พุทธทาสภิกขุ ในคำถามของ วิจักขณ์ พานิช

Share

งานจดหมายเหตุ,

“ทุกวันนี้เรามองพุทธทาสเป็นอะไรที่อนุรักษ์นิยมมาก...มันเป็นการทรยศต่อคำสอนของท่านอาจารย์โดยสิ้นเชิง” พุทธทาสภิกขุ ในคำถามของ วิจักขณ์ พานิช

 

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

 456

 ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/SOQ5gO8iBJw

ผมบวชที่สวนโมกข์ ผมอ่านหนังสือท่าน ติช นัท ฮันห์ ผมเคยไป Plum Village (หมู่บ้านพลัม) ผมเรียนกับอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ของ เชอเกียมตรุงปะ แล้วตอบให้ผมทีผมอยู่นิกายอะไรมันคือธรรมะในชีวิตผม มันคือชีวิตของผม แล้วเช่นเดียวกันเวลาที่คนอื่นศึกษาธรรมะ มันก็คือธรรมะในชีวิตของคุณ เพราะฉะนั้นแต่ละคนมันจะมีเส้นทางปฏิบัติที่มันจะเริ่มกลายเป็นเส้นทางที่ personalize (ทำให้เป็นลักษณะเฉพาะตัว) จากความเข้าใจ จากประสบการณ์ จากการเรียนรู้ และผมคิดว่านี่แหละ คือวิถีการเรียนรู้ธรรมะในโลกสมัยใหม่ มันไม่ใช่แบบในอดีตอีกแล้วที่แต่ละคนจะต้องปวารณาตัวเองเข้ากับนิกาย กับวัด กับสถาบันใดสถาบันหนึ่งแล้วก็ loyal (ภักดี) กับมันไปทั้งชีวิต

บางเสี้ยวของบทสนทนากับ วิจักขณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา และนักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา ผู้ที่กล้าประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมไม่รู้สึกว่าการที่สวนโมกข์จะล่มสลาย มันจะมีผลต่อการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของคำสอนของท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)” สะท้อนให้เห็นคำตอบที่พาเราย้อนกลับไปสู่ความสำคัญของคำถาม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความซ้อนทับของ ‘อัตลักษณ์’ ของปัจเจกบุคคล และ ‘ธรรมะ’ ในสังคมร่วมสมัย ที่อาจโยงใยไปสู่การทำความเข้าใจการเผยแผ่วิถีธรรมแบบ ‘พุทธทาสภิกขุ’ ท่ามกลางสังคมที่ต้องยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง

vg01

ความทรงจำในวัยเด็กและสวนโมกข์หลังการมรณภาพของพุทธทาสภิกขุ

แม้ไม่นิยมกับการที่ใครบางคนมักจะเชื่อมโยงประวัติของเขาเข้ากับ ‘พุทธทาสภิกขุ’ แต่การสืบสายสกุล ‘พานิช’ ซึ่งเป็นนามสกุลเดิมของภิกษุนามพุทธทาส ก็ทำให้ยากที่จะปฏิเสธความสัมพันธ์ “ถ้าเกิดว่าใครพอจะจำประวัติของท่านพุทธทาสได้ ท่านพุทธทาสมีอาอยู่คนหนึ่ง (นายเสี้ยง พานิช) ซึ่งเคยบวชเป็นพระ จริงๆ อาคนนี้มีอิทธิพลต่อการเรียนของท่านพุทธทาสในช่วงต้น การที่ท่านพุทธทาสมาอยู่ที่วัดปทุมคงคาแล้วมีที่พักได้ก็เพราะอาคนนี้ อาคนนั้นเป็นทวดผม ที่บ้านผมก็รู้กันว่าเรามีความสัมพันธ์กับท่านพุทธทาส แต่ว่าในช่วงแรกผมไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนี้ ไม่เคยอ่านหนังสือ ไม่เคยรู้ว่าท่านพุทธทาสคือใคร แต่ว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่เราจะไปที่สวนโมกข์ ตอนเด็กๆ ตอนนั้นผมอายุน่าจะประมาณ ๖-๗ ขวบ ผมก็ได้ไปนั่งกับท่านพุทธทาส ไปนั่งคุยไปนั่งสนทนา ท่านพุทธทาสก็จะพูดประมาณว่า ไม่ดื้ออย่างเดียวดีหมดทุกอย่าง ให้เด็กๆ ท่อง ก็ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับธรรมะ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการสนทนาธรรม” วิจักขณ์ พานิช ย้อนความผูกพันฉันเครือญาติกับพุทธทาสภิกขุเพียงเล็กน้อย ก่อนบอกเล่าความทรงจำเมื่อครั้งที่เขาได้มีโอกาสบวชจำพรรษาที่สวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อไปว่า

