นิพพาน : “ก่อนหน้าท่านอาจารย์พุทธทาสจะมา คนจะพยายามปฏิเสธตรงนี้ไปแล้ว”
พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ 28 มกราคม 2563
นิพพานํ ปรมํ สุขํ แม้นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง และเป็นที่สุดแห่งทุกข์ตามหนทางพุทธศาสนา แต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย คำสอนเรื่อง นิพพาน ก็ถูกทำให้กลายเป็นหนทางที่ห่างไกลและเป็นไปไม่ได้สำหรับปุถุชน “เมื่อก่อนนี้ก็พูดกันเรื่องนิพพานว่าเป็นของไกล เป็นเมืองนิพพาน เกิดมาหมื่นชาติแสนชาติก็ยังไปไม่ถึง อะไรอย่างนี้ ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็จะพลิกความคิดตรงนี้ว่า นิพพานมันอยู่ที่ปลายจมูกนั่นล่ะ มันไม่ได้อยู่ไกล มันมีนิพพานชิมลอง ทุกคนเคยชิมแล้ว เพราะว่าเราเห็นแก่ตัวก็จริง แต่เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางช่วงเราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว แล้วช่วงที่เราไม่ได้เห็นแก่ตัว เราก็สบายอกสบายใจ จิตใจสงบสบาย นั่นล่ะนิพพาน แต่มันเป็นนิพพานชิมลอง ชั่วคราว เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถชิมลองนิพพานได้ มันไม่ใช่ของไกลมือ มันอยู่ปลายจมูกนั่นเอง...” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บอกเล่าความทรงจำเสี้ยวหนึ่งเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาส ผู้ทำให้โลกุตตรธรรมกลับมาทำหน้าที่เป็นยาสามัญประจำบ้านซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถนำพาไปใช้ดับทุกข์
พุทธศาสนาในสังคมไทย ภาคปฏิบัติ และปัญญา
หากเอ่ยถึงชื่อ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี หลายคนที่ติดตามเรื่องราวทางสังคมคงยากจะปฏิเสธความรู้จัก และหากใครมีโอกาสได้อ่านหรือรับฟังการบรรยายจากราษฎรอาวุโสผู้เคยทำหน้าที่คณะกรรมการระดับชาติหลายๆ คณะ คงจะพอทราบว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาปรับใช้ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทางสังคม
“เริ่มต้นผมก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไปเรียนเมืองนอกมา พุทธศาสนาก็ไม่รู้เรื่อง ก็คงคล้ายๆ คนไทยทั่วไป ว่าเป็นชาวพุทธแต่ว่าก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ก็รู้ไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ไปทำบุญที่วัด อะไรต่ออะไรอย่างนั้น” ราษฎรอาวุโส ย้อนภูมิหลังเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่อาจเริ่มต้นไม่แตกต่างจากพุทธศาสนิกในสังคมไทยทั่วไป
“ทีนี้พอเริ่มจะสนใจศึกษาพุทธศาสนา อาจารย์หมออวย (ศ.เกียรติคุณ นพ.อวย เกตุสิงห์) ก็ให้หนังสือมาดู หนังสือก็เป็นเรื่อง ศีล สมาธิ ภาวนา อะไรอย่างนั้น ก็เริ่มอ่าน แล้วก็ไปที่วัดป่าบ้านตาด (จังหวัดอุดรธานี) ไปที่วัดป่าบ้านตาดก็ฝึกเจริญภาวนา เขาภาวนา พุทโธ ทางสายที่นั่น ทีนี้ไปอยู่ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ สัปดาห์ ครั้งแรกก็นอนอยู่ในศาลาที่วัดป่าบ้านตาด อีกครั้งหนึ่งไปอยู่ เขามีกระท่อมเล็กๆ สำหรับพวกปฏิบัติธรรมอยู่เฉพาะตัว แล้วก็เดินจงกรม แล้วก็ภาวนา ตอนหัวค่ำก็ฟังอาจารย์มหาบัว (พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสัมปันโน)) เทศน์...