จากพินัยกรรมพุทธทาสภิกขุ ถึงเรื่องเล่า Palliative Care พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

Share

งานจดหมายเหตุ,

จากพินัยกรรมพุทธทาสภิกขุ ถึงเรื่องเล่า Palliative Care

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย 
สัมภาษณ์ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๓

2020 11 01 193200

“มีอยู่วันหนึ่งตอนตีห้า ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็ให้คนมาตามอาจารย์จิตติ (ศาสตราจารย์พิเศษ จิตติ ติงศภัทิย์ อดีตองคมนตรี ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ที่บ้านพัก (ในสวนโมกข์ ไชยา) บอกอาจารย์พุทธทาสท่านอยากจะพบ ผมก็เดินตามอาจารย์ไปด้วย ก็ไม่รู้ท่านตามไปทำไม ผมไม่ได้ถือกระดาษดินสออะไรไปเลยนะ ก็ตามไป พอไปแล้วท่านพูดเลย นี่คือครั้งสุดท้ายที่ไป แล้วหลังจากนั้นท่านก็อาพาธแล้ว” ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่าเหตุการณ์ในวันยกร่างพินัยกรรมการจัดการศพของพุทธทาสภิกขุ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖

2020 11 01 193844

ศ.(พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์ ในความทรงจำของ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

หากเอ่ยถึงชื่อ ศ.(พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์ ในแวดวงนิติศาสตร์ คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธความรู้จัก เนื่องจากท่านได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในปรมาจารย์แห่งวงการกฎหมายไทยที่ได้รับการกล่าวขานถึงความซื่อสัตย์และคุณธรรม ผลงานหนังสืออย่าง ‘หลักวิชาชีพนักกฎหมาย’ ที่เรียบเรียงขึ้นโดย ศ.(พิเศษ) จิตติ ยังคงเป็นหนึ่งในสื่อการสอนสำหรับนักศึกษานิติศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันสำหรับบุคคลที่ใกล้ชิดในฐานะลูกศิษย์อย่าง ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ความทรงจำอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับอาจารย์จิตติยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของการน้อมนำธรรมะมาปฏิบัติและแสดงออกเป็นความเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน 

 2020 11 01 193959

“อาจารย์จิตตินั้นเป็นผู้ทรงความรู้ทางกฎหมายอย่างแตกฉาน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นอุปนิสัยส่วนตัวก็คือ อาจารย์เป็นคนเรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตัว ทั้งที่อาจารย์เป็นคนเก่งมากนะ อ่อนน้อมถ่อมตัว แล้วก็ชีวิตเรียบง่าย เวลาอยู่ใกล้ชิดอาจารย์จิตติ มีความรู้สึกเหมือนอยู่ใกล้พระ ท่านก็เหมือนพระในรูปฆราวาส วัตรปฏิบัติงดงาม เรียบง่าย ก็เป็นแบบอย่างให้เรายึดถือว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทรงความรู้ขนาดนี้ แล้วก็มีชื่อเสียงขนาดนี้ แต่ท่านก็ไม่ได้โอ้อวดอะไร เป็นแบบฉบับชีวิตที่น่านับถือ” ศ.แสวง เล่าถึงความทรงจำบางเสี้ยวเกี่ยวกับ ศ.(พิเศษ) จิตติ ก่อนยกตัวอย่างถึงความเรียบง่าย และอ่อนน้อมถ่อมตัวของอดีตองคมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ต่อไปว่า

