พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ เพ็ญฉาย สิโรรส ทายาทเจ้าชื่น สิโรรส

Share

งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ เพ็ญฉาย สิโรรส ทายาทเจ้าชื่น สิโรรส

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒

7564623 

 ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/pBJ953foTMg

หนึ่งในฆราวาสที่มีบทบาทสำคัญในการนำหลักธรรมพุทธศาสนาและแนวทางการปฏิบัติของพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ไปเผยแผ่ยังพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย คงไม่มีใครปฏิเสธชื่อของ เจ้าชื่น สิโรรส ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ในอดีต จดหมายจำนวนกว่า 200 ฉบับที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างภิกษุนามพุทธทาส และเจ้าชื่น ที่ปรารถนาให้คนทั่วไปเรียกขานในนาม นายชื่น สิโรรส (ดู bit.ly/2qBez4v) ย่อมเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในฐานะอาจารย์และศิษย์ ที่แม้ห่างด้วยระยะทางแต่ต่างมีเป้าหมายหนึ่งเดียว

1215a

เจ้าชื่น สิโรรส

“คุณพ่อเคยเขียนคล้ายๆ กับว่าเป็นบุญของเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพุทธศาสนา พบอาจารย์ที่สอนธรรมะที่ดีที่สุดในโลก...พบอาจารย์ที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ หมายความว่าสอนคนเราให้ถึงพระนิพพาน แล้วก็มีเพื่อนประพฤติพรหมจรรย์ที่ดี...แล้วท่านก็จะแนะนำลูกๆ บอกว่า ถ้าต้องการพ้นทุกข์ก็ลองเอาหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสไปประพฤติปฏิบัติดู...” เพ็ญฉาย สิโรรส หนึ่งในทายาทของเจ้าชื่น บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวสิโรรส และภิกษุนามพุทธทาส

ชื่น สิโรรส กับความสนใจในพุทธศาสนา

“ป้าคือ นางสาวเพ็ญฉาย สิโรรส เป็นบุตรคนที่ ๖ ของคุณพ่อชื่น คุณแม่สุริยฉาย สิโรรส คุณพ่อมีเชื้อสายทาง ณ เชียงใหม่ ณ เชียงตุง คุณแม่มีเชื้อสาย ณ เชียงใหม่ กับ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่กรุงเทพฯ เพราะคุณตาเป็นคนกรุงเทพฯ เจ้ายายเป็นคนเชียงใหม่” เพ็ญฉาย สิโรรส ในวัย ๘๖ ปี ให้ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับครอบครัวสิโรรส และอธิบายถึงชีวประวัติบางส่วนของผู้เป็นบิดาต่อไปว่า

เจาชน สโรรส07

เจ้าชื่น สิโรรส

“พอคุณพ่อเรียนจบก็มาเป็นศึกษาธิการที่อำเภอแม่ริม (เชียงใหม่) ก่อน แล้วก็ไปทำงานกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จากนั้นคุณพ่อก็ไปเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ ที่ตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตอนหลังมาก็ไปทำยาสูบ เป็นผู้ผลิตใบยาสูบ สมัยนั้นยาสูบกำลังเฟื่องฟู ท่านก็แบ่งเงินเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งให้คุณแม่เพื่อจะดูแลลูกๆ ทั้ง ๑๐ คน อีกส่วนหนึ่งคุณพ่อก็แบ่งมาทำงานศาสนา ท่านก็ดูแลกันอย่างนั้นมา จนตอนหลังๆ เมื่อลูกเติบใหญ่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็มาปฏิบัติธรรมที่วัดอุโมงค์ แล้วป้าก็เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ส่วนของคุณพ่อก็เพื่อศาสนา ส่วนคุณแม่ก็มีเจือจานลูกๆ บ้าง แล้วก็สนับสนุนงานของคุณพ่อ” บางเรื่องเล่าของเพ็ญฉาย สะท้อนให้เห็นบางแง่มุมทางศาสนาที่อาจเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ เจ้าชื่น สิโรรส ได้มีโอกาสพบกับภิกษุนามพุทธทาสในเวลาต่อมา

