พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ดร.หลุยส์ กาโบด
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๓
“ในสายตาผมท่านพุทธทาสไม่ได้เกิดมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ท่านพุทธทาสเกิดมาในปี ๒๔๘๙ ต่างหาก คือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนที่เขาเชิญมาบรรยายที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง แล้วมีตอนหนึ่งที่เขา (พุทธทาสภิกขุ) บรรยายเรื่อง ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม (ปาฐกถาพิเศษ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๐) อันนั้นล่ะ เป็นจุดเกิดของพุทธทาสที่เรารู้จักกันตั้งแต่นั้นมา...
ถ้าเรานึกถึงจริงๆ จะมีฝรั่งคนไหนวิจารณ์พุทธศาสนามากกว่าท่านพุทธทาสเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคาร์ล มาร์กซ์ ก็ไม่มีใครจะลึกกว่านี้ ก็เลยไม่ต้องแปลกใจที่มีบางคนในสมัยนั้น ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่จะบอกว่าท่านพุทธทาสนี่เป็นผู้ทำลายพุทธศาสนา เพราะว่าคำวิจารณ์แรงกว่า คาร์ล มาร์กซ์ เสียด้วย ในสายตาผมนะ...”
บางบทสนทนาเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากความทรงจำของ ดร.หลุยส์ กาโบด ผู้ศึกษาและเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง การตีความพุทธศาสนาสมัยใหม่ของท่านพุทธทาสภิกขุ (Une herméneutique bouddhique contemporaine de Thaïlande: Buddhadasa Bhikkhu) สะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางสาย พุทธทาส ที่ถือกำเนิดขึ้นได้จากความสามารถในการอ่านและตีความพุทธศาสนาของ พระเงื่อม อินทปัญโญ
หนุ่มฝรั่งเศส พุทธศาสนา และพุทธทาสภิกขุ
จากเด็กหนุ่มฝรั่งเศสวัยเกณฑ์ทหารซึ่งได้รับการผ่อนผันให้เลือกไปทำงานช่วยเหลือประเทศโลกที่ ๓ จากนโยบายรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล จึงเป็นเหตุให้ ดร.หลุยส์ กาโบด อดีตนักวิจัยของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d’Extrême-Orient : EFEO) ได้รับการคัดเลือกให้มาสอนหนังสืออยู่ที่เมืองปากซัน ประเทศลาว ระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๗–๒๕๐๙ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจในพุทธศาสนาในฐานะนักวิชาการในเวลาต่อมา
“ผมมาเริ่มสนใจในพุทธศาสนาที่ปากซันนั่นล่ะ วันเสาร์–อาทิตย์เราหยุด โดยเฉพาะวันอาทิตย์ผมจะมีเวลาว่าง ตอนนั้นชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว ผมจะออกจากโรงเรียนแล้วก็เดินเล่นในตัวเมืองปากซันแล้วก็บริเวณรอบเมืองปากซันนิดหน่อย แล้วตอนที่เดินเล่นในตัวเมืองปากซันก็มีวัด วัดก็เป็นที่ที่ช่างถ่ายรูปอยากจะถ่าย ผมเข้าไปในวัด ตอนนั้นเริ่มเรียนภาษาลาวแล้ว ก็เลยเริ่มคุยเป็นภาษาลาวกับเณรกับพระ แล้วก็สังเกตว่าเณรกับพระที่นั่นไม่ได้กลัวฝรั่งเหมือนกับที่ประเทศไทย ก็คุยกันเท่าที่คุยกันได้ เลยทำให้ผมสนใจเรื่องพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นมา กลับมาที่โรงเรียนก็เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาบ้าง กลับฝรั่งเศสก็ยิ่งศึกษาพุทธศาสนา ก็เลยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายปี แต่ว่าเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เป็นไปโดยธรรมชาติ” ดร.หลุยส์ กาโบด ในวัยย่าง ๗๙ ปี เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาสนใจในพุทธศาสนาจนเป็นเหตุให้กลับไปเรียนภาษาบาลีและพุทธศาสนาที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างจริงจังหลังจบภารกิจการสอนหนังสือในประเทศลาวเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙
จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๓ ดร.หลุยส์ กาโบด จึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รู้จักกับชื่อเสียงของพุทธทาสภิกขุเป็นครั้งแรก ผ่านหลักสูตรการเรียนภาษาไทย “ผมเรียนภาษาไทยที่กรุงเทพฯ ๑ ปี เป็นหลักสูตรค่อนข้างดุเดือดหน่อย คือเราจะเรียนที่โรงเรียน ๔ ชั่วโมงตอนเช้า แล้วก็อีก ๔ ชั่วโมงตอนบ่ายก็จะทบทวนสิ่งที่เราเรียนตอนเช้า แล้วตอนค่ำก็ต้องดูโทรทัศน์ดูช่อง ๗ ในสมัยนั้น ดูข่าวก่อน แล้วก็ดูละครน้ำเน่าเพื่อฝึกภาษาไทย...
