พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ รศ. ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว

Share

ประวัติศาสตร์บอกเล่า,

“ผมรู้สึกว่าท่านสอนเราโดยที่ไม่ต้องพูดสักคำ”
พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ รศ. ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว


โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ 12 กุมภาพันธ์ 2562


 
“ผมก็กราบท่าน (พุทธทาสภิกขุ) บนทรายด้วยความรู้สึกเคารพนบนอบสูงสุดที่จะให้ได้ในหัวใจของเรานะ (ความเงียบของการครุ่นคิดเข้าปกคลุมชั่วขณะ สลับกับเสียงวิหคบรรเลงเพลงเจื้อยแจ้ว) แล้วที่เกิดขึ้นกับผมคือ ผมอยากให้ท่านทักสักหน่อย...แต่พอท่านนั่งสงบนิ่งไม่ทัก ไม่มองผมด้วยซ้ำ ขณะที่เรากราบท่านสายตาของท่านมองไม่เห็นผมแต่มองไปไกลสุดลูกหูลูกตา สิ่งที่ปรากฏขึ้นในใจผมก็คือ ความร้อนรน รู้สึกผิดหวังมากๆ เลยที่ท่านไม่ทัก...แล้วสักพักหนึ่งผมถามตัวเองว่า โสรีช์ เอ็งเป็นอะไร คำตอบก็คือ โอ้โห...อัตตาของผม ตัวตนของผม ความผยองของผม มานะของผมทะลักมาเต็มหมดเลย ผมเพิ่งเห็นมันชัดๆ ที่สุด...เลยทำให้ผมรู้สึกว่าท่านสอนเราโดยที่ไม่ต้องพูดสักคำ” รองศาสตราจารย์ ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว อดีตอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บุกเบิกและปรับประยุกต์พุทธธรรมเข้าสู่จิตวิทยาการปรึกษา บอกเล่าความทรงจำเมื่อแรกพบพุทธทาสภิกขุ และบทเรียนจาก อัตตา ที่ตระหนักได้ผ่านการวางเฉยและเงียบงัน


เชียงใหม่สมัยที่ผมเกิด มันน่าจะเป็นยุคก่อนเจริญด้วยแบบแผนของโลกตะวันตก

รศ. ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว ในวัย 69 ปี ย้อนภูมิหลังเกี่ยวกับครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจว่า “คุณพ่อผมเป็นคนรุ่นโบราณที่เชี่ยวชาญโหราศาสตร์ สนใจพวกพิธีกรรม ท่านเคยบวชไปศึกษาที่พม่า พอกลับมาก็เป็นเพศบรรชิตสักพัก ผมไม่แน่ใจว่านานแค่ไหน แล้วก็ลาสิกขา อาชีพก็เป็นคล้ายๆ ที่ปรึกษาทางด้านโหราศาสตร์ แล้วก็อะไรที่มันเกี่ยวข้องกับหยูกยาโบราณ เรื่องดาว เรื่องดวง เรื่องพิธีกรรมที่เป็นมงคลขึ้นบ้านใหม่ พ่อจะดูแลอะไรพวกนี้ ท่านคล้ายๆ ว่าเป็น elite (ชนชั้นสูง) รุ่นเก่า รุ่นต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เป็นคล้ายๆ โหราจารย์ ท่านดูดวงแม่นมาก ท่านบอกว่าท่านอาศัยตำราของโหรหลวงเมืองเชียงใหม่เลยนะ ผมเคยเห็นตำราท่านเป็นภาษาพื้นเมืองแล้วก็ภาษาพม่าซึ่งผมก็ยังเก็บไว้ที่บ้าน แต่อ่านไม่ออกสักตัวว่าคืออะไร”

อดีตอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา เล่าต่อไปว่า “เชียงใหม่โบราณสมัยที่ผมเกิด มันน่าจะเป็นยุคก่อนเจริญด้วยแบบแผนของโลกตะวันตก ผมรู้สึกอย่างนั้น เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นดินของราชวงศ์เก่าของเชียงใหม่ อย่างเช่นเจ้าแก้วนวรัฐ (มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และองค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่) ท่านสิ้นชีวิตเมื่อประมาณ พ.ศ.2482 ก่อนผมเกิดประมาณ 10 ปี มันเป็นช่วงที่อิทธิพลของอดีตมีอยู่ในบ้านเมือง แล้วสมัยก่อนผู้คนมันน้อย เชียงใหม่คนในเมืองก็จะรู้จักกันเกือบหมด แต่ละคนคล้ายๆ มีวัดในสังกัด เขาเรียกว่าศรัทธา เช่น ศรัทธาวัดไหน คุณพ่อผมจะศรัทธาหลายวัด วัดหลักๆ คือวัดแสนฝาง

“ผู้คนมีจิตใจที่อ่อนโยนเท่าที่ผมสัมผัสได้ แล้วก็ไม่ได้มุ่งมั่นจะร่ำรวยมีชื่อเสียง วิถีชีวิตก็ง่ายๆ อาชีพก็ยังเป็นค้าๆ ขายๆ ปลูกผักปลูกหญ้าอยู่กับงานทางเกษตรค่อนข้างเยอะ งานที่เป็นเทคโนแครต (งานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง) ไม่มี มีน้อยมาก ตอนผมเป็นเด็กมีธนาคารไม่เท่าไหร่ การค้าการขายก็ยังไม่ค่อยคึกคักอะไรเท่าไหร่ ยกเว้นแถวตลาดซึ่งพอสายๆ ก็เงียบๆ” ภาพชีวิตอันเรียบง่ายในเมืองเชียงใหม่เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาค่อยๆ ปรากฏผ่านคำบอกเล่าของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ


วัดอุโมงค์ พุทธศาสนากับธรรมชาติ และพุทธทาสในคู่มือมนุษย์

นอกจากการซึมซับวิถีพุทธศาสนาแบบล้านนาผ่านธรรมชาติและวัฒนธรรมในสังคมเมืองเชียงใหม่ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น รศ. ดร.โสรีช์ ก็มีโอกาสได้รู้จักกับชื่อเสียงของภิกษุนามพุทธทาสเป็นครั้งแรกผ่านพื้นที่อย่างวัดอุโมงค์และหนังสือคู่มือมนุษย์

“ตอนนั้นผมเป็นเด็ก ผมไปวัดอุโมงค์เชียงใหม่ ที่ไปเพราะเขาเล่าลือกันว่า ต้นไม้ที่วัดอุโมงค์มันพูดได้ ผมก็รู้สึกเป็นความมหัศจรรย์นะ แล้วผมก็เลยชวนเพื่อนๆ ไปในช่วงหน้าหนาว ขี่จักรยานไป มันเป็นบรรยากาศที่ร่มรื่นสมัยนั้น”

รศ.ดร.โสรีช์ เริ่มต้นเรื่องราวการเดินทางสู่วัดอุโมงค์เคล้าเสียงหัวเราะ ก่อนให้ข้อมูลต่อไปว่า

