สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ
รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๗ KAFED(HAM) กาแฟธรรม
บทสนทนาเพื่อการตื่น(รู้) กับ คุณสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนผู้มากประสบการณ์
วันอังคารที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔
เวลา : ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.
Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และ นายเวลา
แขกรับเชิญ: สุทธิชัย หยุ่น
รับฟังทั้งหมดได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=_HPy1GY9s2w
https://soundcloud.com/suan-mokkh/kafedham
https://open.spotify.com/episode/5Rmw4CKbbNQDr5ynXiPUcZ?si=525d83f3f1f5440c
ท่านพุทธทาสกับความทันสมัย
- ดีใจมากที่เอาสวนโมกข์มาอยู่ที่กรุงเทพ ทำให้มีที่สำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยนสิ่งที่ท่านพุทธทาสทำไว้ เขียนไว้ ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ยิ่งมาถึงยุค Digital Disruption ยุคที่มีความขัดแย้งทางความคิดมากขึ้น ยิ่งเห็นว่าคำสอนของท่านพุทธทาสนั้นทันสมัยอย่างเหลือเชื่อ คำถามที่ถูกตั้งขึ้นในวันนี้ เป็นคำถามที่เคยเป็นประเด็น เคยถูกยกขึ้นมาในสมัยนั้น
- ในสมัยท่านพุทธทาส เทคโนโลยีก็เริ่มมีแล้ว ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ คำถามใหญ่ในครั้งนั้นคือ แล้วหนังสือจะอยู่รอดไหม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้มากมายจะหลุดรอดจากการความปั่นป่วนที่มาจากสิ่งใหม่ ๆ ที่มาจากเทคโนโลยี ท่านพุทธทาสบอกว่า นั่นเป็น ‘ความจริง’ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน มันก็จะต้องอยู่รอดแน่นอน เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือของเรา ไม่ใช่เจ้านาย
- ถ้าท่านพุทธทาสยังอยู่ ท่านจะเป็นคนแรก ๆ ที่มาเข้า ‘Clubhouse’ เพราะท่านใช้วิทยุและการอัดเทป ซึ่งตอนนี้คือ ‘Podcast’ สิ่งที่ท่านทำตอนนั้นคือทันสมัยจริง ๆ การสื่อสารคือหัวใจ ซึ่งท่านทำต่อเนื่อง ท่านบอกว่า อะไรก็ตามแต่ที่เราสื่อสาร เนื้อหานั้นสำคัญพอกันกับความต่อเนื่อง ความถี่ สิ่งที่ท่านทำจะเป็นวันใด เวลาใด มีความตรงเวลา ‘เป๊ะ ๆ’ ทั้ง On-site ที่สวนโมกข์ และที่จุดสัมมนาต่าง ๆ ที่น่าทึ่งคือ ท่านถอดเทปออกมาเป็นตัวหนังสือทุกครั้งที่บรรยายให้สาธารณชนได้ฟัง ได้อ่านกัน
ขอสัมภาษณ์ท่านพุทธทาส
