พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ เมตตา พานิช

Share

งานจดหมายเหตุ,

“ท่านพุทธทาสท่านได้ทำเป็นตัวอย่างตั้งแต่ต้นจนจบของชีวิตหนึ่งชีวิตแล้ว”

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ เมตตา พานิช

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓

 

456873

 

“มีคำถามหนึ่งซึ่งคนที่ได้ศึกษาประวัติของสวนโมกข์ และประวัติของพ่อ (ธรรมทาส พานิช น้องชายของพุทธทาสภิกขุ) ถามพ่อว่า พ่อไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายเหรอที่ไม่ได้เรียนต่อแพทย์ เพราะก็รู้ว่าพ่อต้องลาออกตั้งแต่เทอมแรก ต้องมาเปิดกิจการร้านค้าแทนท่านพุทธทาส พ่อก็จะมีวิธีตอบที่เรียกว่าไม่เสียเวลาแล้วก็ให้เขาได้คิดด้วย คือไม่ได้อธิบายอะไรมาก แต่พ่อก็จะถามผู้ที่ถามกลับไปว่า พวกคุณลองคิดดูว่า เปรียบเทียบในระหว่างที่ได้ท่านพุทธทาสมาองค์หนึ่ง กับได้หมอมาคนหนึ่ง อย่างไหนจะมีค่ามีความสำคัญกว่ากัน นี่เป็นวิธีตอบที่พ่อซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้พูดอธิบายอะไรมากมาย แต่พูดอย่างชนิดที่เรียกว่ากระชับสั้นแล้วก็ให้คนได้รู้จักใช้ความคิดใคร่ครวญเอง” เมตตา พานิช ประธานธรรมทานมูลนิธิคนปัจจุบัน บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับ นายธรรมทาส พานิช ผู้เป็นบิดาซึ่งเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการกำเนิดขึ้นของสวนโมกขพลาราม และพุทธทาสภิกขุ

20210522

 

ธรรมทาส พานิช และชีวิตแบบพุทธทาส

หากใครติดตามประวัติของพุทธทาสภิกขุ และสวนโมกข์ คงจะทราบดีว่ากิจการของสวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการสนับสนุนทุนก้อนแรกจาก นางเคลื่อน พานิช ผู้เป็นมารดาของพุทธทาสภิกขุ ขณะเดียวกันผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลหลายๆ กิจกรรมและกิจการให้แก่พุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ ก็คือ นายธรรมทาส พานิช ผู้เป็นน้องชายร่วมสายเลือด

“คือตอนผมเกิดพ่อไม่ได้ทำการค้าแล้วล่ะ เดิมพ่อทำการค้าต่อจากท่านพุทธทาสนั่นล่ะ เป็นร้านของตระกูล ร้านไชยาพานิช ทีนี้พอมาทำกิจการของสวนโมกขพลารามได้สักไม่กี่ปีพ่อก็ตั้งโรงเรียนพุทธนิคม เพราะฉะนั้นงานหลักของพ่อก็ไม่ได้ทำการค้าแล้ว มาบริหารจัดการโรงเรียนพุทธนิคมส่วนหนึ่งแล้วก็บริหารช่วยงานสวนโมกขพลารามของท่านพุทธทาส” เมตตา พานิช ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับ ธรรมทาส พานิช ผู้เป็นบิดา

 

20210522 01

 

เขา เล่าต่อไปว่า “ผมน่าจะมีความใกล้ชิดมากกว่าลูกคนอื่นๆ เพราะตั้งแต่เล็กผมก็นอนเตียงเดียวกันกับพ่อนั่นล่ะ เพราะพ่อกับแม่แยกกันอยู่คนละบ้าน แม่ก็ไปทำร้านค้าอยู่ริมถนน พ่ออยู่บ้านธรรมทานลึกเข้ามาข้างใน พอโตหน่อยก็กางมุ้งนอนข้างเตียงพ่อก็เลยคุ้นเคยกับวิถีของพ่อ เราตื่นนอนก็ได้ยินเสียงพ่อฟังเทป ตีห้าพ่อก็ฟังเทปของท่านพุทธทาสไป ท่านฟังเทปท่านถอดเทปลงหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา แล้วท่านก็สอนหนังสือลูกๆ นี่เป็นสิ่งที่พ่อให้ความสำคัญมาก