สมัยที่ผมเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนนั้น เรียน ๑ ปี พอเจอเทอมที่ ๔ เราสามารถพูดได้บ้างแล้ว ข้อสอบสุดท้ายคือเราต้องเสนอบทความต่อหน้าอาจารย์และนักเรียนทั้งหลาย ต้องเลือกว่าจะบรรยายเรื่องอะไร อันนี้ผมต้องยอมรับว่าผมจำไม่ได้ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร แต่ผมคงเคยอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ ภาษาคน–ภาษาธรรม แล้วนึกว่า เอ๊ะ...ทำไมไม่บรรยายเรื่องนี้ ก็เลยตามความสามารถในสมัยนั้น ผมพยายามบรรยายสัก ๕–๑๐ นาทีให้เพื่อนฟังเป็นภาษาไทยว่า ภาษาคน–ภาษาธรรม คืออะไรบ้าง อันนี้เป็นจุดแรก แต่ตอนนั้นผมไม่ได้รู้จักท่านพุทธทาส รู้จักแค่ผ่านตัวอักษร” อดีตนักวิจัยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศให้ข้อมูล
แม้จะเริ่มมีความสนใจในพุทธศาสนา และมีโอกาสรู้จักกับชื่อเสียงของพุทธทาสภิกขุผ่านตัวอักษร แต่เมื่อต้องกลับไปศึกษาต่อในระดับที่เทียบเท่ากับปริญญาโทในประเทศฝรั่งเศส ดร.หลุยส์ กาโบด ได้เลือกหัวข้อ อานิสงส์การก่อเจดีย์ทราย เป็นหัวข้อในการศึกษาขั้นต้น ซึ่งทำให้เขาต้องใช้เวลาศึกษาและแปลเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายทั้งในประเทศลาวและไทยที่อยู่ในรูปตัวเขียนถึง ๕ ตัวอักษร อันประกอบด้วย อักษรตัวลาว อักษรไทยกลาง อักษรธรรมลาว อักษรล้านนา และอักษรขอม และเรียบเรียงเป็นเอกสารวิชาการสำเร็จใน พ.ศ.๒๕๑๗–๒๕๑๘ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการอ่านและตีความคัมภีร์ที่สืบเนื่องจากประเพณีพุทธศาสนาในสังคมไทยและสังคมลาวได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งเมื่อต้องเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก เรื่องราวเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาสจึงได้ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อในการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังสำหรับ ดร.หลุยส์ กาโบด
“ทีแรกผมนึกว่าจะทำเรื่องเจดีย์ทรายเล่มสอง แต่ว่าดูไปดูมามันค่อนข้างแห้งนิดหน่อย แล้วอาจารย์ที่สอนภาษาบาลีแนะนำให้ผมเลือกประเด็นเกี่ยวกับท่านพุทธทาส เพราะผมอาจเคยพูดกับอาจารย์ภาษาบาลีคนนั้นในแง่ค่อนข้างดีเรื่องพุทธทาส หรือน่าสนใจ ไม่ใช่ว่าผมจะเป็นลูกศิษย์ของท่านพุทธทาส แต่ในแง่ของกระบวนการคิดพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่เป็นคำสอนที่น่าสนใจว่า ท่านพุทธทาสตีความอย่างไร แล้วก็มีเหตุมีผลอย่างไรในการเสนอพุทธศาสนาของเขา แล้วอาจารย์ที่สอนภาษาบาลีก็ฟังผมแล้วก็แนะนำว่าน่าจะเลือกท่านพุทธทาสเป็นประเด็นในวิทยานิพนธ์ของผม แทนที่จะทำเรื่องเจดีย์ทรายต่อ” อดีตนักวิจัยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ อธิบายถึงความเป็นมาของวิทยานิพนธ์หัวข้อ การตีความพุทธศาสนาสมัยใหม่ของท่านพุทธทาสภิกขุ (Une herméneutique bouddhique contemporaine de Thaïlande: Buddhadasa Bhikkhu) ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้มีโอกาสพบและสนทนากับภิกษุนามพุทธทาสในเวลาต่อมา
เราอยู่ในศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยนั้น เป็นศตวรรษที่คนหนุ่มคนสาวเชื่อในวิทยาศาสตร์ จะไปสอนเหมือนเมื่อใน ๒,๐๐๐ ปีก่อนไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง เขาจะกลืนไม่ได้
แรกพบพุทธทาสภิกขุในสวนโมกข์
การเดินทางสู่สวนโมกข์เพื่อพบและสนทนากับพุทธทาสภิกขุของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.๒๕๑๘ ดร.หลุยส์ กาโบด เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ผมเคยไปที่ไชยาครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.๒๕๑๘ และตอนนั้นผมไม่ได้ไปที่ตัวอำเภอไชยาเท่านั้น ไปที่สวนโมกข์เก่าคือที่พุมเรียง แล้วก็ไปที่สวนโมกข์ใหม่สวนโมกข์ปัจจุบันไปพบท่านพุทธทาส และตั้งแต่นั้นมาผมก็ไปพบอาจารย์พุทธทาสเป็นครั้งคราว
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ครั้งแรกที่ผมไปหาท่านแล้วผมเสนอว่าอยากจะ ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคำสอนของเขา เขาพูดอะไรรู้ไหม พูดว่า ที่จริงถ้าจะศึกษาเรื่องคำสอนของอาตมาไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้ อ่านหนังสือ อ่านอะไรที่เขาพิมพ์ก็มากอยู่แล้ว พูดตรงๆ นะ ตามนิสัยหรือสันดานฝรั่งที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ผมนึกในใจว่า เอ๊ะ...พระองค์นี้ถือว่าฝรั่งหนุ่มๆ อย่างนี้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ฝรั่งจะมารบกวนบ่อยๆ หรือเปล่าก็เลยให้ไปเรียนเองให้ไปศึกษาตามหนังสือดีกว่า แต่จริงๆ เป็นการตีความที่มันผิด เพราะว่าจริงๆ ท่านพุทธทาสก็ถูก ที่จะแนะนำให้ศึกษาจากหนังสือที่เขียน เพราะว่ามีเหตุผลหลายอย่าง
เหตุผลอันหนึ่งที่เขา (พุทธทาสภิกขุ) อาจนึกไม่ถึงคือว่า ถ้าผมกลับไปศึกษาหนังสือท่านพุทธทาสตามสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่มีอยู่ ผมจะมีโอกาสรู้ความคิดของเขาสมัยที่เขาหนุ่ม ซึ่งมันต่างกันมากกับความคิดที่เขามีตอนผมไปพบเขา ถ้าผมถามพุทธทาสตอนที่มีชีวิตอยู่ต่อหน้าผมอย่างนี้เขาจะตอบตามความคิดของเขา แต่ว่าถ้าผมไปอ่านวารสารหรือนิตยสารพุทธศาสนา หรือไปอ่านบทความที่เขาเขียนโดยใช้นามปากกาที่ในหนังสือพิมพ์หรือในสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ผมจะได้มีโอกาสรู้ความคิดที่เขาอาจจะไม่อยากให้รู้ก็ได้ เพราะว่าบางเรื่องเขาก็ไม่ภูมิใจที่เขาเคยคิดอย่างนั้น อันนี้คือหนึ่งอานิสงส์ที่ได้จากคำแนะนำอย่างนั้น”