- รู้จักท่านพุทธทาสครั้งแรก ในฐานะนักข่าว ไปขอสัมภาษณ์ท่าน ท่านบอก “อย่ามาสัมภาษณ์เลย มาสนทนาธรรมกันดีกว่า สิ่งที่จะพูดไม่เป็นข่าวหรอก แต่เธออาจจะสนใจที่จะฟังว่าเรื่องศาสนาพุทธเป็นอย่างไร” แม้จะฟัง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะไม่ถามคำถามที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น ทั้งเรื่องการเมือง สังคม ปัญหาความยากจน วัฒนธรรมจากต่างชาติ สงครามเวียดนาม สงครามเย็น ฮิปปี้ ฯลฯ (ราวปีค.ศ. ๑๙๖๐) เรื่องของคนที่ไม่ต้องการยึดถือมาตรฐานเดิม ต้องการขบถ ซึ่งก็ไม่ต่างจากปัจจุบันนี้เท่าไหร่ ระบบที่มีอยู่ กำหนดโดยใคร ทำไมต้องกำหนดอย่างนี้
- ท่านพุทธทาสติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดมาก ได้พูดคุยเรื่องสงคราม ฮิปปี้ กัญชา เยาวชน วัฒนธรรมการไม่ทำตามกรอบสังคมเดิม ธรรมะช่วยให้เราเห็นกระจ่าง ดูว่าสาเหตุมาจากอะไร เกิดอย่างไร และหาทางแก้ การจะดูว่าอะไร (ธรรมะ) ทันสมัย หรือไม่ทันสมัย ต้องดูว่าสามารถตอบคำถาม ณ ปัจจุบันได้ด้วย
- ทำให้เกิดความทึ่ง เพราะปกติเวลาไปวัด คือการออกจากโลกอันวุ่นวายไปหาความสงบ ไปสวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญ ออกจากโลกปัจจุบันไปอีกโลกหนึ่ง เมื่อออกจากวัดก็กลับมายุ่งอีก แต่เมื่อได้สนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส โลกที่เราเจอข้างนอกแต่ละวันกับธรรมะคือเรื่องเดียวกัน เป็นการตอบคำถาม การสนทนาเรื่องค่านิยม วิธีคิด การที่จะกล้าคิดอะไรใหม่ คิดนอกกรอบได้
- ทำให้คิดว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยในสมัยนั้นที่ได้ไปสวนโมกข์จะได้สิ่งนี้เช่นกัน เพราะหลังจากที่สนทนาธรรมกับท่านแล้ว ก็มาตั้งกลุ่มคุยกันต่อ รู้สึกสนุก ท่านพุทธทาสคุยกับเรา ได้โต้ ได้แย้งกับท่าน แต่เราก็เถียงไม่ออก จนทำให้ต้องวนเวียนกลับไปพบท่านบ่อย ๆ ท่านสอนให้เรารู้จักคิด รู้วิธีคิด แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีคำตอบให้ทุกเรื่อง
- ในที่สุดได้สัมภาษณ์ท่าน ท่านสนุกที่ได้ท้าทายเด็กหนุ่มอย่างเรา ดูว่าเราสนใจจริงหรือเปล่า หรือแค่อยากจะได้ข่าวกลับไป ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสคุยกับท่านแบบลึกขึ้น คุยยาว ๆ ได้สนทนา อ่านหนังสือ ไปนอนที่สวนโมกข์ ตื่นตีสี่ ตีห้าท่านพุทธทาสเริ่มเทศน์ อธิบายเรื่องต่าง ๆ มาพบกันกับญาติธรรม เป็นบรรยากาศที่ได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง
เสียงพิมพ์ดีด คือเสียงแห่งธรรมะ
- (ได้ฟังว่าคุณสุทธิชัยสอนท่านพุทธทาสพิมพ์ดีด) ไม่ถึงกับเป็นการสอน เป็นการแนะนำและให้กำลังใจท่าน คือครั้งหนึ่งตอนคุยกับท่าน ท่านกำลังเขียนหนังสือ เห็นพิมพ์ดีดเก่า ๆ อยู่เครื่องหนึ่ง จึงถามท่านว่าพิมพ์ดีดได้หรือเปล่า ท่านบอกว่าไม่ได้ ยังใช้สองนิ้ว ต๊อก ๆ แต๊ก ๆ อยู่ แล้วท่านก็ถามกลับมาว่าพิมพ์ได้ไหม ตอบท่านว่าพิมพ์ได้ เพราะเรียนพิมพ์สัมผัสมา ท่านถามว่าทำอย่างไร จึงได้โอกาสสาธิตการวางนิ้วพิมพ์สัมผัสให้ท่านดู ท่านก็ลองทำ หลังจากนั้น เมื่อกลับไปทุกครั้งก็ไปดูท่านพิมพ์ ท่านก็ยังพิมพ์ด้วยสองนิ้ว ท่านบอกว่าสองนิ้วเร็วกว่า ใช้สิบนิ้วไม่ได้ สั้น-ยาวไม่เท่ากัน ซึ่งภายหลังได้เห็นว่าต้นฉบับของท่านจะมีพิมพ์ดีดมาเสริมกับลายมือของท่านด้วย
