เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๕ จากสวนโมกข์มาประชาชื่น

Share

งานจดหมายเหตุ,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ

รายการ เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๔ จากสวนโมกข์มาประชาชื่น

 คู่มือมนุษย์ว่าน ร่วมเปิด maps นำทางชีวิต กับ ว่าน ธนกฤต

วันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

เวลา : ๒๐.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.

Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และ นายเวลา

แขกรับเชิญ: ว่าน (ธนกฤต พานิชวิทย์)

 wan01

 

 รับฟังทั้งหมดได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=27RO_DSPbCc&t=2s

https://soundcloud.com/suan-mokkh/eo7oplqxhfzj

https://open.spotify.com/episode/6Z2ts4vFQ1oZJlg1rlfvBd?si=27ddb452bdc74c1f

 

เหตุที่ทำให้บวช

  • จำกัดความว่าตัวเองเป็นคนดื้อ เชื่อในสิ่งที่คิดเอง ตั้งแต่เด็กเห็นว่าศาสนาเป็นเรื่องกึ่งจำเป็นกึ่งบังคับที่ต้องกรอกไปในเอกสารว่ามีศาสนา เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ ต้องเรียน ต้องนับถือพุทธ พอโตมา เห็นเป็นเรื่องเฉย ๆ ให้เรียนก็เรียน
  • เหตุที่บวช เป็นช่วงชีวิตวัยรุ่นตอนกลาง ปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๖  งานเริ่มมากขึ้น ทั้งผลิตงานเอง ทำชิ้นงานได้ดี เริ่มใจร้อน ทำงานคนเดียวแล้วลื่นไหล พอมีทีมงานบางคนมาช่วยแล้วไม่ทันใจ ไม่ตรงใจ ก็เริ่มทำร้ายด้วยวาจา อารมณ์ฉุนเฉียว คิดได้ว่าอีกนิดจะเป็นคนไม่ดี ไม่มีใครอยากทำงานด้วย ประกอบกับที่บ้านมีคุณยายที่ ‘อิน’ กับพุทธศาสนา และที่บ้านคุ้นเคยกับวัดชลประทานรังสฤษดิ์ สมัยประถมเรียนที่โรงเรียนชลประทานวิทยา ได้ไปฟังพระอาจารย์แสดงธรรมบ่อยครั้ง

wan09

  • ช่วงนั้นคุณยายป่วยหนักมาก คุณหมอบอกว่าช่วงประมาณ ๓ เดือนนี้ให้เตรียมทำใจ ทำให้ตัวเองหยุดคิดว่าจะทำแต่งานเหมือนอยู่คนเดียวในโลก แล้วให้คนอื่นมาหมุนตามเราคงไม่ได้ และทางบ้านก็ถามว่าทำงานแล้ว โตแล้ว ไม่บวชสักครั้งหรือ
  • คิดว่าถ้าใจเราไม่ตั้งใจจะไป อย่างไรก็ไม่ว่างได้หากเห็นงานสำคัญกว่า จึงคิดว่าถึงเวลาแล้ว เป็นหลานชายคนเดียว เรียนจบปริญญา ๒ ใบ งานการเริ่มมั่นคง สามารถดูแลตัวเองและคนที่บ้านได้ เหลืออีกอย่างที่ยังไม่ได้ทำให้คือ การบวชให้ จึงหักดิบ เปิดตารางานดู แม้ว่ามีงานยืนยันไว้แล้ว แต่ก็ขอทีมงานว่าจะต้องไปบวช
  • บวชที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตามโปรแกรมพระบวชใหม่ (พระนวกะ) ที่จัดเดือนละครั้ง โดยวางแผนว่าจะบวชในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน

wan02

หนึ่งเดือนที่สวนโมกข์

  • ประมาณวันที่สิบของการบวช พระพี่เลี้ยงมาถามว่ามีใครอยากไปสวนโมกข์ไชยาไหม มีเพียงไม่กี่คนที่อยากไป ส่วนตัวเองยังลังเล ในหนึ่งเดือนนี้ ถ้าจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จริง ๆ การไปสวนโมกข์ก็น่าสนใจมาก กระทั่งวันหนึ่ง พระอาจารย์สมชาย (พระพี่เลี้ยง) มาบอกว่า “ท่านว่านไปสวนโมกข์เถอะ ดูสิ ญาติโยมมาใส่บาตรวุ่นวายไปหมด ไปที่ที่ให้เขาตามหาเรายาก ๆ ไปอยู่กับตัวเอง ดูแลแต่บาตรกับจีวร ...” ท่านบอกว่าที่สวนโมกข์ไม่ได้ลำบากอะไรมาก ไปแล้วมีอะไรให้คิด ให้ทำหลายอย่าง แล้วจะเสียดายหากไม่ได้ไปลองด้วยตนเอง
  • สิ่งที่จำขึ้นใจ และทดไว้ในใจคือ เป็นการสัญจรในรูปแบบของพระเป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้น
  • พ่อบอกเสมอว่า ‘กินง่าย นอนง่าย ก็จะตายยาก’ ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ที่สวนโมกข์สะดวกสบาย มีกุฏิเงียบ ๆ มีเส้นทางเดินที่ทำให้ได้ขบคิดอะไรบางอย่างของวันนี้แบบเงียบ ๆ มีโรงฉันที่เป็นระเบียบเรียบร้อย หากจะให้อยู่นานกว่านี้ก็อยู่ได้
  • คนที่กลัวก็จะกลัวมาก พอใจมันคิด เสียงใบไม้ที่หล่นลงบนพื้นมาเป็นเสียงฝีเท้า เพราะด้วยความเงียบที่เงียบสนิท
  • ชอบทุกวันที่อยู่ที่นั่น เป็น ‘การก้าว’ ที่ถูกต้องที่สุด คิดถูกที่ได้ไป ได้อยู่กับเสียงอะไรไมรู้ แต่ก็ไม่กลัว ได้ผ่านบางอย่างที่สงสัย แต่ก็ไม่กลัวที่จะเปิดประตูไปดู เอามาคิดได้ เป็นเรื่องที่ดี

wan06

พุทธทาสในความรับรู้

  • ความรู้สึกตอนยังเด็กคือ เฉย ๆ เมื่อโตขึ้น ได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสบ้าง ได้อ่านข้อความที่ถูกเลือกมาสลักอยู่บนขอนไม้ แผ่นหิน ทำให้เห็นว่าท่านพุทธทาสไม่ได้เป็นแค่พระอย่างเดียว แต่เป็นกวีด้วย มีความเป็น Artist (ศิลปิน) ทุกถ้อยความที่เขียนนั้นน่าอ่าน เข้าใจได้ไม่ยาก อ่านแล้วย่อยง่าย ไม่ใช่คำพระ เป็นคำกวี เป็นเรื่องจริงที่ถูกเรียงร้อยออกมาด้วยถ้อยคำที่สวยงาม

มุมมองที่เปลี่ยนไป

  • แบ่งได้ ๓ ข้อ

๑)     มุมมองที่มีต่อศาสนาพุทธ คือไม่ใช่เรื่องเฉย ๆ ที่ใครมาบังคับแล้ว แต่หากได้ศึกษาแล้วจะมีประโยชน์มาก คำสอนเป็น ‘อกาลิโก’ ทันสมัยอยู่เสมอ คำสอนเมื่อพันปีที่แล้วยังใช้ได้กับวันนี้หรือเมื่อครู่นี้ได้ มีความเป็นปัจจุบันตลอดเวลาถ้าเราหยิบใช้ได้ถูกต้อง เป็นทางแก้ปัญหาที่ง่ายและไม่ทำร้ายใครเลย รวมถึงตัวเองด้วย ส่วนตัวได้ทดลองใช้มาหลายปี ตัวอย่างเช่น มีนัดเล่นคอนเสิร์ตห้าโมงเย็น เมื่อถึงหน้างาน กลายเป็นถูกเริ่มช้าไปครึ่งชั่วโมง ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อนจะอารมณ์ไม่ดี แล้วจะส่งผลกระทบต่องานบนเวที ไม่สนุกเท่าที่ควร แต่เราก็ยอมรับ และหาวิธีบริหารเวลาให้ลงตัว ปรับรายละเอียด ทำหน้าที่ของเราให้ดี มีความสุข

๒)     ส่งผลดีต่อครอบครัว หลวงพี่ป้อง (พระพี่เลี้ยง) บอกว่า “การที่ท่านว่านมาอยู่แค่เดือนเดียว ทำให้จิตใจคนรอบตัวเบาขึ้นเยอะ แม้ว่าเราจะพาเขาไปกินข้าวไกลแค่ไหน อร่อยแค่ไหน แต่ก็เป็นเพียงการเติมที่ทำให้อยาก ทำให้อร่อยขึ้น ไปไกลขึ้น เติมไปเรื่อย ๆ  แต่การมาที่นี่เดือนหนึ่ง ทำให้ญาติมีโอกาสได้ใกล้กับศาสนามากขึ้น อยู่ในเขตของวัดที่ร่มเย็น เป็นการคลายใจได้เยอะ”

๓)     ผลดีต่อต่อตัวเองคือ ทำให้ทำงานในวงการบันเทิงต่อเนื่องมาได้ ตั้งแต่ออกมาจากวัด การไปทะเลาะกับใคร แทบจะนับครั้งได้ แทบจะเป็นศูนย์ครั้งต่อปี เมื่อก่อนตัวเองหมุนเร็ว แล้วคนอื่นหมุนตามนั้นเหนื่อยมาก ตอนนี้กลายเป็นหมุนไปพร้อม ๆ กัน เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน ต้องไปไล่ขอโทษคนที่เคยพูดไม่ดีด้วยไว้ ได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เป็นแบบนี้ คือเป็นแบบนี้ วันนี้งานไม่เสร็จ เร่งไปก็ไม่เสร็จอยู่ดี ซึ่งถ้าไม่ได้ไปสัมผัสในช่วงหนึ่งเดือนนั้นคงไม่ได้ชุดความคิดนี้มาต่อยอดได้

wan08

  • ช่วงวัยก็มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง แม้ช่วงเวลาหนึ่งเดือนนั้นไม่มาก แต่สิ่งที่ได้มาคือบรรยากาศหลาย ๆ อย่างรอบข้างเปลี่ยนไป เช่น อาการป่วยของคุณยาย จากที่คุณหมอเคยบอกว่ามีเวลาสามเดือน กลายเป็นสามปี ทุกคนมีความผ่อนคลาย ได้ให้ความสุขคนรอบข้างเป็นหลัก ตัวเองก็พออยู่ได้ เห็นคนที่บ้านกินอิ่มนอนหลับ คนมาฟังเพลงมีความสุขยิ้มกลับไปก็พอใจ
  • พกหนักสือ ‘นวโกวาท’ ติดตัวเป็นประจำ เป็นเหมือนหนังสือเฉลยชีวิตของตัวเอง เป็นเครื่องกระตุ้น เวลาที่มึนงงกับอะไรสักอย่างแล้วแง้มกระเป๋าไปเจอ ทำให้นึกถึงช่วงหนึ่งที่เคยทำอะไรได้ช้าลง “เครียดแล้วแง้มหน่อย ... อ๋อ .. แค่นี้เอง” เล่มเล็ก ๆ พกติดตัวไว้

