พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระนุ้ย สัมปันโน

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระนุ้ย สัมปันโน

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓

2021 05 09 201854 cr horz

“ที่อาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เตือนอาตมา...คนบางคนจบปริญญาโท ปริญญาเอก มาถามปัญหาเพื่อลองภูมิว่า โกรธไหม รู้ไหม หลายแบบ วันนั้นอาจารย์พุทธทาสนั่งอยู่ที่ใต้ต้นกระท้อนอาตมาไปยกมือไหว้ อาจารย์ครับผมอยู่โรงหนัง (โรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกข์ ไชยา) โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง...อาจารย์เขาด่าอาจารย์ ชี้หน้าผมด้วย ผมนี่ทั้งโดนด่า โดนทั้งลองภูมิ ท่านชี้ “คุณจำไว้นะ คนในโลกนี้มาจากหลายพ่อหลายแม่ หลายความคิด หลายการศึกษา หลายนิสัย คุณทำงานเกี่ยวข้องกับคนอดทนให้มาก ทนไม่ได้ก็ต้องทน”

กลับไปที่กุฏิเขียนบันทึกเลยโยม ไปพูดที่ไหนอาจารย์บอกว่า ทำงานกับคน สามีก็คน ภรรยาก็คน เจ้านายก็คน ลูกน้องก็คน ลูกเรา เพื่อนเราก็คน คนทำงานกับคนอดทนให้มาก ต้องมี ททท สำคัญมาก ทน ทน  ทน ทนไม่ได้ก็ต้องทน จำคำนี้ไว้ขึ้นใจ” พระนุ้ย สัมปันโน รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล จังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกเล่าความประทับใจเสี้ยวหนึ่งที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ

2021 05 09 203041

“ทำไมพูดขวางโลก ไม่ชอบ” พุทธทาสภิกขุแรกเริ่มความทรงจำของ พระนุ้ย สัมปันโน

จากเด็กหนุ่มอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ผ่านพ้นวัยเกณฑ์ทหารมาในช่วงสงครามอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ ภาพของเพื่อนทหารร่วมรุ่นที่บาดเจ็บและพิการจากการสู้รบอาจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ พระนุ้ย สัมปันโน ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และมีโอกาสได้รู้จักกับชื่อเสียงของพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา

“คือตอนที่บวชได้พรรษาที่ ๓ อาตมาจบนักธรรมเอกแล้ว ญาติคนหนึ่งเป็นลูกของลุงอดีตเป็นครูแล้วเขาลาออกไปบวชพระ แนะนำให้ไปฝึกสมาธิที่วัดบุญศรีมุนีกรณ์ บางกะปิ กรุงเทพฯ ๑๐๐ วัน ๓ เดือนกว่า เขาให้หนังสือไปเล่มหนึ่ง อาตมาอ่านแล้วไม่ชอบท่านอาจารย์พุทธทาสมาก ไม่ชอบเพราะพูดขวางโลก (เล่าพร้อมรอยยิ้ม) คนเรานี่คิดว่ากูนี่จบนักธรรมเอก อาจารย์พุทธทาสพูดนั่นก็ไม่ถูกต้อง นี่ก็ส่วนเกิน โอ๊ย...ทำไมพูดขวางโลก ไม่ชอบ เราอ่านแล้วไม่ชอบ จำได้ว่าเรื่องหนึ่งท่านพูดกับหมอ อวิชชา กับการทำสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ อ่านแล้ว เฮ้ย ทำไมพูดขวางโลก เพราะไม่รู้จักว่าท่านเป็นใคร” พระนุ้ย สัมปันโน เล่าถึงความทรงจำเมื่อแรกเริ่มรู้จักกับผลงานของพุทธทาสภิกขุซึ่งดูจะอยู่ห่างจากความเคารพในปัจจุบัน 

