พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

Share

งานจดหมายเหตุ,

“เราอยากจะรักษาสังคมที่อิงธรรมะ สังคมที่สงบ สังคมที่มีเมตตาจิตซึ่งกันและกันไว้หรือเปล่า...”

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ เมตตา พานิช

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓

 20210613 01

“ทุกวันนี้ผมมีภาพอยู่ ๒–๓ ภาพที่ติดอยู่ในใจผมก็คือ วันที่ท่านบวชให้ผม กับวันที่ผมไปลาท่าน แล้วทุกวันผมก็นึกถึงท่านอาจารย์...ผมยังไม่รู้นะว่าที่ผมมีอายุอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่ใช้ธรรมะของท่านผมจะอยู่ได้อย่างไร เพราะผมก็โชคดีที่ได้รับใช้ประเทศชาติอยู่หลายครั้งหลายครา ทั้งหมดมันเป็นทุกข์หมด นับวันความทุกข์เหล่านั้นยิ่งทับถมทวีคูณมากขึ้นทุกที ก็ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านสอน สิ่งที่ท่านอบรมมา พระคุณของท่านที่ได้ดูแลสั่งสอนผมมาท่วมท้นเต็มไปหมด”

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกเล่าบางเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ที่ยังคงดำรงอยู่ในความทรงจำ

20210613 04

“คุณแม่ไปที่สวนโมกข์อยู่หลายปี คุณแม่เป็นคนที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ธรรมะเป็นสิ่งที่ดี”

การเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางที่ใส่ใจในเรื่องการศึกษา ทำให้ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และกลับเข้ามารับราชการก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่ขณะเดียวกันในแง่มุมของธรรมะ ปีติพงศ์ ในวัย ๗๔ ปีกลับย้อนความทรงจำให้เห็นว่า เดิมทีเดียวครอบครัวของเขาและตัวเขาเองอาจไม่ใช่ผู้ที่สนใจในธรรมะชนิดที่ยึดติดอยู่กับวัดวาหรือพิธีกรรม 

“คุณพ่อคุณแม่โดยพื้นฐานผมกล้าพูดว่าท่านเป็นคนดีนะ ก็ไม่ได้เข้าวัดเข้าวาอะไรมาก แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ผมไม่เคยเห็นท่านเอาเปรียบใคร แล้วก็มีความเมตตากรุณากับญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเต็มที่ ทำบุญช่วยเหลือผู้คน แต่ว่าตอนหลังๆ เห็นคุณแม่ไปสุราษฎร์ธานีบ่อยขึ้น ถามท่านก็บอกว่าได้ไปพบกับ คุณสิริ พานิช (บุตรชายคนโตของ ธรรมทาส พานิช น้องชายของพุทธทาสภิกขุ) ซึ่งแนะนำว่าควรจะไปคุยกับท่านพุทธทาส

20210613 05

คุณแม่เองผมก็ไม่เห็นว่าท่านมีทุกข์อะไรมาก แต่ว่าท่านอาจจะรู้จักธรรมะมากขึ้น ในบั้นปลายของชีวิตไม่ได้ทำอะไรก็มีเวลาว่างพอที่จะไปศึกษาสิ่งเหล่านี้ คุณพ่อเองก็เห็นดีเห็นงามไปด้วยก็ตามไปที่วัด ซึ่งขณะนั้นผมก็ไม่ได้ตามไปหรอก เพราะว่าผมเองก็คล้ายๆ กับคุณพ่อคุณแม่คือว่าไม่ค่อยได้เข้าวัดหรอก แต่ก็ไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะเบียดเบียนใคร

ตอนเด็กๆ ก็เป็นคนที่อารมณ์เสียง่ายพอสมควรเหมือนกัน แต่ก็พยายามรู้สึกที่จะระงับตัวเอง แล้วก็พยายามที่จะไม่เอาเปรียบใครคือเจริญรอยตามคุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้ไปเจริญรอยตามธรรมะหรืออะไรทำนองนั้น เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ได้อบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก” ปีติพงศ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นฐานความสนใจในธรรมะของตัวเขาและครอบครัว