ทุกเช้าวิชาที่พ่อสอนคือภาษาอังกฤษ พ่อสอนภาษาอังกฤษให้รู้จักอ่านเขียนภาษาอังกฤษ ผมก็เลยโชคดีไปเรียนต่อสูงๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องวิชานี้ คือเรียนได้สะดวกสบายดี ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เห็นตั้งแต่เล็กๆ จากการที่คนมาพูดคุยธรรมะกับพ่อ มีหมู่คณะใหญ่ๆ มาพ่อก็ต้อนรับ แล้วก็พยายามที่จะตอบคำถามอธิบาย ทั้งเรื่องของธรรมะแล้วก็ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ เพราะพ่อเป็นคนสนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ แต่การสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของพ่อ ไม่เหมือนนักประวัติศาสตร์ทั่วไป พ่อสนใจศึกษาในแง่ของพุทธศาสนาที่มันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ คือความเจริญของแต่ละอาณาจักรที่มันเจริญรุ่งเรืองได้ พ่อก็พยายามศึกษาว่า มันมีอะไรเป็นเหตุที่สำคัญ ซึ่งพ่อก็จะเขียนเรื่องนี้ว่า อาณาจักรที่เจริญส่วนใหญ่ทั้งหมดในแถบภาคใต้ ที่เจริญได้ก็เพราะพุทธศาสนา เพราะว่ากษัตริย์สนใจปฏิบัติธรรม เข้าใจธรรมะ มีความรู้ธรรมะที่เรียกว่าโพธิสัตว์นั่นล่ะ...

 

20210522 02

“พ่อได้ถ่ายรูปพระบรมธาตุไชยา แล้วก็ขยายมาติดไว้ประกอบการอธิบายกับผู้ที่มาเยี่ยม อุปกรณ์ที่พ่อใช้ที่ผมเห็นประจำมีอยู่ ๒ อย่าง คือพระบรมธาตุไชยาที่เป็นภาพถ่าย แล้วก็รูปปั้นพระอวโลกิเตศวร พ่อก็จะอธิบายว่า พระบรมธาตุไชยา ผู้สร้างเข้าใจเรื่องนิพพาน เพราะฉะนั้นในการสร้างพระบรมธาตุไชยาที่มีตรงฐาน ๔ องค์ พ่อบอกว่านี่คืออริยสัจจ์ ๔ ส่วนเจดีย์เล็กๆ ที่เวียนขึ้นไปจะมีอยู่ ๘ พ่อว่านี่คืออริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วยอดคือพระนิพพาน อันนี้คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องพระบรมธาตุไชยากับเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘

20200223g

 

ส่วนเรื่องพระโพธิสัตว์พ่อก็จะพูดคล้ายๆ กับท่านพุทธทาสพูดนั่นล่ะ พ่อก็จะพูดถึงเรื่องคุณธรรมของพระโพธิสัตว์ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี ท่านก็อธิบายให้คนเข้าใจว่า บ้านเมืองที่มันจะสงบเรียบร้อย กษัตริย์ต้องมีคุณธรรมอันนี้ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันตี แล้วก็จะสามารถเป็นนักปกครองได้ดี แล้วจะทำให้ประชาชนสงบร่มเย็น” ประธานธรรมทานมูลนิธิคนปัจจุบัน ให้ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถทางวิชาการ และความสนใจในธรรมะของผู้เป็นบิดา พร้อมทั้งอธิบายถึงความศรัทธาที่ ธรรมทาส พานิช มีต่อแนวทางการปฏิบัติของพุทธทาสภิกขุผ่านคำตอบที่หลายคนสงสัย ต่อไปว่า

20210522 03

 

“มีคำถามหนึ่งซึ่งคนที่ได้ศึกษาประวัติของสวนโมกข์ และประวัติของพ่อถามพ่อว่า พ่อไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายเหรอที่ไม่ได้เรียนต่อแพทย์ เพราะก็รู้ว่าพ่อต้องลาออกตั้งแต่เทอมแรก ต้องมาเปิดกิจการร้านค้าแทนท่านพุทธทาส พ่อก็จะมีวิธีตอบที่เรียกว่าไม่เสียเวลาแล้วก็ให้เขาได้คิดด้วย คือไม่ได้อธิบายอะไรมาก แต่พ่อก็จะถามผู้ที่ถามกลับไปว่า พวกคุณลองคิดดูว่า เปรียบเทียบในระหว่างที่ได้ท่านพุทธทาสมาองค์หนึ่ง กับได้หมอมาคนหนึ่ง อย่างไหนจะมีค่ามีความสำคัญกว่ากัน นี่เป็นวิธีตอบที่พ่อซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้พูดอธิบายอะไรมากมาย แต่พูดอย่างชนิดที่เรียกว่ากระชับสั้นแล้วก็ให้คนได้รู้จักใช้ความคิดใคร่ครวญเอง” เมตตา พานิช บอกเล่าเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำที่มีต่อ ธรรมทาส พานิช ที่เกี่ยวโยงไปถึงการสนับสนุนการดำเนินงานของพุทธทาสภิกขุ