2021 05 09 203239

ท่านอธิบายถึงความคลี่คลายของศรัทธาต่อบุคคลที่ท่านจะเรียกขานว่า อาจารย์ ในเวลาต่อมา ต่อไปว่า “เมื่อครบ ๓ เดือน เกือบ ๑๐ วัน ไปลาอาจารย์สอนวิปัสสนา เรานับถือเพราะเป็นอาจารย์สอนสมาธิ ท่านบอกว่า ถ้าคุณไม่สึกซะก่อนนะ คุณควรจะอ่านหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาสเพราะว่าเป็นนักปราชญ์ เป็นทางลัดไม่ต้องเที่ยวไปเชื่ออะไรอยู่...พออาจารย์บอกอย่างนั้น คราวนี้ล่ะโยม พอกลับมาเริ่มอ่านหนังสือท่านอาจารย์ คราวนี้บ้าหนังสือ มีเงินเท่าไรซื้อหนังสือหมด ไปซื้อที่คุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ที่มูลนิธิเผยแผ่ชีวิตประเสริฐ ซื้อเยอะ แล้วอ่านไปอ่านมาบ้าหนังสือ...หนังสือคนอื่นอ่านไม่ได้เลย นอกจากหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาส...นี่เริ่มต้นจากทั้งๆ ที่ไม่ชอบท่านทีแรก แต่ว่าสุดท้ายก็มาอยู่กับท่าน ไม่น่าเชื่อโยม” รอยยิ้มน้อยๆ ปรากฏผ่านเรื่องเล่าจากความทรงจำ

2021 05 09 203442

จากความไม่ชอบในแนวทางการอธิบายธรรมะของพุทธทาสภิกขุในระยะแรก กลับกลายเป็นความคลั่งไคล้จนก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ไม่ต่างกัน รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล อธิบายถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า “เรื่องนี้เกือบทุกคน อ่านอาจารย์พุทธทาสแล้วเห็นคนอื่นผิดหมด กับพระอื่นเห็นเขาทำอะไรแล้วผิดหมด ไม่ชอบ เป็นปัญหาเกือบทุกคนนะที่คุยกัน เห็นว่าพระที่อยู่เก่านั้นทำผิดหมด เพราะว่าคนละเรื่องกับหลักวินัยที่เราอ่านศึกษามา ทำไมพระต้องอย่างนั้น เวียนหัวนะโยม เช้าขึ้นมาไปสวดมนต์ พอเที่ยงขึ้นมาไปบังสุกุล พอเย็นแล้วไปสวด โอ้...ชักจะขัดแย้งกับอาจารย์ที่วัด กำลังคลั่งบ้าธรรมะเกิดขึ้น พอเห็นพระผู้ใหญ่ก็ผิดหมด เกิดอยู่ยาก คนอื่นไม่เสียเราเสียนะโยม เพราะเรากลายเป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการ มีปัญหา เกือบทุกคนนะ ถ้าอ่านหนังสืออาจารย์พุทธทาสเพราะอ่านความจริงแล้วมันตรงกันข้ามกับที่พระทำอยู่ สงฆ์ทำอยู่ มันคนละเรื่องเลย ทั้งเจิม ทั้งทำน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก แต่ก็ลาด้วยดีครบ ๕ พรรษาก็ออกจากวัด” 

 2021 05 09 203730

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๑ พระนุ้ย สัมปันโน จึงเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้ได้เรียนรู้ว่าทิฏฐิที่เป็นส่วนสุดนั้นอาจไม่ใช่หนทางแห่งการปฏิบัติอันเหมาะสม “พอออกจากวัดมา อาตมาเปลี่ยนทิฏฐิเลย อยู่ที่บ้านเขานิมนต์ ไม่อยากไปไหน มาอยู่ (สวนโมกข์) ใหม่ๆ ทุกวันอาทิตย์ท่านอาจารย์ให้ไปถามปัญหาได้ที่ใต้ต้นกระท้อน มีพระรูปหนึ่งถามอาจารย์ เราบวชมารับนิมนต์จนเวียนหัวไม่ได้ไปทำหน้าที่ตัวเอง แล้วเราไม่ไปได้ไหมเวลาเขานิมนต์ อาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) พูดดีว่า “ถูกแล้วล่ะ เราบวชมาเพื่อศึกษาธรรม เพื่อปฏิบัติธรรม เพื่อจะลดกิเลส แต่ว่าเขานิมนต์ไปฉันข้าวไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ไป แต่ตอนเช้ายืนก้มหน้าอยู่หน้าบ้านเขา” โอ้โห...โยม พลิกเลยทิฏฐิ

