พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์

Share

งานจดหมายเหตุ,

“อีก ๕๐ ปีไปจากนี้ คนจะจำไชยาได้ก็แค่ ๒ อย่างเท่านั้นก็คือ ไข่เค็มกับอาจารย์พุทธทาส”
พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒

 4545

 ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/fBGBrlKVKZw 

“มีอยู่ครั้งหนึ่งจำไม่ได้แล้วว่าทริปไหน นั่งรถสองแถวจากหน้าสวนโมกข์จะไปพุมเรียงหรือจะเข้าเมืองสุราษฎร์ธานี จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามีคุณป้าคนหนึ่งเป็นแม่ค้าท่านหิ้วกระจาดขึ้นมาแต่จำไม่ได้ชัดว่าขายอะไร แต่ว่าเคี้ยวหมากอายุ ๕๐-๖๐ แล้วล่ะ ใส่ผ้าถุงตัวอ้วนๆ เดินขึ้นรถสองแถวแล้วท่านก็สร้างบทสนทนา ‘อิฉันก็ไม่รู้ทำไมนะ ชอบมาฟังอาจารย์พุทธทาสมาทุกวันเสาร์เลย ท่านก็เทศน์ด่าพวกเรานี่แหละ ไม่รู้ทำไมชอบฟังถูกด่า’

เสร็จแล้วเขาก็พูดประโยคหนึ่งจำได้จนทุกวันนี้ ‘คอยดูนะอีก ๕๐ ปีไปจากนี้คนจะจำไชยาได้ก็แค่ ๒ อย่างเท่านั้นแหละก็คือ ไข่เค็มกับอาจารย์พุทธทาส’ (ความประทับใจปรากฏผ่านรอยยิ้มที่ฉายกว้างเคล้าเสียงหัวเราะ) เออๆ สงสัยจะจริง ประทับใจว่า เออ...ชาวบ้านเขาก็มาฟัง แล้วเขาก็วางอาจารย์พุทธทาสไว้ในอนาคตพร้อมๆ กับไข่เค็มไชยา”

ความเรียบง่ายของความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งเร้าปฏิกริยาบางอย่างให้ปรากฏพร้อมคราบน้ำตาแห่งความปีติเพียงเพราะผู้ร่วมสนทนาสัมผัสได้ถึงความลึกซึ้ง จริงใจ ในบทสนทนาธรรมดาๆ เกี่ยวกับภิกษุนาม พุทธทาส

20191204 01

 

แรกพบพุทธทาสภิกขุ

เมื่อการครุ่นคิดเกี่ยวกับชีวิตคือแง่มุมหนึ่งของ ปรัชญา จึงไม่น่าแปลกใจที่บนเส้นทางแห่งการใคร่ครวญถึง ความจริง ความงาม ความยุติธรรม และฯลฯ จะนำพาให้ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาได้มีโอกาสพบและสนทนากับพุทธทาสภิกขุ

“จำได้ว่าอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี เห็นหนังสือแต่จำไม่ได้ว่าเล่มไหน ก็เห็นหน้าของท่านอาจารย์พุทธทาส รู้สึกว่าพออ่านแล้วติดใจ อ๋อ...พุทธปรัชญาเป็นอย่างนี้เหรอ โอ้...อย่างนี้มันน่าสนใจนะ มันไม่น่าเบื่อนะ มันพูดกับชีวิตเรา พูดกับความเข้าใจของเราเพื่อประสบการณ์เราได้ แล้วก็ตามอ่านท่านไปเรื่อยๆ จน ๒๐, ๓๐, ๔๐ ปี” ศ.ดร.สุวรรณา เล่าถึงเรื่องราวเมื่อแรกครั้งได้รู้จักชื่อเสียงของภิกษุนามพุทธทาส ก่อนบรรยายถึงเหตุการณ์เมื่อคราวไปเยือนสวนโมกข์เป็นครั้งแรกต่อไปว่า

20191204 20

“ถ้าจำไม่ผิดเป็นกิจกรรมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อายุ ๑๖ หรือราวๆ นี้ ตอนนั้นเพื่อนชวนไปเที่ยวภูกระดึง เราก็บอกว่าพอดีมันติดกับกิจกรรมที่จะไปสวนโมกข์ โห...เราก็อยากเที่ยว แต่ตัดสินใจไปสวนโมกข์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ไปพบท่านอาจารย์พุทธทาส ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก รู้สึกแต่ว่าได้อ่านหนังสือบางเล่มของท่านแล้วสนใจ อยากจะไปเห็นตัวจริงของท่าน อยากรู้ว่าคนคนนี้เป็นอย่างไรก็ตัดสินใจไป ก็ไม่ผิดหวังเลยนะคะ รู้สึกประทับใจมาก ไปนอนอยู่อาทิตย์หนึ่ง