20210613 06

เขาเล่าถึงมูลเหตุที่ทำให้เขาได้มีโอกาสพบกับภิกษุนามพุทธทาสต่อไปว่า “ตอนนั้นอายุประมาณ ๒๐ กว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓–๒๕๑๔ เพราะว่าตอนที่ผมเข้าไปบวชประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ ตอนนั้นก็ไปลำบากนะครับ แต่คุณแม่นี่ไปเรื่อย (หัวเราะ) ก็สงสัยว่าคุณแม่ไปทำไม ผมจำได้ว่าคุณแม่พาไปกราบท่านที่ตรงหน้ากุฏิของท่านที่มีเก้าอี้หินที่ท่านนั่งอยู่ประจำ แล้วก็มีไก่ มีหมา มีอะไรเต็มไปหมด นั่นคือครั้งแรกที่ได้ไปกราบท่าน...

20210313 07

เมื่อไปที่สวนโมกข์แล้วผมก็รู้สึกว่าบอกไม่ถูก ผมเคยได้ยินท่านอาจารย์พุทธทาสพูดครั้งแรกเนี่ยนานจนจำไม่ได้แล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่แตกต่างจากสิ่งที่ผมรู้ ตอนสมัยผมเรียนเด็กๆ เขาเรียนศีลธรรมกันนะ เด็กๆ เรียนหน้าที่พลเมือง เรียนศีลธรรม เราก็รู้ล่ะศีล ๕ มันเป็นอย่างไร แต่เราไม่ยักจะรู้ว่าในที่สุดแล้วเนี่ย ศีล ๕ เป็นกระผีกหนึ่งหรือส่วนหนึ่งของสิ่งซึ่งมันยิ่งใหญ่กว่านั้นเยอะ ทั้งในแง่ของสถานที่ ทั้งในแง่ของตัวท่านพุทธทาสเอง ธรรมะที่ท่านสอนทำให้ผมรู้สึกเลื่อมใสมากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่า เอ๊ะ...ศาสนาของเรานี่ก็มีอะไรเยอะเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าผมสนใจศาสนาอื่นนะ ผมไม่ค่อยสนใจศาสนาอะไรทั้งนั้น (หัวเราะ) ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่มันจุดประกายในตัวผมว่า เออ...ศาสนาพุทธคงมีอะไรอีกเยอะที่เราไม่ค่อยรู้”

 “เนื่องจากเป็นสวนโมกข์ เนื่องจากเป็นอาจารย์พุทธทาส เนื่องจากมันถึงเวลาที่ผมจะต้องทำ ผมก็ตัดสินใจไปบวช”

จากความประทับใจในบรรยากาศของสวนโมกข์และธรรมะของพุทธทาสภิกขุ ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ปีติพงศ์ จึงตัดสินใจที่จะบวชตามประเพณี โดยมีพุทธทาสภิกขุเป็นพระอุปัชฌาย์ และมีโอกาสจำพรรษาในสวนโมกข์ เขาเล่าถึงความประทับใจในครั้งนั้นว่า “เนื่องจากเป็นสวนโมกข์ เนื่องจากเป็นอาจารย์พุทธทาส เนื่องจากมันถึงเวลาที่ผมจะต้องทำ ผมก็ตัดสินใจไปบวช แต่ว่าผมโชคดีที่ผมเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ท่านบวชให้ในป่า เป็นพระคุณของท่านที่ท่านบวชให้ผม มีอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)) เป็นพระคู่สวด และอาจารย์ทองสุข (พระทองสุข ธัมมวโร)) เป็นพระคู่สวดอีกรูปหนึ่ง

20200726 02

ผมรู้สึกตื่นเต้นมากเลยเพราะว่า คนหลายคนเขาพูดว่า หนึ่งบวชในพรรษา สองบวชในป่า ท่านอาจารย์ก็ทำให้ผม แล้วผมก็รู้สึกภูมิใจ สอง–สามอย่าง ณ วันนั้นเลย ก็คือหนึ่งท่านอาจารย์บวชให้ สองได้ทดแทนบุญคุณของคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็สามอยู่ในที่วิเวกซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่เคยมีโบสถ์อะไรใช่หรือเปล่า ก็อยู่กับธรรมชาติ

20200223g

อาจารย์สอนผม อยู่กับดินนี่ล่ะทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนกับพระพุทธเจ้า เพราะว่าท่านประสูติก็ติดกับดิน ตรัสรู้ก็อยู่กับดิน ปรินิพพานก็อยู่ที่นั่น แสดงปาฏิโมกข์อะไรต่างๆ ก็อยู่ที่นั่น ก็เป็นประสบการณ์ชีวิตอันหนึ่งที่มีคนน้อยที่ได้โอกาสอย่างนี้...เรียกว่าทุกอย่างมันประจวบเหมาะเป็นโชคดีของผมกระมังที่ผมได้เป็นอย่างนั้น แล้วผมเก็บสิ่งนี้ไว้อยู่ตลอดเวลา (เอามือทาบลงบนหน้าอกเป็นจังหวะ) เกือบทุกวันผมนึกถึงตรงนี้ เกือบทุกวันเลย อาจจะเรียกได้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตผม ที่คนอย่างท่านได้ให้โอกาสผมอย่างนี้ ตั้งแต่วันนั้นมาผมก็ตั้งใจที่ศึกษาสิ่งที่ท่านเทศน์ให้ฟังกับพระนวกะ ท่านอดทนมากสมัยก่อนท่านเทศน์ให้ฟังบ่อยมาก พอพระนวกะออกไปบิณฑบาตกลับมามีเทศน์ให้ฟัง บางวันตั้ง ๒ ครั้ง แล้วก็เกือบจะทุกวัน ก็เป็นประโยชน์กับผมมาก”

 20200726 10

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับกิจวัตรในแต่ละวันเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ในสวนโมกข์ ต่อไปว่า “เช้าก็มีทำวัตรเช้าแล้วก็ฟังธรรมจากท่าน บิณฑบาตมาแล้วก็ฉันอาหาร ส่วนใหญ่เราจะฉันเอกาคือทานมื้อเดียว แล้วก็กลับไปที่กุฏิ กลับไปที่กุฏิก็มีคนหลายแบบ บ้างก็ศึกษาธรรมะ บ้างก็นั่งวิปัสสนา บ้างก็มาช่วยงานโยธาตอนผมไปแรกๆ ผมก็จะเน้นทางเรื่องงานโยธาแล้วก็ช่วยเขาทำความสะอาดบ้าง กวาดวัดบ้าง

20200726 09

พอตอนเย็นบางครั้งท่านก็มีเทศนาให้อีก เราก็พยายามนั่งฟัง วัตรก็คงเหมือนวัตรของพระปกติ แต่ว่าใครจะทำมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่กำลังของตัวเอง แต่สำหรับผมมันเหมือนกับเป็นโลกใหม่ เพราะว่าผมไม่เคยรู้จักว่าโลกุตตรธรรมคืออะไร คือธรรมที่สูงกว่าธรรมดาในขณะที่เราปฏิบัติอยู่ที่เราเป็นฆราวาสเป็นมนุษย์ธรรมดา แล้ววิธีการที่จะไปถึงสิ่งเหล่านั้น เช่น การฝึกอานาปานสติ การที่จะเข้าใจธรรมชาติของโลกของจักรวาล หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ความเป็นตถตาของสรรพสิ่งทั้งหลาย การไม่ยึดมั่นถือมั่น เหล่านี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมทั้งหมด...ท่านก็เมตตาแนะนำบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งทำให้ผมสามารถที่จะก้าวไปอีกระดับหนึ่ง อาจไม่ได้เป็นก้าวที่ใหญ่มาก เป็นก้าวที่เล็กๆ เลยคิดว่าอันนั้นเป็นประโยชน์” 