- ท่านสอนตัวเองจริง ๆ ทุกเรื่อง ที่ทึ่งมากคือ ภาษาอังกฤษของท่าน แม้จะมาเรียนที่กรุงเทพบ้าง แต่ท่านเรียนเอง ทั้งที่ภาษาธรรมะนั้นไม่ง่าย สุดยอดคือท่านเรียนทุกอย่างด้วยตัวเอง ด้วยความมานะ อดทน เรียนอย่างลึกและเข้าไปถึงแก่นจริง ๆ พิมพ์ดีดก็เป็นหนึ่งในนั้น บางเช้าเมื่อเดินเข้าไปใกล้ ๆ ที่ที่ท่านอยู่ จะได้ยินเสียงแก๊ก แก๊ก เป็นเสียงที่ได้ยินแล้วดีใจมาก เป็นเสียงแห่งธรรมะ
ธรรมะกับการเมือง
- ในยุคสมัยนั้น พิมพ์ดีดเป็นสิ่งเดียวใช้ในการเขียนหนังสือ สื่อสาร และกระจายออกไปในที่ต่าง ๆ ได้ และท่านพุทธทาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ สิ่งที่จะต้องทำ ซึ่งหลังจากนั้นท่านได้ทำรายการวิทยุ บันทึกเสียง สิ่งที่ทำให้ดีใจมากคือตอนกลับไปหา ท่านบอกว่าฟังสุทธิชัยตอนห้าโมงครึ่งทุกวันทางวิทยุแห่งประเทศไทย “... ฟังอยู่ พูดดี ๆ ก็แล้วกัน ...” ตอนนั้นรายการวิทยุมีน้อยมากที่พูดเรื่องข่าว ตนเองเป็นนักข่าวรุ่นแรก ๆ ที่วิเคราะห์ข่าว เล่าข่าวทางวิทยุทุกวันทางช่อง ๙๒.๕ MHz เวลา ๑๗.๓๐ - ๑๘.๐๐ น.
- ท่านพุทธทาสติดตามฟังข่าวสารแล้วนำมาวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ท่านจะนำเรื่องการเมืองมาประกอบกับการเทศน์ตลอด สิ่งนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นมีความประทับใจ ท่านไม่ได้เทศน์ตามคัมภีร์ หรือตามตำราอย่างพระทั่วไปเทศน์ ท่านเอามาอธิบายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ท่านเขียนถึงหลักการที่ว่า ‘ระบบการเมืองที่ถูกต้องต้องอยู่บนพื้นฐานของธรรมาธิปไตย’
- ท่านมีความโน้มเอียงไปทาง ‘สังคมนิยม’ หน่อย ๆ แต่ไม่ใช่สังคมนิยมในแบบคอมมิวนิสต์ หรือเผด็จการ ท่านสังคมนิยมในแง่ของการไม่ต้องการให้ทุนนิยมมาครอบงำความคิดอ่านของสังคมมากเกินไป ให้เอาธรรมะ ความถูกต้อง ความจริง ความยุติธรรมมาเป็นหลัก ท่านสอนไปก็แทรกความคิดทางการเมืองเข้าไปตลอดเวลา ซึ่งหากคนรุ่นปัจจุบันนี้ได้ไปฟังเทศน์ แล้วคุยเรื่องเดียวกับที่เรากำลังกังวลอยู่ในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง จะรู้ว่าธรรมะเป็นเรื่องเดียวกันกับยุคสมัยนั้น
- ท่านพุทธทาสเขียนหนังสือเกี่ยวกับระบบการเมืองที่ควรจะเป็น ‘ธัมมิกสังคมนิยม’ เป็นหนังสือที่ทันสมัยมากในยุคนั้น แม้ทุกวันนี้ก็ยังเห็นว่าเป็นแนวทาง แนวความคิดที่น่าคิดมากว่าทำอย่างไรในการนำเอาธรรมะเข้ามาเกี่ยวกับการเมือง
