เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๓ หิมาลัยไม่มีจริง แต่สวนโมกข์มีจริงนะ

Share

งานจดหมายเหตุ,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ

 รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๓ หิมาลัยไม่มีจริง แต่สวนโมกข์มีจริงนะ​​

 ร่วมสำรวจการเดินทางของชีวิต ไปพร้อมกับการเดินทางภายใน

 อังคารที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔​ เวลา : ๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น.​

 Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และ นายเวลา (คธาวุฒิ โต๊ะเส็น)



ฟังที่ Sound Cloud หรือ Spotify 


ความประทับใจสวนโมกข์กรุงเทพ

  • ยังไม่มีโอกาสได้ไปสวนโมกข์ไชยา แต่ได้มาสวนโมกข์กรุงเทพหลายครั้ง ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปีแรก ที่นี่เปรียบเหมือน ‘โอเอซิส’ ในกรุงเทพ
  • เห็นว่าทุกวันนี้ คนในวัยเดียวกัน รวมถึงคนรุ่นใหม่มีความห่างจากวัดพอสมควร อาจด้วยความรู้สึกว่าวัด คือ ความเชย และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เหมือนเป็นคนละภาษา กระทั่งมีสวนโมกข์กรุงเทพเกิดขึ้น รู้สึกเป็นสถานที่ทางพุทธศาสนาที่ดูใกล้ตัว หรือใช้คำง่าย ๆ ว่า ‘เท่ห์’ ด้วยบรรยากาศ พื้นที่ สถาปัตยกรรม เชื้อชวนให้มาสัมผัส
  • สิ่งที่ทำให้สวนโมกข์กรุงเทพมีชีวิตชีวา คือสมาชิกทุกคนที่ช่วยกันสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา มีความหลากหลาย เป็นประตูหลายบานที่ทำให้เข้าถึงธรรมะ ไม่ว่าจะผ่านทางการจัดแสดงศิลปะ วงเสวนา นักวิชาการ พระสงฆ์ และผู้รู้มากมาย
  • หากจะชวนคนมาสวนโมกข์กรุงเทพ จะบอกว่าเป็นสถานที่ที่ทำให้เราได้ไปชิม และทดลองในเรื่องของธรรมะ
  • คนวัยหนุ่มสาวทุกวันนี้เติบมาในโลกที่รายล้อมไปด้วยวัตถุ ยามมองสิ่งต่าง ๆ ก็จะมองไปที่สิ่งรอบตัว อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมิติทางวัตถุ สิ่งที่ขาดหายไป คือ การกลับเข้าไปเรียนรู้โลกด้านใน ซึ่งสวนโมกข์กรุงเทพ เป็นที่ที่มีบานประตูหลายบานที่ให้เปิดเข้าไปเจอตัวตนข้างใน ซึ่งเป็นบานประตูที่หาได้ยากในโลกปัจจุบัน เป็นสถานที่สัปปายะ รู้สึกได้ถึงความสงบ สบายใจ และยังเป็นแหล่งเก็บข้อมูลและสิ่งที่ท่านพุทธทาสได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดก
  • ห้องนิพพานชิมลองเป็นอีกห้องที่ชอบ บรรยากาศเหมาะแก่การนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือการจัดกิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรม เหมือนได้ ‘ชิม’ บรรยากาศบางอย่างที่ผู้ออกแบบตั้งใจไว้

MeNN BiA 10


 

