเร็จก้าวแรกในหนึ่งล้านก้าวของคุณ ที่จะต้องเดินไปสู่เส้นทางนี้ แต่เดินไปเถอะครับ มันเป็นเรื่องแปลกมากที่คุณเดินในเส้นทางนี้ เดินจนตายก็ไม่เสียชาติเกิด จะต้องเดินกี่ก้าวก็ไม่เสียชาติเกิด เพราะคุณเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง แล้วไม่ต้องกลัว ว่าได้อะไร ได้มาก ได้น้อย ไม่ได้อะไรเลย ก็ไม่ต้องกลัว เพราะคุณกำลังเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง ขอบคุณครับ
สนใจหนังสือ คลิก
- ชุดธรรมะใกล้มือ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา
- อนัตตา ไม่ใช่ไม่มีอะไร มีอะไร แต่ไม่ใช่ตัวตน
- ธรรมโฆษณ์ ชุดสุญญตาปริทรรศน์
- ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส เล่มที่ ๔ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
- ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส เล่มที่ ๑๒ อิทัปปัจจยตา