พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ ดร.เสรี พงศ์พิศ

Share

งานจดหมายเหตุ,

“ทำอย่างไรเราถึงจะปฏิบัติศาสนาของเราให้ดี แล้วก็เคารพศาสนาอื่นอย่างจริงใจ” พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ ดร.เสรี พงศ์พิศ
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒

 20190423 01

 

 ชมคลิปบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://youtu.be/4QXn9EsCfL0

“ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นคนที่กลับไปคลั่งศาสนาอยู่จำนวนหนึ่ง ทุกศาสนานะ ซึ่งเป็นอันตราย ผมคิดว่ามรดกหรือว่าพินัยกรรมที่ท่าน (พุทธทาสภิกขุ) ได้บอกเอาไว้สำคัญนะ ต้องไปทบทวนตรงนั้นว่า ทำอย่างไรเราถึงจะปฏิบัติศาสนาของเราให้ดี แล้วก็เคารพศาสนาอื่นอย่างจริงใจ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทำให้ศาสนานี้ช่วยจรรโลงสังคมมนุษย์ที่มันร้อนแรงขึ้นในทุกๆ เรื่อง ให้มันดีกว่านี้ ผมว่าอันนี้ต่างหากที่เราจะต้องกลับไป” ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการด้านปรัชญาและเทววิทยา และอธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้จากภิกษุนาม ‘พุทธทาส’ ในห้วงเวลาที่ ‘ตรรกะคู่ตรงข้าม’ ยังคงเป็นเครื่องมือช่วยดำรงความขัดแย้งให้คงอยู่ในโลกร่วมสมัย

ความต่างและหนทางที่เป็นหนึ่ง

 20190423 02

“ผมเป็นคาทอลิกตั้งแต่เกิด พ่อแม่ก็เป็นคาทอลิก แล้วปู่ย่าตาทวดก็เป็นคาทอลิก...สมัยก่อนคาทอลิกก็ยังเคร่งอยู่ ไปร่วมฉลองงานบุญก็ทำไม่ได้ แต่ว่าตอนหลังมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ หลังสังคายนาวาติกันที่ ๒ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปหมด ก็ไปมาหาสู่กัน ไปร่วมงานบุญงานอะไรต่ออะไรกันได้หมด” ดร.เสรี พงศ์พิศ ในวัย ๗๒ ปี บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิดในตำบลท่าแร่ อำเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นชุมชนคาทอลิกขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแฝงไว้ด้วยความน่าสนใจของข้อมูลความสำคัญเกี่ยวกับ สังคายนาวาติกันครั้งที่ ๒ (ค.ศ.๑๙๖๒-๑๙๖๕) ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก

20190423 03

สังคายนาวาติกันที่ 2 ภาพจาก thecatholicspirit.com

“คือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มหาอำนาจต่างๆ ก็เริ่มลดความเป็นมหาอำนาจลง ประเทศต่างๆ ที่อยู่ใต้อาณานิคมก็เป็นเอกราชกันเกือบหมด เศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้น สังคมการเมืองที่เกิดขึ้น เหล่านี้มันทำให้คนคิดไปก้าวไกลมากขึ้น การได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มันเร็วมาก สังคายนาวาติกันครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นมาเป็นเพราะทุกคนเห็นว่า ความเชื่อประเพณีจารีตต่างๆ ในศาสนามันสวนทางกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มันไม่ทัน มันยังเก่าแก่โบราณเหลือเกิน อย่างเช่นพิธีกรรมต่างๆ ก็ยังเป็นภาษาละติน คนก็ไม่รู้ความหมายมันแปลว่าอย่างไร

ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มในการตีความแบบใหม่ขึ้นมาในประเทศต่างๆ ความเคลื่อนไหวในศาสนจักรทั่วโลกก็ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จริงอยู่ศาสนาจะไปทีหลังเพื่อนเสมอ แต่ว่าไม่มีทางที่จะไปต้านการเปลี่ยนแปลงนั้นได้...สังคายนาวาติกันครั้งที่ ๒ เริ่มต้น พ.ศ.๒๕๐๖ จบ พ.ศ.๒๕๐๘ จบในปีที่ผมไปเรียนที่กรุงโรมนั่นแหละ เพราะฉะนั้นผมได้เรียนเอกสารทั้งหมดของสังคายนาวาติกันที่ ๒ คือเรียนอยู่ในบรรยากาศที่ยังอุ่นๆ อยู่ อาจารย์ทั้งหลายก็เอาเรื่องราวเหล่านั้นมาสอน ผมกลับมาแล้วก็มีปัญหาคือคิดไม่เหมือนกับคนอื่นหลายคนที่อยู่ก่อนนั้น เพราะว่าวิธีคิดที่แตกต่าง” อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ให้ข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับความเป็นมาของ สังคายนาวาติกันครั้งที่ ๒ (ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://www.kamsonbkk.com/download/Book%20for%20download/Vatican%20II.pdf)  ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของเหตุปัจจัยทางสังคม ที่อาจเป็นแรงผลักดันหรือเปิดโอกาสให้สหายธรรมชาวคาทอลิกจำนวนไม่น้อยได้เดินทางมาพบกับภิกษุในพุทธศาสนานาม ‘พุทธทาส’ ดังที่ตัวเขาเองก็เลือกจัดทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกโดยมีผลงานของพุทธทาสภิกขุเป็นแรงบันดาลใจ

20190423 04

“ผมเลือกหัวข้อเกี่ยวกับพุทธทาส เพราะผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา แล้วก็เห็นว่าแนวคิดของท่านพุทธทาสน่าจะนำไปสู่ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างศาสนาได้ เลยเลือกศึกษาท่านแล้วก็ศึกษานักปรัชญาอังกฤษอีกคนหนึ่ง (Ian Ramsey) โดยหัวข้อของผม เรื่องปัญหาภาษาศาสนา (The problem of religious language: A Study of Buddhadasa Bhikkhu and Ian Ramsey as models for a mutual understanding of Buddhism and Christianity.) ผมศึกษาประเด็นนี้เพราะว่า ปัญหาภาษาเป็นเรื่องที่จะนำไปสู่การเข้าใจวิธีคิดของศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์ได้ดีว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งแตกต่างก็ไม่ได้แปลว่าทำให้เราไม่เข้าใจกัน คนเราต่างกันได้ แต่ว่ายิ่งเข้าใจกันว่ามีวิธีคิดวิถีปฏิบัติอย่างไร ก็จะทำให้เรารักกันมากขึ้นอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติมากขึ้น” ดร.เสรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกทางด้านปรัชญา เมื่อครั้งศึกษา ณ ประเทศเยอรมนี

20190423 05

ภาพอดัมและอีฟในสวนเอเดนจาก pixabay.com

นิพพานเป็นอะไรที่อยู่เหนือทั้งบุญและบาป นั่นคือสภาวะของอดัมและอีฟก่อนที่จะรู้ว่าบาปคืออะไร

หลังเรียนจบระดับปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี และกลับมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เสรี พงศ์พิศ จึงมีโอกาสเดินทางไปพบกับพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี “ก็ได้แลกเปลี่ยนกับท่าน (ในประเด็นเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก) ท่านไม่ได้ว่าอะไร ท่านเห็นว่าเป็นการศึกษาที่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนาได้ดี ท่านก็ชื่นชม ถึงเป็นที่มาที่ท่านขอให้ผมจัดพิมพ์ปาฐกถาของท่าน ‘ใจความแห่งคริสตธรรมเท่าที่พุทธบริษัทควรทราบ’ ทั้งๆ ที่ศิษย์ของท่านก็อยากจะพิมพ์ แต่ท่านบอกว่าต้องให้ผมเป็นคนอ่านและเป็นคนเขียนเชิงอรรถให้ ซึ่งผมก็ไม่บังอาจไปเขียนเชิงอรรถให้ท่าน แต่ท่านก็บอกว่าต้องมีคำอธิบายเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ท่านละเอียดอ่อน ท่านระมัดระวังมากนะเรื่องนี้

20190423 07

ผมถึงต้องเขียนภาคผนวกว่า ในเรื่องที่ท่านยกขึ้นมาเป็นประเด็นจากที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ล คนที่นับถือศาสนาคริสต์โดยเฉพาะคาทอลิกเขาเชื่ออย่างไรในประเด็นนั้นๆ บางอันคนคริสต์อาจจะบอกว่าเราไม่ได้เชื่อแบบนี้ แต่ท่านก็เพียงแต่หาคำอธิบายเปรียบเทียบเพื่อให้คนพุทธได้เข้าใจเท่านั้นเองว่า ถึงแม้คนพุทธไม่ได้เชื่อในพระเจ้าแต่ว่าธรรมะสิ่งสูงสุดจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นสิ่งสูงสุดทั้งนั้น

