๙ วัน ๙ เรื่อง ก้าวสู่ความเป็นพุทธทาส
มีอะไรในกุฏิภิกษุเงื่อม (เรื่องที่ ๕/๙)
บ้านของคฤหัสถ์ รวงรังของนก และกุฏิของสมณะดูคล้ายแต่ในภายในกลับต่าง, บ้านแม้ใหญ่ อุปกรณ์ภายในแน่น แต่ภายในยังส่งเสียงคล้ายว่าพร่อง , ส่วนนกสร้างรังจากหญ้า ขนาดรังพอๆกับตัว ภายในว่าง แต่กลับคล้ายว่าสมบูรณ์แล้ว, ส่วนกุฏิสมณะนั้นเป็นและควรเป็นเช่นไร เราจะไปศึกษาจากกุฏิภิกษุเงื่อมและภาวะในใจของท่านกัน
“ในขั้นแรกของการอยู่ที่นี่ฉันมีทรัพย์สมบัติแต่เพียงบาตร ๑ ใบ มีฝาทองเหลืองชนิดตักน้ำได้ กับถังตักน้ำเล็กๆ จากบ่อน้ำใบหนึ่ง และจีวรเท่าที่จำเป็นจะต้องมีเท่านั้น กับมีตะเกียงน้ำมันมะพร้าวทำด้วยแก้วที่ใช้ดื่มน้ำดวงหนึ่ง จุดที่หน้าพระพุทธรูปเป็นประจำ จะไปไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องปิดประตู ไม่ต้องใส่กุญแจ ไม่ต้องสั่งเสียใคร เพราะมีคนเดียว จะกลับมาเมื่อไรเวลาไหน ก็ไม่มีห่วงโดยทุกๆ ทาง ไม่มีอะไรที่จะต้องดูแลระวังรักษา ไม่มีเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบอย่างใดกะใคร รู้สึกว่ามีตัวเพียงตัวน้อยๆ และเป็นอิสระเหมือนนก ความคิดนึกเกลี้ยงเกลา ไม่คิดนึกอะไรเลยก็ได้ มีแต่ความเบาสบายซึ่งยากที่จะบอก และทำความพอใจให้เสมอไม่มีเบื่อ เหมือนดื่มน้ำที่จืดสนิทดี นับตั้งแต่เกิดมาเท่าที่จำได้ ไม่เคยมีความเบาสบายเหมือนไม่มีเนื้อมีตัวเหมือนเมื่อมาอยู่ตามแบบนี้เลย
“ต่อมามีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น เมื่อคิดออกหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ทำให้ต้องมีกระดาษ ดินสอ และหนังสือบางเล่ม ความรู้สึกในใจก็กระทบกันเป็นคราวๆ บางทีหนังสือนั้นยืมเขา จะไปไหนต้องเก็บ ต้องปิดหีบ ปิดประตู กระทั่งใส่กุญแจทิ้งไว้ กลับมายังเรียบร้อยดีอยู่ก็เบาใจ มีคราวหนึ่งไปธุระค้างคืน กลับมาทันขณะที่ปลวกขึ้นมาถึงกองหนังสือพอดี ... ถ้าปลวกกัดกินทำให้ของเขาชำรุดไป จะเป็นเรื่องยุ่งไม่น้อย และสมน้ำหน้าที่อุตริเป็นพระบ้าน ในเมื่อตนมีความเป็นอยู่อย่างพระป่า"
“เหล่านี้คือเรื่องที่ความคิดสองฝ่ายกระทบกันบ่อย จนบางครั้งจะเลิกล้มความคิดที่จะทำการเกี่ยวกับหนังสืออีกต่อไป"
“ในที่สุดความคิดทั้งสองฝ่ายก็รู้จักประนีประนอมกันไปเอง อันผลแห่งการประนีประนอมนั้น เนื่องมาจากการที่เคยพบความเป็นอยู่ที่เบาสบาย เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรนั้นอีกด้วยเหมือนกัน แม้ว่าความเป็นอยู่ที่ไร้สิ่งของจะทำให้พบความเบาสบายชนิดใหม่ขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นความรู้อีกอันหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า สิ่งนั้นเกิดมาจากการเสียสละและไม่ยึดถือ ‘ความไม่ยึดถือนั้นนอกจากจะเกิดจากการไม่มีอะไรจะยึดถือแล้ว ยังเกิดมาจากการที่เราไม่ยึดถืออีกส่วนหนึ่งด้วย แม้จะมีอะไรเป็นสมบัติของตนอยู่ก็ตาม’
"ฉะนั้น การที่จะมีอะไรบ้าง เท่าที่จำเป็นแก่การที่จะบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นให้กว้างขวางออกไป โดยตนไม่ต้องยึดถือไว้เป็นเครื่องหนักใจนั้น จะเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าลองดู"
(อ้างอิง : สิบปีในสวนโมกข์)
เพิ่มเติม https://www.youtube.com/watch?v=MUAfYgT0Epc&t=26s