 

20210522 04

 

“เมื่อก่อนก็รู้จักแบบเด็กๆ ไม่ใช่รู้จักธรรมะ” พุทธทาสภิกขุในความทรงจำวัยเด็ก

แม้จะใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้เป็นบิดาที่สนับสนุนงานของสวนโมกข์มาแต่แรกเริ่ม แต่ในช่วงวัยเด็กตลอดจนเมื่อแรกรุ่น พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำของ เมตตา พานิช ก็ดูจะห่างไกลจากหนทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน “เมื่อก่อนก็รู้จักแบบเด็กๆ ไม่ใช่รู้จักธรรมะ คือรู้จักแบบลูกหลานซึ่งไปแล้วท่านก็ให้ความเมตตาสงสาร ท่านพาไปเที่ยวเดินดูอะไรที่เราชอบ เด็กๆ ชอบขึ้นไปบนภูเขาดูอะไรต่ออะไร สมัยนั้นไม่มีแขกมาก ถ้าพ่อไปก็จะพาเด็กๆ ไป แล้วท่านก็มีกล้องถ่ายรูปด้วย ตอนนั้นที่จำได้ว่าชอบมากก็เพราะว่าท่านมีกล้องถ่ายรูปที่เรียกได้ว่าทันสมัย ถ่ายแล้วมันมีฟิล์มเป็นแผ่นแล้วเอาผ้าลูบๆ แล้วออกมาเป็นรูปให้เราเห็นตอนนั้นเลย พอเขาถ่าย เด็กๆ เอามาดูกันก็ตื่นเต้น...พอจำความได้ ผมก็ไปเองได้ แล้วส่วนใหญ่พ่อก็จะใช้งานคือสมัยนั้นมีจักรยานเวลาพ่อต้องการจะติดต่ออะไรกับท่านพุทธทาส พ่อไม่ต้องไปเองผมถือจดหมายไปส่ง ถ้าท่านตอบทันทีท่านก็บอก “เดี๋ยวรอ” แล้วท่านก็ตอบ ผมก็เอามาให้พ่อ หรือว่าถ้าพ่อทำต้นฉบับเรียบร้อยแล้วก่อนจะพิมพ์ก็ต้องไปให้ท่านพุทธทาสตรวจ ส่วนใหญ่ผมก็ทำหน้าที่ปั่นจักรยานไป แต่บางครั้งถ้าเป็นของที่มากๆ เขาก็จะจ้างนักเรียนที่โตๆ นักเรียนโรงเรียนพุทธนิคมอย่างพี่ณรงค์ เสมียนเพชร เคยปั่นจักรยานคันใหญ่ๆ ท้ายข้างหลังใหญ่บรรทุกของได้เยอะ ก็ได้ไปหาท่าน” เมตตา พานิช ให้ข้อมูล

 

 20210522 05

 