“หรือเวลาท่านบอกว่าหัวใจพุทธศาสนาอยู่ในหน้าแรกของพระคัมภีร์ไบเบิ้ล คนก็แปลกใจเป็นไปได้อย่างไร ท่านก็พยายามอธิบายให้เห็นว่า การที่อดัมและอีฟอยู่ในสวนเอเดนแล้วก็กินผลไม้ต้องห้ามแล้วก็สำนึกผิดแล้วรู้ชั่ว คือรู้ว่าบาปความผิดคืออะไร เป็นการแบ่งแยกหรือแปลกแยกครั้งแรกของมนุษยชาติ ซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่มีบุญไม่มีบาปมันอยู่เหนือสภาวะ ทุกอย่างเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง เมื่อคนรู้ดีรู้ชั่วคนก็เลยมีปัญหา รู้ว่าอันนี้ดี รู้ว่าอันนั้นไม่ดี รู้ผิดรู้ถูก ซึ่งอันนี้ต้องเข้าใจให้ลึก อย่างสระมะพร้าวนาฬิเกร์ของท่าน สระน้ำอยู่ที่สวนโมกข์

20190423 06

‘มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย’ ท่านเอามาจากนิทานกล่อมเด็กของคนใต้ เพื่อจะอธิบายว่านิพพานเป็นอะไรที่อยู่เหนือทั้งบุญและบาป นั่นคือสภาวะของอดัมและอีฟก่อนที่จะรู้ว่าบาปคืออะไรสภาวะที่เป็นเอกภาพกับทุกสิ่งทุกอย่าง” อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน อธิบาย

Hans Küng กับ พุทธทาสภิกขุ

นอกจากการเดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนหัวข้อธรรมเป็นการส่วนตัว ครั้งหนึ่ง ดร.เสรี พงศ์พิศ ยังได้พานักเทวศาสตร์ (Catholic theologian) และบาทหลวงคาทอลิกชาวสวิส-เยอรมันนาม ฮันส์ คึง (Hans Küng) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนใน มหาวิทยาลัย Tübingen ทางภาคใต้ของเยอรมนีมาพบและสนทนากับพุทธทาสภิกขุ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ทั้ง ๒ ท่านต่างเป็นตัวแทนของปราชญ์สายปฏิรูปที่อาจถูกเพ่งเล็งในเชิงลบจากสถาบันศาสนาแนวประเพณี และต่างฝ่ายต่างสนใจในเรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนา “โปรเฟสเซอร์ ฮันส์ คึง เป็นนักเทวศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่แล้ว

19765 305349240534 3656173 n

ท่านเป็นที่ปรึกษาที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของสังคายนาวาติกันครั้งที่ ๒ ที่กรุงโรม ซึ่งผู้นำศาสนาทั่วโลกไปรวมกันที่นั่น...ฮันส์ คึง เป็นคนหัวก้าวหน้าและตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องหลักธรรมคำสอน รวมทั้งเรื่องศาสนจักร อันนี้ทำให้ท่านมีปัญหากับทางวาติกันจนถูกห้ามสอนเทวศาสตร์ แต่ท่านก็ได้ตั้งสถาบันที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาขึ้นมาที่มหาวิทยาลัย Tübingen และนั่นคือที่มาที่ผมรู้จักท่าน เวลาท่านจะมาเมืองไทยท่านก็ติดต่อผม เพราะว่าท่านก็เห็นงานเขียนของผมเรื่องท่านพุทธทาสแล้วก็อยากจะรู้จัก ก็เลยได้ติดต่อมาบอกว่าให้พาไปพบท่านพุทธทาสหน่อย เลยได้พาไปที่สวนโมกข์ รู้สึกสนทนากันอยู่ ๒ วัน” ดร.เสรี ย้อนความหลังเมื่อครั้งพาปราชญ์ชาวสวิส-เยอรมัน เดินทางมาพบพุทธทาสภิกขุ และเล่าต่อไปว่า

