"อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก" ธรรมพรเนื่องในโอกาสเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ปี ๒๕๕๓ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

Share

งานจดหมายเหตุ,

อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก

ธรรมพรเนื่องในโอกาสเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ท่านเขียนให้เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓

 chaokhun010sm

จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้น  รู้กันดีว่าคือนิพพาน และนิพพานนั้นก็มีไวพจน์ คือชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีความหมายตรงกันใช้แทนกันได้มากมาย ในบรรดาชื่อเรียกเหล่านั้น ไวพจน์ที่สำคัญก็เช่น วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิโรธ

วิมุตติ แปลว่าความหลุดพ้น หมายถึงหลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากทุกข์ จะแปลว่า ความเป็นอิสระ หรืออิสรภาพ ก็ได้ บางทีเรียกวิมุตตินี้สั้นๆ ง่ายๆ ว่า “โมกขะ” หรือ “โมกข์” หรือเขียนอย่างสันสกฤตเป็น “โมกษะ” หรือ “โมกษ์”

“โมกข์” ก็แปลว่า ความหลุด ความพ้น ใช้ได้ทั่วไป ตั้งแต่หลุดจากบ่วง พ้นจากพันธนาการ พ้นจากที่ถูกปิดล้อม พ้นภัย พ้นจากความตาย จนถึงพ้นทุกข์พ้นกิเลสด้วยอริยมรรค คือเป็นวิมุตติ หรือนิพพาน

เวลาพูด เวลาใช้ถ้อยคำ บางครั้ง บางกรณี รู้สึกว่า “โมกข์” หรือ “โมกขะ” ห้วนไป หรือออกเสียงไม่คล่องลิ้น ก็ใช้ “โมกษะ” บ้าง “โมกขธรรม” บ้าง ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกัน

IMG 4787sm

เกิดสวนโมกข์ ที่ไชยา

เมื่อเกือบ ๘๐ ปีมาแล้ว พุทธทาสภิกขุตั้งชื่อวัดของท่านที่ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า “โมกขพลาราม”แปลได้ว่าสวนที่เป็นกำลังแห่งโมกขะตามเรื่องที่บอกเล่าไว้ว่าที่นั่นมีต้นโมกและต้นพลามาก ท่านจึงตั้งชื่อวัดอย่างนี้ เป็นการโยงมาเข้ากับคำบาลี ซึ่งทำให้ได้ความหมายทางธรรมที่เหมาะมาก

“โมกขพลาราม” เรียกสั้นๆ ว่า “สวนโมกข์” คือ สวนเพื่อความหลุดพ้น สวนที่มุ่งสู่ความหลุดพ้น หรือสวนแห่งโมกขธรรม จะแปลยักเยื้องออกไปอีกว่า สวนสำหรับผู้แสวงหาความหลุดพ้น สวนเพื่อผู้มุ่งหาโมกขธรรม สวนที่แผ่ธรรมเพื่อโมกษะ หรือสวนอันมีโมกขธรรมที่จะมอบให้ ก็ได้ทั้งนั้น

คนไทยจำนวนมาก ตลอดไปถึงคนไม่น้อยจากนานาชาติ คงยอมรับเป็นอย่างดีว่า“สวนโมกข์” ได้เพียรทำหน้าที่เพื่อสนองวัตถุประสงค์ตามความหมายนี้ยั่งยืนนาน ตลอดชนมายุกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ และสืบมา

IMG 9376sm

สวนโมกข์ใหม่ เกิดในกรุงเทพฯ

บัดนี้ มีข่าวที่เป็นความเจริญงอกงามของสวนโมกข์ และเป็นความก้าวหน้าของงานแผ่ขยายกุศลธรรม คือจะมีการเปิดสวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งมีชื่อว่า “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ”

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางและเป็นแหล่งที่รวมความเจริญของประเทศ สำหรับถิ่นที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างนี้ แม้แต่ถ้อยคำเรียกชื่อก็มักสรรหานามที่ถือกันว่าไพเราะเสนาะหูฟังหรูทันยุคทันสมัย สวนโมกข์กรุงเทพนี้ ถ้าเรียกให้สมคำกรุงที่เป็นมหานคร ก็คงได้นามว่า “อุทยานอิสรภาพ”

อย่างไรก็ตาม นามว่าสวนโมกข์นี้ น่าจะเหมาะดีแล้ว ไม่เพียงว่าสั้นและเรียกง่าย แต่รูปลักษณ์ก็เรียบง่าย และมีอรรถนัยที่เบาสบายแต่ลึกซึ้ง โยงถึงธรรมและสื่อถึงใจชัดเจนอย่างเป็นภาพให้มองเห็น พอเรียกขาน ใจก็เบิกบานรับได้ทันที สวนโมกข์ที่สงบเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ จึงเหมาะที่จะมาตั้งอย่างน้อยก็เป็นสถานที่ตรึงดุลในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมหานคร ที่ซับซ้อนวุ่นวาย ตระหง่านด้วยอาคารตระการด้วยแสงสี ช่วยปลุกสติให้เกิดจิตสำนึกถึงความพอดี ที่จะหลุดพ้นในขั้นต้นจากความละเลิงหลงใหลในวัตถุปรุงแต่งและเทคโนโลยี

