พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร)

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร) 

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒

 “ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้เรารู้สึก”


    “ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์วานคนมาช่วยเทปูน ตอนที่ทำถังเก็บน้ำ ทำเรือ (อาคารเรือที่สร้างขึ้นสำหรับเก็บน้ำฝนภายในสวนโมกข์ ไชยา) ทีนี้ท่านอาจารย์ไปที่โรงครัวแล้วก็ล้ม ถนนมันลื่นฝนตกท่านก็ล้ม แล้วก็กระดูกร้าว ท่านก็คงไม่รู้ว่ากระดูกร้าว ท่านก็มานอนที่กุฏิ อาตมานี่ปฏิบัติท่านอาจารย์ ดูแล ก็ได้ความรู้จากท่านอาจารย์หลายๆ อย่าง ท่านอาจารย์พูดว่า เวลาเจ็บป่วยนี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เข้าใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ เพราะว่าไปไหนมันไปไม่ได้ นอนคิดนอนนึกถึงธรรมะ ท่านบอกว่าคนทั่วไปเวลาเจ็บป่วยนี่ทุรนทุราย ความจริงเป็นโอกาสที่ดีเวลาเจ็บป่วย เป็นเวลาศึกษาธรรมะ

20200315b

    บางเรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากส่วนเสี้ยวความทรงจำของพระภาวนาโพธิคุณ หรือท่านอาจารย์โพธิ์ จันทสโร เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล อาจเป็นประโยชน์ในห้วงเวลาที่สังคมไทยและโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แม้เรื่องเล่าเหล่านี้จะไม่ช่วยหยุดยั้งความเจ็บป่วยและการแพร่ระบาด แต่ความทรงจำเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยแบบ ‘พุทธทาสภิกขุ’ ก็เป็นตัวอย่างให้เราตระหนักถึงสัจธรรมของความไม่แน่นอน และเปิดโอกาสให้เราตั้งคำถามอย่างจริงๆ จังๆ กับตนเองว่า ‘เกิดมาทำไม’

20200315m

“ปัจจุบันนี้เกาะสมุยมันแตกต่างกันมากกับเมื่อตอนที่อาตมายังเป็นเด็กๆ อยู่”

    เรือเฟอร์รี่ขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกรถยนต์และผู้คนอีกจำนวนนับร้อยนับพันขึ้นไปพลุกพล่านบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แบบที่คุ้นตานักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ช่างห่างไกลจากความทรงจำของพระภาวนาโพธิคุณ หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในนาม ท่านอาจารย์โพธิ์ ที่กำเนิดและเติบโตมาบนเกาะสมุย “อาตมานี้เป็นชาวเกาะสมุย ชื่อที่โยมพ่อ โยมแม่ตั้งให้ชื่อว่า โพธิ์ ปัจจุบันนี้ทั่วไปเขาเรียกอาตมาว่า อาจารย์โพธิ์ ตอนนี้อายุของอาตมา ๘๗ ปีแล้ว อาตมาบวชเข้ามาในพุทธศาสนา ๖๖ พรรษา มาอยู่ที่สวนโมกข์ก็ ๕๕ ปี” ท่านอาจารย์โพธิ์ แนะนำตัว ก่อนบอกเล่าความทรงจำในวัยเด็กบนเกาะสมุยต่อไปว่า

santikaro 04 1

    “ปัจจุบันนี้ถ้าใครไปเกาะสมุยก็เหมือนอย่างไปต่างประเทศ เป็นเมืองของพวกฝรั่งที่เข้ามาอยู่ ตอนที่อาตมาเป็นเด็ก ไม่มีอะไร กันดารมาก ถนนหนทางแบบปัจจุบันนี้ก็ไม่มี รถที่วิ่งบนถนนก็ไม่มี ก็อาศัยพัฒนากันขึ้นมา โดยเฉพาะอาจารย์ของอาตมาท่านชักชวนประชาชนทำถนนรอบเกาะ ใช้เรี่ยวใช้แรง ใช้จอบใช้เสียม ขุดดินทำทางให้เป็นทางพอที่คนจะเดินได้ หลายปีต่อมาก็มีรถพอจะวิ่งได้ เรียกว่ากันดารพอสมควร หน้าคลื่น หน้าลม การเดินทางมาแผ่นดินใหญ่ลำบากมาก เพราะว่าเรือที่วิ่งระหว่างเกาะสมุยกับแผ่นดินใหญ่ เป็นเรือใช้ใบเป็นส่วนใหญ่

