ครุ่นคิดถึงพุทธทาสภิกขุ กับ ประชา หุตานุวัตร

Share

ประวัติศาสตร์บอกเล่า, งานจดหมายเหตุ,

ครุ่นคิดถึงพุทธทาสภิกขุ กับ ประชา หุตานุวัตร

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑



“ผมก็แสวงหาไปที่ต่างๆ หลายที่ ในที่สุดหาคนคุยรู้เรื่องไม่ได้ ผมก็มาจบที่สวนโมกข์...คือท่านอาจารย์ผมเถียงได้ เถียงถึงที่สุดได้ เถียงจนเราพอใจได้ แล้วท่านก็ไม่ว่า ท่านก็คุยด้วย ซึ่งครูบาอาจารย์แบบนี้หายาก...” ประชา หุตานุวัตร หรืออดีตพระประชา ปสนฺนธมฺโม ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงหนังสือ ‘เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ’ เล่าถึงความทรงจำที่เขามีต่อภิกษุนาม ‘พุทธทาส’ ผู้ที่เขาสามารถแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นทางความคิดได้ด้วยความเคารพ

พุทธทาสภิกขุ กับการรื้อความฝันแบบกระแสหลัก

    ในโลกที่ยกย่องเชิดชูกระบวนการค้นหาคำตอบแบบวัตถุนิยม (Materialism) ภายใต้กรอบคิดวิทยาศาสตร์ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนทุนนิยมทางเศรษฐกิจ บ่อยครั้งความเป็นภิกษุแบบ ‘พุทธทาส’ มักได้รับการจัดจำแนกให้อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ซึ่งมีนัยยะที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ในความทรงจำแรกรุ่นของ ประชา หุตานุวัตร หนังสือธรรมะของพุทธทาสภิกขุกลับมีความหมายที่ต่างออกไป




    “ผมโตมาในครอบครัวจีนโพ้นทะเลผสมไทย ในครอบครัวก็จะมีบรรยากาศแบบ เราต้องเก่ง ประสบความสำเร็จในชีวิต ความฝันแบบอเมริกันดรีมเข้าในครอบครัวผมเยอะ ผมมาเปลี่ยนตอนที่ผมอยู่ มศ.๔ มศ.๕ ผมอ่านหนังสืออาจารย์พุทธทาส มีอิทธิพลกับผมมหาศาลในการรื้อความฝันแบบกระแสหลัก ครั้งแรกอ่านหนังสือที่ คุณปุ่น จงประเสริฐ ย่อมา เรื่องจิตว่าง ผมอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเท่าไหร่หรอก แต่รู้สึกมีอะไรแปลก มีอะไรที่ไม่เหมือนศาสนาพุทธที่เราเบื่อๆ เรียนศาสนาพุทธในโรงเรียนแล้วมันเบื่อมาก ท่องนั่นท่องนี่ไปสอบ แต่ไม่มีความหมายอะไรกับเรา แต่ท่านพูดอะไรบางอย่างที่เรารู้สึก เฮ้ย มันน่าสนใจอยากรู้อยากเห็น ผมก็ขวนขวายหาหนังสือของท่านมาอ่าน ผมจำได้ผมอ่านทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในตลาด”

เรียนศาสนาพุทธในโรงเรียนแล้วมันเบื่อมาก ท่องนั่นท่องนี่ไปสอบ แต่ไม่มีความหมายอะไรกับเรา แต่ท่านพูดอะไรบางอย่างที่เรารู้สึก


    ประชา เล่าถึงความหลังเมื่อแรกครั้งรู้จักหนังสือของพุทธทาสภิกขุที่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการถ่ายทอดพุทธศาสนาแบบประเพณี แต่ยังถอดรื้อคุณค่าความสำเร็จในระบบทุนนิยมที่เริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน แต่ถึงกระนั้นการถอดรื้อความฝันแบบทุนนิยมด้วยพุทธศาสนาก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบต่อสังคมที่ดีกว่าสำหรับ ประชา ในเวลานั้น เส้นทางของฝ่ายซ้าย หรือสังคมนิยม (Socialism) จึงดูจะเป็นหนทางที่นักแสวงหาอย่างเขาต้องเลือกเดิน