“เธอโง่ รู้ไหม โง่ๆ” พุทธทาสภิกขุ กับความทรงจำเมื่อครั้งบวชในสวนโมกข์

หลังสนุกสนานกับชีวิตวัยรุ่นอย่างเต็มคราบ รุ่งเช้าวันหนึ่งเหตุปัจจัยบางอย่างก็ทำให้ เมตตา พานิช ตัดสินใจที่จะบวชและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเลิกละในอบายมุข สนใจธรรมะและจิตตภาวนาอย่างจริงจัง “สมัยนั้นมีมอเตอร์ไซค์แล้ว ผมขับมอเตอร์ไซค์ไปหาท่าน จำได้ว่าท่านนั่งหน้ากุฏิ ผมก็ไปกราบ ผมบอกว่า ลุงหลวงครับ พรรษานี้ผมตั้งใจจะบวช ตามที่แม่อยากให้บวชแล้ว ท่านก็ไม่แสดงอาการอะไร นั่งนิ่งๆ แล้วท่านก็พูดช้าๆ ว่า “เขาปิดรับสมัครตั้งนานแล้ว” (หัวเราะ) ท่านว่าอย่างนี้ เพราะสวนโมกข์จริงๆ ต้องรับสมัครเข้ามาก่อนตั้งนานแล้ว ๕-๖ เดือน ต้องมาเขียนใบสมัคร ผู้ปกครองต้องมายืนยันอะไรด้วย ผมก็นั่งต่อ ท่านก็เงียบไป เดี๋ยวท่านก็พูดขึ้นอีก “สำหรับเธอ แม่เธอมาพูดกับเราไว้นานแล้ว” นั่นล่ะ ผมได้บวชตอนนั้นล่ะ ท่านก็คงสงสาร ไม่มีอะไรมากหรอก ท่านคงคิดว่า ถ้าไม่ให้ผมบวชตอนนั้นมันคงไม่คิดบวชอีกก็ได้ แล้วจะไม่ได้บวชเลย แต่ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไป อาจจะมองว่าเป็นลูกหลานถึงได้บวช คนอื่นมาไม่รับแล้วช่วงนั้น แต่ผมว่าถ้าผมไม่ได้บวช ผมก็คงไม่ได้มาทำงานตรงนี้มาช่วยท่าน”

 

 20210522 07

 

ประธานมูลนิธิธรรมทาน เล่าต่อไปว่า “...ตอนบวชท่านช่วยเยอะเลย ท่านรู้ว่าผมติดทั้งเหล้า ทั้งบุหรี่ คงจะแม่ไปเล่าให้ฟัง ผมบวชได้สักอาทิตย์หนึ่ง ท่านเรียกไปคุยเลย พอนั่งปุ๊บท่านก็ถามเลย “เธอติดทั้งเหล้าทั้งบุหรี่ใช่ไหม” ถามตรงๆ ผมก็บอก ครับผม ผมติดตั้งแต่มหาวิทยาลัยปี ๑ แล้ว จบมามาเป็นครูก็ยังติดอยู่ คือไม่ได้เลิกเด็ดขาด เลิกบ้างแต่ไม่ได้เด็ดขาด ท่านก็สอนตรงๆ เลย ใช้คำพูดที่เรียกว่า ให้ความเมตตากรุณา ท่านบอก “เธอโง่ รู้ไหม โง่ๆ” ท่านใช้คำว่า โง่ คำว่า โง่ อันนี้ ผมคุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะว่าที่บ้านถ้าทำอะไรไม่ถูก พ่อให้ทำอะไรต่ออะไรแล้วเราไม่เข้าใจ พ่อก็บอกว่า ทำไมโง่ทำผิดอีกแล้ว...ทีนี้พอท่านพุทธทาสพูดว่า โง่ๆๆ ผมก็นึกถึงครั้งนี้ แต่ตอนนั้นพอเราเริ่มบวชแล้วจิตใจเราเริ่มสงบแล้ว แล้วท่านก็พูดต่อให้เราคิดว่า เราควรจะคิดให้มากในเรื่องวงศ์ตระกูล ท่านก็บอกว่า “นายธรรมทาสพ่อเธอเขาก็ไม่ติดบุหรี่ ไม่กินเหล้า คนในครอบครัวตั้งแต่รุ่นก่อนมาก็ไม่ได้ติดเหล้า ติดบุหรี่ มีเธอนี่ล่ะ โง่ๆๆ” (หัวเราะ) อันนี้ผมกลับไปคิดได้เลย คือเราเห็นความโง่จริงๆ เลย เราได้คำตอบว่า ไอ้ที่สูบบุหรี่ทั้งหมดเนี่ย มันเป็นเรื่องที่เรามันขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในทางพุทธศาสนา ยังไม่มีปัญญา เป็นอวิชชาเราก็โง่นั่นล่ะ แต่พอเราเข้าใจเรื่องนี้แล้ว มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยที่เราไม่กลับไปยุ่งกับมันอีกได้ ไม่ได้อยู่ในเรื่องที่จะดึงดูดเราให้ไปติดมันได้อีกเลย โดยที่เรามันหายโง่ในเรื่องนี้อย่างที่ท่านว่า”

 

 20210522 09

 