1215b

พุทธทาสภิกขุและเจ้าชื่น สิโรรส

จากสวนโมกข์ ถึงวัดอุโมงค์

ความน่าสนใจในกิจการของสวนโมกข์และคณะธรรมทานที่ถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา เป็นที่มาที่ทำให้ เจ้าชื่น สิโรรส มุ่งหมายแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภิกษุนาม พุทธทาส ดังที่เพ็ญฉาย ได้ให้ข้อมูลว่า “รู้จักแรกที่สุดก็ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์พุทธสาสนาที่คณะธรรมทานออกมา พออ่านแล้วท่านก็ชอบใจ แล้วก็ติดต่อให้พี่ชายกับพี่เขยไปดูว่า ทางสวนโมกข์ที่ไชยาเขาทำจริงอย่างที่พูดในหนังสือไหม พี่ชายสองคนไปกลับมาก็บอกทำจริง คุณพ่อก็เลยติดต่อกับท่าน (พุทธทาสภิกขุ)”

ปญญานนทภกขและพทธทาสภกข วดอโมงค

ปัญญานันทภิกขุและพุทธทาสภิกขุ ณ วัดอุโมงค์

แรงบันดาลใจจากภิกษุนามพุทธทาสกลายเป็นพลังผลักดันให้ เจ้าชื่น สิโรรส ออกตามหาพื้นที่ในเมืองเชียงใหม่ที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับสร้างสถานปฏิบัติธรรมโดยมีสวนโมกข์ไชยาเป็นต้นแบบ จนกระทั่งได้มาพบกับวัดอุโมงค์ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงวัดร้าง “พอเริ่มต้นมาหาวัดร้าง มาเจอวัดอุโมงค์ ก็แผ้วถางทำกุฏิเล็กๆ ท่านก็เล่าว่าท่านทำอะไรบ้าง อยากให้ท่านอาจารย์พุทธทาสมาดู...ท่านอาจารย์ก็มาดู มาดูก็ปรึกษาหารือกันแล้วคุณพ่อก็ขอให้ท่านอาจารย์มาทำงานเผยแผ่ทางเชียงใหม่ ท่านบอกว่าท่านมาไม่ได้ จะหาพระมา คุณพ่ออ่านหนังสือพุทธสาสนาเจอบทความที่ท่านอาจารย์ปัญญานันทภิกขุ (พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร)) เขียนลงในพุทธสาสนา ก็บอกชอบพระรูปนี้ จะขอให้ท่านอาจารย์ติดต่อให้เพื่อจะมาทำงานที่เชียงใหม่ ท่านอาจารย์ปัญญามาถึงเชียงใหม่วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๙๒ คุณพ่อคุณแม่ไปรับท่านที่สถานีรถไฟ หลวงพ่อปัญญาก็แนะนำตัวว่า ท่านคือปัญญานันทะ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสส่งมา ให้มาทำงานที่เชียงใหม่ ก็เป็นการเริ่มต้นของท่านอาจารย์ปัญญาที่เชียงใหม่ ท่านอยู่ทำงานที่นี่ ๑๐ ปี” เพ็ญฉาย สิโรรส บอกเล่าสายสัมพันธ์ในทางธรรมระหว่างเจ้าชื่น สิโรรส, พุทธทาสภิกขุ และ ปัญญานันทภิกขุ ผ่านจุดเริ่มต้นกิจการของวัดอุโมงค์หรือสวนพุทธธรรม