20200726 03

ปีติพงศ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า “ผมบวชอยู่ไม่ถึงพรรษา แต่ใกล้จะหมดพรรษาอยู่แล้ว เผอิญมีภารกิจที่ต้องทำ ตอนที่จะไปลาสิกขาท่าน ผมก็เอ๊ะ...จะลาดีไม่ดี (หัวเราะ) แต่ท่านก็คล้ายๆ รู้ว่า ไปเถอะ แต่ก็ต้องทำเรื่องที่อาจารย์สอนไว้นะ เพราะว่าผมตอนนั้นก็อายุยังน้อยอยู่ ยังต้องเจอโลกอีกเยอะ แล้วทุกวันนี้ผมมีภาพอยู่ ๒–๓ ภาพ ที่ติดอยู่ในใจผมก็คือ วันที่ท่านบวชให้ผม วันที่ผมไปลาท่าน แล้วทุกวันผมก็นึกถึงท่านอาจารย์...ผมยังไม่รู้นะว่าที่ผมมีอายุอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่ใช้ธรรมะของท่านผมจะอยู่ได้อย่างไร เพราะผมก็โชคดีที่ได้รับใช้ประเทศชาติอยู่หลายครั้งหลายครา ทั้งหมดมันเป็นทุกข์หมด นับวันความทุกข์เหล่านั้นยิ่งทับถมทวีคูณมากขึ้นทุกที ก็ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านสอน สิ่งที่ท่านอบรมมา พระคุณของท่านที่ได้ดูแลสั่งสอนผมมาท่วมท้นเต็มไปหมด 

 20210522 02

“ยิ่งอายุมากขึ้นเราก็ใกล้ความตายเข้าไปทุกที ยิ่งมีเวลาทบทวนก็ยิ่งเห็นความจริงมากขึ้นทุกที แต่มันจะช่วยผมได้แค่ไหนนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ผมคงจะต้องฝึกฝนตัวเอง เพราะว่าคงไม่มีใครจะช่วยผมได้ ระหว่างสิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ ศีลธรรม กับความจริงที่เราต้องรับรู้ คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ อันสองนี่ยากกว่าเยอะ แล้วก็ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ ไม่ได้ธรรมะของท่าน ไม่ได้ข้อแนะนำจากท่าน เราก็คงไม่ค่อยเข้าใจสิ่งเหล่านี้หรอก เพราะเราก็จะไม่ปฏิบัติ แล้วเราก็ไม่มีคนชี้แนะว่าปฏิบัติอย่างไรถึงจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ได้หมายความว่าผมปฏิบัติได้นะ แต่ผมก็พยายามอยู่ทุกวัน แต่อย่างน้อยที่สุด การปฏิบัติหรือการคำนึงถึงสิ่งที่ท่านได้สั่งสอน ก็ทำให้จิตใจของเรานี่ดีขึ้น ไม่รู้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นหรือเปล่าแต่ว่าจิตใจของตัวเองนี่อาจจะดีขึ้น” ปีติพงศ์ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ ที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำ 

 “เราอยากจะรักษาสิ่งที่เป็นสังคมที่อิงธรรมะ สังคมที่สงบ สังคมที่มีเมตตาจิตซึ่งกันและกันไว้หรือเปล่า”

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ที่ถาโถมเข้าสู่สังคมไทยและโลก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยดังที่ปรากฏเป็นผลตามที่รับรู้ได้ในปัจจุบัน อาจเกี่ยวเนื่องกับระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคม ที่ไม่ได้นับรวมธรรมะเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่ง “เรื่องเศรษฐกิจก็คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ก็เคยรับสั่ง แล้วอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ก็พูดอยู่เสมอว่า ความพอเพียงเป็นเรื่องที่เป็นความจำเป็น แต่ผมคิดว่าความเอารัดเอาเปรียบในเชิงเศรษฐกิจของเรามันมีมากขึ้นทุกวัน แล้วมันจำเป็นอยู่เองในระบบทุนนิยมที่มันจะเป็นอย่างนั้น แต่เราทำอะไรในทางจิตใจ ในทางกระบวนการทางกฎหมาย ในทางกระบวนการทางเศรษฐกิจไม่พอที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถอยู่ได้ มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในเชิงเศรษฐกิจ ในเชิงความคิด ในเชิงการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น