เป็นครั้งแรกที่ไม่กินข้าวเย็น นุ่งผ้าถุง เราเป็นคนจีนไม่เคยนุ่งผ้าถุงไปที่นั่นต้องนุ่งผ้าถุง ไม่ใส่รองเท้า ไปเดินโคลนเดินดิน โอ้โห...คือประทับใจมาก แล้วก็นอนแบบในโรงที่เขาจัดให้ เข้าห้องน้ำแบบธรรมดาที่สุด คือเราเหมือนเด็กเมือง ถึงแม้อยู่กึ่งเมืองอยู่ชานเมืองอย่างที่ว่า บ้านเราก็ห้องน้ำแบบคนชนชั้นกลาง ไปถึงที่นั่นก็ปรับตัวแต่ว่าก็สงบ คล้ายๆ รู้สึกใจสงบ พอใจมาก ตอนแรกกลัวว่าจะนอนไม่หลับ จะหิวกลางคืนก็ไม่เลย หลับสบายมีความสุขมาก แปลก” เสียงหัวเราะเจือรอยยิ้มน้อยๆ บ่งบอกถึงความประทับใจที่ยังแจ่มชัดในความทรงจำของนักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา

20191204 03

พุทธทาสภิกขุ ความใจกว้างทางญาณวิทยา กับพุทธศาสนาแบบจารีต

"พระในจารีตเถรวาทไทยที่มีใจเปิดกว้างต่อศาสนาอื่นมากที่สุดรูปหนึ่งน่าจะไม่พ้นอาจารย์พุทธทาส"

หนึ่งในคำถามที่สำคัญในการเดินทางบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากความทรงจำของผู้คนร่วมยุคสมัยก็คือ ภายใต้บริบทเดียวกันที่แวดล้อมพวกเขาและพุทธทาสภิกขุ อะไรคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาสที่กระจัดกระจายอยู่ในสังคม

“ไม่รู้ว่าจะตอบคำถามนี้ได้อย่างยุติธรรมหรือเปล่า เพราะว่าตอนนั้นเราก็ยังเด็กมาก ไม่รู้จะตอบแทนสังคมทั้งหมดได้หรือเปล่า” ศ.ดร.สุวรรณา ออกตัวถึงข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็น ก่อนให้ข้อมูลว่า

“เอาเท่าที่จำได้ ดิฉันคิดว่าอาจารย์พุทธทาสเป็นตัวแทนของการผสมผสานระหว่างสายปริยัติกับปฏิบัติ ที่เขาคุยกัน พระรูปนี้ต่างจากพระรูปอื่นนะ ไม่แบ่งพระป่า พระบ้านนะ ท่านสนใจศึกษาด้วย ท่านปฏิบัติธรรมด้วย แล้วท่านก็ไปอยู่วัดที่อยู่ในป่าแต่ท่านก็อ่านคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งอาจจะถูกจริตกับดิฉัน ดิฉันก็เชื่อว่ามันต้องไปด้วยกัน ดิฉันไม่ค่อยเชื่อว่าสองสิ่งนี้แยกจากกัน แล้วดิฉันคิดว่าอาจจะเพราะพื้นเพเดิมของตัวเองที่มาจากหลายศาสนา หลายวัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้ในสมัยนั้นและแม้แต่สมัยนี้ดิฉันคิดว่า พระในจารีตเถรวาทไทยที่มีใจเปิดกว้างต่อศาสนาอื่นมากที่สุดรูปหนึ่งน่าจะไม่พ้นอาจารย์พุทธทาส

