เมื่อภิกษุเงื่อม ต้องดีลกับสัตว์มีพิษ (เรื่องที่ ๓\๙)

Share

งานจดหมายเหตุ,

๙ วัน ๙ เรื่อง ก้าวสู่ความเป็นพุทธทาส

เมื่อภิกษุเงื่อม ต้องดีลกับสัตว์มีพิษ (เรื่องที่ ๔/๙)

 

เราอยากชวนทุกคนย้อนเวลาไปตระพังจิก อ่าน ๙ เรื่อง ที่น่าจะมีส่วนฝึกฝนให้ภิกษุรูปหนึ่งก้าวเป็นพุทธทาส เขาเคยเป็นเด็ก เคยเป็นวัยรุ่น เคยอยู่กลางกรุง เคยอยู่กลางป่า เคยถูกมองว่าแปลก เคยโดนบูลลี่ เคยกลัว เคยทำตัวไม่ถูก เคยต้องอยู่ลำพัง เคยมีเพื่อนที่ถูกใจ เคยพลัดพราก เคยมีคน like unlike ฯลฯ อะไรทำให้เรื่องที่เข้ามาสู่เขาผ่านออกไปอย่างไม่หวน ไม่กลับมาเป็นปัญหาอีก และทั้งยังชำระจิตและปัญญาเขาให้สะอาดขึ้นทุกทีๆ ด้วย

เมื่อความกลัวบรรเทาลง ความเป็นอยู่ของภิกษุเงื่อมก็มีอีกรส -เพียวขึ้น วันนี้เราจะไปดูป่าตระพังจิกที่ปรากฏในเลนส์ตาของภิกษุผู้จางจากความกลัว และศึกษาวิธีดีลกับสัตว์มีพิษ คนที่จะเป็นพุทธทาสเขาฝึกและวางใจอย่างไร

“ในป่า ตอนเที่ยงวัน มีความสงัดตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนนกกระปูดจะมีหน้าที่เป็นผู้ให้สัญญาณระฆังพักผ่อน แล้วนกทุกตัวจับเจ่า บางตัวก็หลับเลย กระรอกอยู่นิ่งๆ ไก่ป่าก็กกแปลง สัตว์เล็กตามพื้นดินก็หลบตัวพักผ่อน ... ภิกษุผู้ไม่มีกังวลด้วยอาหารมื้อที่สองคือเพล ย่อมมีโอกาสหาความสุขได้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่ง

ในบางครั้ง เมื่อเรากำลังสงบอารมณ์กันอยู่เช่นนี้ มีเสียงกึกก้องเจี๊ยวจ๊าวดังขึ้นระงมไปหมด ซึ่งฉันเคยสังเกตรู้สึกว่า มันช่างเป็นเสียงที่แสดงให้ระวังอันตราย ... มีอันตรายมาจริงๆ คือมีนกใหญ่บางชนิดซึ่งเป็นตระกูลนกอินทรีได้ผ่านเข้ามา ... ที่สวนโมกข์เรามีกระรอกกว่า ๔๐ ตัว และนกเล็กๆ นานาชนิดนับไม่ถ้วน ไก่ป่าฝูงใหญ่เหล่านี้ทั้งหมดช่วยกันตะเบ็งเสียงเป็นที่บอกให้รู้กันอย่างทั่วถึง ให้ระวังอันตราย ...

ถ้าเหตุการณ์พิเศษเช่นนี้ไม่มี ก็จะเงียบสงัดไปจนถึงบ่าย จนกว่านกกะปูดจะให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง การเคลื่อนไหวค่อยมีขึ้นทีละตัวสองตัวจนเป็นป่าที่ตื่นอยู่ตามปรกติ

เดือนหงายแจ่มคืนหนึ่ง ดึกมากแล้ว ฉันตื่นขึ้นด้วยเสียงกั๊บๆ อยู่ใกล้ๆ ค่อยๆ ลุกนั่งฟังดูแหวกผ้าบังช่องหน้าต่างมองไปตามเสียงเห็นหมูป่าสี่ตัวด้วยกัน กำลังกินอะไรอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ในระยะห่างออกไปจากที่พักเพียง ๘-๙ เมตร ไม่เป็นภาพที่น่ากลัวเลย ...

กระจงแม่ลูกอ่อน นกคุ่มแม่ลูกอ่อน ซึ่งบางทีเดินตามกันเป็นหางเหล่านี้ เป็นสิ่งที่น่าเอ็นดูมาก ในตอนเย็นๆ นกบางชนิดร้องเหมือนแกล้งว่ามีทั้งกลางวันและกลางคืน บางตัวก็สวยมากจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของธรรมชาติล้วนๆ ...

