“ให้เราทำไปเถอะ...อย่าไปหวังอะไรเรื่องแบบนั้น”
พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระสุชาติ ปัญญาทีโป
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย, ณัฐชนน บางแค
สัมภาษณ์ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/5S_6n2MWn4Q
“คือมันมีเรื่องว่า ที่สวนโมกข์มีพระบางรูปท่านบอกว่าคนที่มาที่สวนโมกข์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจมาเรียนรู้มาศึกษาธรรมะ เขาเพียงแค่มาแวะสวนโมกข์เพื่อที่จะเป็นทางผ่าน เดินทางไกลมาแวะสวนโมกข์ใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมแล้วก็ดูนั่นดูนี่แล้วก็ขึ้นรถไป ไม่ได้สนใจที่จะศึกษาธรรมะ ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ก็ยังดี เราให้ความสะดวกแก่เขา ห้องน้ำ ห้องส้วม หรือสถานที่ เราจัดทำสถานที่ให้มันดูสบาย มีป่า มีความร่มรื่นในป่า ปัดกวาดทำความสะอาดให้มันดูดี คนเข้ามาแล้วได้เห็นแล้วก็สบายใจ ท่านบอกว่า ถึงเราไม่สามารถให้ความรู้ทางด้านธรรมะเขาได้ แต่เราให้ความสบายใจเขาได้ ให้เราทำไปเถอะ อย่าไปหวังอะไรเรื่องแบบนั้น”
บางความทรงจำอันเรียบง่ายเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุจากคำบอกเล่าของ พระสุชาติ ปัญญาทีโป อดีตรองเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล หรือสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะดูเป็นเรื่องเล่าธรรมดาๆ ในทางประวัติศาสตร์ แต่หากพิจารณาในทาง ธรรม ข้อมูลเหล่านี้กลับสะท้อนให้เห็นแง่งามที่ การปฏิบัติ และ ผลของการปฏิบัติ นั้นหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง เมื่ออัตตาของผู้กระทำ ได้ถูกวาง จึงไม่มีสิ่งต่างๆ ให้คาดหวัง ทั้งหมดที่หลงเหลือจึงเป็นเรื่องของ การทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไปตามแต่เหตุและปัจจัย
จากนครศรีธรรมราช สู่สวนโมกข์ไชยา
แม้การตัดสินใจบวชของ พระสุชาติ ปัญญาทีโป ที่บ้านเกิดอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อแรกเริ่มจะเป็นไปตามประเพณี แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่ครบถ้วนทั้งการสอบพระปริยัติธรรมจนได้นักธรรมเอก อีกทั้งความที่มีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้สนใจในธรรมะของพุทธทาสภิกขุ ทำให้ความตั้งใจที่จะลาสิกขาในพรรษาที่ ๓ ยุติลง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระสุชาติ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวนโมกข์ในช่วงเวลาที่ พุทธทาสภิกขุ ยังมีชีวิต
