พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ อรุณ เวชสุวรรณ นักเขียนสายเลือดไชยา

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ อรุณ เวชสุวรรณ นักเขียนสายเลือดไชยา 

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์  ๒ มกราคม ๒๕๖๓ 

20200628

 ยามสายของต้นปี พ.ศ.๒๕๖๓ โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้รับโอกาสจาก อรุณ เวชสุวรรณ นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์อรุณวิทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ได้รับโอกาสให้จัดพิมพ์เผยแผ่ผลงานของพุทธทาสภิกขุ เข้าร่วมสนทนาเกี่ยวกับความทรงจำที่มีต่อภิกษุนามพุทธทาส แม้เขาจะออกตัวว่าด้วยช่องว่างแห่งความอาวุโสอาจจะทำให้ไม่ได้ใกล้ชิดมากนัก แต่ทุกความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์จากนักเขียนผู้เข้มข้นด้วยสายเลือดไชยา ก็สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของภิกษุนามพุทธทาสซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่น จนเป็นเหตุให้ครั้งหนึ่งเมืองที่ดูแสนจะห่างไกลจากความเจริญอย่างไชยากลับกลายเป็นจุดนัดพบของปราชญ์ ปัญญาชน และกลุ่มคนที่สนใจในพุทธศาสนาที่ปรารถนาจะเดินทางไปให้ถึง

 

“...ตอนกลางคืนนอนยังได้ยินเสียงเสือ” สวนโมกข์ ในความทรงจำวัยเด็กของ อรุณ เวชสุวรรณ 

แม้ภาพความร่มรื่นของแมกไม้ที่ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมแบบที่อาจเรียกได้ว่า ‘ป่า’ ภายในสวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน จะสร้างความประทับใจให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้เดินทางไปสัมผัส แต่ข้อมูลจากคำบอกเล่าของอีกหลากหลายบุคคลที่ถือกำเนิดหรือเติบโตมาในเมืองไชยาเมื่อหลายทศวรรษก่อน ยิ่งสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับคนไกลบ้าน ไกลยุค เมื่อต้องจินตนาการถึงดินแดนที่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้เลือกเป็นชัยภูมิในการเผยแผ่งานธรรม 

 20200628 02

“บรรยากาศสมัยเป็นเด็กกับสวนโมกข์ปัจจุบันผิดกันลิบลับ ผิดกันมาก ยิ่งทางหลวงสาย ๔๑ ผ่านหน้าสวนโมกข์แล้ว ผิดกันมากทีเดียว สมัยก่อนสวนโมกข์นี่จะเงียบสงบ แล้วก็การก่อสร้างไม่มี และเดิมสวนโมกข์ชื่อเป็นทางการชื่อวัดธารน้ำไหล จะมีน้ำไหลออกมาจากภูเขา เพราะว่าใกล้บริเวณสวนโมกข์ ด้านหลังก็ดี ด้านข้างๆ ของภูเขานางเอที่อยู่หลังสวนโมกข์จะเป็นป่าทึบ ตอนหลังก็มีคนบุกรุกเข้าไปทำลายป่า เพื่อจะทำสวนยางพาราทั้งด้านหลัง ด้านข้าง ด้านอะไรไปทั่วเลย ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) มีความเมตตากับคนสูงมาก ในการที่ว่า ทำก็ทำไป แต่ท่านก็รู้ว่า ถ้าทำอย่างนั้นน้ำอะไรต่างๆ จะแห้งแล้ง ท่านก็ไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านอะไร ชาวบ้านเขาก็สร้างขึ้นเรื่อยๆ สมัยที่ผมไปอยู่รอบด้านของสวนโมกข์เป็นป่าทั้งนั้น ป่าละเมาะ พี่สาวผมที่ไปอยู่ข้างสวนโมกข์เล่าให้ฟังว่า ตอนกลางคืนนอนยังได้ยินเสียงเสือ นอนที่บ้านยังได้ยินเสียงเสือ คิดดูว่าเป็นป่าขนาดไหน” อรุณ เวชสุวรรณ ในวัย ๗๔ ปี ย้อนความทรงจำถึงบรรยากาศของสวนโมกข์เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็ก 

