เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๑ สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซซซซซซ

Share

งานจดหมายเหตุ,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ

รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๑ สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซซซซซซ

มาหาคำตอบกันว่า พส. (พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ)
ได้รับแรงบันดาลใจอะไรจาก พทภ. (พุทธทาสภิกขุ)

วันอังคารที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๔เวลา : ๑๗.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.

Moderator: นพ.บัญชา พงษ์พานิช และ คุณเวลา

 

243440301 394487538875752 9110706057214706289 n


รับฟังทั้งหมดได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=xVmYJXv916w&t

https://soundcloud.com/suan-mokkh/8kqrop1avksz?si=3df0597784c64178b7016796fd61b1f3

https://open.spotify.com/episode/6FhBTCqmV2NsBc3SVLcQn1?si=c4g7W_XoSxaThxhnu3eVFw&dl_branch=1

กับสวนโมกข์กรุงเทพ

มาสวนโมกข์กรุงเทพบ่อยครั้ง ด้วยมีความสนใจในสวนโมกข์ และนับถือท่านพุทธทาส แต่เมื่อยังไม่มีโอกาสไปที่ไชยา จึงมาที่สวนโมกข์กรุงเทพ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) ก่อน มาแล้วรู้สึกสบายใจ เป็นที่หย่อนใจ ได้รับความสงบ ได้หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์ จากที่สวนโมกข์กรุงเทพ

กับสวนโมกข์ไชยา

เมื่อได้โอกาส จึงเดินทางมุ่งตรงไปสวนโมกข์ เพราะอยากไป ไปเองเพียงรูปเดียวพร้อมกล้องหนึ่งตัว ไปถึงแล้วมีความรู้สึกเหมือนคนไปพุทธคยา ไปกราบม้านั่งหน้ากุฏิด้วยความระลึกถึงบุคคลที่เคารพนับถือ ไปดูสถานที่ทุกซอกมุม ไปถึงเขาพุทธทอง ได้ยินคำกล่าวถึงปฏิปทาของท่าน จึงไปดูว่าเป็นอย่างที่ได้ยินมาหรือเปล่า เช่น ห้องส้วม ห้องนอนอยู่ห้องเดียวกัน

ด้วยเป็นคนชอบศึกษาและเล่าเรื่อง ประกอบกับมีรายการช่อง YouTube อยู่ จึงทำเป็นคลิปรายการ ‘ธรรมไปเรื่อย’ มาเผยแพร่ (ขณะนั้นเริ่มมีอาการไข้อีสุกอีใส) คลิปเที่ยวชมสวนโมกข์ทำเป็น 2-3 Episode ชมอุโบสถ ชมโรงมหรสพทางวิญญาณ และยังได้ไปต่อยังวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ทราบว่าท่านพุทธทาสสนใจงานพุทธศิลป์ด้วย เรียกว่าเป็นการตามรอยท่านพุทธทาส

123687

"ถ้าคนรุ่นใหม่จะไปสวนโมกข์ในแบบนักท่องเที่ยว
หามุมเช็คอินถ่ายภาพสวย ๆ อาจจะไม่ได้อะไร
แต่ต้องไปแบบคนไปเอาธรรมะ ไปเอาปัญญา"