    “ผมเข้าไปอยู่กับสันนิบาตเยาวชนรักชาติแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นปีกเยาวชนของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาเรียกเป็น ย ผมเป็น ย ก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖...ผมอยู่จัดตั้งก่อนหลายคนที่มีชื่อเสียงในทางสังคม ผมเห็นเรื่องภายในมาก การเห็นเรื่องภายในมาก ก็เลยทำให้ผมเห็นว่า ระบบนี้ไม่สามารถสร้างสังคมอุดมคติได้ เพราะมันตรวจสอบผู้มีอำนาจข้างบนไม่ได้เลย มันเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ คือข้างล่างตรวจข้างบนไม่ได้




     อันนี้ผมเขียนไว้แล้วในเรื่องความหลังครั้งยุวชนสยาม...ผมเห็นขบวนการฝ่ายซ้ายมันซ้ายจัดมากเกินไป แล้วเริ่มไม่เห็นด้วยกับเพื่อนที่อยู่ในขบวนการ วิธีคิด ยุทธศาสตร์ในการทำงาน ผมเห็นต่างออกไป เรื่องนี้ก็คุยกันในกลุ่มจัดตั้งด้วย ผมรู้สึกไปไม่รอดแน่ ในที่สุดผมก็เลยตัดสินใจแยกออกมาจากกลุ่มฝ่ายซ้ายมาอยู่กลุ่มอหิงสา” ประชา หุตานุวัตร ย้อนความทรงจำบนเส้นทางฝ่ายซ้าย และอธิบายถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ว่า

    “เรื่องบวชมันเป็นแบบนี้ คือมีบางคนในกลุ่มอหิงสาไม่เชื่อว่าผมเปลี่ยนใจจริงๆ นึกว่าผมมาแทรกซึมในกลุ่มอหิงสา เพื่อนผมคนหนึ่งคือวิศิษฐ์ วังวิญญู บอกประชามึงไปบวชซักหน่อยไหม ไอ้สีแดงของมึงจะได้จางๆ ลงหน่อย อันนี้เป็นเหตุให้ผมบวช...พอครบปีหนึ่งผมก็จะสึก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอก อย่าเพิ่งสึกเลยอยู่ต่อ อธิษฐานเอาปีสองปี ตอนหลังชักเพลิน ส่วนหนึ่งเพราะได้โต้ทางความคิดกับเพื่อนฝ่ายซ้าย เริ่มมองประเด็นทางสังคมจากแง่มุมของฝ่ายพุทธมากขึ้น ในตอนนั้นก็มีนิตยสารปาจารยสารเป็นเวทีที่โต้กันกับฝ่ายซ้าย แล้วก็ขึ้นเวทีพูดก็บ่อย เกือบทุกมหาวิทยาลัยชวนไปคุยไปโต้กัน มันเพลินๆ อยู่นะ เพลินๆ กับไอ้พวกนี้อยู่หลายปี




    ประชาเล่าต่อไปว่า “ผมก็แสวงหาไปที่ต่างๆ หลายที่ ในที่สุดหาคนคุยรู้เรื่องไม่ได้ ผมก็มาจบที่สวนโมกข์...คือท่านอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ผมเถียงได้ เถียงถึงที่สุดได้ เถียงจนเราพอใจได้ แล้วท่านก็ไม่ว่า ท่านก็คุยด้วย ซึ่งครูบาอาจารย์แบบนี้หายาก จำได้เถียงกันเรื่องความเสมอภาค ท่านบอกมันเป็นไปไม่ได้เรื่องความเสมอภาค แล้วท่านอ้างอิง พระธรรมบทว่า คนอยู่เสมอกันเป็นทุกข์ ก็เถียงๆๆ เถียงๆๆ มันไม่ได้เสมอกันข้างนอก มันหมายถึงศักดิ์ศรีเสมอกัน ความเป็นมนุษย์ที่มันเสมอกัน ท่านยอม ถึงที่สุดแล้วท่านยอม ท่านก็ฟัง ผู้ใหญ่อย่างนี้ข้างนอกดุนะ แต่พอเถียงถึงที่สุดแล้ว พอท่านเห็นว่าเรามาถูกทางแล้วก็โอเค ซึ่งเป็นความวิเศษของท่าน”