20200628 03

นักเขียนสายเลือดไชยา ให้ข้อมูลต่อไปว่า “ตั้งแต่จำความได้ คุณยายผมนี่ท่านเป็นคนที่สนใจในด้านศึกษาปฏิบัติธรรม ถือศีลอุโบสถ ไปวัดทุกวันพระ ๘ ค่ำ ทำบุญตักบาตรเป็นประจำ แล้วเวลาไปพาผมไปด้วย...อย่างที่สวนโมกข์นี่ท่านก็พาผมไป เช่นว่า ไปทำบุญเดือนสิบซึ่งเป็นการทำบุญใหญ่ ท่านก็พาผมไปทุกครั้ง แล้วก็ที่สวนโมกข์นี่ผมยังมีพี่สาวลูกพี่ลูกน้องไปมีที่ดิน ที่ดินนี่ติดกับสวนโมกข์เลยนะ ผมจะไปบ้านพี่สาวผมบ่อยๆ แล้วก็พี่สาวกับพี่เขยคนนี้ ช่วยเหลืองานของสวนโมกข์มาโดยตลอด ผมไปที่นั่นแล้วก็เดินมาที่สวนโมกข์...  

20200628 04

“ทีนี้เมื่อก่อนสวนโมกข์ไม่มีทางที่จะไป ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านให้ชาวบ้านช่วยขุดถนน ขุดจากบ้านวัดแก้ว ยายของผมยังไปขุด แล้วบางทีก็ขุดกลางคืน ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ยังไปยืนดูเขาขุด ผมยังเคยเห็นรูปถ่ายของท่านที่ คุณสุเทพ เมืองคล้าย เก็บรูปนี้ไว้ แล้วถนนนี่กว่าจะถึงสวนโมกข์จะมีคลอง คลองที่น้ำไหลมาจากด้านเหนือ ด้านตำบลปากหมาก เวลาฤดูที่น้ำหลากมันจะไหลมา ถนนที่ขุดไว้มันจะขาดทุกปี ตัดขาดทุกปี แล้วท่านก็ขุดทุกปีเหมือนกัน...สมัยก่อนคนที่จะไปสวนโมกข์ต้องเดินไป สมัยผมเป็นเด็ก รถยนต์ที่ไชยามีอยู่ ๑-๒ คันเท่านั้นเอง ที่มีรถยนต์ยังจำชื่อได้ เป็นรถจี๊ป แล้วก็ถนนที่จะไปพุมเรียงก็ไม่มี น้ำก็ตัดขาดเหมือนกัน แถวท่าโพธิ์อะไรก็มีสะพานไม้ไปเท่านั้น ไชยาไม่มีรถยนต์ แล้วก็คนที่ศรัทธาท่านอาจารย์ ส่วนมากก็ลงจากสถานีรถไฟแล้วก็เดินไป ผมเห็นคำไว้อาลัยในหนังสือ ของคุณแม่ของคุณชำนาญ ลือประเสริฐ หรือ คุณเรียม สุโกศล หรืออะไร ผมจำไม่ค่อยได้เท่าไร ท่านยังเอาเลื่อนที่เอาลากข้าวให้ท่านเหล่านี้นั่งเลื่อนไป เพราะว่าทางเป็นเลน เป็นโคลน เป็นทางเดินของควายของอะไรต่างๆ ไปสวนโมกข์ท่านยังลากด้วยเลื่อนนี่ไป ด้วยความที่ว่าไปสวนโมกข์ลำบากสมัยนั้น” ภาพความพยายามของภิกษุผู้มุ่งมั่นและศรัทธาที่เข้มแข็งของชาวเมืองไชยาฉายชัดผ่านชุดข้อมูลในความทรงจำของ อรุณ เวชสุวรรณ ที่ทำให้คนไกลยุคได้มองเห็นถึงเส้นทางที่ไม่ง่ายนักในการก่อร่างสร้างสวนโมกข์ และมองเห็นความเป็นไปได้ที่การพัฒนาท้องถิ่นสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการเผยแผ่หลักธรรมในพุทธศาสนา 

202006 28 05

“ผมจะเข้ามาเล่นในสวนโมกข์อยู่ประจำ...มันมีหนังสือให้อ่านเยอะ”

นอกจากความพยายามในการจัดการพื้นที่ทางกายภาพอย่างการสร้างถนน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลที่สนใจในพุทธศาสนาได้มีโอกาสเข้ามายังสวนโมกข์แล้ว กระบวนการที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการเผยแผ่ธรรมะของพุทธทาสภิกขุ และคณะธรรมทานมูลนิธิซึ่งได้รับการดูแลโดย ธรรมทาส พานิช (น้องชายของพุทธทาสภิกขุ) ก็คือการเผยแผ่ความรู้ผ่านสื่อร่วมสมัยอย่างหนังสือ ซึ่ง อรุณ เวชสุวรรณ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากสื่อดังกล่าว

202006 28 06

“ผมก็มีโอกาสได้รับประโยชน์จากสวนโมกข์ คือตอนผมไปนอนไปเล่นบ้านพี่สาวผมที่อยู่ใกล้สวนโมกข์ ผมจะเข้ามาเล่นในสวนโมกข์อยู่ประจำ เพราะมันร่มรื่น และมันมีหนังสือให้อ่านเยอะ อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่าผมชอบอ่านหนังสือ ทีนี้ที่ศาลาโรงธรรม หนังสืออะไรที่เขาส่งมาให้ท่านอาจารย์ ท่านจะส่งมาให้ที่นั่นหมด แล้วจะเขียนไว้บนหนังสือว่า ประจำโต๊ะหนังสือ ทีนี้ผมก็ไปอ่าน อ่านเยอะก็ทำให้ได้รับความรู้ทางพุทธศาสนามากขึ้น อย่างหนังสือแนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน ผมอ่านตั้งแต่เป็นเด็กนะ หมายความว่าเรียนมัธยมอายุยัง ๑๕-๑๖ เอง อ่านหนังสือพวกโบราณคดีพวกนี้ แล้วก็หนังสือชาวพุทธ ของพุทธนิคมเชียงใหม่ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้เข้าใจพุทธศาสนาพอสมควร ในหนังสือเล่มนี้จะมีมุมคอลัมน์เกี่ยวกับเด็ก เป็นนิทานเป็นอะไรต่างๆ ชวนให้เด็กได้อ่านสนใจอยู่ หนังสือเล่มนี้ออกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ผมก็ได้รับประโยชน์คนหนึ่ง แล้วก็ยังไล่ติดตามไปถึงสวนพุทธธรรมที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นตอในการทำ ทางสวนพุทธธรรมที่เชียงใหม่นี่ก็ได้รับรูปแบบไปจากหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาของคณะธรรมทานอีกทีหนึ่ง” อรุณ เวชสุวรรณ เล่าถึงส่วนหนึ่งของความประทับใจที่เขาได้รับจากสวนโมกข์ในวัยเด็ก ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเลือกบวชหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และศึกษาต่อในเส้นทางนักธรรมบาลี โดยในระหว่างที่บวช อรุณ เวชสุวรรณ ก็มีโอกาสเขียนจดหมายถึง พุทธทาสภิกขุ และธรรมทาส พานิช ผู้ที่เขานับถือเป็นครูบาอาจารย์อยู่หลายฉบับ และแวะเวียนไปสวนโมกข์อยู่หลายครั้ง

 202006 28 07

อรุณ ให้ข้อมูลว่า “ผมบวชแล้วผมก็ไป แต่ผมก็ไม่แสดงตัวเท่าไรกับท่าน (พุทธทาสภิกขุ) แล้วตอนหลังผมก็เขียนจดหมายไปขออนุญาตที่จะพิมพ์หนังสือของท่าน ก็เขียนจดหมายไป ท่านอาจารย์พุทธทาสจะไม่เคยถามผมเลยว่า บ้านอยู่ที่ไหน ทำอะไร แต่ท่านจะไปถามผู้หลักผู้ใหญ่ในไชยาว่าผมเป็นใคร อย่างไรๆ ท่านรู้เกี่ยวกับผมละเอียด เพราะว่ามีญาติผมมีศักดิ์เป็นลุง เป็นสมาชิกสภาจังหวัด แต่ว่าอยู่เขตไชยา ชื่อกำนันล้ำ ศักดา กำนันล้ำจะไปที่สวนโมกข์ประจำ ท่านเป็นคนมีฝีมือทางการก่อสร้างแล้วก็ทางวาดลวดลาย อย่างวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุไชยา ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านก็ให้กำนันล้ำเป็นคนทำ เป็นคนวาดลวดลายทั้งหมด ท่านก็ถามจากกำนันล้ำ แล้วก็ถามจากครูทอง วัฒน์บุณย์ ครูทองนี่ก็เป็นญาติกับผม เขาก็รู้จักผมดี เวลาใครจะถามถึงผม เช่นว่า พระประชา ปสันนธัมโม (ประชา หุตานุวัตร ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงหนังสือ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ) ที่สัมภาษณ์ประวัติท่าน ถามว่านายอรุณเป็นใคร นายอรุณถึงมาทำหนังสือของท่าน ท่านก็บอกว่านายอรุณเป็นคนที่นั่นที่นี่ เขามีญาติพี่น้องอะไร ท่านรู้ (หัวเราะเล็กๆ ให้กับความทรงจำ) คนอื่นๆ ไปก็เหมือนกัน เช่น หมอปราณี (ปราณี คงวิเชียรวัฒนะ) ไม่ใช่หมอ เป็นนางพยาบาล แต่คนไชยาเขาจะเรียกหมอ เพราะว่าเป็นภรรยาของหมอประยูร (นพ.ประยูร คงวิเชียรวัฒนะ) เป็นสาธารณสุขจังหวัด ผมไปกราบท่านอาจารย์พุทธทาส เวลาผมลุกมาแล้วท่านก็ถามหมอปราณีว่า เนี่ยรู้จักเขาไหมคนนี้ หมอปราณีไม่ค่อยรู้จักผม ท่านก็อธิบายให้หมอปราณีฟัง นี่คนนี้เขาไปจากไชยาตั้งแต่เป็นเด็ก เขาเก่งนะ แต่ท่านไม่เคยยกย่องอะไรผมต่อหน้าเลยนะ แต่ลับหลังท่านบอกว่าเขาเก่งนะ เขามีความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านรู้จากคนภายนอกส่วนมาก นี่หมอปราณีท่านเล่าให้ผมฟังอีกทีหนึ่ง” 

202006 28 08

พุทธทาสภิกขุ เพลงกล่อมเด็ก และทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมของปักษ์ใต้ 

แม้จะมีโอกาสพบปะกับพุทธทาสภิกขุอยู่หลายครั้ง แต่เนื้อหาของการสนทนาส่วนใหญ่ที่ อรุณ ได้แลกเปลี่ยน มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมในเมืองไชยา ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกบทบาทหนึ่งของภิกษุนามพุทธทาสที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมในท้องถิ่น ดังที่ อรุณ ให้ข้อมูลว่า “ผมมีอยู่อย่างหนึ่งว่า สนทนากับท่านอาจารย์พุทธทาสเนี่ย ไม่เคยสนทนาธรรมะอะไรเลย เพราะผมถือว่าท่านสูงเกินไป เราปฏิบัติไม่ถึงท่าน ผมอาศัยศึกษาโดยการฟังเทป อ่านหนังสือ หรือไปฟังท่านบรรยายจริงเท่านั้น สิ่งที่สนทนากันมากที่สุดกับท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วท่านก็ให้ความรู้ เมตตาให้คำแนะนำผมมากก็คือ ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนในไชยา อย่างไรๆ ตรงไหนเป็นอย่างไร อะไรต่างๆ ท่านจะพูดเรื่องนี้เยอะ ให้ความรู้เยอะ” 