กับความประทับใจในสวนโมกข์ และท่านพุทธทาส

  • ชอบชื่อตอนรายการ ‘สวนโมกข์ สวนใจ ใครไปก็ต๊าซซซซซ’ ด้วยสำหรับตนนั้นรู้สึก ‘ต๊าซ’ มาก เพราะได้ข้อธรรมะลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในสวนโมกข์ ได้หลักคิด วิธีคิด การเผยแผ่มาจากท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทะ (ปัญญานันทภิกขุ)
  • รู้สึกนับถือท่านพุทธทาส ซึ่งก่อนที่เราจะนับถือใคร ต้องรู้สึกว่าเรายอมรับคนคนนั้นก่อน ตนเองนั้นเป็นคนหัวดื้อ ถ้าจะนับถือใครได้ต้องเห็นแล้วว่าท่านเหล่านั้นควรค่าแก่การนับถือ เช่น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น นอกจากคำสอนของท่านพุทธทาสแล้ว สิ่งที่นับถือท่านมากคือความกล้าหาญในความเป็นพุทธทาส ในความขบถเล็ก ๆ ของท่าน การที่ท่านสร้างสวนโมกข์ได้ สร้างความเป็นพุทธทาสได้เพราะท่านมีความขบถเล็ก ๆ ต่อพิธีกรรม หรือธรรมเนียมบางอย่างที่มีในยุคนั้น
  • สิ่งที่อาตมาพยายามทำในทุกวันนี้มีความท้าทาย ก็จะนึกถึงความอดทนของท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทะ ที่มีกับสิ่งที่ท่านทำ เพื่อให้ศาสนาพุทธยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย โดยไม่หวั่นกลัวต่อคำกล่าวโทษใด ๆ
  • ถ้าคนรุ่นใหม่จะไปสวนโมกข์ในแบบนักท่องเที่ยว หามุมเช็คอินถ่ายภาพสวย ๆ อาจจะไม่ได้อะไร แต่ต้องไปแบบคนไปเอาธรรมะ ไปเอาปัญญา เพราะทุกที่สอนธรรมได้หมด จะเห็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ดังเช่นที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า แม้แต่ต้นไม้ ก้อนหินก็สอนธรรมะได้ เช่นโรงมหรสพทางวิญญาณ รูปปั้นพระอวโลกิเตศวร ที่จะได้รู้จักกับคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ อุโบสถที่ลาดพื้นด้วยทราย

124597

กับเปรียญธรรม ๙ ประโยค

  • ตอนเรียนนั้นเรียนทุกอย่าง เรียนเยอะมาก คิดว่าสิ่งที่ได้เรียนนั้นสุดยอดมากแล้ว ได้อ่านหนังสือตัวกู ของกู รู้สึกถึงความลึกซึ้ง แต่ยังไม่รู้จักท่านพุทธทาส ไม่รู้จักว่าใคร จนกระทั่งเรียนจบ ได้มาอ่านงานของท่านเพิ่มขึ้น ได้มาศึกษาแนวคิด เห็นการตีความพระไตรปิฎก ทำให้เกิดความประทับใจ มีมิติของการวิพากษ์วิจารณ์ กล้าท้าทาย ประทับใจในเรื่องนี้
  • ทั้งที่ท่านพุทธทาสไม่ได้จบเปรียญธรรมสูง แต่มีความแตกฉานในธรรมะ สามารถตีความได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้มาตั้งคำถามกับตัวเองว่าการตีความได้ลึกซึ้งขึ้นอยู่กับการเรียนขั้นสูงหรือเปล่า ซึ่งเมื่อศึกษางานท่านพุทธทาสแล้วพบว่าไม่ใช่ ไม่ได้มาจากการเรียนขั้นสูง แต่มาจากการปฏิบัติและประสบการณ์ส่วนตัวของท่านพุทธทาสที่มีการทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ มากกกว่า