ท่านพุทธทาสพูดอย่างนี้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ท่านพูด เขามีศัตรูเยอะ แล้วเขาต้องตอบสนองบ้าง ต้องกัดบ้าง
อดีตนักวิจัยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ให้ข้อมูลต่อไปว่า “อีกเรื่องหนึ่งที่ดีก็คือ ตอนนั้นผมสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ผมจะต้องเตรียมวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ตีสี่ถึงแปดโมงเช้า แล้วก็ไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเย็นก็เหมือนกัน ตอนเย็นแทนที่จะมัวใช้เวลากับครอบครัวหรือไปเที่ยว ไปนั่น ไปนี่ ก็ต้องอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสแล้วก็จด ที่ผมเอาอันนี้มา (ชี้ดัชนีคำค้นศัพท์ผลงานเอกสารของพุทธทาสภิกขุที่วางอยู่บนโต๊ะสนทนา) อันนี้เป็นหนึ่งในจำนวน ๕ ลิ้นชักที่มีบัตรเล็กๆ อย่างนี้เยอะแยะ ผมอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสแล้วก็จดเอาคำที่เป็นหัวบัตรใส่ข้างบนแล้วก็ข้างล่างอาจจะแปลบ้าง อาจจะจดบ้าง เวลา ๓ ปี ผมได้บัตรอย่างนี้เป็นหมื่นใบ แล้วก็ตอนที่ผมจะต้องเลือกประเด็นของแต่ละบทในวิทยานิพนธ์ ผมก็เลือกประเด็นแล้วก็ไปหยิบบัตรเหล่านั้นแล้วก็จัดตามลำดับขั้นตอนตามที่ผมจะอธิบายในวิทยานิพนธ์ ซึ่งช่วยในการเขียนวิทยานิพนธ์เยอะ” ดร.หลุยส์ กาโบด อธิบายถึงส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียบเรียงวิทยานิพนธ์ที่มีดัชนีคำศัพท์นับหมื่นใบเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการอ่านและตีความผลงานของพุทธทาสภิกขุ
“ผมพยายามเข้าไปในสถานภาพของท่านพุทธทาสที่บอกว่า เราอยู่ในศตวรรษที่ ๒๐”
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทสนทนาที่ว่าด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง การตีความพุทธศาสนาสมัยใหม่ของท่านพุทธทาสภิกขุ อาจไม่ได้อยู่ที่ข้อสรุปในลักษณะของการประเมินคุณค่าผลงานของภิกษุรูปหนึ่งหรือนักคิดคนหนึ่งด้วยทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง ดังที่งานศึกษามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ จำนวนมากนิยมกระทำกันในปัจจุบัน แต่วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นบริบทของความคิดที่ถูกนำเสนอ และบริบทของสังคมต่อความคิดที่ถูกนำเสนอ โดยพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่ายด้วยการไม่เข้าไปตัดสิน