202006 28 09

ความสนใจในการจัดการหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นของภิกษุนามพุทธทาส ไม่เพียงจำกัดอยู่ในเรื่องของโบราณวัตถุ โบราณสถาน ดังปรากฏผ่านงานเขียนเรื่อง แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน เท่านั้น หากแต่ครั้งหนึ่งพุทธทาสภิกขุยังสนใจที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบทเพลงกล่อมลูกในท้องถิ่นภาคใต้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผ่านมุมมองของหลักธรรมในพุทธศาสนาและนำมาใช้เป็นสื่อการสอนได้อย่างน่าสนใจ 

อรุณ เวชสุวรรณ ได้ให้ข้อมูลในประเด็นนี้เอาไว้ว่า “เพราะว่าท่านมองเห็นคุณค่าของบทกวีเก่าๆ หรือเพลงกล่อมลูกเก่าๆ ในสมัยก่อน เช่นว่า ที่แพร่หลายมากก็เรื่อง มะพร้าวนาฬิเกร์ มะพร้าวนาฬิเกร์ที่กล่าวถึงนิพพาน ทีนี้ที่ไม่กล่าวถึงนิพพาน ที่กล่าวถึงเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีการสั่งสอนให้คนอยู่ในศีลธรรมอะไรต่างๆ มีอยู่ในบทกล่อมลูกเยอะเหมือนกัน แม้แต่ว่าการทำมาหากิน หรืออะไรพวกนี้ มันจะมีความรู้ด้านความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรมของคนสมัยนั้นอยู่ก็เยอะ สอนให้อยู่ในศีลในธรรมให้ประพฤติตัวอย่างไร ปักษ์ใต้จะมีของพวกนี้ จะมีอยู่ในบทกล่อมลูกแล้วก็หนังตะลุง มโนราห์ มีบทกลอนพวกนี้สอนอยู่

202006 28 10

 “ที่ท่านได้บันทึกไว้ ตอนหลังท่านอาจจะมอบให้ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ทีนี้อาจารย์รัญจวนท่านก็เอามาทำเป็นเทป ในเทปชุดนี้ของอาจารย์รัญจวน จะมีบทกล่อมของชาวบ้าน แล้วอาจารย์รัญจวนจะอธิบายอีกทีหนึ่งว่า หมายถึงอะไรๆๆ เทปนี้ผมก็มีอยู่เดี๋ยวนี้ แสดงว่าท่านเอาให้อาจารย์รัญจวนช่วยทำอีกทีหนึ่ง แล้วต้นฉบับนั่นอาจจะต้องมีอยู่ที่ไชยา หรือมีที่คนใดคนหนึ่งก็ได้ เพราะว่าส่งพระไปขอให้คนตามบ้านช่วยร้อง ช่วยอะไรให้ ยายผมก็มีโอกาสได้ร้อง” อรุณ อธิบายถึงผลงานส่วนหนึ่งในด้านการจัดการทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ภิกษุนามพุทธทาสได้เคยให้ความสนใจเพื่อใช้เป็นสื่อในการอธิบายธรรมะ 

20200628 01

จวบจนกระทั่งในปัจจุบันต้นมะพร้าวที่ยืนเด่นในสระนาฬิเกร์ของสวนโมกขพลาราม ก็ยังคงเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานยืนยันถึงความสามารถในการอ่านตีความและแปลความทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ให้แปรเปลี่ยนเป็นทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Cultural Heritage) ที่ผู้คนจำนวนมากสามารถใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้หลักธรรมขั้นสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของภิกษุนามพุทธทาสในด้านการจัดการทรัพยากรมรดกวัฒนธรรมผ่านทัศนธรรมในพุทธศาสนา