สิ่งที่ชุกชุมทุกๆ คืนก็คือ ‘ยุง’ เหล่านี้แหละคือธรรมชาติที่ให้บทเรียนอันไม่รู้จักเบื่อ หลายอย่างหลายประการ”

ยุง

ในบันทึกรายวันวันหนึ่ง ภิกษุเงื่อมกล่าวถึงการอยู่ร่วมกับยุงในป่าตระพังจิกว่า “เมื่อกายรู้สึกเจ็บหรือคัน มักจะลูบหรือเกาไปถูกยุงหรือมด บอบช้ำไป แม้ไม่ตาย เนื่องแต่ก่อนๆ เคยตบมันทีเดียว ติดมาแต่เป็นฆราวาส, เพื่อชนะสงครามอันนี้ จึงมีการรบด้วยหลักว่า ‘ทำยุงตายหรือบอบช้ำไปหนึ่งตัวด้วยการสะเพร่าเช่นนั้นแล้ว จะให้ยุงกัดคราวหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตัว และไม่ต่ำกว่า ๒๐ นาทีในป่ารก’”

ตะขาบ

ช่วงวัยสนธยา พุทธทาสภิกขุเขียนในสมุดความคิดนึกชั่วขณะว่า “ฉันนอนกับตะขาบ ห้องนอนฉันสบายเกินไป เต็มไปด้วยอาหารของตะขาบ มันไม่มีทางไล่มันออกไป มันกัดฉันหลายหนแล้ว จนต้องมียาหม่องประจำ มันไม่ได้เป็นศัตรูกับฉัน มันแสวงหาที่สบายเหมือนฉัน”

เราทุกคนล้วนมีโอกาสพบฝูงยุงและตะขาบด้วยกันทั้งสิ้น แต่เราอาจปฏิบัติต่อฝูงยุงและตะขาบต่างกันไป ภิกษุเงื่อมและพุทธทาสภิกขุเลือกที่จะมอบความปลอดภัยให้แก่สัตว์รอบๆตัว ความปลอดภัยที่ค่อยๆแผ่ขยายมากขึ้นนี้อาจคือสิ่งทำให้ภิกษุรูปหนึ่งกลายเป็นพุทธทาส และเป็นพุทธทาสยิ่งๆขึ้น

ขอจบบทนี้ด้วยฉากป่ากลางคืน “กลางคืนทุกสิ่งทุกอย่างพากันหลับจริงหรือ” ภิกษุเงื่อมตอบว่า “ข้อนี้ไม่มีความจริงเลยแม้แต่น้อย จากการศึกษาด้วยธรรมชาตินั่นเอง เราจะรู้สึกว่ากลางคืนเสียอีกเป็นเวลาที่โลกตื่นที่สุด แต่ว่าเป็นความตื่นอย่างประณีตเหลือเกิน

เมื่อจะมองดูกันในแง่ของสัตว์นานาชนิดก็พบว่ามีสัตว์ที่ตื่นและทำงานไม่น้อยกว่ากลางวัน ... เว้นเสียแต่ ‘มนุษย์ของโลกและสัตว์บางประเภทเท่านั้นที่ดูเหมือนว่าหลับเอาเสียจริงๆ ส่วนมนุษย์ของธรรมนั้นกลางคืนเป็นเวลาที่ตื่นที่สุด...

สัตว์เล็กๆ บางชนิดตื่นอยู่อย่างแจ่มใส โดยเฉพาะปลวก กลางคืนว่องไวรวดเร็วยิ่งกว่ากลางวันเป็นอันมาก แต่มันจะเป็นสัตว์ของธรรมด้วยหรืออย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่มนุษย์ของโลกนั้นเป็นที่แน่นอนอย่างหนึ่งว่าในเวลากลางวันนั้นไม่ได้ตื่นอยู่ด้วยธรรมแล้ว ซ้ำกลางคืนก็ยังไม่ตื่นยิ่งขึ้นไปอีกด้วย”

ด้วยหูและตาของภิกษุเงื่อม ทำให้ฉันได้เห็นว่าป่าตื่นเป็นอย่างไร ผู้ที่จะเห็นป่าตื่นได้ก็คือคนผู้ตื่น ฉันคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะบิดขี้เกียจแล้วลุกมาสัมผัสธรรมะ ธรรมชาติ แบบท่านบ้าง อีกทั้งการปฏิบัติของท่านทำให้ฉันได้รู้ว่ามนุษย์กับธรรมชาติสามารถเป็นเกลอกันได้ เป็นหนึ่งเดียวกันได้ และเป็นหนึ่งเดียวกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่สุด

(อ้างอิง : สิบปีในสวนโมกข์, อนุทินปฏิบัติธรรม, ความคิดนึกชั่วขณะ ที่ต้องรีบบรรทึกไว้ก่อนแต่จะลืมเสีย)