เมตตา พานิช ให้ข้อมูลถึงช่วงเวลาที่บวชอยู่ในสวนโมกข์ ต่อไปว่า “ตอนผมบวชได้สักกลางๆ พรรษา ท่านก็เรียกไปคุยเหมือนกัน ท่านถามว่า “ทำอะไรมาบ้างแล้ว ผ่านมาครึ่งพรรษาแล้ว” ผมก็บอกตามตรงเลยว่า ผมขนหนังสือที่บ้านมา เพราะเห็นในตู้พ่อเล่มใหญ่ๆ ตัวกู ของกู, คู่มือมนุษย์ ฯลฯ ผมก็จะเอามาอ่าน ตอนบวชนี่ตั้งใจจะอ่านให้จบ ท่านก็ยิ้มหัวเราะนิดๆ แล้วท่านก็บอกว่า “ปิดทุกเล่มเลย” ท่านพูดอย่างนี้ “อ่านเล่มในเล่มเดียวพอ ต่อไปนี้เธอหาเวลาเงียบๆ แล้วสังเกตจิตใจว่ามันรู้สึกอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงอย่างไรในจิตใจให้เรียนตรงนี้ เมื่อมันเกิดความรู้สึกความคิดดีๆ ก็บันทึกไว้” นี่เป็นคำแนะนำของท่าน ผมว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์

 

202105 08

 

ถ้าคนรู้จักศึกษาธรรมะในลักษณะที่เป็นของจริง คือบางทียังติดกับการอ่านหนังสืออ่านอะไรอยู่ เวลาที่อ่านหนังสือตอนไม่ได้บวชก็ไปอ่านได้เยอะแยะ แต่เวลาที่เรายังบวชอยู่ สิ่งแวดล้อมมันเอื้ออำนวยให้เราสงบได้ ไม่มีเรื่องอะไรมาฟุ้งซ่านให้เป็นห่วงกังวล พอเราจิตใจสงบ ผมจำได้เลย เรื่องแรกเรานึกถึงพ่อถึงแม่แล้วเราน้ำตาไหลเลย อยากจะไปกราบท่าน นึกถึงสภาวะที่บางครั้งเรามีอารมณ์แล้วเราโต้เถียง เราทำอะไรต่ออะไรในลักษณะที่ผิด จิตใจพอมันอ่อนลงมันสำนึกได้หมดเลยนะ เรื่องที่เราทำผิดพลาดอะไรมันมองเห็นหมดเลยว่า มันเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ

 

 202105 06

 

“...ตอนที่ได้คิดจริงๆ ก็ระหว่างบวชนั่นล่ะ เราได้เห็นคุณค่าของพุทธศาสนาจริงๆ เลย เราได้รู้ว่าชีวิตเราเปลี่ยนเพราะพุทธศาสนาจริงๆ มันทำให้รู้สึกเลย เมื่อก่อนก็ทำไปตามหน้าที่ไม่ใช่ไม่ทำ ตั้งแต่เรียนจบออกมาแล้วไปช่วยพ่อตรวจต้นฉบับทำหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ผมช่วยมาตลอดแต่ไม่ได้รู้สึกอะไร คิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ แต่หลังจากบวชแล้วเป็นคนละเรื่องเลย มันกลายเป็นเรื่องที่ว่า มันเป็นงานที่เราควรจะทำเลย มันเป็นประโยชน์มากเพราะเราได้ประโยชน์แล้ว มันเป็นกำลังผลักดันให้เราอยากจะทำอะไรให้คนได้รับประโยชน์บ้าง” ประธานธรรมทานมูลนิธิ อธิบายถึงกระบวนการเรียนรู้ธรรมะผ่านความทรงจำที่มีต่อพุทธทาสภิกขุที่เติบโตขึ้นตามลำดับ

“สมัยก่อนไม่ค่อยเข้าใจเมื่อท่านพูดว่า ยิ่งเจริญยิ่งบ้า”

การได้มีโอกาสรับฟังข้อแนะนำเรื่องธรรมะจากพุทธทาสภิกขุ การได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการธรรมทานมูลนิธิ ตลอดจนร่วมเป็นผู้อบรมคอร์สปฏิบัติธรรม หรือการอบรมอานาปานสติภาวนา สวนโมกข์นานาชาติ ทำให้ เมตตา พานิช ยิ่งศรัทธาว่าแนวทางของพุทธทาสภิกขุนั้นซื่อตรงต่อธรรมะ และขณะเดียวกันคำสอนที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาของพุทธทาสภิกขุก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการของยุคสมัย “สมัยก่อนไม่ค่อยเข้าใจเมื่อท่านพูดว่า ยิ่งเจริญยิ่งบ้า หรือยิ่งพัฒนายิ่งบ้า คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ แต่เมื่อมาถึงในยุคนี้ในวัยนี้เราเข้าใจเลย เพราะความเจริญมันคือความเจริญของกิเลส เรามองเห็นชัดเลยว่า ทุกวันนี้ระบบการศึกษามันเป็นอวิชชาอยู่ คือมันเป็นไปเพื่อสนองกิเลส มันทำให้แก้ไม่ได้

