พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ สุเกียรติ จิยางกูร (ยู่เหี้ยน แซ่เจี่ย)

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ สุเกียรติ จิยางกูร (ยู่เหี้ยน แซ่เจี่ย)

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒

“ถ้าลุงหลวงมีอะไรก็บอกมา แล้วผมก็มาทันที”

 20200406 00

  ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ youtu.be/HN5fV_SNxTU

หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อสะท้อนความผูกพันระหว่างภิกษุนามพุทธทาสกับผู้คนในท้องถิ่นไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงขออนุญาตที่จะคงคำว่า ‘แก’ ที่ผู้ให้สัมภาษณ์ใช้กล่าวถึง ‘พุทธทาสภิกขุ’ เพื่ออรรถรสที่สัมพันธ์กับธรรมชาติแห่งบริบทอย่างครบถ้วน

...ผมเรียกแก (พุทธทาสภิกขุ) ว่า ลุงหลวงๆ ท่านมีอะไรก็เรียกใช้อยู่เป็นประจำ จะสร้างโรงหนัง (โรงมหรสพทางวิญญาณ) ก็เรียกมาว่า เราจะสร้างอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มาช่วยกัน แล้วเวลาท่านต้องการของอะไร สมัยก่อนไปมาไม่สะดวก ท่านก็เขียนหนังสือให้เด็กเอาไปให้ที่ตลาด บอกวันนี้ต้องการข้าวสารกระสอบหนึ่ง ต้องการน้ำตาลทรายกระสอบ ผมก็เอาใส่รถบรรทุกมาส่ง...

20200406 04

แล้วสมัยก่อนผมก็มีรถจี๊ป ท่านจะไปไหนก็ให้เด็กเอาหนังสือไป บอกว่า (พูดเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้) ‘เอ้า...เราจะไปนู้น เธอมารับไปนี่’ เคยไปวัดถ้ำสิงขร ไปดูวัดที่นั่น แล้วก็ไปตอนที่เขาสร้างเขื่อนก็มารับไปดู ท่านก็ไปดู เขาสร้างเขื่อนใหม่ๆ แล้วตอนนั้นมีโรงพักที่พุนพิน ที่เขาศรีวิชัย (สุราษฎร์ธานี) เขาได้พระอะไรไม่รู้แหละ เขาก็มาบอกท่านท่านก็ไปดู เราก็พาไป ท่านจะไปไหนตอนนั้นที่วัดไม่มีรถนี่ เอ้า...ไป ก็ไปกัน (หัวเราะ)

สนิทกันมากแหละ แล้วก็รักมาก แล้วพอมีลูกๆ พอลูกๆ มาวัด ท่านก็พาเที่ยวเดินในวัด แล้วก็สอนอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนั้นเมื่อก่อนมาเจอกันบ่อย แต่ว่าท่านบอกว่า (พูดเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้) ‘เธอ...วันพระวันไร เข้าวัดบ้างดีหวา (ดีกว่า)’ ผมบอกว่า ผมไม่แน่หรอกมันไม่ว่างบางที อย่างพวกฝรั่งเขายังมีวันเข้าไปโบสถ์กัน ผมบอกไม่ได้หรอกอย่างนั้น (หัวเราะ) ถ้าลุงหลวงมีอะไรก็บอกมา แล้วผมก็มาทันที” รอยยิ้มและเสียงหัวเราะปรากฏบนใบหน้าของ สุเกียรติ จิยางกูร (ยู่เหี้ยน แซ่เจี่ย) โยมอุปัฏฐากคนสำคัญ เมื่อได้เล่าถึงความทรงจำที่มีต่อ พุทธทาสภิกขุ

ยู่เหี้ยน แซ่เจี่ย กับความทรงจำจากบ้านฝั่งตรงข้าม ธรรมทาส พานิช (น้องชายของพุทธทาสภิกขุ)