แล้วก็ไปเยี่ยมพระสายอาจารย์มั่น (พระครูวินัยธรมั่น ภูริทัตโต) ที่ปฏิบัติธรรมอยู่ตามถ้ำต่างๆ ไปวัดถ้ำกลองเพล มีอาจารย์ขาว (พระขาว อนาลโย) อยู่ที่นั่น ไปวัดถ้ำขามมีอาจารย์ฝั้น (พระฝั้น อาจาโร) เราก็รู้เรื่องพวกพระสายอีสานอย่างที่ทราบกัน ท่านก็เป็นพระที่ปฏิบัติเข้มแข็ง และบางรูปคงเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ให้ข้อมูลเมื่อแรกเริ่มทำความเข้าใจในพุทธศาสนาผ่านการลงมือปฏิบัติตามแนวทางของพระป่าภาคอีสาน ก่อนที่หนังสือของพุทธทาสภิกขุจะส่งเสริมให้เขามองเห็นแง่งามอีกด้านของพุทธศาสนาที่กำลังเริ่มเบ่งบานขึ้นในสังคมไทย แม้จะอยู่ในสภาวะที่กำลังถูกจับตามองจากสังคมร่วมสมัยเป็นพิเศษ
ราษฎรอาวุโส เล่าต่อไปว่า “พอมาศึกษาทางของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่จะเน้นไปทางเรื่องปัญญา เรื่องความเป็นเหตุเป็นผล เราเรียนมาทางวิทยาศาสตร์มาก มันก็จะถูกกับจริตมากกว่า ก็มาติดใจทางสายท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วก็ของท่านพูดจาเป็นเหตุเป็นผล คล้องจองด้วยเหตุด้วยผลไปตลอดสาย โดยเฉพาะท่านหยิบเรื่อง อิทัปปัจจยตาขึ้นมา อิทัปปัจจยตาท่านเอามาพูดเป็นเล่มใหญ่เลย ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตรงนี้คือที่เรียกว่าทางสายกลาง อิทัปปัจจยตา กระแสของความเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องไปเรื่อย มันเป็นกระแสของความเป็นเหตุเป็นผล ของความเป็นเหตุปัจจัย มันจึงไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดลงท้ายที่เป็นส่วนสุด extreme ไม่มี มันถึงไม่มีขั้วบวก ขั้วลบ ท่านจะพูดเรื่อย ไม่มีบวก ไม่มีลบ คนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าเข้าใจตรงนี้มันก็จะเข้าใจอะไรทะลุปรุโปร่ง แล้วมันไม่แยกข้างแยกขั้ว ไม่แยกส่วน แต่คนจะเข้าใจน้อยมากตรงนี้ และผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”
แรกพบพุทธทาสภิกขุ
หลังศึกษาผลงานของภิกษุนามพุทธทาสผ่านตัวอักษรอยู่หลายเล่ม วันหนึ่งเมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี จึงได้มีโอกาสพบปะกับพุทธทาสภิกขุอย่างเป็นทางการ และบางความทรงจำก็ยังคงแจ่มชัดราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมา “เมื่อตอนมหาวิทยาลัยมหิดลไปขยายวิทยาเขตศาลายา (พ.ศ. ๒๕๑๓) ทีนี้ศาลายาก็อยู่ติดพุทธมณฑล ก็มีความคิดว่า เอ๊ะ...ถ้ามหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ติดกับพุทธมณฑล มันน่าสนใจว่าพุทธศาสนากับมหาวิทยาลัยจะเข้าไปเชื่อมโยงกันอย่างไร เพราะอยู่ติดกัน ก็ไปหาท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านเป็นนายกพุทธสมาคม พาอาจารย์ที่เป็นรองอธิการบดี ชื่ออาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย์ (ศ. นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์) ท่านเป็นคนคิดเรื่องขยายมหิดลไปศาลายา ไปคุยกับ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์...ท่านอาจารย์สัญญาก็บอกดีใจมากที่คิดเรื่องอย่างนี้ เราก็คุยกัน ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ได้แต่คิดอย่างนั้น แล้วก็เกิดความคิดขึ้นว่า เอ๊ะ...น่าจะเดินทางไปปรึกษาท่านอาจารย์พุทธทาสที่ไชยา