vg02

“ตอนช่วงนั้นเป็นช่วงที่ท่านพุทธทาสเสียไปแล้วประมาณ ๘ ปี ในความรู้สึกของผมตอนนั้นสวนโมกข์ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากอย่างทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่คนที่สวนโมกข์ยังมีความเกรงใจท่านอาจารย์ค่อนข้างมาก แล้วท่านอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร)) ก็มีความตั้งใจพยายามรักษาสวนโมกข์ให้เป็นแบบเดิม พยายามจะเปลี่ยนแปลงสวนโมกข์ให้น้อยที่สุด ซึ่งผมรู้สึกว่าผมค่อนข้างโชคดีที่เข้าไปที่สวนโมกข์ในช่วงเวลานั้น มันเป็นช่วงเวลาที่บุคลากรสวนโมกข์อาจจะมีความรู้สึกงงๆ ว่าเราจะไปอย่างไรต่อ จริงๆ การรักษางานของท่านอาจารย์ให้เหมือนเดิมมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะผมคิดว่างานของท่านอาจารย์เป็นงานที่ทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และการที่เราพยายามจะไปรักษาจิตวิญญาณของคนที่รักการทดลองให้มันเหมือนเดิม มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะย้อนแย้งกันอยู่พอสมควร แต่ด้วยการที่มันเป็นระยะเวลาที่ไม่ได้นานมากหลังการมรณภาพของท่านอาจารย์ มันเลยทำให้เรารู้สึกถึงกลิ่น รู้สึกถึงอารมณ์บางอย่างที่ยังอบอวล ยังมีความรู้สึกถึงความคิดถึง ความรู้สึกโหยหา ความผูกพัน ความใกล้ชิดหรือคำสอนอะไรพวกนี้อยู่ในบรรยากาศสวนโมกข์ค่อนข้างมาก พูดตรงๆ ผมคิดว่าคนในสวนโมกข์ยังมีความค่อนข้างกริ่งเกรงกับท่านอาจารย์และยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจที่จะทำอะไรใหม่ ณ ตอนนั้นสำหรับผม ผมคิดว่ามันเป็นข้อดี” ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา ให้ข้อมูลที่ช่วยสะท้อนภาพความเป็นสวนโมกข์ในช่วงทศวรรษแรกหลังการมรณภาพของพุทธทาสภิกขุ

vg03

สวนโมกข์ที่ไม่ใช่วัด และพุทธทาสภิกขุที่ไม่ได้ conservative

ขณะที่ใครหลายคนคิดว่า ‘การเปลี่ยนแปลงสวนโมกข์ให้น้อยที่สุด’ คือการพยายามรักษาความเป็น ‘วัด’ ในพุทธศาสนาภายใต้กรอบคิดแบบสังคมไทย แต่สำหรับ วิจักขณ์ พานิช ผู้ที่เชื่อว่า “เส้นทางของการเรียนรู้ศึกษาธรรมะมีหลากหลาย” การพยายามรักษาความเป็นสวนโมกข์จึงไม่ใช่เรื่องของการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘ศาสนสถาน’ แต่เป็นเรื่องของการพิทักษ์จิตวิญญาณแห่งการเป็น “ห้องทดลองความจริง” ซึ่งเขาได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า “สวนโมกข์จริงๆ เป็นสัญลักษณ์ของ Modernization (ความทันสมัย) ของศาสนาพุทธแบบไทย อาจารย์พุทธทาสตั้งสวนโมกข์ขึ้นมาเป็นห้องทดลองความจริง อาจารย์พุทธทาสไม่ได้ต้องการสร้างสวนโมกข์ให้เป็นวัด อาจารย์สร้างสวนโมกข์เป็นห้องแล็บ ถ้าใครเคยไปอ่านประวัติ อาจารย์พุทธทาสจะเน้นย้ำตรงนี้หลายครั้งว่า ฉันไม่ได้ต้องการสร้างสวนโมกข์ให้เป็นวัด และการดำรงอยู่ของสวนโมกข์ก็เป็นอะไรที่ progressive (ก้าวหน้า) มากๆ เพราะว่าสวนโมกข์ไม่ได้สังกัดมหาเถรสมาคม กิจการของสวนโมกข์ทั้งหมดดำเนินการอยู่ภายใต้ธรรมทานมูลนิธิ จริงๆ จะว่าไปสวนโมกข์เป็นกิจการครอบครัวและกิจการของกัลยาณมิตรของท่านพุทธทาส เป็นผู้คนกลุ่มคนที่ไว้วางใจในกันและกัน ไว้วางใจในจิตวิญญาณของการตั้งคำถามและแสวงหาของท่านพุทธทาสและท่านธรรมทาส (นายธรรมทาส พานิช)”

vg05

ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา กล่าวต่อไปว่า “เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ทันสมัยมาก แล้วก็มีความคล่องตัว มีความอิสระ เพื่ออะไร? เพื่อที่ต้องการให้เห็นว่าธรรมะเป็นเรื่องของการทดลอง เป็นการลองผิดลองถูก เป็นการตั้งคำถาม เป็นการกล้าที่จะทดลองมีประสบการณ์ชีวิตด้วยตัวของตัวเอง แล้วปัญญาญาณทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ธรรมะก็เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์คนหนึ่งมีความกล้าในการเอาชีวิตของตนเองทดลอง แล้วเกิดเป็นประสบการณ์มาจากตัวเอง เป็นปัญญาญาณที่ค้นพบด้วยตัวเอง ผมคิดว่าอาจารย์พุทธทาสแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้นี้ ในการตั้งสวนโมกข์” 

ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ความเป็นสวนโมกข์’ จากมุมมองของนักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา เผยให้เห็นความน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการซ้อนทับระหว่าง ‘ธรรมะ’ ‘บุคคล’ ‘พื้นที่’ ‘วิถี’ และ ‘พิธีกรรม’ ที่บ่อยครั้งก็ยากจะแยกออก และทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยจำต้องติดอยู่ในกับดักของการพิทักษ์เพียงบางสิ่งในความซ้อนทับจนเชิดชูแค่บางแง่มุมให้เด่นชัด และละเลยบางมิติที่อาจเป็นจิตวิญญาณ ซึ่งหมายรวมถึงการตีความวิถีทางแบบ ‘พุทธทาสภิกขุ’ ที่อาจจะผิดไปจากความเป็นจริง

vg07

วิจักขณ์ พานิช แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือว่า อาจารย์พุทธทาสเป็นคนที่ก้าวหน้ามาก ใครๆ ก็รู้จักพระเงื่อม ในฐานะที่เป็นพระหนุ่มที่มีความก้าวหน้า ท่านเป็นนักทดลอง ท่านเป็นคนที่กล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่าง ท่านมีความกล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าที่จะฉีกจากมหาเถรสมาคม กล้าที่จะฉีกจากการศึกษาแบบคณะสงฆ์ กล้าที่จะตั้งสวนโมกข์ในความเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่แรกๆ คนก็อาจจะหาว่าท่านเป็นพระบ้า เป็นพระเพี้ยน เป็นคนที่พยายามจะทำอะไรที่เหมือนกับล้มล้างพระศาสนาหรือเปล่า ผมคิดว่าท่านพุทธทาสในยุคต้น พูดง่ายๆ เป็นวัยรุ่นที่เฟี้ยวมากๆ เป็นคนที่กล้าจะตั้งคำถาม ทดลอง ลองผิดลองถูกอย่างมากเลย แต่ทุกวันนี้เรามองพุทธทาสเป็นอะไรที่ conservative (อนุรักษ์นิยม) มาก