“อาจารย์ที่เป็นอุปัชฌาย์ของอาตมาท่านเคยไปที่สวนโมกข์ รู้สึกว่าท่านจะสนใจธรรมะในแนวของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านแนะนำว่า ก่อนจะสึกอยากจะชวนอาตมาและญาติโยมไปสวนโมกข์อีกสักคราวหนึ่ง อาตมาก็ติดตามไปด้วย ท่านบอกว่าถ้าสนใจที่จะอยู่ต่อก็ได้นะ ท่านจะฝากกับท่านพุทธทาสให้ อาจารย์ของอาตมาปรึกษากับท่านอาจารย์พุทธทาสว่าอยากจะฝากพระสักรูปอยู่ในสวนโมกข์พอจะมีที่ไหม
เพราะว่าปกติสมัยนั้นท่านอาจารย์พุทธทาสจะรับพระตามจำนวนกุฏิที่มีอยู่ และสมัยนั้นมีกฎกติกาว่า ใครที่จะมาอยู่ที่สวนโมกข์ต้องได้นักธรรมเอก หรือไม่ก็ต้องได้เปรียญมา อาตมาก็สอบนักธรรมเอกได้แล้ว และบังเอิญท่านบอกว่า มันมีกุฏิอยู่หลังหนึ่งให้พระสร้างใกล้จะเสร็จแล้ว ถ้าประสงค์ที่จะอยู่ให้พักอยู่ที่ศาลาโรงธรรมซึ่งเป็นที่รับแขกไปก่อน อาตมาก็สมัครใจที่จะอยู่ศึกษาธรรมะสักระยะหนึ่ง” พระสุชาติ ปัญญาทีโป ย้อนความทรงจำเมื่อแรกครั้งได้ไปเยือนสวนโมกข์ ก่อนอธิบายถึงสาเหตุที่พุทธทาสภิกขุ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการจบนักธรรมเอก สำหรับพระภิกษุที่ต้องการมาอยู่จำพรรษาว่า
“ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านบอกว่า เดิมที่ท่านตั้งกฎกติกาให้พระที่มาอยู่ที่สวนโมกข์ต้องได้นักธรรมเอกเพราะว่า นักธรรมที่สอนกันในโรงเรียนนักธรรมที่พระเรียน เราก็รู้ธรรมะได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่สวนโมกข์จะสอนธรรมะที่นอกเหนือไปจากที่เราเรียนกันในโรงเรียนนักธรรม ท่านบอกว่าเราศึกษาธรรมะพิเศษ คือหมายความว่า มันยังมีธรรมะบางส่วนที่ยังอยู่ในพระไตรปิฎก แต่เราไม่ได้เอามาสอนมาเรียนกัน ท่านบอกว่าท่านอยากจะเพิ่มเติมธรรมะที่มีอยู่ เพิ่มเติมเป็นธรรมะพิเศษก็ว่าได้ อาตมาก็เลยอยู่แล้วก็ศึกษาฟังธรรมบรรยายจากท่านเหมือนกับพระรูปอื่นๆ ในสวนโมกข์” อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ให้ข้อมูล
ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน
“ช่วงที่อาตมาไปอยู่สวนโมกข์แรกๆ ปกติท่านอาจารย์พุทธทาสจะอบรมพระภิกษุ ทุกๆ วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ จะบรรยายช่วงประมาณ ๕ โมงเย็น โดยให้ไปประชุมกันที่โรงมหรสพทางวิญญาณ บริเวณมุขข้างล่าง ท่านจะอบรมพระ ท่านใช้คำว่า ธรรมปาฏิโมกข์ หมายความว่า ถ้าเป็นวันพระหลังจากที่พระลงสวดปาฏิโมกข์ทางวินัยบนเขาพุทธทองซึ่งเป็นโบสถ์ธรรมชาติแล้วก็จะลงมาที่โรงมหรสพทางวิญญาณ ท่านจะนั่งรออยู่ ท่านจะเรียกว่าเป็นธรรมปาฏิโมกข์ ท่านจะพูดธรรมะในแง่มุมต่างๆ แต่ว่าจะใช้ชื่อธรรมะที่เป็นหลักใหญ่ ท่านบอกว่าจะพูดเรื่อง ตัวกู-ของกู แต่ในแง่มุมต่างๆ กัน อะไรแบบนี้ เราก็ได้ฟังธรรมะอันนั้น” พระสุชาติ บอกเล่าความทรงจำเมื่อแรกครั้งจำพรรษาในสวนโมกข์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ และให้ข้อมูลต่อไปว่า