“พอไปถึงวัดอุโมงค์ ผมก็เอาจักรยานตั้งแล้วผมก็ไปนมัสการหลวงพ่อรูปหนึ่งซึ่งกำลังกวาดลานวัดอยู่ว่า หลวงพ่อครับเขาบอกว่าต้นไม้ที่วัดอุโมงค์มันพูดได้มันต้นไหนครับ ผมยังจำได้ว่าท่านชื่อ หลวงตาไสว ผมยังได้พบท่านอีกหลังจากที่กลับจากเรียนจบแล้ว ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกข์ ท่านก็ยิ้ม จัดสบงจีวรเสร็จแล้วท่านก็ถามว่า เด็กๆ ตอนนี้ต้นไม้มีใบไหม ไม่มีครับมันช่วงหน้าหนาวครับ มันจะมีใบใหม่เมื่อไหร่ ก็หน้าฝนล่ะครับ เออ เก่ง เด็กๆ เก่งนะ ต้นไม้ทิ้งใบในหน้าหนาว ผลิใบใหม่ต้นฤดูฝน แล้วต้นไม้สอนอะไรเด็กๆ บ้าง เราก็ตอบไปตามเท่าที่เราเข้าใจ สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลง สอนเรื่องการปรับตัว สอนเรื่องฤดูกาลของชีวิตก็ตอบไปตามวัยเด็กล่ะครับ ท่านก็บอก โอ...เก่งๆๆ ถ้าต้นไม้มันเก็บใบไว้ในหน้าแล้งจะมีผลอย่างไรกับต้น เราก็ตอบอย่างสามัญสำนึกล่ะนะ มันก็ต้องตายครับหลวงพ่อ เออ...แสดงว่าต้นไม้มันฉลาดไหม เด็กๆ ลองคิดดูสิ มันยอมทิ้งใบเพื่อรักษาอะไรไว้ เราก็ตอบเพื่อรักษาชีวิตไว้ อันนี้น่าจะเป็นบทเรียนพุทธศาสนาครั้งแรกสุด ที่ไม่เป็นภาษาบาลีสำหรับผมนะ แล้วผมก็เลยรู้สึกตื่นเต้น ตื่นตะลึง ตื่นตาตื่นใจที่พบพระพุทธศาสนาประเภทสดๆ จากธรรมชาติที่เราสัมผัสได้ตอนนั้น”


รศ.ดร.โสรีช์ บอกเล่าถึงความประทับใจในหลักธรรมที่ค้นพบจากธรรมชาติภายในวัดอุโมงค์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมื่อแรกครั้งได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของพุทธทาสภิกขุต่อไปว่า

“การไปวัดอุโมงค์เที่ยวนั้นได้เดินดูหนังสือหนังหาก็พบหนังสือคู่มือมนุษย์ของท่านพุทธทาส ราคาเล่มละ 5 บาท ผมยังจำได้ ผมซื้อแล้วกลับเอามาอ่าน ท่านรู้จักพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน ผมยังจำได้แม่น (หัวเราะ) แต่อ่านเข้าใจประมาณนั้น ที่เหลือเป็นภาษาบาลี อุปาทานบ้าง สังโยชน์บ้าง ตอนนั้นไม่เข้าหัว แต่ก็รู้แล้วล่ะว่า คู่มือมนุษย์ ท่านพุทธทาส มองศาสนาพุทธในเหลี่ยมไหน บันทึกไว้ในความทรงจำแล้วล่ะครับ ตอนนั้นประมาณ ม.ศ.4 ประมาณปี พ.ศ.2507-2508 มันเป็นเมล็ดพืชพันธุ์ที่คล้ายๆ แอบบ่มเพาะไว้ในใจแล้ว อันนี้แหละครับที่ทำให้ผมได้ยินชื่อเสียงของท่านพุทธทาส”

ผมก็รู้สึกตกใจเล็กๆ ที่เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหลักธรรมเลย

หลังเรียนจบในระดับปริญญาตรีทางด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโท ทางด้านจิตวิทยาศึกษาและแนะแนว จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว สอบชิงทุนฟุลไบร์ท (Fulbright) เรียนต่อในระดับปริญญาเอก สาขา Counselor Education หรือจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์  (Northern Illinois University) โดยระหว่างกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก รศ.ดร.โสรีช์ เริ่มให้ความสนใจกับการประยุกต์หลักธรรมในพุทธศาสนาเข้ากับวิชาจิตวิทยาอย่างจริงจัง

