พุทธทาสในความทรงจำ - เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

Share

ประวัติศาสตร์บอกเล่า, งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ 26 ธันวาคม 2561


    “พุทธ (พุทธะ) ไม่ได้หมายถึงบุคคล พุทธทาสก็ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาวะอันหนึ่ง สภาวะของพุทธะ คือ ผู้รู้ ตื่น แล้วก็เบิกบานอยู่ด้วยธรรม สะอาด สว่าง สงบ” บางบทสนทนากับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2536 นาม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นำพาชายแปลกหน้าให้เดินทางกลับเข้าสู่ด้านในเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’

จาก ก ไก่ ของพ่อ ถึงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    “ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่พ่อรักการศึกษา เป็นคนอ่านหนังสือมีหนังสืออยู่เต็มบ้าน แม่ผมอ่านหนังสือไม่ออก พ่อก็สอนให้อ่านเขียนได้ พวกเราทุกคนโตขึ้นมาจาก ก ไก่ ของพ่อ เพราะพ่อจะแต่ง ก ไก่ ให้เราท่องตั้งแต่เด็ก น้องผมทุกคนก็โตมากับ ก ไก่ ผมอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ก่อนเข้าโรงเรียน แต่ก่อนมี ป.เตรียมก่อนจะ ป.1 ผมไม่ต้อง ป.เตรียมเลย เพราะอ่านออกเขียนได้แล้ว ก็ขึ้น ป.1 เลย...” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับพ่อซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการปลูกฝังอุปนิสัยรักการอ่าน และอธิบายถึงความหลงใหลในบทกวีที่เริ่มต้นมาแต่ครั้งเยาว์วัยว่า

    “อ่านบทกวีมาตั้งแต่เด็ก แล้วพออยู่มัธยมเริ่มวัยรุ่นก็เขียนกลอนจีบสาว กลอนความรัก อะไรเยอะแยะ ตั้งชมรมวรรณศิลป์ก็กิจกรรม กาพย์ กลอน ซึ่งส่วนใหญ่ก็กลอนความรักบ้าง อกหักบ้าง เป็นช่วงวัย ก็เขียนมาตลอด ทุกวันนี้ก็เขียนอยู่ ก็เลยทำให้รู้สึกว่า เป็นการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างหนึ่ง บทกวีเป็นที่รวม ผมให้นิยามว่า บทกวีคือเพชรพลอยแห่งถ้อยคำ อันเจียระไนจากผลึกของความคิด ใช้คำที่มีจำกัด แต่ถ่ายทอดความรู้สึกอันไม่จำกัดของเราให้ได้ บทกวีมันดีตรงนั้น” เนาวรัตน์ ในวัย 79 ปี สะท้อนความงดงามของบทกวีผ่านถ้อยคำที่กลั่นจากความรู้สึก ก่อนเล่าถึงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่สนุกสนานไปกับการทำกิจกรรม

     “ปีนั้นธรรมศาสตร์เป็นปีสุดท้ายที่คณะนิติศาสตร์ ไม่ต้องสอบเข้า ก็เลยมาสมัครเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนนั้นมีคำที่เราพูดกันว่า ถึงพื้นที่เราจะคับแคบแต่เรามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ผมก็ใช้เสรีภาพเต็มที่ คือไม่ค่อยได้เรียนเท่าไหร่ ทำกิจกรรม เป็นรุ่นแรกที่ร่วมก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ ร่วมก่อตั้งชุมนุมดนตรีไทยขึ้นในธรรมศาสตร์ เขาให้เรียน 8 ปี ผมก็เรียน 7 ปี เพราะทำกิจกรรมมาก” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ให้ข้อมูล



แรกพบพุทธทาส : “โชคดีที่ผมได้ผ่านประสบความทุกข์”

    ขณะที่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินไปตามกาล สิ่งที่เรียกว่า ‘ความทุกข์’ ก็พัดผ่านเข้ามาให้ เนาวรัตน์ ได้ทำความรู้จัก ก่อนจะนำพาเขาไปบนเส้นทางสายใหม่ที่มี ‘พุทธทาสภิกขุ’ เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำ “คนถ้าไม่ผ่านความทุกข์ที่เจ็บปวดที่ประสบจริงๆ จะเข้าใจเรื่องธรรมะเนี่ยยาก ผมเห็นว่าโชคดีที่ผมได้ผ่านประสบความทุกข์นั้น ความทุกข์ที่มากที่สุดในวัยอย่างนั้นจริงๆ...ความทุกข์อย่างสาหัสที่สุดก็คือ พ่อแม่แยกกัน ครอบครัวล่มสลายว่าอย่างนั้นเถอะ บ้านก็ไม่มีอยู่ เงินก็ไม่มีเรียน ข้าวก็ไม่มีกิน ต้องมาอาศัยวัด ตรงนี้จุดดี

    วัดของชาวเมืองกาญจนบุรีสมัยนั้น ก็คือวัดบวรนิเวศ เพราะตอนนั้นท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาส คือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ท่านมีชาติภูมิอยู่เมืองกาญจน์ ตอนนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ แล้วลูกศิษย์ของท่าน ก็เป็นเพื่อนนักเรียนจบ ม.๖ มาด้วยกัน ผมก็ไปอาศัยอยู่นั่น นั่นแหละที่ทำให้ผมรู้จักธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาส และเจ้าคุณพระสาสนโสภณ หรือสมเด็จพระญาณสังวรฯ จากหนังสือ 2 เล่ม หนึ่งก็คืออานาปานสติ ของท่านเจ้าคุณพระสาสนโสภณ หรือสมเด็จพระญาณสังวรฯ เล่มบางๆ มุ่งสู่การปฏิบัติโดยตรงเลย ผมปฏิบัติตามนั้นเลย