- ‘ธัมมิกสังคมนิยม’ หมายถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคมโดยการเอาธรรมะเป็นหลัก ‘ธรรมะ’ คือ การมุ่งทำความดี ความถูกต้อง ความเท่าเทียม ความเมตตา และการมีส่วนร่วม คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Inclusive – การให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน’ ทันทีที่คุณนั่งลงฟังเทศน์ฟังธรรม ทันทีที่คุณคุยเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเท่าเทียมกันทันที
เราทุกคนมีหน้าที่ การทำงานคือธรรมะ
(ทรรศนะ มุมมองเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากที่ได้พบท่านพุทธทาส) มีผลต่อการทำงานของตัวเองอย่างมาก ในฐานะนักข่าว ในการทำข่าวต้องมีการตรวจสอบ มีความแม่นยำ ต้องมีความบริสุทธิ์ในความหมายของการรับใช้สังคมด้วย ซึ่งท่านพุทธทาสเน้นตลอดเวลาว่า “ไม่จำเป็นต้องบวช ไม่จำเป็นต้องมาวัด เราทุกคนมีหน้าที่ การทำงานคือธรรมะ” ด้วยประโยคนี้ทำให้เกิดความกระจ่าง พยายามตีความคำว่า ‘พุทธศาสนิกชน’ ทุกคนไม่จำเป็นต้องมาบวช ท่านพุทธทาสบอกว่าพิธีกรรมทั้งหลายไม่มีความสำคัญ ความสำคัญที่แท้จริงคือความเข้าใจของเรา และการปฏิบัติตนตามนั้น ผ้าเหลืองเป็นเพียงพิธีกรรมส่วนหนึ่ง ทุกอาชีพทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุด คือการปฏิบัติธรรมแล้ว
ในฐานะนักข่าว ถ้าเราทำให้ความจริงปรากฏ ถ้าเราทำให้เกิดความยุติธรรมกับสังคม ถ้าเราทำให้ปัญหาที่ถูกซ่อนอยู่ได้ปรากฏออกมาให้ประชาชนได้ตื่นรู้ มีความกระจ่างในปัญหาต่าง ๆ ได้ฟังความหลาย ๆ ด้าน ก็เหมือนกับเวลาที่เราไปฟังเทศน์ แทนที่เราฟังแล้วจะเชื่อไปตามนั้น แต่ฟังไปเราก็มีคำถามไป แปลว่าอย่างไร จริงหรือไม่ เทียบกับประสบการณ์ชีวิตของเรา เช่นเดียวกับเมื่อทำข่าว ที่จะเกิดการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ได้
Critical Thinking
- เมื่อได้ไปสนทนาแลกเปลี่ยนกับท่านพุทธทาส ท่านจะยั่วยุเราให้คิดโน่นคิดนี่ ทำไมคิดอย่างนี้ คิดอีกมุมจะเป็นอย่างไหน และเมื่อได้ฟังท่านโต้วาที หรือ debate กับผู้รู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องศาสนา สังคม ยิ่งทำให้เห็นว่ามีแง่มุมที่มากกว่าเพียงแค่ใครพูดอะไร อย่างไร เช่นในสมัยหนึ่งครั้งทำข่าว จะมีคำพูดที่ว่า รายงานข่าวแบบ ‘He said, She said’ รายงานว่าเขาพูดอย่างนี้ เธอพูดอย่างนั้น แล้วจบ แต่ในด้านคนฟังอาจถามต่อว่าแล้ว ‘ความจริง’ เป็นอย่างไร มีอะไรที่ลึกไปกว่านั้นไหม นักข่าวได้ไปสืบสวนสอบสวนความจริงได้มากกว่านั้นหรือเปล่า ซึ่งทำให้เราทำงานมีคุณภาพมากขึ้น ฟังคนด้วย ‘Critical Thinking’ เกิดการตั้งคำถามเพื่อจะรายงานรอบด้านครบทุกมิติได้
- ทั้งหมดนี้คือคุณูปการที่สำคัญมากที่ได้ไปสวนโมกข์ ไปทำกิจกรรม ตั้งวงสนทนา และช่วงหลังแม้ว่าท่านพุทธทาสจะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีการตั้งวงสนทนาครั้งสำคัญ ๆ กัน
- อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองก็เคยไปตั้งวงสนทนา ทำรายการที่สวนโมกข์ ซึ่งท่านพุทธทาสได้เข้าร่วมหลายครั้ง ท่านโต้เถียง จับประเด็นอย่างแม่นยำแหลมคมตลอดเวลา ทำให้ทั้งผู้ชมรายการโทรทัศน์ และผู้อ่านการสัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ได้เนื้อหา ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปในทุกวันนี้ น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นนี้ ทำอย่างไรถึงจะทำให้การรายงานเรื่องธรรมะเป็นสิ่งกระตุ้นให้สังคมคิด ให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและปัญหาสังคมที่พบในปัจจุบัน ทุกวันนี้ เนื้อหาของศาสนาไม่ได้สื่อสารด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้
- (แม้ท่านพุทธทาสอยู่ในวัดป่า ไม่ได้ออกจากวัดไปไหน แต่เมื่อใดที่สื่อมวลชนมาทำข่าว มักเป็นข่าวพาดหัวทุกที) … เพราะท่านพูดประเด็นที่สังคมกำลังสนใจ กล้าวิจารณ์สังคม ใช้หลักการศาสนาด้วยภาษาบ้าน ท่านจะบอกว่าสิ่งใดไม่ถูกหลัก สิ่งใดเป็นการตีความผิด ให้เอาเนื้อหา อย่าเอาพิธีกรรมมาพูด ทำให้คนฟังคิดตาม แล้วสื่อก็นำไปพาดหัว ทั้งที่ท่านไม่ได้พยายามที่จะให้เป็นข่าวเสียด้วยซ้ำ “มาคุยได้ มาถามได้ แต่ไม่รับรองว่าจะได้ข่าวกลับไปนะ ...” อยู่ในความสามารถของสื่อในการหาประเด็น
- ช่วงนั้นเป็นช่วงเผด็จการ ปกครองโดยทหาร นักข่าวไม่รู้จะไปถามความเห็นกับใคร เพราะไม่มีใครอยากพูด มีเพียงท่านพุทธทาสที่พูด ซึ่งทหารจะไม่ค่อยกล้ายุ่งกับท่านเท่าไหร่ ท่านพุทธทาสพูดตามหลักคิด ‘Critical Thinking’ โดยไม่อยู่ข้างใคร อาวุธที่สำคัญที่สุดของท่าน คือ ‘สติ และ ปัญญา’ คือสิ่งที่ท่านให้กับสังคมไทย
- รุ่นนี้จะต้องแสวงหาให้ผู้นำศาสนา ผู้นำทางความคิดออกมาช่วยสังคมคิดประเด็นต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้แม้แต่วงการพระสงฆ์ยังมีการแบ่งค่ายกัน
ชวนตั้งวงกาแฟธรรม KAFED(HAM)
- (การสื่อสารธรรมะ ควรปรับอย่างไรให้ทันกับยุคสมัย) … ควรเอาแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาตั้งเป็นประเด็น แล้วถามว่าศาสนามีแนวคิดต่อเรื่องต่าง ๆ นี้อย่างไร ซึ่งตนเชื่อว่ามีคำตอบ หากตีความศาสนาให้ถ่องแท้ตามสาระที่มี จะมีคำตอบต่อทุกประเด็นสังคม
- ในยุคท่านพุทธทาสก็มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งสงคราม ยาเสพติด เยาวชน ความไม่เข้าใจระหว่าง Generation (คนต่างยุค) การไม่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในภาพรวมเป็นปัญหาที่คล้ายกันกับสมัยนี้ และทุกวันนี้มีปัญหาเทคโนโลยีเข้ามาแทรก มีปัญหา ‘EchoChamber – เราอยากจะฟังสิ่งที่เราเห็นด้วยเท่านั้น
