เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๒ สวนโมกข์ สวนใจ ไปกับท่าน ว.

Share

งานจดหมายเหตุ,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ

รายการ เด็กสวน (โมกข์) ตอนที่ ๒ สวนโมกข์ สวนใจ ไปกับท่าน ว.

ชวนคุยกันว่าด้วยเรื่อง จากการคิดลาสิกขา สู่การเป็น ว.วชิรเมธี ในปัจจุบัน

วันอังคารที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา : ๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น.

Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และนายเวลา

 

243435913 1010938579740219 2239955684187956197 n

รับฟังทั้งหมดได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=IXf63qC1Pdw&t=3s

https://soundcloud.com/suan-mokkh/qqpod3urktfs?si=12b60c905e904a8c834a30930ecf0ab4

https://open.spotify.com/episode/1MopiDwNwBhqLgo4cLy4dF?si=6b31cb31662a4a0d

 

พบกับท่านอาจารย์พุทธทาสครั้งแรกได้อย่างไร

  • รู้จักท่านอาจารย์ครั้งแรกจากหนังสือ "สายลมและแสงแดด" ของคุณวิลาศ มณีวัต มีตอนหนึ่งที่พูดถึงสวนโมกข์ และยกย่องท่านพุทธทาสเอาไว้มากว่า “คนไทยอย่าไปเสียใจเลยที่สร้างเครื่องบินไม่ได้สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เราไม่ต้องเสียใจ เพราะฝรั่งจะเก่งแค่ไหนก็สร้างคนอย่างพุทธทาสไม่ได้” จึงอยากรู้ขึ้นมาว่า คนเรามันจะเก่งขนาดนั้นเลยรึ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อพุทธทาส จากนั้นจึงเริ่มอ่านงานของท่าน และได้ไปเจอหนังสือพุทธทาสลิขิต เป็นหนังสือที่ท่านเขียนถึงสามเณรกรุณา กุศลาสัย น้องชายในธรรมของท่าน ซึ่งสามเณรรูปนี้เองที่ได้เขียนจดหมายข่าวต่างๆ มาลงที่นิตยสารรายตรีมาสของท่านพุทธทาสที่ชื่อว่า "พุทธสาสนา"

  • หมัดเด็ดในหนังสือลิขิตพุทธทาส ที่ได้รวบรวมจดหมาย ๑๕ ฉบับ มาตีพิมพ์ไว้ หนังสือเล่มนี้ได้เผยให้เห็นถึงจิตใจของท่านพุทธทาสในวัยหนุ่ม ในยุคอุดมคติ ที่ความเป็นพุทธทาสกำลังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นงานที่บริสุทธิ์ เรื่องราวเหล่านี้ประทับใจมาก และจับเคล็ดได้อย่างหนึ่งว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสนั้นเป็นหนอนหนังสือ ถ้าจะตามรอยพุทธทาสก็ต้องเป็นหนอนหนังสือ ก็เลยเริ่มหางานของท่านมาอ่านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

  • ปี ๒๕๔๔ นั่งรถไฟไปสวนโมกข์ ไปนอนอยู่ ๓ - ๔ คืน เพื่อไปดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับท่านพุทธทาส ได้เกิดอุดมคติขึ้นมาว่า ถ้าฉันเรียนจบเปรียญ ๙ จะกลับต่างจังหวัด จะไม่อยู่ในกรุงเทพฯ พอได้ไปเห็นกุฏิท่าน ที่อยู่ ที่นอน ที่เขียนหนังสือ เหมือนไปดูรอยมือรอยเท้าท่าน จึงเกิดความเห็นอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรียนหนังสือจบเมื่อไหร่จะกลับเชียงราย มาใช้ชีวิตแบบพ่อแม่ครูอาจารย์ และนี่คือสิ่งที่ปูพื้นจากการตามรอยท่านไปถึงสวนโมกข์

256418868 229643455904717 4677577992216153601 n

 

แรงบันดาลใจที่ได้จากการไปสวนโมกข์

  • ตอนนั้นเรียนมาสิบปีเพื่อให้ได้เปรียญ ๙ แต่พอได้เปรียญ ๙ ดีใจอยู่คืนเดียว รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้วิเศษวิโสอะไร รู้สึกขึ้นมาว่าต่อไปนี้จะทำอะไร หมดความกดดันแล้ว ต่อไปนี้ชีวิตต้องตัดสินใจเอง ช่วงหนึ่งมีความรู้สึกขึ้นมาว่าบวชมาตั้งนานแล้ว จึงคิดจะลาสิกขา มีแผนอะไรในหัวมากมาย ช่วงนั้นได้ไปอ่านหนังสือสู้แล้วรวย รู้สึกว่าสร้างเนื้อสร้างตัวนั้นสนุกทีเดียว ไอเดียธุรกิจเต็มไปหมด