 2020 11 01 194052

“อาจารย์เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีลูกศิษย์ทั่วประเทศ นอกจากเป็นอาจารย์กฎหมายแล้วก็เป็นองคมนตรีด้วย แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือว่า อาจารย์จะต่างจากผู้ใหญ่ทั่วไป อาจารย์ไม่รบกวนใครเลย แต่ก่อนนี้ไป (สวนโมกข์ ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) ก็นั่งรถไฟกันไป อาจารย์ก็จะให้ผมไปจองตั๋วรถไฟ ไปเข้าคิว เพราะอาจารย์ก็รู้ว่าเราจะไม่ไปแซงคิวใคร ไม่เอาบัตรองคมนตรีไปอวดใคร เราก็ไปจองเหมือนปกติ แล้วก็นั่งรถไฟไปกัน ก็เห็นความเรียบๆ ง่ายๆ นี่ล่ะ เสร็จแล้วพอไปถึง (สถานีรถไฟไชยา) อาจารย์ไม่ให้ใครมารับ รบกวนเขา อาจารย์ก็จะนัดรถสองแถวไว้คันหนึ่ง แล้วอาจารย์ก็นั่งข้างหน้า ผมก็ปีนขึ้นไปนั่งข้างหลัง ขากลับก็กลับมาอย่างนั้น เราก็เห็นวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายของชาวพุทธ อ่อนน้อมถ่อมตน” ศ.แสวง อธิบายถึงความประทับใจที่มีต่อครูบาอาจารย์

2020 11 01 194158

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

จากความใกล้ชิดกับ ศ.(พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์ กลายเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ ศ.แสวง ได้มีโอกาสรู้จักกับภิกษุนามพุทธทาส และมีโอกาสเดินทางไปสวนโมกข์ ไชยา เป็นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๔–๒๕๒๕

เขาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “คือว่าตอนที่จบมาใหม่ๆ เราก็เหมือนคนหนุ่มทั่วไป เราก็จะแสวงหาสิ่งยึดมั่นในชีวิตก็คือ ศาสนา ทีนี้ก็ได้เข้าไปในวัดหลายแห่ง แล้วสิ่งที่เราเห็นก็เหมือนที่ยังปรากฏอยู่ทั่วไปก็คือ เรี่ยไร สร้างวัตถุมงคล ซึ่งพอไปสักระยะหนึ่ง ก็รู้สึกมันไม่ใช่ ก็เลยได้มาเล่าอะไรให้ท่านอาจารย์จิตติฟัง ท่านก็ไม่ได้พูดอะไร ท่านเป็นคนเรียบๆ ท่านไม่ว่าใครอยู่แล้วล่ะ แต่ท่านก็รับรู้ในสิ่งที่เรากำลังค้นหาอยู่ ท่านจะไปสวนโมกข์ทุก ๓–๔ เดือนก็จะไปทีหนึ่ง ท่านก็บอกว่า ถ้าสนใจจะไปด้วยกันไหม ก็เลยได้มีโอกาสติดตามท่านไปที่นั่น นั่นคือครั้งแรก”

2020 11 01 194259

อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ เล่าต่อไปว่า “เวลาไปก็พาอาจารย์ไป แล้วท่านก็จะไปสนทนาธรรมกับอาจารย์พุทธทาส เหมือนมาเยี่ยมเยียนกัน กึ่งเยี่ยมเยียน เราก็ฟังอาจารย์คุยกัน เพราะเด็กๆ เราก็นั่งฟังเฉยๆ แต่ก็ได้รับแก่นธรรมมาด้วยนะ แล้วบางทีก็มีบางเรื่องที่เราไม่ค่อยเข้าใจ ตอนนั้นเราเด็ก ยังหนุ่มอยู่เราก็ไม่กล้าถามท่าน (พุทธทาสภิกขุ) เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่มาก ก็จะถามอาจารย์จิตติ ถามองค์นี้ก่อนแล้วเดี๋ยวองค์นี้ก็จะอธิบายให้ฟัง อาจารย์จิตติก็จะมีวิธีอธิบายให้เราฟังง่ายๆ อย่างครั้งหนึ่งนั่งฟังท่าน (พุทธทาสภิกขุ) เทศน์เรื่องอิทัปปัจจยตา ก็พยายามนึกตาม ทำความเข้าใจ เสร็จแล้วอาจารย์จิตติคงเห็นหน้าเรา หน้าเราคงงงๆ อาจารย์ก็จะสะกิด ฟังเข้าใจหรือเปล่า ก็บอกฟังอยู่อาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่า ถ้าไม่เข้าใจนึกถึงหลักกฎหมายเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล causation เพราะนักกฎหมายจะดูตรงนี้ 

