การติดโรคเป็นเพราะผลกรรมแต่ปางก่อนหรือ? โดย พุทธทาสภิกขุ

Share

งานจดหมายเหตุ,

20191229j  

ถาม มนุษย์ที่ได้รับโรคภัยไข้เจ็บชนิดที่ร้ายแรง เช่น โรคติดต่อ มีอหิวาต์ เหล่านี้ จะเป็นเพราะกรรมของเขาในชาติก่อนหรือไม่

ถ้าหากมนุษย์คนนั้นๆ ไม่เคยทำกรรมที่จะเป็นเหตุให้เป็นโรคติดต่อ สมมติในปัจจุบัน คน ๆ นั้นอยู่ในหมู่ชนที่เป็นโรคติดต่ออาศัยอยู่รวมด้วยและไม่ได้ฉีดยาป้องกัน เขาจะเป็นโรคไปด้วยกับชนเหล่านั้นหรือไม่?

ตอบ คำที่ว่า ภาวะอะไรๆ ที่สัตว์โลกเป็นไป ย่อมเป็นไปตามกรรมของเขาเอง นั้นเป็นคำที่กว้างมาก คือ กว้างจนไม่มีโอกาสจะผิดได้เลย แต่คนเรามักจะมีความสงสัยตั้งขึ้นในวงจำกัดเฉพาะ แล้วเอาเข้าไปปรับกับความหมายวงใหญ่ทั่วไป ผิดฝาผิดตัวกันอยู่เลยระงับความสงสัยไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ปัญหานี้ ถามเป็นใจความว่า "ไม่มีกรรมทำไว้สำหรับจะเป็นโรค แต่โรคระบาดเกิดในที่นั้น ตนเกิดเป็นโรคขึ้น จะมิผิดกฎแห่งกรรมไปหรือ หรือ ว่าเขา(ควร)จะไม่เป็น(โรค)"

เราพอจะตอบได้ก่อนว่า ตามธรรมดาเขาจะต้องเป็น(โรค)และการที่เขาต้องพลอยเป็นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่ความผิดของเขาโดยตรงนั้น เป็นเพราะเขาได้ทำกรรมมหึมาเอาไว้ คือ กรรมที่ทำให้เขาต้องเวียนมาเกิดในโลกอันที่เป็นอยู่ของโรคติดต่อและอื่น ๆ อีกมาก

กรรมลงโทษให้เขาต้องผจญกับโลกซึ่งมีโรคติดต่อและอื่นๆ เพราะฉะนั้น การผจญของเขาทุกประการ จัดว่าเป็นการรับผลกรรมของเขา

ทีนี้ จะชี้ให้เห็นตามที่ว่ามาแล้วข้างต้น คือ ที่เราคิดไปว่ากรรมมีเป็นราย ๆ เฉพาะ เช่น กรรมสำหรับเจ็บไข้ตามธรรมดา กรรมสำหรับจะเป็นโรคติดต่อ กรรมสำหรับจะต้องตายด้วยไฟ ด้วยน้ำ ฯลฯ เป็นคู่ๆ อยู่เสมอ

แล้วความสงสัยก็เกิดขึ้นว่า คนที่ไม่ได้ทำกรรมสำหรับอหิวาต์ เมื่อมาอยู่ในหมู่คนที่เป็น ก็ต้องไม่เป็นสิ หรือถ้าเกิดเป็นเรื่องกรรมก็เป็นหลักเลื่อนลอย

จริงอยู่ที่เราอ่านพบข้อความในคัมภีร์ บอกผลของกรรมเป็นคู่ๆ ในรูปที่มองเห็นได้ชัดๆ จนเดาได้ว่า กรรมนั้นจะให้ผลเช่นนั้นๆ เช่น เคยบิดขานกชาติก่อน ชาตินี้จะต้องถูกรถทับเป็นทำนองนั้น แต่มีเหตุผลอื่นแสดงว่านั่นไม่ใช่หลักทั่วไป เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงไปได้แนวหนึ่งสายหนึ่งต่างหาก แต่ไม่มีอำนาจที่จะหักล้างแนวใหญ่หรือแนวที่เป็นประธานคือ แนวที่ว่าเมื่อทำกรรมอันเป็นเหตุให้เวียนไปในภพใหม่ ชาติใหม่แล้ว ก็ต้องได้รับทุกสิ่งที่เป็นสมบัติประจำภพนั้น ๆ ด้วย มิฉะนั้น คำว่าภพใหม่หรือชาติใหม่ก็จะไร้ความหมาย