Copy of IMG 8804sm

ในกรุงในเมือง ต้องการสวนกันทั่ว

คนเมืองคนกรุงมุ่งหน้าพัฒนาบ้านเรือนถนนหนทางอาคารสถานที่ และจัดสร้างวัตถุอำนวยความสะดวกและบำรุงบำเรอความสุข แย่งชิงวิ่งหากันจนไปๆ มาๆ กลายเป็นเคร่งเครียดอึดอัดอืดเฟ้อ แล้วก็ชักจะเหนื่อยหน่าย เริ่มรู้ตัวและหันกลับมาเรียกหาธรรมชาติ คนในถิ่นที่เจริญมีชีวิตอยู่กับวัตถุปรุงแต่งและมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น ไม่ช้าก็ต้องมองเห็นความสำคัญของต้นไม้และการมีสวนต้นไม้ไว้เป็นแหล่งให้ความร่มเย็นและสัมผัสกับธรรมชาติ

สวนคือถิ่นของหมู่ไม้ ที่รื่นรมย์ด้วยบรรยากาศของธรรมชาติ มิใช่มีเพียงพฤกษา แต่มีเหล่าสกุณา และสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ อย่างน้อยก็คงได้เห็นกระรอกกระแต มีแหล่งน้ำ อาจจะเป็นสระ หรือธารน้ำลำห้วย แล้วก็ต่อไปถึงสายลม แสงแดด และท้องฟ้า  เป็นแหล่งชุบชูชีวิตขั้นพื้นฐาน

สวนเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชสัตว์ที่คัดสรรเท่าที่เป็นมิตรไม่มีพิษภัยแก่มนุษย์ จึงเป็นรมณียสถาน อันเหมาะที่มนุษย์จะเข้าไปพักผ่อนและจัดกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน

ในสมัยพุทธกาล บุคคลที่มีโภคสมบัติ ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ลงมา จนถึงชาวบ้านผู้มีฐานะอย่างคฤหบดี นิยมมีสวนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว อันจัดไว้เป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากบริเวณที่อยู่ ซึ่งอาจจะมีผู้คนคับคั่งอาคารบ้านเรือนหนาแน่น มีของประดิษฐ์และสิ่งตกแต่งมาก เรียกสวนนั้นว่าอารามบ้าง อุทยาน (ภาษาบาลีเรียกว่า อุยฺยาน) บ้าง

IMG 8312sm

ที่เรียกว่า “อาราม” ก็โดยมีความหมายว่าเป็น “ภูมิสถานอันรื่นรมย์” หรือภูมิสถานอันมีไม้ดอกไม้ผลที่มายลชื่นชมรื่นรมย์ใจ หรือไม่ก็เรียกว่า “อุทยาน” อันแปลว่า “ภูมิสถานที่ชนทั้งหลายแหงนชมดอกไม้ผลไม้เที่ยวเดินกันไป”

ได้แค่นี้ ก็พอจะบรรเทาปัญหาของมนุษย์ ที่ห่างเหินแปลกแยกจากธรรมชาติ ให้เขาได้สัมผัสเข้าถึงความสุขจากสิ่งแวดล้อมที่รื่นรมย์ เติมเต็มส่วนที่ขาดที่พร่องไปให้แก่ชีวิต

ทีนี้ ในอุทยาน นอกจากต้นหญ้าต้นไม้เป็นต้น ที่เป็นฝ่ายธรรมชาติแล้ว ก็อาจจะมีสถานที่สนุกสนานบันเทิง ตลอดจนสร้างอาคารที่หย่อนใจในทางสุนทรีย์ ดังที่ในราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีหอศิลป์ (จิตตาคาร) ที่ประชาชนพากันไปเที่ยวชมภาพจิตรกรรม เป็นต้น

กิจกรรมสนุกสนานบันเทิงและศิลปกรรมเป็นต้นนี้ ที่นำเข้าไปหรือจัดเพิ่มขึ้น ก็เพื่อเสริมคุณค่าให้คนได้ประโยชน์มากขึ้น เติมความสุข อย่างน้อยก็เป็นเครื่องช่วยดึงหรือน้อมนำใจคนเข้ามาหามาใกล้ชิดธรรมชาติ

แต่พอกิจกรรมและเรื่องราวของคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาวะเสี่ยงก็เกิดขึ้น บางที แทนที่จะเสริมคุณค่าในการเข้าถึงหรือได้ประโยชน์จากธรรมชาติ กลับทำลายบรรยากาศของธรรมชาตินั้นเสีย แล้วพาเขวเฉออกไปในทางตรงข้าม จึงต้องระมัดระวังที่จะดูแลควบคุมและจัดการให้ดีโดยไม่ประมาท

