จาก startup สู่สวนโมกข์โมเดล (เรื่องที่ ๙\๙)

Share

งานจดหมายเหตุ,

๙ วัน ๙ เรื่อง ก้าวสู่ความเป็นพุทธทาส

 จาก startup สู่สวนโมกข์โมเดล (เรื่องที่ ๙/๙)
 

No photo description available. 

 

กิจการของสวนโมกข์เริ่มจากจุดเล็กๆ ดูไปก็คล้ายกิจการสตาร์ทอัพยุคนี้ จะพิเศษก็ตรงสวนโมกข์เป็นสตาร์ทอัพด้านพุทธศาสนา

จุดสตาร์ทเล็กๆ ครั้งนั้น ได้เปลี่ยนคนผู้หนึ่งเป็นพุทธทาส เปลี่ยนวัดร้างให้เป็นอารามอันเป็นกำลังแห่งการหลุดพ้น (สวนโมกขพลาราม) เมื่อคนผู้หนึ่งเป็นพุทธทาสได้ คนอื่นก็เป็นได้ เมื่อสถานที่หนึ่งเป็นสวนโมกข์ได้ สถานที่อื่นก็เป็นได้ เช่นนี้ เจตนาเรื่อง “สวนโมกข์ทุกที่ พุทธทาสทุกคน” จึงเกิดขึ้น

พุทธทาสภิกขุเล่าเรื่องราวสิบปีในวัดร้างตระพังจิกไว้ในหนังสือชื่อ 'สิบปีในสวนโมกข์' เรื่องสุดท้ายที่ท่านเล่าไว้คือเรื่อง "ทุน" การก่อรูปและดำเนินกิจการเช่นสวนโมกข์นี้ ต้องมีต้องใช้ทุนรอนใดบ้าง มาฟังกันค่ะ

ทุนอันแรก คือ เงินและแรง

"ส่วนมากใช้ในการตกแต่งสถานที่ การล้อมด้วยลวดหนาม การทำที่พักอาศัย และเป็นค่าหยูกยาในคราวเจ็บไข้ ตลอดจนค่าเดินทาง...

"เมื่อพิจารณาดูแล้ว อาจจะพบความจริงได้อย่างหนึ่งว่า การจัดสถานที่แบบนี้ไม่เป็นการหมดเปลืองมากมายอย่างใดเลย

"เมื่อคำนึงถึงผลแล้ว รู้สึกว่าได้ผลเกินค่า หากแต่ว่าผลนั้นๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวมีตนแสดงอยู่ปรากฏชัดเหมือนการบริจาคสร้างโบสถ์สร้างวัด สร้างโรงเรียน เป็นต้น จึงดูเป็นไม่ชวนให้ทำ

"การเสียสละเพียงเท่านี้ในประเทศไทย เรามีคนอาจจะสละได้เป็นจำนวนหลายหมื่นคน หากแต่ว่ากิจการอันนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจดี สำหรับผู้พร้อมที่จะเสียสละเหล่านั้นเท่านั้น"

ทุนอันที่สอง คือ กำลังน้ำใจ

"ทุนอันนี้สำคัญยิ่งไปกว่าเงินหรือแรง เพราะถ้าไม่มีกำลังใจ มุ่งหวังไปอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแรงกล้า และได้รับการสนับสนุนจากมิตรสหาย และเหตุการณ์บางอย่างอยู่เสมอแล้ว ก็ชวนให้เบื่อหน่าย

"ฉะนั้น การที่มีผู้อ่านหนังสือเพื่อหาความรู้หรือเพื่อทราบข่าวกิจการของเราก็ตาม เป็นการให้กำลังน้ำใจอย่างดีของเราอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเราขอขอบคุณโดยทั่วกัน"

ทุนอันที่สามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ได้แก่ ผู้กล้ารับภาระจัดการเป็นตัวยืนโรง

"ถ้าไม่มีใครทำหรือใครช่วย ก็ยังยินดีที่จะทำไปคนเดียวเรื่อยๆ ไม่ยอมเลิกล้ม ได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญในข้อที่ว่า คนที่คอยให้ทุนหรือกำลังใจนั้น มิใช่ได้มาทำด้วยได้"

"ต่อเมื่อทุนมีครบพร้อมทั้งสามประการดังกล่าวมา กิจการก็ก่อรูปและดำเนินไปได้ สำหรับงานประเภทนี้ ซึ่งเราอาจกล่าวได้เต็มปากว่า ไม่เป็นงานที่ชวนให้ทำตามธรรมชาติ เหมือนงานที่ได้รับค่าจ้างรางวัลตรงๆ เสียเลย

"ฉันขอแสดงความหวังเป็นอย่างมากว่า เพื่อนพุทธบริษัทผู้ใดที่ตั้งใจจะจัดงานตามแบบนี้ขึ้น ควรจะรวมทุนทั้งสามประการนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน

"การกุศลชนิดที่ไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือนนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่เป็นของท่าน แต่เป็นของชาติและศาสนา จึงจะดำเนินไปได้ ไม่มากก็น้อย

"ในที่สุด ขอสรุปการเล่าอันยืดยาวของฉัน ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า พวกเรากำลังได้รับความพอใจในงานที่ทำ มีความกล้าหาญรื่นเริง เป็นสุขสบายดีอยู่ทั่วกันทุกคน และตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราเรื่อยๆ ไปไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างใด"