๙ วัน ๙ เรื่อง ก้าวสู่ความเป็นพุทธทาส
less is more ในวิถีสวนโมกข์ (กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง ฯลฯ) (เรื่องที่ ๘/๙)กุฏิเล้าหมู
การอยู่ในกระท่อมเล็กๆ เกลี้ยงๆ ไม่มีสิ่งของรุงรัง กินอาหารแบบที่เขาพากันขนานนามให้ว่า "กินจานแมว" ซึ่งพวกเรากำลังใช้กันอยู่ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้นั้น ได้พิสูจน์ตัวมันเองให้เห็นแล้วว่า ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าโดยแน่นอน พอที่จะยึดถือเป็นหลักตายตัวได้ ...
"ดูเหมือนน้าหง้วนจะเป็นคนออกค่าสังกะสีให้ ทั้งหลังใช้สังกะสี ๒๕ บาทเท่านั้น กว้างสองศอก ยาววาหนึ่ง สูงจะวาหนึ่งด้วย ...
"ที่สวนโมกข์เก่า ผมอยู่หลังนี้นานที่สุด เขียนหนังสืออยู่ที่นี่เกือบ ๑๐ ปี เตียงนอนเป็นโต๊ะเขียนหนังสือไปในตัว ... ฝาเปิดออกได้ทุกด้านจากระดับขอบเตียงพอดี ใช้ไม้ยันออกไป
"ต้นมอด... นกขุนทองป่าชอบกินลูกของต้นนี้เข้าไปทั้งลูก ครู่เดียวก็ถ่ายเม็ดลงบนหลังคา ... กินไปพลางย่อยไปพลางถ่ายไปพลาง ... บนหลังคาสังกะสีโพ้งพั้งๆๆๆ เราต้องทำใจเป็นพิเศษมันจึงจะเขียนหนังสือได้ เราไม่ไล่มันไปเพราะมันส่งเสียงร้องเพราะดี..."
ข้าวจานแมว
การขบฉันของภิกษุสามเณรนั้น อาศัยเฉพาะของที่ได้มาจากการบิณฑบาตโดยตรง ... เพื่อความสะดวกและเป็นการเคารพต่อการฝึกฝนตัว เราได้ฉันในภาชนะง่ายๆ ภาชนะเดียวตลอดมา.
ที่เรียกภาชนะเดียวนั้นหมายถึง ใส่ข้าวลงในภาชนะใบหนึ่ง แล้วเกลี่ยกับลงไปข้างบนเท่าที่ต้องการ โดยแบ่งออกมาจากส่วนรวมเท่าที่ได้มาในวันหนึ่งๆ แล้วก็ไปฉันตามสบาย
บางคนและบางสมัยก็ใช้บาตรนั่นเองเป็นภาชนะ แต่บางคนและบางสมัยใช้ภาชนะอื่นที่สะดวกกว่า ... ด้วยบาตรสมัยนี้ไม่ได้ทำปากกว้างเป็นรูปขันน้ำอย่างบาตรครั้งพุทธกาล และล้างให้หมดกลิ่นยากกว่าภาชนะอื่น เช่นกาละมังเป็นต้น
เราฉันกันแต่เช้าเท่าที่จะทำได้ ผู้สมัครใจจะฉันหนเดียว ฉันเพียงหนเดียว, แต่ผู้ที่บางคราวต้องทำงานออกแรงทางกาย ... จะฉันเพลด้วยก็ได้
ในการเป็นอยู่แบบนี้ การบิณฑบาตเป็นเหมาะที่สุด การจัดตั้งครัวหรือมีผู้จัดถวายเสียเลยนั้นไม่เหมาะ หรือได้ผลน้อยกว่า และการไปฉันในที่นิมนต์ตามบ้านเรือนนั้น ถ้าหลีกเสียได้เป็นการดี
เครื่องนุ่งห่ม
การนุ่งห่มนั้น เมื่อใช้ผ้าเนื้อหนา ย้อมฝาดให้ดีๆ เป็นการประหยัด และทำให้มีเรื่องน้อยเข้ามากมายหลายเท่านัก มิใช่เพียงเท่าเดียวสองเท่า
การมีระเบียบให้ใช้ผ้าปะนั้น นอกจากตรงตามอริยวงสปฏิปทาแล้ว ยังทำให้มีจิตดีและสะอาดขึ้นอีกมาก