เธฅเธฒเธเธซเธดเธเนเธเนเธ

สวนต้นไม้แต่งสรรเติมความสุขแล้ว ยังแก้ทุกข์ไม่หาย

แม้แต่เมื่อปฏิบัติจัดการดีได้ผลสมตามวัตถุประสงค์ ชีวิตได้รับคุณค่าของธรรมชาติมาเสริม ได้เติมเต็มความสุขด้านที่ขาดที่พร่องไปนี้พอจะอิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เรื่องของคนไม่จบแค่นั้น ยิ่งสังคมซับซ้อนมากขึ้น วิถีชีวิตมีความดิ้นรนเร่งร้อนมากขึ้น ชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ราบรื่น ข้างนอกก็เกิดปัญหาความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับคนอื่น ข้างในใจก็สับสนกระวนกระวาย เกิดความเหงาอ้างว้างว้าเหว่บ้าง หดหู่ท้อแท้บ้าง ประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ขุ่นมัวเศร้าหมอง บางทีทุกข์ประดังถึงกับสิ้นหวัง ได้แต่โศกศัลย์คร่ำครวญคับแค้นใจ

ถึงขั้นนี้ สวนต้นไม้แม้จะช่วยผ่อนคลายบรรเทาทุกข์ได้บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ บรรยากาศของธรรมชาติอาจจะช่วยให้คนปลีกตัวหลุดพ้นออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ผูกรัดตัวไว้กับปัญหา และทำให้ปลอดโปร่งใจสดชื่นขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งชั่วเวลาหนึ่ง แต่ปัญหาชีวิตที่เป็นปมทุกข์ลึกลงไปในจิตใจ ก็ยังฝังตัวตามตนอยู่เรื่อยไป

เมื่อสวนแห่งธรรมชาติด้านรูปธรรมที่มีพฤกษาสกุณาเป็นต้นช่วยไม่ไหว คนเราก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง โดยคิดให้มีสวนแห่งธรรมชาติด้านนามธรรม คือมีธรรมะที่จะฟื้นฟูจิตใจ และสร้างปัญญาที่จะแก้ปมปัญหาในจิตใจนั้น

ถึงตอนนี้ ก็เกิดมีสวนอย่างใหม่ขึ้นมา เป็นการก้าวหน้าไปสู่ความเต็มพร้อม ที่สวนรื่นรมย์กาย กับสวนรื่นรมย์ใจ มาประสานรวมเข้าด้วยกัน

IMG 8856sm

กำเนิดสวนอย่างใหม่ ร่มกาย รื่นใจ

ย้อนไปดูในพุทธกาล บุคคลที่ทรงอิสริยยศและผู้มั่งคั่งมั่งมีที่ว่าครอบครองเป็นเจ้าของสวน คืออุทยานหรืออารามเหล่านี้ เมื่อมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลายท่านก็ได้ถวายอุทยานหรืออารามของตนหรือบางแห่งของตน แด่พระพุทธเจ้า ให้เป็นที่อยู่ที่พักอาศัยของสังฆะ คือเหล่าพระสงฆ์ จากจาตุรทิศ

สวนนั้นได้เป็นสถานที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์พร้อมในตัว อย่างที่ในภาษาไทยเรียกว่าวัด โดยไม่ต้องมีบริเวณที่ตั้งอาคารบ้านเรือนแยกออกไปต่างหากอย่างบรรดาคฤหัสถ์ คำบาลีดั้งเดิมจึงเรียกวัดว่า “อาราม” ดังพุทธดำรัสทรงอนุญาตให้มีวัดว่า “อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ” (ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม) คือ พระสงฆ์อยู่ในสวน และสวนนั่นเองคือวัด

วัดในพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา ที่มีชื่อเด่นเป็นที่รู้จักกันดีในพุทธกาล จึงล้วนเป็นอุทยานหรืออาราม ดังเช่น “เวฬุวนาราม” (ในพระไตรปิฎก วัดที่มีชื่อลงท้ายว่าวัน คือมีคำว่าป่าอยู่แล้ว ก็ไม่ใส่อารามต่อท้ายอีก ในกรณีนี้จึงเรียกแค่ “เวฬุวัน” แต่ในชั้นอรรถกถาลงมาบางทีก็เรียกลงท้ายให้มีอารามต่อด้วยอย่างนี้) คือพระราชอุทยานที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวาย “ราชการาม” คือพระอารามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถวาย “เชตวนาราม” (ในพระไตรปิฎก เรียกแค่ว่า “เชตวัน”) คืออุทยานของเจ้าเชต หรือสวนเจ้าเชต ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีขอซื้อมาจัดการสร้างถวาย “บุพพาราม” คือสวนบูรพาที่วิสาขามหาอุบาสิกาสร้างถวาย