- ทุกวันนี้เป็นเรื่อง Social Media ที่แบ่งข้างกัน ใครเชื่อสิ่งใดก็จะเชื่อไปข้างหนึ่ง เรื่องเดียวกันสามารถมองกันไปคนละโลก ถ้าท่านพุทธทาสยังอยู่ เชื่อว่าท่านจะ ‘ฟันเปรี้ยง’ เลยว่าเอาสาระก่อน ประเด็นอยู่ตรงไหน อย่าเพิ่งเชื่อ ถามตัวเองก่อนว่า ‘ประเด็นอยู่ตรงไหน ประเด็นคืออะไร’ ตั้งคำถามให้ถูกก่อน อย่าเพิ่งหาคำตอบ ถ้าคำถามตั้งไม่ถูก คำตอบก็จะไม่ถูก บางครั้งคำถามสำคัญกว่าคำตอบ ท่านสอนวิธีคิดตั้งคำถาม ให้เราเข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้จึงเป็นประเด็น
- เราควรสร้าง ‘Ecosystem’ (ระบบนิเวศน์) สวนโมกข์เป็นแหล่งที่ดีที่จะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา เชื้อเชิญให้ทุกคนมานั่งคุยกันโดยไม่มีฝ่าย โดยไม่มีความเชื่อ มาสวนโมกข์ด้วยใจเปิดกว้าง พร้อมฟังทุกอย่างแล้วสนทนา ตั้งเวที มีคนกลางเป็นพิธีกรที่จะตั้งประเด็นเพื่อสนทนาอย่างมุ่งหาความจริง มุ่งหาทางออก ซึ่งยังไม่มีใครทำแบบนี้ สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวัดก็ไม่ได้ทำสิ่งนี้ สังคมจึงคลอนแคลน คิดว่าสวนโมกข์กรุงเทพจะเป็นศูนย์กลาง เป็นเวทีที่ทุกคนมาด้วยใจเปิดกว้าง สามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้นำไปสู่กิจกรรมเสวนาต่อเนื่อง เป็น Series ที่ไม่ใช่การหาทางออกในครั้งเดียวจบ ต้องทำเป็นกระบวนการมากกว่าการเป็นแค่ Event หลายเรื่องไม่สามารถรู้ดำรู้แดงภายในครั้งเดียว แต่ต้องเป็นสีเทาก่อน ชวนกันมาหาทางออกจากสีเทา บางครั้งอาจไม่ได้เป็นสีขาวหมด หรือดำหมด บางทีสีเทาอาจเป็นสีผสมที่ถูกต้อง สะท้อนความเป็นจริงที่สุด
- อาจไม่ต้องถึงกับประกาศว่า เราจะแก้ปัญหาสังคมด้วยกัน จะเป็นคนหาคำตอบให้ แต่ชวนมาตั้งวง ‘กาแฟธรรม’ โดยมีคนรุ่นใหม่มาเป็นแกนชวนคุย เชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนกำลังอึดอัด จะต้องอยู่ฝั่งไหน ใครจะมองมาอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระ แต่เกี่ยวกับ ‘ท่าที’ ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องของ ‘ท่าที’ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่พาเราออกนอกเส้นทางที่เราจะสนทนากันอย่างลึกซึ้ง
- คิดมาตลอดว่าปัญหาของสังคมไทยทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการระดมความคิด แต่เป็นการ ‘แบ่งข้าง’ เป็นเรื่องของท่าที ไม่ใช่เรื่องของสาระ มองว่าสวนโมกข์ ‘ไม่มีสี บอดสี’ ทุกคนมากินกาแฟที่นี่ แล้วสนทนาเรื่องที่น่าสนใจ อาจไม่ต้องตั้งหัวข้อไว้ก่อนก็ได้ แต่มาดูกันว่าวันนี้อยากคุยเรื่องอะไร กลายเป็น ‘Starbucks ธรรมะ’ เป็นบ้านที่สาม มาเจอคน นัดเพื่อนคุยกัน บรรยากาศเป็นกันเอง บรรยากาศของ ecosystem เป็นกลาง ๆ ไม่ Luxury (หรูหรา) ซึ่งคิดว่าสวนโมกข์พร้อมอยู่แล้วในทุกวันนี้