ดังที่ ดร.หลุยส์ กาโบด ได้เน้นย้ำว่า “เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะบอกเรื่องวิทยานิพนธ์ก็คือ อาจจะเป็นข้อเสียก็ได้สำหรับบางคน แต่ที่ผมทำวิทยานิพนธ์ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์เพื่อพิสูจน์อะไรของผม เพื่อพิสูจน์ว่าท่านพุทธทาสดีแค่ไหน หรือไม่ดีแค่ไหน หรือมันผิดแค่ไหน ไม่ ผมพยายามเขียนวิทยานิพนธ์จากคำสอนภายใน คือผมพยายามเข้าไปในสถานภาพของท่านพุทธทาสที่บอกว่า เราอยู่ในศตวรรษที่ ๒๐ ในสมัยนั้น เป็นศตวรรษที่คนหนุ่มคนสาวเชื่อในวิทยาศาสตร์ จะไปสอนเหมือนเมื่อใน ๒,๐๐๐ ปีก่อนไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง เขาจะกลืนไม่ได้ เป็นคำของเขา (พุทธทาสภิกขุ) ที่ว่า กลืนไม่ได้ แล้วผมก็พยายามค้นดูว่า โดยสมมติฐานอย่างนั้นซึ่งไม่ใช่สมมติฐานที่เท็จ แต่เป็นความจริง ท่านพุทธทาสเห็นโลกเท่าที่เป็นอยู่ในสมัยเขา แล้วก็เห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสมบัติมีค่ามาก แล้วเขาถามตัวเองว่าฉันจะทำอย่างไรให้คำสอนดังกล่าวสืบทอดไปถึงรุ่นใหม่ อันนี้เป็นประเด็น แล้วผมพยายามเข้าใจจากภายในว่า กลไกของความคิดของท่านพุทธทาสเป็นอย่างไร
“นโยบายของผมคือว่า ในสำนวนที่ผมเขียนข้างบน อันนี้พยายามถอดความคิดของท่านพุทธทาส แล้วก็ในหมายเหตุข้างล่าง ผมจะพยายามพูดเรื่องอาจจะเป็นคำอธิบายคำของท่านพุทธทาส หรือคำต่อต้านของพวกนักอภิธรรม พวกอะไรที่เขาต่อต้านท่านพุทธทาส เพราะสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ท่านพุทธทาสพูดอย่างนี้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ท่านพูด เขามีศัตรูเยอะ แล้วเขาต้องตอบสนองบ้าง ต้องกัดบ้าง (หัวเราะ) อันนี้เป็นประเด็นที่ผมสนใจ ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ตามที่บางคนทำว่า ในฐานะลูกศิษย์คือสาธุ (แสดงท่าทางประนมมือท่วมหัว) หรือสิ่งต่างๆ ที่เขาเขียนเป็นคำประเสริฐ ไม่ใช่ เพราะว่าผมพยายามอยู่ห่างนิดหน่อย ไม่ได้อวดว่าจะมองอย่างปรนัย ไม่ใช่ แต่ว่าพยายามมองอย่างปรนัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าอันนี้ผมอยากจะกลับมาที่ประเด็นที่ผมอยากจะพูดตั้งแต่ต้นก็คือว่า ผมไม่ได้เขียนวิทยานิพนธ์เพื่อพิสูจน์อะไรของผม พิสูจน์ว่าประเทศไทยอย่างนั้นอย่างนี้ หรือพระอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ มีจุดเลวอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีจุดดี ไม่ใช่ ผมพยายามอธิบายจากข้างในโดยเห็นใจมากที่สุด เห็นใจทั้งท่านพุทธทาส แล้วก็คนที่วิจารณ์เขา ซึ่งส่วนมากไม่ได้ทำอย่างนี้ ผมกล้าพูดได้” อดีตนักวิจัย EFEO ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในภาษาฝรั่งเศสของเขา ซึ่งทำให้ผู้ร่วมสนทนามีความเห็นว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ควรได้รับการแปลและเผยแพร่เป็นภาษาไทย แต่นั่นก็เป็นเพียงความคิดเห็นที่อาจปรุงแต่งขึ้นด้วยสังขารและอัตตา
“ในสายตาผมท่านพุทธทาสไม่ได้เกิดมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙...”