ที่เมืองโกสัมพี เศรษฐี ๓ ท่านพากันถวายอุทยานหรืออารามของตน ก็กลายเป็นวัดตามชื่อของผู้ถวายนั้นๆ  ได้แก่ “โฆสิตาราม” (โฆสิตเศรษฐีถวาย) “กุกกุฏาราม” (กุกกุฏเศรษฐีถวาย) และ “ปาวาริกัมพวัน” (ปาวาริยเศรษฐีถวาย) ดังนี้เป็นต้น

IMG 3266sm

อย่างที่บอกแล้วว่า อารามคือสวนนั่นแหละ เป็นวัดทั้งหมด โดยพระสงฆ์อยู่อาศัยภายในอารามนั้น ไม่ต้องมีบริเวณแยกออกไปเป็นเขตที่อยู่อาศัยต่างหากอย่างคฤหัสถ์ชาวบ้าน แม้จะสร้างที่พักอาศัยที่ทำกิจต่างๆ ถวายพระ ก็สร้างในอารามคือในสวนนั่นแหละ ที่พักอาศัยที่ฉันที่เรียนที่ประชุม เป็นต้นนั้น เรียกรวมๆ ว่า “เสนาสนะ” เฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งก่อสร้างสามัญสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย เช่น กระท่อม หรือกุฎี เรียกว่า “วิหาร” ดังนั้น บรรดาเสนาสนะ ตั้งแต่วิหารนั้น ก็อยู่ในอารามนั่นเอง

ก่อนมีสิ่งก่อสร้างเป็นเสนาสนะ โดยเฉพาะวิหาร พระสงฆ์อยู่ตามโคนไม้บ้าง ซอกเขาบ้าง ถ้ำบ้าง ป่าช้าบ้าง ลอมฟางบ้าง แม้กระทั่งกลางแจ้ง หลังจากทรงอนุญาตอารามแล้วระยะหนึ่ง เมื่อมีผู้ศรัทธาต้องการทำสิ่งก่อสร้างเป็นที่พักอาศัยถวายพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตเสนาสนะดังว่านั้น

49643132 10156766342385535 2395819516048179200 o

ต่อมา สิ่งก่อสร้าง เฉพาะอย่างยิ่งวิหารที่เป็นเสนาสนะหลัก ปรากฏเด่นชัดในอารามคือวัด จนกระทั่งมาถึงคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา นิยมเรียกวัดด้วยคำว่า “วิหาร” วัดที่สร้างขึ้นใหม่ในยุคหลังๆ  จึงเรียกว่าวิหารเป็นพื้น (ในช่วงใกล้ พ.ศ. ๒๕๐ วัดที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้าง ยังเรียกว่า “อโศการาม”) แม้แต่วัดเก่าครั้งพุทธกาล อรรถกถาก็เรียกโดยมักเติมคำว่าวิหารต่อท้ายลงไป อย่างวัดพระเชตวัน อรรถกถาและคัมภีร์รุ่นต่อๆ มา นิยมเรียกว่า เชตวันวิหารบ้าง เชตวันมหาวิหารบ้าง วัดเวฬุวัน ก็เรียกว่า เวฬุวันวิหารบ้าง เวฬุวันมหาวิหารบ้าง บางทีมีอารามต่อท้ายอยู่เดิมแล้ว ก็ยังเติมวิหารต่อลงไป ดังที่บุพพาราม เป็นบุพพารามวิหาร ก็มี แสดงว่าในยุคอรรถกถา การเรียกชื่อวัดได้หันมาเน้นที่สิ่งก่อสร้างแล้ว

IMG 135sm

ลึกเข้าไปถึงแก่นแท้ ทุกวัดคือสวนโมกข์

ถึงตอนนี้ สวนที่มีส่วนเสริมสมทบ เท่ากับแยกได้เป็น ๒ ประเภท ซึ่งต่างก็เป็นมโนรม และเป็นรมณีย์ แต่มีนัยที่แปลกออกไปจากกัน คือ สวนที่มีกิจกรรมสนุกสนานบันเทิงอาจจะถึงกับเริงรมย์รวมทั้งมีนิทรรศการสุนทรีย์ตามแบบของชาวบ้าน ซึ่งช่วยปลดเปลื้องใจให้พ้นปัญหาพ้นทุกข์สงบสุขได้ชั่วคราว กับสวนที่มีความเรียบสงบร่มรื่นเป็นรมณีย์และมีผู้สงบน่าเลื่อมใสเป็นที่เจริญใจให้บันเทิงธรรมสื่อนำปัญญา ที่จะช่วยให้รู้ทางแก้ปัญหาและหลุดพ้นจากทุกข์ประสบสุขอย่างยั่งยืน

อย่างแรก อาจจะเรียกว่า สวนเริงรมย์ และอย่างที่สอง เรียกได้ว่า สวนรื่นรมย์

อารามคือวัด เป็นสวนอย่างหลัง คือสวนรื่นรมย์ ซึ่งนำใจให้ผ่องใสเกิดความมั่นใจในชีวิตและได้ปัญญาที่จะวางจิตใจต่อชีวิตได้ถูกต้องพอดี โดยมีกัลยาณมิตรที่จะเข้าใกล้ได้ธรรม พูดง่ายๆ ว่า เป็นสวนแห่งธรรม ซึ่งเป็นแหล่งให้ธรรม ซึ่งช่วยประชาชนให้พ้นทุกข์พ้นปัญหาสู่ความมีสุขภาวะ นี่ก็คือให้ธรรมที่จะนำสู่โมกษะนั่นเอง ดังนั้น วัดที่เป็นสวนแห่งธรรม ก็คือสวนแห่งโมกขธรรม พูดให้สั้นที่สุด ก็คือเป็นสวนโมกข์นั่นแหละ

เป็นอันว่า เมื่อพูดกันในความหมายที่สื่อถึงจุดหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนา วัดทุกวัด ทุกอาราม ก็เป็นสวนโมกข์ หรือควรเป็นสวนโมกข์ทั้งนั้น

IMG 2782sm

เพิ่มจำนวนสวนโมกข์ให้ทันเวลา

อย่างไรก็ตาม ในยามที่สังคมมนุษย์วุ่นวายสับสนเต็มไปด้วยปัญหาที่สะสมกันมาแสนซับซ้อนนี้ มองแค่ในสังคมไทย หน่วยย่อยทั้งหลายของสังคมนั้น ตั้งแต่บุคคลและองค์กรต่างๆ ไม่รู้เข้าใจไม่ชัดเจนต่อความหมายและบทบาทของตนเอง ดังเช่นวัดวาอารามทั้งหลายเวลานี้ คนจำนวนมากไม่แน่ใจว่ามีความหมายและบทบาทอะไร แต่โดยทั่วไปรู้สึกกันว่า วัดมากมายมิได้อยู่ในความหมายและมิได้ดำเนินบทบาทของความเป็นอารามอย่างน่าเสียดาย

ในสภาพเช่นนี้ ก็มีจุดโปร่งที่ช่วยให้หายใจโล่งขึ้นได้บ้าง เมื่อมองเห็นว่า มีอารามบางแห่งซึ่งยังตั้งเจตจำนงดำรงรักษาฐานะที่เป็นสวนแห่งธรรม คือสวนแห่งโมกขธรรมไว้ และในบรรดาอารามเช่นนี้ วัดที่ชื่อว่า “โมกขพลาราม” นับว่าเป็นสวนแห่งโมกขธรรมหนึ่งที่สมจริง ทั้งโดยพยัญชนะ และโดยอรรถะ นั่นก็คือ สวนโมกข์ นี้เอง

แต่กระนั้น จะมัวปล่อยโล่งเฉยละเลยเปิดช่องว่างอยู่ไม่ได้ คือต้องไม่ประมาท เร่งก้าวหน้าไปในการแก้ไขปัญหา ที่จะเพิ่มจำนวนสวนโมกข์ขึ้นมา และการแก้ปัญหานั้นก็เป็นพันธกิจร่วมกันของพุทธบริษัททั้ง ๔ จึงเป็นที่น่ายินดีว่า มีการขยายสวนโมกข์ เข้ามาตั้งที่กลางเมืองในกรุงเทพฯ ดังที่เรียกว่า สวนโมกข์กรุงเทพ

36003308 1745432142170869 5252915964181217280 o

มนุษย์ติดจมปัญหาเหมือนถูกมัด

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศ และพูดได้ว่าเป็นศูนย์รวมแห่งปัญหาและความทุกข์ ตลอดจนเป็นแหล่งใหญ่ของสมุทัย ถ้าแก้ปัญหา บรรเทาทุกข์ภัย และลดละกำจัดสมุทัยที่แหล่งใหญ่อันเป็นศูนย์รวมนี้ได้ ภาวะปลอดปัญหาพ้นทุกข์ก็จะแผ่กระจายขยายออกไป ช่วยให้ทั่วสังคมก้าวไปใกล้สันติสุขได้อย่างเห็นจริง    

โดยเฉพาะ ในสภาพปัจจุบัน ที่ทั่วโลกมีความเจริญพัฒนาและเสื่อมถอยทั่วถึงทันกัน อย่างที่เรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์นี้ วิถีชีวิตของมนุษย์ที่เร่งร้อนแย่งชิงวิ่งหา ทั้งบีบรัดตัวเอง กระทบกระทั่งเบียดเบียนกันในสังคม และทำร้ายบั่นรอนสิ่งแวดล้อม โลกยิ่งเจริญ คนกลับยิ่งเดือดร้อน ปัญหาเพิ่มขึ้นและขยายตัวกว้างออกไป ทั้งปัญหาในจิตใจ ทั้งปัญหาระหว่างกันในสังคม และปัญหากับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่ายิ่งเจริญมาก ทุกข์ยิ่งเพิ่ม

แน่นอนว่า คนอยากพ้นทุกข์ อยากให้หมดสิ้นปัญหา และปรารถนาจะมีความสุข และเขาก็ดิ้นรนไขว่คว้าหาวิธีต่างๆ และวิ่งหนีจะให้พ้นมันไป เมื่อมองลึกและแยกแยะดู เห็นได้ว่า เขาพยายามพ้นทุกข์ด้วยการหลอกตัวเองหรือเอาอะไรมากล่อมตัวให้ลืมทุกข์ไปทีหนึ่งๆ บ้าง โดยกลบทุกข์บ้าง แม้กระทั่งด้วยการหลับตาไม่มอง เขาแก้ปัญหาด้วยการหนีปัญหาบ้าง หลีกหลบกลบปัญหาบ้าง

IMG 0622sm

ปัญหาชีวิต ปัญหาจิตใจ ปัญหาความขัดแย้งในสังคม การละโมบกอบโกย การแย่งชิงผลประโยชน์ การแย่งชิงอำนาจ ความรุนแรง การแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่น การเอารัดเอาเปรียบข่มเหงกัน ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระหว่างประเทศ ตลอดจนทุกข์ภัยจากความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ การแย่งชิงทรัพยากรที่จะรุนแรงและขยายกว้างออกไป ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะ รวมทั้งภาวะโลกร้อน ปัญหาเหล่านี้ทุกด้านมิได้ลดน้อยลงเลย มีแต่เพิ่มหนักหนาและซับซ้อนยิ่งขึ้น พร้อมด้วยปัญหาข้างเคียง เช่น การติดสุรายาเมาและสารเสพติด การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงและอาชญากรรมต่างๆ ทางไอที ที่เพิ่มขยายซับซ้อนขึ้นเนื่องจากการหลีกหลบกลบทุกข์หนีปัญหา อารยธรรมยิ่งเจริญ คนยิ่งเหมือนจะอับจนต่อปัญหา พาตัวให้พ้นไปจากทุกข์ไม่ได้

โมกขะ คือวิมุตตินั้น แปลกันว่า หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ หรือพ้นกิเลส พ้นทุกข์

สภาพของมนุษย์ที่เป็นอยู่เวลานี้ ก็คือ เขาอยากพ้นทุกข์ แต่ไม่คิดที่จะพ้นกิเลส

พูดง่ายๆ ว่า เขาอยากพ้นปัญหา โดยไม่คิดที่จะแก้ไขเหตุของปัญหา เขาอยากพ้นทุกข์ โดยไม่คิดที่จะกำจัดสมุทัย

จะต้องปลุกคนให้ได้สติตื่นขึ้นมา และให้มีสัมปชัญญะที่จะตระหนักรู้ว่า เขาจะต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุ ต้องหลุดพ้นจากกิเลสด้วย จึงจะพ้นจากทุกข์ได้

IMG 1696smJPG

อิสรภาพของมนุษย์ เรียกหาสวนโมกข์

สิ่งที่เรียกกันว่าอารยธรรมของมนุษย์ยุคนี้ เจริญก้าวหน้าพัฒนามาจนลงท้ายพวกมนุษย์หัวแถวก็ให้ข้อสรุปว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และเขาบอกว่าต้องเปลี่ยนการพัฒนาโลกโดยใช้วีธีใหม่ ที่จะให้ “เศรษฐกิจไปดี โดยสิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้”

ทั้งที่บอกว่ารู้วิธีแก้ปัญหามานานนักหนาแล้ว การแก้ปัญหาก็ยังไม่เดินหน้า มีแต่ว่าปัญหายิ่งเพิ่มขึ้นๆ คนก็ทุกข์หนักลงไปๆ ก็อย่างที่ว่าแล้ว เขาไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุ หรือถึงจะพอรู้เหตุบ้าง ก็ไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับเหตุนั้น

อารยธรรมปัจจุบันที่เด่นส่วนด้านร้ายก้าวไปโดยขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแห่งโลภะ ความอยากได้ใคร่เอาจะตักตวงกอบโกย โทสะ ความเกลียดชังคั่งแค้น และโมหะ ความลุ่มหลงรวมไปถึงมัวเมา ซึ่งเผาผลาญออกมาเป็นแรงขับแห่งความเห็นแก่ตัว ๓ ด้าน คือ ตัณหา ที่มุ่งหน้าหาเสพหาผลประโยชน์มาบำรุงบำเรอตัว มานะ ที่มุ่งหน้าหาความยิ่งใหญ่แสวงอำนาจกดข่มผู้อื่น และทิฐิ ที่ถือรั้นจะต้องให้เป็นไปอย่างที่ตัวคิดเห็น ตามลัทธิ ตามทฤษฎี ตามอุดมการณ์ของตัว จะเอาทิฐิหรือลัทธิของตัวไปบังคับครอบงำผู้อื่น