“ในช่วงที่อาตมาไปอยู่ใหม่ๆ ช่วงนั้นท่านจะพูดเน้นเรื่อง การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ท่านบอกการทำงานคือการปฏิบัติธรรม งานนั้นบริสุทธิ์ และถูกต้อง แล้วก็ให้ทำด้วยความพอใจ ถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง พอใจ ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน ท่านว่าอย่างนั้น ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน ไม่หวังแม้แต่คำว่าขอบคุณ ในที่ทำงานของเรานั่นแหละท่านบอกว่า ถ้าเราทำด้วยความสนุกทำด้วยความพอใจแล้วงานนั้นก็ถูกต้องพอใจ เราไม่หวังผลตอบแทนใดๆ การทำงานนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม” อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล อธิบาย
โรงปั้น, โรงมหรสพทางวิญญาณ และงานทั่วไป
หากใครมีโอกาสติดตามชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุจะทราบว่า นอกจากความแตกฉานในการตีความธรรมะ ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของภิกษุนามพุทธทาสก็คือความสามารถในการบริหารจัดการกับ คน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการสร้างสรรค์สวนโมกข์ ดังที่ พระสุชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า “งานที่ท่านจัดให้ทำในสมัยนั้น รู้สึกว่ามีอยู่ ๓ กลุ่ม จัดพระเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำงานที่โรงปั้น อีกกลุ่มหนึ่งทำงานที่โรงมหรสพทางวิญญาณ และงานอีกกลุ่มหนึ่งเป็นงานทั่วๆ ไปภายในวัด...งาน ๓ กลุ่มนี้ท่านจัดให้มีพระที่เป็นหัวหน้างาน เช่น ที่โรงปั้นให้อาจารย์ไสว สิวญาโณ เป็นหัวหน้างานที่นั่น”
อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล อธิบายต่อไปว่า “ท่านอาจารย์จะให้พระที่โรงปั้นช่วยกันปั้นภาพหรือจำลองภาพพุทธประวัติที่ท่านได้ภาพเหล่านั้นมาจากประเทศอินเดีย เป็นภาพพุทธประวัติที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เขาไม่ยอมทำรูปพระพุทธเจ้าเป็นบุคคล แต่จะใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน...แรกทีเดียวพระไม่มีความรู้ด้านนี้ ก็ต้องไปขอความรู้จากครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนเพาะช่างแล้วมาเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง และชักชวนกันทดลอง ลองผิดลองถูกกัน จากเริ่มต้นเราไม่มีฝีมือทางด้านนี้เลย ก็ช่วยกันด้วยความพยายาม ตอนหลังเราก็อาศัยพระบางรูปที่ท่านเรียนทางด้านนี้และมาจำพรรษาที่สวนโมกข์ ก็ให้ท่านเป็นเรี่ยวแรง ขอความรู้ท่านด้วย ให้ท่านช่วยปั้น ช่วยอะไร งานปั้นที่สวนโมกข์จึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยเฉพาะภาพพุทธประวัติยุคที่ไม่มีพระพุทธรูป ก็ปั้นเสร็จสมบูรณ์จนเป็นที่พอใจของท่านอาจารย์พุทธทาส”