1215c

ขณะเดียวกัน ทายาทคนที่ ๖ ของเจ้าชื่น สิโรรส ยังได้อธิบายถึงการบริหารจัดการกิจการต่างๆ ภายในวัดอุโมงค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวนโมกข์ต่อไปว่า “คือคุณพ่อนี่จะพยายามเลียนแบบท่านอาจารย์พุทธทาสเกือบจะทุกอย่าง เริ่มแรกท่านอาจารย์ตั้งคณะธรรมทาน คุณพ่อเริ่มด้วยพุทธนิคม แล้วพอที่นั่นมีธรรมทานมูลนิธิ ที่เชียงใหม่ก็มีชาวพุทธมูลนิธิ ที่สวนโมกข์ท่านอาจารย์ออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ที่นี่ก็มีการถอดเทปของท่านอาจารย์ปัญญาที่ไปเทศน์ในที่ต่างๆ มาลงในหนังสือชาวพุทธ” 

พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ เพ็ญฉาย สิโรรส “ถ้าไม่เข้าใจอะไรก็ให้อ่านความหมายใต้บรรทัด”

ความสัมพันธ์ในฐานะโยมอุปัฏฐากที่พร้อมจัดหาสิ่งจำเป็นในการเกื้อกูลการเผยแผ่พุทธศาสนาตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุ ทำให้เจ้าชื่น สิโรรส รวมไปถึงทายาทอย่าง เพ็ญฉาย สิโรรส ได้มีโอกาสพบกับพุทธทาสภิกขุอยู่บ่อยครั้งและมีหลายเรื่องราวที่บันทึกไว้ในความทรงจำส่วนบุคคล

1215e

“ป้าบวชชีอยู่ ๔ ปี บวชตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๔ ในพรรษาก็ไปอยู่ที่สวนโมกข์ คล้ายๆ คุณพ่อก็คงอยากจะให้เข้าถึงธรรม คงอยากจะฝึกไว้เพื่อให้มาทำงานเกี่ยวกับพระศาสนา” เพ็ญฉาย สิโรรส เท้าความถึงช่วงเวลาเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่สวนโมกข์ ก่อนอธิบายถึงกิจวัตรประจำวันภายในสวนโมกข์ต่อไปว่า 

“ตอนเช้าๆ ทานอาหารเช้าเสร็จก็จะมีไหว้พระสวดมนต์ที่ศาลาประเทืองธรรม พอสายท่านอาจารย์จะสอนอะไรก็ไปที่หน้ากุฏิท่าน ท่านก็แนะนำ เวลาปกติบางทีท่านก็มักจะบอกป้าว่า ให้ไปอยู่แถวหน้ากุฏิท่านเพื่อจะดูว่าท่านรับแขกอย่างไร คุยอะไร อย่างไร ก็มักจะเรียกมาบอกว่า ให้ไปช่วยรับแขกบ้าง ให้ไปดูบ้าง เวลาถ้าเคาะระฆังมีอะไรเราก็ไปร่วมกิจกรรม ที่ท่านเคยสอนเป็นพิเศษ ก็คือให้ป้าพยายามเรียนภาษาอังกฤษเพื่อจะได้สื่อสารได้ ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะป้าไม่ชอบ แล้วบางทีท่านก็ให้หัวข้อธรรมะมาให้เขียน ท่านให้ทำอะไรก็ทำเท่าที่ตัวเองคิดว่าทำได้”

1215f

ทายาทเจ้าชื่น สิโรรส เล่าต่อไปว่า “สิ่งที่ป้าประทับใจที่ถูกเทศนา วันนั้นคล้ายๆ มีการถางป่า แล้วก็มีการเผา คณะป้า ทั้งแม่ชี ทั้งพระก็ไปช่วยกัน ป้าก็ทำจนสุดความสามารถตัวเอง แล้ววันหนึ่งท่านก็เทศน์บอก คนบางคน คล้ายๆ ทำเกินตัวเอง ที่รู้ว่าท่านคงเทศนาว่าป้าเพราะว่าพวกที่ไปทำงานด้วยกันบอกป้าทำซะจนหน้าแดงไปหมด (หัวเราะ) มันอยู่กับไฟ...ท่านพูดทำนองคล้ายๆ ว่า ไม่รู้จักประมาณตน เป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า เวลาทำอะไรถ้าเราทำเกินไปมันไม่เดินทางสายกลางนะ เตือนสติตัวเอง