20190423 11

“ท่านพุทธทาสท่านก็ดี พาไปเดินผ่านพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรก็อธิบายว่านี่คืออะไร แล้วก็เดินไปถึงสระน้ำนาฬิเกร์แล้วก็ให้ผมแปลว่ามะพร้าวนาฬิเกร์นี่เป็นอย่างไร ก่อนจะกลับท่านให้ภาพถ่ายของท่านแก่ผมแผ่นหนึ่ง ฮันส์ คึง แผ่นหนึ่ง แผ่นใหญ่เท่า A4 ท่านก็เซ็นชื่อให้แล้วเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Die Before Dying for Immortality ตายก่อนตายเพื่อจะได้ไม่มีวันตาย แล้วก็ม้วนให้โปรเฟสเซอร์ ฮันส์ คึง กับผม เป็นการพบที่ดีมาก ฮันส์ คึง ก็ดีใจมากที่พบท่าน บอกนี่เป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่ของเมืองไทย ของโลกเลยล่ะ เพราะว่าเขาได้อ่านงานวิทยานิพนธ์ของผมมาก่อน เขาเห็นด้วยว่าเป็นการตีความที่ค่อนข้างก้าวหน้า เขาไม่เคยเห็นการตีความแบบท่านพุทธทาสมาก่อน การใช้ภาษาคน-ภาษาธรรมในลักษณะแบบนี้ ซึ่งภาษานี่สำคัญมากนะ เพราะมันสะท้อนว่าคุณมีความเชื่อหรือแนวคิดขั้นพื้นฐานอย่างไร” อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ให้ข้อมูลก่อนอธิบายถึงเส้นทางการทำหน้าที่รับใช้ศาสนาของ ฮันส์ คึง ในปัจจุบันเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

20190423 12

“โปรเฟสเซอร์ ฮันส์ คึง แม้จะถูกห้ามสอนเทวศาสตร์ (Theology) ท่านก็ทำงานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา อย่างเช่นการส่งเสริมจริยธรรม แล้วท่านก็ยังคงบรรยายทางอ้อมว่าศาสนาคริสต์สอนอะไร อย่างไร ท่านยังเป็นพระอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่เป็นพระแบบที่ถูกหาว่าพระนอกคอกหรือพระนอกรีตอะไรแบบนั้น แต่ว่าท่านก็ยังเป็นพระ เป็นอาจารย์ที่เกษียณไปแล้วแต่ก็ยังมีชื่อเสียงมาก หนังสือของท่านเป็นหนังสือเรียนของบรรดาพวกที่เรียนเทวศาสตร์ทั้งหลาย มีหลายภาษาหลายเล่มที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก” ข้อมูลจาก ดร.เสรี เผยให้เห็นบางแง่มุมของความเหมือนในความต่างระหว่างพุทธทาสภิกขุ และ ฮันส์ คึง ๒ นักการศาสนาสายปฏิรูปที่ครั้งหนึ่งเคยโคจรมาพบกัน

ปณธาน 3 ขอของทานพทธทาส

ท่านอยากให้คนได้เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนเอง แล้วก็เคารพในศาสนาคนอื่น

ขณะที่ชาวพุทธในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยซึ่งสนใจในประวัติและผลงานของพุทธทาสภิกขุ บางครั้งยังคงติดอยู่ในกับดักของเส้นสมมติแห่งศาสนาและพิธีกรรม แต่ในฐานะสหายธรรมต่างศาสนา ดร.เสรี พงศ์พิศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในการทำงานรับใช้ศาสนาตามแบบฉบับของพุทธทาสภิกขุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ท่านอยากให้คนได้เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนเอง แล้วก็เคารพในศาสนาคนอื่น ความเชื่อคนอื่นที่แตกต่างไปจากตนเอง ซึ่งอันนี้เป็นหลักใหญ่ที่สุดที่ทำให้ผมได้ศึกษาท่าน และจากการที่ลงไปสนทนากับท่านก็วนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งไปถกเถียงกับท่านผมก็ถกนะ ผมยังถามท่านเลยว่าที่อาจารย์ตีความแล้วก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับชาตินี้ ชาติหน้า ชาติก่อน ชาติหลังเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อาจารย์เน้นแต่เรื่องวันนี้คุณทำอะไรคุณก็ได้วันนี้ ไม่ต้องไปรอชาติหน้า ถ้าอนาคตคนบอกว่าการตีความของท่านอาจารย์เรื่องนี้และเรื่องอื่นมันผิดเป็นไปได้ไหม ท่านบอกว่าได้ (หัวเราะ) ทำไมจะไม่ได้ล่ะ ก็แล้วแต่คนเขาจะตีความ คือท่านไม่เคยยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตนเอง ดังนั้นคำว่ายึดมั่นถือมั่น ตัวกูของกู ผมว่าท่านไม่ได้เพียงแต่ประดิดประดอยคำพูดที่มันดูเท่ๆ ไม่ใช่ ท่านหมายถึงสิ่งนั้นจริงๆ