2020 11 01 194453

“เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น อย่างเช่น มีการตายเกิดขึ้น เหตุเกิดจากอะไร ใครทำ แล้วมันเชื่อมกันอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นกฎหมายที่สำคัญมากในการนำสืบ ตรงนี้มันก็คือหลักอันเดียวกันก็คือ อิทัปปัจจยตา เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำเหตุและผล ก็เลยได้อานิสงส์ เวลาไปบางทีไม่กล้าถามท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็ถามองค์นี้ล่ะ (ศ.(พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์) ถามอาจารย์ผมนี่ล่ะ แล้วท่านก็จะอธิบาย” คำบอกเล่าของ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส สะท้อนให้เห็นระดับความเข้าใจในธรรมะของ ศ.(พิเศษ) จิตติ ที่ไม่เพียงแต่รู้ชัด ปฏิบัติได้ แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการสื่อสารธรรมะให้เป็นภาษาที่ลูกศิษย์อย่างเขาเข้าใจได้ไม่ยาก และทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปสวนโมกข์อีกหลายครั้ง

2020 11 01 194536

“หลังจากที่ตามท่านอาจารย์จิตติไปที่สวนโมกข์อยู่บ่อยครั้งแล้วเนี่ย ต่อมาก็ได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติธรรม ในคอร์สปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ด้วย รุ่นแรกๆ เลย ซึ่งจำได้รุ่นนั้นก็ไปอยู่ ๑๐ วันในคอร์สปฏิบัติธรรม ก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะและแนวปฏิบัติจากท่านโพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)) ท่านหนึ่ง

อีกท่านหนึ่งที่ท่านสอนสมาธิให้ก็คือ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ก็ได้เข้าใจแก่นธรรมมากขึ้น ก็ยังระลึกถึงท่านเหล่านี้อยู่ เพราะว่าอย่างอาจารย์รัญจวนท่านเป็นครูบาอาจารย์เก่า เพราะฉะนั้นแนวทางบรรยายธรรมท่านจะแทรกเรื่องของวรรณกรรมอะไรเข้าไป ทำให้น่าสนใจในการเดินเรื่อง ทุกวันนี้ผมก็ยังเอาแบบท่านมาใช้นะ คือไม่ว่าบรรยายวิชาอะไรก็จะปนวิชานี้เข้าไป เพราะถ้าเราไปพูดธรรมะเพรียวๆ แท้ๆ เลย บางคนจะไม่สนใจเท่ากับถ้าเราค่อยๆ ปนๆ เข้าไปในแต่ละเรื่อง ก็ได้ระลึกถึงท่านอยู่เสมอว่า นอกจากท่านฝึกสมาธิให้แล้ว ก็ได้แนวการสอนธรรมะที่แทรกซึมเข้าไปในวิชาการต่างๆ ด้วย” ศ.แสวง ย้อนความทรงจำถึงช่วงเวลาเรียนรู้ธรรมในสวนโมกข์

2020 11 01 194622

พินัยกรรมการจัดการศพพุทธทาสภิกขุ

จากมูลเหตุที่ได้ติดตาม ศ.(พิเศษ) จิตติ ไปสวนโมกข์อยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับความเป็นผู้รู้ในด้านกฎหมาย เปิดโอกาสให้ ศ.แสวง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งสำคัญช่วงปัจฉิมวัยของภิกษุนามพุทธทาส นั่นคือการทำหน้าที่เป็นผู้ยกร่างพินัยกรรมการจัดการศพหลังการมรณภาพของพุทธทาสภิกขุ 