1215d

“ตอนหลังๆ ตอนที่ไปอยู่ที่ไชยา ท่านก็มักจะเลือกหนังสือให้อ่าน แล้วท่านก็บอกว่า ให้อ่านร้อยครั้งไม่ต้องท่องนะ ถ้าไม่เข้าใจอะไรก็ให้อ่านความหมายใต้บรรทัด ตอนหลังมาท่านเคยให้รูปปั้นป้ารูปหนึ่งเล็กๆ ท่านบอกว่า เมื่ออ่านหนังสือท่านไม่เข้าใจอันไหนให้ถามรูปปั้นนี่นะ ถ้ารูปปั้นไม่ตอบให้ป้าทุบทิ้งเลย (หัวเราะ) ป้าก็บอกว่าถ้าเราอ่านร้อยครั้ง เราก็คล้ายๆ เหมือนเราได้โยนิโสมนสิการ ได้คิดตามได้อะไรตาม แล้วท่านก็บอกต้องอ่านความหมายใต้บรรทัดด้วย ก็ทำให้เราคิดมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น...ก็เห็นว่าธรรมะที่ท่านให้เราเนี่ย ถ้าเราอ่านร้อยครั้งก็คงไม่ต้องไปปรึกษารูปปั้นแล้ว ท่านอาจจะเตือนสติเราให้คิดว่าท่านสอนอะไรเรามาบ้าง” เพ็ญฉาย สิโรรส กล่าวถึงบางตัวอย่างความประทับใจเมื่อครั้งได้มีโอกาสได้พบและสนทนากับพุทธทาสภิกขุ

“ท่านอาจารย์ก็บอกให้พวกเราทุกคนต้องคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” 

เผาศพพทธทาส04

ขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังลังเลสงสัยต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุ แต่ความน่าสนใจเมื่อได้พูดคุยกับหลายบุคคลที่มีโอกาสสนทนากับภิกษุนามพุทธทาสก็คือ ภิกษุรูปนี้ไม่เคยหากินกับเรื่องนรก-สวรรค์ หากแต่คำสอนที่สำคัญที่เป็นที่จดจำกันในหมู่ลูกศิษย์ก็คือเรื่องของ ความตาย ซึ่งทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตของ พุทธทาสภิกขุ ถูกบันทึกไว้ด้วยการระลึกรู้อย่างมีสติ ดังที่ เพ็ญฉาย สิโรรส ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่พุทธทาสภิกขุอาพาธหนักเป็นครั้งสุดท้ายจนกระทั่งมรณภาพในเวลาต่อมาเอาไว้ว่า “เรื่องพวกนี้อาจจะเป็นเพราะเราจะพูดถึงเรื่องความตายกันเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ท่านอาจารย์ก็บอกให้พวกเราทุกคนต้องคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

1215i

ท่านบอกว่ามันถึงเวลามันก็ต้องไป แม้แต่คุณพ่อจะพูดกับพวกเราตลอดเรื่องพวกนี้ จนกระทั่ง พระมหาบุญชู ฐิตปุญโญ บอกพวกป้านี่ พ่อแม่ตายไม่ร้อง คล้ายๆ กับว่า ความตื้นตันใจที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นมีน้อยเกินไป ป้าบอก อ้าว...ก็พ่อก็สอนเรา ท่านอาจารย์ก็สอนเรา แล้วเราจะไปร้องไห้ให้คนอื่นดูทำไม (หัวเราะ) ก็เถียงท่านไปอย่างนั้น ก็รู้แต่ว่าท่านป่วย แล้วคิดว่าถ้ามีปัญหาท่านก็บอกให้เราอ่านเรื่องของท่านร้อยครั้ง เรารู้แต่ว่าเราควรจะไปร่วมงานไหม ประเภทนั้นมากกว่า เพราะว่าปัญหาที่จะถามท่านเราไม่มี” 

1215g

ทายาทเจ้าชื่น สิโรรส เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งอยู่ร่วมในเหตุการณ์วันฌาปนกิจศพพุทธทาสภิกขุ หรือวันเยี่ยมสวนโมกข์ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๖ และสัจธรรมที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในวันนั้นต่อไปว่า “แสงไฟที่เผามาก็ยังถึงป้า ป้าอยู่ข้างหน้าด้านทิศใต้ พระก็อยู่ด้านนี้ (ยกมือกางไปทางขวา) ป้าขึ้นไปก่อนที่ศพท่านจะขึ้นไปถึงข้างบน คณะเราไปนั่งเรียบร้อยอยู่ ก็พิจารณาแล้วย้อนดูตัวเอง เราก็เตรียมตัวเรา

1215j

“ป้าบอกพระที่นี่ (วัดอุโมงค์) เมื่อก่อนบอกให้เอาไว้ ๓ คืน แต่ตอนนี้บอก คืนเดียวก็น่าจะพอแล้ว มันไม่ฟื้นก็เผาได้เลย ป่าช้าก็อยู่ตรงนี้ ที่วัดอุโมงค์ป่าช้าติดกับเขตวัดเลย แล้วปกติก็ใช้ฟืนในวัดอุโมงค์เผาชาวบ้านอยู่แล้ว ป้าบอกฟืนเฟินป้าก็ให้คนงานเตรียมไว้แล้ว (ยิ้มอย่างอารมณ์ดี) ก็คิดว่าไม่มีปัญหา แล้วก็เริ่มบอกคนอื่นให้จัดงานอย่างไร...ตอนนี้ใครๆ บอกว่าป้าแข็งแรงดีน่าจะอายุยืน ป้าก็บอกว่า ถ้าอยู่ได้ถึง ๙๐ ก็บุญแล้ว ภาษิตเมืองเหนือเขาบอกอายุ ๙๐ ไข้ก็ตาย ไม่ไข้ก็ตาย ก็คิดว่าพยายามปฏิบัติให้ตัวเอง ให้วิญญาณตัวเองไปดีๆ แล้วป้าก็บอกทุกคนว่า ป้าจะไม่เป็นเสื้อวัด ที่ทางเหนือเขาบอกว่า แต่ละวัดเขาจะมีหอให้เสื้อวัดอยู่ ป้าก็ถามท่านเจ้าคุณว่าแปลว่าอะไรท่าน เขาบอกคนที่ทำบุญกับวัด ดูแลวัด มักจะใจผูกพันกับวัดจะไม่ไปไหน คล้ายๆ จิตวิญญาณจะผูกพันกับตรงนั้น เขาก็เลยทำที่ให้อยู่เพื่อจะได้ไม่ไปรบกวนคนอื่น อันนี้เป็นคติของทางเหนือที่ป้ารู้มา...ป้าก็เลยคิดว่าสิ่งที่เราทำไป เราทำเพื่อละ ไม่ใช่ทำเพื่อผูกพันกับที่นี่” ข้อมูลจาก เพ็ญฉาย สิโรรส สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมตัวในการเผชิญหน้ากับสัจธรรมที่มนุษย์ส่วนใหญ่ยังเกรงกลัวอย่างมีสติ 

1215h

หากจะหามาตรวัดความสำเร็จในการเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนาตามแนวทางของพุทธทาสภิกขุ คงไม่มีตัวชี้วัดใดจะยอดเยี่ยมไปกว่า รอยยิ้ม ที่ปรากฏขึ้นอย่างเยาะหยันเมื่อลูกศิษย์ของภิกษุนามพุทธทาสได้กล่าวถึง ความตาย

...ในห้วงเวลาที่สรรพชีวิตยังคงส่งเสียงเจื้อยแจ้วภายใต้ความร่มรื่นของแมกไม้ ร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่ของวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ กลับปรากฏชัดผ่านซากปรักหักพังของกาลเวลา...