vg12

เขาอธิบายต่อไปว่า “คำสอน โศลก สโลแกนอะไรต่างๆ ที่เรายกขึ้นมา คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง วาทกรรมเหล่านี้ถูกใช้ไปในทิศทางที่อนุรักษ์นิยมมากๆ แล้วลูกศิษย์ของท่านพุทธทาสก็พยายามสนับสนุนแนวคิดที่มันอนุรักษ์นิยมมากๆ มันกลายเป็นว่าคำสอนของพุทธทาสมาสนับสนุนแนวคิดแบบรัฐศาสนา แนวคิดแบบศีลธรรมนิยม แนวคิดแบบพยายามที่จะทำให้คนในสังคมต้องเป็นคนดี แล้วสังคมจะดีขึ้นเอง ซึ่งมันผิดเพี้ยนไปหมดเลย มันเป็นการที่ทรยศต่อคำสอนของท่านอาจารย์โดยสิ้นเชิงเลย คือเราไม่เข้าใจเลยว่า จิตวิญญาณของครูบาอาจารย์ที่เขาเติบโตมากับคำถาม มากับการทดลอง มากับการเปิดกว้างทางความคิด มันเป็นอย่างไร แล้วเราควรจะมีบรรยากาศแบบนั้น เราควรจะมีสวนโมกข์ในใจของผู้คนแบบนั้น ให้คนหนุ่มสาวเขากล้าที่จะแสวงหาทิศทางแนวคิดของตัวเอง กล้าที่จะแสวงหาการปฏิบัติธรรมหรือการเข้าถึงธรรมะในแบบของตัวเอง

vg06

“ผมคิดว่ามันอาจจะหมายถึงการที่เราต้องกล้าท้าทายคำสอนของท่านพุทธทาสด้วยนะ กล้าที่จะเล่นกับแก กล้าที่จะหยิกแก ไหนบอกว่าไม่มีรูปเคารพไง ไม่จริงเลยทุกวันนี้ เราเคารพพุทธทาสเป็นรูปเคารพหมด มันผิดเพี้ยนไปหมด เราพยายามจะบอกไม่มีรูปเคารพ แต่สิ่งที่พวกคุณทำมันคืออะไร ผมคิดว่าการที่เราไม่เข้าใจที่มา ไม่เข้าใจจิตวิญญาณชีวิตของคน แต่เราไปสนใจชีวิตแบบที่มันเป็นประวัติชีวิตว่าพุทธทาสคือใคร พุทธทาสเกิดเมื่อไหร่ พุทธทาสเป็นลูกหลานใคร พุทธทาสนามสกุลอะไร มันทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยนหมด การยกคนที่มีชีวิตขึ้นกลายเป็นปูชนียบุคคล มันทำให้คนที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต มันทำให้พุทธทาสที่มีชีวิตไม่มีชีวิต มันเลยทำให้คำสอนที่มันเคย progressive ทั้งหมดพลิกกลับกลายเป็นสิ่งที่ conservative ทั้งหมด สวนโมกข์ที่เคยมีชีวิต มีความรุ่มรวย มีความเปิดกว้างทางจิตวิญญาณ กลายเป็นสวนโมกข์ที่ปิดและคับแคบ แล้วไม่สามารถที่จะสนทนา dialogue กับสายปฏิบัติอื่นๆ ได้เลย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเศร้า แล้วก็ไม่น่าแปลกที่สวนโมกข์ตอนนี้กำลังจะตาย” ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา แสดงความเห็นเกี่ยวกับมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมที่อาจส่งผลกระทบต่อความคลาดเคลื่อนในการตีความคำสอนของ ‘พุทธทาสภิกขุ’ และอาจนำไปสู่ความล่มสลายของสวนโมกข์ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยืนยันว่า “ผมไม่รู้สึกว่าการที่สวนโมกข์จะล่มสลาย มันจะมีผลต่อการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของคำสอนของท่านอาจารย์ ผมคิดว่ามันคนละเรื่อง สิ่งเหล่านี้มันจะยังอยู่ในใจของคนที่ศึกษาและปฏิบัติ” นั่นหมายความว่าในหลายกรณี ‘หลักธรรมคำสอน’ กับ ‘ความเป็นสถาบัน’ บางครั้งก็อาจเป็นเส้นทางที่เคยบรรจบแต่ในที่สุดเราอาจค้นพบว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

vg08

“อย่าพยายามทำให้หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ กลายเป็นสวนโมกข์...”