“...เมื่อผมเรียนปริญญาเอกมันก็อยู่ในโลกของแนวคิดฝรั่งตะวันตก ซึ่งแต่ละคนก็เน้นเรื่องการเยียวยารักษาจิตใจ แล้วผมก็รู้สึกว่า เอ๊...พุทธศาสนาเนี่ยก็น่าจะช่วยได้ กรณีของกีสาโคตมีเถรีก็ดี ปฏาจาราเถรีก็ดี มักจะเป็นนิทานที่พ่อเล่าให้ฟังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นเรื่องของการเยียวยารักษาหรือพัฒนาจิต ผมว่ามันก็เหมือนเข้ามาอยู่ในเลือดเนื้อของเราแบบไม่รู้ตัว ทีนี้พอไปเรียนในซีกตะวันตกผมก็นึกอยากจะอวดเขาบ้างว่าเราก็มีของดีนะ คือแนวคิดพระพุทธศาสนา แต่พอจะอวดเขา พบว่าไม่มีความรู้อะไรเลย (หัวเราะ) รู้แต่ทำบุญใส่บาตร ไปทำพิธีในวัด ผมก็รู้สึกตกใจเล็กๆ เหมือนกันนะว่าที่เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธเนี่ย เราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหลักธรรมเลย อาจจะท่องได้นะ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค, พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือมันเป็นความจำ เป็นความรู้ที่เป็นท่อนๆ เป็นแท่งๆ แต่จะเอามาใช้ประโยชน์หรือว่ารู้ว่ามันอยู่ที่ไหนไหม ไม่รู้หรอกครับ ไม่รู้จริงๆ”

รศ.ดร.โสรีช์ ชี้ให้เห็นข้อจำกัดเมื่อแรกเริ่มความสนใจในการปรับประยุกต์พุทธศาสนาเข้ากับวิชาจิตวิทยา ก่อนให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือภาษาไทย 2 เล่มที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการทำความเข้าใจพุทธศาสนาและการสร้างสรรค์วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก ต่อไปว่า



“หนังสือภาษาไทยที่ผมอาศัยก็คือ คู่มือมนุษย์ของท่านพุทธทาส แล้วอีกเล่มหนึ่ง พุทธธรรมฉบับดั้งเดิมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) รู้สึกว่าผมจะเอาไปด้วย 2 เล่ม ที่เหลือเป็นตำราตะวันตกซึ่งผมค่อนข้างตื่นตะลึงว่า โห...ตะวันตกสนใจศาสนาพุทธค่อนข้างกว้างขวาง มีหนังสือเป็นหลายร้อยเล่ม แต่ละคนที่เขียนเป็นนักคิดชั้นแนวหน้า...ก็อ่านกระจัดกระจายครับ เพราะว่าความเข้าใจในพุทธศาสนาในแง่ของสาระแท้จริงผมเข้าไม่ถึง ได้แต่เฉพาะตัวถ้อยคำ ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงความเป็นเนื้อเดียวกัน ยังกระจัดกระจาย แต่ก็ถือว่ามีวัตถุดิบระดับหนึ่งแล้วล่ะ ก็ทำวิทยานิพนธ์จนจบ


พอผมจบกลับมา ผมก็เปิดสอนวิชาเล็กๆ ชื่อ Buddhist Psychology เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีนี้มันจะมีคำว่าตัวตน พอพูดถึงเรื่องตัวตนๆ ผมก็มีลูกศิษย์มาตบเข่าแล้วก็บอกว่าอาจารย์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน แล้วอันนี้อะไร แล้วผมตอบไม่ได้นะครับ ผมเลยเลิกสอนไปเลยนะ ผมไม่เข้าใจคำว่าตัวตนคืออะไร แล้วผมก็คล้ายๆ เงียบไปเลย คือเก็บพระพุทธศาสนาไว้ก่อน แล้วผมก็นำเสนอแนวคิดทางโลกตะวันตกในการเยียวยารักษา” อดีตอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธที่อาจไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ

บทเรียนแห่งการสูญเสีย และการค้นพบตัวตนในสวนโมกข์

หลังผ่านการสูญเสียคุณแม่ใน พ.ศ.2523 และการสูญเสียคุณพ่อใน พ.ศ.2525 รศ.ดร.โสรีช์ จึงตระหนักถึงความทุกข์และความว่างเปล่าที่ปรากฏขึ้นจริง การเผชิญหน้ากับความทุกข์ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการสร้างสรรค์ผลงานแปลหนังสือ Think On These Things ของกฤษณมูรติออกเป็นภาษาไทยในชื่อ แห่งความเข้าใจชีวิตและการศึกษาที่แท้ ผู้บุกเบิกหลักสูตรจิตวิทยาการปรึกษาในประเทศไทย กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากผลงานแปลในครั้งนั้นว่า “ผมรู้สึกการแปลงานเล่มนั้นช่วยให้ผมเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้นเยอะเลยล่ะครับ...แต่ผมก็ยังไม่ถึงกับขั้นที่จะเอาไปใช้ได้ นอกจากเอาไปกล่าวสอดแทรกแนวคิดจากตะวันตกในการเยียวยาที่ผมสอนที่จุฬาฯ”



จนกระทั่งใน พ.ศ.2529 การเปิดสอนรายวิชา Eastern Psychology and Human Growth ได้กลายเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ รศ.ดร.โสรีช์ มีโอกาสเดินทางไปสวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพบกับภิกษุนามพุทธทาส และค้นพบกับ ตัวตน หรือ อัตตา ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกซ่อนไว้

“เราไปสวนโมกข์กันเมื่อเดือนตุลาคม 2529 พอไปถึงก็ชื่นตาชื่นใจกับต้นไม้ใบหญ้าที่เป็นป่าทึบ เพราะส่วนตัวลึกๆ ผมชอบป่า อาจจะเพราะเป็นคนเชียงใหม่...มันปลูกฝังความผูกพันกับต้นไม้ใบหญ้า แผ่นดินลึกๆ นะ แล้วพอไปเห็นสวนโมกข์ผมก็รู้สึก โอ้โห...ร่มรื่นมาก มันเป็นสถานที่ในฝันของผมในฐานะนักจิตวิทยาเหมือนกัน เพราะผมก็รู้มาจากการเรียนจิตวิทยาว่า ที่แคลิฟอร์เนียมันมีเซ็นเตอร์เซ็นเตอร์หนึ่งชื่อว่า Esalen (Esalen Institute) Esalen เป็นที่ของนักจิตวิทยาประมาณ 400 เอเคอร์ แล้วเขาก็จัดเป็นคล้ายๆ เป็นที่ทำเวิร์คช้อประยะสั้นทางด้านจิตวิทยา แล้วผมก็อยากจะมีบ้างที่เมืองไทย พอไปเห็นสวนโมกข์ผมก็ โอ้โห...สถานที่ในฝันเลย แล้วก็ยังดีอีกที่เราไม่ได้มีแค่วิทยากรธรรมดาที่เป็นนักวิชาการ มีนักปราชญ์ระดับโลกอยู่ ผมก็รู้สึกประทับใจสวนโมกข์มากนะ” รศ.ดร.โสรีช์ บอกเล่าความประทับใจเมื่อแรกสัมผัสกับบรรยากาศของสวนโมกข์



เขาเล่าต่อไปว่า “แล้วท่านอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)) ก็มาแจ้งพวกเราว่า 9 โมงเช้า ท่านอาจารย์ให้ไปพบที่หน้ากุฏิ โอ้โห...ผมนี่ก็ตื่นตาตื่นใจยินดีล่ะครับที่จะพบนักปราชญ์ระดับโลก นับถือท่านมาตลอดชีวิต...พอท่านออกจากกุฏินั่งที่ม้านั่ง พวกเราก็กราบท่าน ผมก็กราบท่านบนทรายด้วยความรู้สึกเคารพนบนอบสูงสุดที่จะให้ได้ในหัวใจของเรานะ แล้วที่เกิดขึ้นกับผมคือผมอยากให้ท่านทักสักหน่อย



