พุทธทาสภิกขุกับกล้องถ่ายภาพ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงอยู่มาก ในการนำเอาโสตทัศนูปกรณ์มาใช้เผยแผ่ธรรมะ เรียกได้ว่าพุทธทาสภิกขุเป็นภิกษุรูปแรกๆ ก็ว่าได้ จากรูปรวมกล้องถ่ายภาพด้านล่าง แสดงให้เห็นความสนใจในการเล่นกล้อง-ถ่ายภาพ และความทันสมัยของพุทธทาสภิกขุ
"อาจารย์ครับ เล่นกล้องนี่มันสนุกอย่างไรครับ"
“โอ๊ย มันสนุก ถ่ายรูปมาดีก็สนุก ถ้าไม่ดีก็อยากจะแก้ตัวใหม่ มันก็ให้เราเลือกได้ตามพอใจ ผมเคยถ่ายแต่เมฆอย่างเดียวตั้งพันภาพ เมฆสวยขึ้นมาเป็นรูปอะไรๆ ก็ถ่ายไว้อัดเองมันถูกมาก ถูกกว่ากันหลายเท่า ๕๐ เท่าได้ถ้าไปจ้างเขาททำแพงกว่า ๕๐ เท่า
โดยมากผมถ่ายวิว ไมได้ถ่ายคน แต่พอถึงที่สุดมันก็เบื่อ ไม่มีความสนุก เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีความรู้สึกสนุก ใครจะเอากล้องอย่างวิเศษมาให้ก็ไม่เอา ไม่รับหรอก ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร
มาอยู่ที่นี่ก็ยังเล่นสนุกอยู่ เพิ่งจะหยุดเด็ดขาดไปสัก ๑๕ ปีเท่านั้น เราไม่ต้องมีห้องมืด ล้างตอนกลางคืน อากาศก็เยนสบาย ทำเฉพาะกลางคืน เข้าไปในห้องมันร้อน มันอับ มันอึดอัด ตอนหลังพระบุญชูช่วยทำแทน”
อ้างอิง
พระประชา ปสันนธัมโม. เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
เมื่อย้อนกลับไป การเล่นกล้องและการถ่ายภาพของพุทธทาสภิกขุ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเล่นเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อเป็นงานอดิเรก แต่หลังจากนั้นการเล่นกล้องของพุทธทาสภิกขุ ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว หากแต่เล่นเพื่อใช้ประโยชน์เท่านั้น
º ที่สวนโมกข์นี้ มีแต่การเล่น
º แต่ในการเล่นนั้น มีหัวใจแห่งการงานที่พอจะถือได้ว่าสูงสุด.
º มาเถิด! มาหัดเล่น แล้วเอาวิชาเล่นนี้ไปใช้กับการงานที่บ้าน. เพื่อให้การงานไม่เป็นทุกข์ แต่สนุกเหมือนการเล่นต่อไปตลอดกาลนาน.
อ้างอิง
เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ. ทิฏฐิวิวาท. (2508) BIA4.3/21 กล่อง 2 หน้า 29
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3gSc9Td
ผลงานจากการเล่นกล้อง-ถ่ายภาพของพุทธทาสภิกขุ ได้ออกสู่สายตาสาธารณชน ในรูปแบบการเผยแผ่ธรรมะผ่านภาพถ่าย หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “บทพระธรรมประจำภาพ” ซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพของพุทธทาสภิกขุ เป็นที่กล่าวถึงของช่างภาพมืออาชีพเป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ คุณมานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพและศิลปินอิสระที่เคยนำภาพถ่ายชุด “บทพระธรรมประจำภาพ” ไปจัดแสดงในนิทรรศการ “ช่างภาพไทยที่โลกลืม” ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร aday Bulletin ว่า
“มีภาพหนึ่งที่เป็นรูปพระอาจารย์ยืนอยู่ ๓ รูป แล้วพอผมมาอ่านบทกลอน กลายเป็นว่ารูปที่หนึ่งกำลังสนทนากับรูปที่สอง สำหรับผมนี่ไม่ธรรมดาแล้ว นี่เปรียบเหมือน conceptual art เพราะว่าถ้าสังเกตให้ดี ภาพของท่านพุทธทาสทั้งสามรูปมีการวางแผนไว้แล้ว ว่าจะอัดรูปออกมาแบบไหน มีคอมโพสิชันแบบไหนให้อยู่ในภาพเดียวกัน นี่มันล้ำลึกมากเลย” (ที่มา : ในนิตยสาร adayBulletin ฉบับที่ ๖๒๔ วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๓)
อ้างอิง
บทพระธรรมประจำภาพ ชุดปรมัตถธรรม ป. XI มียิ่งอวดตรง ยิ่งคดลึก พยศของคนตรง. หน้า ๗-๘. อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2YX0Ra2