พระประชา ปสนฺนธมฺโม ในสวนโมกข์ พุมเรียง

    ขณะที่ความทรงจำของใครหลายคนเกี่ยวกับพุทธทาสภิกขุอาจรวมอยู่ที่ สวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่สำหรับ ประชา หุตานุวัตร เขากลับมีภาพของสวนโมกข์ พุมเรียง เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำระหว่างเขาและพุทธทาสภิกขุ “ผมไม่แน่ใจว่าผมได้จำพรรษาที่สวนโมกข์ใหญ่ (สวนโมกข์ ไชยา) หรือเปล่า หรือว่าก่อนเข้าพรรษา สวนโมกข์เก่า พุมเรียง ขาดพระ แล้วท่านอาจารย์คงเห็นว่าผมคงเข้าพวกลำบากเลยส่งไปอยู่ที่นั่น... ท่านบอกไม่มีพระดูแล อยากให้คุณไปช่วยดูแล แต่ผมเข้าใจว่าตอนนั้นผมไม่ค่อยทำตามหมู่คณะเท่าไหร่” ประชา หุตานุวัตร ให้ข้อมูลที่พาดพิงถึงตนเองอย่างตรงมาตรงมา และเล่าต่อไปว่า

    “พรรษาแรก ไปใหม่ๆ รู้สึกไป (สวนโมกข์ พุมเรียง) รูปเดียว แต่ตอนจะเข้าพรรษาจะมีพระ ๓-๔ รูปมาอยู่ด้วย แล้วก็มีพระในท้องถิ่นมาบวชด้วย ก็พาหมู่คณะสวดมนต์ภาวนา แล้วต่างคนก็ต่างศึกษางานอาจารย์พุทธทาส ผมเขียนหนังสือเยอะช่วงนั้น ใช้สวนโมกข์เก่าเป็นที่เขียนหนังสือ เขียนบทความสำคัญๆ เขียนมาจากที่นั่นเยอะ แต่ละบทมีเวลาไตร่ตรองเขียน ๒-๓ อาทิตย์เสร็จก็ส่งมาปาจารยสารก็พิมพ์ ก็เรียนรู้ผ่านทางนี้เยอะ แล้วพอได้จังหวะก็ไปสวนโมกข์ไชยา ไปคุยกับท่านอาจารย์...ส่วนใหญ่คุยเรื่องธรรมะ ผมอ่านหนังสือท่านแล้วผมไม่เข้าใจตรงไหนผมก็ถาม จดแล้วไปถาม เสียดายที่ไม่ได้อัดไว้ จำได้ว่าผมอ่านอานาปานสติฉบับสมบูรณ์ มีคำถามยาวเลยไปถามท่าน ซึ่งถ้าเก็บไว้จะเป็นประโยชน์มาก” ประชา เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งบวชจำพรรษาในสวนโมกข์พุมเรียง




เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ

    ด้วยเหตุที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งประชานับถือเป็นครูที่มีบทบาทสำคัญกับชีวิตของเขาคนหนึ่ง เคยเอ่ยกับเขาเสมอว่า “อยู่ใกล้คนที่มีความสำคัญ อย่าไปดูแต่คำสอนท่านอย่างเดียว ดูชีวิตของท่านด้วย ศึกษาชีวิตของท่านด้วย” ทำให้ในช่วง ๒-๓ พรรษาสุดท้ายในสวนโมกข์ พระประชา ปสนฺนธมฺโม ตัดสินใจที่จะบันทึกเรื่องราวจากการสัมภาษณ์พุทธทาสภิกขุ เพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้จักกับ พุทธทาสภิกขุ ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งประชา ให้ข้อมูลว่า เขาต้องใช้เวลาเป็นปีในการค้นคว้าและอ่านเอกสารต่างๆ เพื่อให้ได้คำถามที่จะใช้ในการสัมภาษณ์