เช่นในภพนี้มีผีสำหรับหลอกคนให้กลัว ถ้าเราต้องเกิดในภพนี้เพราะกรรมของเรา เราก็ต้องทนรับเรื่องผีหลอกอยู่ในตัว อย่างจะหลีกไม่ได้เรื่อยไป จนกว่าจะข้ามภพหรืออกจากภพได้ เช่น เป็นพระอรหันต์ มีจิตใจอยู่เหนือภพ แล้วกรรมนั้น ๆ ก็ตามขึ้นไปไม่ถึงและไม่มี “ตัว” ให้ผีหลอกด้วย

20200406 04

เราจงคิดดูเถิดในภพนี้มีสิ่งร้ายแรงไปกว่าโรคระบาด เช่น อหิวาต์ เป็นต้น อีกมากมายนัก มากจนเปรียบกันไม่ได้ และยังมีสิ่งเสียหายที่ร้ายไปกว่าการเป็นโรคชนิดนั้นหลายร้อยหลายพันเท่า คือ การเสียหายเพราะถูกกิเลสลูบทาเอา แล้วเราจะไปสนใจอะไรกับการที่จะต้องพลอยเป็นอหิวาต์กะเขา หรือ จะถูกผีหลอก เพราะว่าสิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นหลายร้อยเท่า กำลังเล่นงานเราอยู่ทุกขณะจิต

เช่นเดียวกับถ้าเราเป็นฝีชนิดร้ายที่คอหรือในท้อง เราไม่เอาใจใส่กับแผลยุงกัด เพราะเมื่อเราถอนตัวออกจากภพได้แล้ว อะไร ๆ ก็ไม่เกิดมีแก่เราเลย นอกจากความพ้นทุกข์อย่างเดียว

เมื่อเรากำลังอยู่ในภพ เราก็ต้องสนใจเรื่องที่จะออกไปจากภพ หรือ คิดขจัดภัยจากกิเลสซึ่งร้ายกว่าภัยจากอหิวาต์หรือผีหลอกเป็นอย่างน้อย เพราะว่านั่นแหละคือตัวกรรมใหญ่หรือกรรมอันเป็นประธานที่จะทำให้ต้องมายังภพนี้ ซึ่งมีอหิวาต์ ผี และอื่น ๆ

เป็นอันกล่าวได้ว่า การที่พลอยเป็นอหิวาต์หรือพบผีหลอกนั้น ถ้ามิใช่เพราะเป็นผลของกรรมปลีกย่อย ที่มีรูปร่างคล้ายๆ นั้นอยู่แล้วโดยเฉพาะ ก็ต้องเป็นเพราะผลกรรมใหญ่ กรรมประธาน คือ กรรมที่ทำให้เวียนมายังภพนี้ ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการตอบหรือการถือว่าอะไรๆ เป็นไปตามกรรมนั้นไม่มีทางจะผิดไปได้เลย

แม้จะมีหลักในที่บางแห่งว่า สุขหรือทุกข์ มิใช่จะเป็นเพราะกรรมเสียทุกอย่างไป คือ เป็นไปเองหรือพลอยเป็นกะเขาก็มี เช่น ถ้าเราต้องถูกแดดหรือฝนโดยบังเอิญแล้วเป็นหวัด หรือเราพลอยเป็นโรคติดต่อกับเขา นี่ก็มิได้หมายความว่าได้ปฏิเสธกรรมสายใหญ่ หรือ กรรมประธานที่เป็นเหตุให้ต้องเกิดมาในภพนั้นเลย คงหมายแต่เพียงว่าไม่ใช่เพราะกรรมปลีกย่อยโดยเฉพาะที่มีรูปร่างคล้ายๆ กันเป็นคู่ๆ กันอยู่เท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อจะต้องตอบปัญหานี้ เราต้องจำกัดความกันเสียก่อนว่า หมายถึงกรรมประเภทไหน คือ กรรมปลีกย่อยเฉพาะ หรือกรรมอันเป็นประธาน และเราควรสนใจกรรมอันเป็นประธานกันให้มาก ๆ หน่อย เรื่องจะดีเร็วขึ้น เรื่องกรรมปลีกย่อยนั้นหยุมหยิม จนอาจทำให้เวียนหัว แล้วก็ทำให้ไม่อยากศึกษาหรือสนใจอีก

ที่มา ธรรมวิสัชนา (จดหมายในสวนโมกข์) พุทธทาสภิกขุ น้อมถวายเป็นอาจริยบูชา พุทธทาสรำลึก ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๒