ความน่าประทับใจประการหนึ่งในการสนทนาว่าด้วยเรื่อง การตีความพุทธศาสนาสมัยใหม่ของท่านพุทธทาสภิกขุ กับบุคคลที่อาจไม่ได้ติดอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมประเพณีก็คือ ทำให้ผู้ร่วมสนทนาได้สะท้อนย้อนคิด (reflexivity) ว่าที่จริงแล้วเรากำลังนับถือพุทธทาสภิกขุ รวมไปถึงพุทธศาสนาอย่างไร ภายใต้กรอบประเพณีที่ยกมือสาธุให้กับรูปแบบภายนอก หรือการเจริญสติพิจารณาเข้าไปที่ตัวหลักธรรมในพุทธศาสนา? ดังที่ครั้งหนึ่งท่านพุทธทาสก็เคยได้กระตุ้นเตือนไว้ในปาฐกถาพิเศษภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ซึ่ง ดร.หลุยส์ กาโบด นิยามว่าเป็นจุดกำเนิดของ พุทธทาสภิกขุ อย่างแท้จริง ดังที่เขาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ในสายตาผมท่านพุทธทาสไม่ได้เกิดมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ท่านพุทธทาสเกิดมาในปี ๒๔๘๙ ต่างหาก คือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนที่เขาเชิญมาบรรยายที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง แล้วมีตอนหนึ่งที่เขาบรรยายเรื่อง ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม (ปาฐกถาพิเศษ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๐) อันนั้นล่ะ เป็นจุดเกิดของพุทธทาสที่เรารู้จักกันตั้งแต่นั้นมา
พูดย่อๆ ก็คือว่า ภูเขาหรือสิ่งที่ทำให้ชาวพุทธในไทยไม่เข้าถึงพุทธศาสนา คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเพราะว่าชาวบ้านเห็นว่า พระพุทธเป็นพระพุทธรูป แต่ที่จริงไม่จำเป็นที่จะต้องมีพระพุทธรูปเพราะว่าสมัยนี้พระพุทธองค์ก็ปรินิพพานแล้ว ดับสนิทแล้ว ไม่ใช่ว่าดับหนึ่งชาติ แต่ดับตลอด เรื่องอะไรเราจะมาปั้นพระองค์ให้มาเป็นพระพุทธรูป ทำได้ อาจช่วยทำให้เรานึกถึง แต่ว่าตามที่ชาวบ้านเข้าใจ บางคนเอาข้าวมาให้พระพุทธเจ้าฉัน หรือเอาอาหารมาให้พระพุทธเจ้าฉัน ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ชาวพุทธมองพระพุทธเจ้าแบบง่ายๆ แบบ materialism ซึ่งเป็นภูเขาหรือเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าองค์จริง”
ดร.หลุยส์ กาโบด อธิบายต่อไปว่า “พระธรรมก็เหมือนกัน พระธรรมสำหรับชาวบ้านพระธรรมก็คือใบลาน ใบลานนี่จ้างเณรหรือจ้างคนที่เขียนเป็นหรือเขียนไม่เป็นก็ได้มาลอกอานิสงส์หรือมาลอกคัมภีร์ตามอัตภาพ แล้วจะถูกหรือผิดก็ไม่สน ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ไม่มีใครอ่านได้ หรือถ้าเป็นภาษาเก่าๆ ก็ไม่มีใครอ่านได้เหมือนกัน ท่านพุทธทาสบอกว่า มีประโยชน์อะไรพระธรรมที่ไม่มีใครอ่านรู้เรื่อง มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย พระธรรมในฐานะที่เป็นวัตถุ หรือเข้าใจว่าเป็นวัตถุนิยมอย่างหนึ่งก็เป็นอุปสรรคที่กั้นหรือทำให้เราห่างจากคำสอนตัวจริงของพระพุทธเจ้า