     “ตอนนั้นผมก็ใกล้ชิดกับน้องๆ ทางมูลนิธิโกมล คีมทอง พวกนี้มีส่วนช่วยเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะ อรศรี งามวิทยาพงศ์ (บรรณาธิการหนังสือ ‘เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ’) เขาช่วยผมทำการบ้านเยอะเหมือนกัน เพราะว่าผมอ่านงานสมัยปัจจุบัน ให้อรศรีอ่านงานชุดแรก แล้วก็ช่วยค้นหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ตั้งแต่ปีแรก แล้วก็ตั้งคำถามมา คำถามหลายอันเขาก็ช่วยตั้ง” ที่สำคัญหลังจากการเรียบเรียงข้อมูล ประชาจะต้องนำข้อมูลที่ได้มาอ่านให้ท่านพุทธทาสฟังอีกครั้ง “ทุกถ้อยคำท่าน ตรวจสอบ และรับรองแล้วถึงเอาลง ท่านก็มาแก้ตรงนั้นตรงนี้บ้างไม่น้อย” ประชา บอกเล่าถึงกระบวนการในการทำงานหนังสือ ‘เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ’





    จากการที่ได้สัมภาษณ์และเข้าถึงข้อมูลเอกสารอีกจำนวนมากของพุทธทาสภิกขุ ทำให้ ประชา รับรู้ได้ถึงบางแง่มุมที่งานทางความคิดของท่านไม่ได้เปิดเผย “เห็นท่านมีมุมของความเมตตากรุณา ความอ่อนโยน พอใกล้ชิดก็เห็นมุมนี้ มุมของความรู้สึก ซึ่งถ้าอ่านงานเขียนส่วนใหญ่เราจะไม่เห็นความรู้สึกของท่านเท่าไหร่ กลอนส่วนใหญ่ของท่านเขียนด้วยความคิดไม่ใช่ความรู้สึก มีบางบทสองบทเท่านั้นเองเขียนด้วยความรู้สึก อย่างที่ท่านเขียนถึงแม่เป็นบทความก็เหมือนกับบทกวี ท่านเอาความรู้สึกเข้าไปใส่ด้วย เขียนถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ นี่ก็เป็นบทกวีมีความผูกพันส่วนตัว” ประชา หุตานุวัตร อธิบาย

ท่านอาจารย์วิจารณ์คนอื่นได้ เขาก็วิจารณ์ท่านอาจารย์ได้

    สำหรับผู้ที่สนใจในประวัติและผลงานของพุทธทาสภิกขุ ย่อมทราบดีว่า ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งที่ได้รับเสียงก่นด่าไม่น้อยไปกว่าคำชื่นชม ซึ่ง ประชา หุตานุวัตร แสดงความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมเองผมเชื่อในเรื่องความคิดที่หลากหลาย เชื่อในการที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ท่านอาจารย์ ผมว่าดี ลูกศิษย์ลูกหาก็จะได้ระวังตัวมากขึ้น สังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกันผมว่าเป็นของดี แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนแล้วว่า แม้แต่เขาปรารถนาไม่ดีกับเรา เราก็ฟัง อะไรเป็นประโยชน์ก็เอามาใช้




    “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ น่าทำ เอ้า...เขาวิจารณ์แบบนี้จริงไหม จัดสัมมนาเลย มีคนเล่นงานท่านอาจารย์เยอะ ซึ่งเป็นของดีเอามาสัมมนาเลย มองหลายมุม อันนี้จะช่วยทำให้ชีวิตงานของท่านไม่ตาย ถ้าคนมัวแต่ยกย่องตลอดเวลามันก็น่าเบื่อ พวกเราเป็นลูกศิษย์ลูกหาก็มาคุยกัน บางเรื่องก็จริงบางเรื่องก็ไม่จริง หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ช่วยได้เรื่องพวกนี้ โดยการเอาประเด็นพวกนี้ขึ้นมาแล้วทำให้กระจ่างขึ้นชัดขึ้น ความต่างไม่เสียหาย ท่านอาจารย์ก็ตีความผิดได้ ต้องคิดแบบนี้ ท่านอาจารย์วิจารณ์คนอื่นได้ เขาก็วิจารณ์ท่านอาจารย์ได้ แล้วจริงๆ ท่านอาจารย์ท่านก็ฉลาดในแง่นี้ ท่านพูดบางเรื่องพูดให้คนตีความ พูดเผื่อคนตีความได้หลายแบบด้วยความตั้งใจ ผมไม่แน่ใจว่าอยู่ในหนังสือเล่าไว้เมื่อวัยสนธยาหรือเปล่า แต่ผมคุยกับท่านผมจำได้แน่นอน ท่านบอกว่าตั้งใจพูดให้คนตีความได้หลายแบบ สังคมมันเป็นได้หลายแบบ แบบนี้เหมาะกับสังคมแบบนี้ แบบนี้เหมาะกับสังคมแบบนั้น แต่เนื้อหาธรรมะอันเดียวกัน ถ้าคนไม่เข้าใจอันนี้ก็จะจับประเด็นผิดได้ง่ายๆ” ประชา หุตานุวัตร แนะนำวิธีจัดการกับประเด็นความขัดแย้งทางความคิด ก่อนกล่าวถึงความประทับใจที่เขามีต่อ พุทธทาสภิกขุ ว่า