“ผมมักจะมองตัวเองว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีอีโก้ (ego : ความรู้สึกถือตัวตน) แต่ผมอยากให้ท่านทักผม อย่างน้อยที่สุดก็ทักสักคำหนึ่งว่า โห...อาจารย์โสรีช์ ต้องแสดงความยินดีด้วยนะที่พานิสิตมาตั้งเยอะ เดินทางลำบากไหม อะไรทำนองนี้ แต่พอท่านนั่งสงบนิ่งไม่ทัก ไม่มองผมด้วยซ้ำ ขณะที่เรากราบท่านสายตาของท่านมองไม่เห็นผมแต่มองไปไกลสุดลูกหูลูกตา สิ่งที่ปรากฏขึ้นในใจผมก็คือ ความร้อนรน รู้สึกผิดหวังมากๆ เลยที่ท่านไม่ทัก...แล้วสักพักหนึ่งผมถามตัวเองว่า โสรีช์ เอ็งเป็นอะไร คำตอบก็คือ โอ้โห...อัตตาของผม ตัวตนของผม ความผยองของผม มานะของผมทะลักมาเต็มหมดเลย ผมเพิ่งเห็นมันชัดๆ ที่สุด...เลยทำให้ผมรู้สึกว่าท่านสอนเราโดยที่ไม่ต้องพูดสักคำ อันนี้เป็นประสบการณ์แรกเลยนะครับที่ผมไปนั่งเบื้องหน้าท่านแล้วผมพบตัวเอง ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้พูดอะไรกับเราเลย นั่นเป็นความประทับใจดื่มด่ำมาจนถึงทุกวันนี้” อดีตอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา บอกเล่าประสบการณ์ความนิ่งเงียบที่เร่งเร้าให้เขาได้ค้นพบ อัตตา และเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปสวนโมกข์อีกหลายครั้งหลายคราในเวลาต่อมา



“ในช่วงตั้งแต่ปี 2529 จนถึงประมาณ 2536 ก็ประมาณ 7 ปี ผมจะไปปีละประมาณ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณอาทิตย์ แล้วช่วงที่ดื่มด่ำที่สุดก็คือช่วงที่ไม่มีแขกแล้ว ผมก็จะคลานเข้าไปหาท่านที่หน้ากุฏิ แล้วก็ถามคำถามที่เราสนใจกับท่านเสมอๆ ท่านก็เมตตาผมนะ เราก็ได้คุยกัน ๒ คนเงียบๆ ที่หน้ากุฏิท่าน เรื่องสัพเพเหระในแง่ของหลักธรรมนี่แหละนะครับ เช่น ผมขอบคุณหลวงพ่อมากนะครับที่ทำให้ผมกระจ่างเรื่องพุทธธรรม อย่าขอบคุณเราเลย เราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อย่างนี้ ประโยคทำนองนี้แหละครับที่ผมรู้สึกเป็นแรงบันดาลใจ...หลวงพ่อครับ หลวงพ่อคิดอย่างไรกับวัดนั้นครับ ที่มีคำสอนอย่างโน้น อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็บอกว่า ถือเป็นหลักว่าถ้ามันดับทุกข์ได้จริงก็ถูก ถ้าดับทุกข์ไม่ได้จริงก็ไม่ถูก คำตอบเหล่านี้ผมเอามาประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วท่านก็จะโฟกัสอยู่เรื่องเดียวคือดับทุกข์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิถีแห่งพระพุทธศาสนาเลย เพราะพระพุทธเจ้าก็บอกว่า ธรรมะของตถาคตเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ประการเดียวคือ ดับทุกข์ในใจให้สิ้น แล้วอันนี้คือสิ่งที่ท่านพุทธทาสคล้ายๆ ยืนหยัดนำเสนอชี้ให้เพื่อนมนุษย์ดู สังคมดู ตลอดชีวิตของท่าน” รศ.ดร.โสรีช์ บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจาก อัตตา แห่งตน

แม้คำพูดและอักษรอาจจะนำพามนุษย์จำนวนไม่น้อยให้ค้นพบหนทางแห่งสัจจะ แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากความทรงจำของ รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว กลับทำให้เราตระหนักถึงพลังของการนิ่งเงียบ ไร้อักษร ที่อาจนำพาบางอัตตาให้เข้าถึงหนทางแห่งความจริง