พระสุชาติ เล่าต่อไปว่า “ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ สมัยที่อาตมาไปอยู่ พระที่เป็นหัวหน้างานก็คือ อาจารย์โกวิท เขมานันทะ แต่ก่อนนั้นก็มีอาจารย์ท่านอื่นที่เขียนภาพไว้ก่อนบ้างแล้ว เดิมทีท่านไม่ได้เรียกโรงมหรสพทางวิญญาณนะ คือจะสร้างเป็นอาคารสักหลังหนึ่งสำหรับเป็นที่สอนธรรมะ แต่ตอนหลังท่านเห็นว่าน่าจะให้มันได้ประโยชน์มากกว่านี้ แทนที่จะทำเป็นที่ประชุมหรือห้องเรียน ก็ให้มีภาพปริศนาธรรมเหมือนกับวัดโบราณสมัยก่อนตามโบสถ์ตามวิหารจะมีภาพเขียนเขียนเอาไว้เพื่อการศึกษา
ท่านก็บอกว่าเราอยากจะทำให้มันมีประโยชน์ ท่านจะถามพระที่บวชในพรรษาว่าใครพอเขียนรูปได้บ้างไหม บางปีมีพระที่เป็นครูบาอาจารย์ที่เรียนมาทางด้านศิลปะหลายท่าน มีอยู่ท่านหนึ่งชื่ออาจารย์วิทย์ พิณคันเงิน เป็นอาจารย์สอนทางศิลปะ ทางจิตรกรรม ท่านไปพักร้อนที่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์พุทธทาสตอนนั้นท่านมีภาพอยู่ เป็นภาพที่ท่านได้มาจากอินเดีย จากสมาคมมหาโพธิเป็นภาพธรรมะต่างๆ พอท่านรู้ว่าอาจารย์วิทย์มาพักร้อน อาจารย์ท่านก็ปรึกษาอาจารย์วิทย์ พิณคันเงิน ว่า อยากให้อาจารย์วิทย์ ช่วยคัดลอกภาพที่ท่านมีอยู่ อาจารย์วิทย์ ก็คัดลอกไว้เป็นภาพใหญ่ๆ ชั้นบนของสวนโมกข์ เช่น ภาพราคะเป็นศัตรูของศานติ โทสะเป็นศัตรูของศานติ โมหะเป็นศัตรูของศานติ ท่านเขียนไว้
“พอปีต่อมาก็มีอาจารย์สุเทพ เมืองคล้าย เป็นคนไชยา สมัยนั้นท่านเป็นอาจารย์สอนวิทยาลัยครูบางแสนที่ชลบุรี ท่านลาบวช อาจารย์สุเทพเรียนจบเพาะช่าง ท่านอาจารย์ก็ให้อาจารย์สุเทพ เมืองคล้าย ช่วยเขียนรูป เช่น รูปปริศนาธรรมของนิกายเซ็นที่ฝาผนังด้านล่าง เพื่อนๆ ที่ไปเยี่ยมก็ช่วยกันเขียนคัดลอกไว้ ปีต่อมา คุณสัมพันธ์ ก้องสมุทร บวช สัมพันธ์ ก้องสมุทร ก็เรียนจบจากเพาะช่าง เมื่อก่อนเคยเขียนวารสาร หนังสือการ์ตูน อะไรต่ออะไร ก็เลยช่วยคัดลอกภาพปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ภาพชุดปริศนาธรรมไทยชุดกายนคร” อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ย้อนความทรงจำถึงบุคคลต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนภาพในโรงมหรสพทางวิญญาณ ก่อนการเข้ามาของอาจารย์โกวิท เขมานันทะ และให้ข้อมูลต่อไปว่า