อ่านหนังสือธรรมะเล่มแรก

  • เดิมทีเป็นคนห่างไกลศาสนามาก มีความรู้สึกค่อนข้างลบ รู้สึกว่าศาสนาเป็นเรื่องน่าเบื่อ ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือไม่ชอบวิชาพุทธศาสนา ไม่ชอบการนั่งท่องจำคำต่าง ๆ เมื่อโรงเรียนจัดให้เข้าค่ายพุทธศาสนา ต้องไปนุ่งขาวห่มขาว นั่งเงียบ ๆ รู้สึกเป็นการฝืนตัวเองอย่างมาก
  • เหตุการณ์ที่ทำให้ได้มาอ่านหนังสือธรรมะเล่มแรก ‘แก่นพุทธศาสน์’ คือ เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มีอะไรให้เกาะ เกิดความผิดหวังครั้งใหญ่ อกหักแรงมาก รู้สึกเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต ผิดหวัง เหมือนโลกพัง ซึ่งสั่นคลอนคุณค่าสิ่งที่เราเคยยึดไว้อย่างรุนแรงมาก ด้วยตัวเองเติบโตมากับความเชื่อที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไม่เคยรู้สึกว่าสิ่งใดที่เราพยายามแล้ว จะทำไม่ได้ ที่ผ่านมาแม้จะไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่ก็สามารถสอบเข้าสถาบันการศึกษาที่ต้องการได้ แต่การอกหักครั้งนี้มา ‘พัง’ ความเชื่อที่มี เพราะเราได้พยายามอย่างสุดชีวิตแล้ว แต่ก็ไม่สามารถลงเอยอย่างที่เราอยากจะให้เป็น ทำให้รู้สึกว่าไม่เหลืออะไรให้ยึดเหนี่ยว แม้กระทั่งความเชื่อที่เราเคยมี ความสามารถของเรา หรือแม้แต่ตัวเอง
  • ด้วยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงเดินเข้าไปร้านหนังสือ เดินไปยังหมวดที่ไม่เคยเข้าไป หมวดศาสนา มองหาว่าจะมีเล่มใดบ้างที่จะช่วยเยียวยาจิตใจได้ และได้เลือก ‘แก่นพุทธศาสน์’ มา คิดว่าเหตุที่หยิบเล่มนี้อาจเป็นเพราะคำว่า ‘แก่น’ คิดว่าหากจะอ่านหนังสือสักเล่ม ขออ่านที่ ‘แก่น’ เลยก็แล้วกัน

254492098 482718136257399 2864223930597082992 n 1

ค้นพบ ‘ตัวกู ของกู’

  • ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน ‘แก่นพุทธศาสน์’ คือ ได้ความรู้สึกของการ ‘เขกกบาล’ เหมือนที่พูดกันว่า “คนเราเห็นธรรมะชัดที่สุด เวลาที่เราทุกข์ที่สุด” ซึ่งตัวเองตอนนั้นเหมือนแตกสลาย เปราะบาง พร้อมที่จะถูก ‘ปัญญา’ มาตีหัว ในตอนนั้นที่อ่าน ‘แก่นพุทธศาสน์’ รู้สึกเข้าใจง่ายมาก คำที่ ‘โดน’ที่สุดคือ ‘ตัวกู ของกู’ เห็นชัดมากว่าเรายึดตัวเองเป็นใหญ่ เราคิดว่าเราจะทำได้ เรามีความรัก เราปรารถนาดีต่อเขา เราเต็มที่ มีแต่คำว่า ‘กู กู กู’ เต็มไปหมด และคำว่า ‘ของกู’ ก็ชัดเจนมาก เราอยากให้เขามาเป็นของเรา ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็นของเรา ไม่มีอะไรเป็นของใคร และที่จริงคือไม่มี ‘อะไร’ ด้วยซ้ำ เป็นแค่เหตุปัจจัยสืบเนื่องกัน
  • เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ก็ค่อย ๆ ปลดล็อคสิ่งเหล่านี้ออก คล้าย ๆ ว่าท่านอาจารย์ได้เขกหัวเราแรง ๆ ให้หลุดได้แล้ว ตื่นจากความบ้า แม้จะไม่ได้หายไปในทันที แต่ก็เป็นเหมือนยาดีที่เขกหัวเราแรง ๆ ให้เราค่อย ๆ ตื่นขึ้น
  • ช่วงนั้นเป็นช่วงอ่อนแอ ความมั่นใจเหลือศูนย์ ไม่เหลือความรู้สึกว่าตัวเองนั้น ‘เจ๋ง’ ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล คือ ความรู้สึกต่อพุทธศาสนา ได้รู้ว่าที่จริงแล้วมีคำตอบบางอย่างอยู่ในพุทธศาสนา เป็นมิติที่เราไม่เคยสนใจ เราเคยสนใจแต่สิ่งข้างนอก อยากได้สิ่งข้างนอกมาเป็นของเรา แต่เราไม่เคยได้กลับไปทบทวนข้างใน เมื่อได้อ่าน ทำให้ได้กลับมาส่องดูข้างในตัวเอง และพบว่ามีอะไรพันกันอยู่เต็มไปหมด เรายึดอะไรไว้มากมาย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยหนุ่ม เราหล่อหลอมตัวเอง สร้างภาพตัวเองเป็นอะไรบางอย่างขึ้นมา แม้ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ แต่ก็เห็นสิ่งเหล่านี้ชัดมาก เรายึดตัวตนไว้มากเหลือเกิน