20191020h

“การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผมคงไม่ต้องพูดหรอกนะเรื่องนี้ หลายคนคงไม่ค่อยชอบใจเท่าไร มีความไม่เข้าใจวิธีการ หรือกระบวนการในทางยุติธรรมมากขึ้นพอสมควร ซับซ้อนมากขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในทางการเมือง ทางด้านสังคมเราเคยพูดเรื่องสถาบันทางสังคมคือ วัด โรงเรียน บ้าน เราพูดแต่เราไม่ทำ เรากำลังบอกว่าเราต้องการที่จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แต่เรากำลังยุให้คนใช้เงินมากๆ ซึ่งมันไม่มีใครตอบได้ว่าในที่สุดมันจะพาเราไปที่ไหน แต่สิ่งที่ตอบได้อย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าทุกคนมีธรรมะ โลกเราก็คงไม่น่าเป็นอย่างนี้เท่าไร มันก็คงจะเป็นอย่างช้าๆ หรือเป็นไม่มากเท่าในขณะนี้” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบาย

20191020b

ขณะเดียวกัน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเผยแผ่ธรรมะและผลงานของพุทธทาสภิกขุเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในปัจจุบันและอนาคต ปีติพงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าถามว่าสิ่งที่ท่านให้ไว้เป็นประโยชน์หรือไม่ ผมว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ภาระของเราคือทำอย่างไรให้มันสื่อกับคนที่ควรจะต้องได้รับการเรียนรู้ หรือได้รับการปฏิบัติในทางที่ถูกให้มากยิ่งขึ้น มันก็จะช่วยสังคมไม่ให้มันวุ่นวายมากเกินไป นี่พูดในฐานะคนที่ยังอยู่ในโลก...

 2021 01 17 170510

“เรา (มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่คิดหาประโยชน์ไม่ว่าจากธุรกิจหรือพุทธพาณิชย์อะไรก็แล้วแต่ จะทำอย่างไรให้มีคนมาร่วม มีคนเข้ามาช่วยขยายธรรมะไปสู่กลุ่มคนที่ต้องการให้มากยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้เครื่องพวกนี้ (ชี้ไปที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้) มันก็ช่วยได้เยอะ แต่ว่าผมไม่แน่ใจว่าคนที่เสพสิ่งเหล่านี้เขาเสพสิ่งที่ถูกหรือสิ่งที่ควรจะเสพมากพอหรือเปล่า

20210613 03

คำว่ามากพอผมไม่ได้หมายความว่าทุกวันต้องมานั่งฟังธรรมะนะ...แต่เราจะแทรกเข้าไปเป็นยาดำอย่างไรให้มันมากยิ่งขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายกับที่นี่ (มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) กับที่สวนโมกข์มาก ผมเองก็คิดไม่ออก (หัวเราะ) แต่ว่าจริงๆ แล้วมันควรจะหาโอกาสได้ระดมความคิดสักทีหนึ่ง เพราะว่าทุกวันนี้เราก็พอจะมองเห็นแนวโน้มของประเทศและโลกของเราแล้วว่ามันเป็นไปอย่างไร แล้วเราอยากจะรักษาสิ่งที่เป็นสังคมที่อิงธรรมะ สังคมที่สงบ สังคมที่มีเมตตาจิตซึ่งกันและกันไว้หรือเปล่า ถ้าอยากจะให้เป็นอย่างนั้นเราต้องออกแรงให้มากกว่านี้หน่อย” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็น

 20210613 02

ในปัจจุบันที่หลายคนพยายามปฏิเสธธรรมะ หรือตั้งข้อรังเกียจธรรมะด้วยเหตุว่าดูจะเป็นปฏิปักษ์กับระบบตลาดเสรี ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการตีความธรรมะว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในศาสนา แต่ข้อมูลจาก ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตนักศึกษาเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตก และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีโอกาสได้รับฟังธรรมะจากพุทธทาสภิกขุ กลับชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ธรรมะในรูปแบบของ “ความจริงที่เราต้องรับรู้ คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ” นั้นยังมีประโยชน์ต่อการสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคม ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเหตุปัจจัยเชิงบวกที่จะทำให้มนุษย์สามารถรักษา “สังคมที่สงบ สังคมที่มีเมตตาจิตซึ่งกันและกันไว้”...แม้จะเป็นการยาก แต่ก็คุ้มค่ากับความพยายาม...