นอกจากการแลกเปลี่ยนในประเด็นเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุ และสวนโมกข์ ช่วงท้ายๆ ของบทสนทนา วิจักขณ์ พานิช ยังได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งควรต้องคำนึงถึงบริบทของ ‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่หนทางในแบบที่พึงเป็น “สวนโมกข์กรุงเทพเกิดขึ้นมาด้วยความต้องการที่อยากจะนำเอาธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสเข้ามาสู่สังคมเมือง มันมีการพยายามจะปรับรูปแบบการนำเสนอ รูปแบบที่อาจารย์พุทธทาสได้วางรากฐานไว้มีการปรับให้มันเข้าถึงง่ายมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น มีการเชื่อมต่อกับสังฆะอื่นๆ หรือแม้แต่อำนาจรัฐ คณะสงฆ์ หรือครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันเป็นคนละจิตวิญญาณกัน (กับสวนโมกข์ไชยา)

vg11

“แต่ถามว่าสวนโมกข์กรุงเทพมีความน่าสนใจไหม มันก็มีความน่าสนใจ มันเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมะที่อาจจะเรียกว่าใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทยในยุคสมัยปัจจุบัน คนสามารถใช้ที่นี้เป็นประตูในการเปิดเข้าสู่โลกของธรรมะได้หลากหลายแนวทาง เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนเข้ามาเรียนรู้สนใจธรรมะได้อย่างเปิดกว้าง แต่ผมคิดว่า หอจดหมายเหตุฯ กับสวนโมกข์มันเป็นคนละที่กัน อย่าพยายามทำให้หอจดหมายเหตุฯ กลายเป็นสวนโมกข์หรือกลายเป็นภาพแทนของสวนโมกข์ ไม่เช่นนั้นมันจะมีปัญหา เราอย่าพยายามทำให้สิ่งที่มันเกิดขึ้นไปแล้วในอดีตมันเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่ามันจะไม่เหมือนเดิม เพราะว่าเราไม่ใช่เขา เราไม่สามารถที่จะไปทำแทนเขาได้ ผมกลับรู้สึกว่าหอจดหมายเหตุฯ ก็ควรจะทำอะไรก็ตามที่คิดว่ามันเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน” นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยร่วมสมัย โดยไม่ยึดติดกับการผลิตซ้ำภาพตัวแทนที่อาจจะขัดแย้งกับบริบทของสถานที่และเวลา

vg09

ในสมรภูมิความทรงจำเกี่ยวกับ ‘พุทธทาสภิกขุ’ โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า ค้นพบกับคำถามมากมายที่กล้าท้าทายต่อโครงสร้างแบบประเพณี ซึ่งรวมไปถึงการตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของ ‘พุทธทาสภิกขุ’ และ ‘สวนโมกข์’ เช่นเดียวกับบทสนทนาที่ วิจักขณ์ พานิช ได้มอบให้ ซึ่งประโยชน์ของคำถามเหล่านี้ คือการชี้ชวนให้เราย้อนกลับเข้าสู่การเดินทางด้านในว่าสุดท้ายแล้ว ‘พุทธทาสภิกขุ’ แบบไหนที่เรากำลังเลือกศรัทธา และ ‘สวนโมกข์’ แบบไหนที่ผู้คนกำลังแสวงหาและรอการค้นพบ...หรือบางที หากเราเชื่อว่า “ปัญญาญาณทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ธรรมะก็เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์คนหนึ่งมีความกล้าในการเอาชีวิตของตนเองทดลอง แล้วเกิดเป็นประสบการณ์มาจากตัวเอง เป็นปัญญาญาณที่ค้นพบด้วยตัวเอง” (บางบทสนทนากับ วิจักขณ์ พานิช) ‘พุทธทาสภิกขุ’ และ ‘สวนโมกข์’ ในลักษณะนี้ก็ควรจะเป็นเพียงวิถีมากกว่าเป้าหมายสุดท้ายที่ใครต่อใครยึดมั่นไว้ตรงปลายทาง

“สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ –สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น (ว่าตัวกู ว่าของกู)”