254032089 972895276903570 6327342222958861454 n


‘ตัวกู’ ไม่ใช่ ‘ของกู’

  • ตอนนั้นทำความเข้าใจกับพุทธศาสนาในเชิงปรัชญาอยู่พอสมควร เข้าใจว่าคำสอนของท่านพุทธทาสเป็นวิธีคิดที่เราสามารถนำวิธีคิดนั้นมาปรับใช้กับวิธีคิดของเรา แล้วก็ทำความเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นในความทุกข์ตอนนั้น และค่อย ๆ เห็นความทุกข์ และที่มาของทุกข์ชัดเจนขึ้น แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ คิดว่าตัวเองได้ดำเนินควบคู่มากับการปฏิบัติมากขึ้น แม้ไม่ใช่นักปฏิบัติ แต่จากการได้ทำรายการพื้นที่ชีวิต ซึ่งเป็นงานที่เปลี่ยนแปลงชีวิตมาก ได้เข้าใจมิติเชิงปฏิบัติมากขึ้น ได้เรียนรู้เรื่อง ‘สติ’ และ ‘ความรู้สึกตัว’ มากขึ้น ‘ตัวกู ของกู’ มาพร้อมกับ ‘สติ’ มีความ ‘ทัน’ ตัวเองมากขึ้น ว่าเรากำลังโกรธ กำลังอยากได้ หรือว่ากำลังหลงไป เมื่อใดที่ ‘ทัน’ ก็จะทุกข์น้อยลง เห็นว่า ‘ตัวกู’ มาพร้อมกับอารมณ์โลภ โกรธ หลง เมื่อเห็น ‘ตัวกู’ ก็ค่อย ๆ คลายจางลง