“คือช่วงที่ไปกับอาจารย์จิตติ ในระยะหลังท่านอาจารย์โพธิ์ ก็จะเปรยๆ เรื่องนี้ขึ้นมาอยู่ว่า ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) พูดด้วยวาจาหลายเรื่อง ทำอย่างไรที่จะให้มีการบันทึกไว้บ้าง เพราะท่านเป็นพระผู้ใหญ่จะได้สบายใจว่าแนวปฏิบัติในอนาคตจะได้ไม่มีปัญหา” ศ.แสวง เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนพินัยกรรมการจัดการศพของพุทธทาสภิกขุ 

2020 11 01 194802

เขาอธิบายต่อไปว่า “เวลาไปกับอาจารย์จิตติ ก็มีโอกาสที่ท่านเข้าไปคุยเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง แต่พอคุยไปแล้วท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็ไม่ได้ต่อเรื่องนี้อีก ก็ถามเฉียดๆ ไป ผมยังเคยถามอาจารย์จิตติเล่นๆ หลายครั้งนะ บอกอาจารย์วันนี้คุยแล้วยังไม่เข้าเรื่องใช่ไหม ท่านก็บอกยังไม่เข้าเรื่อง เพราะว่าถามตรงๆ ไม่ได้ ก็เลียบๆ เคียงๆ ถามไปว่า ถ้าท่านเจ็บป่วยจะทำอย่างไร ถ้าท่านมรณภาพจะทำอย่างไร คำถามอย่างนี้เราถามตรงๆ ไม่ได้ ก็เฉียดๆ อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่ไป (สวนโมกข์ ไชยา) มีอยู่วันหนึ่งตอนตีห้า ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็ให้คนมาตามอาจารย์จิตติที่บ้านพัก บอกอาจารย์พุทธทาสท่านอยากจะพบ ผมก็เดินตามอาจารย์ไปด้วย ก็ไม่รู้ท่านตามไปทำไม ผมไม่ได้ถือกระดาษดินสออะไรไปเลยนะ ก็ตามไป พอไปแล้วท่านพูดเลย นี่คือครั้งสุดท้ายที่ไป แล้วหลังจากนั้นท่านก็อาพาธแล้ว

2020 11 01 194904

“ตอนนั้นท่าน (พุทธทาสภิกขุ) สั่งเลยว่า ถ้าเป็นอะไรไป ให้จัดการงานศพอย่างนี้ๆ อะไรตามที่ท่านสั่ง ผมจำได้ว่า ผมไม่ได้ถือกระดาษ ดินสอ อะไรไปเลยนะ ก็จำเอา ตอนนั้นหนุ่มๆ ความจำยังดีอยู่ จำว่าท่านพูดว่าอย่างไร พอกลับมาก็มาร่าง พอร่างเสร็จก็อ่านให้อาจารย์ฟัง คราวนี้ในการเขียนพินัยกรรมทางโลก ประโยคที่ขึ้นต้น จะต้องขึ้นต้นว่า ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย อันนี้คือหลักกฎหมายที่ต้องนำมาแบบนี้เลยนะ เป็นเงื่อนไข ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย ถึงแก่กรรม ให้จัดการดังต่อไปนี้

2020 11 01 195841

พออ่านให้ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ฟัง ท่านบอกว่าเปลี่ยน ในทางธรรมพูดอย่างนี้ไม่ได้ มีคำว่าถ้า ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ ก็เลยมาถามอาจารย์จิตติแล้วเขียนอย่างไรอาจารย์ อาจารย์ก็บอกเขียนให้มันอยู่ในความหมายนี่ล่ะ ไม่มีคำว่า ถ้า ก็เลยได้อาจารย์ช่วยดูให้ แล้วก็กลับไปอ่านให้ท่านฟัง ท่านก็สั่งไว้เรื่องจัดการงานศพ งดเว้นที่จะขอเครื่องอะไรต่างๆ ให้งดเว้นให้หมด ก็เขียนไปตามนั้น เสร็จแล้ว