อยากทำให้คนเห็นว่าเสียงหัวเราะกับธรรมะนั้นไปด้วยกันได้ สามารถสนุกไปกับธรรมะได้

กับการขยายธรรมแบบกล้าที่จะนำเสนอ

  • หากใครติดตามเฟซบุ๊กของอาตมา จะทราบแนวทางชัดเจนในการนำธรรมะเข้าไปสู่คนรุ่นใหม่ พยายามทำงานด้านนี้ด้วยการตอบคำถาม เรียนรู้คำถาม เรียนรู้ปัญหา รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ทุกวันนี้สังคมมองเรื่องความทุกข์กันอย่างไร ในเชิงปัจเจก ในเชิงสังคม มีปัญหาอะไร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และท้าทายต่อทุกศาสนา ศาสนามีคำตอบให้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
  • จึงหาวิธีการสื่อสารกับคนยุคใหม่ การใช้ศัพท์แสง ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเราอยู่กับเขาตลอด พูดจาภาษาเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องทำให้เค้าเปิดใจให้ได้ก่อน มีเทคนิควิธีการสำคัญ คือ ทำให้เค้ารู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น พยายามทำลายช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับพุทธศาสนาที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้เห็นว่าพุทธศาสนาสามารถตอบโจทย์ได้ แม้จะมีข้อตำหนิติติง แต่ก็พยายามจะทำให้ดี หากย้อนไปเมื่อ ๔ – ๕ ปีที่แล้ว จะออกแนวหน้านิ่วคิ้วขมวด ซึ่งมีคนทักว่าหน้าตาไม่เหมือนคนปฏิบัติธรรมเลย เคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา ก็ได้สำหรับคนกลุ่มหนึ่งแต่เป็นคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นี้อาจจะไม่ฟังเลย มันไม่มีความสนุก ไม่รู้สึก entertain จึงมีการปรับ เรียนรู้ตลอดเวลา
  • การเผยแพร่ธรรมแบบดีงามทั้งหมดคงไม่มี ต้องมาดูว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้ไปถึงเป็นคนกลุ่มไหน เช่นพระพุทธเจ้าแบ่งคนไว้เหมือนบัว ๓ เหล่า (บัว ๓ เหล่าตามความในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค; บัว ๔ เหล่า ตามความในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี) เพราะแต่ละคนมีวิธีเข้าถึงธรรมชาติในตัวเองที่ต่างกัน สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือสิ่งเดียวกัน คือ ทุกข์ และการดับทุกข์ ต้องทำอย่างไรให้คนดับทุกข์ด้วยวิธีที่สอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นตัวเองมากที่สุด
  • การสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่บอกว่าเป็นคนไม่มีศาสนา เพราะเขารู้สึกว่าศาสนาไปไม่ได้กับวิถีชีวิต คนยุคใหม่รู้สึกว่าธรรมะไม่มีที่ว่างสำหรับเขา เห็นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องสอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติ อยากทำให้คนเห็นว่าเสียงหัวเราะกับธรรมะนั้นไปด้วยกันได้ สามารถสนุกไปกับธรรมะได้
  • ได้รับเสียงจากหลายคนบอกมาว่ากำลังทุกข์อยู่ จึงพยายามหาวิธีดับทุกข์ให้กับทุกคนในแบบของเขา ให้เป็นธรรมะส่งเสริมการเรียนรู้ความเป็นตัวตนของเขา หัวเราะ สนุกกับธรรมะได้ ประยุกต์ให้เข้ากับกลุ่มคน เข้ากับบริบทช่วงเวลาแห่งความเครียด เช่นยุคโควิดนี้ด้วย หากเสียงหัวเราะของเราจะทำให้คนหยุดจมกับความทุกข์ได้ ก็คิดว่าได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว หาวิธีดับทุกข์ให้ผู้คนในแบบของเรา

1248875

  • ความเข้าใจของคนพุทธส่วนใหญ่จะมองว่าธรรมะต้องเพื่อพ้นทุกข์ไปเลย และไม่ควรเป็นเรื่องเล่น ต้องเบื่อหน่ายในกาม ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ชวนอนาถปิณฑิกเศรษฐีออกบวช ถ้าทุกคนศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วออกบวชกันหมดก็คงไม่มีคนแบบนางวิสาขา หรือใครอีกหลายคนที่เขาสามารถเป็นกัลยาณปุถุชนที่ดีได้
  • ทำอย่างไรให้ฆราวาสสามารถดำรงชีวิตในความเป็นฆราวาสอย่างเบิกบานใจ ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่นก็เพียงพอ แต่หากผู้ใดอยากได้รับแบบขั้นสูงขึ้นไป ก็ยังสามารถหาแบบที่ต้องการให้เลือกได้อยู่ หากจำกัดการศึกษาธรรมะอยู่ในเพียงมุมแคบ มุ่งตรงที่การพ้นทุกข์อย่างเดียว จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเข้าไม่ถึง ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันต้องสอดคล้องกับความเป็นธรรมชาติ
  • เวลาเราเรียนรู้เรื่องศีล มันต้องมีทั้งเบญจศีลและเบญจธรรม เรารู้ว่าศีลข้อ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ แต่ไม่มีความเมตตาในใจมันก็ไม่ได้
  • การที่แฟนคลับวาดรูป นำภาพเราไปตัดต่อกับเรื่องที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันนั้น หากมองอย่างคนยุคเก่าอาจเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสม ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสีย แต่อาตมาคิดว่า ‘อารมณ์ขันไม่ใช่เรื่องบาป’ สามารถมองในอีกมิติได้ นึกถึงพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า ‘วิสฺสาสปรมา ญาติ –ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง’ ซึ่งอาตมาพยายามทำให้คนรู้สึกคุ้นเคยกับเรา ดังนั้นจึงไม่รู้สึกติดใจกับการถูกเอารูปไปตัดต่อกับภาพต่าง ๆ แสดงว่าเด็กรุ่นใหม่มองเราเป็นสัญญะของความสุข อาตมาเห็นว่า ‘การล้อเลียน ไม่เท่ากับ ไม่นับถือ’ คิดว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถแยกแยะได้

มองทิศทางงานพุทธศาสนาในสังคมไทยในอนาคตอย่างไร

  • ปัญหาหนึ่งของแวดวงพุทธศาสนาคือ เราอยู่กับตัวเองมากไป มองว่าศาสนาพุทธเป็นของพวกเรา อาตมาเห็นว่าควรทำให้เกิดความรู้สึกว่าศาสนาพุทธเป็นของคนทั้งโลก เด็กยุคใหม่หลายคนที่บอกไม่มีศาสนา แต่ที่จริงคือรับหมดทุกศาสนา เขาเลือกสิ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ เอามาใช้หมด (ศาสนาแบบต้มยำ) โดยที่สุดแล้วเราสามารถนับถือศาสนามากกว่าหนึ่ง ศาสนาในอนาคตจะเป็นแบบนี้ คือพัฒนาการ ควรทำให้พุทธศาสนามีความเป็นสากล
  • ยุคสมัยใหม่ ไม่มีใครอยากทิ้งศาสนาตนเอง เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใครให้มานับถือศาสนาเดียวกับเรา แต่เรา พยายามทำความเข้าใจศาสนาเค้าไปด้วย แล้วเข้าใจวิธีคิด หลักการแบบไหน เวลาเทศน์อาตมาจะพยายามเอาหลักคำสอนของทุกศาสนามารวมกัน

456

ข้อชี้แนะเพื่อการดำเนินงานของสวนโมกข์กรุงเทพ

  • ที่สวนโมกข์กรุงเทพดำเนินการผ่านมานั้นดีแล้ว เป็นที่ให้คนได้มาพักผ่อนใจ พบความสงบ นึกถึงสวนโมกข์กรุงเทพ คือความสำเร็จแล้ว
  • ประทับใจช่วงเวลาที่มาพบนิทรรศการท่านพุทธทาส ชอบการนำคำสอนท่านพุทธทาสมาจำลองและขยายให้เข้าใจ ได้พบ นพ.บัญชา แนะนำบันทึกที่ท่านพุทธทาสจดบนปฏิทิน ปฏิทินราคาถูกก็สอนธรรมะได้ หรือจีวรสีกลักที่ย้อมสีมาเข้ม แล้วท่านพุทธทาสไม่ใส่ เพราะจะเป็นการเพิ่มอัตตา
  • ทราบว่ายังมีงานของท่านพุทธทาสอีกบางส่วนที่ยังไม่ได้เผยแพร่ที่ใด จึงขอรอศึกษาในส่วนนี้ และอยากให้สวนโมกข์กรุงเทพมีห้องสมุดที่ให้คนมาอ่าน ศึกษาค้นคว้างานท่านพุทธทาสโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
  • ชื่นชมความใจกว้างของสวนโมกข์ ‘เราสามารถมีอาจารย์คนเดียวกันได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน’, ‘อาจารย์พุทธทาสควรเป็นอาจารย์ของทุกคน’

หมายเหตุ: คำว่า ‘ต๊าซซซซซ’ มาจากคำว่า ‘touch’ หมายความว่า สบายใจ หรือ โดนใจที่สุด ที่มาของคำนี้มาจาก YouTuber สไปรท์ ที่ใช้คำว่า ‘ต๊าซซซซซ’ แทนเสียง ‘แช่’ ในเสียงกลอง ‘ตะลุ่ง ตุ้ง แช่’