แล้วพอดีมีหลานท่านอาจารย์พุทธทาส ทำงานอยู่กับพวกเราคือ หมอวิจารณ์ พานิช (ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช) ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่บัณฑิตวิทยาลัย ทีนี้ขณะนั้นบัณฑิตวิทยาลัยก็มีอาจารย์ชื่อ อาจารย์หมอณัฐ ภมรประวัติ (ศ.เกียรติคุณ นพ.ณัฐ ภมรประวัติ) เป็นคณบดีอยู่ ซึ่งต่อมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พวกเรา ๕ คน ก็เลยเดินทางไปไชยา คือมีรองอธิการบดี ๒ คน อาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย์ อาจารย์กำจร มนุญปิจุ (ศ.เกียรติคุณ น.ต.กำจร มนุญปิจุ) ซึ่งเป็นรองอธิการบดี อาจารย์หมอณัฐ ซึ่งเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และคุณหมอวิจารณ์ซึ่งเป็นหลานท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วก็ผม ๕ คน ก็ขึ้นรถไฟไปไชยา”
ราษฎรอาวุโส เล่าต่อไปว่า “ผมยังจำได้ ไปลงที่ไชยายังมืดอยู่เลย สักตีห้า หรือยังไม่ตีห้ากระมัง แล้วก็จ้างรถสองแถวให้ไปส่งที่สวนโมกข์ ตอนนั่งรถสองแถวไปเนี่ย ก็ถามราคาเท่าไร เขาก็บอกราคา แล้วเขาบอกท่านเจ้าคุณหมายถึงท่านอาจารย์พุทธทาส กำหนดราคาไว้ว่าแค่นี้ ห้ามเกินแค่นี้ (หัวเราะ) ท่านมีอิทธิพลต่อราคารถด้วย ทีนี้พอเข้าไปที่พัก สักเดี๋ยวหนึ่ง ท่านก็ส่งคนมาท้าทายว่าพร้อมหรือยัง (หัวเราะอย่างอารมณ์ดี) ถ้าพร้อมก็ไปคุยกันได้ ยังไม่สว่างดี ก็ ๕ คนก็ไปคุยกับท่าน ก็ไปคุยเรื่องนี้ว่ามันจะเอาพุทธศาสนากับมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาได้อย่างไร ก็คุยไม่นาน ตอนนั้นนะ ก็ยังไม่ได้รู้จักอะไรเป็นส่วนตัว...อันนั้นเป็นครั้งแรกที่ไปสวนโมกข์
“หลังจากนั้นก็นาน ไม่ได้ไป แต่ว่าอ่านหนังสือของท่านเยอะมาก เรียกว่าอ่านแทบทุกเรื่อง อ่านจนขึ้นใจ ทีนี้ไปอีกทีหนึ่งนานมาก เว้นระยะ เขามีงานฉลองอายุท่านอาจารย์พุทธทาส ๘๐ ปี (พ.ศ.๒๕๒๙) แล้วเขาจัดให้มีการอภิปรายที่อาคารรูปเรือ แล้วเขาก็เชิญ ๓ คนไปอภิปรายคือ คุณประยูร จรรยาวงษ์ แล้วก็อาจารย์เต็มสิริ บุณยสิงห์ (ศ. คุณหญิงเต็มสิริ บุณยสิงห์) แล้วก็ผม ๓ คนไปอภิปรายงานฉลองอายุท่านอาจารย์พุทธทาส ไม่รู้ทำไมมาชวน (หัวเราะ) ก็ไปอภิปรายตอนนั้น แล้วก็เลยรู้จักคุ้นเคย แล้วพอดีเจอหมอบัญชา (นพ.บัญชา พงษ์พานิช) ซึ่งคล้ายๆ ไปรับใช้อยู่ที่สวนโมกข์นั่นล่ะ ก็วิ่งเต้นทำนั่นทำนี่ ประสานงานอะไรต่างๆ ก็เลยติดต่อกันเรื่อยมา หลังจากนั้นก็ไปเยี่ยมท่าน ไปดูท่าน เวลาท่านอาพาธ อะไรต่ออะไรต่างๆ” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ และสวนโมกข์ ไชยา
นิพพาน : “ก่อนหน้าท่านอาจารย์พุทธทาสจะมา คนจะพยายามปฏิเสธตรงนี้ไปแล้ว”
หลายท่านที่สนใจในประวัติของภิกษุนามพุทธทาส หรือสนใจในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสังคมไทย คงจะพอทราบว่า หนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้ พุทธทาสภิกขุ ถูกกล่าวถึงทั้งในด้านบวกและด้านลบ ก็สืบเนื่องมาจากความพยายามในการตีความหลักธรรมในพุทธศาสนาให้สามารถเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจและปฏิบัติได้ในปัจจุบันขณะ ซึ่งข้อมูลจากความทรงจำของบุคคลร่วมสมัยอย่าง ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ก็ช่วยฉายให้เห็นภาพโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) ในสังคมไทยที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดวิวาทะ เช่นเดียวกับการฉายให้เห็นภาพความอุตสาหะของภิกษุรูปหนึ่งในฐานะผู้กระทำการ (human agent) ที่สามารถใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านหรือต่อรองกับโครงสร้างส่วนบนได้อย่างสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในกาลต่อมา