249866451 4524808997587975 3909848684350477562 n


ความ ‘รู้’ กับ ‘ปัญญา’ ที่ได้สัมผัส

  • ก่อนหน้าที่จะปฏิบัติ ตัวเองไม่มีความรู้สึกว่าคนเราจะต้องปฏิบัติธรรม เข้าใจมาตลอดว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา ที่เราสามารถเข้าใจแนวความคิดแล้วเอามาปรับใช้กับชีวิตก็สมบูรณ์แบบแล้ว จุดแรกที่เปลี่ยนความคิด คือตอนที่ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ท่านโกเอ็นก้าที่ประเทศอินเดีย เมื่อได้พบท่าน สัมผัสได้ถึงความเมตตาก้อนใหญ่ ไม่เคยเจอคนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึก ‘เย็น’ อย่างนี้มาก่อน  ที่อินเดียเรียกท่านว่า ‘The Living Buddha’ ถามคำถามท่านไปมากมาย สิ่งที่ท่านตอบมาแทบจะเป็นคำตอบเดียว คือ “คุณไปปฏิบัติ” และจบท้ายการสัมภาษณ์ด้วยท่านกล่าวว่า “คุณสัญญานะ ว่ากลับประเทศไทยแล้วคุณจะไปปฏิบัติที่ศูนย์ฯ ของโกเอ็นก้า* สักที่หนึ่ง” (*ศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ปัจจุบันในไทยมีอยู่ ๑๐ แห่งกระจายอยู่ทุกภาค) และตนได้รับปากท่าน เมื่อกลับมาประเทศไทย ได้ไปเข้าปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติฯ ธรรมสีมันตะ จ.ลำพูน เป็นเวลาสิบวันที่เปลี่ยนชีวิตไปพอสมควร เพราะได้เปลี่ยนความคิดตนจากที่คิดว่า ธรรมะคือการอ่านและเข้าใจความคิด กลายมาเป็น ธรรมะที่แท้คือต้อง ‘รู้’ ได้ด้วยตนเอง
  • เมื่อไม่ได้พูด ไม่ได้ติดต่อกับใคร ไม่ได้อ่านหนังสือหรือเสพสื่อใด ๆ ทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ข้างในเต็มไปหมด ในวันที่อาจารย์สอนปฏิบัติด้วยการเคลื่อนจิตไปทั่วร่าง เห็นอาการปวดตึงที่หัวเข่า และเมื่อเคลื่อนกลับมาอีกที ได้เห็นว่าความเมื่อยหายไป ได้เห็น‘อนิจจัง’ ความเปลี่ยนแปลง ‘เป็น’ แล้ว ‘ไม่เป็น’ เป็นครั้งแรกที่เข้าใจ ‘อนิจจัง’ ที่ไม่ใช่การอ่าน ช่วงธรรมบรรยายเป็นช่วงที่มีเสน่ห์มาก เหมือนท่านอาจารย์ตอบคำถามเราทั้งที่เรายังไม่ได้ถาม
  • ต่อมาได้ไปปฏิบัติที่วัดป่าโสมพนัส จ. สกลนคร (สถานปฏิบัติธรรมการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) ปฏิบัติแนวทางเคลื่อนไหว พบว่ามีความแตกต่างจากการปฏิบัติตามแนวทางท่านโกเอ็นก้า (อานาปานสติ วิปัสสนากรรมฐาน) คือ การปฏิบัติตามแนวทางท่านโกเอ็นก้านั้นเหมือนการเข้าค่ายที่เคร่งมาก ๆ เป็นการฝึกการตั้งจิตอธิษฐานด้วยการนั่งสมาธิภาวนาทั้งวัน และฟังธรรมบรรยายตอนกลางคืน การนั่งสมาธิโดยไม่ขยับ ทำให้ได้ฝึกความอดทน อยู่กับสิ่งที่ค้านกับตัวเองมาก แต่ในการฝืนนี้มีข้อดี คือได้พาตัวเองไปอยู่ในอีกสภาวะหนึ่งที่ไม่เคยได้ฝึกหัดมาก่อน
  • ในขณะที่สายหลวงพ่อเทียน การเคลื่อนไหว ๑๔ จังหวะ ที่วัดป่าโสมพนัส เป็นแนวที่ดูจะเข้ากับตัวเองมาก ด้วยเป็นคนชอบเคลื่อนไหว ช่วยให้ไม่ง่วง แต่จะมีความ ‘โหด’อยู่ในช่วงเดินจงกรม เดินนานมาก และมีความรู้สึกง่วงมาก ได้ถูกพาไปเดินในที่ขรุขระมาก ๆ กิ่งไม้กีดขวาง ได้ไปนอนที่กุฏิเล้าไก่เพียงลำพัง ได้ฝึกอยู่กับความกลัว
  • ความแตกต่างคือ สายหนึ่งคือนั่งนิ่ง อีกสายคือเคลื่อนไหวตลอดเวลา สิ่งที่ได้มาคือ แนวทางที่จะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ทั้งสองแบบ เช่น การกลับมาอยู่กับตัวด้วยการขยับมือ เอามือมาถูกัน


254071427 264632492150347 5316870542704643854 n

การเดินทางจากภายนอกสู่ภายใน ‘หิมาลัยไม่มีจริง’