ถ้าภิกษุสามเณรหรือนักบวชมีหลักเช่นว่านี้ จะเป็นการประหยัดแรงงาน เงิน และเวลา ของประเทศชาติได้มาก และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ทายกด้วย
ที่สวนโมกข์ นานๆ จะมีคนถวายจีวรสักครั้งหนึ่ง และมีบางรายทอดผ้าป่าทางไปรษณีย์ ซึ่งเราทราบไม่ได้ว่าเป็นใคร ฉันเคยได้รับผ้าสบงทำด้วยไหม ทอด้วยมือ หนาๆตามแบบพื้นเมือง ปรากฏแต่ว่าส่งมาจากภาคอีสาน... แม้จากนานมากแล้ว ก็ขอตอบรับและอนุโมทนาไว้ในที่นี้ ... ผ้านั้นได้ใช้ไปจนถึงที่สุดแล้ว ทนทานมาก
เครื่องนอน หมอนไม้
การไม่ใช้มุ้ง ใช้ฟูก ใช้หมอนนั้นดีมาก เว้นแต่คราวเจ็บไข้ ทำให้มีความคิดนึกกว้างขวางเบากายเบาใจ ตื่นดีกว่าธรรมดา
เห็นการนอนเป็นเพียงการพักผ่อนชั่วครู่ชั่วยามของร่างกายจริงๆ ไม่ใช่เวลาหาความสุขหรือมัวเมาในอารมณ์สุข สามารถที่จะบำเพ็ญแบบแห่งชาคริยานุโยคได้ดีที่สุด และง่ายๆ ด้วย
"โดยมากใช้จีวรห่มมันก็พอแล้ว มีบางครั้งที่คลี่สังฆาฏิห่มด้วย หมอนก็ใช้ไม้ ๒ อันวางหัวท้าย แล้วใช้กระดานเล็กๆตอกขวางคล้ายม้ารองนั่ง แต่เเตี้ยๆ เท่ากับหมอน ใช้ผ้าสังฆาฏิพับๆ รองเสียชั้นหนึ่ง หมอนอย่างนี้เป็นของธรรมดาๆ ของชาวบ้านที่ใช้กันอยู่ทั่วไป มุ้งไม่ได้ ถ้าไม่สบายจึงใช้ ... ยุงมีบ้างก็สุมไฟเอา คลุมโปงเอาบ้าง เวลาค่ำตากวยแกก็จะสุมไฟขึ้นมา ยุงก็ไม่ค่อยมี
ฟังยุงร้องเพลง
"สิ่งรบกวนตามธรรมชาติบางประการ เช่นเสียงร้องของนก นั้นไม่เป็นปัญหาอันใด ... แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องทำการศึกษาจากมันอย่างใจเย็น
"ที่สวนโมกข์ยุงชุมมาก มีน้อยวันเหลือเกินที่ปราศจากยุง ... ในกรณีเช่นนี้ ต้องเรียนรู้ถึงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ รู้จักหลีกเลี่ยงหรือป้องกัน
"กลางวันไม่มียุงเลย ตอนพลบค่ำจะมีมาก จึงต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ตามขึ้นไปบนที่อาศัย เช่นออกมาเสีย หรือไม่เปิดแสงไฟให้เห็นจนกว่าจะค่ำไปมากแล้ว รู้จักแบ่งเวลาการงานให้เข้ารูปหรือเหมาะกับธรรมชาติ เช่นเวลาที่มียุงนี้ด้วย ในที่สุด ก็จะเหมือนกับไม่มียุงเหมือนกัน
"การตัดตอนหรือป้องกันต้นเหตุ เช่น การระบายน้ำไม่ให้มีที่เกิดของยุงก็ช่วยได้มาก และเป็นสิ่งที่ควรจะเอาใจใส่ตามที่ควร
"ในบางคราวยุงก็มีประโยชน์ในการช่วยไม่ให้นอนมากเกินไปกว่าธรรมดา หรือเกินความต้องการของร่างกาย
การเล่น