20191204 30

ดิฉันคิดว่าท่านทำให้เรารู้สึกท่านต้อนรับเราไม่ว่าคุณจะมาจากชาติไหน ศาสนาไหน ชาติพันธุ์อะไร ท่านก็ต้อนรับ รู้สึกว่าท่านเปิดกว้าง มีความใจกว้าง ในทางภาษาปรัชญาดิฉันเรียกว่า Epistemic Generosity คือมีความใจกว้างทางญาณวิทยา คือเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย วิธีอธิบายโลกที่ต่างกัน ต่างศาสนา ต่างนิกาย คล้ายๆ ดิฉันรู้สึกว่า ในแง่นี้ท่านเป็นที่ประทับใจของคนจำนวนไม่น้อยในสมัยนั้น ซึ่งจริงๆ ประเด็นนี้ก็ยังสำคัญอยู่มากในปัจจุบันนี้” นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา อธิบายถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุในทางบวกที่ปรากฏอยู่ในสังคมร่วมยุคสมัย ก่อนให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเล่าอีกชุดเกี่ยวกับภิกษุนามพุทธทาส ต่อไปว่า

20191204 02

ส่วนที่เป็นแง่ลบน่าจะมาจากกลุ่มอนุรักษ์ที่อยากจะเก็บพุทธปรัชญา พุทธศาสนาไว้ที่จารีตแนวเดิม เป็นการรักษาความต่อเนื่อง รักษาสถาบันเดิม รักษาอัตลักษณ์ไทย อะไรก็ว่าไป อันนี้ก็เป็นบทบาทสำคัญเราปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นในแง่นี้สิ่งที่อาจารย์พุทธทาสสอนเรื่องความสำคัญของชาติภพนี้ เน้นเรื่องกุศลมากกว่าเรื่องบุญกรรมอะไรพวกนี้ มันทำให้วิธีคิดแบบเดิมอาจจะไม่สามารถตอบคำถามได้หมด

คนกลุ่มนี้ก็อาจจะบอกว่า อันนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธปรัชญา แต่ว่าอีกพวกหนึ่งกลับไปเห็นว่าพุทธศาสนาจริงๆ เป็นศาสนาสากล เป็นศาสนาดับทุกข์ แน่นอนวัฒนธรรมไทยเป็นตัวโอบอุ้ม (พุทธศาสนา) ที่สำคัญ แต่อย่าถูกจำกัดโดยวัฒนธรรมไทย

ในแง่นี้ดิฉันคิดว่าในเชิงบวกคนก็เห็นท่านเป็นทางออก เป็นหน้าต่างที่เปิดไปสู่พุทธธรรมที่แท้ ดิฉันคิดว่าอย่าไปมองว่าอะไรแท้ อะไรไม่แท้ แต่มองว่าเป็น ๒ บทบาทที่ดำรงอยู่คู่กัน แล้วอาจารย์พุทธทาสท่านเน้นบทบาทหนึ่งซึ่งบางคนที่เห็นบทบาทอีกบทบาทหนึ่งของพุทธศาสนาอาจจะรู้สึกว่าไม่ดี ไม่ใช่ กับอีกพวกหนึ่งเห็นว่านี่แหละคือบทบาทที่น่าจะเป็นของพุทธปรัชญาในสังคมไทย เป็นทางเลือกก็ได้หรือเป็นทางที่คิดว่าตรงต่อเจตนาดั้งเดิมก็ได้” ศ.ดร.สุวรรณา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเล่า ๒ ชุดที่พาดพิงถึงพุทธทาสภิกขุในห้วงเวลาร่วมยุคสมัย

‘อาจารย์สุวรรณาคิดน้อยๆ หน่อยชีวิตจะดีขึ้น’ ปรัชญาน้อยๆ หน่อยชีวิตจะดีขึ้น ก็จำมาจนถึงทุกวันนี้ คือดิฉันคิดว่าสำหรับอาจารย์ ความเป็นวิชาการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธปรัชญา ไม่ใช่คำตอบที่สำคัญที่สุด

‘พุทธทาสภิกขุ’ เรื่องเล่าจากความทรงจำของ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์

แม้ความปรารถนาที่จะทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในประเด็นเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุสมัยที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกาจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับงานแปลของพุทธทาสภิกขุเป็นภาษาอังกฤษยังมีน้อยเกินกว่าที่อาจารย์ชาวต่างประเทศจะใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของวิทยานิพนธ์ แต่หลังเรียนจบปริญญาเอก ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ก็ได้มีโอกาสพบและสนทนากับพุทธทาสภิกขุอีกหลายครั้ง และหลายเรื่องราวก็ยังเป็นที่จดจำตลอดมา