ท่านบอกว่า “เมื่อชาวบ้านกับพระหันหลังให้กัน ไม่ต้องพูดแล้ว” ทิฏฐิหลุดเลยอาตมา เราเข้าใจผิด เมื่อเขาทำบุญไม่ได้ทำผิดอะไร เมื่อต้องเกี่ยวข้องกันหรือผูกพันกัน เขานิมนต์ไปเลี้ยงพระทำบุญ เราไม่ไปแต่ตอนเช้ายืนก้มหน้าอยู่หน้าบ้านเขา โห...หลุดเลยโยม สุดท้ายมาเดี๋ยวนี้กลายเป็นผู้ที่ต้องมารับผิดชอบเรื่องนี้ นี่เป็นต้นเหตุที่ว่ามาสวนโมกข์แล้วอาจารย์พุทธทาสมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องนิมนต์”

2021 05 09 201951

“คุณจำไว้นะ...คุณทำงานเกี่ยวข้องกับคนอดทนให้มาก”

หนึ่งในหน้าที่หลักหลังจาก พระนุ้ย สัมปันโน ได้เข้ามาจำพรรษา ณ สวนโมกข์ เมื่อ ๔๒ ปีก่อน ก็คือการบรรยายธรรมในโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นบททดสอบชั้นดีสำหรับผู้ปฏิบัติ ทั้งในแง่ของการฝึกหัดเผยแผ่ธรรมะและการทดสอบอารมณ์ ดังที่รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ได้เล่าให้ฟังถึงบางเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในโรงหรสพทางวิญญาณว่า “อยู่ที่โรงหนัง ๔๐ กว่าปี ท่านบอกว่า เขามาถึงเราแล้วอย่าให้เขากลับมือเปล่า ให้ได้รับประโยชน์อะไรไปบ้าง...คนมาทุกรูปแบบนะโยม มาด่าอาจารย์พุทธทาส ชี้หน้าเราด้วย ด่าอาจารย์พุทธทาสว่าคนเดียรถีย์ มิจฉาทิฏฐิ...คนบางคนจบปริญญาโท ปริญญาเอก มาถามปัญหาเพื่อลองภูมิว่า โกรธไหม รู้ไหม หลายแบบ

2021 05 09 204118

วันนั้นอาจารย์พุทธทาสนั่งอยู่ที่ใต้ต้นกระท้อนอาตมาไปยกมือไหว้ อาจารย์ครับผมอยู่โรงหนังโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง...อาจารย์เขาด่าอาจารย์ ชี้หน้าผมด้วย ผมนี่ทั้งโดนด่า โดนทั้งลองภูมิ ท่านชี้ “คุณจำไว้นะ คนในโลกนี้มาจากหลายพ่อหลายแม่ หลายความคิด หลายการศึกษา หลายนิสัย คุณทำงานเกี่ยวข้องกับคนอดทนให้มาก ทนไม่ได้ก็ต้องทน” กลับไปที่กุฏิเขียนบันทึกเลยโยม ไปพูดที่ไหนอาจารย์บอกว่า ทำงานกับคน สามีก็คน ภรรยาก็คน เจ้านายก็คน ลูกน้องก็คน ลูกเรา เพื่อนเราก็คน คนทำงานกับคนอดทนให้มาก ต้องมี ททท สำคัญมาก ทน ทน  ทน ทนไม่ได้ก็ต้องทน จำคำนี้ไว้ขึ้นใจ”

2021 05 09 204235 

สถิติคนมาสวนโมกข์

หนึ่งในประจักษ์พยานยืนยันถึงความใส่ใจในรายละเอียดของพุทธทาสภิกขุในการบริหารจัดการสวนโมกข์ก็คือ การดำริให้ พระนุ้ย สัมปันโน ทำหน้าที่ในการจดบันทึกจำนวนคนมาสวนโมกข์ต่อวัน ดังที่รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลได้ให้ข้อมูลว่า “ท่านอาจารย์สั่งไว้ตั้งแต่ท่านอาจารย์อยู่ ให้บันทึกคนเข้าเท่าไรต่อวัน อาตมาบันทึกไว้หมด บางวันเป็นพันๆ มากกว่าพันก็มี บางวันสมัยที่ท่านอาจารย์ยังอยู่คนเข้ามารถจอดจนไม่มีที่จอดหน้าวัดเต็มหมด พันกว่าก็มี วันหนึ่งอย่างน้อยๆ ๒๐๐-๓๐๐ คน แต่ตอนนี้ที่ว่าโควิดนี่ล่ะ ๑๐๐-๒๐๐ คน เดี๋ยวนี้ยังบันทึกอยู่นะ ท่านอาจารย์บอกให้บันทึกไว้ คนมามากมายมาทุกระดับหมด ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสพูดเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ประมาณ ๑,๒๐๐ คน มาพักทั้งนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ชาวบ้านธรรมดา จนไม่มีที่นอน เด็กต้องมานอนโคนไม้ เลยต้องสร้างที่พักขึ้นมา... 