    “ในแง่ส่วนตัว ท่านเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย พยายามปฏิบัติตามที่ท่านสอนอย่างจริงจัง อันนี้ผมว่ายิ่งใหญ่สำหรับผม เป็นคุณค่าที่ทำให้คำสอนของท่านมีพลัง นอกเหนือจากนี้ก็เรื่องการสอนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การเข้าหาพุทธศาสนาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งช่วยให้เราเห็นพุทธศาสนาลึกและกว้างโยงเรื่องต่างๆ แทนที่จะเห็นกระจัดกระจาย ผมว่าอันนี้ก็ยิ่งใหญ่มากสติปัญญาของท่าน ท่านเชื่อมสายปริยัติกับปฏิบัติ แต่ก่อนนี้พระปฏิบัติก็แยกกันไปไม่ค่อยสนใจปริยัติ พระปริยัติไม่ค่อยสนใจปฏิบัติ ท่านโยงสองอันนี้เข้าหากัน นี่ก็ยิ่งใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่ท่านทำคุณให้กับพระศาสนามหาศาล




    “ท่านเป็นคนกล้าพูดไม่เกรงใจคนเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งท่านอาจเป็นคนทางปักษ์ใต้ด้วย ไม่กลัวด้วย ตลอดชีวิตท่านก็จะโยนระเบิดลงสังคมไทยเป็นครั้งๆ ตลอดช่วงการทำงานของท่าน เช่น บอกการไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเราเนี่ย ขวางทางถึงพระนิพพาน โอ้โห คนด่ากันทั้งเมือง ในแง่นี้ก็เป็นอุบายของท่าน ท้าทายทำให้คนคิดลึกซึ้ง ผมว่าดี” ประชา หุตานุวัตร ให้ความเห็นถึงคุณูปการของวิธีการเข้าถึงพุทธศาสนาเชิงวิพากษ์ในแบบของ ‘พุทธทาสภิกขุ’




    ขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยแลเห็นว่าการสยบยอมอย่างนิ่งเงียบคือวิถีแห่งความนอบน้อมต่อองค์ความรู้ของครูบาอาจารย์ แต่การครุ่นคิดถึง ‘พุทธทาสภิกขุ’ ในแบบของ ประชา หุตานุวัตร กลับเผยให้เห็นแง่งามของการถกเถียงที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติบูชา สำหรับเขาแล้ว แก่นคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย และคำสอนทางสังคมของท่าน ต้องการคนเข้าใจงานของท่านอย่างเป็นองค์รวมและเรียบเรียงออกมาท้าทายแนวคิดกระแสหลักที่เราหยิบยืมมาจากฝรั่ง โดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับท่านทุกถ้อยกระทงความ สิ่งสำคัญก็คือ แนวคิดทางสังคมของท่านนั้น เป็นการนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ที่ท้าทายความทันสมัยของฝรั่งอย่างถึงแก่น และประชา หุตานุวัตร เชื่อว่า ถ้าสังคมไทยสามารถประยุกต์ความคิดของท่านได้อย่างเหมาะสม เราจะก้าวย่างเข้าสู่ระบบโครงสร้างสังคมอย่างใหม่ ที่วิกฤติของสังคมด้านต่างๆ จะได้รับการแก้ไข แทนที่เวียนวนอยู่กับความขัดแย้งอันไม่รู้จบ