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตีความหมายโลกุตตรธรรมในพุทธศาสนาที่ก่อให้เกิดวิวาทะในครานั้นว่า “เมื่อก่อนนี้ก็พูดกันเรื่องนิพพาน ว่าเป็นของไกล เป็นเมืองนิพพาน เกิดมาหมื่นชาติแสนชาติก็ยังไปไม่ถึง อะไรอย่างนี้ ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็จะพลิกความคิดตรงนี้ว่า นิพพานมันอยู่ที่ปลายจมูกนั่นล่ะ มันไม่ได้อยู่ไกล มันมีนิพพานชิมลอง ทุกคนเคยชิมแล้ว (หัวเราะ) เพราะว่าเราเห็นแก่ตัวก็จริงแต่เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางช่วงเราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว แล้วช่วงที่เราไม่ได้เห็นแก่ตัว เราก็สบายอกสบายใจ จิตใจสงบสบายนั่นล่ะ นิพพาน แต่มันเป็นนิพพานชิมลอง ชั่วคราว เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถชิมลองนิพพานได้ มันไม่ใช่ของไกลมือ มันอยู่ปลายจมูกนั่นเอง...
เพราะก่อนหน้าท่านอาจารย์พุทธทาสจะมา คนจะพยายามปฏิเสธตรงนี้ไปแล้ว ปฏิเสธตรงนี้มาไม่รู้เท่าไรแล้ว ในช่วงก่อนท่านอาจารย์พุทธทาส จะพยายามไม่พูดถึงเรื่องอนัตตา เรื่องอะไร ซึ่งตรงนี้มันอาจจะเป็นการเมืองของเรื่องรวมศูนย์อำนาจอะไรด้วย ถ้าไปไล่ดูเนี่ยนะ ที่พยายามจะไม่พูดเรื่องอนัตตา เพราะว่าตรงนี้จะพูดเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทางการเมืองเขาอาจจะต้องการให้ยึดมั่นถือมั่น...มันก็อาจจะคิดขัดแย้งกัน เหมือน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับอาจารย์พุทธทาสก็จะขัดแย้งกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น คึกฤทธิ์ก็จะว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร มันก็จะเพี้ยนไป อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เคยเขาเรียกว่า วิวาทะกัน ซึ่งอาจารย์พุทธทาสก็ชอบว่าเกิดวิวาทะกัน ทำให้เรื่องนี้โด่งดัง คนสนใจมากขึ้น
“แล้วก็ท่านก็พยายามพูดเรื่องโลกุตตรธรรมอยู่ อันนี้ซึ่งต่างจากคนอื่น คนอื่นพยายามไม่พูดถึง ว่าคล้ายๆ เป็นธรรมะนอกโลก ทีนี้ โลกุตตระ แปลว่า เหนือ ไม่ใช่นอก เหนือโลก เหนือโลก แปลว่าเหนือโลกที่เป็นไปธรรมดา เหนือโลกไม่ใช่นอกโลก อยู่ในโลก ท่านก็พยายามผมเรียกว่า ปรุงโลกุตตรธรรมให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ให้เป็นเรื่องประจำบ้าน ไม่ใช่เรื่องห่างไกลอะไร ท่านก็พยายามพูดเรื่องต่างๆ ตัวกูของกู ถ้าตัวกูของกูมันน้อย มันก็ใกล้นิพพานเข้าไปมีความสงบ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ท่านก็เอามาพูด มันก็จะมีศัพท์อะไรต่างๆ เข้ามา...สำหรับผม ท่านอาจารย์พุทธทาส ผมคิดว่าท่านเป็นมหาบุรุษร่วมสมัยของเราที่นานๆ จะมีสักคนหนึ่ง ที่มีปัญญาสูงขนาดนี้ โชคดีที่ว่า นานๆ ก็เกิดมีมหาบุรุษที่เกิดมีสติปัญญาสูงอย่างนี้ขึ้นมา ก็ช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้เข้าใจเรื่องยากๆ ต่างๆ” ราษฎรอาวุโส ชี้ให้เห็นบทบาทที่สำคัญของภิกษุนามพุทธทาสต่อประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและสังคมไทย
“ต้องมีคนรุ่นใหม่ที่จะสานต่อ แล้วก็ต้องสนใจสังคมอย่างต่อเนื่อง” อนาคตของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จากมุมมองของราษฎรอาวุโส
นอกเหนือจากความทรงจำที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ในฐานะประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ยังได้บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และทิศทางที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ควรจะเป็นไปในอนาคต เพื่อเชื่อมโยงการทำงานเข้ากับสังคมว่า “ผมได้รับอุปโลกน์เป็นประธานมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ บัญชา (นพ.บัญชา พงษ์พานิช) เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเขาก็ปรึกษา แล้วคุยกันว่าจะรวบรวมคำสอนของอาจารย์พุทธทาสทั้งหมด วัตถุอะไรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาทำเป็นหอจดหมายเหตุ วัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารธรรมะ...
ทีนี้การสื่อสารธรรมะ มันไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่จะสื่อธรรมะ มันมีฝ่ายรับด้วย ทีนี้ฝ่ายรับก็อยู่กับสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ถ้าสามารถศึกษาติดตามสังคมว่าสังคมนี่สนใจอะไร แล้วเขาจะมีเครื่องรับต่อการสื่อสารนั้นอย่างไร ต้องสนใจด้านนั้นไปด้วย เพราะการสื่อสารนี่มันมีสองทาง มันไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่จะสื่อไปข้างเดียวว่าเรามีวัตถุที่จะสื่อคือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส มันมีฝ่ายรับ ทีนี้ฝ่ายรับมันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจังตามกาลเวลา เราก็ต้องสนใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไปด้วย มันจะได้มีการสื่อสาร แล้วก็เทคโนโลยีการสื่อสารมันก็จะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อย ก็จำเป็นต้องสนใจเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ด้วย เพื่อเอามาใช้ให้มันสอดคล้องกับกาลสมัยที่เปลี่ยนไป”
ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ กล่าวต่อไปว่า “เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องการคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าใจสังคมรุ่นใหม่ด้วย แล้วก็อีกด้านก็มาสนใจเรื่องธรรมะด้วย ตอนนี้ก็ต้องสร้างเรียกว่าคนรุ่นใหม่ไว้ อย่ามีแต่คนรุ่นเก่าอย่างผมนี่ (หัวเราะ) มันรุ่นโบราณ ต้องมีคนรุ่นใหม่ที่จะสานต่อ แล้วก็ต้องสนใจสังคมอย่างต่อเนื่อง สนใจเทคโนโลยี พร้อมๆ กับสนใจตัวธรรมะ จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนไป เพราะว่าโลกนี้ต้องการธรรมะ แต่ว่าต้องการธรรมะ ต้องการในรูปไหน อย่างไร อันนี้ต้องคิด ต้องศึกษา ต้องวิจัย ต้องค้นคว้า ไปด้วยตลอดเวลา มันอยู่นิ่งไม่ได้ ที่ต้องย้ำ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จะได้มีชีวิต ไม่เป็นแบบ museum ที่เป็น Dead Museum เป็นหอจดหมายเหตุที่มีชีวิต