2021 05 09 210529

“ท่านบอกอยากจะรู้ว่าคนเข้ามาเท่าไร อาตมาบันทึกไว้หมดใครมา มาพักเท่าไร เดี๋ยวนี้สมุดบันทึก อาตมาอยู่มาตั้ง ๔๐ กว่าปี สมุดบันทึก ๓๐ กว่าเล่ม จดไว้หมดท่านบรรยายกี่ชั่วโมง วันนี้คนมาเท่าไร เขียนไว้หมด เดี๋ยวนี้ยังเขียน บันทึกมายาวนานมาก ปีหนึ่งหลายแสนคนที่เข้ามา แต่ว่านั่นล่ะ ที่อาจารย์พูดให้ฟังว่า คนส่วนน้อยที่ฟังธรรมะ คนส่วนมากจะได้ไข่เค็มกลับไป ถ่ายรูปแล้วไป แต่ถ้ามาเป็นคณะส่วนมากจะฟัง เมื่อก่อนคนมาพักมาก พักอยู่ ๕-๗ วันก็มี” พระนุ้ย สัมปันโน ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจดบันทึกสถิติจำนวนคนที่เดินทางมาสวนโมกข์

2021 05 09 220806 cr

ประโยชน์สูง ประหยัดสุด

หลายครั้งเมื่อพูดถึงความประทับใจที่มีต่อภิกษุนามพุทธทาส หนึ่งในเรื่องเล่าที่ลูกศิษย์ลูกหามักหยิบยกขึ้นมาให้เห็นภาพก็คือเรื่องของความมัธยัสถ์ ดังที่ พระนุ้ย สัมปันโน ได้ยกตัวอย่างว่า “ท่านอาจารย์พุทธทาสประหยัดมาก ท่านบอกว่าไม้ขีดก้านเดียวไม่ควรใช้ถ้าไม่จำเป็น ท่านอาจารย์เป็นเจ้าคุณระดับนั้น แต่เวลาไปเยี่ยมพระที่ป่วยที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี นั่งรถเมล์ นั่งเรือไป พระเดี๋ยวนี้ต้องขึ้นรถเหมา ท่านอาจารย์ไปขึ้นรถเมล์ พอหมอประยูร คงวิเชียรวัฒนะ ซึ่งเป็นนายแพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีรู้ หมอบอกว่า อาจารย์มาไม่โทรบอกผม ท่านอาจารย์นี่อยู่อย่างสมถะอยู่ง่ายที่สุด แล้วประหยัดมาก ตอนที่ท่านอาจารย์อยู่ท่านใช้แบบที่ว่า ๒ บาทถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ ประหยัดมัธยัสถ์ไว้ก่อน”

2021 05 09 210725

ผลของความมัธยัสถ์ในแบบของพุทธทาสภิกขุได้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้สวนโมกขพลาราม หรือวัดธารน้ำไหล สามารถผ่านพ้นวิกฤติในระยะเวลาที่ประเทศต้องประสบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ดังที่รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลได้ให้ข้อมูลว่า “เมื่อก่อนเราไม่รู้นะว่า สวนโมกข์นี่ใช้เงินขนาดไหน วันที่เกิดสถานการณ์โควิดพระบิณฑบาตไม่ได้เลย ทั้งพระ ๕๐ กว่ารูป โยมอีก ค่าอาหารอย่างเดียวเดือนหนึ่ง ๑๙๐,๐๐๐ บาท ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทุกอย่าง ๖-๗ แสนบาทต่อเดือน ถ้าท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ทิ้งเงินมูลนิธิไว้ ตายเลยโยม...ท่านถือหลักประหยัดมัธยัสถ์ ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ทำงานเร็วแล้วก็มีคุณภาพด้วย ถือหลักอย่างนี้...ถ้าไม่จำเป็นอาจารย์พุทธทาสบอกไม่ใช้ ใช้ให้ถึงที่สุดทุกอย่าง คนทั้งหลายถ้าถือหลักอันนี้ หลักของพระพุทธเจ้า พอเพียง พอดีก็คือ หลักโภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค ชาวโลกให้กินดีอยู่ดี แต่พระพุทธเจ้าสอนให้กินอยู่อย่างพอเพียงพอดี พูดให้ฟังง่ายๆ นกน้อยทำรังแต่พอตัว เห็นช้างขี้ขี้ตามช้างพังทุกราย เพราะฉะนั้นเป็นอยู่อย่างต่ำคือ อยู่ประหยัด มัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย ของใช้เยอะแยะคนถวายท่าน (พุทธทาสภิกขุ) แต่ผ้าเช็ดตัวเป็นผ้าขี้ริ้วเพราะท่านใช้จนหมด”