20191204 05

“พวกนักวิชาการอย่างเราก็โดนท่านดุนะ ‘อาจารย์สุวรรณาคิดน้อยๆ หน่อยชีวิตจะดีขึ้น’ (หัวเราะกับความทรงจำอย่างอารมณ์ดี) ปรัชญาน้อยๆ หน่อยชีวิตจะดีขึ้น ก็จำมาจนถึงทุกวันนี้ คือดิฉันคิดว่าสำหรับอาจารย์ ความเป็นวิชาการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธปรัชญา ไม่ใช่คำตอบที่สำคัญที่สุด ดิฉันจำได้ที่ไป (สวนโมกข์ไชยา) คือหลังจากเรียนปริญญาเอกกลับมาแล้ว เตรียมไป ๒๐ กว่าคำถาม ร้อนวิชาอยากถามนั่นถามนี่ จำได้แม่นเลยว่า ถามไปสัก ๒-๓ คำถาม อาจารย์พุทธทาสท่านไม่ตอบในกรอบคำถามของเรา ท่านผลักคำถามของเราเข้าไปในประสบการณ์ปฏิบัติธรรมของท่าน แล้วท่านตอบจากประสบการณ์ท่าน เหมือนสิ่งที่เราคิดเป็นเพียง Concept เป็นเพียงแนวคิด แต่สิ่งที่ท่านพูดมาจากประสบการณ์ที่ท่านปฏิบัติธรรมมา ๔๐ ปี มันคนละระนาบกัน

20191204 22

หลังจากนั้นดิฉันจำได้ ดิฉันก็พับ ๒๐ คำถามเก็บ แล้วก็พยายามนั่งคุยกับท่าน พยายามเข้าใจมุมมองพุทธปรัชญาจากคนที่ปฏิบัติ ไม่ใช่จากคอนเซ็ปต์ในทางปรัชญาเท่านั้น ในที่สุดดิฉันคิดว่า ๒ เรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าไปด้วยกันไม่ได้ แต่ตอนนั้นเราเองยังอ่อนด้อยประสบการณ์ในทางปฏิบัติมากเกินไป ไม่ใช่สองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่เราเองประสบการณ์ปฏิบัติไม่พอ” ศ.ดร.สุวรรณา อธิบายถึงบางบทสนทนากับพุทธทาสภิกขุที่ฉายภาพให้เห็นช่องว่างระหว่างการครุ่นคิดและการปฏิบัติที่จำเป็นต้องแสวงหาจุดเชื่อมโยงในการทำความเข้าใจ พุทธธรรม และ พุทธปรัชญา ก่อนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ความประทับใจที่จดจำได้เมื่อพูดถึง พุทธทาสภิกขุ ต่อไปว่า

20191204 06

“ที่จำได้คือ ๓ เรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ เวลาไปคุยกับท่านหลายหน มีไก่มายืนอยู่ที่ไหล่แล้วไก่ก็หลับ ตัวหนึ่งหลับอยู่บนไหล่ ตัวหนึ่งหลับอยู่บนขา อยู่บนหน้าแข้งท่านหลับไปทั้งคู่เลย ซึ่งอาการที่สัตว์มันหลับอยู่บนร่างกายมนุษย์ มันทำให้ดิฉันเข้าใจว่า พระอรหันต์น่าจะเป็นอย่างไร ดิฉันไม่ทราบว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่านะ แต่หมายความว่า ในทางปรัชญาเซ็น เรื่องหนึ่งที่เขาคุยกันมากก็คือ เวลาเราเหมือนกับ ซาโตริ แล้ว เรายังรับรู้โลกอยู่หรือเปล่า หรือว่าเป็นเหมือนก้อนหินไม่รับรู้อะไร ไม่มีการตระหนักรู้วิญญาณ อาจารย์พุทธทาสในการรับรู้ของสัตว์ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไป สัตว์ก็เลยหลับ เพราะไม่มีการรับรู้ความกลัวของมนุษย์ที่อาจจะมุ่งร้ายหรือไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ ดิฉันรู้สึกอันนั้นเป็นภาพที่ประทับใจทั้งในแง่ที่เห็นไก่น่ารักยืนหลับสองตัว แล้วก็บรรยากาศตอนเย็น พลบค่ำ มันทำให้ฉุกคิดถึงปรัชญาที่เราเคยอ่าน”

"...ชาวบ้านเขาก็มาฟัง แล้วเขาก็วางอาจารย์พุทธทาสไว้ในอนาคตพร้อมๆ กับไข่เค็มไชยา"