 

2021 01 17 170510

 

ท่านพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่เราเด็กๆ แล้วท่านก็พูดเรื่องนี้มากขึ้นๆ หาวิธีที่จะพูดให้คนเข้าใจเรื่องนี้ แล้วนับวันคนก็ยิ่งไปหลงความเจริญมากขึ้น แต่ว่าโรค (โควิด-19) ที่มันเกิดคราวนี้ ทำให้คนคิดได้จำนวนมาก มีคนมาพูดว่า นึกถึงโครงการเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ถ้ามาอยู่อย่างนี้คงไม่เดือดร้อน คนที่มีธุรกิจเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างโรงแรมกู้เงินมาร้อยล้านพันล้านสร้างห้องอย่างดี ผลสุดท้ายเกิดเหตุการณ์นี้ ต่อไปคงต้องคิดแล้วว่า มันจะพัฒนาอะไร จะสร้างอะไร มันต้องอยู่ในกรอบที่มีความเรียบง่ายและประหยัด ถ้าคุณสร้างมากลงทุนมากเท่าไหร่ หนึ่งคุณจะเสียค่าบำรุงรักษามากเท่านั้นอยู่แล้ว...ทำอย่างไรจะช่วยกันให้คนคิดถึงเรื่องนี้ได้ นี่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตามแนวพุทธ คือใช้วิถีชีวิตตามตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้พูด เพราะว่าถ้าเราศึกษาจากพุทธประวัติพระพุทธองค์ก็ตรัสตรงอยู่แล้วว่า มัชฌิมาปฏิปทา” ประธานธรรมทานมูลนิธิ ยกตัวอย่างบางคำสอนของพุทธทาสภิกขุที่ยังคงสามารถเตือนสติของผู้คนในสังคมร่วมสมัยที่ โลภะ โทสะ โมหะ กลับถูกพิจารณาให้เป็นหนทางแห่งความเจริญ

 

 2021 01 17 175743

 

ขณะเดียวกัน ประธานธรรมทานมูลนิธิ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้จากพุทธทาสภิกขุ ว่า “อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเรียนรู้ว่า ชีวิตของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด มันควรจะทำอะไรบ้าง ท่านพุทธทาสท่านได้ทำเป็นตัวอย่างตั้งแต่ต้นจนจบของชีวิตหนึ่งชีวิตแล้ว คือทำประโยชน์ตัวเองสมบูรณ์ที่สุด แล้วก็ทำประโยชน์สังคมสมบูรณ์ที่สุด ถ้าเราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องทำตามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ได้ทำตัวอย่างเอาไว้แล้วว่า ตลอดเวลาของพระพุทธองค์ ท่านได้ทรงออกไปช่วยคนให้เกิดสติปัญญาในการที่จะใช้ชีวิตให้ถูกต้อง นี่สมบูรณ์ที่สุดเลย”

 

20210522 06

 

ท่ามกลางความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ บทเรียนจากความทรงจำของ เมตตา พานิช เกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ, สวนโมกขพลาราม และตระกูลพานิช กลับเผยให้เห็นศักยภาพเล็กๆ แต่ทรงพลังอย่างสถาบันครอบครัวที่มีส่วนสำคัญช่วยผลักดันให้ภิกษุรูปหนึ่งสามารถบรรลุภาระกิจในการต้านกระแสแห่งลาภสักการะเพื่อเข้าสู่หนทางแห่งพุทธธรรม และนำออกเผยแผ่ต่อสังคมได้อย่างท้าทาย หากมองผ่านความเป็นศาสนสถาน สวนโมกขพลาราม อาจเป็นต้นแบบของนวัตกรรมทางสังคมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นได้โดยปราศจาก โลภะ โทสะ โมหะ และเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าหากบุคคลยึดมั่นธรรมเป็นอุดมการณ์ สังคมที่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้นได้โดยธรรม