- การตั้งวงสนทนานี้ เราทำโดยไม่มุ่งว่าจะสำเร็จหรือไม่ เรามุ่งเรื่องกระบวนการ สร้างกระบวนการ แล้วให้มันดำเนินไปด้วยตัวของมันเอง แล้วเมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามา เขาจะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบต่อเอง
- (หากคนที่มาร่วมสนทนาทั้งสองฝ่ายไม่มีความรู้เรื่องธรรมะเลย) ... ต้องมีคนคอยดัก ตั้งหัวข้อเกี่ยวกับศาสนา หรืออาจจะไม่เกี่ยวกับศาสนาเลยก็ได้ อาจคุยในเรื่องที่เป็นที่สนใจอยู่ เพราะสวนโมกข์ควรเป็นที่ที่คนมากินกาแฟแล้วคุยกันเรื่องไหนก็ได้ หากเป็นเรื่องศาสนาก็ยิ่งดี หรือคุยเรื่องปรัชญา ชีวิตของคนไทยวันนี้เป็นอย่างไร ซึ่งท้ายแล้วก็จะมีคนมาชวนคุยเรื่องศาสนาอยู่ดี
- เสนอเชิญ ดร.วิรไท สันติประภาพ มาตั้งวงสนทนาเป็นคนแรก เปิดเวทีกาแฟธรรม
- ทุกสิ่งที่เราเจอในทุกวันนี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน แม้แต่ Metaverse (โลกเสมือนจริง) พุทธศาสนาอยู่ในโลกเสมือนจริงเป็นอย่างไร
- (แนะนำหนังสือ Seeing with the Eyes of Dhamma - ธรรมะเล่มน้อย) … สำหรับคนรุ่นใหม่ ธรรมะต้องสนุกและย่อยง่าย ซึ่งท่านพุทธทาสเป็นคนมีอารมณ์ขัน แต่ท่านจะไม่ยอมทำให้เป็นเรื่องบันเทิง ท่านพยายามรักษาไว้ซึ่งความขลัง เล่าด้วยความจริงจัง แต่จะแทรกไว้ด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งหากได้ฟังเทปไปด้วยจะพบว่าท่านมีอารมณ์ขัน คนฟังในรุ่นนั้นจะรู้สึกสนุก และไม่คิดว่าท่านจะต้องมาย่อยให้เรา ท่านบอกว่า “จะให้พูดง่าย สนุกอย่างเดียวเพื่อให้พวกเธอไปย่อยได้ง่าย สมองของพวกเธอก็จะไม่ได้ทำงานที่จะวิเคราะห์เอง …” ดังนั้นเราต้องอ่าน และเวลาอ่าน ต้องย้อนกลับมาอ่านหลายครั้ง ทบทวนว่าที่อ่านไปนั้นเข้าใจถูกไหม นี่เป็นสิ่งที่ช่วยเรื่อง Critical Thinking
- หากวง ‘กาแฟธรรม’ เกิดขึ้นได้ อยากให้เยาวชนมานั่งถกกัน มาเลือกว่า chapter นี้ไหม ประโยคนี้ไหม ท่านพุทธทาสหมายถึงอะไร มีความเป็นอย่างอื่นได้ไหม จะเกิดความสนุก คนรุ่นใหม่จะได้เข้าใจถึง ‘Depth – ความลึก’ ได้ย่อยเอง ผ่านกระบวนการคิดอย่างลึกซึ้งเหมือนคนรุ่นก่อน ๆ ที่ได้ฝึกสอนตัวเองมา
- (การปรับปรุงสโมสรธรรมทาน สวนโมกข์กรุงเทพ เปิดเป็น ‘ห้องสมุดพุทธทาส เมื่อ ๙๐ ปีก่อน’นำโต๊ะ ตู้ รวมถึงข้าวของจากวัดชยาราม อ.ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ที่ท่านพุทธทาสเคยใช้มาจัดแสดง มีหนังสือของท่านพุทธทาสให้ค้นอ่านได้) ... หากให้คนทำ Cryptocurrency มาดู อาจทำเป็น ‘NFT - Non Fungible Tokens*’ ได้ เช่น หนังสือเล่มแรกของท่านพุทธทาส ของชิ้นเดียวของท่านพุทธทาส เด็กรุ่นใหม่สามารถช่วยทำได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ และจะทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจเวทีนี้
*NFT – Non-Fungible Tokens ทำความรู้จักกับ NFT คืออะไร?