  • วันหนึ่งได้หยิบพระไตรปิฎก และงานธรรมโฆษณ์มาอ่าน พอหยิบธรรมโฆษณ์มาอ่านเท่านั้นแหละ สัญญาเก่าที่ว่าเราเคยเป็นแฟนคลับท่านพุทธทาสมันกลับมาอีกครั้ง ก็เลยชวนพระอีกสองรูปไปสวนโมกข์ ได้พบท่านอาจารย์โพธิ์ ให้ไปนอนในกุฏิที่อยู่ค่อนข้างลึกติดโรงปั้น แล้วก็ไปกลัวผีที่นั่นสุดๆ แต่พอเราเอาชนะความกลัวได้ มันก็ไม่มากวนเราอีกเลย และความคิดเรื่องการลาสิกขาก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะเกิดความเชื่อมั่นว่า “ครูบาอาจารย์ท่านก็อยู่ง่ายกินง่าย อยู่อย่างต่ำทำอย่างสูง แต่งานของท่านช่างมีคุณูปการต่อโลกเหลือเกินแล้วเราล่ะจะใช้ชีวิตแบบนี้ได้ไหม” จากนั้นก็พับเรื่องการลาสิกขาไป ต่อแต่นี้จะใช้ชีวิตในการเผยแผ่ธรรมะ

  • ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาจุฬาฯ เพราะท่านพุทธทาสได้ปรารภเอาไว้ว่า คนหนุ่มอย่างเราถ้าความรู้ทางโลกยังไม่ดี โอกาสที่จะทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ก็เป็นไปได้ยาก คำนี้ก้องอยู่ในมโนธรรมสำนึกอยู่ตลอดเวลา พอจบแล้วได้ไปปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่ดงพญาเย็นอยู่ ๑ เดือน จนลืมความคิดเรื่องลาสิกขาไปได้เลย เกิดความเชื่อมั่นว่ามาเผยแผ่ธรรมกันดีกว่า จากนั้นก็เริ่มจับงานเผยแผ่อย่างจริงจังเป็นต้นมา สรุปสั้นๆ ได้ว่า จากการไปสวนโมกข์คราวนั้นทำให้พับโครงการลาสิกขาไปเลย

DSC00625

การเอาชนะความกลัวผี

  • พอสามทุ่มสวนโมกข์จะปิดไฟ ตัวพระอาจารย์นี่กลัวผีมาตั้งแต่เด็ก เพราะเคยไปดูหนังผีเรื่องแม่นาคพระโขนง ผีหัวขาด ทำให้กลัวผีจับจิตจับใจ พอไปสวนโมกข์พระต้องนอนกุฏิละ ๑ รูป เรามีอุบายนะว่าเรากลัวผี ดังนั้นเราจะทำยังไงให้นอนหลับเร็วที่สุด ก็เลยพาเพื่อนเดินไปทั่วสวนโมกข์ ปีนไปถึงเขาพุทธทอง เป้าหมายคือเดินจนเพลียแล้วจะได้หลับปุ๋ย ปรากฏว่าพอหลังสามทุ่มปิดไฟแล้วมันไม่หลับ ความกลัวมันมีมากกว่าความเหนื่อย ก็เลยจุดเทียนอ่านหนังสือ จนมีเงาผ่านมาที่หน้าต่าง ต้องนอนคลุมโปงแล้วสวดมนต์ ไปถึงตีสี่ พอถึงกลางวันได้เห็นลิงที่อยู่บนต้นไม้ จึงได้รู้ว่าเงาที่เห็นตอนกลางคืนก็คือเงาของลิงพวกนี้นี่เอง พอรู้เช่นนี้แล้วคืนที่สองนอนหลับสนิทมาก และตั้งแต่นั้นความกลัวผีไม่มารบกวนอีกเลย

ได้อะไรจากสวนโมกข์

  • ได้แรงบันดาลใจว่าเราสามารถมีชีวิตแบบพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ได้ อยู่อย่างต่ำกระทำอย่างสูง ขอแค่มีที่เหมาะๆ สักที่ แล้วเราก็ลงหลักปักฐานเผยแผ่ธรรมะ และความกลัวผีที่กัดกินเรามาตลอดชีวิตมันหล่นหายไป

ประทับใจอะไรในสวนโมกข์ไชยา

  • อาตมาชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เป็นเณรน้อย สวนโมกข์นั้นอยู่ในใจเราอยู่แล้วทุกแง่ทุกมุม เหมือนเราคุ้นเคยกับท่านอาจารย์เหลือเกิน ต่างแค่ยังไม่ได้ไปเห็นของจริงเท่านั้น สถานที่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเขาพุทธทอง โรงมหรสพทางวิญญาณ โรงปั้น ลานทราย กุฎิ ผ่านตามาหมดแล้ว เหลือก็แต่ไปเห็นของจริง อาตมาจึงเดินไปทั่ว ไปถึงกุฏิท่านก็ไปส่องอยู่นานสองนาน เพราะอยากรู้ว่าท่านอยู่อย่างไร ฉันอย่างไร ไปดูตุ่มอาบน้ำของท่าน ไปดูเก้าอี้ว่างของท่านที่ท่านนั่งเทศน์นั่งสอน อาตมามีฉันทะชอบเขียนหนังสือจึงเก็บข้อมูลทุกอย่าง จนได้เห็นว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านอยู่เรียบง่ายเหลือเกิน พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ อะไรก็ตามที่ไม่เหมาะกับสมณเพศ ที่อยู่ในห้องขนทิ้งหมดเลย เพราะเราอายครูบาอาจารย์