“แล้วอันดับที่สามก็คือพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็คือเป็นคนที่นุ่งผ้าเหลือง แต่พระสงฆ์ที่นุ่งผ้าเหลืองเป็นสมมติสงฆ์ แต่จะเป็นสงฆ์แท้หรือสงฆ์ไม่แท้ก็ไม่รู้ แล้วก็การที่จะนับถืออย่างคนตาบอดก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะว่าจะทำให้ชาวบ้านไม่ดูว่า พระองค์นี้ถือวินัยอย่างไร สอนอย่างไร อันนี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้
ถ้าเรานึกถึงจริงๆ จะมีฝรั่งคนไหนวิจารณ์พุทธศาสนามากกว่าท่านพุทธทาสไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคาร์ล มาร์กซ์ ก็ไม่มีใครจะลึกกว่านี้ ก็เลยไม่ต้องแปลกใจที่มีบางคนในสมัยนั้น ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่จะบอกว่า ท่านพุทธทาสนี่เป็นผู้ทำลายพุทธศาสนา เพราะว่าคำวิจารณ์แรงกว่า คาร์ล มาร์กซ์ เสียด้วย ในสายตาผมนะ เพราะว่ามาร์กซ์วิจารณ์ว่าศาสนาทุกศาสนาเป็นยาฝิ่น จริงๆ เป็นคำชมชนิดหนึ่ง สมัยก่อนยาฝิ่นเป็นยา เป็นยาเหมือนแอสไพริน หรือพาราเซตามอลในสมัยนี้ แม้แต่คาร์ล มาร์กซ์ก็ยอมรับว่า มันช่วยบรรเทาทุกข์ของชาวบ้าน แต่คอมมิวนิสต์ยุคหลังเขามาใช้ประโยคนี้เพื่อทำลายพุทธศาสนา แต่ว่าทีแรกไม่ได้ใช้อย่างนั้น” อดีตนักวิจัย EFEO อธิบายถึงบางการตีความพุทธศาสนาของพุทธทาสภิกขุที่สอดรับไปกับโลกในศตวรรษที่ ๒๐
ธัมมิกสังคมนิยม
อีกหนึ่งประเด็นหนึ่งที่พุทธทาสภิกขุได้รับการกล่าวขานถึงทั้งในแง่บวกและลบทั้งในฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายนิยามตนแบบก้าวหน้าก็คือ เรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม ซึ่งหากพิจารณาจากสภาวะไม่สุดขั้ว ดร.หลุยส์ กาโบด กลับเล็งเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่แนวคิดแบบธัมมิกสังคมนิยมจะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือบางทีการดำเนินนโยบายในบางประเทศอาจเป็นตัวอย่างของธัมมิกสังคมนิยมในรูปแบบที่ไม่ได้จำกัดตนอยู่ในวิถีพุทธ
“อันนี้ต้องดูในเรื่องปฏิบัติ ปฏิบัติกันได้มากน้อยแค่ไหน ที่จริงระบบธัมมิกสังคมนิยมถ้าจะพูดอย่างใจกว้าง แล้วก็พิจารณาประเทศบางประเทศอย่างประเทศสวีเดน ประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์ พวกนี้ในแง่หนึ่งเป็นสังคมนิยมส่วนหนึ่ง แต่จะเรียกว่าธัมมิกสังคมนิยมไม่ได้ เพราะว่าพื้นฐานของเขาเป็นพื้นฐานของโปรเตสแตนท์ พื้นฐานคริสต์ศาสนาแต่เป็นระบบที่ใช้ได้ เพราะว่านิกายโปรเตสแตนท์นั้นเขาเน้นเรื่องศีลธรรมส่วนตัว ศีลธรรมของปัจเจก และแม้แต่เดี๋ยวนี้สังเกตเรื่อง โควิด-19 ประเทศเหล่านี้ค่อนข้างติดโควิด-19 น้อยกว่าเพื่อน เหมือนเมืองไทยในแง่หนึ่ง รัฐบาลไทยสั่งให้ใส่หน้ากาก คนไทยทุกคนใส่หน้ากาก ไม่ได้เรียกร้องเสรีภาพอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนฝรั่งเศส ประเทศโปรเตสแตนต์ค่อนข้างเชื่อฟังเหมือนกัน ผมอาจจะเปรียบเทียบอุดมการณ์ธัมมิกสังคมนิยมกับประเทศยุโรปเหนือเท่าที่เป็นอยู่ เพราะว่าเป็นตัวอย่างที่เป็นไปได้...