ในวันนั้นเอง ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ก็มาที่สวนโมกข์พอดี ก็เลยอ่านให้อาจารย์วิจารณ์ฟัง อาจารย์วิจารณ์ก็บอกว่า ให้งดเว้นนั่น งดเว้นนี่น่ะได้ เรื่องขอของต่างๆ อาจารย์บอกเปลี่ยนคำให้มันเบาหน่อยได้ไหม ผมก็บอกขอเปลี่ยนงดเว้นเป็นละเว้นละกัน (หัวเราะ) ความหมายมันก็คล้ายๆ กัน ให้มันเบานิดหนึ่งละกัน พอเขียนเสร็จด้วยลายมือของผม แล้วพระพรเทพ ฐิตปัญโญ ที่เป็นเลขาท่านตอนนั้น ก็ไปพิมพ์ให้ พิมพ์เสร็จ แล้วตอนที่ไปมี พ.ต.อ.เสริม พัฒนกำจร ซึ่งรู้จักกับอาจารย์จิตติไปด้วย คุณเสริมก็เซ็นเป็นพยานด้วยในตอนนั้น” ศ.แสวง ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในการยกร่างพินัยกรรมการจัดการศพพุทธทาสภิกขุ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖

 2020 11 01 195130

จากพินัยกรรมพุทธทาสภิกขุ ถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)

แม้จะมีการจัดทำพินัยกรรมการจัดการศพไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่หลังการอาพาธหนักครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๖ กลับทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้ศรัทธาเกี่ยวกับการดูแลรักษาพุทธทาสภิกขุในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ในฐานะนักกฎหมายหันมาสนใจในการขับเคลื่อนกฎหมายที่ว่าด้วยการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือ Living Will และการส่งเสริมกระบวนการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ดังปรากฏเป็นผลสำเร็จใน มาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่ง ศ.แสวง ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากกรณีของพุทธทาสภิกขุว่า

2020 11 01 195227

“คือเมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๕๕๐ เราเริ่มยกร่างก่อนหน้านั้น ๔–๕ ปี มีแนวคิดจะต้องยกร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติขึ้นฉบับหนึ่ง เพื่อเป็นกรอบใหญ่ๆ ว่าทิศทางจะไปอย่างไร ในตอนนั้นก็เลยเขียนมาตราหนึ่งเข้าไปเรื่อง การแสดงเจตนาในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Living Will ผมก็ได้เข้าไปเป็นกรรมการช่วยร่าง พอถึงมาตรานี้คนก็บอกว่า อาจารย์เชียร์จริงนะ เหมือนจะมีอะไรอยู่ในใจ ผมก็บอกว่า ก็มีสิ ก็จากกรณีอาจารย์พุทธทาสนี่ไง คือเรื่องจัดการงานศพงานอะไรท่านสั่งไว้ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ก็ไม่มีปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านพูดด้วยวาจาไม่ได้เขียนไว้คือเรื่องเจ็บป่วยนี่ล่ะ ไม่ต้องยื้อ ไม่ต้องยืด ท่านไม่ได้เขียนไว้ เราก็เขียนเรื่องจัดการงานศพตามที่ท่านสั่ง ก็เลยมานั่งนึกว่า ถ้าท่านเขียนไว้สักหน่อยก็ดี มันก็ไม่ต้องเถียงกัน ก็เลยเอาแนวคิดนี้มาเขียนเป็นกฎหมายไว้เลยว่า ถ้าพอถึงระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว อยากให้ดูแลอย่างไร จะปฏิเสธเครื่องมืออย่างไร เขียนไว้เลย จะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ จะไม่เจาะคอ ไม่ปั๊มหัวใจ เขียนไว้เลย อย่างนี้เป็นที่มาของมาตรา ๑๒”