“พอถึงปี ๒๕๑๐ อาจารย์โกวิท เอนกชัย เมื่อท่านบวชแล้วชื่อว่า โกวิท เขมานันทะ บวชด้วยศรัทธาท่านอาจารย์พุทธทาสแล้วไปจำพรรษาที่สวนโมกข์ ท่านก็ได้รับมอบหมายงานจากท่านอาจารย์ให้ช่วยเขียนภาพในโรงหนัง ตอนหลังอาจารย์โกวิทก็ชักชวนพระที่อยู่ในสวนโมกข์ให้ช่วยกัน โดยท่านจะแนะนำ สอนวิธีเขียนลงสีอะไรต่ออะไร เมื่ออาตมาไปอยู่ อาตมาก็เข้าไปร่วมทำงานกับอาจารย์โกวิท ก็ได้ความรู้จากท่าน จากพระหลายๆ รูปที่ช่วยกันในโรงมหรสพทางวิญญาณ อาจารย์โกวิทเขียนให้ดูบ้าง แล้วก็ให้เราช่วยกันเขียน โดยเฉพาะแรกๆ ให้ช่วยคัดลอกภาพ เช่น อาตมาครั้งแรกไปคัดลอกภาพอีสปที่เป็นภาพเล็กๆ เราก็คัดลอกภาพตามนั้น ท่านบอกว่าให้เขียนตามที่ตาเราเห็น (หัวเราะ) เขียนๆๆ ไป ทีนี้การใช้สีท่านก็แนะนำการผสมสีนั่นนี่ เราก็ดูเวลาท่านเขียนเป็นตัวอย่าง เราไปดูแล้วก็มาฝึกบ้าง ท่านก็แนะนำ ก็ช่วยๆ กันทำ จนงานนี้ดำเนินไป” พระสุชาติ ปัญญาทีโป อธิบาย
ขณะที่ในส่วนกลุ่มงานสุดท้าย อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ให้ข้อมูลว่า “ส่วนงานอีกส่วนหนึ่งเป็นงานทั่วๆ ไปภายในวัด เป็นงานก่อสร้าง งานทำถนน จัดสถานที่ภายในวัดท่านอาจารย์ก็มอบให้ท่านอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)) แล้วอาจารย์โพธิ์ก็จะมีพระที่ช่วยทำงานของท่าน ก็จัดเป็นกลุ่มอยู่ ๓ กลุ่ม การทำงานในสมัยของท่านอาจารย์ก็เป็นอย่างนี้ ส่วนท่านอาจารย์เป็นองค์ความรู้ทั้งหมด ตัวความรู้ทั้งหมดอยู่ที่ท่านอาจารย์พุทธทาส งานก็ดำเนินไป”
ภาพต้นไม้แห่งศีลธรรม และงานชิ้นสุดท้ายในยุคสมัยของพุทธทาสภิกขุ
นอกจากความรับผิดชอบในโรงมหรสพทางวิญญาณ พระสุชาติ ปัญญาทีโป ยังเคยได้รับมอบหมายให้เขียนภาพประกอบในหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เรื่อง การกลับมาแห่งศีลธรรม “มีอยู่คราวหนึ่งที่ท่านอาจารย์ท่านต้องการให้อาตมาช่วยเขียนภาพลงไปในหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรม ให้เขียนภาพต้นไม้ศีลธรรม ท่านก็เรียกอาตมาไป ท่านบอกว่าให้เขียนภาพให้ท่านสักภาพหนึ่งจะไปพิมพ์ในหนังสือ ท่านบอกว่าให้เขียนเป็นต้นไม้ มีสะเก็ด มีเปลือก มีกระพี้ มีแก่น แล้วก็เขียนมีกิ่ง มีใบ แล้วก็มีผล แล้วที่โคนจะมีรากระโยงระยาง
“ท่านบอกว่า แก่นหมายถึง วิมุตติ ปัญญาเป็นกระพี้ แล้วก็สมาธิเป็นเปลือก แล้วก็มีศีลเป็นสะเก็ด อาตมาก็เขียน เขียนเสร็จแล้วก็ไปให้ท่านดู ท่านบอกว่าตรงนี้ให้เปลี่ยนให้เขียนแบบนี้ ตรงนี้ให้เปลี่ยนให้เขียนแบบนี้ เสร็จแล้วอาตมาก็ต้องกลับมาแก้ไข แก้ไขเสร็จแล้วก็ส่งไปให้ท่าน ท่านก็ดู แล้วก็บอกว่าให้เพิ่มเติมตรงนี้หน่อย งานกว่าจะเสร็จก็ต้องให้ท่านตรวจดู ท่านพิถีพิถันมาก แล้วต้นไม้เหล่านี้ก็นำมาอธิบายเป็นธรรมะได้ ท่านบอกเพียงแค่เห็นต้นไม้ก็ทำให้คนดูภาพแล้วสามารถเข้าใจเรื่องธรรมะ” พระสุชาติ อธิบายเกี่ยวกับภาพต้นไม้แห่งศีลธรรมที่ปรากฏอยู่ในหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ ก่อนให้ข้อมูลถึงงานชิ้นสุดท้ายที่พุทธทาสภิกขุได้มอบหมายให้ทำต่อไปว่า