    หลายปีต่อมาก็มีเรือใช้เครื่องยนต์ ค่อยพัฒนามาเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้สะดวกมาก มีสนามบิน มีเรือ ท่าเรือเฟอร์รี่ ๒ ท่า ขนคนทุกชั่วโมง นอกจากนั้นก็มีเรือเร็ววิ่งเข้าเกาะสมุย แต่ละวันๆ คนเข้าออกเกาะสมุยเข้าใจว่าไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน คนไทยที่เข้าไปทำมาหากินกันบนเกาะสมุย แล้วก็ฝรั่งชาวต่างประเทศมาพักบนเกาะสมุย เรียกว่ามันเป็นเมืองของชาวต่างประเทศไปแล้ว ปัจจุบันนี้เกาะสมุยมันแตกต่างกันมากกับเมื่อตอนที่อาตมายังเป็นเด็กๆ อยู่” เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลรูปแรก บอกเล่าข้อมูลจากความทรงจำเกี่ยวกับเกาะสมุยในห้วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ยากจะจินตนาการไปถึง

แรกพบพุทธทาสภิกขุ และ 55 พรรษาในสวนโมกข์

    แม้การเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่สู่เกาะสมุยเมื่อหลายทศวรรษก่อนจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่ภิกษุนามพุทธทาสจะเดินทางไปถึง และนั่นเป็นครั้งแรกที่ท่านอาจารย์โพธิ์ได้มีโอกาสพบและฟังธรรมจาก ‘พุทธทาสภิกขุ’ ซึ่งต่อมาท่านจะเรียกขานด้วยความเคารพว่า ‘ท่านอาจารย์’ พระภาวนาโพธิคุณ เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ครั้งหนึ่งตอนที่อาตมายังเป็นเด็กวัยรุ่น สมัยนั้นนายอำเภอที่เกาะสมุยเขาศรัทธาท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านอาจารย์พุทธทาสออกเผยแผ่ตามที่ต่างๆ นายอำเภอเกาะสมุยก็นิมนต์ท่านอาจารย์พุทธทาสไปแสดงธรรมบรรยายธรรมที่เกาะสมุย ทีนี้ทางอำเภอเขาก็ประกาศว่า คนหนุ่มทั้งหลายให้มาฟังธรรม ตอนนั้นอายุอาตมาประมาณ 17 ปี ก็ได้มาฟังท่านอาจารย์พูดแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ว่ามาฟังก็ประทับใจว่าท่านอาจารย์ใช้เครื่องขยายเสียง เมื่อก่อนมันไม่มีเครื่องขยายเสียง ท่านอาจารย์ใช้เครื่องขยายเสียง พอเห็นบุคลิกของท่านอาจารย์ก็ประทับใจตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่อาตมาอายุ 17 ปี ตั้งแต่เห็นท่านอาจารย์ครั้งแรก”

20200315d

    ท่านอาจารย์โพธิ์ เล่าต่อไปว่า “จนกระทั่งอายุ 20 ปี ประเพณีของคนไทย โยมพ่อโยมแม่พออายุ 20 ปีเป็นลูกผู้ชายก็ปรารถนาจะให้บวช อาตมาก็บวชตามประเพณีก็ไม่มีเป้าหมายอะไร โยมพ่อโยมแม่ตั้งใจให้บวชก็บวช...ทีนี้เมื่อบวชเข้ามาแล้วทำนั่นทำนี่เพื่อให้เกิดประโยชน์ ย่าก็มาบอกว่า พระคุณเจ้าๆ อย่าเอาแต่บุญอย่างเดียว ให้เอากุศลด้วย ก็ถามว่า บุญกับกุศลต่างกันอย่างไร ย่าก็บอกว่าบุญก็คือทำอย่างนี้ สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญ อย่างนี้เขาเรียกว่าทำบุญ ถ้ากุศลต้องไปฝึกกัมมัฏฐาน ก็ต้องไปฝึกสมาธิ

    พอสอบนักธรรมเสร็จแล้วอาตมาก็ขึ้นไปฝึกสมาธิกับหลวงพ่อรูปหนึ่ง เดี๋ยวนี้เขาเก็บศพของท่านไว้ที่วัดคุณาราม (เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี) เขาเรียกว่า หลวงพ่อแดง (พระครูสมถกิตติคุณ (แดง ปิยสีโล)) ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสมถกิตติคุณ อาตมาก็ขึ้นไปฝึกกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อแดง พอไปฝึกกัมมัฏฐานจิตเรามันสงบกว่าที่เราเป็นฆราวาส ตอนเป็นฆราวาสอาตมาไม่เหลวไหลเลย อบายมุขก็ไม่มี การพนันก็ไม่มี บุหรี่ก็ไม่สูบ ผู้หญิงก็ไม่เคยยุ่งไม่เคยสนใจ ช่วยเหลืองานทางบ้านอย่างเดียว แต่ว่าที่จะสบายจะสงบเหมือนที่เราบวชมันไม่เคยมี ประกอบกับเรานั่งสมาธิใจเราสงบ ก็อยู่เรื่อยๆ มา อาตมาก็อยู่ลักษณะพระธุดงค์ อยู่ถ้ำ อยู่ป่าช้า เดินธุดงค์

20200315e

    “อาตมาอยู่ที่แหลมสอ (เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี) 9 ปี อาตมาได้รับประโยชน์มากตอนอยู่ที่แหลมสอกับพระอาจารย์รูปหนึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของอาตมา ก็เรียกว่า พ่อท่านแดง เขาเรียกอาจารย์แดง ติสฺโส อาตมาอยู่กับท่านประมาณ 9 ปี ต่อมาพระอาจารย์แดงต้องการจะพาลูกศิษย์มาบวชกับท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ อาตมาก็อาศัยมาด้วย แล่นเรือใบกันมา ๒ วันกว่าจะถึงอ่าวพุมเรียงที่อำเภอไชยา (สุราษฎร์ธานี) มาครั้งแรกไม่เจอท่านอาจารย์พุทธทาส อาจารย์แดงก็ฝากลูกศิษย์ไว้กับพระที่ทำหน้าที่แทนท่านอาจารย์พุทธทาส รู้สึกว่าท่านอาจารย์พุทธทาสไปอินเดีย ราวปี พ.ศ.2498 - 2499 ราวๆ นั้น

20200315n

    ทีนี้พอท่านอาจารย์พุทธทาสกลับจากอินเดียก็บวชลูกศิษย์ของอาจารย์แดงได้เป็นพระ เมื่อลูกศิษย์ของอาจารย์แดงได้เป็นพระแล้ว อาตมาก็ถือโอกาสมาเยี่ยมอยู่บ่อยๆ มาพักสวนโมกข์ครั้งละเดือน สองเดือนบ้าง มาอยู่ที่สวนโมกข์แล้วก็กลับเกาะสมุย อาจารย์พุทธทาสก็มอบหนังสือหลายๆ เล่มทุกคราว อยู่ๆ มา ปี พ.ศ. 2506 อาจารย์พุทธทาสคิดสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณขึ้นมา ก็มีจดหมายเขียนย่อๆ ว่าคุณโพธิ์ ท่านรู้จักอาตมาเรียกว่า คุณโพธิ์ มาช่วยทำงานเสียสละเพื่อส่วนรวมกันบ้างที่สวนโมกข์ อาตมาได้รับจดหมายแล้วก็ตั้งใจว่าจะมาช่วยงานท่านอาจารย์พุทธทาสเพียง 3 เดือน แต่พอมาอยู่แล้วก็อยู่เลยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 55 ปี นี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย” พระภาวนาโพธิคุณ เล่าถึงเส้นทางการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์และเหตุปัจจัยที่ส่งเสริมให้ท่านเข้ามารับบทบาทสำคัญในสวนโมกข์ในเวลาต่อมา

20200315f

“เวลาพระมาอยู่ที่สวนโมกข์ท่านก็ดูว่าอุปนิสัยของแต่ละรูปชอบอะไร ท่านก็ส่งเสริม”

    ความน่าสนใจประการหนึ่งที่ค้นพบได้จากความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานหรือบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลก็คือ ในการบริหารจัดการกิจการต่างๆ ภิกษุนามพุทธทาส จะเลือกใช้วิธีในการส่งเสริมให้บุคคลได้ทำหน้าที่ตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งพระภาวนาโพธิคุณได้บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

    “ท่านอาจารย์พุทธทาส เวลาพระมาอยู่ที่สวนโมกข์ท่านก็ดูว่าอุปนิสัยของแต่ละรูปชอบอะไร ท่านก็ส่งเสริม รูปไหนชอบอย่างนี้ท่านก็ส่งเสริมอย่างนี้ เช่น คุณโกวิท เขมานันทะ ที่ตายไปแล้ว คุณโกวิทเขาเรียนจบมาจากมหาวิทยาศิลปากร เขียนภาพอะไรต่างๆ ท่านอาจารย์ก็สนับสนุนคุณโกวิท เจ้าคุณพยอม (พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ)) ชอบพูด ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ส่งเสริม แม้แต่พระเด็กๆ มหาบุญชู (พระมหาบุญชู ฐิตปุญโญ) เดี๋ยวนี้เป็นมหาแล้ว มหาบุญชู หลานคุณโกวิท มาอยู่เป็นสามเณรชอบถ่ายรูป ท่านอาจารย์ก็สนับสนุนมหาบุญชูถ่ายรูป”

 santikaro 02

    พระภาวนาโพธิคุณ เล่าต่อไปว่า “ทีนี้อาตมามาอยู่ที่สวนโมกข์ อาตมาสนใจที่จะทำงานกับฝรั่ง ที่อาตมาสนใจทำงานกับฝรั่งมันเป็นเหตุเป็นปัจจัย บางเวลาท่านอาจารย์ไม่อยู่ท่านไปกรุงเทพฯ อาตมาต้องเฝ้ากุฏิของท่าน ก็ได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ของพระรูปหนึ่ง อาตมาจำชื่อท่านไม่ได้ ท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะไปเผยแผ่พุทธศาสนายังต่างประเทศ อาตมาก็สะดุดใจ น่าสนใจพระรูปนี้ อยากจะไปเผยแผ่พุทธศาสนาต่างประเทศ อาตมาไม่มีความรู้อะไร มาอยู่ที่สวนโมกข์ก็เพราะเหตุเพราะปัจจัย อาตมาพบคนที่เขามีความรู้โดยเฉพาะอาจารย์ประดิษฐ วิชัยดิษฐ ซึ่งเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาบวช พอมาอยู่ที่สวนโมกข์อาตมาก็สนใจเรียนภาษาอังกฤษ ก็เริ่มเรียน เรียนเรื่อยๆ...เรียนภาษาอังกฤษ เรียนทุกวัน เรียนเรื่อยมาๆ ประมาณสัก 10 - 15 ปี พอที่จะรู้ภาษาฝรั่งบ้าง

santikaro 03IMG 7285

    “พอดีอาตมาลงไปเกาะสมุย ชาวเกาะสมุยก็บอกว่าแย่แล้วฝรั่งมาทำลายวัฒนธรรมเกาะสมุยหมดแล้ว เที่ยวมานอนอาบแดดเปลือยกายอยู่ที่ชายหาด เด็กๆ บางคนข้าวน้ำไม่กินมาแอบดูฝรั่งนอนอาบแดดที่ชายหาด เพราะว่ามันเป็นของใหม่ การแต่งเนื้อแต่งตัวของฝรั่งเขาก็ถือว่าอิสระ อาตมาก็นึกว่าต้องดึงฝรั่งพวกนี้มาสนใจพุทธศาสนา...อาตมาคิดว่าอาตมาเกิดที่เกาะสมุย เมื่อปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นที่เกาะสมุย ก็น่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อาตมาคิดว่า ต้องชักชวนฝรั่งมาปฏิบัติธรรม” ท่านอาจารย์โพธิ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นโครงการฝึกอบรมปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวได้กลายเป็นมูลเหตุให้เกิดสวนโมกข์นานาชาติในเวลาต่อมา

20200315g

    พระภาวนาโพธิคุณ เล่าต่อไปว่า “...เวลาอาตมามาที่สวนโมกข์ ฝรั่งก็ตามมา พอมาที่สวนโมกข์ สุนัขสวนโมกข์มันเยอะ ฝรั่งไปไหนสุนัขก็เห่าไปทั้งวัด ท่านอาจารย์ก็เลยคิดว่าจะต้องหาที่ให้ฝรั่งอยู่ ท่านเลยไปซื้อที่ดินที่หน้าเขาน้ำร้อน เป็นเหตุให้เกิดสวนโมกข์นานาชาติขึ้นมา ท่านก็ไม่ได้บอกว่าใครจะเป็นผู้ไปก่อสร้าง อาตมาเห็นว่าท่านอาจารย์มีเจตนาดีที่จะส่งเสริมงานที่อาตมาทำ คืองานอบรมฝรั่ง อาตมาก็รับอาสาไปช่วยก่อสร้าง อาตมาเดินเช้าเดินเย็นไปสร้างสวนโมกข์นานาชาติ อาศัยแรงงานของพระ แล้วก็ขึ้นไปที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ไปเอาแบบอาคารที่วัดชลประทานฯ เป็นอาคารที่พักรวมๆ เป็นกุฏิที่พักรวมหลายๆ รูป ไปเอาแบบนั้นมาทำ ก็ทำอยู่ประมาณสัก 2 ปีเสร็จก็เปิดอบรม

20200315h

    “ท่านอาจารย์ก็ขยับ จากนั้นไปอาศรมธรรมทูต ก็เกิดจากเหตุปัจจัยเหมือนกัน เนื่องจาก สันติกโร (โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน) เป็นพระชาวอเมริกันบวชแล้วก็มาอยู่ที่สวนโมกข์ เขาอยากจัดทำที่ปฏิบัติธรรมต้องการเผยแผ่ธรรมะไปต่างประเทศ ก็เลยเกิดที่นั่นขึ้นมา เรียกว่าธรรมาศรมธรรมทูต อาตมาก็ไปช่วยสร้าง ตอนนั้นอยู่เป็นปีเหมือนกัน มีอาคาร มีกุฏิ อาตมาก็คิดว่าพอแล้วจะเลิก ท่านอาจารย์บอก ‘อย่าเพิ่งเลิก’ ยังมีอีกอย่างหนึ่งก็คือทำ ธรรมมาตา ก็ได้ทำธรรมมาตา เพราะฉะนั้นถ้าอาตมาพิจารณาดู ท่านอาจารย์ทำอะไร มันแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยที่มันเกิดขึ้น แล้วแต่อิทัปปัจจยตา นี่ความเห็นของอาตมาเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์พุทธทาสท่านทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน แล้วท่านอาจารย์ท่านมีหลักการทำงานว่า ทำอะไรก็ตามต้องให้ดีที่สุด ให้เร็วที่สุด ต้องประหยัดที่สุด อาตมาก็ได้ใช้หลักการอันนี้ทำอะไรให้เร็วที่สุด ให้ดีที่สุด และประหยัดที่สุด” พระภาวนาโพธิคุณ บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจการแบบพุทธทาสภิกขุ ที่อยู่ภายใต้หลัก อิทัปปัจจยตา

20200315i

“ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้เรารู้สึก”

    การได้รับใช้พุทธทาสภิกขุมาหลายทศวรรษ จวบจนกระทั่งในวาระสุดท้ายของลมหายใจ ทำให้พระภาวนาโพธิคุณ มีเรื่องราวความประทับใจอยู่ในความทรงจำเป็นจำนวนมาก เช่น การเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยในแบบของพุทธทาสภิกขุ ที่น่าจะเป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับห้วงเวลาที่มนุษย์ต้องการกำลังกาย กำลังใจ ในการเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ที่ยังไม่รู้วันสิ้นสุด

     “ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์วานคนมาช่วยเทปูน ตอนที่ทำถังเก็บน้ำ ทำเรือ (อาคารเรือที่สร้างขึ้นสำหรับเก็บน้ำฝนภายในสวนโมกข์ไชยา) ทีนี้ท่านอาจารย์ไปที่โรงครัวแล้วก็ล้ม ถนนมันลื่นฝนตกท่านก็ล้ม แล้วก็กระดูกร้าว ท่านก็คงไม่รู้ว่ากระดูกร้าว ท่านก็มานอนที่กุฏิ อาตมานี่ปฏิบัติท่านอาจารย์ ดูแล ก็ได้ความรู้จากท่านอาจารย์หลายๆ อย่าง ท่านอาจารย์พูดว่า เวลาเจ็บป่วยนี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เข้าใจธรรมะปฏิบัติธรรมะ เพราะว่าไปไหนมันไปไม่ได้ นอนคิดนอนนึกถึงธรรมะ

20200315j

    ท่านบอกว่าคนทั่วไปเวลาเจ็บป่วยนี่ทุรนทุราย ความจริงเป็นโอกาสที่ดีเวลาเจ็บป่วย เป็นเวลาศึกษาธรรมะ... ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้เรารู้สึก บางเวลาเนี่ยมีปัญหาเยอะ แม้แต่ท่านอาจารย์เองเขาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาไปถามท่านอาจารย์ ท่านบอกว่าแล้วมันมีปัญหาอะไร ท่านไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร เขาว่าก็ว่าไป ท่านไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร” เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลรูปปัจจุบัน ย้อนความหลังเมื่อครั้งได้รับใช้ใกล้ชิดพุทธทาสภิกขุ ก่อนกล่าวถึงความสำคัญและความประทับใจสูงสุดที่มีต่อบุคคลที่เรียกขานว่า ‘ท่านอาจารย์’

20200315o

    “ท่านอาจารย์พุทธทาสเอาคำสอนชั้นลึก เป็นหัวใจพุทธศาสนามาสรุป แล้วเรียกว่า ธรรมะ 9 ตา เป็นเรื่องๆ แล้วท่านบรรยายละเอียด อนิจจตา เรื่องความไม่เที่ยง, ทุกขตา เรื่องความเป็นทุกข์, อนัตตตา เรื่องความไม่มีตัวตน, ธรรมนิยามตา กฎตายตัวของธรรมะ, อิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ, สุญญตา, ตถตา, อตัมมยตา ท่านอาจารย์จะบรรยายเป็นเรื่องๆ หายากที่คนอื่นจะบรรยายอย่างท่านอาจารย์พุทธทาส อตัมมยตาอย่างนี้ อาตมาเชื่อว่า ถ้าไม่มีท่านอาจารย์พุทธทาส คำอธิบายเรื่องอตัมมยตาก็คงจะไม่มีอ่าน แม้แต่เรื่องสุญญตาก็เหมือนกัน ท่านอาจารย์เอามาบรรยายเป็นหนังสือชื่อว่า สุญญตาปริทรรศน์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่าท่านอาจารย์ท่านมีความรอบรู้ มีความตั้งใจ เข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้นอาตมาถึงเคารพนับถือบูชาท่าน” พระภาวนาโพธิคุณ แสดงความเห็น

20200315l

    บนเส้นทางการทำหน้าที่บันทึกความทรงจำของบุคคลต่างๆ ที่เคยใกล้ชิดกับ ‘พุทธทาสภิกขุ’ ผู้รับหน้าที่มีคำถามอยู่ในใจเสมอว่า เขาจะทำให้ความทรงจำเหล่านั้นมีประโยชน์สูงสุดต่อผู้คนและสังคมได้อย่างไร โดยเฉพาะในยุคสมัยที่การสั่งสอนแบบบนลงล่าง หรือ preaching กำลังได้รับการตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ และกำลังส่งผลให้ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยถอยห่างจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมะ’ แต่บทสนทนาบางตอนกับ พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) ทำให้เขาตระหนักว่า บทเรียนที่ดีที่สุด วิธีการสั่งสอนที่ดีที่สุด กลับไม่ใช่เรื่องของการประดิดประดอยคำพูดให้สวยหรู หรือแต่งแต้มพิธีกรรมให้ดูศักดิ์สิทธิ์ หากแท้จริงแล้วกลับคือการแสดงออกผ่านวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แม้ในยามเจ็บป่วยหรือกระทั่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตายตามแบบของภิกษุนาม "พุทธทาส"