2021 05 09 210942

แม้บทเรียนแห่งความมัธยัสถ์ของพุทธทาสภิกขุอาจจะดูสวนทางกับความปรารถนาของสังคมแห่งการบริโภค แต่ข้อมูลจาก พระนุ้ย สัมปันโน ก็สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อถึงสถานการณ์วิกฤติ ผลแห่งความมัธยัสถ์หรือหลักการรู้จักประมาณในการบริโภคก็ดูจะก่อประโยชน์โพดผลได้จริง

ขณะเดียวกัน รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ยังได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินงานของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ที่จะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การดำเนินงานหลักนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอย่างชัดว่า สำคัญที่สุดคือความลดหัวลดหาง ท่านอาจารย์พูด ตัวกูต้องยอมรับฟังผู้อื่นบ้าง ถ้ายกหูชูหางแล้วจบ สุดท้ายมึงก็มึง กูก็กู สุดท้ายก็แตกแยกกันเกิดขึ้น...สังคมจะสงบสุขถ้าทุกคนรู้จักคำว่า ยอม ยอมมีกี่ตัวโยม ย.ยักษ์ อ.อ่าง และ ม.ม้า ย.ยักษ์

5656

อย่าคิดเอาชนะคนอื่น เอาชนะตัวเอง อย่าให้คนอื่นชอบใจเราหมด อย่าให้คนอื่นถูกใจเราหมด เป็นไปไม่ได้ นั่นคือ ย.ยักษ์"

“อ.อ่าง อดกลั้น อดทน อดใจ จำไว้โยม เราอยู่ในสังคมต้อง อดกลั้น อดทน อดใจ อภัย บุญคุณทดแทน ความแค้นไม่ต้องชำระ นั่นคือ อ.อ่าง...ม.ม้า เมตตา ปรารถนาดีกับผู้อื่น ศีลทั้ง ๕ มีหมด เพราะมีเมตตา สังคมจะสงบสุข ถ้าทำงานด้วยกันต้องรู้จักฟังเหตุผล...อันนี้สำคัญที่สุด พยายามลดตัวกูลงไป เพราะกูนี่ล่ะเมื่อไม่ยอมใครมันก็ย่อยยับตามมา เพราะฉะนั้นถ้าต้องการทำงานให้แก่สังคมต้องเห็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ อย่าเอากูเข้าไป อาจารย์พุทธทาสพูดว่า ประเทศชาติก็ตามอย่าเอาเราเป็นหลัก เอาประโยชน์ของมหาชนเป็นใหญ่ ตรงนี้ล่ะฝากไว้” รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล กล่าวทิ้งท้ายถึงหลักการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อมหาชน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ เสียงเรียกร้อง และความขัดแย้ง ความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากประสบการณ์ของ พระนุ้ย สัมปันโน สะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการยืนหยัดท้าทายกระแสโลกที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยปัจเจกบุคคลชนิดที่ปราศจากอัตตา ระยะเวลาสองปีกับการติดตามเรื่องราวของพุทธทาสภิกขุ ชายแปลกหน้าไม่แน่ใจว่าเขาได้พบกับ พุทธทาสภิกขุ หรือไม่? แต่สิ่งที่เขามั่นใจก็คือ เขาได้เรียนรู้จักกับชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยหน้าที่ที่ซื่อตรงต่อคำประกาศนามว่า พุทธทาส...แม้จะเป็นรูปแบบชีวิตที่ขัดกับหลักการของสังคมบริโภค แต่ก็ดูจะเป็นประโยชน์ต่อมหาชนโดยเฉพาะในห้วงยามที่ยากจะผ่านพ้นความวิกฤติ