สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ
รายการ เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๖ Buddha Bless
เดินทางไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงตาม Rhyme ของชีวิต
วันอังคารที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔
เวลา : ๑๗.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.
Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และ นายเวลา
แขกรับเชิญ: อุ๋ย Buddha Bless
รับฟังทั้งหมดได้ที่
https://soundcloud.com/suan-mokkh/buddhadasa-bless-buddha-bless
https://open.spotify.com/episode/5skayQON6YnUX7ake4grGI
Timeline ของประสบการณ์การบวช กับการมาเป็นวง Buddha Bless อะไรเกิดก่อนกัน
บวชครั้งแรกก่อนการทำวง Buddha Bless
ก่อนที่จะบวชมีความสนใจเกี่ยวกับศาสนา หรือรู้จักสวนโมกข์ – อาจารย์พุทธทาสไหม
- โตมากับคุณแม่ที่พาใส่บาตรทุกเช้า จะมีกับข้าวอยู่ท้ายรถ พอเจอพระเดินก็จะจอดรถลงไปใสบาตรพระ ๙ รูปทุกวัน และคุณแม่ก็พาเข้าวัดตั้งแต่เด็ก แต่เป็นเรื่องที่เบื่อและไม่ชอบ โตมากับพุทธแบบเปลือก คือสอนให้รักสวรรค์ กลัวนรก แปะทอง จุดธูปขอนั่นขอนี่ ก็มีคำถามเกี่ยวกับศาสนาเยอะมาก ชาติหน้ามีจริงหรือ บุญคืออะไร จนช่วงวัยรุ่นมีพี่บ้านตรงข้ามที่ชอบอ่านหนังสือ และมีหนังสือเรื่องคู่มือมนุษย์ แต่อ่านไม่ค่อยเข้าใจ ภาษายาก จึงหยุดอ่านไป แต่ได้อ่านประวัติของท่านจากหนังสือ ๑๔๓ บุคคลสำคัญของโลก
- ช่วงที่ได้ไปลองปฏิบัติธรรม อายุ ๒๓ เพราะบ้านไฟไหม้ด้วย และมีเหตุการณ์หลายอย่าง เลยไปทดลองดูว่าปฏิบัติธรรมมันคืออะไร หลังจากนั้นเข้าใจศาสนาพุทธมากขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้เริ่มกลับมาอ่านงานท่าน เข้าใจมากขึ้นกว่าตอนเด็กๆ
- พออ่านงานท่านมากขึ้นจนตอนเป็นพระ อ่านหนังสือบวชทำไมของท่านพุทธทาส ชอบมาก และยิ่งเข้าใจมากขึ้นได้อีก เป็นประโยชน์กับการบวชมากๆ
บวชมากี่ครั้ง
- ครั้งแรกบวชที่วัดธรรมมงคล หลวงพ่อวิริยังค์ เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพรรษากว่าๆ มาบวชอีกครั้งกับพระอาจารย์นวลจันทร์
อาจารย์พุทธทาสมีความน่าสนใจ ความโดดเด่นอย่างไร มีจุดไหนที่แตกต่าง ถ้าเราจะแนะนำคนอื่นให้รู้จัก
- ท่านเป็นคนที่หัวก้าวหน้า เช่นเรื่องการเมือง ประชาธิปไตย จนโดนกล่าวหาว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ ที่ท่านบอกว่าระบอบไม่สำคัญเท่ากับผู้นำ ถ้าผู้นำดี ต่อให้เป็นคอมมิวนิสต์ก็เจริญได้ ถ้าประชาชนไม่มีศีลธรรม เป็นประชาธิปไตยก็พากันลงเหวได้ เป็นเรื่องหมิ่นเหม่ของสังคมในยุคนั้น
- เท่าที่อ่านและติดตามงานท่านมาพอสมควร ผมเข้าใจสิ่งที่ท่านพยายามสื่อ เช่นอย่าให้พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า คืออย่ายึดติดกับวัตถุจนลืมสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ถ้าฟังท่านขยายความและติดตามความคิดท่าน จะรู้ว่าท่านอธิบายถึงแก่น จริงๆ แล้วตัวแก่นพุทธศาสนาคืออะไร อย่าไปยึดติดกับกรอบหรือเปลือกมากจนเกินไป
- ที่ชอบมากๆ และเป็นจุดเด่นของท่านเลย คือ ท่านแปลเรื่องการเกิดภพชาติ ไม่ใช่ภพชาติแบบทางเนื้อหนังเท่านั้น แต่ว่าภพชาติของท่านคือการเกิดในวงจรปฏิจจสมุปบาท การเกิด-ดับ ทางนามรูปเป็นการเกิดดับหนึ่งภพชาติ ทำให้เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องจิต-ขันธ์ ๕ ได้อีกเยอะมาก
สวนโมกข์กรุงเทพ คืออะไรสำหรับคุณอุ๋ย
- เหมือนกึ่งสวนสาธารณะ สบายๆ มีกิจกรรมที่หลากหลาย รู้สึก friendly กับคนเมือง คนยุคใหม่มากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
สวนโมกข์ไชยา
- ล่าสุดได้ไปถ่ายสามเณรปลูกปัญญา ได้เห็นโรงมหรสพทางวิญญาณ ค่อนข้างแปลก ต่างไปจากวัดอื่นๆ สมัยก่อนมีคนมาอธิบายปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ขั้นตอน ก็ไม่เข้าใจ แต่เก็บอยู่ในใจเรา จำได้แค่บางส่วน และมีคำถาม เป็นสิ่งที่เหมือนพระพุทธเจ้าบอก ว่าฟังซ้ำๆ ในเรื่องเดิม ก็จะเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้น่าสนใจ ต่างจากวัดอื่น และมีความเป็นธรรมชาติค่อนข้างเยอะ คล้ายวัดป่า รู้สึกสงบร่มรื่น และชอบตรงเขาพุทธทอง ที่เป็นโบสถ์ธรรมชาติ เป็นไอเดียที่ดีมากๆ ธรรมชาตินี้ทำให้รู้สึกเข้าถึงธรรมะได้
ประสบการณ์เกี่ยวกับการบวช และนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
หลังจากศึกษาธรรมะแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีคิด หรือมุมมองอะไรที่เกี่ยวข้องกับการแต่งเพลงบ้าง
- พอมารู้จักธรรมะแล้วโดยนิสัยก็เป็นคนค่อนข้างซีเรียส รู้สึกว่าอยากให้ข้อคิดคนใส่ลงไปในงานด้วย ก็พยายามจะเอาธรรมะสอดแทรกเข้าไป ซึ่งการพยายามนำธรรมะสอดแทรกเข้าไปในผลงาน หาจุดลงตัวยาก ในมุมมองเรารู้สึกว่า อันนี้มันเป็นยาหวานแล้วนะ ฟังง่ายสำหรับเรา แต่พอให้คนอื่นฟังเขารู้สึกซีเรียส ลึกไป แต่ก็รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เราชอบ ผมชอบเรื่องธรรมะกับสัจธรรม รู้สึกว่าเป็นความจริง และสะกิดคนได้ เทียบกับตัวเองสมัยวัยรุ่นฟังเพลงอกหัก แล้วยิ่งเศร้า และร้องไห้ แต่พอเป็นคนทำเพลงแล้ว ไม่อยากทำแบบนั้นเลย รู้สึกว่าการขยี้ให้คนติดเข้าไปในอารมณ์นั้น เขาอาจจะรู้สึกดีอยู่ลึกๆ ซึ่งพอมาศึกษาศาสนาพุทธแล้ว ได้เห็นความจริงแล้ว รู้สึกว่าการทำแบบนั้นเป็นอันตรายกับตัวเรามาก ไม่มีประโยชน์กับชีวิตเลย ก็เลยคิดว่าทำเพลงให้คนฟังแล้วปลงได้ เตือนสติได้ ให้ข้อคิดได้ ก็คงจะดี แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่ที่คนฟัง
เวลาที่เรายังไม่ประสบความสำเร็จ เราจะรู้สึกว่าถ้าประสบความสำเร็จจะต้องมีความสุขมากแน่ๆ แต่พอเราได้มาแล้วเป็นอย่างไร
- อยากให้ทุกคนลองย้อนนึกดูว่าก่อนจะมีอย่างวันนี้ แต่ก่อนคุณอาจจะมีไม่เท่าวันนี้ จริงอยู่ว่าวันนี้คุณมีมากว่าเดิม คุณอาจจะรู้สึกว่ามันดีกว่าแต่ก่อน แต่ถามว่าวันนี้คุณพ้นจากทุกข์แล้วหรือยัง ทุกข์ทางใจน้อยลงหรือเปล่า ถ้าสิ่งที่ทำให้คุณได้มันมาไม่ได้ทำให้ทุกข์ทางใจคุณลดลง คุณอาจจะมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามา หรือมีความกังวลกับอนาคตอยู่ เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเป็นเหมือนกันตรงที่ วันนี้ต่อให้ได้สิ่งที่เคยฝันไว้แล้ว ก็กลัวว่ามันจะหายไปอีก มีสองอย่าง ไม่กลัวมันหายไป ก็คิดว่าแล้วจะทำยังไงให้ได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะวนอยู่อย่างนี้ แล้วความสุขอยู่ที่ไหน
- คนที่ดูภายนอกอาจจะมองว่ามีนั่น มีนี่ ได้นั่น ได้นี่ แต่ถ้าภายในใจเราเองยังรู้สึกไม่เต็ม ยังพร่อง กังวลอนาคต หรือยังอยากจะได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ผมว่าไม่ต่างกับตอนที่ยังไม่ได้เลย
ถ้าย้อนไปถึงเวลาที่มีโอกาสปฎิบัติธรรม มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการซาโตริไหม หรือวิถีชีวิตแบบพระ ที่ทำให้ได้เรียนรู้
- พอเป็นพระแล้วก็ยังทุกข์เหมือนเดิม โหยหาอดีต เรื่องที่ยังทำใจไม่ได้ ผุดขึ้นมาในใจอยู่เรื่อยๆ ยิ่งนั่งสมาธิยิ่งผุดขึ้นมา ชี้ให้เห็นว่าใจเราบังคับไม่ได้ บวชคือการเปลี่ยนทรงผม เสื้อผ้า มาอยู่ในกรอบการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งก็จะมีทุกข์อีกแบบ เราต้องฝืนความอยากทุกด้านของเรา เหมือนทวนกระแส ก็เห็นความทรมานชัดดี ทำให้รู้ว่าตอนที่เราคาดหวังว่าพอบวชเป็นพระแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นมันไม่ใช่ ใจคนเป็นเรื่องภายใน สิ่งที่เราควรจัดการมากๆ คือภายใน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่ดีมากๆ
ประสบการณ์ไหนที่น่าจะเป็นประโยชน์ อยากให้แลกเปลี่ยน
- โตมากับการขอ เครื่องรางของขลัง พระเครื่อง บนบานศาลกล่าวตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่พอเรามีคำถามมากขึ้น พอมาปฏิบัติธรรมแล้วคิดว่ามาเจอแก่นพุทธศาสนา กลายเป็นแอนตี้สิ่งที่เรียกว่าเปลือก จนเวลาผ่านไปรู้สึกว่ายิ่งศึกษา ยิ่งสนใจมากขึ้นกับพุทธศาสนา จิตแบบนี้ไม่ใช่ชาวพุทธ มาเหยียด มารังเกียจเขาแบบนี้ แล้วมองย้อนตัวเองว่าสมัยก่อนเราก็เคยเชื่อ เคยนับถืออะไรแบบนี้ แต่วันหนึ่งเรากะเทาะเปลือกเข้ามาถึงแก่นได้ เพราะฉะนั้นเปลือกมันก็ทำหน้าที่ของเปลือก คนที่เขายังไม่พร้อมจะพบกับแก่นแต่เขาอยู่กับเปลือกก่อน จะรู้ได้ไงว่าเขาจะไม่กะเทาะเปลือกเข้ามาสู่แก่น และถ้าไม่มีเปลือกหุ้มอยู่เลยแก่นอาจจะหายไปนานแล้วก็ได้ ก็เลยไม่แอนตี้แบบแต่ก่อน แต่ว่าอยู่อย่างรู้เท่าทัน และหากาละเทศะในการตักเตือนคนรอบตัวที่เขายังติดกับเปลือกแบบนี้อยู่ แต่ถ้าไม่เวิร์คก็อุเบกขา เข้าใจว่ามนุษย์แตกต่างกัน และปล่อยให้ประสบการณ์ชีวิตเป็นคนสอนเขาแทน