wan04

 ‘ร้อยแก้ว’ ที่ได้มา

  • เพลง ‘ร้อยแก้ว’ ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นที่สวนโมกข์ แต่เป็นประสบการณ์ที่เกิดจากที่นั่น เมื่อเดินทางกลับมาถึงวัดชลประทานฯ เตรียมตัวลาสิกขา แล้ววันรุ่งขึ้นต้องไปเล่นคอนเสิร์ตทันที ต้องไปสถานที่เหมือนเดิม บรรยากาศที่คุ้นเคย แต่เราเปลี่ยนวิธีการมองโลกได้ เราศึกษามาแล้วว่าคนเราห้ามอะไรไม่ได้ บังคับไม่ได้ ใครอยากดื่ม เชิญดื่ม จึงอยากลองเขียนเพลงว่าหากดื่มแบบชาวพุทธจะได้ไหม
  • คนส่วนมาก ยิ่งห้าม ยิ่งดื่ม แต่เมื่อวันที่เขาเข้าใจ พอแล้ว ก็จะหยุดเอง ไมใช่เพราะคอ หรือลิ้นที่อยากดื่ม แต่เป็นเพราะใจที่อยากดื่ม เพราะยังคิดถึงคนที่บอกเลิกไป จึงแต่งเพลงที่เขียนถึงผู้ชายที่อยากดื่ม ดื่มไปแล้ว ๙๙ แก้ว ถึงแก้วที่ ๑๐๐ วางลง เพราะรู้ว่าทุกอย่างมีหลายด้าน แก้วก็เช่นกัน ความรักก็เช่นกัน จะเรียกว่าเอาคำสอนมาเขียนก็คงไม่ถูกต้อง แต่คิดว่าเมื่อเรารู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ก็ไม่ผิด

wan05

  • ก่อนที่จะหมดวาระการเป็นพระ ได้กลับไปคุยกับพระอาจารย์สมชายว่า เข้าใจแล้วว่ามันง่ายมากที่จะเขียนเพลงให้ฮิต คือเขียนให้ขัดต่อสิ่งที่อาจารย์สอนมาทั้งหมด เช่น การรอคอยอย่างไม่มีเงื่อนไข เฝ้ารอคนที่ไม่มีวันจะกลับมา เป็นการจมลงไป เจ็บตลอดเวลา
  • คิดว่าอัลบั้มหน้าหากอยากทำเพลงฮิต ขอขัดต่อหลักธรรมสักหนึ่งเพลง แล้วที่เหลือจะตะล่อม ๆ เขียนเพลงที่เข้าใจมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับสอน ถ้าเราไม่ดึงเชือกพร้อมกัน เชือกก็ไม่ขาด เราก็จะเดินไปด้วยกันได้ยาว ๆ
  • อาจจะเป็นที่วัยด้วย ในวัย ๓๕ ก็ไม่ใช่จะมีแต่เพลงที่พาคนฟังไปสู่ประตูที่เสียใจตลอดเวลา ควรมีที่ให้เข้าใจ รักกันได้นานขึ้นด้วยวิธีไหน หรือถ้ามีใครต้องตายจากไปก่อน เขาจะโอเคกับมันได้อย่างไร
  • เพลงที่ตั้งใจใส่ธรรมะ แล้วเป็นเพลงฮิต ที่ ‘ข้น’ ที่สุดคือ ‘ร้อยแก้ว’ มีคำบางคำที่เป็นกึ่งสอน เช่น

“แก้วที่สอนว่าความรักไม่ใช่ด้านเดียว

แก้วที่วางลงให้ไกลพ้นใจฉัน

แก้วที่ฉันรู้ทัน..เมื่อฉันไม่เหลือใคร”

หรือ ‘บริบูรณ์’ เป็นเพลงบอกเลิก วางสายวันนี้แล้วเลิกกัน แต่ไม่มีน้ำตาของการเลิกรา โบกมืออำลากันด้วยดี

  • งานเพลงเป็นการเติมอารมณ์ บางครั้งคนอยากฟังเพลงเศร้า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขาในวันนี้ หน้าที่ศิลปินคือพาคนฟังไปสู่เส้นทางที่ดี ในวันนี้คุณเสียใจ แต่วันข้างหน้าต้องกลับมาฟังเพลงผมใหม่นะ ลุกขึ้นมาใหม่ แล้วมาฟังเพลงแบบสนุกกัน เราจะไม่ทิ้งเขาไว้กับเพลงเศร้าแบบนั้น

2021 12 31 071754 

รายการประชาชื่น

  • ที่มาของรายการ ‘ประชาชื่น’ คือในช่วง ๕ - ๖ ปีหลังมานี้ ลองให้คำจำกัดความอาชีพของตัวเองว่าคืออะไร นักร้อง นักแต่งเพลง พิธีกรหรือเปล่า คิดว่าคงไม่ใช่แล้ว แต่เป็น Mood Setter ผู้กำหนดบรรยากาศและอารมณ์ในงานนั้น ๆ ให้มันดี
  • ‘Soloist Channel’ เกิดจากที่ได้ไปลองทำรายการใน YouTube, Facebook เช่น รายการนอนบ้านเพื่อน ว่านไปเรื่อย สามทหารเสีย สามแยกปากหวาน ซึ่งจะเป็นงานบันเทิงเสียส่วนมาก แต่มีสิ่งที่ขาดหายไป เมื่อ ๕ - ๖ ปีที่แล้ว YouTube และ Facebook คือช่องทางที่ทันสมัย จึงอยากเอาเรื่องเชย ๆ ย้อนกลับไปให้คนรุ่นใหม่ได้ดูว่าเคยดีมาอย่างไร อยากทำรายการประเภทข่าวช่วยชาวบ้าน ด้วยออฟิศตั้งอยู่แถวประชาชื่น จึงให้ชื่อรายการว่า ‘ประชาชื่น’ ประชาชนที่มีความสดชื่น ชุ่มชื่น แช่มชื่น คือประชาชนที่มีความสุข

    wan03
  • จากที่ได้เก็บประสบการณ์จากการได้เดินทางไปร้องเพลง เป็นพิธีกรในหลาย ๆ จังหวัด เห็นว่าความสุขของคนเราไม่เท่ากัน หากให้สิบคะแนนเท่ากัน แต่กิจกรรมไม่เหมือนกันเลย บางคนขายอาหารตามสั่งราคาสิบบาทมาสามสิบปี ไม่เคยขึ้นราคา แต่มีความสุขมาก บางคนวิ่งไล่จับจั๊กจั่นทะเลขายตัวละสองบาท บ่ายโมงเลิกงานกลับบ้านนอน มีความสุข ตีสี่ตื่นมาวิ่งต่อ เราเปรียบเทียบความสุขกันไม่ได้เลย และ ‘ถ้าเราไม่คุยกันเรื่องเงิน เราจะเป็นเพื่อนกันได้ยาว ๆ’ ซึ่งอยู่ในเพลง ‘ประชาชื่น’ ด้วย
  • นวโกวาท’ ติดตัวเป็นประจำ เป็นเหมือนหนังสือเฉลยชีวิตของตัวเอง เป็นเครื่องกระตุ้น เวลาที่มึนงงกับอะไรสักอย่างแล้วแง้มกระเป๋าไปเจอ ทำให้นึกถึงช่วงหนึ่งที่เคยทำอะไรได้ช้าลง “เครียดแล้วแง้มหน่อย ... อ๋อ .. แค่นี้เอง” เล่มเล็ก ๆ พกติดตัวไว้

269750274 444615020563721 8916388579115323841 n

  • ความสุขที่คุณตามหาหน้าตาเป็นอย่างไร เล่าให้ผมฟังหน่อย ผมอยากรู้ ความสุขของป้าที่มายืนร้อนอยู่ทุกวัน มีคนไม่เข้าใจ ที่ไม่ขึ้นราคาค่าข้าว ก็เพราะเผื่อมีใครเดินเจอเหรียญสิบจะได้มากินข้าวสักมื้อ สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาสามสิบกว่าปีนั้นอ่อนหัดนัก มีคนที่มีความสุขง่ายกว่าเราอีกตั้งไม่รู้เท่าไหร่ในจักรวาล
  • ยิ่งได้ทำรายการประชาชื่น ยิ่งมีแต่แรงผลักดันที่ดี คิดว่าชีวิตที่ตัวเองมีมาก็ดีแล้ว ง่ายแล้ว แต่มีคนที่เขามีความสุขได้ง่ายกว่าเราอีก ทำให้เปลี่ยนวิธีคิด ความสุขง่าย ๆ มีอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา
  • รายการนี้ยอดขายดีน้อย ด้วยรูปแบบรายการที่ใช้เวลาเล่าเรื่อง ใช้เวลาสัมภาษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าต้องทำ เพราะมีประโยชน์ อยากให้ประโยคจากปากพ่อแม่พี่น้องได้ออกไปให้คนอื่นได้ยินบ้าง ถ้าตัวเองทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นสื่อ ก็ควรทำช่องที่มีประโยชน์ และผสมบันเทิงด้วย
  • ยอดผู้ชมรายการพอจะดำเนินช่องได้ แต่สิ่งที่ต้องการคือ เมื่อได้ไล่อ่านความเห็นจะเห็นว่ามีคนที่เข้าใจ มีคนเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ๕๐๐ คน ‘ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน งานที่เราทำอยู่คือยอดเยี่ยมที่สุด’ มีคนเข้าใจสิ่งนี้ มีความสุขที่สุดแล้ว เชื่อว่าเรื่องน่าจะไปโดนหัวใจคนที่ได้รับชม

wan13

  • ‘ว่านไปเรื่อย’ เป็นรายการร็อค ตามติดชีวิต ไปทำอะไรก็มีกล้องตามติดไปเก็บภาพ ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไรมาก เป็นการนำเสนอวิถีชีวิต แค่ได้เริ่มคุยกับคนแปลกหน้า ก็ทำให้เราได้รู้จักอะไรใหม่ ๆ แล้ว เช่น ได้รู้จักพี่รปภ. คนหนึ่งที่ไม่รู้จัก ไม่เคยคุย ไม่รู้ว่าพี่เขาร้องเพลงเพราะ เมื่อได้คุย จึงรู้ว่าร้องเพลงเพราะมาก
  • เทปที่ประทับใจมีหลายเทป เช่น เทปที่ได้กลับไปกุฏิ ไปที่บรรยากาศนั้น ให้คนดูได้เห็นว่ามีแค่นั้นจริง ๆ หรือเทปช่างทำกีตาร์ชาวไทยที่เชื่อในทฤษฎี กฎของแรงดึงดูด เขาบอกว่าถ้าชอบใคร เขาจะเขียนชื่อคนนั้นไว้บนโต๊ะตัดไม้ โต๊ะทำงานของเขา เขาชอบฟังเพลงผม ก็เขียนชื่อผมลงไป แล้วมาวันหนึ่งมีโอกาสได้พบกัน เขาเข้ามาทักทาย แนะนำตัว เล่าให้ฟัง ผมบอกไม่เชื่อ จึงขอไปถ่ายรายการ ไปคุยด้วย ได้พบว่าโต๊ะของเขาเก่ามาก และมีชื่อผมอยู่บนนั้นจริง ๆ แล้วเขาได้ทำกีตาร์ให้ผมตัวหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผมขอบคุณมาก แล้วจะใช้มันอย่างมีคุณค่า เพราะว่าเราได้พบกันแล้ว หรือ คาเฟ่ที่อยู่ในคุก พนักงานทุกคน บาริสต้า บริกร ล้วนเป็นนักโทษที่ประพฤติตัวดี ฝึกอาชีพเพื่อวันที่พ้นโทษได้ออกมา หลายเทปจะทำให้เห็นว่าโลกเรามีเสน่ห์มาก แนะนำให้ดูทุกเทป

 wan12

ตกผลึก ‘ชุดความคิด’

  • ชุดความคิด หลักคิด เป็น effect (อิทธิพล) จากหนึ่งเดือนที่ไปใช้ชีวิตพระ แต่ก่อนเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว ฉะนั้นความคิดจะเป็นหนึ่งความคิด ‘ทุกข์’ แต่เมื่อได้มีเวลาจัดระเบียบ กลายมาเป็น folder เป็นชุดความคิด Folder A ไว้เพื่อทำเพลง Folder B ไว้คบเพื่อน คุยกับคนแปลกหน้า คุยกับลูกค้า จะกลายเป็นชุดความคิดออกมา ทำให้มีระเบียบมากขึ้น แล้วจะไม่ปะปนกัน เช่น คำไหนควร หรือไม่ควรใช้กับคนไหน
  • (ถามถึงการเจริญสติ เพื่อจะจัด folder เลือกหยิบใช้ มีการฝึกสติอย่างไร) ไม่ได้ฝึกท่วงท่าเหมือนตอนเป็นพระ ในหนึ่งวันจะมีเวลานั่งเฉย ๆ สักครู่หนึ่ง คุยเรื่องทั่วไปกับคนทำงานบ้าง พักกินกาแฟสักถ้วย คุยเรื่องไร้สาระสักหน่อยก่อนไปทำงานต่อ เหล่านี้เป็นวิธีการหยุดหัวใจ พักสมอง ไม่ให้เหนื่อย เกินไปในแต่ละวัน
  • ‘ความสุข’ ของผมในเวลานี้อยู่ที่นาทีนี้ว่าเจออะไรอยู่ ทุกสิ่งที่เจอเป็นสิ่งที่เราต้องเจอ เป็นอย่างนี้ และเป็นสิ่งที่ดี อยู่กับปัจจุบัน ส่วนพรุ่งนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เจอ

wan11

แนะนำคนที่ไม่เคยไปสวนโมกข์

  • ที่จริง (สวนโมกข์) คือที่ไหนก็ได้ที่ทำให้คุณเย็นใจ ถ้าไปยืนแล้วหายใจได้ลึกขึ้น ทำให้ลืมเรื่องเคร่งเครียดได้ สำหรับตัวเองได้มีโอกาสไปที่สวนโมกข์ไชยา ได้เห็นบางคนที่ดูว่าไปเที่ยวเฉย ๆ แต่ก็เห็นอยู่นาน คงเพราะได้มาเหยียบใบไม้ ได้นั่งที่ลานหินโค้งแล้วเกิดความสบายใจ ได้ยืดหัวใจ ยืดสมองตัวเอง ได้พักผ่อนในที่ที่เย็นใจ
  • ส่วนตัวเห็นว่าการบวชเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยได้บวชในวัย ๒๖ ปีที่เหมือนดั่งม้าศึก พุ่งไปแต่ข้างหน้า ลืมการหยุดมองระหว่างทาง เมื่ออยู่ในชุดพระ เราทำอะไรไม่ได้ ถือโทรศัพท์ไม่ได้ ติดต่อใครไม่ได้ ทำให้ได้คิดเรื่องระหว่างทางที่ตกหล่นไป ทำบาดแผลไว้ให้หลายคน
  • (ถามถึงความเห็นต่อการบวชภาคฤดูร้อนที่สวนโมกข์ไชยา) การทำโครงการดี ๆ แบบนี้ดีมาก แต่ก็จะมีบางคนที่ไม่เข้าใจจริง ๆ เห็นว่าก็ปล่อยให้ไม่เข้าใจไป ไม่เช่นนั้นจะยิ่งดื้อ อย่าเหนื่อยเลย
  • สำหรับหนังสือของท่านพุทธทาสมีอยู่ที่วัดชลประทานฯ หลายเล่ม เป็นหนังสือที่ย่อยง่าย ไม่รู้สึกว่าอ่านแล้วลงไปในตำราของพุทธศาสนา เหมือนอ่านบทความของนักเขียนเก่ง ๆ ท่านหนึ่ง

wan10

แนะนำคนทำงานธรรม สื่อสารให้เข้ากับยุคสมัย ให้ธรรมะมีประโยชน์กับชีวิตในปัจจุบัน และอนาคต

  • ชอบบุคลากรทางศาสนาหลาย ๆ ท่านที่พยายามนำมาปรับให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้คนเสพได้ง่ายขึ้น ตำราที่ดีอยู่แล้วก็วางไว้ในห้องสมุดเหมือนเดิม แล้วจะมีคนที่สนใจเดินมาหยิบอ่านเลือกใช้เอง สำหรับผู้ที่มีหน้าที่สื่อออกไปนั้น เห็นด้วยที่จะนำมาสื่อออกไปแบบให้อมยิ้มได้บ้าง ตัวเองก็วางหนังสือนั้นไว้ในห้องสมุดที่เดิมเช่นกัน แล้วแค่นึก แล้วหยิบมาใช้ เพราะเห็นว่าเป็นปัจจุบันเสมอ
  • สำหรับคนที่ยังไม่ค่อยสนใจธรรมะ ตัวเองจะปล่อยไปก่อน ยังไม่พยายามเชิญชวนอะไร แต่ถ้าคนที่เริ่มสนใจ อยากเข้าใจมากขึ้น อยากจะหากุญแจทองคำง่าย ๆ ติดกระเป๋าไว้สักดอกหนึ่งให้กับชีวิตในยามพบปัญหาที่ผ่านได้ยาก ก็ให้ (กุญแจทองคำนั้น) เป็นสวนโมกข์กรุงเทพก็ได้ หากเป็นคนชอบที่นี่
  • เหมือนกับคนที่คิดอะไรไม่ออก ให้ไปเริ่มต้นที่บ้าน เริ่มต้นนับหนึ่ง แล้วค่อยเดินไปเรื่อย ๆ ถ้าคุณชอบที่ไหนก็แล้วแต่ ให้คุณมี ‘บ้านของความรู้สึกเรียบง่าย’ นี้ไว้ เป็นจุด start ของการกำหนดการคิด หัวใจ การหายใจของคุณเอาไว้ ถ้านึกไม่ออก แวะมาที่นี่ มาเริ่มต้นที่ที่สบายใจที่สุด
  • (แนะนำศิลปินมาชวนคุย สื่อสารงานธรรม) ในฐานะคนที่เป็นศิษย์สวนโมกข์ และคนทำงานบันเทิงด้วย เห็นว่าไม่ใช่งานธรรมเลย ได้คุยกันสนุกมาก เพื่อนผมบางคน โอ๊ต-ปราโมทย์ ป๊อบ-ปองกูล อาร์ต-มารุต เหมือนจะดูเป็นคนแบบเล่นสนุกอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วมีวิธีการคิด การตัดสินใจ หย่อนใจ การบริหารคนได้ดีมาก ชุดความคิดใกล้เคียงกัน คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการอธิบายในหัวข้อแบบนี้

wan14

ผลงานใหม่

  • ขณะนี้กลับมาเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้งหลังจากหยุดพักไปในช่วงโควิด และได้แต่งเพลงใหม่ ๒ - ๓ เพลง น่าจะได้ฟังประมาณต้นปีหน้า
  • งานหลักที่เน้น คือช่อง YouTube: Soloist Channel มีหลายรายการเช่น ประชาชื่น เลขาCam และถ่ายทอดเล่นเกมส์ต่าง ๆ
  • ประชาชื่น season หน้า ได้ติดต่อหลายท่านไว้ หากรู้สึกว่า YouTube หมุนเร็วไป ขอเชิญแวะมาที่ช่องเชย ๆ ของผม มาพักผ่อนหย่อนใจได้ ‘ประชาชื่น live’ นอกจากร้องเพลงแล้ว มีการเชิญชวนร้าน หรือผู้ประกอบการ concept คือ ร้านโปรดที่ไม่อยากให้ปิด

หมายเหตุ: 

  • รายการ ‘ประชาชื่น’ ตอนที่ ๒๗ พาชมสถานที่ที่พี่ว่านเคยพัก สมัยบวชเมื่อปี ๒๕๕๖ ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี จุดพักใจของพี่ว่าน ที่แสนจะสงบ พี่ว่านพาไปดูกุฏิที่เคยพัก สถานที่ที่เคยเดิน และการใช้ชีวิตในขณะบวช อิ่มเอมใจแบบง่ายๆ เช่นเดิม... ชมได้ที่ YouTube Soloist Channel https://www.youtube.com/watch?v=s81tcOnh-v0&t=26s
  • นวโกวาท แปลว่า คำสั่งสอนพระใหม่หรือพระบวชใหม่ เป็นชื่อหนังสือที่เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นหนังสือที่ประมวลหัวข้อธรรมจากพระไตรปิฎกสำหรับสั่งสอนอบรมและศึกษาเล่าเรียนของพระนวกะโดยเฉพาะ ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายต่อมาใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี
  • เพลง ‘ร้อยแก้ว’
  • เพลง ‘บริบูรณ์’
  • เพลง ‘ประชาชื่น’
  • รายการ ‘ว่านไปเรื่อย’
  • รายการ ‘เลขาแคม