20191204 08

นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เล่าต่อไปว่า “เรื่องที่สอง จำได้จนทุกวันนี้ เรานั่งคุยกันหลายคน ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ก็นั่งอยู่บนม้าหินของท่าน แล้วก็มีหลายคนคุย เสร็จแล้วมีผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ต้นๆ เดินเข้ามาใส่เสื้อยืดสีขาวแล้วเขาสูบบุหรี่ สูบจัดมากเลย พอเขาเข้ามาในเขตวัดเขาก็รีบดับบุหรี่ แล้วเขาก็เอาซองบุหรี่ที่เขาถือเสียบไว้ตรงเสื้อยืดเข้าไปไว้ใต้แขนเสื้อ แล้วซองบุหรี่ก็คล้ายๆ ติดอยู่ที่แขนเสื้อ แล้วเขาก็ไหว้อาจารย์พุทธทาส เหมือนกับการดำรงอยู่ของอาจารย์พุทธทาสทำให้เขารู้สึกว่าต้องเก็บอบายมุขไปไกลๆ แต่เขาไม่ได้ทิ้งตัวซองบุหรี่ เขาเก็บไว้ไม่ให้เห็น และเขาหยุดสูบ ในแง่นี้ถ้าคิดไปไกลๆ นะ มันคือวิธีที่คนไทยต้องอาศัยคนที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าเพื่อทำให้ตัวเองมีศีลธรรม (หัวเราะเล็กๆ) ศีลธรรมไม่ได้อยู่กับเราเท่าไหร่ อยู่กับการอยู่ใกล้คนแบบนี้หรือเปล่า ถ้าเราเคารพเขาเราก็ยินดีงดอบายมุขชั่วคราว อันนั้นก็ประหลาดดี อันนั้นก็ประทับใจ

20191204 04

“อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีอยู่ครั้งหนึ่งจำไม่ได้แล้วว่าทริปไหน นั่งรถสองแถวจากหน้าสวนโมกข์จะไปพุมเรียงหรือจะเข้าเมืองสุราษฎร์ธานี จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามีคุณป้าคนหนึ่งเป็นแม่ค้าท่านหิ้วกระจาดขึ้นมาแต่จำไม่ได้ชัดว่าขายอะไร แต่ว่าเคี้ยวหมากอายุ ๕๐-๖๐ แล้วล่ะ ใส่ผ้าถุงตัวอ้วนๆ เดินขึ้นรถสองแถวแล้วท่านก็สร้างบทสนทนา ‘อิฉันก็ไม่รู้ทำไมนะ ชอบมาฟังอาจารย์พุทธทาสมาทุกวันเสาร์เลย ท่านก็เทศน์ด่าพวกเรานี่แหละ ไม่รู้ทำไมชอบฟังถูกด่า’ เสร็จแล้วเขาก็พูดประโยคหนึ่งจำได้จนทุกวันนี้ ‘คอยดูนะอีก ๕๐ ปีไปจากนี้คนจะจำไชยาได้ก็แค่ ๒ อย่างเท่านั้นแหละ ก็คือไข่เค็มกับอาจารย์พุทธทาส’ (ความประทับใจปรากฏผ่านรอยยิ้มที่ฉายกว้างเคล้าเสียงหัวเราะ) เออๆ สงสัยจะจริง ประทับใจว่า เออ...ชาวบ้านเขาก็มาฟัง แล้วเขาก็วางอาจารย์พุทธทาสไว้ในอนาคตพร้อมๆ กับไข่เค็มไชยา” ศ.ดร.สุวรรณา บอกเล่าความประทับใจผ่านรอยยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะกับบทสนทนาที่ดูเรียบง่ายแต่กลับแฝงไว้ด้วยสัมผัสที่ลึกซึ้งอย่างน่าอัศจรรย์

20191204 09

"เรื่องความทุกข์ มันเป็นสากล อย่างไรความทุกข์ยังต้องมีอยู่ ทีนี้ความทุกข์ของสมัยนี้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากเดิมคืออะไร"

“ทำอย่างไรให้อาจารย์พุทธทาสยังมีนัยยะที่สำคัญ” : ปัจจุบันและอนาคตกับมรดกทางปัญญาของพุทธทาสภิกขุ

นอกเหนือจากความทรงจำที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ยังได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่สนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ และสำหรับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในการขับเคลื่อนมรดกทางปัญญาของพุทธทาสภิกขุและพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

20191204 17

“ในปัจจุบันนี้สังคมที่เปลี่ยนไป ทำอย่างไรให้อาจารย์พุทธทาสยังมีนัยยะที่สำคัญอยู่ ดิฉันเห็น ๓-๔ ประเด็นด้วยกัน อันที่หนึ่ง ดิฉันคิดว่าวิกฤติในแต่ละช่วงของโลกและของสังคมไทยมันคงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ถึงแม้วิกฤติเปลี่ยนแต่หลายอย่างก็อาจจะยังคงเหมือนเดิม เช่น เรื่องความทุกข์ มันเป็นสากล อย่างไรความทุกข์ยังต้องมีอยู่ ทีนี้ความทุกข์ของสมัยนี้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากเดิมคืออะไร เช่น สมมติว่า เราอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยเราเห็นอันหนึ่งที่ชัดมากคือโรคซึมเศร้าในเยาวชน คุณทราบไหม ตอนนี้สถิติคนเป็นโรคซึมเศร้าสูงมากๆ ร้อยละ ๒๐-๓๐ ในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำ สถิติฆ่าตัวตายก็สูงขึ้น

ดิฉันรู้สึกว่าน่าจะนำงานของอาจารย์พุทธทาสหรือคนที่คิดพุทธปรัชญาในเชิงเป็นการเยียวยาทางจิตวิทยามาจับประเด็นพวกนี้แล้วดูปรากฏการณ์ร่วมสมัยแล้วทำให้พุทธศาสนามีบทสนทนากับเรื่องพวกนี้ก็จะน่าสนใจยิ่งขึ้น ทำให้เห็นมิติความหลากหลายของความทุกข์ ซึ่งตัวทุกข์เป็นสากล แต่ลักษณะที่ทุกข์มันเปลี่ยน มันพัฒนาต่อไป” นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการนำผลงานของพุทธทาสภิกขุและพุทธศาสนาไปร่วมสนทนากับความทุกข์ของผู้คนในสังคมร่วมสมัย ก่อนนำเสนอต่อไปว่า

20191204 13

“ประเด็นที่สอง เรื่องตัวตน เรื่องอัตตา พวกเราทราบว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา ตอนนี้ตัวตนมันไปปรากฏในไซเบอร์ มันเป็นอวตาร เป็นการประกอบสร้าง มีความหลากหลายของการสร้างตัวตน คำสอนของพุทธจะคุยกับปรากฏการณ์พวกนี้อย่างไร อันนี้ก็น่าสนใจนะ ดิฉันจริงๆ อยากจะชวนหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ลองทำการสำรวจตอนนี้เขาคุยเรื่องพวกนี้ แล้วใครที่สนใจงานอาจารย์พุทธทาสที่คุยเรื่องพวกนี้ จัด Forum (การประชุมแสดงความคิดเห็น) สักครั้งหนึ่ง แล้วมากลั่น มากรอง เอามาคัดสรร แล้วดูว่าอะไรน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ โครงการของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ในอีก ๕-๑๐ ปี ดิฉันคิดว่าเรื่องพวกนี้น่าสนใจ”

20191204 16

ศ.ดร.สุวรรณา กล่าวต่อไปว่า “อีกเรื่องหนึ่งซึ่งดิฉันคิดว่าอาจารย์พุทธทาสถูกวิจารณ์มากที่สุดในวงวิชาการ อาจจะในวงประชาสังคมบางกลุ่มคือเรื่อง ประชาธิปไตย หลายคนมองว่าอาจารย์พุทธทาสเนี่ย นาอีฟ (naïve – ไร้เดียงสา) ทางการเมือง คือไปพูดถึงธรรมาธิปไตยเหมือนประหนึ่งว่ายอมรับอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วก็ทำให้ประชาธิปไตยมีคุณค่าน้อยลง...ดิฉันคิดว่า น่าจะคิดให้ชัดเวลาอาจารย์พุทธทาสพูดเรื่องธรรมาธิปไตย ท่านพูดจากพุทธธรรมซึ่งเป็นอุดมการณ์ปรัชญายุคโบราณที่ไม่แยกระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ หมายความว่าธรรมะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นทั้งวิธี แต่ประชาธิปไตยเป็นวิธีไม่ใช่เป้าหมาย ประชาธิปไตยจะไม่มากำหนดว่าคุณควรจะใช้ชีวิตที่ดีอย่างไร คุณจะต้องมีรสนิยมงามแบบไหน คุณจะนับถือใคร อะไร ประชาธิปไตยไม่มีหน้าที่ยุ่งแบบนี้ แต่จะทำกติกาให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างไร รูปแบบทางการเมือง กระบวนการ สถาบันทางการเมือง

ดิฉันคิดว่าอาจารย์พุทธทาสถูกวิจารณ์มากที่สุดในวงวิชาการ อาจจะในวงประชาสังคมบางกลุ่มคือเรื่อง ประชาธิปไตย หลายคนมองว่าอาจารย์พุทธทาสเนี่ย นาอีฟ (naïve – ไร้เดียงสา) ทางการเมือง คือไปพูดถึงธรรมาธิปไตยเหมือนประหนึ่งว่ายอมรับอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วก็ทำให้ประชาธิปไตยมีคุณค่าน้อยลง

20191204 14

 

“แต่ดิฉันเข้าใจอย่างนี้นะ ไม่ทราบถูกหรือเปล่า อาจารย์พุทธทาสถูกวิจารณ์มากเพราะว่าคนไปเอาคำตอบเรื่องธรรมาธิปไตยของท่านซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ลดทอนมองมันเป็นเพียงวิธีการ ก็เลยบอกว่าท่านเนี่ยอำนาจนิยม ยอมอำนาจเผด็จการ หรือยอมตกอยู่ในกับดักการเมืองเรื่องคนดี...แต่ดิฉันรู้สึกว่าไม่ค่อยยุติธรรมกับอาจารย์พุทธทาสดิฉันรู้สึกว่าวิจารณ์ท่านได้ ไม่ใช่วิจารณ์ไม่ได้ แต่ดิฉันรู้สึกว่าท่านใช้คำนั้นในบริบทที่กว้างกว่าแค่เป็นเพียงวิถี

บางคนก็ฝากดิฉันมาว่า หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ น่าจะปกป้อง ปกป้องในความหมายไม่ใช่ห้ามคนมาวิจารณ์ แต่หมายความว่า ทำความเข้าใจว่าบริบทความหมายของคำของอาจารย์พุทธทาสท่านหมายความอย่างนี้ เวลาคนหยิบไปใช้อีกทีหนึ่งมันก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ต้องแฟร์ๆ กับท่าน ไม่ใช่ว่าวิจารณ์ท่านไม่ได้ อันนี้เป็น ๓-๔ ประเด็นที่ดิฉันคิดว่า จะทำให้มรดกทางปัญญาของอาจารย์พุทธทาสจะยังมีความหมายมีพลังมีชีวิตสืบต่อไปในปัจจุบันและอนาคตได้ เพราะหลายเรื่องที่ท่านพูดก็จำเป็นที่จะต้องถูกท้าทายแล้วคุยกับประเด็นร่วมสมัยมากขึ้น” ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนมรดกทางปัญญาของพุทธทาสภิกขุไปสู่อนาคต

20191204 11

บนเส้นทางความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ อาจมีหลายเรื่องเล่าที่จัดวางภิกษุนามพุทธทาสเอาไว้ที่มิติใดมิติหนึ่ง แต่สำหรับบทสนทนาอันเรียบง่ายจากความทรงจำของ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ กลับชี้ชวนให้ผู้ร่วมสนทนาได้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง ความเป็นท้องถิ่นของภิกษุเมืองไชยากับความเป็นสากลของพุทธศาสนา, การครุ่นคิดทางปัญญากับการเดินทางด้านใน และความเป็นไปได้ในปัจจุบันและอนาคตของมรดกทางปัญญาจากพุทธทาสภิกขุซึ่งอาจจำต้องข้ามพ้นกับดักของการโหยหาอดีต (Nostalgia) ที่บ่อยครั้งก็เป็นเพียงการจำลองกำแพงแห่งความสุขมาปิดบังความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ร่วมสมัย

ในยุคที่หุ่นยนต์สามารถท่องจำบทสวดและคำสอนทางศาสนาได้อย่างแม่นยำ (ดู https://www.bbc.com/thai/international-49344782) พิธีกรรมสามารถถูกจัดฉากได้เหมือนอดีตทุกระเบียดนิ้ว มนุษย์กลับเผชิญเงื่อนไขใหม่ๆ ที่นำไปสู่ความทุกข์โดยที่การท่องจำและพิธีกรรมก็ไม่อาจเป็นคำตอบ