การไม่ได้หัวเราะเสียเลย หรือไม่มีเวลารู้สึกสนุกเพลิดเพลินเสียเลยนั้น คงจะทำให้เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อบางส่วนแห้งตีบ และกลายเป็นคนไม่สมประกอบไปบางส่วนก็เป็นได้ หรือจะเปิดโอกาสให้แก่โรคภัยบางอย่างโดยตรงก็ได้ ฉะนั้น แม้ในวงผู้ฝึกฝนการปฏิบัติธรรม ก็จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ลุล่วงไปด้วยดีเหมือนกัน จะถือว่าเป็นสิ่งที่นอกเรื่องไม่ได้
การเล่น หรือ ของเล่น นั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่คู่กันมากับมนุษย์อย่างที่จะแยกกันไม่ได้เป็นอันขาด แม้พวกที่ขัดสนที่สุด ก็ยังมีการเล่นหรือเสียสละเพื่อเล่น ... พระอริยเจ้าท่านก็ยังเล่น คือ เล่นฌานและเล่นสมาบัติ ... เมื่อเป็นดังนี้ พวกที่ยังเพิ่งบวช หรือไกลต่อการเข้าฌานเล่า จะเล่นอะไรกัน?
"ฉันแนะให้เณรเล็กๆ เล่นสิ่งที่เกี่ยวกับการศึกษา หาความรู้รอบตัว ให้คอยศึกษาอย่างละเอียดถึงธรรมชาติรอบๆ ตัว จากนก จากปลา ต้นไม้ ดอกไม้ ...
บางทีก็แนะให้เล่นเกี่ยวกับงานก่อสร้าง รู้จักใช้และทำเครื่องมือเพื่อสะดวกในการที่จะเล่น หรือทำงานจริงๆ อย่างอื่นๆ ในวันข้างหน้า ...
ภิกษุสามเณรที่เป็นรุ่นใหญ่ขึ้นมา ก็แนะให้รู้จักสังเกตสูงขึ้นมา แต่ก็ไม่พ้นไปจากการคลุกคลีกันกับธรรมชาติ จนบอกไม่ได้ว่าเป็นของเล่นหรือของจริง
การคุย การถกเถียงปัญหา การหัดใช้เสียงตามหลักแห่งอักษรศาสตร์ การหัดแสดงธรรม เหล่านี้ถ้ารู้จักจัดให้ลึกซึ้งก็สนุกดี
Less is more
หลักที่เราถือเป็นสรณะ คือ เรียนมาก, ทำงานมาก, กินอยู่ง่าย, อดทนและบริสุทธิ์, ปรารถนาสูงในการบำเพ็ญประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
สิ่งที่เราย้ำกันให้นึกถึงอยู่เป็นประจำวันก็คือ พยายามผ่านสิ่งต่างๆ ไปด้วยความระมัดระวัง สังเกตอย่างละเอียดละออ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน การได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง การเล่น การเที่ยว การสมาคม ฯลฯ ทุกอย่างควรจะถือเป็นการศึกษาไปหมด เพื่อช่วยให้รู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงเร็วเข้า จนไม่เที่ยวติดอยู่ในสิ่งใดๆ และไม่มีทุกข์
ขยันทำงานเพียงเพื่อเป็นหน้าที่ของสังขารที่ยังไม่แตกดับ ให้มีความฉลาดรอบรู้เกิดขึ้นทุกๆ อิริยาบถที่เคลื่อนไหว จนกว่าจะรู้สิ่งที่สูงสุด ไม่มีอะไรรบกวนความอยากรู้อีกต่อไป.
#เป็นอยู่อย่างต่ำมุ่งกระทำอย่างสูง #เป็นอยู่ชอบ #สงบเย็นเป็นประโยชน์
อ้างอิง : สิบปีในสวนโมกข์, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา