พุทธทาสในความทรงจำ - โพธิพันธ์ พานิช

Share

ประวัติศาสตร์บอกเล่า, งานจดหมายเหตุ,

พุทธทาสภิกขุในความทรงจำ - โพธิพันธ์ พานิช

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑



    หลายคนรู้จักท่านในนาม “พุทธทาส” หลายคนเรียกขาน “พุทธทาสภิกขุ” ขณะที่อีกหลายคนนับถือท่านในฐานะ “ท่านอาจารย์” แต่จะมีสักกี่คนที่จะมีโอกาสได้เรียกขานนามง่ายๆ อย่าง “หลวงปู่” เช่นเดียวกับที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โพธิพันธ์ พานิช อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้รับโอกาสนั้นพร้อมๆ กับชื่อ “โพธิพันธ์” ซึ่งเป็นชื่อที่พุทธทาสภิกขุตั้งและมอบให้ผ่านสายใยตระกูล ‘พานิช’

หลวงปู่พุทธทาส กับคุณพ่อสิริ พานิช และความเป็นมาของชื่อ ‘โพธิพันธ์’




    “ผมชื่อโพธิพันธ์ นามสกุลพานิช ปัจจุบันอายุ 60 ปี เพิ่งเกษียณมาเมื่อ 2 เดือน คุณพ่อผมคือคุณครูสิริ พานิช คุณแม่คือ คุณครูยินดี คุณครูสิริ เป็นลูกของคุณปู่ธรรมทาส พานิช ซึ่งเป็นน้องชายของท่านพุทธทาส ผมก็เท่ากับเป็นหลานคนโต ท่านก็ตั้งชื่อให้ผม โพธิพันธ์...ผมมีพี่น้องจริงๆ 4 คน คนสุดท้องเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กตอน 11 ขวบ เพราะฉะนั้นผมก็มี 3 คนพี่น้อง...ชื่อผมเนื่องจากเป็นลูกคนแรกก็อยากให้หลวงปู่ตั้งให้ เป็นที่รู้กันว่าถ้าให้หลวงปู่ตั้งก็ต้องรอหน่อย ท่านว่างเมื่อไหร่ท่านตั้งให้ ทราบจากคุณพ่อ คุณพ่อเคยคุยกับหลวงปู่เหมือนกันว่า เอ๊ะ...ไหนหลวงปู่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องโชคลาง เรื่องไสยศาสตร์ แต่ว่าคุณพ่อบอก หลวงปู่บอกว่า ถ้าไม่ยึดหลักเสียเลย ถ้าตั้งไปแล้วพอเขาโตมาเขาไปดูมันเป็นกาลกิณี เป็นอะไร เขาจะเปลี่ยนชื่อของท่าน เพราะฉะนั้นท่านก็เอาหลักมาดูเหมือนกัน ผมก็ทึ่งนะ ท่านไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์เลย แต่สุดท้ายท่านก็ละเอียดรอบคอบ...





ภาพ - ครูสิริ พานิช


    หลักการตั้งชื่อของท่าน ท่านพยายามให้คล้องจองกับนามสกุลจะไพเราะ อย่างผม โพธิพันธ์ นามสกุลพานิช มันจะคล้องจองกับนามสกุล พอมาคนที่สองที่สามพ่อกับปู่ธรรมทาสตั้งเองละ ไม่ต้องกวนหลวงปู่ละ คล้ายๆ กัน น้องคนที่สอง พุทธิพงศ์ ความหมายคล้ายๆ กัน คนที่สามก็ พุทธิพร เพื่อคล้องจองตามหลักของหลวงปู่” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ แนะนำประวัติส่วนตัว ก่อนอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธทาสภิกขุ และคุณพ่อสิริ พานิช ต่อไปว่า

    “พ่อเองใกล้ชิดกับหลวงปู่มาก พ่อจะรับใช้หลวงปู่ทุกๆ เรื่อง ในทางโลก ทำนู่นทำนี่พ่อจะจัดการให้หมด เนื่องจากพ่อรู้จักคนในอำเภอจะทำอะไรติดต่ออะไรพ่อจะจัดการหมด แต่พ่อผมค่อนข้างบู๊หน่อย พ่อพูดกับผมว่า หลวงปู่เราฝ่ายธรรมะ พ่อมันฝ่ายมารอะไรทำนองนี้ พ่อจะวางตัวไว้อย่างนั้น พ่อพูดกับเราพ่อไม่ค่อยมีธรรมะ พ่อจะอยู่ฝ่ายบู๊ ฝ่ายที่หลวงปู่ธรรมะจัดการไม่ได้เดี๋ยวพ่อจะจัดการให้” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ ย้อนความหลังถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลวงปู่และพ่อ

การคลี่คลายปัญหาในแบบบู๊และแบบธรรม

    ผศ.ดร.โพธิพันธ์ เล่าถึงความประทับใจในการจัดการกับปัญหาในแบบของหลวงปู่พุทธทาสซึ่งอาจแตกต่างจากมุมมองของใครหลายคนในทางโลกว่า “หลายครั้งที่พ่อก็ทึ่งหลวงปู่ ผมก็ทึ่ง ของในวัดหายพ่อก็จะจัดการแบบวิธีพ่อ ไปหามาให้ได้แล้วจะจัดการคนที่ขโมย แต่ก็โดนหลวงปู่ปราม ไม่ต้องๆ เรามันโง่เองให้เขาขโมยได้ เราพอมีตังค์เราซื้อใหม่ไม่ต้องจัดการ สุดท้ายหลวงปู่ก็มีวิธีการของหลวงปู่ แล้วหลวงปู่ไม่เคยโทษคน ถ้าในสไตล์พ่อผมเดี๋ยวจัดการของวัดยังมาขโมย พ่อผมก็จะจัดการวิธีพ่อผม แต่หลวงปู่ปรามไม่ต้องสิริ พอๆ เดี๋ยวเราจัดการเราเอง แค่บอกเท่านั้นว่าของหายแสดงว่าเราไม่รอบคอบพอ เพื่อไม่ให้พ่อผมไปทำโดยวิธีการอื่นที่อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้




    “พ่อเล่าให้ฟังว่า มีญาติร้านไทยวัฒนาพานิช ร้านขายหนังสือใหญ่ของสุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสมีพี่น้อง ๓ คน พุทธทาส ธรรมทาส แล้วก็กิมซ้อย (กิมซ้อย เหมะกุล) ย่ากิมซ้อยไปได้สามีอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ร้านหนังสือไทยวัฒนาพานิช ร้านใหญ่เลยครับ ค้าขายบางทีลูกจ้างก็ขโมยของ แอบเอาใส่ถังขยะไปเทแล้วเอาญาติมาเอา ซึ่งอาผมที่ดูแลร้านต่อมาก็จะแจ้งความ ก็รู้ถึงหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะเรียกอาโกวิท (โกวิท เหมะกุล) มาหาที่วัด แล้วก็บอกว่าอย่าไปไอ้นั่นเขาเลย เราไม่ฉลาดเอง อย่าไปเอาเรื่องเอาราว คือขอไว้ไม่ต้องไปนั่นหรอก หาวิธีการใหม่เพื่อป้องกัน สุดท้ายหลวงปู่มองอีกมิติหนึ่ง แล้วก็ไม่อาฆาต มองว่าเขาคงขาด คงอะไร เราต้องหาวิธีป้องกัน สั่งให้ถอนแจ้งความ ผมฟังผมก็ทึ่ง มิติหลวงปู่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราอยู่ทางโลกเราไม่ค่อยได้มิติอย่างนี้” อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ข้อมูลถึงบางแง่มุมในการจัดการกับปัญหาทางโลกในแบบฉบับของพุทธทาสภิกขุ

 “จำไว้ๆ เกิดมาเพื่อทำให้โลกใบนี้งดงาม” ความทรงจำในวัยเด็ก

   แม้จะออกตัวว่าความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับหลวงปู่พุทธทาสและสวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะไม่เกี่ยวข้องกับธรรมะเท่าไหร่ แต่หลายๆ เรื่องราวที่ได้สัมผัสมาในช่วงวัยนั้นก็ยังแจ่มชัดในความทรงจำของ ผศ.ดร.โพธิพันธ์ ตลอดมา “ตอนเล็กๆ ที่ไปสวนโมกข์ท่านก็มีกลอุบายให้ลูกหลานเข้าสวนโมกข์ ผมกับน้องๆ ชอบตามพ่อไปเพราะว่าถ้าไปสวนโมกข์ท่านให้พวกเราสะสมแสตมป์ คือเราไปสวนโมกข์ หนึ่งเราได้แสตมป์แน่นอน ท่านจะให้พระตัดไว้ให้ เพราะฉะนั้นพอพ่อจะไปสวนโมกข์ เราขอตาม เพื่อไปเอาแสตมป์มาสะสม อีกอย่างหนึ่งท่านก็มีผลไม้ แอปเปิ้ล สาลี่ ผลไม้ดีๆ ที่ใครมาถวายท่าน ท่านก็จะให้ลูกหลาน เราก็หนึ่งได้แสตมป์ ได้ของกินในฐานะลูกหลาน ธรรมะไม่ได้เท่าไหร่

    “ท่านก็สอนเราเหมือนกันเรื่องคาถาเด็กดี ผมก็จำ ‘ไม่ดื้ออย่างเดียวดีหมดทุกอย่าง’ ผมก็จำมาตลอดนะ ท่านให้ท่องมาตั้งแต่เล็กๆ เลย...หรือแม้แต่ท่านถามว่า เกิดมาทำไม เราก็ตอบไม่ค่อยได้ เราก็หัวเราะไม่สนใจคำพูด แต่ท่านว่าจำไว้ๆ เกิดมาเพื่อทำให้โลกใบนี้งดงาม เราก็ท่อง ผมท่องตั้งแต่เล็ก เกิดมาเพื่อทำให้โลกใบนี้งดงาม แต่เราก็ไม่รู้งดงามยังไง เราก็ไม่รู้ พอโตขึ้นศึกษามากขึ้น อ๋อ...โลกใบนี้คือตัวเรานั่นแหละ มุมมองเรานั่นแหละ ทำให้เราเนี่ยงดงาม ถ้าเรางดงามโลกนี้งดงาม” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ พานิช ย้อนความทรงจำถึงคำสอนที่หลวงปู่พุทธทาสมอบไว้เมื่อวัยเด็ก



“เราไม่มาเขียนกฎระเบียบให้พวกเธอแหกกฎอยู่หรอก”

    หลังเรียนจบปริญญาโททางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว. ประสานมิตร) และทำงานในตำแหน่งอาจารย์ ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ ได้ระยะหนึ่ง ผศ.ดร.โพธิพันธ์ พานิช ก็ตัดสินใจลาบวชที่สวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2531 “ตอนบวชพอเข้าไปศึกษาเราก็ประทับใจหลายเรื่อง เขาบอกบวชที่สวนโมกข์กลางพรรษา หลักการของท่านพุทธทาสคือไม่รับบวชเลย แต่ละที่ให้ไปบวชบ้านตัวเองมาแล้วจึงค่อยมาจำพรรษาที่สวนโมกข์ พอเราถามลึกๆ ในหลักการท่านท่านบอกว่า สิ้นเปลือง ใครจะมาบวชไปบวชวัดที่ใกล้บ้านที่ไหนก็แล้วแต่ บวชใกล้บ้าน ประหยัด แล้วจึงค่อยมาศึกษา ส่วนที่บวชที่สวนโมกข์จริงๆ คือคนที่มีอุปการคุณต่อสวนโมกข์ซึ่งท่านก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ รุ่นผมนี่บวช 5 รูป มีท่านจ้อย (พระครูใบฎีกามณเฑียร มัณฑิโร) มีผม มีลูกของลุงเหี้ยน (ยู่เหี้ยน จิยางกูร) ซึ่งอยู่ในไชยาซึ่งช่วยท่านอาจารย์อยู่ แล้วก็มีนายดืออยู่หน้าวัดที่ทำบุญ ท่านก็จะมีหลักการว่าท่านก็ไม่ทิ้ง สวนโมกข์อยู่ได้เพราะพุทธบริษัท ๔ เหมือนกันที่ช่วย เพราะฉะนั้นท่านจะเลือกแบบนี้...

    “ผมไปในทางโลกผมก็คิดว่าสวนโมกข์จะมีกฎระเบียบต่างๆ ปรากฏว่าไม่มี ผมเคยคุยกับท่านว่าน่าจะมีกฎระเบียบต่างๆ ท่านบอกว่า เราไม่มาเขียนกฎระเบียบให้พวกเธอแหกกฎอยู่หรอก ผมก็งงๆ ว่ามันหมายความว่ายังไง เราอยู่ในกรอบของทางโลก เราต้องมีกฎมีระเบียบวางไว้ทั้งหมด ท่านก็บอกผมเองเลยว่า ให้ดูตัวอย่างพระรุ่นพี่ที่เขาทำตัวดีๆ แล้วเธอจะได้ประโยชน์ ผมก็ว่า ถ้าสวนโมกข์ไม่มีกฎบางคนก็แหกกฎ ทำวัตรเช้าพระบางรูปก็ไม่มา ท่านบอกไม่ต้องไปสนใจคนอื่น เอาเราเป็นหลัก เอาพระที่เขาทำดีๆ เดิมเราก็หงุดหงิดกับพระในพรรษาตั้ง 70-80 รูป มาบวชกัน มาทำวัตรบางคนก็ไม่มา เราก็รู้สึกหงุดหงิด พอมิติของท่านขอให้เราบวชจริงทำจริงดูตัวอย่างที่ดีๆ เหมือนกระแทกใจเราเหมือนกัน เราอยู่ในระบบ เราเป็นครูบาอาจารย์เราต้องมีกฎระเบียบ มาที่นี่อีกแบบหนึ่งเลย” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ บอกเล่าความทรงจำเมื่อครั้งบวชจำพรรษาที่สวนโมกข์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจสำคัญในการศึกษาพุทธศาสนาตามแนวทางของสวนโมกข์ว่า


ภาพ - รูปสำหรับใช้อธิบายปฏิจจสมุปบาท

    “มีหมอที่ศิริราชบวชพร้อมผม เป็นพระหมอ ท่านก็จะไปซักเรื่องปฏิจจสมุปบาท ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมมานั่งฟังพระหมอซักท่าน ตายละ ท่านบอกมาบวชสวนโมกข์ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทเท่ากับล้มเหลว ท่านพูดบอกว่า ถ้ามาบวชสวนโมกข์ถ้าไม่ได้ปฏิจจสมุปบาทไป ขาดทุน เราก็ตกใจมากเพราะเราไม่เคยรู้เหมือนกันนะ ท่านย้ำสองเรื่อง อานาปานสติ กับปฏิจจสมุปบาท มาบวชแล้วท่านขอให้ปฏิบัติจริง ก็จะได้ผลจริง ทำนองนี้ เราก็คิดว่า 3 เดือนที่เราอยู่ต้องไม่ละเลย 2 เรื่องนี้” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ ให้ข้อมูล

 “ถ้าเราสอนลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์เราไม่รู้เรื่องเท่ากับเราไม่ได้สอนเลย”

    หลังลาสิกขาจากสวนโมกข์ ทุกครั้งที่สถาบันการศึกษาปิดภาคการศึกษา ผศ.ดร.โพธิพันธ์ ก็จะกลับไปกราบพุทธทาสภิกขุทุกครั้งที่สวนโมกข์ พร้อมได้รับคำแนะนำที่ถือเป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพตลอดมา “ผมเป็นครูก็จะกลับไปทุกปิดเทอมปีละ 2 ครั้ง กลับไปก็จะแวะไป ส่วนใหญ่เราก็ไปซักท่านประเด็นโน้นถามประเด็นนี้ แต่ท่านก็มักจะถามว่า ทำงานมีความสุขไหม พอเราบอกมีความสุข ท่านก็จะบอก ถ้ามีความสุขก็ใช้ได้ ถ้าไม่มีความสุขก็แย่เลยท่านจะพูดเรื่องการทำงานมีความสุข ท่านจะเน้นตรงนี้เยอะเลย...

     “พอเราเป็นครูท่านก็จะพูดกับผม เป็นโค้ด (code – รหัส, หลักเกณฑ์) ที่ผมยึดมาตลอด ท่านบอกว่าเป็นครูดีแล้ว แต่ว่าลองไปนึกดูให้ดีนะ ถ้าเราสอนลูกศิษย์เรา แล้วลูกศิษย์เราไม่รู้เรื่องเท่ากับเราไม่ได้สอนเลย ผมชอบใจคำพูดนี้มาก ผมนึกตั้งสติเสมอว่า สอนแล้วถ้าเสียเวลาสอนไปชั่วโมงสองชั่วโมง ถ้าลูกศิษย์เราไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องตามที่ต้องการเท่ากับเราไม่ได้สอนเลย เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวเยอะ ต้องตั้งหลักเยอะ ต้องเตรียมว่าเริ่มต้นยังไง สุดท้ายสรุป แล้วจะตรวจสอบยังไง ความเป็นครูผมได้จากโค้ดคำพูดนี้ที่ท่านบอก อาชีพครูดี แต่ท่านก็ให้เกร็ดว่า ถ้าสอนแล้วเขาไม่รู้เรื่อง เท่ากับไม่ได้สอนเลยเสียเวลาเปล่า เสียเวลาทั้งเรา เสียเวลาทั้งลูกศิษย์ โค้ดนี้ผมถือว่าเป็นคำทองที่ผมได้จากท่านในความเป็นครู” อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ข้อมูล