  • การเดินทางไปหิมาลัยครั้งนั้นคือการกลับไปประเทศเนปาลอีกครั้ง ไปเดินเขา ด้วยเคยประทับใจอย่างมากจากที่เคยได้เดินไปถึงยอดพูนฮิลล์ (Poon Hill) ที่ความสูง ๓,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ชอบบรรยากาศอย่างมาก จึงอยากกลับไปอีกครั้ง เป็นเส้นทางที่เย้ายวน โดยครั้งนี้จะไปที่ Everest Base Camp (EBC) จุดที่นักปีนเขาทุกคนต้องไปตั้งแคมป์ตรงนั้น
  • การไปครั้งนั้นเป็นที่ช่วงเวลาที่สภาวะจิตใจมีความเปราะบางของอีกช่วงชีวิต อาจเป็นวิกฤติวัยกลางคน ใช้ชีวิตมาถึงช่วงหนึ่ง แต่งงาน มีบ้าน หน้าที่การงานตอบโจทย์ตัวเองแล้ว แล้วเกิดคำถามกับตัวเองว่า ‘ยังไงต่อ’ เกิดความสับสนในใจ เมื่อเพื่อนมาชวนไป จึงตกลงไปด้วย
  • ในขณะที่สภาพจิตใจมีความสับสน เมื่อตัดภาพไปอยู่บนเส้นทางที่แวดล้อมไปด้วยหิมะ มีความ contrast (ขัดแย้ง) กันมาก หิมาลัยมีพลังพิเศษ พลังมหึมามาก ๆ ตอนที่ได้เห็นครั้งแรกรู้สึกว่าไม่เคยเห็นสิ่งใดในโลกที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ภูเขาหิมะสูงใหญ่สุดลูกหูลูกตา ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งก่อสร้างใด ๆ สร้างความรู้สึกว่าเรากระจอกมาก มนุษย์ทุกคนนั้นจิ๋วมาก หายไปเลยเมื่อเทียบกับหิมาลัย
  • หิมาลัย ไม่ใช่แค่ภูเขา แต่คือเทือกเขาที่โอบเราอยู่ตลอดเวลา เหมือนยักษ์ที่ส่องเราอยู่ตลอด เมื่อไปอยู่ตรงนั้น รู้สึกว่าเราผยองได้ยากมาก เป็นโลกอีกใบที่เงียบมาก การที่เราจะเดินขึ้นไปถึงระดับประมาณสี่พันเมตรนั้นร่างกายเราจะเหนื่อยอ่อนอย่างมากด้วยระดับออกซิเจนต่ำ เมื่อเงยหน้าไปเจอยอดภูเขาหิมะที่ใหญ่ขนาดนั้นอยู่รอบตัว เหมือนกับตัวเราหายไป เห็นได้ชัดว่าตัวเรานั้นจิ๋วมาก แต่ก็เป็นความรู้สึกที่ดีมาก เห็นเราอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง
  • หิมาลัยไม่มีจริง – เมื่อเดินขึ้นเขาสูงขึ้น ๆ สัญญาณโทรศัพท์มีน้อยลง ๆ ผู้คนก็พบได้น้อยลง เรื่องที่คิดระหว่างการเดินก็ค่อย ๆ หมดไป ได้อยู่กับปัจจุบันขณะมาก ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเต็มไปหมด ตั้งแต่ยามตื่น จะเห็นเมฆที่ลอยขึ้นและค่อย ๆ ก่อตัว ฝนพรำ ฟ้าสว่าง แดดออก สายน้ำไหลผ่านโตรกผา การเดินทำให้เห็นภาพทั้งภาพไกล ภาพกว้าง ภาพแคบ เห็นต้นไม้ใหญ่ที่พังลง เห็นการเกิดและการตายของธรรมชาติอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดอะไรขึ้นบางอย่างอย่างในตัวเรา บอกตัวเองว่าทุกอย่างคือแบบนี้ และเราก็อยู่ในวงจรนี้ ช่วงเวลาที่ได้เห็นวันแล้ว วันเล่า ทำให้รู้สึกเบา สงบมาก จนรู้สึกว่าที่จริงแล้วไม่มีอะไรเลย แม้แต่หิมาลัยก็ไม่มี ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่แทบทุกวินาที แล้วเราจะนิยาม ‘หิมาลัย’ ได้อย่างไร ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา นั่นคือไม่มี แต่ก็มีหมดทุกอย่างอยู่ในนั้น
  • ความรู้สึกที่อยู่บนหิมาลัย สามารถเกิดขึ้นกับสถานที่อื่นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับสถานที่นั้นว่าเปิดโอกาสให้เราได้ ‘เห็น’ มากแค่ไหน เช่น บางที่อาจรู้สึกถึงการใคร่รู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ในขณะที่บางสถานที่ก็เชื้อเชิญให้เราได้เดินทางกลับไปข้างใน

มุมมองเกี่ยวกับการเดินทาง

  • การเดินทางมีหลายมิติ และหลายระดับ เช่น การพักผ่อนท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา
  • สิ่งที่ทำให้การเดินทางของตัวเองเปลี่ยนไป คือ การทำรายการพื้นที่ชีวิต ทำให้มีสายตาของนักทำสารคดีอยู่ในระหว่างการเดินทางด้วย จากสมัยหนุ่มที่การเดินทางคือการทำตัวสบาย ๆ ไม่ได้เตรียมข้อมูลอะไร แต่เมื่อมาได้ทำรายการฯ ทำให้เห็นว่าการมี background ไปส่วนหนึ่ง จะทำให้สถานที่นั้นมีความมหัศจรรย์ มีเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น
  • ทุกวันนี้มีการเดินทางทั้งสองแบบ หากไปเพื่อการพักผ่อน ไปเที่ยว ก็จะไม่ได้เตรียมอะไรมาก แต่ถ้าหากไปแล้วคิดว่าจะเขียนหนังสือออกมาด้วย ก็จะหาข้อมูลก่อน หรือเมื่อไปถึงก็จะหาไกด์นำเที่ยว พูดคุยกับคนท้องถิ่น เพื่อให้เห็น ‘ข้างหลัง’ ของสถานที่นั้นว่าก่อนหน้านี้เคยเป็นอย่างไร

DSC 1118 details cr

แนะนำคนทำงานธรรม

  • เห็นว่าสวนโมกข์กรุงเทพนั้นทำได้ดีมาตลอด คิดว่าความหลากหลายเป็นเรื่องจำเป็น ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่ต้องการมิติด้านใน เรียนรู้จิตใจตัวเอง ดังที่ท่านพุทธทาสพูดไว้ว่า คนเป็นโรคทางจิตวิญญาณ’ ซึ่งเราไม่เห็นโรคทางจิตวิญญาณของตัวเองเท่าไหร่นัก ไม่รู้ที่มาแห่งทุกข์ว่ามาจากอะไร ซึ่งสวนโมกข์กรุงเทพมีบ่อน้ำแห่งจิตวิญญาณที่สำคัญ มีบานประตู การมีคนรุ่นใหม่มาทำงาน จะช่วยกันสร้างบานประตูที่หลากหลายขึ้น
  • ได้ฟังจากเพื่อนบางคนบอกว่าสวนโมกข์กรุงเทพเป็นสถานที่ chic (เก๋ ๆ) สำหรับคนชั้นกลาง อยากให้เพิ่มบานประตูให้กับคนในกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนชั้นกลางได้เข้ามาสัมผัสได้ด้วย จัดกิจกรรมให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย
  • เสนอการเป็นพื้นที่ให้กับเรื่องราวทางสังคม โดยเชื่อมโยงธรรมะเข้ากับสังคม ซึ่งขณะนี้สังคมมีประเด็นหลากหลายที่ในยามถกกันอาจขาดมิติทางจิตใจไป เป็นแต่เรื่องของเหตุและผล หากได้ผสมมิติของจิตใจเข้าไปด้วย น่าจะเป็นประโยขน์
  • เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่มีการตั้งคำถามมาก ตนเห็นว่าเป็นโอกาส เพราะการตั้งคำถามคือประตูของการค้นหาคำตอบ เพียงแต่ที่คำตอบที่วางไว้นั้น เห็นด้วยหรือเปล่า เป็นภาษาเดียวกันหรือเปล่า
  • คนรุ่นใหม่เป็นคนที่ต้องการมีส่วนร่วม ต้องการบทสนทนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเกิดคำถาม มีคนแสดงความคิดเห็น แล้วช่วยกันคิดไป คือความรู้สึกของเสรีภาพ อิสรภาพที่ต้องการทดลองหาคำตอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่ธรรมะในรูปแบบของสูตรสำเร็จ ควรเปิดพื้นที่ให้เรียนรู้ร่วมกัน ได้เห็นความทุกข์ของกันและกัน ในพื้นที่ที่ปลอดภัยทำให้เราสามารถแสดงความทุกข์ออกมาได้ ซึ่งพื้นที่แบบนี้มีความจำเป็นอย่างมาก จะสามารถพูดเรื่องธรรมะในมุมที่เป็นชีวิตจริงได้อย่างไร
  • เมื่อเราเกิดประสบการณ์จากชีวิตจริงของเรา แล้วธรรมะสามารถเข้าไปในรอยแตกนั้น จะเป็นร่องที่พอดีของสิ่งที่เรากำลังมองหาอยู่ แต่ในเวลานี้ เห็นว่ามิติทางสังคมและความทุกข์ส่วนตัวนั้นห่างไกลจากศาสนาอยู่พอสมควร เห็นว่าสวนโมกข์กรุงเทพจะช่วยในบทบาทนี้ได้
  • เสนอโครงการนำงานท่านพุทธทาสมาขยาย หรือคิดหัวข้อธรรมะ แล้วมีวิธีการสื่อสารเรียบเรียง ให้เป็นภาษาที่เป็น contemporary (ร่วมสมัย) มากขึ้น แปลงธรรมะเป็นคำที่อยู่ในชีวิตประจำวัน จะเข้าถึงได้มากขึ้น