คือธัมมิกสังคมนิยมที่อยากจะพูดคือว่า ในแง่หนึ่งมีอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ใช่พุทธ แต่ว่าพอๆ กัน” อดีตนักวิจัย EFEO แสดงความเห็นเกี่ยวกับธัมมิกสังคมนิยมในรูปแบบที่อาจเป็นไปได้
ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงความประทับใจที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ ดร.หลุยส์ กาโบด ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมคิดว่าที่ผมนับถือท่านพุทธทาสไม่ใช่ในฐานะชาวพุทธโดยตรง แต่ว่านับถือในฐานะเป็นคนก่อน เพราะว่าฟังท่านพุทธทาสก็มีความรู้สึกว่า เราไม่ได้ฟังอัจฉริยะหรือไม่ได้ฟังพระที่วิเศษวิโสอย่างนั้นอย่างนี้ เราฟังคน ฟังมนุษย์คนหนึ่งที่พูดอะไรไม่เพ้อฝัน ท่านพุทธทาสไม่ได้รับอาหารทิพย์ในธรรมที่มีเทวดามาประทานให้เขา ท่านพุทธทาสคิดจากสภาพของคนในปัจจุบัน อันนี้เป็นสิ่งที่อาจจะมองว่าธรรมด๊าธรรมดา แต่จริงๆ มันไม่ธรรมดาในแง่หนึ่ง เพราะว่าคนเราส่วนมากจะมองโลกจากอุดมคติ ไม่ได้มองโลกจากความเป็นจริง บางทีเราต้องการให้โลกที่เป็นอยู่มันตรงกับความฝันของเรา แต่มันเป็นวิธีที่ล้มเหลวตั้งแต่ต้น อันนี้หมายความว่า ท่านพุทธทาสเป็นคน เป็นมนุษย์จริงๆ ที่มองโลกเท่าที่เป็นอยู่ ไม่ต้องมองโลกจากอุดมคติ อันนี้เป็นคำสอนหลักของพุทธศาสนา และเป็นคำสอนหลักของท่านพุทธทาสเหมือนกัน โลกที่มีอยู่ โลกที่เรารู้ โลกที่เรารู้สึก เป็นแค่ความรู้สึกของเรา ต้องพยายามจับโลกหรือมองโลกเท่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่จากอุดมการณ์ของเรา ไม่ใช่จากความรู้สึกของเรา”
หากจะกล่าวอย่างเปิดเผยในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นี่เป็นอีกครั้งที่บทสนทนาจากความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุได้สร้างความเพลิดเพลินทางปัญญาและอัตตาให้กับชายแปลกหน้าอย่างประหลาด บางทีอาจเป็นเพราะเขายังไม่ได้ลิ้มรสธรรมอันประเสริฐ หรือบางทีอาจเป็นเพราะเขานับถือพุทธทาสภิกขุ ในฐานะเป็นคน “เป็นมนุษย์จริงๆ ที่มองโลกเท่าที่เป็นอยู่ ไม่ต้องมองโลกจากอุดมคติ...” เขาจึงคิดถึงหนังสือกองใหญ่ของพุทธทาสภิกขุที่เขาเคยตั้งใจไว้ว่าจะต้องอ่านให้จบอีกสัก ๒–๓ เล่ม เพื่อรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่เขายังติดค้างในความทรงจำเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาส