พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ทายาทคุณประสิทธิ์ และคุณปราณี พุ่มชูศรี
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/c8oaDn03msg
“ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) พูดอะไรท่านพูดตรง ท่านไม่ปลอบนะคะ ดิฉันยังจำได้เลยว่าคุณแม่เนี่ยเคยไปปรับทุกข์อะไรกับท่านสักอย่างหนึ่ง แล้วท่านตอบจดหมายมา...คุณแม่อ่านจดหมายท่านเจ้าคุณพุทธทาสแล้วร้องไห้ นึกว่าท่านจะช่วยคลายทุกข์ด้วยการปลอบ แต่ท่านก็เฆี่ยนกลับมาเหมือนกับว่า
‘อะไร เรียนธรรมะเป็นลูกศิษย์ของท่านแล้ว ยังมาใคร่ครวญอยู่กับสิ่งที่คุณแม่ใคร่ครวญไปนี่หรือ ทำไมไม่ใช้ธรรมะแก้ปัญหา’
คุณปราณี พุ่มชูศรี
ดิฉันจำได้เลยค่ะ คุณแม่อ่านแล้วคุณแม่ร้องไห้...ดิฉันไม่เคยเห็นคุณแม่ร้องไห้นะ คุณแม่อ่านจดหมายท่านเจ้าคุณแล้วคุณแม่ร้องไห้ นั่นล่ะเป็นสิ่งที่ท่านให้ไว้กับคุณแม่ที่จะเตือนสติ มันเป็นภาพความทรงจำของดิฉัน ท่านไม่เคยให้เป็นพระของขลังอะไรแบบนี้ ท่านไม่มีล่ะค่ะท่านเจ้าคุณ ท่านจะให้แต่คำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนที่ตรง ตีแสกหน้าคุณแม่ร้องไห้ได้ ก็คือคำสอนที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสเขียนจดหมายมา” เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ทายาท คุณประสิทธิ์ และคุณปราณี พุ่มชูศรี ให้ข้อมูลถึงบางเสี้ยวความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวพุ่มชูศรีกับ พุทธทาสภิกขุ ที่ยังคงแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ
เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ และเชียงใหม่ในความทรงจำ
ความเมตตาฉายชัดผ่านบุคลิกภาพแบบนักธุรกิจหญิงผู้ผ่านการพบปะเจรจากับผู้คนมาอย่างหลากหลาย ในวัย ๘๐ ปี เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ เริ่มต้นอัตชีวประวัติด้วยรอยยิ้ม “ดิฉันชื่อเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ เป็นบุตรีของคุณประสิทธิ์ และนางปราณี พุ่มชูศรี อายุ ๘๐ ปีแล้วค่ะ ดิฉันเกิดเชียงใหม่ แต่คุณพ่อ คุณแม่ ไม่ใช่คนเชียงใหม่ คุณพ่อ คุณแม่เป็นคนภาคกลาง แต่ได้มาทำโรงงานยาสูบที่อำเภอแม่แตง ก็เลยมาอยู่เชียงใหม่ ก็เลยถือว่าเป็นคนเชียงใหม่ ตอนคุณพ่อแต่งงานกับคุณแม่ก็ไปเป็นลูกจ้างบริษัททำยาสูบที่เชียงราย แล้วก็ออกมาซื้อไร่ยาสูบเล็กๆ ที่แม่มาลัย อำเภอแม่แตง (เชียงใหม่) ก็มาตั้งโรงงานยาสูบเล็กๆ เป็นกิจการของตัวเอง ก็เกิดที่นี่ เกิดที่อำเภอแม่แตงค่ะ”
เพ็ญพรรณ อธิบายภาพชีวิตนอกตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงวัยเด็กของเธอต่อไปว่า “โห...มันบ้านนอกมาก จะมาเชียงใหม่ทีเดินทางเป็นวันนะคะ รถราก็มีแต่ว่าถนนหนทางมันจะเล็กและมันจะแคบมาก ช่วงนั้นพอคุณป้าเกิดได้ไม่กี่ปีก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จำได้ เพราะฉะนั้นก็จะลำบากนิดหน่อย เชียงใหม่จะมีแต่ทหารญี่ปุ่น เราก็ยังทำธุรกิจยาสูบอยู่ คุณพ่อก็เป็นนักบุกเบิกเอากระเทียมจากเชียงใหม่ล่องไปขายที่กรุงเทพฯ บ้าง อะไรบ้าง เป็นคนมวนยาสูบขาย ชีวิตก็เป็นพ่อค้ามาตลอด คุณพ่อ คุณแม่” บางส่วนของภาพชีวิตในเชียงใหม่จากความทรงจำของ เพ็ญพรรณ ช่วยปะติดปะต่อบางเรื่องราวเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อาจพบได้ยากจากบันทึกประวัติศาสตร์แบบทางการ
เจ้าชื่น และเจ้าสุริยฉาย สิโรรส
เธอให้ข้อมูลส่วนตัวที่เชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวพุ่มชูศรี และครอบครัวของเจ้าชื่น สิโรรส หนึ่งในโยมอุปัฏฐากคนสำคัญของพุทธทาสภิกขุ ต่อไปว่า “คุณป้าจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คณะกสิกรรมและสัตวบาล พอจบเสร็จก็ขึ้นมาทำงานที่เชียงใหม่ ตอนนั้นคุณพ่อเริ่มมีโรงงานยาสูบแล้ว สมัยนั้นมีเพื่อนใกล้ชิดของคุณพ่อที่ทำธุรกิจก็คือ เจ้าชื่น สิโรรส ก็ทำยาสูบมาด้วยกัน มันทำให้เรากับครอบครัวสิโรรส รักใคร่แล้วก็สนิทสนมกันมาก”
ปราณี พุ่มชูศรี กับกัลยาณมิตรบนเส้นทางธรรม
“ดิฉันว่าผู้หญิงจะรู้ทุกข์มากกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้สนใจเรื่องศาสนา” เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ตั้งสมมติฐาน เมื่อถามถึงความสนใจในพุทธศาสนาของผู้เป็นมารดา ก่อนอธิบายต่อไปว่า “แล้วเผอิญก็มีกัลยาณมิตร อย่างเช่น เจ้าชื่น สิโรรส เจ้าสุริยฉาย สิโรรส ก็เป็นกัลยาณมิตรของคุณแม่ ท่านก็ฝักใฝ่สนใจในทางพุทธศาสนาอยู่แล้ว ตัวคุณแม่เองก็จะถือศีลอุโบสถ ศีล ๘ ตั้งแต่อายุ ๔๕ ทุกวันพระท่านจะไปวัด แล้วก็จะถือศีล ๘ เท่าที่ดิฉันจำความได้นะคะ...เราจะเห็นตั้งแต่เด็กๆ คุณแม่ก็จะมีอุบายให้เราถือปิ่นโตตามหลังไปวัด ไปทานข้าวกลางวันกับศรัทธาที่วัด เราก็จะได้ขนมอะไรพิเศษ ก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกับวัดมาตั้งแต่เยาว์วัยล่ะค่ะ”
ทายาท ปราณี พุ่มชูศรี ให้ข้อมูลถึงบางรายชื่อของกัลยาณมิตรที่เป็นเหตุปัจจัยให้ครอบครัวพุ่มชูศรีได้มีโอกาสพบกับภิกษุนามพุทธทาส ต่อไปว่า “ก็คงจะมีคุณยายอุบาสิกา วาส เที่ยงธรรม ที่อยู่ที่เพชรบุรี ที่วัดเขาวัง ท่านรู้จักท่านเจ้าคุณพุทธทาส แล้วก็เจ้าชื่น สิโรรส แล้วก็มีคุณสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็คงจะรู้จักกัน แล้วก็คงนิมนต์ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ขึ้นมาเชียงใหม่ คุณแม่ก็เลยรู้จักใกล้ชิด แล้วตัวคุณแม่เองก็ได้ลงไปที่ไชยา (สวนโมกข์ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) สมัยนั้นดิฉันจำได้ว่ามันเดินทางลำบากมาก คุณแม่ต้องไปลงรถไฟ แล้วก็ไปเดินลัดทุ่ง ดิฉันเคยเห็นรูปมีคนแบกสัมภาระเดินตามกันเป็นแถวที่จะเข้าไปที่วัดของท่านล่ะนะคะ”
“ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านจะให้ธรรมะอย่างแรง”
ขณะที่ด้านหนึ่งภิกษุนามพุทธทาสมักจะถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์ แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้คนที่อยู่ร่วมสมัยจำนวนไม่น้อยก็ดูเหมือนจะยินดีกับแนวทางการเผยแผ่ธรรมะแบบพุทธทาสภิกขุ ซึ่งรวมไปถึง ปราณี พุ่มชูศรี “คุณแม่เป็นผู้หญิงที่มีเหตุมีผล เท่าที่สัมผัสนะคะ แล้วธรรมะของท่านเจ้าคุณพุทธทาสเนี่ย ท่านพูดตรง ให้ธรรมะอย่างตรง คือไม่ได้มาชักชวนว่า ทำบุญนะ จะได้ขึ้นสวรรค์ ไม่เคยได้ยินจากท่านเจ้าคุณพุทธทาสเลย” ข้อมูลเกี่ยวกับความศรัทธาที่ ปราณี พุ่มชูศรี มีต่อพุทธทาสภิกขุจากความทรงจำของทายาท สะท้อนให้เห็นบางปัจจัยทางสังคมที่ถึงพร้อมต่อการยอมรับแนวทางการตีความพุทธศาสนาอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
เพ็ญพรรณ เล่าต่อไปว่า “ท่านจะให้ข้อคิดในชีวิตค่อนข้างตรง แล้วคุณแม่เนี่ยท่านเป็นผู้หญิงที่แกร่ง เพราะฉะนั้นอะไรที่มีเหตุมีผลคุณแม่จะรับฟัง คุณแม่เป็นผู้หญิงแบบนั้น แล้วเวลาไปคุยกับท่าน ท่านจะไม่ปลอบนะคะ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสน่ะ ท่านจะให้ธรรมะอย่างแรง เพราะฉะนั้นคุณแม่ก็จะรู้สึกว่าท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ตรงใจคุณแม่ เป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ก็จะศรัทธามาก แล้วก็จำได้ว่า ตอนบ่ายคุณแม่จะพักอ่านหนังสือธรรมะของท่านเจ้าคุณพุทธทาสตลอด”
แม้ธรรมะอย่างแรงตามแนวทางพุทธทาสภิกขุจะเป็นที่ประทับใจสำหรับ ปราณี พุ่มชูศรี แต่ก็มีบางกรณีที่อาจสร้างคราบน้ำตา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ชีวิตแบบฆราวาสได้บดบังแสงสว่างของธรรมะไปชั่วขณะ “ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) พูดอะไรท่านพูดตรง ท่านไม่ปลอบนะคะ ดิฉันยังจำได้เลยว่าคุณแม่เนี่ยเคยไปปรับทุกข์อะไรกับท่านสักอย่างหนึ่ง แล้วท่านตอบจดหมายมา เสียใจอย่างยิ่งที่จดหมายฉบับนั้นดิฉันไม่ได้เก็บ คุณแม่อ่านจดหมายท่านเจ้าคุณพุทธทาสแล้วร้องไห้ นึกว่าท่านจะช่วยคลายทุกข์ด้วยการปลอบ แต่ท่านก็เฆี่ยนกลับมาเหมือนกับว่า ‘อะไร เรียนธรรมะเป็นลูกศิษย์ของท่านแล้ว ยังมาใคร่ครวญอยู่กับสิ่งที่คุณแม่ใคร่ครวญไปนี่หรือ ทำไมไม่ใช้ธรรมะแก้ปัญหา’
ดิฉันจำได้เลยค่ะ คุณแม่อ่านแล้วคุณแม่ร้องไห้ แล้วคุณแม่ในความรู้สึกของดิฉัน คุณแม่หยุดการเขียนจดหมายถึงท่านเจ้าคุณไปนานเลยนะคะ คงจะน้อยใจ (หัวเราะอย่างอารมณ์ดีกับความทรงจำ) คุณแม่เคยบอกเหมือนกัน เหมือนกับว่าครูบาอาจารย์ก็ไม่เห็นใจท่าน เพราะช่วงนั้นเรามีปัญหา ยาสูบมีปัญหา ทุกสิ่งทุกอย่างจะรุมเร้าคุณแม่มาก แล้วคุณแม่ก็ทุกข์ ก็ปรับทุกข์ไปกับท่าน แล้วก็คงไม่ได้คำตอบที่ถูกใจว่าอย่างนั้นเถอะ คงคิดว่าท่านคงจะปลอบ (หัวเราะ) แต่ท่านไม่ได้ปลอบ
“...ดิฉันไม่เคยเห็นคุณแม่ร้องไห้นะ คุณแม่อ่านจดหมายท่านเจ้าคุณแล้วคุณแม่ร้องไห้ นั่นล่ะเป็นสิ่งที่ท่านให้ไว้กับคุณแม่ที่จะเตือนสติ มันเป็นภาพความทรงจำของดิฉัน ท่านไม่เคยให้เป็นพระของขลังอะไรแบบนี้ ท่านไม่มีล่ะค่ะท่านเจ้าคุณ ท่านจะให้แต่คำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนที่ตรง ตีแสกหน้าคุณแม่ร้องไห้ได้ ก็คือคำสอนที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสเขียนจดหมายมา” เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ บอกเล่าความประทับใจเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ
“ครั้งสุดท้ายที่ท่านเจ้าคุณมาพบคุณแม่”
จดหมายจำนวนหลายร้อยฉบับที่ใช้เป็นสื่อสนทนาธรรมกับ พุทธทาสภิกขุ (http://archives.bia.or.th/front-description_bak.php?refcode=BIA07010005-0134-0816-00-0000&pdfid=5593&main_level=2) น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันถึงความศรัทธาที่ ปราณี พุ่มชูศรี มีต่อภิกษุนามพุทธทาส แม้กระทั่งในยามที่สัจธรรมแสดงออกผ่านสังขารอันเจ็บป่วย พุทธทาสภิกขุ ก็ยังได้ให้ข้อแนะนำผ่านจดหมายและเดินทางไปเยี่ยมเยียนตามคำขอร้องของครอบครัว สิโรรส กัลยาณมิตรของ ปราณี พุ่มชูศรี
เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ เล่าถึงเหตุการณ์ในคราวนั้นว่า “ตอนที่คุณแม่เจ็บอยู่ในสภาพที่เป็นอัมพาตแล้วก็ช่วยตัวเองไม่ได้ พลิกตัวเองไม่ได้ จะเคลื่อนไหวได้แต่ศีรษะ ท่านเจ้าคุณ (พุทธทาสภิกขุ) ท่านมาเยี่ยม ท่านยืนอยู่ที่ประตู แล้วท่านก็เรียกคุณแม่ เหมือนจะเตือนสติล่ะนะคะ มอง แล้วคุณแม่ก็มองท่านเจ้าคุณ เหมือนอยากจะพูดด้วย แต่คุณแม่ตอนนั้นพูดไม่ได้เพราะเจาะคอ ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็มองอยู่นานพอสมควรแล้วท่านก็ไม่ได้พูดอะไร ท่านก็คงจะปลงจากคนที่เคยอยู่ในสภาพที่สวยงาม มาถึงวันนี้แล้วมันก็คือการเปลี่ยนแปลงของสังขารล่ะนะคะ
เราเองเราก็ได้ธรรมะ ดิฉันเองก็น้ำตาไหล เพราะเห็นอาการของท่านแล้วก็เข้าใจว่า ท่านมองคุณแม่อย่างปลงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง จากคนที่เคยสวยเคยงามมาอยู่ในสภาพอย่างนี้แล้วมันก็เหมือนกับตรงกันข้ามทุกอย่าง ดิฉันก็ได้กราบท่านแล้วท่านก็ไป ก็เป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านเจ้าคุณท่านมาพบคุณแม่
“หลังจากนั้นอีกหลายปี ดิฉันก็ไปที่ไชยาก็ได้ไปกราบท่านก่อนท่านเสีย ท่านก็นั่งอยู่ที่เก้าอี้ ดิฉันก็ไปกราบ ท่านก็ทราบว่าดิฉันเป็นลูกคุณปราณี ท่านก็ทักทายเรา แล้วท่านก็คงจะนึกถึงคุณแม่ ท่านคงนึกถึงคุณแม่” เพ็ญพรรณ ย้อนความทรงจำในช่วงสุดท้ายของชีวิตผู้เป็นมารดา
พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์
ในฐานะทายาทของครอบครัว พุ่มชูศรี ที่มีโอกาสพบกับพุทธทาสภิกขุ เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ก็มีความทรงจำเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาสในแบบฉบับของตน “ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) เป็นคนที่เสียงมีอำนาจนะคะ เสียงนี้เวลาท่านพูดหรือท่านเทศน์จะไม่เหมือนใครในความรู้สึก เป็นเสียงมีสำเนียงปักษ์ใต้นิดๆ แล้วท่านจะพูดตรงที่จำได้ คำที่ตรงที่สุดก็คือ ตัวกู กับ ของกู ซึ่งสมัยนั้นจะไม่มีพระรูปไหนเทศน์หรือจะพูดอย่างนี้ ท่านให้นึกถึง ถ้าเราเว้น ๒ คำนี้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเบาไม่แบกหนัก ก็คือ ตัวกู-ของกู อันนี้คือป้าจำได้ตั้งแต่สาวๆ เลยค่ะ ๒ คำนี้นะคะ (หัวเราะ) เป็นธรรมะที่ท่านพูด แล้วคุณแม่ก็จะพูดอยู่เสมอ เวลาเจออะไรพยายามจะพูดเตือนใจตัวเองว่า ตัวกู-ของกู อยู่ตลอด ก็เป็นสิ่งที่เราจำได้แม่น ๒ คำนี้ ธรรมะที่ท่านให้น่ะค่ะ
“...เวลาเราเสียอะไร ๒ หัวข้อนี้จะเตือนใจเรา ถ้าเราคิดว่ามันเป็นของเรา มันก็ทุกข์มาก อันนี้มันเป็นของฉัน อันนี้ลูกหลานฉัน อันนี้สามีฉัน อันนี้พี่น้องฉัน เพื่อนฉัน ตัวนี้ความรู้สึกมันก็จะรุนแรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดิฉันว่ามันเป็นความจริงที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกค่ะ เป็นธรรมะที่ถ้าทุกคนคลาย ๒ สิ่งนี้ได้ ทุกข์มันจะเบาบาง...ไหมคะ” รอยยิ้มฉายชัดบนใบหน้า ทิ้งระยะเวลาให้บทสนทนาได้ทำหน้าที่ตั้งคำถาม เพ็ญพรรณ บอกเล่าความทรงจำที่มีต่อภิกษุนามพุทธทาสเคล้าเสียงหัวเราะอย่างผู้ที่มองเห็นสมดุลระหว่างโลกและธรรม
หากจะหาบทลงท้ายการสนทนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชายแปลกหน้าที่ได้สนทนากับ เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ นักธุรกิจหญิงทายาทของครอบครัวพุ่มชูศรี คงไม่มีข้อความใดเหมาะสมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่แฝงไว้ด้วยความเมตตา มากไปกว่าบางข้อความในจดหมายที่พุทธทาสภิกขุมีถึง ปราณี พุ่มชูศรี ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๙๑
“...ถ้ากล้าเชื่อ ก็ขอให้เชื่อว่า กิจเกี่ยวกับเรือน หรือเกี่ยวกับธรรมะกับสาสนาก็ตาม ที่แท้เปนอันเดียวกัน คือเปนบทเรียนที่ต้องเรียนและผ่านไปให้ถูกต้อง ราบรื่น ด้วยความยิ้มแย้มหย่างคนถือมีดอยู่ในมือ คือแจ่มใสด้วยปัญญา, หย่าให้ขุ่นข้นไปด้วยโลภ โกรธ หลง หรือความชั่วร้าย ๕ ประการ ไปวันหนึ่งๆ ก็แล้วกัน. ยึดหลักหย่างนี้ มันจะเปนการฝึกฝนจิตตหย่างถูกต้องไม่ผิดพลาดหยู่ในตัว ไม่มีทางขาด ทางเกิน เหมือนผู้ที่ตื่นหรือถึงกับเห่อ ในเรื่องการฝึกฝนจิตต จนตาลายในพิธีรีตองต่างๆ อันแสนจะมากมาย เกี่ยวกับมีผู้อ้างว่าเปนวิธีฝึกจิตตหย่างดีๆ ทั้งนั้น.” (http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=5593&main_level=2&main_refcode=BIA07010005-0134-0816-00-0000)
...นี่เป็นอีกครั้งที่รอยยิ้มผ่านบทสนทนาเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ ได้นำพาชายแปลกหน้าเดินทางกลับสู่เรือน...