IMG 4835 1sm

ความเห็นต่อการเยียวยาบำบัดทางจิตในแนวพุทธศาสนา

  • Already Free (โดย Bruce Tift MA LMFT) ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ทำให้เห็นว่าวิธีคิดแบบตะวันตกที่คิดแบบจิตบำบัด คือวิธีคิด ‘เชิงพัฒนาการ’ ซึ่งวิเคราะห์ว่าความทุกข์เกิดจากอดีต นักจิตวิทยาจะทำงานสลายปมในอดีต ให้ค่อย ๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้น ให้ความทุกข์ลดลง เป็นการไปทำงานกับอดีต ในขณะที่พุทธศาสนา คือการยอมรับเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น เพียงอยู่ตรงนั้น ยอมรับในสิ่งที่เป็นไป เป็นสองมุมมองที่ดูขัดแย้งกัน
  • น่าสนใจที่ผู้เขียนนั้นศึกษาพุทธศาสนา แนววัชรยาน และเป็นนักจิตบำบัด ที่ได้เชื้อเชิญผู้อ่านให้กลับมาดูที่กายเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น มีปฏิกิริยาใด สิ่งที่เกิดอาจไม่จำเป็นต้องกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์แบบ ความทุกข์ที่เกิดในอดีตนั้นผ่านไปแล้ว แต่ทุกข์ในปัจจุบันกำลังดำเนินอยู่ ดังนั้นคุณอาจเพียงโอบอุ้มตัวเองไว้ แล้วอยู่กับความรู้สึกนั้น ยอมรับทุกข์มากขึ้น
  • สิ่งหนึ่งที่หนังสือนี้ได้กล่าวไว้ “คุณลองคิดดูหากนี่คือทั้งหมดที่ชีวิตจะให้คุณได้ ไม่ว่าจะดีหรือเลว นี่คือคำตอบที่ชีวิตจะให้คุณได้ในตอนนี้ สิ่งที่คุณทำได้ในตอนนี้คือ เปิดใจออกให้กว้างที่สุดแล้วอยู่กับมัน” เป็นที่มาของชื่อหนังสือ ‘Already Free’ ไม่จำเป็นที่ต้องพยายามเป็นอิสระ คุณเป็นอิสระอยู่แล้ว

หนังสือเล่มใหม่

  • หนังสือ ๒ เล่มออกใหม่พร้อมกัน เล่มแรกอ่านแล้วจะ ‘รักตัวเองมากขึ้น’ และอีกเล่ม อ่านแล้วจะ ‘เกลียดคนอื่นน้อยลง’
  • ‘Have a Nice Life’ คล้ายหนังสือ how-to เน้นที่นิสัย ๑๒ นิสัยที่สำคัญกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง แรงบันดาลใจในการเขียนเล่มนี้ได้มาจากการตื่นขึ้นมาทำรายการ ‘Have a Nice Day’
  • ‘ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว’ เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากเขียนหนังสือเกียวกับ ‘อคติ’ ที่คิดว่าจำเป็นกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ความเห็นที่แตกต่างในหลายประเด็น หนังสือจะอธิบายที่มาของความแตกต่างต่าง ๆ ในโลก เพื่อสลายอคติ เล่มนี้เกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือ รวบรวม แล้วมาเรียบเรียง ชวนคุยกัน

 

*หมายเหตุ: ‘หิมาลัยไม่มีจริง’ หนังสือโดย นิ้วกลม บันทึกการเดินทางมุ่งหน้าสู่ EBC (Everest Based Camp) หรือ ค่ายฐานเอเวอเรสต์ ประเทศเนปาล