มรณกรรม และมรดกธรรมพุทธทาสภิกขุ

    ขณะที่ปุถุชนทั่วไป ‘ความตาย’ ของบุคคลอันเป็นที่รักมักแสดงออกด้วยความเศร้าโศกและน้ำตา แต่สำหรับครอบครัว ‘พานิช’ อันเป็นนามสกุลเดิมของ ‘พุทธทาสภิกขุ’ กลับมีกระบวนการในการถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับความตายไว้อย่างน่าสนใจว่า “จริงๆ เรื่องมรณภาพท่านสอนมาตลอด แม้แต่ลูกหลาน ปู่ผมเอง (ธรรมทาส พานิช) ก็บอกเลยว่า ถ้าญาติพี่น้องเสีย ร้องไห้แสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธจริงเราก็โดนปลูกฝังมา แต่ว่าผมเอง ผมค่อนข้าง sensitive (อ่อนไหวง่าย) ผมเองเข้าใจแต่ทำไม่ได้ น้องชายเสียผมก็ร้องไห้ หลวงปู่เสียผมก็น้ำตาซึม ผมทำใจไม่ได้ขนาดนั้น เราก็รู้สึกว่า แสดงว่าเราลูกศิษย์ชั้นปลายแถวมั้ง เรายังว้าเหว่ เรายังติดยึด เรายังมี แต่ว่าเราก็มีสติเร็วขึ้น” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ เล่าถึงความรู้สึกส่วนตัวเมื่อครั้งมรณกาลของพุทธทาสภิกขุ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการส่งต่อมรดกธรรมของพุทธทาสภิกขุไปสู่ผู้คนในสังคมร่วมสมัยโดยไม่ให้หันเหไปจากแนวทางของสวนโมกข์ว่า



     “แนวความคิดผม ผมคิดว่า มันต้องเอาเทปท่านพุทธทาสเป็นหลัก แล้วเราก็ย่อยต่อ อย่าปล่อยให้ทุกคนขึ้นมาเป็นวิทยากรเองบรรยายเองผมว่าจิตวิญญาณมันจะหายไป รุ่นที่ยังพอรู้จิตวิญญาณของสวนโมกข์ถ่ายต่อให้คนรุ่นใหม่รับช่วงให้ได้ บางทีพอท่านอาจารย์จากไปแล้ว พระที่พอจะรับทราบจิตวิญญาณของท่านอาจารย์หรือสวนโมกข์ก็กระจัดกระจายออกไปที่อื่น ที่เข้ามาใหม่บางทีจิตวิญญาณตรงนี้ก็หายไป แล้วสุดท้ายพอมาอบรมเองมันก็กลายเป็นอัตตาเรา ผมเองผมระวังมากบางทีผมพาคณะไป ผมแค่เอาเทปเป็นหลัก แล้วผมแค่ย่อยต่อให้กับคนรุ่นนี้เด็กรุ่นนี้ ผู้ปกครองรุ่นนี้ได้ ผมต้องไม่ไปบรรยายเอง ต้องระวังครับ ไม่งั้นอัตตามันเกิด...ผมก็กะว่าเกษียณแล้วผมก็จะกลับเข้าไปช่วยอย่างนี้ เอาเทปท่านอาจารย์เป็นหลักเลย แล้วมีใครมาช่วยย่อยเล็กๆ มาเป็นเพื่อนร่วมปฏิบัติแล้วย่อยเล็กๆ ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ได้ ต่อไปก็จะฟื้น” ผศ.ดร.โพธิพันธ์ พานิช ให้ความเห็น

    แม้ความทรงจำในฐานะปราชญ์ทางพุทธศาสนาอาจทำให้ ‘พุทธทาสภิกขุ’ นั้นยิ่งใหญ่จนมิอาจข้ามพ้นเสียงสรรเสริญและคำนินทา แต่สำหรับเรื่องเล่าในฐานะ “หลวงปู่” จากความทรงจำของ ผศ.ดร.โพธิพันธ์ พานิช กลับทำให้คนธรรมดาๆ สัมผัสได้ถึงความเรียบง่ายของชีวิตแบบ ‘พุทธทาส’ ชีวิตที่ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในสังสารวัฏฏ์ แต่ยิ่งใหญ่กับการตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างจริงจังว่า “เกิดมาทำไม”