- พอมาสำรวจมรรคมีองค์แปด ที่ว่าเลี้ยงชีพชอบ อาชีพเราไปก่อความเดือดร้อนให้ใครหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร แล้วเราตั้งหน้าตั้งตาทำมันให้ดีที่สุดด้วยเจตนาดีก็เป็นหนึ่งในมรรคมีองค์แปด ถ้าเราเห็นถูก มีสัมมาทิฎฐิแล้วรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในทางพุทธเราเข้าใจแล้วว่าชีวิตประกอบด้วยอะไร มีขันธ์ห้า ถ้าเรารู้คอนเซ็ปต์แล้ว คิดถูก ทำถูก พูดถูก ก็คือศีลห้า ก็อยู่ในมรรคมีองค์แปด เป็นทางสู่การพ้นทุกข์เหมือนกัน ช้าเร็วอยู่ที่เราหมั่นมีสติ ว่ามากน้อยแค่ไหน
อยากให้เล่าถึงเทคนิคการจัดการอารมณ์
- แต่ก่อนไม่ได้แคร์คนรอบตัวเท่าไหร่ ว่าเขาจะได้รับผลกระทบอะไรด้วย แต่พอทุกวันนี้มีคนที่เขาทำงานกับเราเยอะ สิ่งที่เราแสดงความคิดเห็นไป ผลกระทบไปโดนเขาด้วย เรารู้สึกว่าต้นทุนในการแสดงออกไม่ใช่แค่เราคนเดียว ต้องระวังมากขึ้น
- คนจำนวนมากอคตินำข้อมูลข้อเท็จจริงไปแล้ว ต่อให้มีข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่เขาก็ไม่เชื่ออยู่ดี รู้สึกว่าเสียเวลามาอธิบายเรื่องแบบนี้ เท่าที่สังเกตคนมีตรรกะแตกต่างกันไป พอใครมาด่า มาว่าเรา ก็ใช้วิธีที่ว่า ก็มีคนเกลียดบ้างเป็นเรื่องปกติ พระพุทธเจ้าประเสริฐขนาดไหนยังโดนคนว่าเลย ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำเพื่อประเทศชาติขนาดนี้ ก็ยังโดนข่าวปลอมโจมตี ทุกวันนี้ก็ยังโดนอยู่ แล้วเราเป็นใคร เราทำดีมาน้อยกว่าท่านไม่รู้เท่าไหร่ จะเหลืออะไร จะไม่ให้คนเกลียดเลยเป็นไปไม่ได้ ทำดีคนก็หมั่นไส้ ทำไม่ได้ดั่งใจเขาก็ด่า ก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนที่รักเรา เห็นใจเราก็มี
- เราเกลียดเขา เราก็ทุกข์เอง เขาเกลียดเรา เขาก็ทุกข์เหมือนกัน คนที่มีความสุข คงไม่ใช่คนที่นั่งด่าคนอยู่ในโลกโซเชี่ยลตลอดเวลา ผมอ่านพุทธธรรม ที่ท่าน ป.อ.ปยุตโต เขียน อ้างอิงจากพระไตรปิฎก คนที่เต็มเหมือนกับสายน้ำใหญ่ที่ไหล เต็ม ก็สงบนิ่ง ไม่ได้มีเสียงดัง แต่คนที่ยังขาด ยังพร่องอยู่ เราเปิดก๊อกลงไปในถังน้ำ เสียงก็ดัง ถ้าเราสงบ เราเต็มข้างในได้จริงๆ เราคงไม่ต้องมาเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย ชวนคนทะเลาะไปเรื่อยหรอก เราอยากเป็นคนแบบนั้น เพราะคนที่เต็มจะสงบนิ่ง
ศาสนาให้อะไรกับคุณอุ๋ยบ้าง
- เคยจินตนาการว่าถ้าไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย ถ้าโลกนี้ไม่มีพุทธศาสนา ผมไม่รู้เลยว่าจะใช้ชีวิตไปยึดเกาะกับอะไร อาจจะวิ่งไล่ล่าเงินทอง ความสุขภายนอกอย่างเดียวก็เป็นไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่เรื่องภายใน การเข้ามาสำรวจจิตใจตนเอง หรือให้เห็นความจริงว่าร่างกาย จิตใจนี้ ไม่ใช่ของเรา เป็นคอนเซ็ปต์ที่เปลี่ยนชีวิต
- ถ้าเราอยู่ในโลก แล้วเรายังไม่ใช่นักบวช ยังต้องกินต้องใช้ ยังอยู่กับสมมุติทางโลกอยู่ ก็ต้องทำหน้าที่ของฆราวาสให้ใช้ได้ปกติ ไม่ให้เป็นทุกข์จนเกินไป ไม่ให้สุขจนประมาท
มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนต่างศาสนาบ้างไหม มีมุมมองหรือข้อสรุปอย่างไร
- ไม่ได้ชักชวนใครเปลี่ยนศาสนา และไม่ต้องเชื่อ ให้ลองไปพิจารณาดู อย่างพระเจ้าถ้าให้ตีความ พระเจ้าอยู่ในทุกสิ่ง สำหรับผมก็คือธรรมชาติ ก็คือพระธรรม คือสัจจธรรม จะตีความแบบนี้
- ที่บอกว่าเป็นศาสนาแห่งการลงมือทำ แล้วทำไมยังมีอธิษฐาน ขอนั่นขอนี่ ก็อธิบายว่าคือการตั้งเป้าหมายเพื่อลงมือทำ เช่นอธิษฐานว่าทั้งพรรษานี้เราจะงดเว้นการดื่มสุรา เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อลงมือทำ แล้วผลจะสมควรแก่เหตุเอง การอธิษฐานไม่ใช่การขอ
เป้าหมายและแนวทางในการดำเนินชีวิต วางแผนและมองไว้อย่างไร
- ตอนทำเพลงก็อยากให้มีข้อคิดที่ทำให้คนทุกข์น้อยลง ตอนทำรายการเจาะใจก็เอาข้อมูลที่เกี่ยวกับการทดลองมาเล่าให้คนฟัง รู้สึกว่าการสื่อสารเรื่องนี้กับคนรุ่นใหม่ ถ้าพูดเป็นแนววิทยาศาสตร์ หรือทางจิตวิทยา ก็จะเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งอยากเอาสองอย่างมารวมกัน
- อยากมีครอบครัวเหมือนคนปกติ บวชหรือเปล่าไม่รู้จริงๆ ว่าจะมีบุญอย่างนั้นหรือเปล่า แต่เชื่อว่าอุบาสกก็บรรลุธรรมได้ และช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้
- ทุกอาชีพอยากสอดแทรกธรรมะไว้ในนั้น ที่ทำให้คนทุกข์น้อยลง ด้วยการเห็นสัจจธรรมที่แท้จริง เท่ากับเป็นการสร้างสมดุล อยากให้ทางโลกทางธรรมไปคู่กัน อยู่ซ้อนทับกันได้เป็นอย่างดี
สวนโมกข์ควรปฎิรูปหรือปรับตรงไหน เพื่อให้สื่อสารกับคนในวงกว้างได้มากขึ้น ข้อเสนอแนะ ควรเป็นแบบไหนดี
- สวนโมกข์ทำได้ดีมาก ไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าควรปรับปรุง
พระอาจารย์นวลจันทร์มีจุดเด่นอะไรที่ถูกกับจริต
- พระอาจารย์นวลจันทร์ ถ้าสอนอะไรที่เป็นเรื่องยาก ท่านจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย
สวนโมกข์ควรจะเชิญใครมาคุยเป็นคนต่อไป
- มีหลายคนนะครับ เช่น ปั๊บ โปเตโต้ ปฎิบัติมานานแล้ว ปฎิบัติมาตลอด
- ลองหาคนที่ไม่สนใจศาสนาดีกว่า เพราะจะได้ฟังมุมมองว่าเพราะอะไรถึงไม่สนใจ และมีความเข้าใจอะไรบ้าง ที่อาจจะเข้าใจผิดอยู่ ธรรมะอยู่ได้กับเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะอาชีพอะไร หรือสนใจศาสนาไหม เพราะธรรมะคือธรรมชาติ
ฝากผลงาน
- กำลังจะเริ่มทำยูทูปของตัวเอง อยากทำเรื่องธรรมะที่ดูไม่ธรรมะ ไปคุยกับคนที่น่าสนใจ แล้วให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตได้ ชื่อ “คุยกับอุ๋ย”
- เราไม่ได้เป็นเจ้าของใคร ถ้าเรารักใครสักคนจริงๆ แบบเมตตา ก็อยากเห็นเขามีความสุข ถึงแม้จะไม่มีเราอยู่ในนั้นก็ตาม แต่ถ้ารักแบบตัณหา ราคะ คือเขาต้องมีความสุขกับเราเท่านั้น อันนี้ไม่ใช่รักแท้ รักแท้คือต่อให้เขาไปมีความสุข โดยที่ไม่มีเรา เราก็ควรยินดีกับเขาด้วย ถ้าใช่ก็ควรจะต้องปล่อยเขาไป ถ้าเขาจะกลับมา เดี๋ยวเขาก็มาเอง