  • ตอนนี้ทำโครงการ workshop เปรียญธรรม ๙ ประโยค อยู่ ๒๐ รูป ตั้งใจว่าก่อนจบหลักสูตรจะพาท่านไปสวนโมกข์ อยากให้ไปเห็นที่อยู่ ที่ฉัน ที่ทำงาน ของพ่อแม่ครูอาจารย์ คิดว่าแรงบันดาลใจนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่เราอ่านหนังสือเยอะเลย เพราะบางสิ่งบางอย่างมันกระทบในใจแต่เราพูดไม่ได้ว่าเจออะไรมา นั่นแหละจึงเดินดูจนทั่ว จนตกลงใจว่า “ถ้าครูบาอาจารย์ทำงานเพื่อโลกขนาดนี้ได้ โดยที่กุฏิก็หลังเล็กๆ แค่นี้เอง แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้” เพราะต้นทุนนั้นไม่ต้องใช้เงินใช้ทองอะไรเลย แค่หาที่เหมาะๆ สักที่หนึ่งซึ่งเป็นสัปปายะ ต่อการเทศน์ การสอน การทำงาน แค่นั้นก็พอละ นี่คือสิ่งที่ได้จากการไปเห็นของจริง

 

การเริ่มลงมือหาที่ทางในการเผยแผ่

  • เรามีที่ทางอยู่แล้วที่เชียงราย ที่เหลือก็คือลองออกจากกรุงเทพฯ มาอยู่ ว่าเราจะอยู่ได้มั้ย อยู่ป่าจะอยู่ได้มั้ย จึงลองมาอยู่ที่เขาลูกหนึ่งตรงข้ามกับไร่เชิญตะวันในปัจจุบัน เรียกว่าอาศรมอิสรชน ปรากฏว่ายิ่งอยู่ไปๆ ยิ่งชอบ จิตก็ถอนจากกรุงเทพฯ โดยอัตโนมัติ การมาอยู่ในป่าในดง นอนแค่คืนละ ๒ - ๓ ชั่วโมงเป็นไปได้จริงเพราะหลับสนิท อ่านพระไตรปิฎกในป่าให้ความลึกซึ้งเหมือนที่ท่านอาจารย์พูดถึง รอจนกระทั่งเรียนจบ ตั้งใจจะขึ้นมาเลย แต่ว่าธรรมะติดปีกเกิดดังเสียก่อน เลยยืดเยื้ออยู่กรุงเทพฯ อีกหลายปี กว่าจะได้ขึ้นมาจริงๆ ก็ปี ๕๒

ประสบการณ์ที่ดงพญาเย็น

  • โชคดีที่ตอนอายุ ๑๙ หลวงพ่อได้มอบหมายให้อบรมครูสอนบาลีที่วัดอัมพวัน ของหลวงพ่อจรัญ (พระธรรมสิงหบุราจารย์ จรัญ ฐิตธัมโม) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่าวิปัสสนาคืออะไร

  • ตอนเรียนมหาจุฬาฯ พอจะจบปริญญาโท ต้องเข้ากรรมฐาน ๑ เดือนเต็มถึงจะจบได้ จึงไปเข้ากรรมฐานตามหลักสูตรที่ดงพญาเย็น ระหว่างที่ปฏิบัติธรรมเข้มงวด ปิดวาจา ห้ามอ่านหนังสือ เราเป็นหนอนหนังสือแต่ห้ามอ่านหนังสือ ถึงขั้นจะลงแดงเลยนะ วันหนึ่งเราไปอยู่ในโลกที่ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีหนังสือ ไม่มีมนุษย์ ลองคิดดูว่ามันจะขนาดไหน วันหนึ่งเดินไปเจอหนังสือพิมพ์ข่าวสด พอไปอ่านเท่านั้นแหละกรรมฐานรั่ว จิตที่นิ่งมาเป็นอย่างดีหลุดหมด ต้องเริ่มต้นใหม่

  • วันหนึ่งได้ค้นพบความสุข : ขณะที่ซักจีวรอยู่ดีๆ จิตมันรวม ตัวตนเรามันหายไปแล้วจิตมันสว่างขึ้นมาว่า พบสุขในชีวิตพระที่พระพุทธเจ้าสอน มันคงจะเป็นแบบนี้แหละ เป็นความสุขที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระ ไม่เคยเจอมาก่อน จนอุทานออกมาว่า “พระพุทธเจ้าตรัสว่าความสุขของชีวิตพระมันเป็นอย่างนี้ในพระไตรปิฎก” วันนี้เป็นวันที่เราเจอละ เจอความสุขที่ว่านั่นแล้ว พอกลับถึงกรุงเทพฯ จึงคิดว่าต้องกลับบ้าน เพื่อไปหาที่ๆ สัปปายะสักที่หนึ่ง ลงหลักปักฐานเรื่องงานธรรมะ เหมือนอุดมคติที่มีอยู่เดิม

กลับมาตั้งต้นที่งานชุดธรรมโฆษณ์อีกครั้งหนึ่ง

  • สมัยก่อนเคยมองว่าท่านพุทธทาสเป็นนักปริยัติ เพราะเราไม่มีพื้นกรรมฐาน พอวันหนึ่งเราไปเข้ากรรมฐานมาแล้วกลับมาอ่านท่านใหม่ เราเข้าใจครูบาอาจารย์ผิดมาตลอด เราคิดว่าท่านเป็นเจ้าสำนัก เป็นนักคิด นักปราชญ์ พอมาอ่านใหม่ ท่านพุทธทาสพูดแต่ละเรื่องนี่วิปัสสนาทั้งนั้น คราวนี้ได้เห็นท่านพุทธทาสอีกครั้งหนึ่ง แล้วคราวนี้เราเคารพรักท่านสุดใจเลยนะ พอมาอ่านหลังๆ เราเห็นได้ชัดว่า ครูบาอาจารย์ของเราท่านแม่นกรรมฐานมากเลย พอมาอ่านใหม่ เช่นวิปัสสนาแบบลัดสั้น อานาปานสติฉบับสมบูรณ์ จึงรู้ว่าคนเราไม่เคยภาวนามันพูดขนาดนี้ไม่ได้หรอก

247285009 238780318147027 492507857536789040 n

เคยลองอานาปานสติแบบท่านพุทธทาสแนะนำหรือไม่

  • เคยลองแต่ไม่ได้ลงลึก เหมือนแตะแผ่วๆ แต่พอไปเข้ากรรมฐานรอบสองมีความต่อเนื่อง จึงสรุปหลักการได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าจะภาวนาต้องต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องไม่ได้ผลอะไรหรอก เหมือนกินยาไม่ครบโดส หลังจากไปภาวนาแล้วมาอ่านงานท่านพุทธทาสใหม่ เราประเมินค่าท่านใหม่เลย ท่านไม่ใช่แค่นักตำรา ไม่ใช่แค่นักคิด นักปราชญ์ นักทำหนังสือ ท่านเป็นนักวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่งเลยทีเดียว ยิ่งมารู้ที่หลังว่าหลวงพ่อชาก็ยังฟังธรรมะของท่านพุทธทาส ก็เลยได้สรุปบทเรียนว่า ถ้าท่านไม่ลึกซึ้งหลวงพ่อชาไม่อยากมาสวนโมกข์หรอก

  • การจะศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ ถ้าเราไม่มีกรรมฐานเป็นพื้นฐาน เราจะเข้าไม่ถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนอย่างลึกซึ้ง เพราะว่าภูมิธรรมเราไม่ถึง เวลาเราอ่านพระไตรปิฎกความซาบซึ้งจะเป็นแบบนักวิชาการ แต่ถ้าเราไปเข้ากรรมฐานแล้วมาอ่านใหม่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสกับสภาวะในใจจะสอดคล้องกัน

  • คนที่ผ่านวิปัสสนากรรมฐานมาแล้วจะเคารพพระธรรมวินัย และไม่มีทางจะเอาพระธรรมวินัยมาทำเป็นของเล่น เพราะจะเกิดความละอายใจ เกิดความเคารพลึกซึ้งจากก้นบึ้งของจิต และจะยำเกรงพ่อแม่ครูอาจารย์มากๆ

  • ทำไมพระฝรั่งถึงเคารพหลวงปู่มั่น หลวงปู่ชามาก ไม่ใช่เพราะประเพณี แต่เป็นเรื่องของจิตที่เปลี่ยนไปแล้ว ตื่นรู้ไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาทำอะไรแบบเดิมได้
  • สิ่งที่ได้รับจากการเข้ากรรมฐานแล้วมาอ่านงานครูบาอาจารย์ใหม่ ได้รู้ว่าที่ท่านสอนไว้มันไม่ได้ตื้นเหมือนที่เราอ่านมาก่อนหน้านั้น ดังนั้นใครอยากศึกษาธรรมะให้ลึกซึ้งแนะนำให้ไปภาวนา แล้วกลับมาอ่านใหม่ สภาวะจะต่างอย่างสิ้นเชิง

247967451 943376986525091 7015352700469822844 n

การอ่านงานท่านพุทธทาสแบบเดิมกับตอนหลังเข้ากรรมฐาน เล่มไหนมีผลมาก และแนะนำให้อ่านอย่างจริงจัง

  • ตามรอยพระอรหันต์ อ่านแล้วเกิดฉันทะอยากเป็นพระที่ดี ตอนเป็นเณรเคยได้อ่านงานที่เป็นหนังสือชั้นยอดอยู่ ๒ – ๓ เล่ม คือ ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ของสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นวรรณกรรมธรรมะเล่มแรกที่อ่านแล้วรู้สึกขึ้นมาว่า ฉันต้องเป็นพระอย่างนี้ให้ได้ แต่พอมาอ่านตามรอยพระอรหันต์ ท่านพุทธทาสนี่เรียกได้ว่าประกาศอาสภิวาจา จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าท่านพูดขนาดนี้ก็ต้องลอง ต้องไปสวนโมกข์เพื่อตามรอยพระอรหันต์ เล่มนี้เป็นงานที่บริสุทธิ์ เป็นเล่มหนึ่งที่วิเศษที่สุด ที่กระทบใจ ทำให้เราจับหลักได้ว่าถ้าจะทำงานใหญ่อย่างท่านอาจารย์ คนจะเป็นนักอ่าน นักคิด นักพูด นักเขียน ฯ ต้องมีหลายคุณสมบัติ แต่หนึ่งในนั้นท่านบอกว่า “พหุฐานจินฺตี แปลว่าฐานความคิดต้องกว้าง” เพราะเราต้องคิดบนฐานของข้อมูล

  • พุทธทาสลิขิต (ลิขิตพุทธทาสถึงน้องชายโดยธรรม กรุณา กุศลาสัย) ทำให้เราจับหลักได้และเชื่อมั่นในทางเดินว่าต้องมาอ่านให้เยอะที่สุด เพราะทำให้สั่งสมระดมข้อมูลได้มากเหมือนท่านอาจารย์ ในเล่มนี้ท่านอาจารย์พูดไว้ว่า “ผมมีหนังสือมากกว่าหนังสือของคนทั้งอำเภอเอามากองรวมกันอีก” อ่านแล้วมันฮึดมาก

  • เล่มจริงจัง อิทัปปัจจยตา ฉบับเวอร์ชั่นที่ท่านเทศน์ แนะนำให้อ่านฉบับสมบูรณ์ ทำให้จับหลักเรื่องสุญญตา อนัตตา ความว่างได้ แต่นอกจากความเข้าใจในธรรมะแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้รับคือเล่มนี้ท่านพุทธทาสประกาศท้าชนกับท่านพุทธโฆษาจารย์ผู้รจนาวิสุทธิมรรค ในแวดวงธรรมะสายเถรวาทรู้ดีว่าพระพุทธโฆษาจารย์เป็นเหมือนศาลฎีกาของเถรวาท ตำราทุกเล่มที่ท่านแต่งไม่เคยมีใครไปวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในอิทัปปัจจยตาท่านพุทธทาสพูดไว้ชัดว่า “ผมเชื่อพระพุทธโฆษาจารย์ในหลายๆ เรื่อง แต่พอมาเรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดผมไม่วางใจ เพราะท่านอธิบายเป็นพราหมณ์ไปหมดเลย วันนี้จึงขอเป็นไม้ซีกมางัดไม้ซุงสักครั้งหนึ่ง”

    นี่คือประโยคที่เรียกว่า อหังการทางวิชาการ ใครจะกล้าไปต่อกรกับศาลฎีกาแห่งความถูกต้องของเถรวาทที่ชื่อว่าพุทธโฆษาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ท่านพุทธทาสกล้า ประเด็นนี้ทำให้ประทับใจมาก เพราะทำให้รู้ว่าพ่อแม่ครูอาจารย์เราท่านเรียนมาด้วยตนเอง ไม่ได้เรียนมาแบบ Academic คำถามคือ ทำไมท่านถึงจับหลักการที่ลึกถึงขนาดนี้ได้ มันอัศจรรย์มาก ท่านต้องแหลมคมขนาดไหน ต้องช่างสังเกตขนาดไหน ถึงไปจับความผิดพลาดของวิสุทธิมรรคที่สืบกันมาเป็นพันปีได้โดยไม่มีใครเอะใจมาก่อนหน้า นี่คือความกล้าหาญทางจริยธรรม ความกล้าหาญทางวิชาการ ที่หาคนเทียบได้ยากจริงๆ ประเด็นนี้ซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ อิทัปปัจจยตานี้ตอบทุกอย่าง และเป็นแก่น เหมือนกับท่านพุทธทาสได้แสดงความเป็นปราชญ์ และเป็นหนังสือที่ท่านบอกว่าพอใจ เพราะเป็นงานที่ต้องวิจัยและสังเคราะห์เกิดข้อค้นพบใหม่และนำมาเสิร์ฟให้กับชาวโลก เล่มนี้เสริมความเป็นนักปราชญ์ ที่รอบคอบ รอบด้านและลุ่มลึกที่สุด ติด ๑ ใน ๑๐๐ หนังสือดีที่คนไทยควรอ่านของ สกว.

  • ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ถ้าไปติดเกาะที่ไหนแนะนำให้เอาเล่มนี้ไป เล่มนี้มีค่าพอจะจับแก่นพุทธศาสนาได้หมด เป็นเหมือนงานโครงสร้าง outline ของ Buddhism ใครหยิบเล่มนี้ไปจะเห็นภาพรวมของพระพุทธศาสนาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนอวสาน

  • มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าภูมิปัญญาของท่านพุทธทาสมีความเป็นสากลตั้งแต่ไหนแต่ไร รอแต่ว่าจะไปอยู่ในที่เหมาะๆ ได้เมื่อไหร่เท่านั้นเอง งานทุกชิ้นของท่านอาจารย์ทำได้อย่างประณีตที่สุด

  • งานพุทธทาสนอกจากจะอ่านเอาหลักแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรจะอ่านและเป็นรสของงานท่าน คือรสวรรณกรรมเพริศแพร้วพรรณรายมาก แค่อ่านเอาวรรณกรรมก็คุ้มแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงรสของธรรมะซึ่งดีอยู่แล้ว

  • สิบปีในสวนโมกข์ เป็นเบื้องหลังการก่อสร้างสวนโมกข์ และฉายให้เห็นถึงอัจฉริยภาพทางวรรณกรรมของท่านพุทธทาสได้วิเศษที่สุด

247410226 466395091339607 5442454132673007477 n

รูปภาพที่ทุกศาสนามาชิมชาด้วยกันเป็นไปได้ไหม

  • เรื่องนี้เป็นไปได้ เพราะว่าแก่นของทุกศาสนาน้อมนำคนไปสู่สันติภาพอยู่แล้วประเด็นคือคนรุ่นหลังต้องสานเสวนากันให้มากขึ้น คนต่างลัทธินิกายต้องทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ถ้าเราเปิดประตูหัวใจให้กว้างเราจะมีเครื่องมือมหาศาลในการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสันติภาพ คนที่จะทำงานด้านนี้จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ ๑) ต้องรู้แก่นธรรมคำสอนของศาสนาตนเองจริงๆ ๒) ต้องใจกว้าง ถ้าใจแคบทำงานไม่ได้ ๓) ต้องเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจของตนเองให้คนอื่นเห็นก่อน เพราะงานสร้างสันติภาพโลก ถ้าคนทำงานไม่สามารถเอาธรรมะมาเปลี่ยนแปลงตนเองได้ มันก็เป็นเรื่องทฤษฎี ซึ่งบอกตรงๆ ว่าเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า

  • ในงานพระธรรมทูตต่างๆ ที่ส่งคนไปหาท่านพุทธทาส ท่านเคยพูดกับหลวงพ่อปัญญานันทะว่า หลักสูตรพระธรรมทายาทเอารุ่นเดียวพอนะ เพราะถ้าส่งคนไปโดยไม่เกิดฉันทะ คือไม่รักที่จะทำจริงๆ มันจะไม่ได้ผลอะไร เช่นเดียวกันกับโอกาสที่ทุกศาสนาจะร่วมมือกัน มองว่าเป็นไปได้ แต่คนที่จะมาทำงานนี้ต้องให้ศาสนา ให้วิถีชีวิตของศาสนาเกิดขึ้นที่ในตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น ถ้าเราเองยังไม่ได้ชิมลิ้มรสสัจธรรมด้วยตัวเอง แล้วไปชวนคนอื่นมาทำงานยิ่งทำจะยิ่งยุ่ง และไม่มีทางที่จะสำเร็จ เพราะโลกนี้มีสมาพันธ์ สมาคมทางศาสนาเยอะมาก แต่ทำงานต่างๆ ไม่ค่อยสำเร็จ

247480238 276131324421125 6922180295093938350 n

คิดเห็นอย่างไรกับพลวัตของความเห็นที่แตกต่างกันไปของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

  • การจะประยุกต์ธรรมะเพื่อเอาไปใช้อย่างร่วมสมัย คนที่จะทำเช่นนั้นได้ต้องลึกซึ้งจริงๆ เพราะถ้าไม่ลึกซึ้งจะทำให้เจตนารมณ์ของธรรมะผิดเพี้ยนไป หรือทำให้ธรรมะที่แท้จริงนั้นถูกเบี่ยงเบน ยกตัวอย่างเช่น นักวิชาการบางคนบอกว่าพระพุทธองค์นั้นก็ยังเกี่ยวข้องกับการเมือง ลงไปเล่นการเมืองด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นพระในเมืองไทยก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้สิ ยกตัวอย่างความคุ้นเคยของพระพุทธองค์กับพระเจ้าพิมพิสาร, พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือลงไปห้ามทัพในสงครามระหว่างพระญาติ เป็นต้น แล้วใช้ชุดคำอธิบายรู้นี้มารองรับตรรกะของตัวเองว่า พระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการเมืองขนาดนี้ พระสงฆ์ไทยก็เล่นการเมืองได้ ตรงนี้เหมือนจะสมจริงแต่ผิดพลาดมาก ตรงที่ ๑) พระพุทธเจ้าหมดกิเลสแล้ว ๒) พระพุทธเจ้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะที่ไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์ ๓) พระพุทธองค์ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะจะไปสอนเขาในฐานะพระพุทธเจ้าที่ต้องบำเพ็ญโลกัตถจริยาต่อประชาคมโลก ดังนั้นจิตของคนที่หลุดพ้นไปแล้ว และไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อที่จะสอนเขา จะโปรดเขา กับพระทั่วๆ ไปที่ไปเกี่ยวข้องการเมือง แล้วมีส่วนได้เสียในแง่ใดแง่หนึ่งจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

  • ถ้าเราจะตีความธรรมะของพระพุทธเจ้าในทุกๆ เรื่อง สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือความซื่อตรงทางวิชาการให้มาก ทุกวันนี้สิ่งซึ่งหายไปคือ เรามีนักวิชาการจำนวนมาก ศึกษาไม่ค่อยลึก ทำงานวิจัยคุณภาพต่ำออกมา โดยมีนัยยะที่ตัวเองจะทำเป็นวาระอยู่ในใจ จากนั้นมาหยิบเอาคำพูดหรือท่าทีของพระพุทธเจ้าไปรับรองสิ่งที่ตัวเองจะสื่อ

  • จะอาศัยแต่ความกล้าแสดงออกอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีความรู้จริง แท้แน่ชัดในสิ่งที่ตัวเองจะใช้ จะอ้าง จะพูด ซื่อตรงทางวิชาการ ไม่เบี่ยงคำสอนของพระพุทธองค์ให้เพี้ยนไป เพื่อให้มารองรับกับความต้องการของตัวเอง เรื่องนี้คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมี ต้องระมัดระวัง ถ้าไม่ทำให้ดีก็มัวหมองได้เหมือนกัน

  • ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าอริยสัจจากพระโอษฐ์ นี่ทำอยู่ ๒๐ ปี หนังสือเล่มหนึ่งทำไปได้อย่างไรตั้ง ๒๐ ปี ท่านมหาวิจิตรบอกว่า ก็ต้องค้นให้มันจริงที่สุด ให้มันชัดที่สุด รอบคอบที่สุด แล้วจึงเอามาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุดส่งต่อให้กับชาวโลก นักวิชาการต้องทำงานแบบนี้ แบบพ่อแม่ครูบาอาจารย์

247303393 884711125767396 8478899355338193075 n

ถ้าสนใจทาง ZEN จะเริ่มต้นอยางไรดี

  • แนะนำให้อ่านนิทานเซนสวนโมกข์ ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุก่อน จากนั้นตามไปอ่านงานของนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง เป็นผู้ที่นำเอาเรื่องเซนมาพูดในเมืองไทยเป็นคนแรกๆ จากนั้นอ่าน ศิษย์โง่ไปเรียนเซน จากนั้นขยับขึ้นมาเรื่องเซนของคุณละเอียด ศิลาน้อย ที่เอามาเขียนให้ง่ายขึ้น ต่อแต่นั้นไปอ่านเนื้อติดกระดูก เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลมาจากภาษาฝรั่ง เล่มนี้แนะนำเลย เล่มนี้พระอาจารย์ใช้เรียนภาษาอังกฤษ มีความลุ่มลึก เป็นเนื้อของนิทานปรัชญาเซนกว่า ๒๐ เรื่องมารวมไว้ในเล่มเดียวกัน เป็นหนังสือเซน bestseller ระดับโลก จากนั้นไปอ่านกุญแจเซน ของท่านติชนัทฮันท์ จากนั้นอ่านงานของท่านติชนัทฮันท์ได้ทุกเล่ม เพราะท่านเป็นเซนมาสเตอร์

  • ถ้ามีเวลามากพอก็ไปอ่านของ D.T. Suzuki เป็นนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่น เขียนเรื่องเซนไว้ลึกซึ้งมาก และเป็นคนเอาเซนเข้าไปอเมริกาในยุค ๖๐ ยุคบุปผาชน เป็นปรมาจารย์เซน เป็นคนที่ทำให้คนอย่าง สตีฟ จอบส์ หันมาสนใจเรื่องเซน และเอามาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบนวัตกรรมไอโฟน

  • ในเมืองไทยงานท่านอาจารย์พุทธทาสหลายเรื่องมีเค้าของความเป็นเซนเยอะ แต่พระที่มีความเป็นเซนสูงมากก็คือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ งานของหลวงพ่อเทียนเป็นเซนแท้ๆ

  • ถ้าจะเป็นศิษย์สวนโมกข์แนะนำอีก ๒ เล่ม คือคำสอนของเว่ยหล่าง กับของฮวงโป ท่านพุทธทาสพูดถึงเว่ยหล่างหนึ่งในปรมาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงที่สุด ท่านแปลไว้ดีมากจนนักแปลรุ่นหลังไม่กล้าแปล ๒ เล่มนี้ จับที่เรื่องนี้ก่อนแล้วจะขยับไปไหนก็ได้ทั้งหมด ที่สำคัญเล่มนี้ท่านพุทธทาสทำเอาไว้แบบฝากฝีมือ คือท่านเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง แล้วพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าท่านรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะแปลตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เล่มนี้วิเศษมากขอแนะนำ …

มองสวนโมกข์กรุงเทพอย่างไร และมีคำแนะนำอะไรบ้าง

  • ทำได้ดีกว่าที่เราคิดไว้ตั้งเยอะ ในเวลาที่สั้นมาก ทำให้สวนโมกข์กรุงเทพนี้มีอิทธิพลกับคนรุ่นใหม่ มีนัยยะกับคนร่วมยุคร่วมสมัย ในรอบสิบปีที่ผ่านมา พระสงฆ์เราจับประเด็นของโลกาภิวัตน์ไม่ค่อยได้ หรือติดกับดักของระบบบริหารจัดการทำให้เคลื่อนลำบาก แต่ว่าสวนโมกข์นั้นทำตัวเป็นวัยรุ่นตลอดเวลา มาเมื่อไหร่ก็ปรับปรุงตลอด น่าชื่นใจมาก มีพ่อแม่ครูอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานอย่างหลากหลายมาเป็นหลักอยู่ที่นี่ ทำให้ไปไกลกว่าการผลิตซ้ำงานของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