2020 11 01 195404

อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายต่อไปว่า “ทีนี้พอเขียนตรงนี้เสร็จก็ต้องรณรงค์ต่อให้คนรู้จัก เพราะว่าตอนที่ทำกฎหมายเสร็จ มีคนเข้าใจผิด รวมทั้งหมอบางคนด้วยเข้าใจว่ามาตรา ๑๒ เป็นเรื่อง การุณยฆาต เป็นเรื่องเร่งการตายจะขัดกับจริยธรรมวิชาชีพ จะเป็นบาปเป็นอะไร ก็ต้องบรรยายต่อว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องขอตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องเร่งการตาย มันคนละเรื่องกัน ไม่ใช่การุณยฆาต ศาลปกครองสูงสุดก็ชี้มาแล้วว่าเรื่องมาตรา ๑๒ เป็นเรื่องขอตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องการุณยฆาต ไม่ใช่เร่งการตาย ไม่ใช่เรื่องฆ่าตัวตาย และไม่ใช่เรื่องการทอดทิ้งผู้ป่วยด้วย เพราะว่าการดูแลแบบประคับประคองยังทำอยู่ ก็เลยต้องเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อว่า ทุกโรงพยาบาลจะต้องมีหน่วยดูแลประคับประคอง เพื่อเคลื่อนเข้ามา ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Palliative Care ก็คือการดูแลตามหลักการ การบรรเทาปวด การดูแลจิตใจเขาให้สงบ ดูแลญาติเขาด้วย ให้เขาจากไปอย่างสงบในระยะท้ายของชีวิตซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย

2020 11 01 195520

“ผมก็เลยเดินสายบรรยายเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว คือทำอย่างไรให้หมอได้เข้าใจกฎหมาย ทำอย่างไรให้นักกฎหมายได้เข้าใจเรื่องหมอ แล้วทำอย่างไรให้ประชาชนได้เข้าใจทั้งเรื่องการแพทย์กับกฎหมาย เพราะมันมีหลายอย่างที่เราเรียกว่า การรักษาที่ไร้ประโยชน์แต่ก็ทำกัน แล้วค่าใช้จ่ายมันสูงมากเลยนะ งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเขาบอกว่า ในระยะสุดท้ายต้องนอน ๑–๒ เดือน เงินที่เราเก็บมาตลอดชีวิตจะหมดไปกับ ๒ เดือนนี้ แล้วในสังคมไทยมันก็เป็นแบบนี้แล้ว อย่างไอซียูยิ่งโรงพยาบาลเอกชน วันหนึ่งประมาณ ๕๐,๐๐๐–๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อวัน แล้วก็ทรมานเขาจนตาย เห็นไหมมันต้องมีวิธีที่ดีกว่านั้น ซึ่งตรงนี้ถ้าประชาชนเข้าใจเรื่องการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ด้วยนะ อันนี้จะคุยได้ดีเลย concept ของ Palliative Care ก็คือ To cure sometime เรื่องรักษาเป็นรองไปแล้ว Relief often บรรเทาปวดให้เขาบ่อยๆ Comfort always อะไรทำให้เขาสบายทำ ในวาระสุดท้ายของชีวิตเขา เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเข้าใจตรงกัน ญาติ แพทย์ นักกฎหมายเข้าใจตรงกัน เรื่องนี้จะช่วยคนได้เยอะเลย” ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนกฎหมายที่ว่าด้วยการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต และการส่งเสริมกระบวนการรักษาแบบประคับประคอง ที่มิอาจปฏิเสธแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากพุทธทาสภิกขุ

2020 11 01 195639

ในโลกปัจจุบันที่ธรรมะในพุทธศาสนาถูกท้าท้ายและตั้งคำถามจากความเคลื่อนไหวทางสังคม เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตอันเรียบง่ายของ ศ.(พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์ มรณกาลของพุทธทาสภิกขุ การขับเคลื่อนกฎหมายที่ว่าด้วยการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต และการส่งเสริมกระบวนการรักษาแบบประคับประคอง จากความทรงจำของ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส กลับบ่งชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการเข้าถึงพุทธศาสนาที่ไม่ใช่การละทิ้งหน้าที่ หรือปลีกตนเองออกจากสังคม หากแต่เป็นกระบวนการที่ปัจเจกบุคคลสามารถหล่อหลอมนำหลักธรรมในพุทธศาสนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ และเป็นการทำหน้าที่เพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างทางสังคมที่มีมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย

...นี่เป็นอีกครั้งที่ความตายก่อบทสนทนา...