แรงขับของกิเลสแห่งความเห็นแก่ตัว ๓ ด้านนี้ ซ้อนแฝงตัวขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังกระแสสังคมและระบบความคิดของคน แสดงออกมาเป็นปมปัญหาใหญ่ของโลกปัจจุบัน

คนยุคนี้กำลังถูกพัดพาไหลไปในกระแสบริโภคนิยม ที่เป็นอาการเบ่งบานของลัทธิวัตถุนิยม แล้วก็ประสบปัญหากันอย่างหนัก ทั้งปัญหาชีวิตจิตใจ ปัญหาความขัดแย้งเบียดเบียนเอาเปรียบเอากันเป็นเหยื่อในสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขยะเป็นต้นไป

IMG 0765 Large

คนยุคนี้ ยิ่งบอกว่าเจริญ เหมือนว่ายิ่งหลงใหลงมงาย ถูกล่อหลอกไปด้วยไสยศาสตร์ได้ง่าย นอกจากหลงแล้ว ก็ขาดความเข้มแข็ง ไม่แกร่งกล้าที่จะทำการให้สำเร็จด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตน ไม่พยายามพึ่งตนด้วยการพัฒนาตัวเองให้มีตนที่พึ่งได้  อ่อนแอ พากันไปติดจมในลัทธิอ้อนวอนนอนคอย หรือลัทธิรอผลดลบันดาล

คนยุคนี้ มีโชคดียิ่งใหญ่ ได้เสพผลแห่งความเจริญของวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะไอที ในระดับสูงยิ่ง แต่น่าเสียดาย กลายเป็นปัญหาว่า  คนได้ประโยชน์จากไอทีไม่คุ้มค่า เขาได้รับโทษจากเทคโนโลยี และทำเทคโนโลยีให้เป็นโทษกันเสียมาก ข่าวสารข้อมูลที่มากมาย แทนที่จะทำให้เจริญปัญญา กลับกลายเป็นว่าคนจำนวนใหญ่ถูกมวลข้อมูลท่วมทับ หรือมัวพร่าเวลาหมดไปกับกองขยะข้อมูล

ที่ร้ายมากคือ คนใช้ไอทีเอาข่าวสารข้อมูลมาหลอกลวงกัน หาผลประโยชน์อย่างเอาเปรียบกัน และทำอาชญากรรมต่างๆ ไอทีกลายเป็นเครื่องมือรับใช้บริโภคนิยม รับใช้ลัทธิก่อการร้าย รวมทั้งการปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อ

เมื่อคนขาดหรือด้อยคุณภาพที่จะรับและใช้ข่าวสารข้อมูล แทนที่เขาจะเป็นผู้กระทำต่อไอทีโดยใช้ประโยชน์มัน เขากลับถูกกระทำโดยไอที เมื่อคนอยู่ใต้แรงขับของกิเลสแห่งความเห็นแก่ตัว เขาก็ใช้ไอทีเอาเพื่อนมนุษย์ที่อ่อนด้อยกว่าเป็นเหยื่อ ไอทีมา จึงพาความลุ่มหลง ความคดโกง พาความทุกข์และปัญหาเพิ่มมาอีก

DSC 1118 details cr

คนยุคนี้ นอกจากต้องเร่งรีบและถูกบีบรัดด้วยวิถีชีวิตแห่งยุคก้ำกึ่งอุตสาหกรรมให้มีสภาพจิตแบบตัวใครตัวมันและเคร่งเครียดในการแข่งขันแย่งชิงมากขึ้นแล้ว ความเจริญก้าวหน้าด้านไอทีที่เน้นบริโภคนิยม ก็มานำเสนอสิ่งล่อเร้าให้ติดเสพ โดยมีอัตราเร่งเพิ่มทั้งปริมาณและดีกรีที่ทำให้เสพไม่ทัน ทำให้ผู้ที่พร่องสติสัมปชัญญะขลุกขลุ่ยหมกมุ่นอยู่กับการตามเสพไม่รู้จบไม่รู้พอ เป็นเหตุให้คนอยู่กันอย่างแยกตัวและเอาแต่ตัวยิ่งขึ้น แม้แต่การที่ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นทางไอทีได้ง่าย ก็เปิดทางให้แก่ความสัมพันธ์ฉาบฉวยที่มุ่งแค่จะสนองความต้องการส่วนตัว ขาดการสังสรรค์สัมพันธ์แบบต่างพึ่งพากันและพรั่งพร้อมร่วมกันในสังคมที่เป็นไปตามธรรมชาติ แม้แต่ในครอบครัว นี้เป็นปัจจัยที่จะยิ่งเสริมซ้ำความเห็นแก่ตัว การขาดน้ำใจ ทำให้คนไม่เอาใจใส่ ไม่คำนึงถึงสุขทุกข์ของกันและกัน ไม่มองกว้างเห็นไกล ที่จะให้มีจิตสำนึกแห่งความเกื้อกูลที่ยืนตัวอยู่ในชีวิตจิตใจ