  • ความเปิดกว้างทางศาสนาเป็นสิ่งที่ขาดที่สุดในสังคมไทย เพราะถ้าเราศรัทธาพ่อแม่ครูอาจารย์รูปไหนก็ตามเราก็ติดอยู่องค์นั้น แทบไม่เปิดรับองค์อื่น จับผิดกันเอง จนลืมมองไปว่าสายอื่นๆ ก็มีแง่ที่ดีงาม ตรงนี้มองว่าวัดส่วนใหญ่ยังไม่กล้าที่จะก้าวออกไปจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แต่สวนโมกข์ทำมาก่อนและโดดเด่นที่สุดในรอบทศวรรษก็ว่าได้

  • เราต้องยอมรับว่าความขลัง ความจริงของเถรวาท ได้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาเพิ่งเกิดมาเห็นโลก เขาโตมาในอีกบริบทหนึ่ง ความขลังความสมจริงของเถรวาทมีช่องว่างกับเขา เพราะฉะนั้นการปรับตัวให้ดูเด็กลงแต่คงเนื้อหาเอาไว้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

  • ชอบงานของท่านดาไลลามะซึ่งล่าสุดได้ปล่อยงานเรื่องโลกร้อนออกมา และของท่านติชนัทฮันห์ปล่อยงานเรื่อง global warming ออกมา คิดว่านี่คือการรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ พุทธศาสนาสายวัชรยานก็ดี หมู่บ้านพลัมก็ดี ทำได้ดีมาก ในขณะที่พุทธแบบไทยๆ แทบจะไม่ปะทะสังสรรค์กับประเด็นระดับโลกเหล่านี้เลย ตรงนี้สำคัญมากๆ ถ้าสวนโมกข์จะเอาเรื่องนี้มาขับเคลื่อน เพราะมิเช่นนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาถ้าไม่ประยุกต์ให้ตอบสนองปัญหาของโลก ก็เป็นอะไรไม่ได้มากไปกว่าการผลิตซ้ำภูมิปัญญาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เหล่านั้น พวกเรารุ่นหลังต้องต่อยอดไม่ใช่ไปผลิตซ้ำ งานของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เหล่านั้นถูกผลิตขึ้นมาในบริบทหนึ่ง ตอบโจทย์สังคมในยุคสมัยหนึ่ง แต่พอมาถึงปัจจุบันโลกมันไปข้างหน้าตลอด ถ้าเราไม่สามารถสานต่อก็แสดงว่าเราไปเดินชนหลังครูบาอาจารย์ ซึ่งลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราเยอะมาก ภาษานางวิสาขาเรียกว่ากินบุญเก่า

รายการหนังสือที่ท่าน ว.วชิรเมธี อ่านและกล่าวถึง

๑. ลิขิตพุทธทาสถึงน้องชายโดยธรรม กรุณา กุศลาสัย : พุทธทาสภิกขุ

๒. สิบปีในสวนโมกข์ : พุทธทาสภิกขุ

๓. หนังสือพิมพ์รายตรีมาส พุทธสาสนา

๔. ตามรอยพระอรหันต์ : อ่านแล้วเกิดฉันทะอยากเป็นพระที่ดี

๕. ชุดธรรมโฆษณ์ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ : พุทธทาสภิกขุ

๖. ชุดธรรมโฆษณ์ อิทัปปัจจยตา : พุทธทาสภิกขุ

๗.ชุดธรรมโฆษณ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์ : พุทธทาสภิกขุ

๘. อนุทินปฏิบัติธรรม : พุทธทาสภิกขุ

๙. วิปัสสนาแบบลัดสั้น : พุทธทาสภิกขุ

๑๐. อานาปานสติฉบับสมบูรณ์ : พุทธทาสภิกขุ

๑๑. สูตรของเว่ยหล่าง พุทธทาสภิกขุ แปล

๑๒. คำสอนของฮวงโป พุทธทาสภิกขุ แปล

๑๓. นิทานเซนสวนโมกข์ พุทธทาสภิกขุ แปล

๑๔. สายลมและแสงแดด : วิลาศ มณีวัต

๑๕. ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ : สุชีพ ปุญญานุภาพ

๑๖. โลกร้อน : ดาไลลามะ

๑๗. global warming : ติชนัทฮันห์

๑๘. ธรรมะติดปีก : ว.วชิรเมธี

๑๙. ศิษย์โง่ไปเรียนเซน ธ.ธีรทาส

๒๐. เนื้อติดกระดูก : เสฐียรพงษ์ วรรณปก

๒๑ กุญแจเซน : ติช นัท ฮันท์