“ที่จริงหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็มีศักยภาพมาก เพราะว่าอันที่หนึ่งก็ได้บารมีของท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วก็มีคำสอนของท่านซึ่งมีมาก แล้วก็มีความใจกว้างคือไม่ได้ยึดมั่นแยกข้างแยกขั้ว แยกส่วนอะไร เพราะฉะนั้นก็เหมาะที่จะเชื่อมโยงประสานขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ถ้าตรงนี้สามารถมีคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อน เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลาย มาจากหลาย discipline แล้วก็สนใจธรรมะ มีความสามารถในการขับเคลื่อนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ในสังคม...ขณะนี้สังคมถ้าพูดไปที่วิกฤติเพราะว่าติดอยู่ในการคิดแบบแยกส่วน มันต้องการคิดแบบองค์รวม แล้วปีนี้คงวิกฤติมาก พ.ศ.๒๕๖๓ ผมคิดว่าคงวิกฤติสุดๆ เพราะว่าความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจตกต่ำ ความขัดแย้งทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มันแก้ไม่ได้ทั้งนั้นเลย มันจะมาถึงจุด Tipping Point จุดพลิกผันและจุดพลิกผันนี้พลิกไปทางร้ายก็ได้ พลิกมาทางดีก็ได้ มันถึงจุดแล้ว เหมือนกระดานหก พลิกไปทางร้ายคือเกิดมิคสัญญีกลียุค พลิกไปทางดีก็คือร้ายกลายเป็นดีขึ้นทันทีทันใด ทีนี้มันจะดีขึ้นได้อย่างไร ก็คือการพลิกความคิด...
ถ้าหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ พยายามทำความเข้าใจตรงนี้มันจะเป็นพลัง ลองช่วยเอาไปคุยกันดูสิว่ามันอาศัยทางสายกลางไปสู่องค์รวมได้อย่างไร ต้องดูธรรมชาติร่างกายของเรา ถ้าโดยร่างกายของเรามันประกอบด้วยวัตถุที่มาจากธรรมชาติทั้งนั้น แต่พอมาเป็นองค์รวม ความเป็นคนคือองค์รวม มันมีคุณสมบัติใหม่ของความเป็นคน มีความมหัศจรรย์ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของสารต่างๆ...ถ้าประเทศไทยมันเป็นองค์รวม เหมือนเป็นคนทั้งคนมันจะมีความมหัศจรรย์ มันต้องทำความเข้าใจตรงนี้ แล้วใช้พุทธศาสนาวิธีคิดทางสายกลางเข้ามา อันนี้คือการที่จะพลิกความคิดตรงนี้ ผมคิดว่าหอจดหมายเหตุฯ มันอยู่ในฐานะที่จะช่วยคิดตรงนี้” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ฝากข้อคิดถึงทิศทางการทำงานของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ที่น่าจะเป็นไปในอนาคต
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ถาโถมเข้าสู่สังคมไทยอยู่เป็นระยะ เรื่องเล่าเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาสจากความทรงจำของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กลับเผยให้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของธรรมะในพุทธศาสนาที่ไม่จำเป็นต้องสยบยอมต่อโครงสร้างทางสังคมอย่างสิ้นหวัง ในทางตรงข้ามธรรมะในพุทธศาสนากลับสามารถทำให้มนุษย์ผู้หนึ่งหาญกล้าที่จะต่อต้านหรือต่อรองกับความไม่รู้ ความไม่ถูกต้อง และวิกฤตการณ์ต่างๆ ดังที่ภิกษุนามพุทธทาสได้ก้าวผ่านทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมือง, สงครามโลก, สงครามอุดมการณ์ มาได้ด้วยความซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่รับใช้ธรรมะของพระพุทธองค์ และความเป็นกัลยาณมิตรที่พยายามปรุงโลกุตตรธรรมให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ในยามที่สังคมเหลียวซ้ายหรือแลขวาก็ยังยากจะหาคำตอบ