IMG 4835 1sm

แล้วคนที่มีทุกข์ คนที่กักขังตัวอยู่ในความทุกข์ ซึ่งหาทางออกไม่เป็น ไม่รู้วิธีที่จะหลุดพ้นจากปัญหา คนที่หาความสุขผิดทาง ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นๆ ก็หันไปหาความสุขด้วยการพึ่งพาสิ่งเสพติดมึนเมา ขณะที่คนผู้หาผลประโยชน์บนหลังของคนเหล่านี้ ก็ปั่นตลาด และทำให้เกิดกระบวนการค้ายาเสพติด โดยที่ไอทีก็กลายเป็นเครื่องมือของการทำทุจริตนั้นไป ยาเสพติดก็แพร่ระบาดเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่จบ

นี้คือตัวอย่างแห่งปัญหาอันเป็นทุกข์ภัยของยุคสมัย อาการแห่งโรคของอารยธรรมเหล่านี้ มีสมุฏฐานก่อตัวตั้งขึ้นมาจากกิเลสที่เป็นเชื้อเพลิงและเป็นแรงขับแห่งความเห็นแก่ตัวข้างต้นที่ว่ามาแล้วทั้งสิ้น

แล้วในที่สุด ก็ลึกลงไปถึงปัญหาความทุกข์ของชีวิตจิตใจ ที่เป็นของประจำขันธ์ คู่กับสังขาร เรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย การประสบสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ การสูญเสีย การพลัดพรากจากคนและของรัก ความไม่สมหวัง เป็นต้น ที่ซ้อนอยู่ใต้ปัญหาและทุกข์ภัยที่ว่ามาทั้งหมด

มนุษย์จะหลุดพ้นจากทุกข์ ดับปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการรู้จักลดละและหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ขึ้นมาสู่ความเป็นผู้มีอิสรภาพ เป็นเสรีชนที่แท้จริง โดยมีวิธีพัฒนาคนอย่างถูกต้องแยบคาย และนี่ก็คือภารกิจใหญ่ที่รออยู่แล้วตลอดเวลาเบื้องหน้าสวนโมกข์

IMG 3225sm

“อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก” สวนโมกข์อยู่ที่นี่

ภารกิจของสวนโมกข์ที่จะช่วยมนุษย์ให้ลดละจนหลุดพ้นจากกิเลส และสร่างเบาเพลาพ้นไปจากปัญหา พ้นไปจากทุกข์ มีความสุขที่ประณีตขึ้นไปๆ ให้ได้นั้น ต้องถือว่าเป็นกุศลยิ่งใหญ่แล้ว

แต่มิใช่เพียงเท่านั้น ภารกิจที่เป็นแกนอันแท้ของสวนโมกข์ อยู่ที่การพัฒนาคน ด้วยการศึกษาอย่างแท้ ที่จะให้คนนั้นฝึกฝนพัฒนาตน จนถึงโมกษะ เป็นผู้พ้นกิเลสพ้นทุกข์ เป็นบุคคลเสรี ที่มีอิสรภาพแท้จริง ชนิดที่ว่า ตัวอยู่ในโลก แต่ใจหลุดพ้นแล้ว ไม่ติดโลก อยู่เหนือโลก และเพราะเป็นอิสระเสรีเต็มที่ จึงมุ่งหน้าขวนขวายทำการทั้งหลายในการที่จะเกื้อกูลมวลหมู่ชาวโลก อย่างที่พูดสั้นๆ ว่า “อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก”

บุคคลที่ลุวิมุตติ ถึงโมกขะ ท่านเรียกว่าเป็นผู้พ้นแล้ว จากบ่วงที่ผูกมัด ก็จะเที่ยวไปช่วยแก้มัด ทำให้คนอื่นพลอยหลุดพ้น โดยจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก นี้ก็คือคติพุทธที่ว่า “บุคคลนิพพาน ทำการเพื่อโลก”

เมื่อสร้างบุคคลเช่นนี้ขึ้นมาได้แล้ว ก็จะมีคนที่จะทำงานในการช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นกิเลส พ้นทุกข์ ด้วยการแจกธรรม แจกดวงตาปัญญา คือปัญญาจักษุ ซึ่งจะมาสืบต่อทำหน้าที่ในนามแห่งสวนโมกข์กันต่อไป

เมื่อนั้นแหละ สวนโมกข์ก็จะเป็นสวนแห่งโมกขธรรม ที่เป็นแหล่งแผ่ขยายโมกษะ และมีโมกขธรรมที่จะมอบให้แก่โลก สมชื่อสมนามอย่างแท้จริง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๒๐ เมษายน ๒๕๕๓

SDC11325sm