20200406 01

เสียงจั๊กจั่นบรรเลงแทรกบรรยากาศธรรมชาติของ สวนโมกข์ ไชยา ที่ยังคงชุ่มชื้นด้วยเงาของต้นไม้ใหญ่ ฝั่งตรงข้ามม้านั่งที่ว่างเปล่าซึ่งมีป้ายติดตั้งระบุข้อความ ‘ม้าหิน ที่นั่งประจำของพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) สำหรับนั่ง บรรยายธรรม รับแขก’ คือร่างของชายไทยเชื้อสายจีนวัย ๘๘ ปี ที่ผู้คนในท้องถิ่นเรียกขานกันในนาม ‘ยู่เหี้ยน’ ซึ่งต่อมาจะได้รับการตั้งชื่อและนามสกุลใหม่จากภิกษุนามพุทธทาสว่า สุเกียรติ จิยางกูร “ผมชื่อ สุเกียรติ จิยางกูร เดิมชื่อ ยู่เหี้ยน แซ่เจี่ย อายุ ๘๘ ปี เกิดที่ไชยานี่แหละ พ่อแม่ทำอาชีพค้าขาย มีพี่น้อง ๒ คน มีพี่สาวคนหนึ่งแล้วก็มีผม ผมมีครอบครัวมีลูก ๑๐ คน” รอยยิ้มแห่งความเมตตาปรากฏชัด เมื่อ สุเกียรติ แนะนำตัวกับโครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า ก่อนอธิบายถึงสภาพแวดล้อมของเมืองไชยาจากความทรงจำต่อไปว่า

20200406 03

“เมื่อก่อนไชยาไม่เจริญเลย เป็นถนนดิน แล้วก็มีถนนมาพ้นพระธาตุ (วัดพระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี) หน่อย ในตลาดก็เป็นถนนดิน บ้านก็น้อย ในตลาดก็ค้าขาย ข้างนอกก็ทำนา สมัยก่อนนะ...ครั้งแรกครูธรรมทาส (ธรรมทาส พานิช) แกมาซื้อบ้านอยู่ตรงข้ามกัน แล้วก็เหมือนกับญาติกัน ก็ไปมาหาสู่กัน พอแกเปิดโรงเรียน (โรงเรียนพุทธนิคม) ก็ไปเรียน เรียนอยู่สัก ๒ ปี เขาบอกว่า อายุครบเกณฑ์เรียนประชาบาลแล้ว ก็เลยไปเรียนโรงเรียนประชาบาลที่วัดพระบรมธาตุไชยา สมัยก่อนมันต้องเดิน เดินจากตลาดมาวัดพระบรมธาตุไชยา เด็กๆ ก็มากันกับครูสิริ (สิริ พานิช บุตรชายคนโตของ ธรรมทาส พานิช) ๒ คน ก็เดินมาเรียน...กับครูสิริ ก็รู้จักกันมาตั้งแต่นั่นแหละ สนิทกันมาก ไปมาหาสู่กัน มีอะไรก็อุปถัมภ์กัน ช่วยเหลือกัน ไม่ถึง ๑๐ ขวบกระมังที่รู้จักกันกับครูสิริ” ข้อมูลจาก สุเกียรติ จิยางกูร ฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์กับครอบครัว พานิช ที่กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้เขาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา  

20200406 02

สุเกียรติ เล่าต่อไปว่า “ตอนแรกท่านพุทธทาส แกอยู่พุมเรียงก็ไม่รู้จัก แล้วพอแกย้ายมาตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แกย้ายมาอยู่ที่วัดชยารามก่อน ครูสิริเขาก็พาไปหา ไปเจอกันก็รู้จัก แล้วที่สวนโมกข์นี่ก็เป็นสวนของหลวงพรหมปัญญา เขาขายให้อาจารย์พุทธทาส แล้วแกก็ซื้อแล้วก็ทำสวนโมกข์ แต่ก่อนจะได้มาตอนนั้นแกก็ยังอยู่ที่นั่นแหละ (วัดชยาราม) ตอนหลังแกก็ย้ายมาอยู่นี่ มาแรกที่สุดก็อยู่กุฏิที่อยู่ข้างหน้านั่นแหละ ขนย้ายมานะ ใช้คนขนมาหามมาจากพุมเรียงเอามาตั้งแล้วแกก็อยู่ที่นั่น อันนี้เพิ่งสร้างที่หลัง ตอนผมโตแล้ว” สุเกียรติ ให้ข้อมูลพร้อมชี้นิ้วอธิบายไปที่ตัวอาคารซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของผู้บันทึกข้อมูล

20191229p

“แกบอกว่าไม่ได้ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม” สวนโมกข์ ไชยา จากพลังของชุมชนท้องถิ่น

แม้ไม่อาจปฏิเสธความสำคัญจากผู้คนต่างทิศต่างถิ่นที่มีส่วนช่วยให้แนวทางการเผยแผ่ธรรมะแบบพุทธทาสภิกขุขจรขจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ข้อมูลอีกด้านที่ไม่ควรถูกละเลยก็คือ พลังของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นรากฐานสำคัญในการก่อตั้ง สวนโมกข์ ไชยา และเป็นสิ่งที่ภิกษุนามพุทธทาสเล็งเห็นมาตั้งแต่ต้น ดังข้อมูลจากความทรงจำของ สุเกียรติ ที่อธิบายไว้อย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับช่วงเวลาของการสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณว่า

20200406 05

“ตอนย้ายกุฏิหลังแรกผมยังเด็กๆ ผมไม่ได้ช่วยหรอก ผมมาช่วยตอนหลังนี่แหละตอนที่ท่านมาอยู่ที่สวนโมกข์แล้ว ท่านบอกว่า (พูดเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้) ‘เฮ้ย! ยู่เหี้ยน เราจะทำโรงหนัง พวกเธอต้องมาช่วยนะ’ ก็มาช่วยกัน”

สุเกียรติ เล่าต่อไปว่า “ตอนแรกแกบอกว่าจะต้องเอาหิน เอาทราย เตรียมให้พร้อมก่อนแล้วค่อยสร้าง ก็ขนทรายกัน มานอนที่ใต้กุฏินั่นแหละมานอนอยู่ ตอนนั้นมีรถบรรทุกกระบะไม้ของพรรคพวกกันก็เอามาแล้วก็มานอนที่สวนโมกข์ เช้าก็ตื่น แล้วก็พาไปขนที่ปากด่าน มีคลองตรงนั้น ไปขนทราย แกบอกให้เอามากองไว้ เอามากองตรงนี้ (ชี้ไปทางด้านลานหินโค้ง) เอาทรายมากองกัน ขนอยู่หลายวัน แล้วก็นอนนี่ เช้าก็ตื่นขึ้นมาก็กินที่โรงครัว ตอนนั้นโรงครัวก็มีกระต๊อบเป็นหลังคามุงจาก ก็มีป้าเส้ ทำกับข้าว หุงข้าวให้กิน ท่านพุทธทาสก็บอกว่า (พูดเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้) ‘วัดเราไม่มีไร กินซะปลาป๋อง’ กินข้าวต้มกับปลากระป๋องกัน ตอนนั้นนะ แล้วก็อยู่กันมา

20200406 06

20200406 14

“พอดีตอนกำลังจะทำ มี พันเอกสาลี่ ปาละกูล (อดีตหัวหน้ากองการวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น – กองการสื่อสาร กรมทหารสื่อสารในปัจจุบัน) บวชและจะมาจำพรรษาที่นี่ เขามาอยู่ที่นี่ก็คุยกับท่านอาจารย์พุทธทาส พันเอกสาลี่ ก็บอกว่า ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้สร้างง่ายหรอก แกบอกว่าสร้างไปเลย แล้วแกก็ไปออกอากาศ พันเอกสาลี่แกเป็นทหารทำวิทยุน่ะ แกก็เลยเอาไปออกอากาศว่าที่สวนโมกข์จะสร้าง คนก็มาบริจาคกันก็ได้สร้าง แล้วพันเอกสาลี่ก็พาช่างพาทหารมาอยู่ มีรถเกลี่ยดิน มีรถไถนามาคันหนึ่ง มีรถกระบะลากไปขนอะไรต่ออะไร แล้วท่านพุทธทาสก็ไปซื้อหิน

20200406 09

20200406 15

สมัยนั้นมีโรงโม่หินอยู่ที่ควนหินมุ้ย (อ.หลังสวน จ.ชุมพร) แล้วก็ไปเอาหินที่นั่นน่ะมา ขนมากับรถไฟเป็นขบวนแหละมาลงที่สถานีไชยา แล้วเวลาขนก็ขนใส่กระบะ แล้วตอนนั้นมีพัสดี ชื่อพัสดี บุญส่ง อุทัยรัตน์ เป็นพัสดีอยู่ที่นี่ แกก็เอานักโทษไปช่วยขนหินใส่รถนั่นลากมากอง แล้วก็เริ่มลงมือสร้างกัน ก็ได้เริ่มสร้าง ทีนี้เวลาสร้างมีคนมาบอกว่าจะถวายไอ้นั่นไอ้นี่ แกบอกว่าไม่ได้ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เวลาสร้างจะมีชาวบ้านมา วันนี้ตำบลนี้ วันนี้หมู่บ้านนี้มากัน เช้าก็มาแล้วก็มาช่วย ผสมปูนช่วยสร้างกันจนเสร็จ ผมก็เกือบจะอยู่ในวัดเลยนั่นแหละ” สุเกียรติ บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับการสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณเคล้าเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

20200406 08

 

“ผมเรียกแกว่า ลุงหลวง...ถ้าลุงหลวงมีอะไรก็บอกมาแล้วผมก็มาทันที”

ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยยกพุทธทาสภิกขุให้ลอยเด่นด้วยศรัทธา แต่ข้อมูลจากความทรงจำของ สุเกียรติ จิยางกูร กลับเผยให้เห็นแง่งามของความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ของภิกษุนามพุทธทาส ที่ควรเป็นตัวอย่างให้คนทั่วไปได้มั่นใจในพลังของความเป็นมนุษย์ที่สามารถใช้แนวทางของพุทธศาสนายืนหยัดอยู่ในสังคมด้วยสภาวธรรมอันเป็นปกติ

20200406 12

20200406 17

 

“ท่านก็ไม่ได้สอนอะไร แต่ว่าเราก็ปฏิบัติแบบที่ว่า แกก็รักเหมือนกับหลานคนหนึ่งแหละ ผมเรียกแกว่า ลุงหลวงๆ...ท่านมีอะไรก็เรียกใช้อยู่เป็นประจำ จะสร้างโรงหนังก็เรียกมาว่าเราจะสร้างอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มาช่วยกัน แล้วเวลาท่านต้องการของอะไร สมัยก่อนไปมาไม่สะดวก ท่านก็เขียนหนังสือให้เด็กเอาไปให้ที่ตลาด บอกวันนี้ต้องการข้าวสารกระสอบหนึ่ง ต้องการน้ำตาลทรายกระสอบ ผมก็เอาใส่รถบรรทุกมาส่ง...

 

ผมไปซื้อ ท่านก็ให้ซื้อแล้วจดบัญชีไว้ แล้วพอถึงเวลาท่านบอกว่า เฮ้ย! (พูดเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้) ‘ข้าวเท่าไหร่แล้ว เอาบัญชีมาแลที’ เราก็เอาหนังสือมา ท่านก็เอาเงินตอนนั้นเป็นมัดๆ นะ ใส่ซอง มัดๆ โยน ‘เอ้า...เธอนับแล เธอทำให้นั่นๆ เดี๋ยวเราขี้คร้านไปเป็นนั่นกับยมบาล’ (หัวเราะ) เราก็ทำมาให้แล้วก็นับเงิน แกก็ให้เรานับเองนะ นับ ‘เอ้า...เธอรับไปเท่าไหร่’ เราก็เซ็นให้ท่านไว้ ทำอย่างนี้ประจำเลย...แต่ตอนหลัง ครูสิริมาบอกท่านว่า (พูดเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้) ‘ลุงหลวงอะ ไอ้เหี้ยนมันไม่ใช่มันมีตังค์ ถ้าลุงหลวงมีก็ให้มันไปก่อนบ้าง’” สุเกียรติ หัวเราะอย่างอารมณ์ดีกับความทรงจำ ก่อนเล่าต่อไปว่า “ทีหลังท่านก็มีก็ ‘เอ้า! เอาไปก่อน’ รับไปเท่าไหร่ แล้วก็ทำ เอ้า! ถึงเวลา ‘เธอ พันพรือ (เป็นอย่างไร) ค้างอยู่เท่าไหร่ เอามา’ ทำอย่างนี้ตั้งนาน” ความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุเรียบง่ายแต่ฉายชัดในแววตาและน้ำเสียงของชายวัย ๘๘ ปี

20200406 11

สุเกียรติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพุทธทาสภิกขุ ที่เขาเรียกขานว่า ‘ลุงหลวง’ ต่อไปว่า “แล้วสมัยก่อนผมก็มีรถจี๊ป ท่านจะไปไหนก็ให้เด็กเอาหนังสือไป บอกว่า ‘เอ้า...เราจะไปนู้น เธอมารับไปนี่’ เคยไปวัดถ้ำสิงขร ไปดูวัดที่นั่น แล้วก็ไปตอนที่เขาสร้างเขื่อนก็มารับไปดู ท่านก็ไปดู เขาสร้างเขื่อนใหม่ๆ นะ แล้วก็ตอนนั้นมีโรงพักที่พุนพิน ที่เขาศรีวิชัย เขาได้พระอะไรไม่รู้แหละ เขาก็มาบอกท่านท่านก็ไปดู เราก็พาไป

20200406 10

ท่านจะไปไหนตอนนั้นที่วัดไม่มีรถนี่ เอ้า...ไป ก็ไปกัน (หัวเราะ) สนิทกันมากแหละ แล้วก็รักมาก แล้วพอมีลูกๆ พอลูกๆ มาวัด ท่านก็พาเที่ยวเดินในวัด แล้วก็สอนอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนั้นเมื่อก่อนมาเจอกันบ่อย แต่ว่าท่านบอกว่า ‘เธอ...วันพระวันไร เข้าวัดบ้างดีหวา (ดีกว่า)’ ผมบอกว่า ผมไม่แน่หรอกมันไม่ว่างบางที อย่างพวกฝรั่งเขายังมีวันเข้าไปโบสถ์กัน ผมบอกไม่ได้หรอกอย่างนั้น (หัวเราะ) ถ้าลุงหลวงมีอะไรก็บอกมา แล้วผมก็มาทันที”

ใบตงนามสกล จยางกร 001

ใบตั้งนามสกุล จิยางกูร

  

‘จิยางกูร’ ของขวัญจาก พุทธทาสภิกขุ

นอกจากความสัมพันธ์ที่สะท้อนผ่านความทรงจำ อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง สุเกียรติ จิยางกูร กับภิกษุนามพุทธทาสก็คือ นามสกุล ‘จิยางกูร’ ที่พุทธทาสภิกขุได้ตั้งให้ สุเกียรติ อธิบายถึงที่มาที่ไปของนามสกุลของเขาว่า “แล้วก็นามสกุลผม (จิยางกูร) นี่ก็ท่านตั้งให้ ลูกหลานผมเนี่ยท่านตั้งชื่อ นามสกุลให้เกือบจะทั้งนั้นแหละ

ใบตงนามสกล จยางกร 002

ใบตั้งนามสกุล จิยางกูร

เขาเล่าต่อไปว่า “ผมก็มาบอกว่าจะขอให้ตั้งนามสกุล ท่านก็ถามว่าแซ่อะไร บอกแซ่เจี่ย แล้วท่านก็ตั้งให้ แต่ว่ากว่าจะได้นะ เมื่อก่อนแกไม่ค่อยตั้งให้ใคร ลูกคนโตของผมเนี่ย ขอชื่อให้แกตั้งนะ โอ๊ย! ตั้งหลายปีกว่าจะได้ แกบอก ‘เราขี้คร้านแล้ว เดี๋ยวคนนั้นมาขอ คนนี้มาขอ’ (หัวเราะ) ท่านไปอินเดียแล้วก็กลับจากอินเดีย ยังไม่ได้ตั้ง ก็ต้องมาขอก็ตั้งให้ แต่ตอนหลังเนี่ยท่านก็เริ่มตั้งให้คนนั้นคนนี้แหละ ลูกหลานก็มา ผมลูก ๕ คนแรกแกตั้งให้ทั้งนั้น พอคนต่อไปผมไม่กล้ามาขอแกแล้ว (หัวเราะอย่างอารมณ์ดีกับความทรงจำ) แต่ว่าหลานนี่แกตั้งให้เกือบทั้งนั้น หลาน ๒๖ คน ตั้งให้ไม่หมดหรอก  สมัยก่อนตั้งชื่อให้แล้วก็จะเขียนใส่รูป แล้วก็เขียนบอกว่า ชื่อนั้น ชื่อนี้ ขอให้มีอะไรๆ แล้วก็บอกว่า มีความหมายอย่างไร เขียนให้”

ใบตงชอปรากฏรายชอบตรของ สเกยรต จยางกร 001

ใบตั้งชื่อปรากฏรายชื่อบุตรของ สุเกียรติ จิยางกูร

อีกหนึ่งหลักฐานสายสัมพันธ์ระหว่าง ครอบครัวจิยางกูร กับภิกษุนามพุทธทาส ก็คือ ฮวงซุ้ย เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของสวนโมกข์ ไชยา “ฮวงซุ้ยเนี่ย ตอนนั้นนานแล้วล่ะ อากงอาม่าเนี่ย เอาศพไปบรรจุอยู่ที่วัดชยาราม แล้วเจ้าอาวาสวัดชยาราม อาจารย์ธน (พระครูสุธนธรรมสาร (ธน จนฺทโชโต)) แกบอกว่าให้รื้อเพราะว่าแกจะใช้เนื้อที่ ผมก็ไปรื้อแล้วก็เผา พอเวลาเผาก็มานิมนต์ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ไปเทศน์ ท่านไปเทศน์เสร็จ ท่านก็บอกว่า ‘เธอ เผาศพแล้วนี่ ถอดผ้าป่าหรือเปล่า’ เราก็บอก ‘ไม่รู้’ แกบอก ‘เอา’ แกก็เอาผ้าที่เราถวาย ‘เอ้า...เราทำบุญด้วย ไปถอดผ้าป่าวัดไหนก็ได้’

ใบตงชอปรากฏรายชอบตรของ สเกยรต จยางกร 002

ใบตั้งชื่อปรากฏรายชื่อบุตรของ สุเกียรติ จิยางกูร

ผมก็ไปทอดผ้าป่า แล้วแกบอกว่า ‘แล้วจะเอากระดูกไว้ไหนล่ะ’ ผมก็บอก ‘ยังไม่รู้เหมือนกัน’ แกบอกว่า ‘เออ...ไปทำแถวสวนโมกข์ละกันนะ เราหาที่ให้’ แล้วแกก็ให้ที่ตรงนั้นแหละไปทำ แต่ว่าให้ทำเป็นอย่างนั้นๆ...แกบอกว่าทำแล้วจะได้ให้พระไปอยู่ได้ ทำให้พระอยู่ได้ ผมก็ทำเสร็จ ตอนแรกๆ ท่านให้พระไปอยู่เหมือนกันแหละ แล้วตอนหลังไม่รู้เป็นอย่างไร แกบอกไม่ให้อยู่แล้ว ก็ไม่มีพระอยู่” สุเกียรติ เล่าถึงที่มาที่ไปของฮวงซุ้ยประจำตระกูล และอธิบายถึงช่วงเวลาสำคัญในตอนท้ายๆ ของชีวิตพุทธทาสภิกขุที่เขาได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่ง ก่อนที่ความร้อนชื้นย่ามบ่ายภายในสวนโมกข์ ไชยา จะทำให้บทสนทนาหยุดลงชั่วขณะ

20200406 13

หากนับช่วงเวลา พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นจุดเริ่มต้นของ สวนโมกข์ ไชยา ปัจจุบันระยะเวลากว่า ๘๘ ปี ที่แนวทางการเผยแผ่ธรรมะแบบพุทธทาสภิกขุได้รับการยอมรับและตั้งข้อสงสัยอย่างกว้างขวาง อาจทำให้ภาพของสวนโมกข์ที่ก่อร่างสร้างฐานจากพลังของชุมชนท้องถิ่นกลายเป็นความทรงจำสีจางที่ผู้คนต่างถิ่นต่างที่อาจหลงลืม

เราอาจมีองค์ความรู้อย่างเป็นทางการมากมายเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาส แต่ความทรงจำแบบเรียบง่ายตามธรรมชาติดังที่ ‘ยู่เหี้ยน’ ได้เล่าถึง ‘ลุงหลวง’ กลับเป็นข้อมูลที่ดูจะหายากแต่งดงาม...ในนามของความเป็นมนุษย์ ที่มีชีวิตแบบธรรมดาๆ...


อ้างอิง

ตัวอย่างสมุดบันทึกและใบสั่งของจาก สุเกียรติ จิยางกูร (ยู่เหี้ยน แซ่เจี่ย) สืบค้นได้จาก

http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_using_pdfid.php?pdfid=4327

http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_using_pdfid.php?pdfid=4468

http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_using_pdfid.php?pdfid=4470