หนังสือธรรมะ ถึง ปรีดี พนมยงค์

นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการเผยแผ่พุทธศาสนา การรักษามรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น หากใครมีโอกาสได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ คงจะพอทราบว่าในช่วงก่อนบั้นปลายชีวิตพุทธทาสภิกขุเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ค่อนข้างสนใจในข่าวสารบ้านเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายหัวข้อธรรมะที่ยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในสังคมร่วมสมัย และอาจด้วยเหตุแห่งความสนใจในข้อมูลข่าวสารนี่เอง ที่ทำให้เมื่อท่านได้ทราบว่า อรุณ เวชสุวรรณ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ ณ ขณะนั้น ได้มีโอกาสเข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ ของประเทศไทย ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านจึงปรารถนาที่จะฝากหนังสือธรรมะไปให้ ซึ่ง อรุณ เวชสุวรรณ ได้เล่าถึงความประทับใจในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างบุคคลสำคัญของโลกทั้งสองท่านว่า 

หนังสือ - ธรรมะคู่ชีวิต กฎบัตรพุทธบริษัท + ซีดี - พุทธทาสภิกขุ

“ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่สนใจมากที่สุดคือ ตอนที่ผมไปสัมภาษณ์ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ฝรั่งเศส...ทีนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านบอกพี่ชายผมว่า ถ้าหากว่าผมจะไปปารีสอีก หรือติดต่อกับท่านปรีดีได้ ท่านจะขอฝากของบางอย่างไปให้ท่านปรีดี แล้วผมก็ไปเอาหนังสือที่ท่านเตรียมไว้ส่งให้ท่านปรีดี หลานของท่านปรีดีเป็นผู้จัดการ Air France ผมรู้จักเพราะว่าฝากหนังสือไปให้ท่าน แล้วท่านปรีดีอ่านหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสวันที่ท่านเสียชีวิตที่เก้าอี้นั่ง นั่นล่ะก็หนังสือของท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็ยังอยู่ที่ตัวท่าน (ปรีดี พนมยงค์) กฎบัตรของพุทธบริษัท หรืออะไรที่ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากไป แล้วผมก็ได้ส่งหนังสือนั้นไปให้ท่านอีกทีหนึ่ง” อรุณ ให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสองบุคคลสำคัญของโลก

202006 28 11

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับสวนโมกข์หลังการมรณภาพของพุทธทาสภิกขุ แม้ด้านหนึ่งนักเขียนสายเลือดไชยาจะแสดงความกังวลใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อคิดที่น่าสนใจว่า “ท่านอาจารย์พุทธทาสยังเคยพูดว่า เขาจะมาเสี่ยงเซียมซี ช่างเซียมซีไป อะไรต่างๆ คือท่านพูดถึงว่ามันไม่แน่นอน ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันว่า มันก็ไม่แน่นอน แต่เข้าใจว่าบรรดาคนที่ได้รับผลประโยชน์จากคำสอนของท่าน คงจะช่วยกันสืบปณิธานของท่านไว้ได้ไปอีกนาน” 

ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยศรัทธาพุทธทาสภิกขุผ่านภาพบุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก บ้างซาบซึ้งกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่เผยแผ่ผ่านงานเขียนและคำบรรยายที่กลั่นจากจุดบรรจบของหลักปริยัติและปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตลอดระยะเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลับได้ค้นพบอีกหลายๆ แง่มุมในวิถีธรรมดาๆ ของภิกษุนามพุทธทาส ที่ไม่ได้ตัดขาดตนเองออกจากความเป็นท้องถิ่น แต่ผลสัมฤทธิ์กลับสามารถรับรู้ได้ในระดับสากล

...เสียงสรรเสริญยินดีที่ปลายทางอาจเป็นประจักษ์พยานยืนยันความสำเร็จ แต่วิถีในการก้าวเดินแต่ละก้าวสู่ความสำเร็จคือหนทางที่นักแสวงหาจะได้ใช้เป็นแนวทาง...ขอขอบพระคุณอีกครั้งกับความทรงจำจากไชยา