20190423 10

“ผมว่าในเรื่องของความคิดเรื่องของหลักธรรมต่างๆ ท่านมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก แต่ว่าไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนี้ถูกอย่างเดียวอันอื่นไม่ใช่ อันนี้ไม่มี เราต้องเข้าใจสิ่งที่ท่านพูดนะ เวลาท่านพูดถึงธัมมิกสังคมนิยม อะไรแบบนี้ ท่านยืมภาษามาเพียงเพื่ออธิบายสัจธรรมบางอย่างเท่านั้นเอง เราไปตีความตรงๆ แบบนั้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับท่านพุทธทาส ผมว่าต้องดูถึงฐานคิดของท่านว่าท่านเป็นคนคิดอย่างไร ใจกว้างอย่างไร...ผมคิดว่าคำสอนของท่านพุทธทาสพยายามตอบคำถามชีวิตของผู้คนในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด อันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากท่าน

19765 300390735534 6640008 n

ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า คุณจะต้องมีประสบการณ์ตรงว่า เมื่อเข้าถึงธรรมแล้วแปลว่าอะไร ไม่มีทางที่คุณอ่านแล้วจะได้ทันที แต่ว่าถ้าคุณลงมือปฏิบัติ มันเหมือนกับคุณเห็นป้ายที่เขาเขียนว่าทางไปห้องน้ำ คุณจะไปห้องน้ำตรงนั้นไม่ได้ คุณต้องเดินไปตามลูกศรแล้วคุณก็จะไปถึงห้องน้ำ แล้วคุณก็ปลดทุกข์ แล้วคุณก็จะสบายเวลาคุณออกมา คือผมคิดว่าคำสอนของท่านเป็นสิ่งที่นำเราไปสู่หนทางที่เราจะต้องทำเองได้” อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของการดำรงชีวิตประจำวันภายใต้หลักธรรมที่สามารถข้ามพ้นเส้นแบ่ง

20190423 08
แม้ที่ผ่านมาผู้ที่มีศรัทธาต่อ พุทธทาสภิกขุ จะรับรู้ถึงความใจกว้างต่อศาสนิกต่างศาสนา แต่บทสนทนากับ ดร.เสรี พงศ์พิศ กลับช่วยเติมเต็มข้อมูลอีกด้านซึ่งเป็นบริบททางสังคมที่เรียกร้องให้ศาสนาสำคัญของโลกต้องเปิดกว้างความสัมพันธ์กับความหลากหลาย และนี่อาจเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้สหายต่างศาสนาได้มาแลกเปลี่ยนข้อคิดหลักธรรมซึ่งกันและกัน การพบปะสนทนาระหว่างพุทธทาสภิกขุและปราชญ์ชาวคาทอลิกนอกจากจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการรักษาความแตกต่างบนเส้นทางแห่งสันติภาพแล้ว ในอีกมุมหนึ่งข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมายังสะท้อนให้เห็นว่าบางครั้ง ‘สัจธรรม’ ก็เป็นสิ่งที่มิอาจยึดมั่นถือมั่นไว้ด้วยเส้นแบ่งแห่งสมมติและพิธีกรรมที่กระทำกันอย่างคุ้นเคย...โลกที่สระนาฬิเกร์จะมาบรรจบกับสวนเอเดนจึงเป็นไปได้ก็เฉพาะแต่ในหัวใจของผู้ศรัทธาที่ข้ามพ้นทุกเส้นแบ่ง