“ที่จริงช่วงก่อนที่ท่านจะไม่สบาย (๒๕ พ.ค. ๒๕๓๖) ท่านเรียกอาตมาไปให้ช่วยเขียนคำที่ท่านบอกว่าเป็น สโลแกน ให้เขียนว่า ศีลธรรมของยุวชนคือสันติภาพของโลก ท่านบอกว่าคำเหล่านี้ท่านบันทึกไว้หลายๆ หัวข้อ แต่ว่าจะให้เขียนในคราวต่อๆ ไป คราวนี้เขียนอันนี้ก่อน ท่านก็เรียกพระที่อยู่ช่วยงานท่านชื่อท่านพรเทพ (พระพรเทพ ฐิตปัญโญ) บอกคุณพรเทพไปเอาผ้าที่เป็นสบงผืนใหญ่ๆ มาซัก ๒-๓ ผืน แล้วท่านบอกให้ เอาผ้านี้ให้โยมมาช่วยเย็บให้มันติดกันเป็นผืนยาวแล้วคุณไปช่วยเขียน เขียนเสร็จแล้วให้คุณมาติดไว้ที่หน้ามุขศาลาธรรมโฆษณ์ นี่เป็นงานชิ้นสุดท้ายของอาตมา พอวันรุ่งขึ้นท่านก็ไม่สบาย ตอนหลังหมอประยูร คงวิเชียรวัฒนะ ก็พาท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี คือเส้นเลือดในสมองแตก ตอนหลังก็มีเครื่องบินมารับพาท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากนั้นก็อยู่ที่โรงพยาบาลประมาณสักหนึ่งเดือน แล้วหมอก็บอกว่าอาการของท่านไม่ดีก็พากลับมาสวนโมกข์ เขาก็ดึงสายอะไรที่ปั๊มหัวใจออก ท่านก็มรณภาพ” อดีตเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ให้ข้อมูล
จาก พ.ศ.๒๕๑๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสวนโมกข์ เมื่อถามถึงความประทับใจและสิ่งที่ได้รับจากพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์ พระสุชาติ ปัญญาทีโป ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างน้อยเราก็ได้ความรู้ทางด้านธรรมะ ทำให้เราเข้าใจธรรมะยิ่งขึ้น และสามารถนำเอาธรรมะมาเป็นเครื่องดำเนินชีวิตได้...มีคนถามท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ท่านบรรลุธรรมขั้นไหนแล้ว ท่านบอกว่าอย่าถามว่าบรรลุธรรมขั้นไหน ท่านบอกว่าท่านศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะเพื่อดับทุกข์ เพราะฉะนั้นอาตมาก็ได้แนวว่า เราศึกษาธรรมะเพื่อที่จะกำจัดทุกข์แก้ปัญหาในใจเรา”
ขณะที่ใครหลายคนอาจถวิลหา พุทธทาสภิกขุ ในสวนโมกข์ แต่บางทีสวนโมกข์ในแบบของพุทธทาสภิกขุอาจไร้ซึ่ง อัตตา ในความทรงจำเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุและสวนโมกข์จึงเต็มไปด้วยส่วนประกอบของ การทำหน้าที่ ตามเหตุและปัจจัย เมื่อถึงท้ายที่สุดอาจไม่จำเป็นต้องมี ใคร ในสวนโมกข์ และบางทีเราอาจค้นพบ สวนโมกข์ ก็ต่อเมื่อเราหยุดถวิลหา พุทธทาสภิกขุ
...ในวันที่สายลมพัดผ่านใบไม้ไปตามหน้าที่
ใบไม้ร่วงหล่น
เด็กๆ เก็บกวาดใบไม้
ไม่มีใครวิ่งไล่จับสายลม...